- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
๏ จะกล่าวความพราหมณ์ถือข้างพรหเมศ | รู้ไตรเพทวิทยามหาศาล |
ได้ศึกษาปาโมกข์โลกวิจารณ์ | แทบสถานบ้านเมืองมิถิลา |
มหาพราหมณ์นามชื่อวิรุณฉาย | มีบุตรชายแน่งน้อยเสน่หา |
จึงสังเขปชื่อเทพจินดา | ชันษาพราหมณ์น้อยสิบสองปี |
เมื่ออัศจรรย์วันประสูติพระหน่อนาถ | สุธาวาสหวั่นไหวทุกกรุงศรี |
วิรุณฉายพอจะวายวางชีวี | พลิกคัมภีร์อ่านดูก็รู้พลัน |
จึงเรียกบุตรสุดสวาทมาบอกเหตุ | ซึ่งอาเพศหวั่นไหวทั้งไอศวรรย์ |
ผู้มีบุญจุลจักรออกจากครรภ์ | จงสำคัญหรดีตามตำรา |
พ่อวอดวายสายสุดสวาทแสวง | ในตำแหน่งท่านผู้มีวาสนา |
จะได้พึ่งหนึ่งจงจำเอาตำรา | ลักขณาจุลจักรให้แจ้งใจ |
มอบตำราแล้วกำชับไว้ถ้วนถี่ | คัมภีร์นี้เกิดถึงโลกวิสัย |
พอสอนบุตรสุดสวาทแล้วขาดใจ | เสียงร้องไห้รักกันสนั่นเรือน |
แสนสงสารพราหมณ์น้อยไห้สร้อยเศร้า | ยิ่งเปลี่ยวเปล่าฤทัยใครจะเหมือน |
โอ้มารดาอาสัญได้สามเดือน | บิดาเคลื่อนละลูกอาลัยลาญ |
สะอื้นกอดบาทาบิดาไว้ | ฝูงข้าไทญาติวงศ์ก็สงสาร |
ต่างโลมเล้าเอาใจพราหมณ์กุมาร | แล้วแต่งการปลงศพมหาพราหมณ์ |
ทิ้งทานทรัพย์นับสัดสหัสสา | แล้วปลงฌาปนกิจบิดากลางสนาม[๑] |
ครั้นเสร็จสรรพกลับคืนนิคมคาม | กุมารพราหมณ์แสนรันทดสลดใจ |
ยิ่งยามดึกยิ่งสะอึกสะอื้นอ้อน | ถึงบิดรมารดานํ้าตาไหล |
โอ้ครั้งนี้มิรู้ที่จะพึ่งใคร | ทั้งโภไคยผู้คนก็โรยรา |
คิดถึงคำพ่อรํ่ารำพันสอน | จำจะจรไปเสาะแสวงหา |
ที่มีบุญจุลจักรพัตรา | เปิดตำราอ่านดูก็รู้ความ |
หรือกระษัตริย์สุริย์วงศ์พระองค์เอก | จากเศวกรอัตรา[๒]อยู่ป่าหนาม |
จะไปหาข้าไทมิให้ตาม | กุมารพราหมณ์นึกเสร็จแล้วแต่งกาย |
จีบกระโจมโขมพัสตร์ดูผุดผ่อง | สอดเสื้อกรองใส่กระดุมดูเฉิดฉาย |
เข็มขัดคาดเจียระบาดสุวรรณพราย | ใส่แหวนรายนิ้วหัตถ์จัดประจง |
กระหมวดมวยสวยสางแลวใส่ช้อง | กรรเจียกทองวงนลาฏดังราชหงส์ |
สวมสังวาลเพชรรัตน์กระหวัดวง | จัดประจงเจิมพักตร์พรรณราย |
สง่างามพราหมณ์น้อยสำอางเอี่ยม | ละม่อมเทียมเทวัญเมื่อผันผาย |
สั่งบรรดาข้าไททั้งหญิงชาย | ท่านทั้งหลายจงระวังซึ่งตึกราม |
