- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
๏ จะกล่าวถึงเทพบุตรจะจุติ | จึงดำริหมายมุ่งทุกกรุงศรี |
แจ้งว่าเมืองโกญจาในธานี | นางเทวีเอกอัครชายา |
ตั้งพระทัยจะใคร่มีโอรสราช | แสนสวาทเทวัญก็หรรษา |
อันตรธานจากวิมานดุสิดา | ดวงวิญญาณ์ถึงครรภ์นางจันทร |
นุชนาฏหวาดทรงสุบินนิมิต | ว่าอาทิตย์ตกลงตรงบรรจถรณ์ |
นางกลืนไว้ในอุราให้อาวรณ์ | วิชาธรหนึ่งเหาะระเห็จมา |
เข้าแหวะทรวงชิงดวงพระสุริย์ศรี | ระเห็จหนีไปในห้องพระเวหา |
สว่างแสงแจ่มแจ้งทั้งโลกา | นางผวาหวาดฟื้นตื่นบรรทม |
พออุทัยไตรตรัสจรัสส่อง | สนั่นฆ้องยํ่ารุ่งเรียกสนม |
สำอางองค์สรงพระพักตร์แล้วบังคม | ทูลบรมจอมนรินท์ปิ่นประชา[๑] |
โดยสุบินไปจนสิ้นนิมิตฝัน | พระรับขวัญเยาวมิตรขนิษฐา |
เจ้าจะทรงครรภ์แล้วนะแก้วตา | สั่งให้หาโหรเฒ่าเข้ามาพลัน |
พระแถลง[๒]แจ้งเรื่องสุบินนิมิต | ตาโหรคิดทูลตามเนื้อความฝัน |
ก็รู้ว่ากาลปักษ์ประจักษ์วัน | พุธกับจันทร์สู่ศุกร์อังคารตาม |
ชะตาพ้องสองกระษัตริย์ประหัสสะ | สุรินทะทับแทรกเป็นเสี้ยนหนาม |
ประจักษ์จิตคิดคูณแล้วทูลความ | ต้องในยามสังหรณ์สุราลัย |
แม้นโฉมยงทรงครรภ์พระโอรส | จะยิ่งยศเพียงพื้นแผ่นดินไหว |
พระเคราะห์ต้องสององค์พระทรงชัย | ราหูให้โทษถอยพระเดชา |
จะพลัดพรากจากเศวตฉัตรแก้ว | แต่คลาดแคล้วราชภัยไม่สังขาร์ |
ด้วยนิมิตนั้นมาติดดวงชะตา | หนึ่งลูกยาเมื่อจะคลอดออกจากครรภ์ |
จะมีผู้รู้ไสยศาสตร์เวท | มาพรากไปจากประเทศเหมือนความฝัน |
ต่อนานไปจึงจะได้มาพบกัน | คืนถวัลยราชเรืองปรีชาชาญ |
อีกสามเดือนเหมือนข้าโหราคาด | อรินทร์ราชคบรักจะหักหาญ |
ถ้าแม้นผิดคำข้าโหราจารย์ | จงประหารเสียให้กายข้าวายวาง ฯ |
๏ พระพึงคาดหวาดหวั่นหทัยหวาม | กระทู้ถามโหรเฒ่าด้วยหมองหมาง[๓] |
จะผ่อนปรนบนบานให้เบาบาง[๔] | ให้สิ้นทางคิดอ่านประการใด |
ขอรับเรือนชันษาชะตาตก[๕] | พยุงยกก็มิอาจจะหวาดไหว |
พระฟังพราหมณ์ความแสนสลดใจ | ไฉนใครหนอจะมีมาบีฑา |
แล้วหวนห้ามความโศกให้สิ้นสุด | ด้วยคำพุทธไตรเพทเทศนา |
เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา | อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย |
สุขกับโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง | รำพึงพลางหักไห้พระทัยหาย |
พระคืนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย | ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์ |
สงวนครรภ์ขวัญเนตรเถิดน้องรัก | โหรเขาทักทุกข์แทบจะผุยผง |
เรายึดยุดพุทธคุณให้มั่นคง | เป็นทางตรงตราบสิ้นชีวาลา |
สงสารสองสุรชาติราชหงส์ | สมมติวงศ์เทวัญอสัญหยา |
นับแต่วันหวั่นเวทนามา | ในมหาปรางค์รัตน์ชัชวาล ฯ |
๏ ฝ่ายคงคาประลัยใจฉกาจ | หินชาติเชื้อโจรกำแหงหาญ |
นึกทะนงตามพงศ์สันดาลพาล | แต่ทราบสารแสนรัดทดสลดใจ |
พระชนนีมีครรภ์โอรสราช | โหรเขาคาดว่าจะยิ่งยศมไห |
อันตัวเราเล่าจะอยู่ในกรุงไกร | แล้วมิใช่ลูกเกิดอุทรเธอ |
อันลูกตัวชั่วช้าไม่หาญหัก | ไหนจะรักลูกเลี้ยงเคียงเสนอ |
