- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
คำอธิบาย
เรื่องสิงหไกรภพนี้ สุนทรภู่แต่งไว้เพียง ๑๕ เล่มสมุดไทย เป็นนิทานคำกลอนที่มีเค้าโครงเรื่องสนุกสนาน การผูกเรื่องชวนให้อ่านติดตาม ประกอบกับมีสำนวนโวหารที่จับใจผู้อ่านอยู่หลายตอน และเนื้อหาของเรื่องให้สาระอันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อ่าน จึงทำให้วรรณคดีเรื่องสิงหไกรภพเป็นที่ชื่นชอบและติดตรึงใจคนไทยมาช้านาน
เรื่องย่อ
ท้าวอินณุมาศกษัตริย์เมืองโกญจา มีพระมเหสีทรงพระนามว่านางจันทร ยังไม่มีพระโอรสพระธิดา เมื่อกองตระเวนปราบโจรสลัดและนำบุตรโจรที่รอดตายมาถวาย ท้าวอินณุมาศทรงเมตตาจึงเลี้ยงไว้เป็นโอรสบุญธรรม พระราชทานชื่อว่าคงคาประลัย
ต่อมาพระนางจันทรทรงครรภ์ โหรทำนายว่าจะประสูติพระโอรสที่มีบุญญาธิการมาก แต่พระชะตาของท้าวอินณุมาศและพระมเหสีจะต้องพลัดพรากจากเมืองเพราะคนที่รักประสงค์ร้าย แล้วจะได้กลับมาปกครองบ้านเมืองดังเดิม ส่วนพระโอรสเมื่อประสูติแล้วจะมีผู้รู้ไสยศาสตร์เวทมาลักพาไป ต่อภายหลังจึงจะได้มาพบกัน ฝ่ายคงคาประลัยรู้เรื่องเกรงว่าตนเองจะหมดความสำคัญ จึงลอบซ่องสุมไพร่พลแล้วก่อการกบฏชิงบัลลังก์ ท้าวอินณุมาศและพระมเหสีเสียพระทัยจนสลบไป พระอินทร์ทราบเหตุการณ์จึงเสด็จมาอุ้มทั้งสองพระองค์ ไปวางไว้ใกล้หมู่บ้านพรานเนื้อ ณ ชายแดนเมืองโกญจา และได้อาศัยอยู่กับพรานเพิกจนกระทั่งพระนางจันทรประสูติพระโอรส หลังจากนั้นพราหมณ์จินดา ชาวเมืองมิถิลามาลักพาไป ต่อมาเสนาของท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้สำเร็จจึงออกติดตามหากษัตริย์ของตน และเชิญเสด็จกลับไปปกครองบ้านเมืองตามเดิม
ส่วนพราหมณ์จินดาอุ้มพระกุมารเดินลัดเข้าป่า พบยักษ์พินทุมารไม่ทำร้าย แต่พาไปเลี้ยงไว้ในถํ้า ทั้งยังขอน้ำนมนางไกรสรมาให้กุมารน้อยดื่ม เมื่อเจริญวัยขึ้นมีพละกำลังมาก จึงขนานนามว่าสิงหไกรภพ ท้าวพินทุมารนั้นรักใคร่กุมารทั้งสองเสมือนบุตรและให้เรียนเวทมนตร์จนเชี่ยวชาญ ต่อมาสิงหไกรภพและพราหมณ์จินดาลองกินใบไม้ต้นสรรพยาในถํ้าซึ่งยักษ์พินทุมารสั่งห้ามไว้ เมื่อรู้สรรพคุณและวิธีแก้ยาแล้ว วันหนึ่งจึงลอบเก็บใบไม้แล้วกินใบของกิ่งหนึ่ง แปลงร่างเป็นนกแก้วบินหนีไปเมืองมิถิลา ท้าวพินทุมารตามไปจนสุดแดนของยักษ์ อ้อนวอนให้กลับไม่สำเร็จจึงเศร้าโศกจนสิ้นใจ สิงหไกรภพและพราหมณ์จินดาเผาศพยักษ์แล้วจึงกลับไปเมืองมิถิลา
ต่อมาสิงหไกรภพรู้ความจริงว่าพราหมณ์จินดาไม่ใช่พี่ชายแท้ ๆ ของตน จึงแปลงเป็นนกแก้วหนีไปตามหาบิดามารดาตามลำพัง พราหมณ์จินดารู้เรื่องก็เสียใจ รีบไปสืบหาพระบิดาพระมารดาของสิงหไกรภพที่บ้านพรานเพิก แล้วให้นายพรานพาเข้าเฝ้าท้าวอินณุมาศเพื่อทูลให้ทราบข่าวพระโอรส พร้อมทั้งอาสาติดตามหาสิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