เราจะไปศึกษากับปาโมกข์ | โดยสังโยควิสัยเที่ยวไถ่ถาม |
ได้เสร็จสรรพจึงจะกลับนิคมคาม | สั่งแล้วพราหมณ์น้อยนาดดำเนินจร |
มุ่งวิถีหรดีสันโดษเดี่ยว | ก็ท่องเที่ยวดั้นเดินเนินสิงขร |
พลางชมฝูงวิหคาทิชากร | บ้างเริงร่อนจับรุกข์อยู่เรียงรัน |
เรไรเพรียกเรียกร้องเสียงหริ่งแร่ | ค่าคบแคเขาเคยเข้าเคียงขัน |
กิ่งเกดใหญ่ไก่แก้วตะโกนกัน | ไม้โมกมันหมู่โมงมามองเมียง |
ลิงลมลงหลงเล่นลางลิงโลด | เหมหงส์โหดหันหาหิงหาดเหียง |
คัดเค้าทั้งกางเขนเป็นคู่เคียง | อีแอ่นเอี้ยงโอนอ่อนออกอื้ออึง |
เจ้าพราหมณ์ฟังพลอยเพลินด้วยฝูงนก | เดินไม่ตก[๓]รีบไปจะให้ถึง |
ทั้งเสือสัตว์สารพัดไม่พรั่นพรึง | ด้วยรู้ซึ่งไสยเพทพระเวทมนตร์ |
สิบทิวามาถึงที่ริมไร่ | ให้อ่อนใจร่วงโรยระโหยหน |
เข้าหยุดนั่งบังแสงพระสุริยน | ที่ใต้ต้นกร่างใหญ่ในวนา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงท้าวไทในกระท่อม | ค่อยถนอมเลี้ยงองค์โอรสา |
พระผูกเปลไว้ให้เจ้าไสยา | แล้วก็พากันไปดูไร่แตง |
ผลกรรมจำให้ไกลสถาน | พระกุมารฟื้นองค์ทรงกันแสง |
พระสุรเสียงฉํ่าเฉื่อยระเรื่อยแรง | พระพายแกล้งหอบเสียงกุมารา |
ให้แว่วแว่วแจ้วโสตเจ้าพราหมณ์น้อย | พอเคลิ้มม่อยหวาดฟื้นตื่นผวา |
ฟังสำเนียงเสียงร้องต้องตำรา | พราหมณ์จินดาดีใจใครจะปาน |
ผู้มีบุญจุลจักรอยู่หน้าแล้ว | เสียงแจ้วแจ้วหวั่นไหวในไพรสาณฑ์ |
มามองเมียงฟังเสียงพระกุมาร | ถึงสถานที่ทับกลับชะงัก |
ไม่พบคนขึ้นบนเคหาห้อง | เห็นผ้าทองผูกอู่รู้ประจักษ์ |
เข้านั่งชิดแล้วพิศเพ่งพระพักตร์ | นรลักษณ์ผุดผ่องต้องตำรา |
แล้วเห็นวงธำมรงค์เรืองจำรัส | ผูกพระหัตถ์โฉมฉายทั้งซ้ายขวา |
ชะรอยจอมจักรพรรดิขัตติยา | เสียพารายากไร้ในไพรวัน |
แล้วดูบาทโฉมงามตามประสงค์ | เป็นลายกงจักรพรรดิกระหวัดผัน |
พราหมณ์บังคมก้มกราบกับบาทพลัน | แล้วรับขวัญโอบอุ้มกุมารลง |
จากกระท่อมด้อมหนีสองกระษัตริย์ | ละเลาะลัดไปในไพรระหง |
ค่อยประคองมิให้ร้องขึ้นกลางดง | ตัดทางตรงลัดมิถิลามา ฯ |
๏ ฝ่ายทรงฤทธิ์บิตุเรศพระมารดร | ให้อาวรณ์คอยระวังโอรสา |
เที่ยวเก็บผักหักฟืนแล้วคืนมา | ถึงเคหามิได้เห็นเพื่อนเข็ญใจ |