ลูกของเขาเขาก็ตั้งจะบำเรอ[๖] | เราจะเก้ออยู่เปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
หนึ่งเสนาข้าเขาเห็นเราพลั้ง | เขาจะชังเรานักจะหักหาญ |
ล้าไว้ช้าน่าที่จะอัประมาณ | จะคิดผลาญเสียแต่ต้นกลอย่างนี้[๗] |
พระพาราในชะตาก็ตกอับ | จะโจมจับจอมเจ้าบูรีศรี |
ทำลายล้างเสียให้วางวายชีวี | ด้วยเดิมทีฆ่าพ่อกูวายชนม์ |
จะแก้แค้นแทนคุณพระบิตุเรศ | ให้เรืองเดชลือแจ้งทุกแห่งหน |
แล้วโลมเล้าเอาใจพวกไพร่พล | ชุมนุมคนสงครามตามกระทรวง |
เข้าเกลี้ยกล่อมพร้อมไพรได้หลายหมี่น[๘] | พอเที่ยงคืนออกประดังใกล้วังหลวง |
ก็ครึกครื้นตื่นเหลิงพลอยทะลวง | ไพร่ทั้งปวงโห่ลั่นสนั่นดัง |
วางปืนหลักลากล้อตลบแล่น | เสียแปร๋แปร้นช้างม้าทั้งหน้าหลัง |
ข้างฝ่ายพวกจัตุสดมภ์กรมวัง | ไม่พร้อมพรั่งวิ่งพลัดกระจัดกัน ฯ |
๏ สงสารเจ้าธรณินทร์อินณุมาศ | กับนงนาฏมเหสีพวกสาวสรรค์ |
เสียงครึกครื้นตื่นวิ่งออกพัลวัน | ฝูงกำนัลนางนักสนมใน |
ร้องช่วยด้วยพระทูลกระหม่อมแก้ว | ทั้งตึกแถวเรือนจันทน์เสียงหวั่นไหว |
ออกกราดกรีดหวีดวิ่งวุ่นวายไป | ลางนางไขกำปั่นลั่นกุญแจ |
บ้างคลำผ้าคว้าปีบ[๙]ไปหยิบหมอน | ที่ยังนอนผุดลุกขึ้นวิ่งแร่ |
สะดุดกระโถนเชี่ยนขันไม่ทันแล | ออกเซ็งแซ่สุรเสียงด้วยโศกา |
ท้าวอินณุมาศนางนาฏมเหสี | แสนสุรางคนารีทั้งซ้ายขวา |
ออกพระโรงโองการเรียกเสนา | ขึ้นพลับพลาจักรวรรดิ์ในบัดใจ |
เห็นกองทัพสับสนพลรบ | ถือเพลิงคบหอกดาบปลาบไสว |
รอบกำแพงแสงเพลิงสว่างไป | คงคาประลัยยืนช้างอยู่กลางพล |
โหรเฒ่าทักทายเสียดายเดช[๑๐] | นํ้าพระเนตรหยดย้อยดังฝอยฝน |
เสียดายศักดิ์หลงรักทรชน | จลาจล[๑๑]โจรใจกระลำพร |
จะรบรับสับประยุทธ์ก็สุดฤทธิ์ | สลดจิตเธอทอดฤทัยถอน |
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่านิกร | ต่างก็ข้อนทรวงโศกโศกาลัย |
จอมกระษัตริย์โทมนัสมานะนึก[๑๒] | เห็นข้าศึกจะเข้าพังกำแพงได้ |
เสด็จยืนอยู่หน้าพลับพลาไชย | เรียกคงคาประลัยด้วยโองการ |
โอ้พ่อดวงนัยนาบิดาเอ๋ย | ไม่ควรเลยลูกรักจะหักหาญ |
พ่อพรํ่าเลี้ยงรักษาพยาบาล | เจ้าเปรียบปานเหมือนชีวิตของบิดา |
หรือแค้นพ่อข้อไรนะลูกเอ๋ย | ไม่บอกเลยให้รู้ซึ่งโทษา |
เจ้าจะฆ่าพ่อแล้วหรือแก้วตา | หรือปรารถนาสิ่งใดในธานี |
จงบอกพ่อขอเถิดไม่ขัดขวาง | เมื่อวายวางขวัญเข้า[๑๓]ช่วยเผาผี |
พระลูกแก้วแววตาอย่าราวี | ให้เสนีราษฎรได้ร้อนรน |
กุมารคงคาประลัยใจกำแหง | ถอดพระแสงยืนช้างกลางพหล |
แกล้งหัวเราะเยาะเย้ยย้อนยุบล | นี่สุดจนหรือจึงเล่นข้างเจรจา |
เป็นเจ้านายช่างไม่อายอำมาตย์มั่ง | เอาความหลังขึ้นลำเลิกเลี้ยงรักษา |
ก็ใครใช้ให้เลี้ยงจงบอกมา | หรือว่าข้าจ้างวานประการใด |
ตระกูลเรามิใช่เหล่าระยำยาก | สมบัติมากเสียกว่านี้เป็นไหนไหน |
ท่านจัณฑาลผลาญพ่อเราบรรลัย | ไม่สาใจกลับประจานว่าโจรจร |
ใครเกิดมาถ้าเขาฆ่าถึงพ่อแม่ | ก็เป็นแต่ข้อเจ็บจิตดังพิษศร |
เขาทำบ้างสิมีหน้ามาว่าวอน | ใครก่อก่อนจึงได้เกิดจลาจล ฯ |
๏ โอ้ดวงจิตคิดแค้นว่าฆ่าพ่อ | เนื้อความข้อนี้ก็แจ้งทุกแห่งหน |
พ่อเจ้ารบอัปราในสาชล | แต่เจ้าคนเดียวมาถึงธานี |
