- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
๏ จะกล่าวเรื่องเมืองท้าวจัตุพักตร์ | พญายักษ์พยาบาทไม่ขาดหาย |
เห็นลูกหลานพานจะไม่สบาย | เพราะรักชายชาติมนุษย์นึกสุดแค้น |
ถึงเดือนอ้ายปลายปีจึงกรีทัพ | เหลือจะนับรากโษสตั้งโกฏิแสน |
เกณฑ์กุมภัณฑ์จันตประเทศทุกเขตแดน | อเนกแน่นเนื่องมาในธานี |
กองหน้าหลังคั่งคับนับสมุทร | ฤทธิรุทรรบสู้ไม่รู้หนี |
ทังเกียกกายซ้ายขวาเคยราวี | ขุนเสนีนายทัพกำกับพล |
แล้วผูกพระคชามหาเมฆ | เป็นช้างเอกออกศึกเคยฝึกฝน |
งารัดทองสองหูพู่จงกล | รัตคนเครื่องมั่นกระสันรัด |
ปกกระพองก่องแก้วพลอยแพรวพร่าง | ใส่ช้องหางห่วงคล้องไม่ข้องขัด |
ผูกชนักชักราสารพัด | ปกหลังรัดคชาผ้ากัมพล |
มาเรียงเรียบเทียบเกยเคยประทับ | ดูคั่งคับโยธาโกลาหล |
เหล่าทหารชาญชิดฤทธิรณ | นิมิตตนโตใหญ่ทั้งไพร่นาย |
ตัวเป็นยักษ์พักตร์เป็นสีห์เม่นหมีหมา | ทั้งเหยี่ยวกาหน้ากากมีหลากหลาย |
หน้าเป็นแพะแกะกวางบ้างเป็นควาย | เป็นเสือลายลิงค่างต่างต่างกัน |
ถอนภูเขาเอาต้นตาลมาต่อติด | พันตะบิดตะบองแกว่งดูแข็งขัน |
เอางูเงี้ยวเกี่ยวรัดกระหวัดพัน | ผูกกระสันสรรพางค์ต่างสังวาล |
บ้างคิดทำอำนาจประหลาดหลาก | ล้วนพลกากภาษาโยธาหาญ |
ดูคั่งคับนับสมุทรสุดประมาณ | สะเทื้อนสะท้านธรณีด้วยกรีพล ฯ |
๏ ปางองค์ท้าวเจ้าบูรินทร์ปิ่นกระษัตริย์ | สรงสหัสธาราดังห่าฝน |
นํ้าหอมฟุ้งปรุงประพระสุคนธ์ | ทรงเครื่องต้นแต่งองค์อลงการ์ |
ภูษาโจมโจงกระหวัดเข็มขัดคาด | ห้อยหน้าพาดเพราพรายทั้งซ้ายขวา |
ฉลององค์ทรงเกราะเกล็ดนาคา | อัดอุราหน้าหลังลายมังกร |
ทองพระกรตรัสเตร็จเพชรสุหร่ง | ธำมรงค์นพรัตน์ประภัสสร |
มงกุฎแก้วแพรวพร่างกระจ่างจร | ทั้งแปดกรกุมสาตรามาเกยชัย ฯ |
๏ ฝ่ายพระนุชบุตรีนารีราช | ใจจะขาดคิดพรั่นประหวั่นไหว |
ทรงโศกาพาโอรสยศไกร | มากราบไหว้วอนว่าพญามาร |
พระปิ่นเกล้าเจ้าประคุณทูลกระหม่อม | เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน |
โปรดบิดาย่าปู่ของกุมาร | อย่าไปผลาญชีวันให้บรรลัย |
ด้วยต่างคนต่างอยู่เป็นผู้อื่น | ใช่จะขืนเคืองขัดอัชฌาสัย |
อย่าก่อกรรมทำเวรเวราไป | นางพิไรรํ่าว่าแล้วจาบัลย์ ฯ |
๏ พญายักษ์รักบุตรยืนหยุดยั้ง | จึงรอรั้งรื้อฉุนคิดหุนหัน |
ไม่ฆ่าเสียเมียผัวเคยพัวพัน | หน่อยหนึ่งมันก็จะทำให้รำคาญ |
คิดเคืองขัดตรัสขับแล้วจับขอ | ขึ้นทรงคอช้างที่นั่งสั่งทหาร |
ให้ยกทัพขับพหลพลมาร | โห่สะท้านสะเทื้อนลั่นสนั่นดัง |
เหาะเป็นทิวปลิวฟ้านภากาศ | ดูเกลื่อนกลาดซ้ายขวาทั้งหน้าหลัง |
พระสุริย์แสงแฝงรถก็บดบัง | สะเทื้อนทั้งธรณินแผ่นดินแดน |
เสียงฆ้องกลองก้องกึกพิลึกลั่น | เสียงกุมภัณฑ์เซ็งแซ่โห่แห่แหน |
เทพทั่วทุกรุกขมูลวิมานแมน | ต่างโลดแล่นหลบยักษ์ไปจักรวาล |
ทะเลลึกครึกครื้นเป็นคลื่นคลั่ง | กระทบฝั่งฟูมฟาดเสียงฉาดฉาน |
ไม่ยั้งหยุดรุดร้นพลมาร | ได้เดือนครึ่งถึงด่านเมืองโกญจา |
พวกม้าใช้ไม่ทันจะบอกแจ้ง | ด้วยเรี่ยวแรงฤทธิ์ยักษ์เร็วหนักหนา |
พวกกองทัพจับมนุษย์ตามรุดมา | ถึงพารารอพลสกลไกร |
ให้ล้อมรอบขอบเขตประเทศสถาน | เหล่าทหารโห่สนั่นเสียงหวั่นไหว |
พวกนายหมวดตรวจกำกับกองทัพชัย | อย่าให้ใครหนีออกนอกพารา ฯ |
๏ ฝ่ายชาวบ้านร้านตลาดต่างหวาดหวั่น | เห็นกุมภัณฑ์พวกยักษ์มานักหนา |
ร้องเว้ยว้ายตายจริงทิ้งข้าวปลา | วิ่งถลาลุกล้มลงซมซาน[๑] |
เห็นรกเลี้ยวเที่ยวซุกบุกแขมแฝก | บ้างก็แบกหมอนฟูกอุ้มลูกหลาน |
บ้างผ้าผ่อนล่อนโล่งโก้งโค้งคลาน | อลหม่านแซ่เสียงทั้งเวียงไชย |
ทั้งองค์ท้าวเจ้าพาราประหม่ายักษ์ | ลุกขึ้นชักพระแสงทรงวิ่งหลงใหล |
