- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
๏ จะกล่าวเรื่องเมืองแก้วโกญจาบ้าง | พระนุชนางสร้อยสุดามารศรี |
แสนละห้อยคอยหาพระสามี | จากบูรีไปเที่ยวตามรามวงศ์ |
จะเคืองเข็ญเป็นไฉนไม่ได้ข่าว | ทุกคํ่าเช้าเศร้าจิตพิศวง |
ให้โหรทายหลายหนหาคนทรง | ให้มาลงเจ้านายถามร้ายดี |
ไม่ได้จริงยิ่งรำคาญยิ่งนานช้า | ยิ่งคอยหาทุกข์ทนเฝ้าบนผี |
แต่สององค์นงนุชพระบุตรี | กุมารีมีแต่สุขไม่ทุกข์ร้อน |
ฝึกให้เหล่าสาวสุรางค์นางน้อยน้อย | ร้องดอกสร้อยสักรวาอุตส่าห์สอน |
แต่พี่นางอย่างแม่ไม่แง่งอน | พระมารดรสั่งให้ชัยสุริยา |
สอนหนังสือดื้อนักไม่รักรู้ | ไม่กลัวครูเลียนล้อเล่นต่อหน้า |
แต่ครูอ้อนวอนปลอบชอบอัชฌา | จึงอุตส่าห์ทรงเล่าค่อยเข้าใจ |
แต่พระชัยสุริยาอุตส่าห์สอน | สู้ง้องอนชี้แจงแถลงไข |
เห็นโกรธขึ้งถึงเวลาหาดอกไม้ | ไปปันให้พระธิดาวิลาวัณย์ |
ด้วยหวังจิตพิศวาสไม่อาจเกี้ยว | แต่เลี่ยงเลี้ยวเหลือบชม้ายแยบคายขยัน |
กับบุตรีพี่สาวนั้นคราวกัน | รู้จักชั้นเชิงชิดสนิทใน |
เมื่อเนตรสบพบชายชม้ายเหมือน | จะยิ้มเยื้อนยั่วจิตพิสมัย |
แต่เลียบเคียงเมียงชม้อยบ่อยบ่อยไป | จนเจ้าชัยสุริยาอุราตรอม |
เมื่อเข้าใกล้ได้กลิ่นรวยรินรื่น | ผ้าแพรผืนสีนวลให้หวนหอม |
แต่บุญน้อยถอยถดต้องอดออม | จนซูบผอมผิวพรรณด้วยรัญจวน |
ถึงยามนอนกรพาดนลาฏนึก | ไม่วายตรึกตรอมตรมอารมณ์หวน |
เมื่อไรเลยจะได้กล่อมถนอมนวล | จะสงวนนิ่มน้องตระกองเกย |
กอดประทับรับขวัญกระสันสนอม | แม่เนื้อหอมเหมวรรณของฉันเอ๋ย |
บุญพี่สร้างป่างใดไฉนเลย | จะได้เชยโฉมนุชพระบุตรี |
จะปรากฏยศไกรเหมือนได้แก้ว | ได้ผ่องแผ้วพักตราเป็นราศี |
เหมือนดอกดวงพวงผกาสุมาลี | สักแสนปีไม่ลืมปลื้มอาลัย |
แม่ขวัญอ่อนนอนเถิดพี่จะกล่อม | งามละม่อมมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว |
เป็นบุญเคยเชยชื่นระรื่นใจ | พี่พึ่งได้ดอกฟ้าลงมาเชย |
พลางแนบชิดพิศโฉมหลงโลมหมอน | สะท้อนถอนฤทัยพลางขว้างเขนย |
แต่นึกนิ่งกลิ้งกลับไม่หลับเลย | ลืมเสวยลืมสรงสู้ทรงกาย |
เวลาเฝ้าเข้าไปพบประสบพักตร์ | ได้ลอบลักแลประโลมนางโฉมฉาย |
ได้ยิมแย้มแช่มช้อยชม้อยชม้าย | ค่อยสบายบรรเทาที่เศร้าทรวง |
เวลากลับลับนุชสุดสลด | ทุกข์รันทดเทียมเท่าภูเขาหลวง |