ก็เพราะพ่อชลอประโลมเลี้ยง | ใน[๑๔]วังเวียงลูกรักเป็นศักดิ์ศรี |
เจ้าจึงได้โยธามาราวี | พระคุณมีเจ้าจงคิดถึงบิดา |
สิบสองพระคลังวังเวียงเศวตฉัตร | แสนสมบัติสุดสวาทจะปรารถนา |
ก็ตามใจเถิดพ่อให้ทั้งพารา | อย่าฟันฆ่าผู้คนให้ล้มตาย |
ขอฝากฝูงไพร่ฟ้าอาณาราษฎร์ | กำนัลนาฏนักสนมสิ้นทั้งหลาย |
แต่แม่พ่อขอบรรพชากาย | กว่าจะวายชีวานิคาลัย ฯ |
๏ โจรทมิฬยินคำพระรํ่าปลอบ | จึงโต้ตอบเยาะเย้ยเฉลยไข |
มเหสีมีครรภ์ไม่ทันไร | จะบวชได้หรือไม่ผิดในกิจกรม |
ว่าเลี้ยงไว้ดอกจึงได้โยธาหาญ | ช่างว่าขานมิได้อายเท่าปลายผม |
ช่างโง่เง่านี้เป็นท้าวพระยางม | พูดไม่สมแล้วมาเชื่อแต่คุณมี |
ชื่อว่าเนื้อก็เป็นเหยื่อพยัคฆราช | ใครฉลาดก็จะเลิศประเสริฐศรี |
อันฝูงนางแสนสุรางคนารี | ที่ดีดีไม่พักฝากให้ยากใจ ฯ |
๏ ฝ่ายสนมกรมนางที่นั่งแน่น | ให้แสนแค้นเพียงเลือดนัยน์ตาไหล |
ต่างลุกขึ้นยืนหน้าพลับพลาไชย | แล้วร้องไห้รํ่าว่าด่าประจาน |
อ้ายลูกโจรตีเรือเชื้อสลัด | อวดสมบัติช่างไม่อายกับเดียรฉาน |
นํ้าปลาร้านํ้าเกลือท่านเจือจาน | มึงกล้าหาญขึ้นเพราะใครมึงไม่อาย |
ช่างไม่คิดถึงพระคุณทูลกระหม่อม | ช่วยชุบย้อมเลี้ยงไว้ให้สืบสาย |
เขาจับมาผ้านุ่งไม่ติดกาย | เป็นเจ้านายเพราะใครอ้ายเนรคุณ ฯ |
๏ โจรทมิฬยินคำนางสาวใช้ | ยิ่งแค้นใจกัดฟันอยู่หันหุน |
อุเหม่หญิงแพศยาอีทารุณ | จะเป็นจุณลงทั้งเขตนิเวศน์วัง |
จึงขับไพร่ไสช้างเข้าเสียดเสย | สองงาเงยงวงฟาดอยู่ผึงผัง |
ระดมปืนครื้นครั่นสนั่นดัง | พลับพลาพังจักรวรรดิในบัดใจ |
ท้าวอินณุมาศนางนาฏมเหสี | ฝูงนารีห้ามแหนแน่นไสว |
พระสั่งฝูงกัลยาเสนาใน | อย่าอาลัยเราเลยทุกตัวคน |
เปิดทวารด้านไหนยังออกได้ | ตามจะไปซ่อนแฝงทุกแห่งหน[๑๕] |
แล้วท้าวจูงมเหสีนิรมล | ขึ้นไพชยนต์แท่นรัตน์ชัชวาล ฯ |
๏ สองกระษัตริย์ซบโศกกันแสงสะอื้น | แล้วแข็งขืนตั้งสัตย์อธิษฐาน |
ขอเทวัญทั้งอนันตจักรวาล | เป็นประธานทั้งอมรินทรา |
ซึ่งสัจจังที่ตั้งเมตตาจิต | มิได้คิดแสร้งเสกอุเบกขา |
ด้วยเลี้ยงคงคาประลัยจนใหญ่มา | ทั้งเวลากินนอนไม่ร้อนรน |
มันกลับขวิดคิดร้ายทำลายล้าง | ข้าผู้สร้างสืบสายฝ่ายกุศล |
เสียชีวิตก็เพราะคิดเมตตาคน | ทั้งสากลจงเห็นเป็นพยาน |
แล้วอ่อนองค์ลงเรียงศิโรเพศ | นํ้าพระเนตรไหลลงน่าสงสาร |
สะอื้นอัดกลัดกลุ้มฤดีดาล | สองภูบาลนิ่งซบสลบไป |
พอร้อนถึงดาวดึงส์แดนดุสิต | แท่นสถิตเทวราชก็หวาดไหว |
จึงเยี่ยมบัญชรชั้นวิมานไชย | เห็นสองไทจอมกรุงแก้วโกญจา |
เธอเลี้ยงลูกโจรร้ายจะวายชีพ | พระอินทร์รีบจากดาวดึงสา |
ถึงแท่นทองอุ้มสองกระษัตรา | ระเห็จมาห้องหิมวันต์พลัน |
จึงวางที่ไทรทองรโหฐาน[๑๖] | ริมชายบ้านพรานเนื้อในไพรสัณฑ์ |
ไกลกรุงแก้วโกญจาสิบห้าวัน | ขึ้นสู่ชั้นอัมพรเหมือนก่อนปาง ฯ |
๏ จะกล่าวกลับจับโจรใจกำแหง | พังกำแพงเข้าได้เมื่อสางสาง |
ฝ่ายข้าเฝ้าสาวสรรค์กำนัลนาง | หนีออกทางทักษิณทวารา |
ก็พลัดพรายรายอยู่กับพวกพ้อง | เที่ยวซุ่มซ่องตามญาติวงศา |
ที่ในวังยังแต่แก่ชรา | กับบรรดาเตี้ยค่อมคนพิการ |