นางห้ามแหนแสนสนมกรมใน | ต่างวิ่งไขว่คว้าเหนี่ยวกันเกลียวกลม |
บ้างล้มกลิ้งวิ่งร้องเสียงซ้องแซ่ | พวกเถ้าแก่กอดสุรางค์นางสนม |
คิดว่ายักษ์ผลักไสไถลล้ม | ผ้านุ่งห่มหายหาละล้าละลัง |
พวกสาวสาวเหล่าที่ตระหนี่ของ | ฉวยเงินทองมุดใต้ถุนกลบฝุ่นฝัง |
บ้างห่อผ้าคว้าถุงพะรุงพะรัง | นางชาววังวิ่งพัลวันไป ฯ |
๏ ท้าวอินณุมาศมาปราสาทพระลูกรัก | ร้องว่ายักษ์จะมาจับยังหลับใหล |
พระฟื้นองค์ทรงทราบกราบท้าวไท | ได้ยินไพร่พลโห่เป็นโกลา |
จึงทูลว่าอย่าทรงปรารภร้อน | จะราญรอนสังหารผลาญยักษา |
แล้วอ่าองค์สรงชลสุคนธา | ออกนั่งหน้าแท่นรัตน์ชัชวาล |
เห็นเสนีพี่เลี้ยงพร้อมเพรียงหน้า | จึงตรัสสั่งเสวกาปรีชาหาญ |
ให้เอาทรายรายรอบขอบปราการ | แล้วโอมอ่านอาคมเป่าลมไป |
บรรดาทรายกลายเป็นเช่นมนุษย์ | ถืออาวุธหอกปืนยืนไสว |
อันพวกเหล่าชาวบูรีก็ดีใจ | เห็นจะไม่แพ้ยักษ์ด้วยศักดา |
ดูพยนต์พลทรายกายสิทธิ์ | อักนิษฐ์นับแสนอยู่แน่นหนา |
รู้โห่ร้องลองแรงแกว่งสาตรา | พระบิดาดีใจกระไรเลย |
พระร้องว่าข้าเฝ้าสาวสนม | อย่าปรารมภ์กลัวยักษ์นักเลยเหวย |
แล้วยืนดูหมู่พหลอยู่บนเกย | ด้วยไม่เคยเห็นฤทธิ์วิทยา ฯ |
๏ ฝ่ายเอกองค์ทรงยศโอรสราช | ให้อุปราชกับเสนีมียศถา |
อยู่กำกับทัพพยนต์บนเสมา | รายรักษาป้อมปราการทวารบัง |
แล้วพระองค์ทรงยนต์พลกระดาษ | เสกด้วยศาสตร์ไสยเวทวิเศษขลัง |
เป็นวิหคนกอินทรีมีกำลัง | ให้พร้อมทั้งโยธาพลากร[๒] |
ต่างแกว่งกลอกหอกดาบดูวาบวับ | ทั้งหน้าหลังคั่งคับสลับสลอน |
สมถวิลยินดีชุลีกร | กราบบิดรทูลลาจะราวี |
พระบิดาอาวรณ์อวยพรให้ | จงมีชัยจัตุพักตร์พวกยักษี |
ทั้งเวทมนตร์ดลประสิทธิ์เรืองฤทธี | ปราบไพรีราพณ์ร้ายให้วายชนม์ ฯ |
๏ พระสิงหไกรภพเคารพรับ | ให้กองทัพขานโห่โกลาหล |
ขึ้นทรงนั่งหลังวิหคนกพยนต์ | แล้วเดินพลออกประตูบูรพา |
ถึงที่กว้างทางเกวียนออกเตียนล่ง[๓] | เห็นช้างทรงจัตุพักตร์ท้าวยักษา |
ให้หยุดยั้งตั้งกองป้องปีกกา | อยู่ตรงหน้ากุมภัณฑ์ประจัญบาน |
พลางยิ้มย่องร้องว่าพญายักษ์ | มาไกลนักเหนื่อยองค์น่าสงสาร |
จงหยุดยั้งรั้งรอพอสำราญ | พระลูกหลานอยู่ดีหรือมีภัย ฯ |
๏ อสุรินทร์ยินคำซํ้าโทโส | พระเสโทซึมโซมชโลมไหล |
เหม่อ้ายโจรโกญจาชะล่าใจ | หากหนีได้จึงรอดไม่วอดวาย |
ยังกลับนึกฮึกฮักมาซักถาม | มึงเหลือลามแล้วตระกูลจะสูญหาย |
พลางเร่งทัพขับพหลพลนิกาย | จับผู้ร้ายเร็ววะอย่าละมัน |
โยธาทัพรับสั่งไม่ยั้งหยุด | รำอาวุธกวัดแกว่งล้วนแข็งขัน |
บ้างฮึกโหมโรมรุกไล่บุกบัน | พระยาธรรอนรันประจัญรับ |
อสุรากล้าหาญเงื้อขวานง้าว | ทั้งแหลนหลาวฟันฟาดเสียงฉาดฉับ |
ตีพยนต์พลรบสมทบทัพ | แล้วรุกกลับแทรกซ้อนเข้ารอบราญ |
ล้วนเรี่ยวแรงแทงฟันพระขรรค์ฟาด | เผ่นพิฆาตฆ่ายักษ์ไล่หักหาญ |
ทั้งไพร่นายตายล้มลงซมซาน | เลือดดังธารท่วมนองท้องสุธา |
ศพอสูรมูลกองเต็มท้องทุ่ง | บ้างไส้พุงเรี่ยรายทั้งซ้ายขวา |
ที่เหลือตายนายทัพกลับเข้ามา | พยนต์พระยาธรทะยานผลาญชีวัน ฯ |
๏ ฝ่ายท้าวจัตุพักตร์เห็นยักษ์ยับ | กระทืบขับช้างที่นั่งดังกังหัน |
เสียงฮูมแปร๋นแล่นทะลวงกำลังมัน | หางหูชันชักแทงกวัดแกว่งงา |
เหยียบพยนต์ป่นยับแล้วกลับฟื้น | ทะลึ่งยืนต่อแย้งแทงยักษา |
ท้าวกุมภัณฑ์ฟันฟาดด้วยสาตรา | ถูกพระยาธรพยนต์ไม่ทนทาน ฯ |
๏ พระสิงหไกรภพเข้ารบรับ | กระโจนจับจัตุพักตร์ด้วยหักหาญ |
ท้าวแปดกรรอนรันประจัญบาน | นกทะยานเหยียบช้างไม่ห่างกัน |
ทั้งปากจิกปีกตีขยี้เล็บ | กุญชรเจ็บซวนเซซบเหหัน |
ยักษ์ขยับรับพลาดพระฟาดฟัน | ถูกกุมภัณฑ์ขาดกลางทั้งช้างพลาย |