ฝ่ายนกแก้วแปลงบินไปจนเข้าเขตเมืองมารัน พบนางสร้อยสุดาพระธิดาท้าวจัตุพักตร์ที่มาประพาสไพรกับพระบิดาก็หลงรัก นางสร้อยสุดาพอพระทัยนกแก้วช่างพูดจึงนำไปเลี้ยงไว้ในปราสาท สิงหไกรภพจึงได้นางเป็นพระชายา จนกระทั่งนางทรงครรภ์จึงลอบพาหนีไป ท้าวจัตุพักตร์ยกไพร่พลติดตามและรบกับสิงหไกรภพจนชิงนางสร้อยสุดาไปได้ สิงหไกรภพต่อสู้กับพลยักษ์จนเหนื่อยอ่อน พราหมณ์จินดาตามมาพบบอกให้ทราบเรื่องพระบิดาพระมารดาแล้วช่วยรบ แต่เห็นว่าพลยักษ์มีจำนวนมากจะเอาชนะได้ยาก จึงทูลให้สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจาก่อน แล้วจึงค่อยหาวิธีให้ได้นางสร้อยสุดากลับคืนมา
สิงหไกรภพยอมเดินทางกลับถึงเมืองโกญจา ท้าวอินณุมาศทรงมอบราชสมบัติให้ครอบครอง และแต่งตั้งพราหมณ์จินดาเป็นอุปราช พร้อมทั้งจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ฝ่ายนางสร้อยสุดาประสูติพระโอรส ทรงพระนามว่า รามวงศ์ แล้วค่อยคลายทุกข์ที่พลัดพรากจากพระสวามี ส่วนสิงหไกรภพเฝ้าแต่ครํ่าครวญถึงนางสร้อยสุดา พราหมณ์จินดาจึงอาสาถือสารไปขอสมาท้าวจัตุพักตร์และสู่ขอพระธิดา แต่ท้าวจัตุพักตร์ยังพยาบาทผูกแค้นจึงไม่ยอมยกให้ และประกาศให้เมืองโกญจาเตรียมทำศึกใหญ่ พราหมณ์จินดาจึงพาสิงหไกรภพไปเรียนเวทมนตร์ของพระฤๅษีที่เขาเนาวรัตน์เพื่อเตรียมสู้ศึก เมื่อท้าวจัตุพักตร์ยกมาตีเมืองจึงรบแพ้จนสิ้นชีพ สิงหไกรภพเชิญพระศพกลับเมืองมารัน เมื่อเสร็จการทำบุญและฝังพระศพแล้วจึงพานางสร้อยสุดาไปลาพระมารดากลับเมือง พระมารดาขอให้รามวงศ์อยู่ที่เมืองมารัน สิงหไกรภพจึงให้พราหมณ์จินดาอยู่ปกครองเมือง หลังจากนั้นพราหมณ์จินดาได้นางรัชฎาสูรเป็นมเหสี มีโอรสทรงพระนามว่าชัยสุริยา
ต่อมาท้าวอินณุมาศและพระนางจันทรสวรรคต สิงหไกรภพให้ส่งสารไปแจ้งข่าวที่เมืองมารันและให้รามวงศ์เดินทางไปร่วมงานถวายเพลิงพระศพ แต่วิรุณพัฒยักษ์พี่เลี้ยงวางแผนแก้แค้นรามวงศ์ ลวงให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ ท้าวเทพสูรเจ้าเมืองสั่งให้จองจำรามวงศ์แล้วยกทัพไปตีเมืองมารัน พระอินทร์ทราบเหตุการณ์ เสด็จลงมาอุ้มรามวงศ์ไปไว้ในปราสาทพระธิดาแก้วกินรี รามวงศ์จึงได้นางเป็นพระชายา แล้วนางนำเครื่องทรงและอาวุธศักดิ์สิทธิ์ประจำกายที่ท้าวเทพาสูรยึดไปมาคืนให้ เมื่อนางเทพกินราพระมารดาทราบเรื่องพระธิดา จึงสั่งให้พลยักษ์ล้อมจับรามวงศ์ รามวงศ์ฆ่าพลยักษ์ตายเป็นอันมาก แล้วพานางแก้วกินรีหนีกลับเมืองมารัน ระหว่างทางพบนางผีป่าแปลงกายมาลวงเพื่อชิงรามวงศ์ และลอบทำร้ายนางแก้วกินรีลอยนํ้าไปแต่พระฤๅษีช่วยไว้ ส่วนรามวงศ์คิดว่านางผีป่าสังหารนางแก้วกินรีแล้ว จึงบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตในป่าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้