ทำไฉนจะได้สุดาดวง | มาแนบทรวงให้สว่างค่อยสร่างใจ |
จะทูลขอก็เหมือนดังหิ่งห้อย | หรือจะคอยแข่งคู่พระสุริย์ใส |
ยิ่งขัดสนรนร้อนถอนฤทัย | จนจับไข้คํ่าเช้าหนาวสะท้าน |
บรรทมนิ่งอิงแอบแนบเขนย | ไม่สรงเสวยโภชนากระยาหาร |
พวกท้าวนางต่างมาดูอาการ | ไปกราบกรานทูลยุบลชนนี ฯ |
๏ สร้อยสุดามาเยือนรักเหมือนบุตร | เห็นโศกสุดเศร้าหมองไม่ผ่องศรี |
ให้พวกแพทย์เวทยาบรรดามี | มาพร้อมที่ปรางค์ปราพยาบาล |
พวกหมอยาว่าใช้กระษัยสลด | เอาหินบดยาถวายหลายขนาน |
พวกหมอนวดอวดรู้เข้าอยู่งาน | ขอประทานโรคเป็นเพราะเส้นตึง |
ให้หิวโหยโรยกำลังเพราะนั่งนัก | ที่โรครักนั้นใครดูไม่รู้ถึง |
ต่างไล่เลียงเถียงกันสนั่นอึง | บ้างนวดคลึงเส้นสายถวายยา |
นางกระษัตริย์ตรัสสั่งหมอทั้งหลาย | แม้นไม่หายจะให้จำทำโทษา |
สั่งบุตรีพี่น้องสองสุดา | อุตส่าห์มาดูแลอย่าแชเชือน |
แล้วเทวีลีลาไปปราสาท | พระหน่อนาถดีใจใครจะเหมือน |
เห็นเหมวรรณกัลยาเข้ามาเยือน | อุตส่าห์เบือนผินพักตร์มาทักทาย |
นางยิ้มรับดับร้อนพลางวอนว่า | เสวยยาเสียเถิดจ๊ะจะได้หาย |
พระรับคำฉํ่าชื่นค่อยฟื้นกาย | คนทั้งหลายรู้เล่ห์เสน่ห์ใน |
ต่างนิ่งเฉยเงยหน้าดูฝาเฝือง | มิให้เคืองวิญญาณ์อัชฌาสัย |
พระหน่อน้อยค่อยว่าขอผ้าสไบ | นางลอบให้เชษฐาด้วยปรานี |
ครั้นนางไปไข้กลับจับสะท้าน | ให้รูดม่านปิดป้องด้วยหมองศรี |
ครั้นนางมาพาสบายเหมือนหายดี | ต่างรู้ทีกิริยาพูดจากัน |
อันโรคเป็นเช่นนี้คล้ายอิเหนา | จะต้องเข้าเครื่องยาปักมาหงัน |
ฝ่ายหน่อน้อยค่อยได้ชื่นใจครัน | ตั้งแต่วันขอได้สไบทรง |
เอาซ่อนห่มชมชื่นระรื่นกลิ่น | สมถวิลหวังจิตคิดประสงค์ |
ถนอมคลุมนุ่มแนบเหมือนแอบองค์ | ค่อยดำรงโรคหายสบายบาน |
ด้วยพระนุชบุตรีศรีสวัสดิ์ | ประดิพัทธ์ผูกรักสมัครสมาน |
อุตส่าห์เข้าเฝ้าฟังรับสั่งการ | ออกว่าขานการนครเหมือนก่อนมา |
ใครผิดชอบตอบบทตามกฎหมาย | ทั้งหญิงชายชื่นจิตทุกทิศา |
พอวิรุณขุนมารถือสารตรา | มาเฝ้าชัยสุริยาแต่มารัน |
จึงทูลองค์นงลักษณ์อัคเรศ | นางทราบเหตุออกพระโรงนรังสรรค์ |
พนักงานกรานก้มบังคมคัล | อ่านสารามารันรำพันความ ฯ |
๏ ว่าแรกเริ่มเดิมหน่อวรนาถ | เจ้าพารากาลวาศอาจหยาบหยาม |
พระบิตุรงค์ทรงฤทธิ์ไปติดตาม | ได้ปราบปรามพวกบาปที่หยาบคาย |