เป็นสองซีกฉีกดิ้นสิ้นชีวิต | ดับดวงจิตไปสวรรค์เหมือนมั่นหมาย |
พวกพหลพลไกรทั้งไพร่นาย | เห็นเจ้าตายต่างราบก้มกราบกราน ฯ |
๏ พระสิงหไกรภพเสร็จรบยักษ์ | ค่อยผ่อนพักพาอำมาตย์มาราชฐาน |
ขึ้นประทับพลับพลาบนปราการ | พวกยักษ์มารกราบก้มบังคมคัล |
บิตุราชมาตุรงค์องค์กระษัตริย์ | มาเยียดยัดที่พลับพลาสุทธาสวรรย์ |
ทั้งห้ามแหนแสนสุรางค์นางกำนัล | ดูกุมภัณฑ์หัวร่อต่อกระซิก |
บ้างผินหน้าว่าเจ้าเขี้ยวยาวโง้ง | จมูกโด่งตาพองผมหยองหยิก |
บ้างก็ว่าน่ากลัวพวกหัวพริก | หัวเราะริกรูปร่างโคร่งคร่างครัน |
พระบิตุรงค์โองการกับลูกรัก | พญายักษ์หยาบช้าก็อาสัญ |
อันรากโษสโกฏิแสนแน่นอนันต์ | จะผ่อนผันคิดอ่านประการใด ฯ |
๏ พระนบนอบตอบสนองว่ากองทัพ | จะให้กลับไปบูรีตามวิสัย |
ทั้งลูกรักจักลาพระคลาไคล | เอาศพไปให้องค์นางนงคราญ |
ตามพวกพ้องของเขาได้เผาศพ | ตามขนบนัคเรศประเทศสถาน |
จะให้พี่จินดาปรีชาชาญ | ครองเมืองมารมารันกันไพรี |
แล้วลูกรักจักพาบุตราราช | กับนุชนาฏมาประณตบทศรี |
สนองคุณมุลิกาฝ่าธุลี | จนชีวีวอดวายเหมือนหมายใจ ฯ |
๏ สองกระษัตริย์ตรัสตอบว่าชอบแล้ว | ตามลูกแก้วจะคิดอ่านการไฉน |
แล้วพานางนัดดามาเวียงไชย | พ่อจะได้ชมชื่นทุกคืนวัน |
แล้วชวนองค์นงลักษณ์อัคราช | ยุรยาตรจากพลับพลาสุทธาสวรรย์ |
พร้อมห้ามแหนแสนสุรางค์นางกำนัล | ไปสุวรรณปรางค์มาศปราสาทไชย ฯ |
๏ หน่อกระษัตริย์ตรัสสั่งช่างมนุษย์ | ให้เตรียมบุษบกรัตน์จรัสไข |
มณฑปนพเก้าแก้วประไพ | กับโกศใส่ศพตั้งบัลลังก์รัตน์ |
มีเครื่องสูงชุมสายรายสองแถว | ทั้งฉัตรแก้วเกศแกมแจ่มจรัส |
ทานตะวันกรรภิรุมราชวัติ | เครื่องกระษัตริย์สู่สวรรคครรไล |
ตั้งหน้าหลังสังข์แตรเกณฑ์แห่โหม | กลองประโคมเภรีปี่ไฉน |
พวกยักษีรี้พลสกลไกร | ประนมมือถือดอกไม้ทั้งไพร่นาย |
พวกพยนต์คนธรรพ์ทั้งคันธรรพ | ให้สำหรับเจ้าพราหมณ์ตามผันผาย |
พวกเทวาพระยาธรอยู่ตอนท้าย | คอยเรียงรายรับเสด็จสำเร็จการ ฯ |
๏ ปางพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท | กับอุปราชอ่าองค์สรงสนาน |
ประดับเครื่องเรืองจรัสชัชวาล | แก้วประพาฬเพชรพรายกระจายวง |
ครั้นเสร็จสรรพจับพระขรรค์กัลเม็ด | สองเสด็จยุรยาตรดังราชหงส์ |
มาทูลลาบิตุราชมาตุรงค์ | สองพระองค์อวยชัยแล้วไคลคลา |
เคลื่อนพหลพลมารทหารแห่ | เป่าสังข์แตรฆ้องกลองก้องเวหา |
พยนต์หงส์ทรงมณฑปขึ้นนภา | ค่อยร่อนราปีกกางไปกลางพล |
แล้วทัพพราหมณ์สามแสนแน่นแห่โห่ | ถือเขนโล่ลอยสล้างไปกลางหน |
เจ้าพราหมณ์ขี่หัสดินบินโบกบน | เป็นนายทัพขับพลสกลไกร |
แล้วทัพพระสิงหไกรภพยก | พระทรงนกอินทรีบินแผ่นดินไหว |
พระยาธรเทวาสุราลัย | เหาะแห่แหนแน่นในโพยมมาน |
ทั้งสามทัพนับโกฏิอุโฆษศึก | ประโคมครึกครื้นฟ้าสุธาสถาน |
แต่พวกยักษ์พักตร์คลํ้าไม่สำราญ | ต่างสงสารเจ้านายฟายนํ้าตา |
เสียงแซ่ซ้องร้องไห้ในอากาศ | โอ้พระคุณสูญญาติวาสนา |
เคยปราบแดนแผ่นดินสิ้นสุธา | ครั้งนี้มาสู่สวรรคครรไล |
เคยดับเข็ญเย็นเกล้าทุกเช้าคํ่า | เปรียบเหมือนนํ้าในมหาชลาไหล |
จะแลลับนับปีแต่นี้ไป | จะเปลี่ยวใจอสุราทั่วสากล |
พลางครวญครํ่ารํ่าสะอื้นเสียงครื้นครั่น | เหมือนฟ้าลั่นลมดังกำลังพหล |
เสียงประโคมโครมครืนพื้นอำพน | รีบเหาะกล่นเกลื่อนมาถึงธานี |
ลงหยุดทัพยับยั้งอยู่ข้างหน้า | แจ้งกิจจาถึงพระมเหสี |
ทั้งโฉมยงนงนุชพระบุตรี | วิ่งมาที่หน้าพระลานชานชลา |
เห็นมณฑปศพใส่ในโกศแก้ว | เปิดดูแล้วทอดกายทั้งซ้ายขวา |
ทั้งสองนางต่างองค์ทรงโศกา | ข้อนอุราเสือกซบสลบไป ฯ |