พอรุ่งแจ้งแสงพระสุริยง[๑๗] | กุมารคงคาประลัยอันใจหาญ |
ขึ้นสู่ท้องพระโรงรัตน์ชัชวาล | ไม่พบพานสองกระษัตริย์ขัตติยา |
ทั้งสาวสรรค์พระกำนัลสนมแน่น | ยังเคืองคิดคั่งแค้นให้ค้นหา[๑๘] |
ทุกตึกรามตามตำแหน่งนางกัลยา | เห็นแต่หน้าค่อมเค้าเจ้าขรัวนาย |
ไม่พบท้าวสาวสนมแต่สักนิด | ให้ตามติดก็ไม่ได้ดังใจหมาย |
จึงจัดแจงแต่งตั้งพวกเพื่อนตาย | เป็นเจ้านายท้าวพระยาเสนาใน |
ออกที่นั่งมังคลาภิเษกสูง | พร้อมด้วยฝูงมนตรีกราบไสว |
แสนสำราญผ่านเศวตฉัตรไชย | ในกรุงไกรโกญจาสถาวร ฯ |
๏ จะกลับกล่าวสองท้าวที่กลางเถื่อน | ครั้นดาวเดือนเลื่อนลับเหลี่ยมสิงขร |
พระสุริเยนทร์เผ่นเยี่ยมยุคนธร | ทิชากรเพรียกพร้องในไพรวัน |
เสียงลิงค่างบ่างชะนีวิเวกโหวย | ระโอดโอยรับแสงพระสุริย์ฉัน |
ท้าวฟื้นองค์เห็นแต่ดงแดนอรัญ | สิงขรคั่นโขดเขตภูเขาเคียง |
เป็นรอยรอบขอบรุกขเรียงเรียบ | เย็นยะเยียบจักระจั่นสนั่นเสียง |
ไม่เห็นทั้งวังเขตนิเวศน์เวียง | พิศเพียงป่ารังวังเวงใจ |
พระตรองตรึกปรึกษามเหสี | เมื่อราตรีอยู่ยังแท่นจรัสไข |
สว่างวันเป็นอรัญราวไพร | ประหลาดใจจริงเจียวเจ้าจันทร |
หรือคงคาประลัยมันไม่ฆ่า | ให้ลอบพาเรามาทิ้งที่สิงขร |
นางฟังสารสามีชุลีกร | ซึ่งภูธรท้าวคิดเห็นผิดครัน |
เมื่อทรงฤทธิ์พิษฐาน[๑๙]กับข้าน้อย | ก็เคลิมผล็อยนิทราดังอาสัญ |
เห็นแท้เที่ยงที่เราเลี้ยงบำรุงมัน | จึงเทวัญพามาอยู่ป่าดง |
โอ้ธานีป่านนี้จะได้วุ่น | จะเคืองขุ่นฆ่าฟันกันผุยผง |
ทั้งเวียงวังก็จะพังทำลายลง | พระนางทรงโศกาด้วยอาลัย |
บดินทร์สูรแสนพูนเทวษรํ่า | โอ้กองกรรมก่อนสร้างแต่ปางไหน |
เมตตาสัตว์จนต้องพลัดจากเวียงไชย | สงสารไพร่ราษฎรจะร้อนรน |
นางพญาว่าโอ้นางสาวสรรค์ | จะนับวันร้างโรยให้โหยหน |
นฤบาลว่าสงสารพวกสามนต์ | จะจำจนอภิวาทอ้ายชาติพาล |
มเหสีว่าทีนี้นางเถ้าแก่ | จะเซ็งแซ่โศกาน่าสงสาร |
พระทรงเดชว่าสังเวชโหราจารย์ | มันจะพาลเอาผิดเป็นนิจไป |
นางพญาว่าสนมกำนัลนาฏ | ทุกปรางค์มาศเรือนทองจะหมองไหม้ |
นฤบาลว่าสงสารเสนาใน | มันจะให้จองจำระกำกาย ฯ |
๏ สองพระองค์ทรงโศกกันแสงศัลย์ | จนตะวันส่องกล้าเวลาสาย |
นึกมานะพระมหาปรีชาชาย | ตรัสภิปรายปลอบอัครชายา |
แม่โฉมยงทรงครรภ์จงกลั้นโศก | จะพลอยโรคร้อนถึงโอรสา |
เหมือนโหรทายจริงแล้วนะแก้วตา[๒๐] | เราก้มหน้าซอกซอนสัญจรไป |
เมื่อพบพานบ้านเมืองที่ไหนมั่ง | พอประทังกายาหยุดอาศัย |
แล้วจัดแจงแปลงเปลื้องเครื่องอำไพ | ทำเป็นไพร่ผ้านุ่งพะรุงพะรัง |
พระหักได้ไม้เท้าเหมือนง่ามถ่อ | นางหอบห่อเครื่องต้นมาตามหลัง |
เสด็จเดินเนินแนวแถวไม้บัง | เป็นดงรังร่มรื่นให้ชื่นองค์ |
ยินสำเนียงเสียงกาโกญจาก้อง | บ้างเมียงมองเขาไม้ไพรระหง |
บ้างบินพริบลิบลับจับพุ่มพง | ลางตัวลงเลียบเชิงละเลิงลาน |
จับจิงจ้อจอแจจอกจิบจาบ | คุ่มตะขาบคับแคเขาขันขาน |
ทึดทือเที่ยวท่องเถื่อนในท้องธาร | แสนสงสารแซ่ซ้องโซเซซอน |
กันเกราโกร๋นโกรนกรอบตะกรุมจับ | แทรกสลับซับแซ้งแซวสลอน |
นางนวลนอนแนบนางนวลนอน | พระยื่นกรชี้ให้โฉมฉายชม |
ทัศนาป่าสนุกทุกข์สนัด[๒๑] | จิตกระหวัดถึงสุรางค์นางสนม |