ได้เมืองแล้วแคล้วหน่อวรนาถ | พระพาราชบุตรีออกหนีหาย |
อนึ่งท้าวเจ้ากรุงไกรยังไม่ตาย | พาทัพฝ่ายจักรวาลมาต้านตี |
ประลัยกัลป์นั้นม้วยด้วยอำนาจ | เจ้ากาลวาศเสียทัพก็กลับหนี |
ยังรอรั้งตั้งกำราบปราบไพรี | จึงให้มีสารามามารัน |
ให้บอกข่าวกล่าวความตามรบพุ่ง | มาถึงกรุงโกญจามหาศวรรย์ |
เป็นจบความตามสาราเมืองมารัน | บังคมคัลขอเดชะตามกระทรวง |
นางทราบความรามวงศ์แสนสงสาร | สังเกตการชิงชัยยังใหญ่หลวง |
จึงเอื้อนอรรถตรัสสั่งโหรทั้งปวง | ให้ดูดวงชะตาพระภูวไนย |
กับทั้งหน่อวรนาถนิราศร้าง | จะพานางไปหนตำบลไหน |
จะล้มตายวายวางหรืออย่างไร | หรือจะได้กลับมายังธานี ฯ |
๏ โหรรับสั่งตั้งประนินทินฉบับ | สอบกำกับเกณฑ์ชะตาในราศี |
สังเกตดูรู้โฉลกได้โชคดี | อัญชลีแล้วจึงทูลมูลความ |
อันพระองค์ทรงมหาอานุภาพ | จะปรามปราบราบเตียนที่เสี้ยนหนาม |
ได้ที่รักลักขณะเหมือนพระราม | เสร็จสงครามลงกามาธานี |
อันพระหน่อวรนาถราชบุตร | เสียพระนุชนงลักษณ์เพราะยักษี |
จะเที่ยวเร่เตร่เตร็ดไปเจ็ดปี | จึงตกที่พระอภัยได้ลังกา |
แล้วจะได้ไอศูรย์ประยูรยักษ์ | ได้ปรากฏยศศักดิ์ดีหนักหนา |
จะสืบวงศ์พงศ์กระษัตริย์ขัตติยา | ตามตำราต้นร้ายปลายสำราญ ฯ |
๏ นางฟังคำทำนายค่อยคลายเศร้า | คิดถึงเจ้ารามวงศ์สุดสงสาร |
จึงรางวัลบรรดาโหราจารย์ | ทั้งยักษ์มารผู้ถือหนังสือมา |
ให้เลี้ยงดูอยู่ประทับที่รับแขก | ตามแพนกไพร่นายทั้งซ้ายขวา |
แล้วองค์พระมเหสีก็ลีลา | ขึ้นมหาปรางค์ทองห้องบรรทม |
คิดคะนึงถึงองค์พระทรงเดช | ได้นิเวศน์เมืองยักษ์นักสนม |
เชื้อกินนรฟ้อนรำทั้งขำคม | จะเพลินชมโฉมนางหรืออย่างไร |
จนแรมปีมิได้กลับกองทัพบ้าง | หรือได้นางมเหสีดีไฉน |
ยิ่งหวงหึงรึงรุมกลัดกลุ้มใจ | จึงเรียกชัยสุริยามาว่าวอน |
แม่รักเจ้าเท่าบุตรสุดสวาท | แสนฉลาดแหลมหลักไม่พักสอน |
จะวานให้ไปดูพระภูธร | ช่วยโอนอ่อนผ่อนผันจำนรรจา |
ว่าบุตรีมีโรคโศกสลด | ทุกข์ระทดทั้งพระวงศ์เผ่าพงศา |
ทั้งแม่นี้มีแต่พรํ่ากินนํ้าตา | ด้วยลูกยาแยกย้ายสูญหายไป |
พระไม่คิดติดตามทรามสวาท | รักพารากาลวาศอยู่หรือไฉน |
มิเลิกทัพกลับมาไม่อาลัย | จะลาไปเที่ยวตามรามวงศ์ |
หรือเธอมีที่รักจึงหนักหน่วง | ให้รู้ท่วงทีความตามประสงค์ |