๏ พวกท้าวนางต่างประคองสองกระษัตริย์ | บ้างนวดพัดเซ็งแซ่เข้าแก้ไข |
ค่อยฟื้นองค์ทรงแรงแข็งพระทัย | ต่างรํ่าไรโศกาด้วยอาดูร |
มเหสีตีทรวงเสียงฮักฮัก | โอ้ปิ่นปักปัถพินมาสิ้นสูญ |
จะเสียวงศ์พงศ์ยักษ์ศักดิ์ตระกูล | จะตามทูลกระหม่อมม้วยเสียด้วยกัน |
พระธิดาว่าโอ้พระบิตุเรศ | เคยปกเกศชุบย้อมถนอมขวัญ |
ให้ผาสุกทุกเวลาทิวาวัน | ยังไม่ทันแทนพระคุณมาสูญลับ |
พระวงศาว่าทูลกระหม่อมแก้ว | นิพพานแล้วมืดเหมือนดังเดือนดับ |
นางห้ามแหนแสนอาลัยว่าไปทัพ | เคยคอยรับหรือมาร้างถึงวางวาย |
นางพญาว่าพระคุณมาสูญเสีย | เหมือนศอเมียขาดกระเด็นไม่เห็นหาย |
จะโศกซํ้ารํ่ารับแต่อับอาย | จะสู้ตายให้พ้นทนทรมาน |
พระธิดาว่าพระคุณทูลกระหม่อม | เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน |
แต่ครั้งนี้มีโทษไม่โปรดปราน | ไปรอนราญจนสวรรคครรไล |
พระวงศาว่าแต่นี้ไม่มีสุข | จะรับทุกข์ทุกเวลานํ้าตาไหล |
สนมนางต่างว่านับจะลับไป | จะมิได้เฝ้าองค์พระทรงยศ |
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร | ให้สงสารแสนวิโยคโศกสลด |
แต่สองนางอย่างจะม้วยระทวยทด | ทรงกำสรดโศกาด้วยอาวรณ์ ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงมหาวราฤทธิ์ | เข้านั่งชิดโฉมฉายสายสมร |
น้อมบังคมชนนีชุลีกร | พระมารดรจงโปรดที่โทษทัณฑ์ |
อันธรรมดาฟ้าดินถิ่นทวีป | ย่อมรักชีพชีวาจะอาสัญ |
พระยกทัพนับแสนไปแน่นนันต์[๔] | จะผลาญวงศ์พงศ์พันธุ์ให้บรรลัย |
จึงต้องสู้ภูวนาถเธอพลาดพลั้ง | มิทันยั้งอาวุธสุดแก้ไข |
ซึ่งเดิมเหตุเภทพาลประการใด | ย่อมทราบใต้บาทาสารพัน |
นางฟังคำชำเลืองดูลูกเขย | ช่างเฉลยลิ้นลมก็คมสัน |
สมกับสร้อยสุดาวิลาวัณย์ | ที่ผูกพันพยาบาทค่อยคลาดคลาย |
จึงตรัสตอบขอบใจที่ได้ศพ | มาพานพบพงศ์ประยูรไม่สูญหาย |
อันองค์ท้าวเจ้าโทโสโมโหร้าย | จึงได้อายอัปยศถึงปลดปลง |
อันเมืองยักษ์นคเรศทุกเขตขอบ | เจ้าจงครอบครองความตามประสงค์ |
ขอฝากเหล่าเผ่าตระกูลประยูรวงศ์ | ฝูงอนงค์นักสนมกรมใน |
ทั้งเสนาสามนต์พวกพลด้วย | พ่อจงช่วยปกครองให้ผ่องใส |
แม่จะขอพ่อเชิญพระศพไป | บรรจุไว้ในถํ้าตามธรรมเนียม ฯ |
๏ พระสิงหไกรภพอภิวาท | ตามพระบาทมาตุรงค์เผ่าพงศา |
อันสมบัติพัสถานการพารา | ถวายฝ่ายุคลพระชนนี |
จะอยู่ด้วยช่วยพระศพจนเสร็จสรรพ | แล้วจะกลับไปบำรุงชาวกรุงศรี |
ขอพระองค์จงสำราญผ่านบูรี | อย่าราคีกินแหนงแคลงพระทัย ฯ |
๏ นางทรงฟังสั่งสร้อยสุดาว่า | เลือกสาวสรรค์กัลยาอัชฌาสัย |
ไปจัดแจงแต่งห้องทองประไพ | เชิญพระไปหยุดหย่อนผ่อนสำราญ |
แล้วตรัสสั่งเสนาพวกข้าเฝ้า | เชิญศพเข้าปราสาทราชฐาน |
ได้ทำบุญมุนีอันมีญาณ | อุทิศทานไปถึงท้าวเจ้าเวียงไชย ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงเดชเกศกระษัตริย์ | มาปรางค์รัตน์รจนาที่อาศัย |
สร้อยสุดาพาโอรสยศไกร | เข้าเฝ้าในแท่นที่ศรีไสยา |
พระอุ้มบุตรสุดสวาทขึ้นใส่ตัก | พิศพักตร์มิได้ผิดขนิษฐา |
กอดประทับรับขวัญจำนรรจา | พระชลนาไหลหลั่งลงพร่างพราย |
คิดถึงความยามยากเมื่อพรากพลัด | จะเอื้อนอรรถมิได้พระทัยหาย |
ทั้งอัคเรศชลเนตรลงฟูมฟาย | พระลูกชายชวนพลอดฉอดฉอดไป |
เห็นโศกาว่าตุ๊กแกแน่ขอรับ | จะกินตับคอยมองอย่าร้องไห้ |
ทั้งสององค์ทรงพระสรวลทั้งชลนัยน์ | พลางกอดจูบลูบไล้พระลูกยา |
ครั้นสายัณห์ร่วมสุพรรณภาชน์เสวย | แล้วชมเชยพระกุมารด้วยหรรษา |
พอราตรีพี่เลี้ยงพระนมมา | ประคองพาหน่อไทไปบรรทม ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมยงองค์สร้อยสุดาสมร | ร่วมบรรจถรณ์ทรงฤทธิ์สนิทสนม |