แล้วกลืนกลั้นดั้นเดินเนินพนม | เห็นนิคมเขตบ้านพวกพรานไพร ฯ |
๏ กรุงกระษัตริย์ตรัสบอกมเหสี | โน่นบ้านมีหลังคาเรียงเคียงไสว |
ถามบุญลือหรือเราจะเข้าไป[๒๒] | ได้ถามไถ่พูดจาดูท่าทาง |
เขตเมืองเราหรือของเขานครอื่น[๒๓] | เมื่อเราตื่นขึ้นก็เห็นแต่ป่ากว้าง[๒๔] |
เขาถามเราบอกเขาว่าหลงทาง | แล้วนำนางเข้าบ้านนายพรานพลัน |
พอพรานป่าล่าเนื้อเข้ามาถึง | เสียงอื้ออึงปลํ้าเถือเนื้อสมัน |
เจ้าของเชือดชิ้นแล่งออกแบ่งปัน | ร้องเรียกกันเหวยหวาตามป่าดง |
พอผันแปรแลเห็นทั้งสองท้าว | พวกหนุ่มสาวแหงนเบิ่งละเลิงหลง |
ดูขาวผ่องเป็นละอองระโอดองค์ | ทั้งทรวดทรงเล็บก้านก็ยาวยาว |
ที่เด็กเด็กมันคะนองก็ร้องแซ่ | อีพ่อแม่เอ๋ยมาดูอ้ายคนขาว |
มันนุ่งผ้าตาลายคล้ายแมวคราว | บ้างถามท้าวว่ามีงไปข้างไหนมา |
พระฟังพวกพรานไพรปราศรัยถาม | มันหยาบหยามมิได้ถือซึ่งโทษา |
จึงว่าเราชาวเมืองมิถิลา | แต่ออกมามีเมียอยู่บ้านไพร |
จนนางนี้มีครรภ์ขึ้นอ่อนอ่อน | จะคืนไปนครก็หลงใหล |
นี่บ้านเจ้าเขาเรียกบ้านอะไร | ทางจะไปกี่วันจงบรรยาย |
พวกพรานไพรได้สดับคดีเล่า | อุแม่เจ้ามันช่างมาน่าใจหาย |
เป็นบุญเหลือนี่ว่าเสือมิกัดตาย | เป็นผู้ชายพร้ามีดไม่ติดมือ |
อันทางเมืองมิถิลากว่าจะถึง | สามเดือนครึ่งมันน้อยไปแล้วหรือ |
กูก็ไม่เห็นเมืองเขาเลื่องลือ | บ้านนี้ชื่อทันไร[๒๕]อยู่ปลายแดน |
เป็นส่วยส่งเชือกหนังกับมังสา | ในกรุงแก้วโกญจาปีละแสน |
เอ็งจะไปกูให้ปรารภ[๒๖]แทน | ดูอ้อนแอ้นเสือพบมันขบตาย |
อยู่กับกูเถิดสูอย่ากลัวเสือ | เที่ยวยิงเนื้อยิงช้างมาย่างขาย |
อยู่บ้านเมืองเคืองใจไม่สบาย | อ้ายมุลนายเบียดเบียนทั้งตาปี |
อันที่ทางกว้างขวางเป็นไหนไหน | เอ็งอยู่ได้ผัวเมียเกษมศรี |
ทั้งที่นอนหมอนใหม่ล้วนดีดี | เอ็งกับอีนางเมียนั้นชื่อไร ฯ |
๏ พระบอกพรานไถ่ถามตามถวิล | เราชื่ออินกับนางจันตามนิสัย |
ท่านอารีดีจริงเราขอบใจ | จะอาศัยอยู่ด้วยช่วยป้องกัน |
อ้ายเพิกรับว่าอย่ากลัวแล้วหัวร่อ | ชาวเมืองหนอชื่อเสียงมันคมสัน |
กูชื่อเพิกผัวอีแตแม่อ้ายตัน | อยู่ด้วยกันช่วยย่างเนื้อเหลือสบาย |
แล้วพรานไพรให้ขึ้นบนเคหา | หลนปลาร้าเนื้อย่างกับยอดหวาย |
กระด้งปู[๒๗]ใบตองเอาของราย | เสือกกระบาย[๒๘]คดข้าวให้ท้าวไท |
สงสารสองกระษัตรานิจจาเอ๋ย | จำเสวยโภชนาน้ำตาไหล |
ผัวกระบายเมียกระบายตามพรานไพร | แข็งพระทัยเปิบข้าวเมื่อคราวจน |
ส่วนพรานเห็นสองราน้ำตาไหล | ให้สงสัยซักถามตามฉงน |
เอ็งเป็นไรร้องไห้ทั้งสองคน | นิรมลแจ้งการพวกพรานไพร |
พระไม่เคยจะเสวยพริกเทศเผ็ด | เคี้ยวเข้าเม็ดหนึ่งก็น้ำพระเนตรไหล |
อ้ายพรานป่าว่าแม่เจ้าอีชาวไพร[๒๙] | ยังกระไรบ้านกูอยู่ไม่เคย |
เมื่อนํ้าตาว่านํ้าพระเนตรเล่า | แต่กินเข้ากับปลาว่าเสวย |
นางก้มพักตร์นิ่งไปมิได้เงย | แล้วก็เลยอิ่มโอชโภชนา |
พระสุริยงลงลับเหลี่ยมสิงขร | พรานเข้านอนผัวเมียในเคหา |
ทั้งสององค์พงศ์กระษัตริย์ขัตติยา | เข้านิทราที่ระเบียงลำบากองค์ |
นางกระษัตริย์ปัดปูพระภูษิต | พอปกปิดหนังควายระคายผง |