ฝ่ายท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันไม่สำเร็จ ทั้งยังสูญเสียอาวุธศักดิ์สิทธิ์ จึงหนีกลับเมืองกาลวาศ สิงหไกรภพทราบเรื่องแล้วยกทัพไปตีเมือง ท้าวเทพาสูรรบแพ้อีกและถูกตัดแขนขาดข้างหนึ่งต่อไม่ติด สิงหไกรภพเข้าเมืองมารันและได้นางเทพกินรา ฝ่ายท้าวเทพาสูรหนีไปขอให้ท้าวประลัยกัลป์มาช่วยรบแก้แค้น แต่สิงหไกรภพสังหารท้าวประลัยกัลป์ได้และตัดแขนท้าวเทพาสูรอีกข้างหนึ่ง ท้าวเทพาสูรอับอายจึงกระโดดลงในมหาสมุทรสังหารชีวิตตนเอง
ด้านรามวงศ์เดินทางไปถึงภูเขาลูกหนึ่งอยู่ใกล้ทะเล พบนางทั้งเจ็ดอยู่ในเรือทองจึงช่วยเหลือและพาเดินทางไปด้วย จนพบยักษ์สังหารพระเทวราชโอรส เจ้าเมืองวิเรน จึงฆ่ายักษ์ตายแล้วช่วยพระเทวราชไว้ได้ จากนั้นพากันเข้าเมืองวิเรน เจ้าเมืองศรัทธาเลื่อมใสฤๅษีรามวงศ์จึงให้พระเทวราชตามเสด็จ ได้พบพระอนุโรธช่วยบอกทิศให้เดินทางไปถึงเมืองยักษ์ นางยักษ์สองตนขอติดตามรามวงศ์ไปถึงเมืองกาลเนตร รามวงศ์สามารถยกเสาหินหลักเมืองที่เอนแล้วปักให้ตั้งตรงได้ ท้าวกาลเนตรจะยกพระธิดาให้ตามที่ทรงประกาศไว้ แต่รามวงศ์ปฏิเสธเพราะเป็นผู้ทรงศีล ท้าวกาลเนตรโกรธจึงรบกับรามวงศ์และพวกศิษย์ และท้าวกาลเนตรสินชีพในที่สุด
นิทานคำกลอนเรื่องสิงหไกรภพนี้ นอกจากเนื้อเรื่องให้ความสนุกเพลิดเพลินแล้ว บทกวีนิพนธ์ยังมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ สำนวนโวหารและลีลาการประพันธ์สร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านอยู่หลายตอน ดังบทกลอนที่พรรณนาถึงนกในป่าตอนหนึ่งว่า
ยินสำเนียงเสียงกาโกญจาก้อง | บ้างเมียงมองเขาไม้ไพรระหง |
บ้างบินพริบลิบลับจับพุ่มพง | ลางตัวลงเลียบเชิงละเลิงลาน |
จับจิงจ้อจอแจจอกจิบจาบ | คุ่มตะขาบคาบแคเขาขันขาน |
ทึดทือเที่ยวท่องเถื่อนในท้องธาร | แสนสงสารแซ่ซ้องโซเซซอน |
นอกจากนี้เรื่องสิงหไกรภพยังแทรกด้วยสาระด้านการปกครองบ้านเมือง สังคม ประเพณี และขนบธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย รวมทั้งคติธรรมและความเชื่ออันเนื่องมาจากพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่อง “กรรม” ว่าเป็นเครื่องบันดาลหรือเครื่องสร้างทุกอย่าง บุคคลทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ซึ่งสุนทรภู่ได้ถ่ายทอดความเชื่อนี้ไว้ในความคิดและพฤติกรรมของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง เช่น
เราชาตินี้มีกรรมนั้นแสนสุด | ไม่มีบุตรสืบสร้างพระศาสนา |
เมื่อถึงกรรมจำตายวายชีวี | ถึงอยู่ที่ไหนไหนก็ไม่พ้น |
สงสารสุดนุชน้องเจ้าทรงครรภ์ | มาจากกันกรรมสร้างแต่ปางใด |
สุนทรภู่ยังสอดแทรกคติธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้ในลักษณะข้อคิด คำสอน ดังนี้
เรื่องไตรลักษณ์
แล้วหวนห้ามความโศกให้สิ้นสุด | ด้วยคำพุทธไตรเพทเทศนา |
เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา | อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย |
สุขกันโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง | รำพึงพลางหักให้พระทัยหาย |
กลับคืนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย | ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์ |
สัจธรรมของชีวิต
อันรูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครบ | เครื่องอาศภสูญกลับอัปลักษณ์ |
ล้วนเปื่อยเน่าเก่าลงอย่าหลงนัก | ไม่พักรักรูปนี้เกลียดรังเกียจใจ |
บุตรพึงปฏิบัติต่อบิดามารดา
พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง | ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย |
แม้นมารดรร้อนโรคทุกข์โศกเศร้า | จะมาเฝ้าฟูมฟักอยู่รักษา |
ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี
จงทำชอบนอบน้อมค่อยออมอด | บำรุงรสรักใคร่อย่าให้หมอง |
แม่เนื้อเย็นเป็นที่พึ่งพี่น้อง | จงตรึกตรองครององค์ให้จงดี |
หนึ่งบิตุราชมาตุรงค์ของทรงฤทธิ์ | อย่าควรคิดขัดข้องให้หมองศรี |
จงฝากองค์วงศาสวามี | ได้เป็นที่พึ่งพาให้ถาวร |
การปกครองแผ่นดิน
จงสัตย์ซื่อถือบทตามกฎหมาย | อย่าคิดร้ายทุจริตผิดวิสัย |
แม้นประมาทราชทัณฑ์จะบรรลัย | ทำชอบได้เกียรติยศจะงดงาม |
แม้นมีศึกฮึกสู้มาจู่จาบ | คิดปรามปราบเสียให้เตียนซึ่งเสี้ยนหนาม |
ได้เย็นเกล้าชาวบูรีแลชีพราหมณ์ | เจริญความสุขสง่าแก่ธานี |
ทั้งยังกล่าวไว้เป็นสุภาษิต คำพังเพย ซึ่งให้แนวทางการดำเนินชีวิตอันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อ่าน เช่น
เหมือนต่อเรือเหลือลํ้ากว่าลำคลอง | จึงขัดข้องค้างนํ้าต้องตำรา |
เหมือนหิ่งห้อยน้อยแสงจะแข่งแข | จะมีแต่อัปภาคย์ยากหนักหนา |
และ - อันน้ำน้อยแพ้ไฟดับไม่หาย | - ชลธารน้อยนักแพ้อัคคี |
- อยู่ใต้ฟ้าแล้วตัวอย่ากลัวฝน | - เหมือนคงคาขึ้นคงกลับลงคลอง |
- เหมือนเสียเกลือเนื้อเน่าไม่เข้ายา | - ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย |
การชำระต้นฉบับ
การจัดพิมพ์เรื่องสิงหไกรภพครั้งนี้ ได้ตรวจสอบกับเอกสารสมุดไทยในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนอ่าน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๔ ฉบับ คือ
เอกสารเลขที่ ๔๔ สิงหไกรภพ เล่ม ๑ และเลขที่ ๔๕ สิงหไกรภพ เล่ม ๒ เนื้อความต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นเรื่องดำเนินไปจนถึงตอนท้าวจัตุพักตร์ยกทัพใหญ่มาตีเมืองโกญจา และสิงหไกรภพออกรับศึก
เอกสารเลขที่ ๔๖/๑ สิงหไกรภพ เล่ม ๑ และเลขที่ ๔๖/๒ สิงหไกรภพ เล่ม ๒ ทั้งสองฉบับใช้ชื่อในเล่มว่า “คงคาประไลย” เนื้อความต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นเรื่องดำเนินไปจนถึงตอบสิงหไกรภพได้ดื่มนํ้านมนางไกรสร เมื่อเจริญวัยมีพละกำลังมาก สามารถผลักหินปิดปากถํ้าให้พังทลายได้
อนึ่ง ในการจัดพิมพ์ได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันเพื่อสะดวกแก่ผู้อ่าน และจัดทำคำอธิบายศัพท์เพิ่มเติมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่านด้วย