พระอิงแอบแนบน้องประคองชม | ชื่นอารมณ์รับขวัญจำนรรจา |
เมื่อสงครามทรามสวาทเจ้าคลาดแคล้ว | เหมือนเสียแก้วนัยเนตรของเชษฐา |
ต้องจากนุชสุดรักไปนครา | กินนํ้าตาต่างเข้าทุกเช้าเย็น |
เป็นบุญช่วยด้วยไม่เคยจะเลยลับ | จึงได้กลับทวนทบมาพบเห็น |
ที่โศกเศร้าเร่าร้อนจะหย่อนเย็น | เหมือนม้วยมอดรอดเป็นมาเห็นกัน |
สงสารน้องหมองรูปด้วยซูบผอม | แต่ไม่สิ้นกลิ่นหอมถนอมขวัญ |
พลางจุมพิตชิดเชยเหมือนเคยกัน | นางคำนับอภิวันท์จำนรรจา |
ซึ่งตรัสบอกออกโอษฐ์ว่าโปรดน้อง | พระคุณของทรงศักดิ์นั้นหนักหนา |
อันน้องนี้มิวายฟายนํ้าตา | แต่ครองใจไว้ท่าฝ่ายุคล |
ถึงสิบปี[๕]มีแต่เศร้าให้เหงาหงิม | มิได้ยิ้มแย้มพักตร์แต่สักหน |
จึงซูบผอมตรอมตรมระทมทน | ประจวบจนวันนี้ค่อยดีใจ |
พระไปอยู่บูรีถึงมีทุกข์ | คงจะปลุกปลื้มจิตพิสมัย |
ด้วยพร้อมพรักนักสนมกรมใน | เห็นจะไม่เหมือนน้องนองน้ำตา ฯ |
๏ พระแย้มยิ้มพริ้มเพราว่าเจ้าพี่ | ถึงแม้นมีมิได้มาดปรารถนา |
เคยถนอมกล่อมกลอกถึงดอกฟ้า | เห็นดอกหญ้าไม่นิยมจะชมเชย |
มิรู้ลืมปลื้มใจวิไลลักษณ์ | พี่เคยรักเคยเรียงเคียงเขนย |
พลางชิดชมสมสองตระกองเกย | ถนอมเชยโฉมน้องประลองโลม |
อัศจรรย์ชั้นเชิงเหมือนเพลิงดับ | พอลมกลับพัดกระพือติดฮือโหม |
เป็นควันคลุ้มกลุ้มพยับอับโพยม | สะท้านสะทึกครึกโครมโพยมบน |
สลาตันปั่นป่วนเมื่อจวนรุ่ง | เป็นฝนฟุ้งฟ้าผ่าถึงห้าหน |
ต่างแช่มชื่นรื่นสำราญบานกมล | พระสุริยนเยี่ยมฟ้านภาลัย |
อยู่เมืองมารนานนับได้เดือนเศษ | กับอัคเรศร่วมจิตพิศมัย |
ชื่นอารมณ์ชมโอรสยศไกร | อันเภทภัยไม่มีมาบีฑา ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์เผ่าพงศ์ยักษ์ | อยู่พร้อมพรักไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
ทำบุญศพครบเดือนไม่เคลื่อนคลา | จึงแต่งราชรัถาเทียมพาชี |
เชิญมณฑปศพใส่พิไชยรถ | พวกดาบสนำชักพวกยักษี |
พอโพล้เพล้เวลาเช้าราตรี | จุดอัคคีโคมสว่างตามทางไป |
ทั้งหน้าหลังสังข์แตรเป่าแห่โหม | กลองประโคมครื้นครั่นเสียงหวั่นไหว |
ออกประตูบูรพาพนาลัย | บรรจุไว้ภูผานอกธานี |
แล้วสำเร็จเสร็จการปลูกศาลเจ้า | บนเนินเขาที่กลบศพยักษี |
อยู่เซ่นศพครบเสร็จเจ็ดราตรี | ต่างกลับมาธานีไม่มีภัย |
พระสิงหไกรภพส่งศพแล้ว | ค่อยผ่องแผ้วพักตราตรัสปราศรัย |
สั่งกุมภัณฑ์บรรดาเสนาใน | เราจะไปอยู่บำรุงกรุงโกญจา |
ต้องห่างบาทมาตุรงค์คิดสงสาร | จึงมอบการนคเรศให้เชษฐา |
อยู่แทนเราเอาธุระอสุรา | ให้เพิ่มผาสุกสวัสดิ์กำจัดภัย |
จงสัตย์ซื่อถือบทตามกฎหมาย | อย่าคิดร้ายทุจริตผิดวิสัย |
แม้นประมาทราชทัณฑ์จะบรรลัย | ทำชอบได้เกียรติยศจะงดงาม |
แม้นมีศึกฮึกสู้มาจู่จาบ | คิดปรามปราบเสียให้เตียนซึ่งเสี้ยนหนาม |
ได้เย็นเกล้าชาวบูรีแลชีพราหมณ์ | เจริญความสุขสง่าแก่ธานี ฯ |
๏ พราหมณ์ก้มราบกราบงามลงสามท่า | ดูโฉมหน้าอิ่มเอมเกษมศรี |
ทูลขอบคุณมุลิกาฝ่าธุลี | แล้วภูมีหันเมินดำเนินมา |
ตรัสชวนองค์นงลักษณ์อัคราช | ทั้งหน่อนาถรามวงศ์เผ่าพงศา |
ไปปราสาทราชฐานพระมารดา | น้อมวันทาทูลแถลงให้แจ้งการ |
ลูกให้พี่ที่รักอยู่รองบาท | บำรุงราชนิเวศน์ประเทศสถาน |
ให้เผ่าพงศ์วงศาเสนามาร | สืบสำราญทั้งจังหวัดปัถพี |
แต่ลูกรักอัคเรศโอรสราช | ขอลาบาทบงกชบทศรี |
ไปเฝ้าพระชนกชนนี | แม้นอยู่ดีแล้วจะได้เวียนไปมา ฯ |
๏ ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์แสนสงสาร | ด้วยรักหลานลูกเลี้ยงไม่เดียงสา |
เคยเฝ้าแหนแสนสวาทไม่คลาดคลา | จะลับพักตร์ลักขณาเหลืออาลัย |
จึงว่าแม่แก่เฒ่าอยู่เปล่าเปลี่ยว | สุดจะเหลียวแลหาที่อาศัย |