แม้นขัดขวางอย่างไรในพระองค์ | แต่เจ้าจงกลับมาอย่าช้าที |
พระชัยสุริยารับอภิวาท | เหลือบดูราชธิดามารศรี |
แสนอาลัยในอารมณ์ไม่สมประดี | มิรู้ที่ผ่อนผันทำฉันใด |
ให้หนักหน่วงทรวงสะทึกสะอึกสะอื้น | นํ้าเนตรนั้นครั้นจะกลืนก็ขืนไหล |
ทั้งเหมวรรณกลั้นแกล้งแข็งพระทัย | ชลนัยน์คลอคลองเข้าห้องปรางค์ |
สร้อยสุดามารศรีรู้ทีรัก | ทำเมินพักตร์ปราศรัยมิได้หมาง |
เจ้าเคยได้ไปมารู้ท่าทาง | ช่วยไปต่างมารดาเหมือนอารมณ์ |
เสร็จธุระจะสนองให้ต้องจิต | ประสงค์คิดสิ่งไรจะให้สม |
พระหน่อน้อยพลอยฟื้นกลับชื่นชม | เหมือนนิยมยิ้มรับสั่งทั้งนํ้าตา |
ไปสระสรงทรงเครื่องเรืองจรัส | ตามกระษัตริย์สูงศักดิ์ข้างยักษา |
แล้วสำเร็จเสร็จสรรพจับคทา | ลีลามาเกยชัยพร้อมไพร่พล |
ขึ้นทรงช้างพลางขับทัพทหาร | เหาะทะยานลอยสล้างมากลางหน |
กั้นกลิ้งกลดบดบังพระสุริยน | กุมภัณฑ์พลห้อมล้อมไปพร้อมเพรียง |
ประโคมฆ้องกลองแตรเกณฑ์แห่โห่ | กึกก้องโกลาลั่นสนั่นเสียง |
พระเปล่าเปลี่ยวเหลียวหลังดูวังเวียง | พระทรวงเพียงผ่าวร้อนถอนฤทัย |
เห็นปรางค์ทองน้องนางกลางนิเวศน์ | ชลเนตรคลอคลองลงนองไหล |
ยิ่งชะแง้แลพลางยิ่งห่างไกล | ยิ่งไรไรเหลียวลับวับวิญญาณ์ |
ยิ่งอ้างว้างกลางเมฆวิเวกจิต | เห็นแต่ทิศกลางทะเลแลเวหา |
ยิ่งแลเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา | จนเวลาพลบค่ำยิ่งครํ่าครวญ |
คลี่ผ้าทรงนงลักษณ์สะพักห่ม | ยิ่งต้องลมหอมให้อาลัยหวน |
เหมือนหอมเนื้อเจือจันทน์ให้รัญจวน | ยิ่งอักอ่วนป่วนใจกระไรเลย |
ยามรำลึกนึกเช่นเคยเห็นพักตร์ | แม่ยอดรักเหมวรรณของฉันเอ๋ย |
มาเหินห่างปางใดเมื่อไรเลย | จะได้เชยชมชิดพระธิดา |
จบดึกดื่นกลืนกลั้นกระสันสวาท | ดูดาวดาษเกลื่อนสว่างกลางเวหา |
พระจันทร์วงทรงกลดหมดเมฆา | เหมือนนวลหน้านุชน้องผ่องโพยม |
ชะยามนี้พี่ได้มาใกล้ชิด | จะจุมพิตพักตร์หอมถนอมโฉม |
จะอุ้มแอบแนบเคล้าประเล้าประโลม | เหมือนกลิ่นโฉมแสนชื่นทุกคืนวัน |
โอ้ดูเดือนเหมือนพระนุชสุดถนอม | ดาราล้อมเหมือนหนึ่งเหล่าสาวสวรรค์ |
เคยนั่งเล่นเย็นลมชมพระจันทร์ | ฝูงกำนัลแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียง |
พระคะนึงถึงนางมากลางเมฆ | การเวกร่อนร้องแซ่ซ้องเสียง |
เหมือนขับกล่อมพร้อมเพราะเสนาะสำเนียง | วิเวกเพียงพิณเพลงวังเวงใจ |