ต่างทิ้งฟืนยืนคิดจิตอนาถ | เอะประหลาดลูกแก้วแคล้วไปไหน |
หรือพวกบ้านพรานป่ามันพาไป | ออกจากไร่วิ่งพัลวันมา |
ครั้นถึงบ้านพรานไพรเที่ยวไถ่ถาม | ไม่ได้ความลูกน้อยเสน่หา |
ถึงกระท่อมทุ่มทิ้งทอดอุรา | ต่างโศกาเกลือกกลิ้งจนนิ่งไป |
แล้วกลับคืนฟื้นองค์ทั้งแม่พ่อ | โอ้ใครหนอหรือมาแกล้งให้ตักษัย |
เหมือนแขวะควักลักล้วงเอาดวงใจ | ลูกข้าไม่ทันว่าหย่านมเลย |
สะอื้นพลางทางเรียกพระลูกแก้ว | แม่มาแล้วพ่อไปไหนลูกเอ๋ย |
พระบิดาว่าพ่อได้ให้ชมเชย | ค่อยเสบยเบาทุกข์ที่ตรมตรอง |
หรือเสือสีห์หมีเม่นมาเห็นเจ้า | มาคาบเอาลูกไปจากในห้อง |
ไยโลหิตจึงไม่ติดภูษารอง | พระเรียกร้องไห้รํ่าระกำใจ |
พระมารดาว่ายากเพียงนี้แล้ว | มีลูกแก้วเพื่อนเข็ญก็เป็นได้ |
จะอยู่ไยให้เวทนาใจ | สลบไปแน่นิ่งทั้งสององค์ |
ริมอู่ทองลูกยาน่าสงสาร | เย็นสะท้านเส้นหญ้าป่าระหง |
ทุกก้านกิ่งมิ่งไม้ในไพรพง | ทั้งสองคงคืนสมประดีพลัน |
สกุณไก่แก้วร้องตะโกนจ้า | พระหวาดว่าลูกรักกันแสงศัลย์ |
เอะแจ้วแจ้วหรือว่าแก้วแม่จาบัลย์ | ไก่กระชั้นผิดเสียงแล้วโศกา |
ทั้งสองท้าวคราวโศกถึงลูกแก้ว | สลบแล้วค่อยฟื้นขึ้นโหยหา |
แล้วคิดได้ในคำของโหรา | ทายชะตาลูกรักแต่ตั้งครรภ์ |
พระโลมเล้าเยาวมิ่งจริงจริงแม่ | เห็นเที่ยงแท้โหรทายทำนายฝัน |
ว่าจากไปแล้วจะได้ไปพบกัน[๔] | จงกลืนกลั้นโศกเศร้าให้เบาบาง |
เมื่อวันคลอดยอดรักแผ่นดินไหว | ไม่เป็นไรดอกนะน้องอย่าหมองหมาง |
ต่างมั่นจิตคิดหักพระทัยพลาง | ค่อยเสื่อมสร่างโศกาที่อาวรณ์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพราหมณ์น้อยกลอยสงสาร | อุ้มกุมารดั้นเดินเนินสิงขร |
พระหน่อไทรํ่าไห้มากลางดอน | สะอื้นอ้อนอยากนมพระชนนี |
เจ้าพราหมณ์น้อยนั้นค่อยประโลมปลอบ | มาถึงขอบเขาคันคิรีศรี |
มาหยุดพักวักหยอดซึ่งวารี | ทูนหัวพี่นิ่งเถิดอย่าร้องเลย |
แล้วเที่ยวหักฝักบัวกระจับสด | เอาหินบดป้อนให้กุมารเสวย |
เห็นหยุดร้องเข้าประคองขึ้นชมเชย | ทูนหัวเอ๋ยอิ่มแล้วหรือแก้วตา |
แล้ววางตักวักนํ้ามาลูบไล้ | คลี่สไบผูกบนต้นพฤกษา |
ให้นอนเปลเห่กล่อมกุมารา | ได้แต่ช้าแม่อีขับจนหลับไป |