พระบิตุรงค์ทรงธรรม์ก็บรรลัย | หมายจะได้ฝากชีวิตแก่ธิดา |
จะจากไปไกลแม่จะแลลับ | จะทุกข์ทับดังชีวังสิ้นสังขาร์ |
กอดกุมารหลานแอบแนบอุรา | ทรงโศกากำสรดสลดใจ |
แล้วว่าพระสิงหไกรภพเล่า | แม้นใจเจ้าจะเป็นเชื้อนับเนื้อไข |
แม่จะขอพ่อรามวงศ์ไว้ | แต่พอได้ชื่นจิตเห็นธิดา ฯ |
๏ พระฟังคำจำจนให้อ้นอั้น | ชำเลืองผันพักตร์พิศขนิษฐา |
เห็นโฉมยงทรงสะอื้นกลืนนํ้าตา | กิริยายังกังวลถึงชนนี |
จึงทูลว่าข้าบาทนี้คลาดแคล้ว | พระลูกแก้วเกิดอุรามารศรี |
สุดแต่องค์นงนุชพระบุตรี | ลูกจนใจไม่รู้ที่จะเจรจา ฯ |
๏ พระมารดรวอนประโลมโฉมเฉลา | แม่รักเท่าชีวิตไม่อิจฉา |
จะพลัดพรากจากไปต้องไกลตา | เห็นนัดดาจะค่อยคลายสบายใจ |
นางเคารพนบนอบตอบสนอง | พระคุณของชนนีจะมีไหน |
ซึ่งประสงค์องค์โอรสยศไกร | ถวายไว้ใต้พระบาทมาตุรงค์ |
พระชนนีดีใจดังได้แก้ว | อุ้มหลานแล้วเชยชมสมประสงค์ |
จอมกระษัตริย์ตรัสชวนนวลอนงค์ | ทูลลาองค์อัยกีแล้วลีลา |
มาสู่ปรางค์พลางสะท้อนถอนใจใหญ่[๖] | ด้วยอาลัยลูกน้อยละห้อยหา |
พระโศกเศร้าเข้าในที่ไสยา | สร้อยสุดาจัดสรรกำนัลใน |
ล้วนรุ่นราวสาวน้อยได้ร้อยถ้วน | วิไลล้วนลักขณาอัชฌาสัย |
นางมนุษย์บุตรท้าวเจ้ากรุงไกร | บิดาไปพามาให้ช้านาน |
กับทั้งสี่พี่เลี้ยงเคยเคียงชิด | จะตามติดไปโกญจามหาสถาน |
บรรดาเหล่าสาวสรรค์พนักงาน | จัดพรมม่านมุ้งหมอนที่นอนน้อย |
ทั้งเครื่องแต่งแป้งกระแจะกระจกหวี | นํ้ามันตะนีแหนบตะไกรมีดไม้สอย |
มารวบรวมพร้อมพรั่งอยู่ทั้งร้อย | นั่งเตรียมคอยพระบุตรีจะลีลา ฯ |
๏ ฝ่ายเจ้าพราหมณ์รามราชเรียบพหล | ทัพพยนต์พลนิกายทั้งซ้ายขวา |
บุษบกกระจกบังมีหลังคา | เทียมปักษาหัสดินนกอินทรี |
เทียบเกยข้างปรางค์มาศราชฐาน | เหมือนวิมานเมืองฟ้าในราศี |
โยธาทัพนับแสนแน่นธานี | ในราตรีเตรียมเสร็จสำเร็จการ |
ฝ่ายนางนาฏมาตุรงค์เผ่าพงศ์ยักษ์ | อุ้มหลานรักจากปราสาทราชฐาน |
ขึ้นปรางค์ทองห้องธิดายุพาพาล | นางก้มกรานกราบยุคลชนนี |
เชิญให้นั่งยังสุวรรณบรรจถรณ์ | นางรํ่าสอนสร้อยสุดามารศรี |
สายสุดใจไปอยู่ต่างบุรี | อย่าให้มีผิดพลั้งระวังภัย |
แม่โฉมยงจงอุตส่าห์สวามิภักดิ์ | บำรุงรักภัสดาอัชฌาสัย |
อันชายอื่นหมื่นแสนทั้งแดนไตร | จะหาสู้ภูวไนยไม่ได้แล้ว |
ทั้งสมพักตร์ศักดิ์ตระกูลประยูรหงส์ | ได้สืบวงศ์ว่านเครือทั้งเชื้อแถว |
กุศลสร้างปางก่อนบห่อนแคล้ว | พระลูกแก้วจงอุตส่าห์พยายาม |
อย่าดึงดื้อถือตัวให้ผัวง้อ | จะเป็นข้อเข็ดหลาบด้วยหยาบหยาม |
แม้นท้าวหวังสั่งสอนจงผ่อนตาม | อย่าทูลความขวางขัดภัสดา |
หนึ่งสนมกรมในผู้ใดโปรด | ถึงจะโกรธอย่าให้ออกมานอกหน้า |
เธอรักเขาเจ้าอย่าขัดพระอัชฌา | เหมือนคงคาขึ้นคงกลับลงคลอง |
จงทำชอบนอบน้อมค่อยออมอด | บำรุงรสรักใคร่อย่าให้หมอง |
แม่เนื้อเย็นเป็นที่พึ่งพี่น้อง | จงตรึกตรองครององค์ให้จงดี |
หนึ่งบิตุราชมาตุรงค์ของทรงฤทธิ์ | อย่าควรคิดขัดข้องให้หมองศรี |
จงฝากองค์วงศาสวามี | ได้เป็นที่พึ่งพาให้ถาวร |
ระวังตัวผัวรักแล้วมักหน่าย | จะอับอายเร่งฟังแม่สั่งสอน |
จะเดินทางกลางชลาพนาดร | จงถาวรพูนสวัสดิ์กำจัดภัย ฯ |
๏ นางรับสั่งบังคมประนมสนอง | ลูกขอลาฝ่าละอองจงผ่องใส |
แม้นชาตินี้ชีวันไม่บรรลัย | ลูกมิได้ลืมพระคุณกรุณา |
แม้นมารดรร้อนโรคทุกข์โศกเศร้า | จะมาเฝ้าฟูมฟักอยู่รักษา |
แล้วสั่งวงศ์พงศ์พันธุ์จำนรรจา | พิไรรํ่าอำลาต่างอาลัย |
จนดึกดื่นกลืนกลั้นที่รันทด | โศกกำสรดเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
พระมาตุรงค์วงศาต่างลาไป | นางเข้าในแท่นรัตน์ชัชวาล ฯ |