เหมือนเสียงน้องร้องสักรวาแว่ว | เสียงแจ้วแจ้วจับจิตพิสมัย |
โอ้อกเอ๋ยเคยฟังอยู่วังใน | มาจำไกลกลอยจิตวนิดา |
หอมศรีนวลหวนให้จิตใจวาบ | เหมือนกุหลาบดวงเนตรให้เชษฐา |
จำปีสดรสสุคนธ์สุมณฑา | มาโรยราเริศร้างเหินห่างกัน |
เจ้าพี่เอ๋ยเคยนิมิตใจจิตหวัง | จะเหมือนมั่งหรือไม่เมื่อไก่ขัน |
พระครวญคร่ำรํ่าสะอื้นทุกคืนวัน | จนถึงเมืองมารันดังพรรณนา |
ไปเฝ้าพระบิตุราชมาตุรงค์ | ทั้งสององค์รับขวัญด้วยหรรษา |
ต่างลูบไล้ไถ่ถามพระลูกยา | กุมาราเล่าตามเนื้อความมี |
รับสั่งใช้ให้ไปเชิญเสด็จกลับ | แวะกองทัพมาประณตบทศรี |
พอหยุดพักสักเวลาในราตรี | รุ่งพรุ่งนี้ก็จะลาพระคลาไคล ฯ |
๏ ฝ่ายนางรัชฎาสูรประยูรยักษ์ | เห็นลูกรักมัวหมองไม่ผ่องใส |
จึงว่าเจ้าเศร้าโศกด้วยสิ่งใด | ดูหม่นไหม้ไผ่ผอมเหมือนตรอมทรวง |
หรืออยู่กรุงโกญจาไม่ผาสุก | มีความทุกข์สิ่งไรที่ใหญ่หลวง |
จงพรายแพร่งแจ้งตามความทั้งปวง | เห็นเหงาง่วงท่วงทีไม่มีสบาย |
กุมารชัยสุริยาก้มหน้านิ่ง | ยิ่งคิดยิ่งอาลัยมิใคร่หาย |
นํ้าตาคลอหล่อหลั่งลงพรั่งพราย | สะอื้นอายวิญญาณ์ไม่พาที |
บิตุรงค์สงสัยซักไซ้ถาม | จงแจ้งความขุ่นข้องที่หมองศรี |
หรือทุกข์โศกโรคภัยสิ่งใดมี | หรือราคีขัดขวางเป็นอย่างไร |
อันความทุกข์ลูกเต้าที่เศร้าหมอง | เหมือนทุกข์ของพ่อแม่จะแก้ไข |
หรือกริ้วโกรธโทษทัณฑ์มีฉันใด | จงบอกให้แจ้งจิตในกิจจา |
โอรสฟังบังคมก้มสิโรตม์ | ประทานโทษที่คิดผิดหนักหนา |
เหมือนกระต่ายหมายมั่นพระจันทรา | ด้วยลูกยาหวังสวาทราชบุตรี |
นางโฉมยงปลงจิตสนิทสนอม | แต่เกรงบุญทูลกระหม่อมจอมกรุงศรี |
พระโปรดด้วยช่วยทูลขอเทวี | ให้เป็นที่พึ่งสมอารมณ์ปอง |
พระบิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล | เจ้าคิดควรแล้วที่เจ้าจะเศร้าหมอง |
เหมือนต่อเรือเหลือลํ้ากว่าลำคลอง | จึงขัดข้องค้างน้ำต้องตำรา |
เหมือนหิ่งห้อยน้อยแสงจะแข่งแข | จะมีแต่อัปภาคย์ยากหนักหนา |
ถึงได้อยู่สู่สมภิรมยา | เหมือนเป็นข้าเมียตัวย่อมกลัวเกรง |
จริงจริงนะกระษัตรีถึงทีโกรธ | จะให้โทษทับถมทำข่มเหง |
แม้นร้างหย่าทารกรรมมิยำเยง | เหมือนไม่เกรงบิตุราชมาตุรงค์ |
เราเหมือนฝูงยูงทองที่ครองศักดิ์ | จะฟูมฟักใฝ่สูงกับฝูงหงส์ |