พระชลนัยน์ไหลหลั่งละลุมลง | พระสอนองค์อรทัยมิให้ดัง |
เรายากแล้วแก้วตาของพี่เอ๋ย | สรงเสวยแม่อย่าเรียกเหมือนหนหลัง |
มันด่าว่ายอดหญิงด้วยชิงชัง | พูดระวังเจียวหนาเจ้าลำเพาพาล |
นางรับคำนํ้าพระเนตรลงพรากพราก | โอ้ความยากท้าวพระยาน่าสงสาร |
ครั้นอุทัยไตรตรัสชัชวาล | อ้ายเพิกพรานจะเข้าป่าหาหมากพลู |
ตะโกนเรียกธิบดินทร์อออินเอ๋ย | มึงไม่เคยไปป่าหรือหวาสู |
มึงแบกหอกเล่มใหญ่ไปกับกู | ออจันอยู่กับอีแตแม่อ้ายตัน |
พระจำรับหอกใหญ่ขึ้นไล่บ่า | อ้ายเพิกแบกปืนพากับผายผัน |
พระเดินพลางทางพิษฐานพลัน | ไปในวันนี้อย่าพบสัตว์สิ่งใด |
ด้วยกุศลกรุงกระษัตริย์อธิษฐาน | อ้ายเพิกพรานพาเดินเนินไศล |
ไม่พบสัตว์จัตุบาทประหลาดใจ | เที่ยวอ้อมไปรอบป่าจนสายัณห์ |
ส่วนเมียพรานอยู่บ้านกับโฉมฉาย | ตะวันบ่ายสอนสั่งนางสาวสวรรค์ |
เอ็งตักนํ้าตำข้าวไว้ท่ามัน | กูจะฟันฟืนพลางไว้ย่างทราย[๓๐] |
กับลูกเล็กเด็กป่าถือพร้าขวาน | น่าสงสารทรามวัยพระทัยหาย |
ภูษาทรงโจงกระหวัดรัดพระกาย | ฉวยกระบายโกยข้าวลงใส่ครก |
ไม่เคยตำก็ถลำถลากพลาด | ออกพรูพราดเรี่ยรายกระจายหก |
ไม่ทันแตกเอาขึ้นหัตถ์ฝัดกระทก | แล้วใส่ครกกลับตำนั้นรํ่าไป ฯ |
๏ ฝ่ายเมียพรานหาฟืนคืนเข้าบ้าน | เห็นนงคราญหอบเหลือจนเหื่อ[๓๑]ไหล |
อีแม่เจ้าตำข้าวแต่กูไป | ยังไม่ได้สักครกเจียวอกกู |
ยังไม่แหลกแตกเปลือกเสียอีกเล่า | น้อยหรือเข้าข้างครกหกอักขู[๓๒] |
อีทองจันเอ๋ยเอ็งพันแต่หมากพลู | มานี่กูตำเองเร่งออกไป |
ฝ่านพรานป่าหาเนื้อจนคํ่าพลบ | ไม่พานพบสัตว์ดงยิ่งสงสัย |
มันบ่นว่ามาพลางที่กลางไพร | ถึงกระไดเห็นเมียนั่งวุ่นวาย |
จึงร้องด่าว่ายังทำไมเล่า | ไม่หุงเข้ากินหรืออีฉิบหาย |
กูไปป่าหาเนื้อเบื่อจะตาย | ไม่พบควายพบวัวสักตัวเดียว |
อีนางเมียด่าผัวอ้ายหัวตัด | ไม่ทันยัดแล้วก็ด่าทำตาเขียว |
กูไปป่าหาฟืนตัวเป็นเกลียว | หยุดประเดี๋ยวไม่ทันเหื่อจะแห้งเม็ด |
ให้ทองจันมันตำไว้รอท่า | กูกลับมาแลดูเหมือนหนูเกล็ด |
พึ่งตั้งหม้อก่อไฟไม่ทันเช็ด[๓๓] | มึงระเห็จไปถึงไหนไม่ใคร่มา |
อ้ายผัวโป้งว่ากูโด่งไปทางเหนือ | เที่ยวตามเนื้อทุกสุมทุมพุ่มพฤกษา |
ทั้งควายวัวแต่สักตัวไม่ปะตา | ช่างชั่วช้าเหมือนกันกระไรเลย |
เกิดมาเปล่าตำเข้าไม่แตกกาก | คารมมากพูดล้วนแต่สรงเสวย |
ออผัวไปก็ไม่ได้อะไรเลย | มึงเสวยเกลือเถิดทั้งผัวเมีย |
อยู่เคหาก็จะพากันย่อยยับ | ครั้นจะขับกลัวเสือจะกินเสีย |
จะให้เฝ้าไร่ถั่วทั้งผัวเมีย | กระท่อมเตี้ยของกูปลูกไว้ดิบดี |
หม้อเข้าปลาพร้าเสียมเอาไปด้วย | แล้วพรานช่วยเอาไปส่งทั้งสองศรี |
มึงอยู่เฝ้าเต้าแตงกูให้ดี | อย่าให้มีอันตรายที่ปลายนา |
ที่สุกห่ามตามเถิดมึงกินบ้าง[๓๔] | นายพรานสั่งแล้วกลับมาเคหา |
สองกระษัตริย์จากบ้านนายพรานมา | ก็ค่อยผาสุกสบายอยู่ตามจน |
พระถากทายดายหญ้ารักษาผัก | เย็นแล้วตักนํ้ารดทุกพรรณผล |
ถนอมครรภ์มเหสีนิรมล | พระสู้ทนความยากลำบากมา |
ถ้วนกำหนดทศมาสได้สิบเดือน | นางจะเคลื่อนคลอดองค์โอรสา |
ให้วิงเวียนเศียรสองนัยนา | ด้วยวาตาป่วนปั่นในครรภ์นาง |