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแสงสูรย์จรูญจรัส | สองกระษัตริย์ฟื้นองค์สรงสนาน |
ประดับเครื่องเรืององค์อลงการ | สร้อยสังวาลอินทรธนูชมพูนุท |
นางโฉมยงทรงมณีศิโรเพศ | ภูวเรศสวมทรงพระมงกุฎ |
ครั้นเสร็จสรรพกับองค์อนงค์นุช | ไปทรงบุษบกรัตน์ชัชวาล |
พี่เลี้ยงเหล่าสาวสรรค์อยู่ชั้นลด | กั้นกลิ้งกลดบดบังพระสุริย์ฉาน |
เคลื่อนวิหคนกพลพยนต์ทะยาน | โห่สะท้านสะเทื้อนลั่นสนั่นดัง |
หัสดินบินคว้างกลางอากาศ | ดูเกลื่อนกลาดโยธาทั้งหน้าหลัง |
สนั่นเสียงเพียงโพยมจะโทรมพัง | ทั้งเสียงสังข์แตรกลองก้องโกลา |
ค่อยลอยเลื่อนเคลื่อนคลายตามสายเมฆ | แลวิเวกอ้างว้างกลางเวหา |
งามพระองค์นงลักษณ์เคียงพักตรา | ดังสุริยาเคียงกันกับจันทร |
งามพี่เลี้ยงเมียงหมอบนบนอบน้อม | ข้าหลวงล้อมดังสุรางค์นางอัปสร |
บ้างเฝ้าเฟี้ยมเยี่ยมสุวรรณที่บัญชร | ค่อยเลื่อนร่อนลอยลมชมสุธา |
เป็นทุ่งแถวแนวนํ้าลำสมุทร | ไม่สิ้นสุดเรียงรายทั้งซ้ายขวา |
คีรีเรียงเคียงคั่นอรัญวา | ดูไกลตาต่ำเตี้ยเรี่ยไรไร |
จบสุดสิ้นดินแดนแผ่นพิภพ | มหรณพแลละลิ่วหวิวหวิวไหว |
ดูกว้างขวางว้างเวิ้งวิเวกใจ | ไม่มีไม้หมอกมัวไปทั่วทิศ |
ฝูงมัจฉาปลาร้ายขึ้นว่ายเกลื่อน | สังเกตเหมือนซิวซ่าปลาสลิด |
เหล่าละเมาะเกาะแก่งแกล้งพินิจ | กระจิริดเรี่ยนํ้าขึ้นรำไร |
ครั้นสุริยงลงลับเหลี่ยมสิงขร | พระจันทรแจ่มกระจ่างสว่างไสว |
ดารารอบขอบฟ้านภาลัย | เห็นดวงใหญ่เท่ากระบุงดูรุ่งเรือง |
ด้วยสูงสุดบุษบกกระจกกระจ่าง | จับหน้านางนวลแก้มแฉล้มเหลือง |
ต่างชื่นแช่มแย้มแกลแลชำเลือง | ประจำเมืองเหมือนแก้วดูแวววาม |
พระแนบนวลชวนชมแสงเดือนหงาย | ดารารายเรียงจำรูญนางทูลถาม |
พระพรายพริ้มยิ้มหยอกพลางบอกนาม | นั่นดาวยามสามดวงช่วงอัมพร |
ที่เรียงรายพรายพราวดาวลูกไก่ | เห็นไรไรเรียงจรัสประภัสสร |
โน่นดาวหงส์วงสว่างดูหางงอน | ทิศอุดรจระเข้เล่ห์กุมภา |
นั่นดาวนางอย่างผู้หญิงจริงนะเจ้า | สำคัญเต้าเต่งกายทั้งซ้ายขวา |
ดาวหามผีสีขาวโน่นดาวกา | โน่นดาวม้าก็เหมือนม้าอาชาไนย |
โน่นดาวเสือเหลือร้ายพลอยพรายพร่าง | ที่อยู่กลางดาวเต่าถัดดาวไถ |
โน่นดาวลำสำเภามีเสาใบ | ที่อยู่ใต้สำเภานั่นดาวปลา |
นางหมอบเมียงเคียงชิดเพ่งพิศพักตร์ | ดูรู้จักแจ้งจิตทุกทิศา |
พี่เลี้ยงเหล่าสาวศรีพลอยปรีดา | นางท้าวแขนแหงนหน้าตั้งตาแล |
จนล่วงสามยามสงัดกำดัดดึก | ประกายพฤกษ์โชติช่วงดังดวงแข |
สองกระษัตริย์ทัศนาตรงหน้าแกล | ดูกระแสสายสมุทรสุดสายตา |
จะแลเหลียวเปลี่ยวเปล่าเป็นเงาเมฆ | แสนวิเวกกลางทะเลในเวหา |
นางทูลถามตามประสงค์ว่าคงคา | กำหนดว่ากว้างขวางเป็นอย่างไร |
พระเชยพลางทางเล่าว่าเจ้าพี่ | ไม่มีที่สุดลงว่าตรงไหน |
แต่โบราณท่านว่าครุฑวุฒิไกร | กายาใหญ่ยิ่งคีรีมีศักดา |
แต่บินหนักกวักละโยชน์เป็นโสดสุด | ข้ามสมุทรหมายฝั่งด้วยกังขา |
ออกบินโบยโดยกำลังอหังการ์ | จนสุริยาเย็นรอนก็อ่อนใจ |
ไม่เห็นแดนแผ่นดินจะสิ้นชีพ | ลงจับครีบมัจฉาพออาศัย |
แล้วถามปลาว่าฝั่งนั้นยังไกล | หรือเกือบใกล้จงแสดงให้แจ้งความ |
ฝ่ายมัจฉาปลาแขยงแถลงเล่า | ว่าตัวเรากระจิริดให้คิดขาม |
อยู่อาศัยใกล้สุธาพยายาม | หากินตามชายฝั่งระวังภัย |
จะออกลึกนึกกลัวเจียมตัวอยู่ | มิได้รู้ข้างโน้นอยู่หนไหน |
ครุฑสดับกลับหลังไม่หวังไป | จึงมิได้แจ้งเหตุประเทศทาง |
คำโบราณท่านเปรียบประเทียบว่า | พระมหาสมุทรสุดกว้างขวาง |
พลางแอบอุ้มจุมพิตกระชิดนาง | นี่ค่าจ้างที่พี่เล่าให้เจ้าฟัง |
นางอายเอียงเมียงหมอบพระชอบชื่น | สำราญรื่นมิรู้สิ้นถวิลหวัง |