ครั้นตื่นนอนป้อนผลผลาหาร | อุ้มกุมารเลียบเดินเนินไศล |
เข้าแฝงร่มชมพลางมากลางไพร | เด็ดดอกไม้แดงมาให้น้องดู |
ชวนหัวร่ออออือเอาอีกหรือ | พ่อจะถือหรือจะทัดทั้งสองหู |
แล้วยิ้มย่องอุ้มน้องขึ้นชมชู | พ่อจะดูเนื้อนกอยู่โน่นแน |
เห็นไก่เถื่อนอุ้มเชือนไปชมเล่น | พ่อแลเห็นหรือไม่โน่นไก่แจ้ |
กุมาราพูดจาอยู่อือแอ | เห็นผิดแม่เจ้าก็ทรงโศกาลัย |
เจ้าพราหมณ์น้อยปลอบน้องอยู่วายเวย | ตุ๊กแกเอ๋ยกัดท้องคนร้องไห้ |
เจ้าปลอบพลางเดินพลางมากลางไพร | หลงเข้าในจังหวัดอสุรินทร์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพินทุมารชาญผจญ | ได้เฝ้าต้นสรรพยาในเหวหิน |
เป็นยาทิพย์เกิดกับสำหรับดิน | กิ่งหนึ่งกินกลายเป็นนกแก้วไป |
กิ่งหนึ่งกินเป็นพญานาคราช | แสนฉกาจขบกัดคนตัดษัย |
กิ่งหนึ่งกินเนื้อเหลืองเรืองอุไร | กิ่งหนึ่งไซร้กลายกลับเป็นลิงลม |
ต่อกินนํ้ามวกผาจึงยาหาย | ราพณ์ร้ายปิดยาด้วยหินถม |
ออกเดินเดี่ยวเที่ยวในไพรพนม | แสนภิรมย์เริงไล่มฤคิน |
จับได้เสือฉีกเนื้อกระชากลาก | เอาใส่ปากเคี้ยวเล่นเป็นภักษิน |
โลหิตไหลฟูมฟันอสุรินทร์ | พอได้ยินเสียงร้องก้องอารัญ[๕] |
เอะอะไรใครหนอเสียงมนุษย์ | ค่อยย่องหยุดฟังไปในไพรสัณฑ์ |
แลเขม้นเห็นสองกุมารพลัน | ออกยืนยันขวางทางอยู่กลางแปลง |
เจ้าพราหมณ์น้อยช้อยเนตรไปยลยักษ์ | แจ้งประจักษ์ว่ากุมภัณฑ์ก็กันแสง |
อนิจจาครานี้จะสิ้นแรง | อุตส่าห์แข็งขืนวิ่งมาไวไว |
เห็นหุบเขาเข้านั่งพอบังมิด | เอามือปิดปากน้องอย่าร้องไห้ |
ยักษ์มาพบหลบลุกขึ้นหนีไป | กุมภัณฑ์ไล่เวียนวงในดงดาน |
ถึงปากถํ้าพราหมณ์น้อยถลำพลาด | อุ้มหน่อนาถล้มลงน่าสงสาร |
ดิ้นกระเดือกเสือกลุกขึ้นคลุกคลาน | พอขุนมารทันจับไว้กับมือ |
หัวร่อร่าว่าลูกเท่าแมลงหวี่ | มันวิ่งหนีกูน้อยไปแล้วหรือ |
กูจะกินแต่ลิ้นไม่ติดครือ | คิดแล้วรื้อให้สงสารกุมารครัน |
ด้วยเดชะผลบุญจุลจักร | เทพารักษ์ดลใจในไพรสัณฑ์ |
ขุนมารวางพลางปลอบกุมารพลัน | อย่าโศกศัลย์กูไม่ล้างให้วางวาย |
เจ้าพราหมณ์น้อยวันทาพญายักษ์ | กอดน้องรักองค์สั่นมิ่งขวัญหาย[๖] |
ว่าฉันนี้พี่น้องทั้งสองชาย | พ่อแม่ตายสิ้นสูญประยูรวงศ์ |