ให้กลัดกลุ้มคลุ้มคลึงเป็นลูกคลื่น | ปะทะพื้นพระอุทรเป็นก้อนขวาง |
ทอดพระองค์ลงสะอึกสะอื้นคราง | สำเนียงนางกรีดกราดเพียงขาดใจ ฯ |
๏ พระทรงธรรม์ฟันดินอยู่กลางร่อง | ได้ยินร้องหวีดวิ่งประหวั่นไหว |
แม่เจ็บครรภ์หรือแม่จันจงแข็งใจ | ภูวไนยแอบน้องประคองกาย[๓๕] |
โอ้อกเอ๋ยยังไม่เคยจะมีลูก | นวดให้ถูกที่ตรงไหนจะได้หาย |
นางเกลือกกลิ้งพระก็วิ่งออกวุ่นวาย | นางฟูมฟายชลนาโศกาลัย |
เจ้าพระคุณทูลกระหม่อมของเมียเอ๋ย | น้องจะเลยชนมชีพลงตักษัย |
อย่าท้อแท้แม่จันจงแข็งใจ | ทอดเตาไฟเถิดหรือเจ้าลำเพาพาล |
นางสะดุ้งพระพยุงเข้าหนุนหลัง | ระรัวทั้งวรองค์น่าสงสาร |
เจ้าครวญครํ่ารํ่าเรียกพระกุมาร | อย่าสังหารแม่ให้บรรลัยเลย |
ออกมาเถิดเพื่อนมารดาในป่าเปลี่ยว | แม่แลเหลียวไม่เห็นใครแล้วลูกเอ๋ย |
ทั้งแม่พ่อนี้จะได้ไว้ชมเชย | นางบ่นเบยหวีดหวาดเพียงขาดใจ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเทวาป่าระหง | ทุกวังวงวุ้งเวิ้งเพิงไศล |
มาพรั่งพร้อมที่กระท่อมของท้าวไท | สำแดงให้เห็นกายอยู่รายเรียง |
บ้างนวดฟั้นผันแปรอยู่แออัด | นางกระษัตริย์แสนสบายค่อยหายเสียง |
บ้างหนุนหลังนั่งล้อมอยู่พร้อมเพรียง | อาทิตย์เที่ยงถึงฤกษ์เจริญไชย |
พระครรภ์เลื่อนเคลื่อนคลอดโอรสราช | โลกธาตุเคลื่อนคลอนขย่อนไหว |
พิภพพื้นตื่นทั่วทั้งกรุงไกร | สมุทรไทคลั่งคลื่นเสียงครื้นโครม |
เมฆชอุ่มกลุ้มเกลื่อนอยู่กลบกลัด | พายุพัดหอบหือกระพือโหม |
พระจันทร์ส่องสว่างกลางโพยม | ดาวดังโคมเคียงเดือนกระเด็นลอย |
สุนีป่วนครวญลั่นอยู่ครั่นครื้น | พยับพื้นอากาศเป็นฝนฝอย |
ดุริยางค์ดังเองเป็นเพลงลอย | ด้วยลูกน้อยนางคลอดออกจากครรภ์ |
เทพเจ้าเข้าช่วยกันโสรจสรง | สำอางองค์อวยพรแล้วผายผัน |
นางพระยาวันทาท้าวเทวัญ | แล้วรับขวัญอุ้มองค์พระกุมาร |
ประทับแทบแนบทรวงพระนางนาฏ | ท้าวอินณุมาศปรีดิ์เปรมเกษมศานต์ |
แล้วฟันฟืนก่อไฟใส่เชิงกราน | ให้เยาวมาลย์ผิงเปลวพระเพลิงพลัน |
ภูษาทองรองพับรับโอรส | พระทรงยศโลมลูบแล้วรับขวัญ |
ดูลูกรักวรพักตร์เพียงเพ็ญจันทร์ | พระทรงธรรม์กอดลูกแล้วโศกา |
นฤบาลว่าสงสารพระลูกแก้ว | เกิดมาแล้วเมื่อพ่อขาดวาสนา |
นางจัน[๓๖]ว่าแม้นก่อนพ่อเกิดมา | พระวงศาก็จะล้อมอยู่พร้อมเพรียง |
พระบิดาว่าแม้นเมื่อได้ฤกษ์ | จะเอิกเกริกแตรสังข์ประดังเสียง |
พระชนนีว่าจะมีแม่นมเคียง | พระพี่เลี้ยงเถ้าแก่จะแจจัน |
พระบิตุเรศว่าประเทศทุกไทท้าว | ถ้ารู้ข่าวก็จะรีบมาทำขวัญ |
พระมารดาว่าพ่อนอนเมื่อกลางวัน | ฝูงกำนัลก็จะเห่ดังเรไร |
พระบิดาว่าโอ้มาคลอดเจ้า | กระท่อมเท่ารังกาได้อาศัย |
พระมารดาว่าสงสารสายสุดใจ | อู่ก็ไม่มีรองพระองค์เลย |
พระทรงฤทธิ์ว่าคิดแล้วใจหาย | เอาหนังควายต่างฟูกเถิดลูกเอ๋ย |
พระมารดาว่าขวัญเข้าเจ้าทรามเชย | มาเสวยถันเต้าแม่เต็มทรวง |
สองกระษัตริย์โทมนัสด้วยลูกน้อย | ยิ่งเศร้าสร้อยคิดคะนึงถึงวังหลวง |
แล้วแข็งขืนกลืนโศกไว้ในทรวง | อาทิตย์ล่วงเลยลัดอัสดง |
ครั้นพลบค่ำทำขวัญโอรสราช | ด้วยไกลญาติมาอยู่ในไพรระหง |
สองกระษัตริย์จัดเลือกพระธำมรงค์ | ทั้งสองวงค่าควรกับพารา |