ขอตัดความข้ามพ้นที่วนวัง | ไม่รอรั้งรีบมาถึงธานี |
หยุดประทับยับยั้งอยู่ข้างหน้า | พระชวนอัครชายามารศรี |
ทั้งสาวสรรค์บรรดาฝูงนารี | ไปอัญชลีบิตุราชมาตุรงค์ |
แล้วทูลความตามเรื่องในเมืองยักษ์ | ได้นงลักษณ์เหมือนจิตคิดประสงค์ |
แล้วแก้ไขใส่ความ[๗]รามวงศ์ | อยู่ด้วยองค์อัยกีไม่ลีลา ฯ |
๏ สองกระษัตริย์โสมนัสด้วยลูกรัก | พลางพิศพักตร์บุตรีสุณิสา |
สำอางเอี่ยมเทียมเทพธิดา | ดูดวงหน้าเนตรขนงดังวงเดือน |
ทั้งคมขำลํ้าอย่างนางมนุษย์ | ประเสริฐสุดหมื่นสตรีไม่มีเหมือน |
งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มเมื่อยิ้มเยื้อน | พินิจนางพลางเอื้อนโองการทัก |
เป็นกุศลหนหลังเจ้าทั้งสอง | ได้คู่ครองสมบูรณ์ประยูรศักดิ์ |
จงปกป้องครองกรุงบำรุงรัก | เป็นปิ่นปักนักสนมกรมใน |
จะรักเจ้าเท่าบุตรสุดสวาท | อย่าหมายมาดเคลือบแคลงแหนงสงสัย |
พระมารดาปรานีศรีสะใภ้ | เฝ้าลูบไล้รับขวัญจำนรรจา |
น่าเอ็นดูรู้ดีเป็นที่ยิ่ง | เสงี่ยมหญิงสงวนนามงามนักหนา |
จะรักเจ้าเท่ากันไม่ฉันทา | แม่อุตส่าห์สงวนองค์เจ้าจงดี ฯ |
๏ นางรับสั่งบังคมบรมนาถ | ขอรองบาทบงกชบทศรี |
ให้เหมือนองค์พระชนกชนนี | จนชีวีวอดวายเหมือนหมายใจ |
พระมารดาว่าสงสารพระหลานรัก | ใคร่พบพักตร์มิได้เห็นเป็นไฉน |
น่าเสียดายหมายจะเลี้ยงไว้เวียงไชย | เผอิญให้ขัดขวางเสียอย่างนี้ |
แล้วว่าเจ้าเล่าก็มาเมื่อยล้านัก | ไปหยุดพักปรางค์มาศปราสาทศรี |
โอรสรับอภิวันท์อัญชลี | พาเทวีเยื้องย่างไปปรางค์ทอง |
ขึ้นแท่นรัตน์ชัชวาลสำราญรื่น | ทุกวันคืนคํ่าเช้าไม่เศร้าหมอง |
พี่เลี้ยงเหล่าชาววังที่นั่งรอง | อยู่ในห้องฉากตั้งกำบังตา ฯ |
๏ ฝ่ายห้ามแหนแสนงอนแต่ก่อนเก่า | ที่เคยเฝ้าภูวนาถไม่ปรารถนา |
นึกว่าพระมเหสีองค์นี้มา | จะโสภาสักเพียงไหนจะใคร่ชม |
จึงทรงศักดิ์รักเหลือไม่เบื่อหน่าย | ถ้าแยบคายใช้ชิดสนิทสนม |
หรือพริ้งเพริศเลิศลํ้าทั้งขำคม | จะได้ชมโฉมเจ้าแล้วคราวนี้ |
ต่างแต่งกายหมายใจจะไปอวด | ได้ประกวดกันกับพระมเหสี |
บ้างอาบนํ้าซ้ำถูสบู่ดี | ฉีกสำลีม้วนไม้กรีดไรรอย |
บ้างผัดหน้าทากระแจะบ้างแกะสิว | บ้างกันคิ้วค้อมงอนดังช้อนหอย |
เปิดคันฉ่องมองพิศตะบิดตะบอย | ชำเลืองลอยหน้าตาให้น่าชม |
บ้างสีชี่[๘]ยาฟันเป็นมันขลับ | ฝนหมึกจับต่างเขม่าหวีเผ้าผม |
ขัดขมิ้นกลิ่นกลบบ้างอบรม | ต่างนุ่งห่มสมหน้าทุกนารี |
ถึงเวรเฝ้าเข้าไปให้ใช้สอย | เห็นโฉมสร้อยสุดามารศรี |
ดังเดือนเพ็งเปล่งฟ้าไม่ราคี | ถึงทั้งมีลูกเต้ายังเพราพริ้ง |
ประไพพักตร์ลักษณะพระวิลาส | ดูผุดผาดลํ้าเลิศประเสริฐหญิง |
ที่เหิมฮึกนึกไว้อายใจจริง | เหลือจะชิงชมชิดทำบิดเบือน |
แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง | ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน |
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน | เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ |
ฝ่ายองค์พระสิงหไกรภพนั้น | พร้อมพงศ์พันธุ์ผ่านสมบัติพัสถาน |
ทั่วประเทศเขตแคว้นแสนสำราญ | เภทภัยพาลมิได้มีมาบีฑา ฯ |
[๑] สมุดไทยเลขที่ ๔๕ ว่า “วิ่งถลาล้มลุกบ้างคลุกคลาน”
[๒] สมุดไทยเลขที่ ๔๕ ว่า “ให้พร้อมทั้งโยธาพระยาธร”
[๓] ล่ง ความหมายเช่นเดียวกับ โล่ง แปลว่า ที่ว่าง ไม่มีเครื่องกำบัง
[๔] แน่นนันต์ แปลว่า มากมาย คับคั่ง แออัด
[๕] ตามท้องเรื่องไม่ถึง ๑๐ ปี
[๖] ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ ว่า “มาสู่ปรางค์ทางสะท้อนถอนใจใหญ่”
[๗] ในที่นี้หมายถึง เล่าเรื่องราวให้ทราบ
[๘] ชี่ คือยาสีฟันโบราณ ใช้สีเพื่อให้ฟันเป็นสีดำ