อยู่บ้านเมืองเคืองขัดด้วยอาหาร | จึงเซซานมาที่ในไพรระหง |
ตาขาอย่าฆ่าอันให้ปลดปลง | หลานจะตรงไปเมืองมิถิลา |
เที่ยวขอข้าวชาวบ้านให้ทานน้อง | เจ้ารํ่าร้องอยากนมเป็นนักหนา |
ลูกประหล่ำกำไลที่ใส่มา | ตามแต่ตาต้องประสงค์จงเอาไป |
พินทุมารฟังสารเจ้าพราหมณ์น้อย | ฉลาดถ้อยตอบต้องอัชฌาสัย |
น่าเอ็นดูรู้วอนให้อ่อนใจ | ให้กำไลลูกประหลํ่าธำมรงค์ |
เข้าโลมลูบจูบพักตร์เจ้าพี่น้อง | อันเข้าของที่จะให้ไม่ประสงค์ |
เจ้าเข็ญใจไร้ขาดญาติวงศ์ | พ่ออยู่ดงไร้บุตรธิดาดวง |
จะเลี้ยงเจ้ารักเท่าโอรสา | ไปคูหาเราเถิดเจ้าที่เขาหลวง |
แล้วยักษาอุ้มแอบไว้แนบทรวง | ก็เหาะล่วงเขาใหญ่ในไพรวัน |
ถึงถํ้าแก้วแล้ววางสองพี่น้อง | เหนือแท่นทองทิพรัตน์นรังสรรค์ |
ให้กินทิพย์อาหารสำราญครัน | ท้าวกุมภัณฑ์เชยชมภิรมยา |
สงสารหน่อกระษัตราเป็นทารก | เมื่อวันตกมาอยู่ในคูหา |
เห็นหน้ายักษ์ผิดพักตร์พระมารดา | เจ้าหลับตาแล้วร้องพิไรไป |
ท้าวกุมภัณฑ์รับขวัญแล้วทูนเกล้า | เป็นไรเจ้าดูพ่อแล้วร้องไห้ |
เจ้าพราหมณ์ว่าประสาเด็กไม่เกรงใจ | ยักษ์ออกไปเสียอย่าต้องน้องฉันกลัว |
ยักษ์หัวร่อว่าพ่อไม่ทันรู้ | เจ้ามาดูน้องทีเถิดทูนหัว |
พ่อจะแปลงรูปใหม่มิให้กลัว | แล้วแปลงตัวเป็นมนุษย์นั่งประคอง |
กุมาราเห็นหน้านั้นผิดยักษ์ | ก็ปลงรักอสุรินทร์สิ้นทั้งสอง |
พญายักษ์รักสุดสวาทปอง | เห็นลูกร้องรับขวัญทุกวันมา |
ถึงยามคํ่ายํ่าฆ้องเข้าไสยาสน์ | เอาผ้าลาดลงให้ลูกเสน่หา |
แล้วโบกปัดพัดวีให้นิทรา | ทั้งสองราพระกุมารสำราญใจ |
เวลาเช้าท้าวอุ้มลงสรงนํ้า | เอาผ้าทำเปลกล่อมให้หลับใหล |
แล้วจึงสั่งพราหมณ์น้อยกลอยฤทัย | พ่อจะไปเก็บผลมะม่วงปราง |
ระวังน้องอย่าให้ร้องนะลูกแก้ว | กลางวันแล้วพ่อจะมาอย่าหมองหมาง |
เห็นน้องตื่นชี้ชวนให้เล่นพลาง | ที่ห้องกลางนั้นเจ้าอย่าเข้าไป |
ด้วยกุมภัณฑ์นั้นกลัวโอรสา | จะเห็นต้นสรรพยาในเหวใหญ่ |
ครั้นสั่งแล้วอสุราก็คลาไคล | เข้าสู่ไพรพฤกษาพนาลี |
จับกระทิงสิงหรามาฟาดฟัด | หักคอกัดกินเล่นในไพรศรี |
สำราญจิตขุกคิดถึงคีรี | ป่านฉะนี้ลูกน้อยจะคอยครัน |
จะเก็บพวงผลไม้ไปให้เจ้า | ไม่อิ่มเท่านํ้านมอันคมสัน |