พระมารดรผูกกรข้างเบื้องซ้าย | พงศ์นารายณ์ผูกข้อพระหัตถ์ขวา |
ค่อยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกยา | อยู่ชายป่าริมไร่ของนายพราน ฯ |
[๑] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ทูลบรมปิ่นกระษัตริย์ภัสดา”
[๒] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “ท้าวแถลง...”
[๓] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “กระทู้ถามโหรเฒ่าด้วยเศร้าหมาง”
[๔] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “จะผ่อนปรนบนบานพอเบานาง”
[๕] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ขอเดชะชันษาชะตาตก”
[๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ลูกของเขาเขาก็ร่ำแต่บำเรอ”
[๗] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “จะคิดการเสียแต่ยังกำลังมี”
[๘] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “เข้าเกลี้ยกล่อมพร้อมใจกันหลายหมื่น”
[๙] สมุดไทยเลขที่ ๔๖/๑ ว่า “คว้าผิด”
[๑๐] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “เหมือนโหรเฒ่าทักทายเสียดายเดช”
[๑๑] สมุดไทยว่า “จุลาจล” ทุกแห่ง
[๑๒] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “กรุงกระษัตริย์โทมนัสมานะนึก”
[๑๓] เข้า = ข้าว
[๑๔] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “ให้”
[๑๕] สมุดไทยเลขที่ ๔๖/๑ ว่า “ตามแต่ไปซ่อนแฝงทุกแห่งหน”
[๑๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “จึงวางใต้ไทรทองรโหฐาน”
[๑๗] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “พอรุ่งแจ้งแจ่มแสงพระสุริยง”
[๑๘] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ยิ่งเคืองแค้นข้องขัดสหัสสา”
[๑๙] พิษฐาน = อธิษฐาน แปลว่า ขอร้องต่อสิ่งศักดสิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพ
[๒๐] สมุดไทยเลขที่ ๔๖/๑ ว่า “เหมือนโหรเฒ่าทายแล้วนะแก้วตา”
[๒๑] สนัด = ถนัด
[๒๒] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ตามแต่บุญเถิดหรือเจ้าเราเข้าไป”
[๒๓] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ในเมืองเราหรือเข้านครอื่น”
[๒๔] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “เมื่อเราตื่นก็เห็นเป็นป่ากว้าง”
[๒๕] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “บ้านไร่”
[๒๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “ปรารมภ์”
[๒๗] สมุดไทยเลขที่ ๔๖/๑ ว่า “บุ”
[๒๘] กระบาย คือ กระบุงเล็ก ๆ ไม่มีไม้เสริมขอบปาก ในที่นี้เป็นภาชนะใส่ข้าว
[๒๙] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “อ้ายพรานป่าว่าแม่เจ้าอีชาวใน”
[๓๐] ทราย = เนื้อทราย
[๓๑] เหื่อ = เหงื่อ
[๓๒] อักขู = อักโข แปลว่า จำนวนมาก
[๓๓] ไม่ทันเช็ด หมายถึง ยังไม่ได้รินน้ำข้าวออกจากหม้อให้แห้ง
[๓๔] สมุดไทยเลขที่ ๔๖/๑ ว่า “บั้ง”
[๓๕] สมุดไทยเลขที่ ๔๔, ๔๖/๑ ว่า “ภูวไนยแนบน้องประคองกาย”
[๓๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “นางจันทร”