จงตรองตรึกนึกนิยมพอสมพงษ์ | จะสืบทรงศรีสวัสดิ์กำจัดภัย ฯ |
๏ โอรสฟังสั่งสอนถอนสะอื้น | อุตส่าห์ขืนขัดความตามวิสัย |
ทั้งนี้เพราะเคราะห์กรรมลูกทำไว้ | เผอิญให้พบปะพระธิดา |
ได้ตั้งสัตย์ปฏิญาณเป็นการขาด | ไม่สมหวังดังมาดปรารถนา |
ไม่มีคู่สู้ตายวายชีวา | พลางก้มหน้านั่งสะท้อนถอนฤทัย |
เจ้าพราหมณ์นิ่งอิงเอกเขนกนึก | ให้ตรองตรึกเกรงผิดคิดไฉน |
มีลูกเต้าเจ้ากรรมทำกระไร | น้ำใจใหญ่เหลือล้นพ้นประมาณ |
แม้นขืนขัดตัดความไม่ตามจิต | จะม้วยมิดมั่นคงคิดสงสาร |
จึงโอนอ่อนผ่อนตามความโบราณ | เล่านิทานอิเหนาชาวชวา |
เหมือนระตูจรกากับล่าสำ | วิหยาสะกำขอลูกสาวท้าวดาหา |
เพราะบุญน้อยพลอยพ่อมรณา | อันลูกยาก็ย่อมรู้เรื่องบูราณ |
จะให้พ่อขอสู่เหมือนดูถูก | จะให้ลูกเทียมลูกเธอเสมอสมาน |
แม้นพ่อผิดคิดเห็นไม่เป็นการ | ถ้าลูกหลานผิดเห็นไม่เป็นไร |
เห็นกับพ่อพอจะโปรดโทษให้พ่อ | เจ้าทูลขอตามประสาอัชฌาสัย |
ถึงมิโปรดโทษเจ้าที่เบาใจ | ภูวไนยคงจะคิดถึงบิดร |
โอรสฟังบังคมด้วยสมคิด | ค่อยชื่นจิตจำคำที่รํ่าสอน |
ทั้งชนนีดีใจช่วยให้พร | จงผันผ่อนผิดพลั้งค่อยรั้งรอ |
อย่าด่วนได้ไม่ถูกนะลูกนะ | เห็นทรงพระอนุกูลจึงทูลขอ |
หมั่นเคารพนบนอบให้ชอบพอ | บุญของพ่อก็จะสมอารมณ์นึก |
แล้วชวนให้ไสยาสน์บนอาสน์รัตน์ | โสมนัสนิทราเวลาดึก |
จนล่วงสามยามประโคมเสียงโครมครึก | พระรู้สึกสรงชลสุคนธา |
ประดับเครื่องเรืองงามอร่ามเพชร | มงกุฎเก็จแก้วเก้าวาวเวหา |
พอรุ่งแจ้งแสงสว่างกระจ่างตา | จึงทูลลาบิตุราชมาตุรงค์ ฯ |
๏ ต่างอวยชัยให้พรโอรสราช | ให้สมมาดเหมือนหนึ่งจิตคิดประสงค์ |
โอรสรับอภิวาทบาทบงสุ์ | มาขึ้นทรงช้างที่นั่งอลังการ |
ทั้งหน้าหลังสังข์แตรแห่เสด็จ | เหาะระเห็จห้อมล้อมพร้อมทหาร |
พวกตัวนายซ้ายขวาเสนามาร | เชิญเครื่องอานต่างต่างตามช้างทรง |
ขึ้นสูงลิ่วปลิวเมฆวิเวกจิต | สังเกตทิศที่ในไพรระหง |
ครั้นเหนื่อยอ่อนร้อนแสงพระสุริยง | ลงเดินดงรื่นร่มพนมเนิน |
น่าสนุกรุกขชาติสะอาดสะอ้าน | มีถํ้าธารลำเนาภูเขาเขิน |
บ้างเวิ้งวุ้งสูงเทิ่งดังเชิงเทิน | เป็นโตรกเตริ่นเนินผาโอฬารึก |
บ้างเงื้อมงํ้านํ้าพุโปรยปรุปริ่ม | ย้อยหยิมหยิมเยือกเย็นแข็งเป็นปึก |
ที่นํ้าโผนโจนลั่นเสียงครั่นครึก | สะเทื้อนสะทึกทุ่มโถมเสียงโครมครึม |