ไปภายหลังกำลังจะน้อยครัน | แล้วกุมภัณฑ์คิดได้ดังใจจง |
เพื่อนรักกูอยู่ในถํ้านางไกรสร | แม่ลูกอ่อนมีนมสมประสงค์ |
จะขอไปให้ลูกกูกลางดง | นึกจำนงแล้วก็เหาะระเห็จมา |
ถึงสิงขรไกรสรสหายรัก | พญายักษ์เข้าไปในคูหา |
ไกรสรเรียกกุมภัณฑ์จำนรรจา | ไปไหนมาขุนมารช้านานเจียว |
ค่อยอยู่ดีมีสุขหรือทุกข์ร้อน | มิใคร่จรมาหาเราที่เขาเขียว |
ทุกวันนี้มีคู่หรืออยู่เดียว | หรือท่องเที่ยวอยู่ไม่สมอารมณ์ปอง |
ท้าวยักษาว่าหามีอนงค์ไม่ | แต่ว่าได้ลูกรักไว้ทั้งสอง |
เป็นชายโฉมโสภีทั้งพี่น้อง | นวลละอองลักขณาวิลาวัณย์ |
จะขอนมเพื่อนรักไปสักหน่อย | จะได้เลี้ยงลูกน้อยไม่อาสัญ |
พอเป็นเพื่อนเข็ญใจในไพรวัน | เหมือนช่วยกันบำรุงกุมารา |
ราชสีห์จึงว่าดีแล้วสหาย | ได้สืบสายยศศักดิ์ของยักษา |
ที่นํ้านมอย่าปรารมภ์เลยอสุรา | หมดแล้วมาเราจะให้ดังใจปอง |
อสุรินทร์ยินคำไกรสรสัตว์ | โสมนัสเปรมปรีดิ์ไม่มีสอง |
สำแดงฤทธิ์นฤมิตผอบทอง | เข้ารับรองนมสิงหราพลับ |
เต็มผอบอสุราลาสหาย | อยู่สบายเถิดนะเพื่อนจะผายผัน |
ก็ลอยลิ่วปลิวถึงสิงขรพลัน | ระเห็จหันลงไปถํ้าที่สำนัก |
เห็นพี่น้องนั่งเล่นอยู่บนแท่น | ให้สุดแสนพิสวาสอุ้มใส่ตัก |
แล้วโลมลูบจูบจอมถนอมพักตร์ | ให้ลูกรักกินนมนางสิงหรา |
ค่อยกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้ในไพรสาณฑ์ | จนกุมารเติบใหญ่ในคูหา |
มีกำลังดั่งหนึ่งสิงหรา | ผลักศิลาปิดปากถํ้านั้นทำลาย |
ท้าวกุมภัณฑ์หวั่นหวาดประหลาดจิต | ดูเด็กนิดหนึ่งกำลังนั้นใจหาย |
เห็นจะมีบุญเลิศประเสริฐชาย | ราพณ์ร้ายจึงขนานนามกร |
ชื่อสิงหไกรภพพูนสวัสดิ์ | หน่อกระษัตริย์กินนมนางไกรสร |
ให้เจ้าพราหมณ์จำนามไว้แน่นอน | แล้วอวยพรลูกรักให้รุ่งเรือง ฯ |
[๑] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “แล้วปลงฌาปนกิจกลางสนาม”
[๒] เศวกรฉัตรา = เศวตฉัตรา
[๓] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “พลางวิตก”
[๔] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ว่าจากไปแล้วจะได้มาพบกัน”
[๕] อารัญ = อรัญ
[๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “กอดน้องรักตัวสั่นมิ่งขวัญหาย”