ตะวันเที่ยงเสียงหมู่แมงภู่[๑]ผึ้ง | ดังหึ่งหึ่งเหมือนหนึ่งฆ้องก้องกระหึม |
ที่หุบห้องปล่องหินกระสินธุ์ซึม | สงัดงึมเงื้อมผาดูน่ากลัว |
บนยอดเขาเหล่าชะนีผีโขมด | เสียงวิโรธร้องเพรียกร่ำเรียกผัว |
ลิงลมน้อยห้อยโหนหิ้วโยนตัว | ฝูงค่างยั้วเยี้ยวิ่งไต่กิ่งรัง |
คณานกผกโผนตะโกนก้อง | บ้างเริงร้องซ้องแซ่ดังแตรสังข์ |
พระเดินทางหว่างเนินเพลิดเพลินฟัง | วิเวกวังเวงใจในไพรวัน |
พญาลอท้อเสียงสำเนียงเฉื่อย | โกญจาเจื้อยแจ้วแจ้วไก่แก้วขัน |
ขมิ้นอ่อนนอนเรียงเคียงเคียงกัน | เบญจวรรณไก่ฟ้าสุวาที |
ดูน่ารักปักษาในป่าสูง | เป็นฝูงฝูงหลายอย่างต่างต่างสี |
คิดถึงองค์นงนุชพระบุตรี | แม้นมาเห็นเช่นนี้จะดีใจ |
จะชมเพลินเนินผาคณานก | พฤกษาตกดอกดวงพวงไสว |
จะกรีดเล็บเก็บผกาสุมาลัย | จะสอดใส่แซมผมจะชมเชย |
จะชี้ถามนามไม้จะได้บอก | จะเย้าหยอกยินดีเจ้าพี่เอ๋ย |
จะอุ้มแอบแนบนางไม่ห่างเลย | ประคองเชยโฉมหอมถนอมนวล |
เจ้าชมอื่นพี่จะชื่นด้วยชมน้อง | จะยิ้มย่องปรีดิ์เปรมเกษมสรวล |
ถึงผลักไสไม่พลอดจะกอดกวน | ให้หยิกข่วนค้อนคมได้ชมเชย |
จนเคลิ้มเคล้นเห็นหมอขี่คอช้าง | นึกว่านางนิ่งสะเทิ้นทำเมินเฉย |
เฝ้างอนง้อขอโทษอย่าโกรธเลย | มานั่งเชยชมนกแก้วแจ้วเจรจา |
แล้วลดองค์ลงประคองทั้งสองหัตถ์ | กอดกระหวัดรัดกายจูบซ้ายขวา |
หมอช้างกลัวตัวงอย่อกายา | ไม่พูดจาห้ามปรามตามทำนอง |
พระกลับเห็นเป็นยักษ์ผลักหมอช้าง | ทำเทียมนางนิ่งฟุบเธอทุบถอง |
กลับขึ้นนั่งบนบัลลังก์จำลองทอง | ให้ตีฆ้องขานโห่เป็นโกลา |
ขึ้นเหาะเหินเดินทางกลางอากาศ | พร้อมอำมาตย์มูลนายทั้งซ้ายขวา |
ไม่รอรั้งยั้งหยุดรีบรุดมา | ถึงพารากาลวาศแจ้งราชการ |
ขุนจิตรามารับไม่ยับยั้ง | คอยเฝ้าทั้งเสนาแน่นหน้าฉาน |
พอเสด็จออกข้างหน้าพากุมาร | เข้ากราบกรานตรงพักตร์เธอทักทาย |
ร้องเรียกชัยสุริยาให้มานั่ง | ริมบัลลังก์เนาวรัตน์จรัสฉาย |
แล้วตรัสถามความเมืองเคืองระคาย | หรือสบายอยู่ด้วยกันเป็นฉันใด |
กุมารหมอบนอบนบอภิวาท | เชิงฉลาดทูลแจ้งแถลงไข |
อันเสนีรี้พลสกลไกร | ไม่มีภัยพูนสวัสดิ์อยู่อัตรา |
แต่องค์พระมเหสีไม่มีสุข | ระทมทุกข์ถึงพระองค์ทั้งวงศา |
เป็นปีหนึ่งจึงได้อ่านเรื่องสารตรา | จึงทราบว่าบาทบงสุ์มาสงคราม |
พระมาตุรงค์วงศาจะมาช่วย | วิตกด้วยยังไม่เตียนที่เสี้ยนหนาม |
ทั้งพระองค์ทรงคิดจะติดตาม | หาพระรามวงศ์องค์โอรส |
พอพระนุชบุตรีทวีโศก | ประชวรโรคร้อนรํ่าแต่กำสรด |
จึงตรัสใช้ให้ข้ามาประณต | ให้พระองค์ทรงยศทราบบทมาลย์ |
ถ้าแม้นพระจะรักษากาลวาศ | ไม่คืนราชนิเวศน์ประเทศสถาน |
จะทูลลาพาพงศ์พวกวงศ์วาน | ยกทหารไปเที่ยวตามรามวงศ์ ฯ |
๏ พระรู้เท่าเยาวลักษณ์เห็นจักกริ่ง | ว่ารักหญิงแล้วก็ใจมักใหลหลง |
จึงว่ามาช้านานการณรงค์ | ไม่เสร็จสงครามยังหยุดฟังการ |
เจ้ามานี่ดีนักจักให้เจ้า | อยู่แทนเรารักษาโยธาหาญ |
พลางหยิบกระบองของประลัยกัลป์มาร | ยื่นประทานไว้ให้ชัยสุริยา |
อยู่ปกป้องครองกรุงบำรุงราชย์ | ใครองอาจข้องขัดตัดเกศา |
ตั้งเสนีที่สนิทชื่อจิตรา | เป็นฝ่ายหน้าว่าขานการนคร |
สั่งเสนากาลวาศอำมาตย์ใหญ่ | เร่งเตรียมไพร่พลมารชาญสมร |
ขึ้นสามคํ่ากำหนดบทจร | ไปนครโกญจาอย่าช้าการ |
แล้วชวนชัยสุริยาขึ้นปราสาท | ตรัสมอบราชนิเวศน์ประเทศสถาน |
เลือกสุรางค์นางระบำที่ชำนาญ | กับอยู่งานงามงามให้ตามไป |
แล้วถามเทพกินราว่าข้านี้ | จะไปบุรีแล้วเจ้าจะคิดไฉน |
จะขอถามตามประสงค์จำนงใน | จะตามไปหรือจะอยู่ให้รู้ความ |
๏ นางฟังตรัสอัดอั้นให้ตันจิต | รำคาญคิดขัดขวางระคางขาม |
เป็นสตรีมิไปก็ไม่งาม | จึงทูลความตามแต่พระจะเมตตา |
รู้สึกตัวกลัวแกล้งระแวงผิด | ด้วยชีวิตนี้ยังรักอยู่หนักหนา |
ในชาตินี้มิได้ขัดพระอัชฌา | ให้ช่วงใช้ไปกว่าชีวาวาย ฯ |
๏ พระว่าพี่นี้ก็ถามด้วยความรัก | เหตุเพราะหักอาลัยมิใคร่หาย |
ด้วยไหนไหนได้เป็นเมียคิดเสียดาย | จะเป็นหม้ายอยู่เปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
จะพาไปไว้บูรีเป็นที่ชื่น | สำราญรื่นร่วมเขตนิเวศน์สถาน |
ได้ใกล้ไกลไปมาไม่ช้านาน | หรือเป็นการกีดขวางหรืออย่างไร ฯ |
๏ นางรับสั่งบังคมก้มสิโรตม์ | ซึ่งทรงโปรดปรานีจะมีไหน |
ไม่ข้องขัดสัจจังด้วยหวังใจ | จะใคร่ไปรองบาทไม่คลาดคลาย |
ทุกข์ก็มีที่จะต้องเป็นสองเจ้า | ไม่เคยเข้าใจการประมาณหมาย |
เหมือนเขาว่าข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย | ได้อับอายยากแค้นแสนทวี |
ก็ตามกรรมทำไว้จะใช้ชาติ | ขอพึ่งบาทบงกชบทศรี |
จะยากเย็นเป็นตายร้ายหรือดี | ก็ตามทีเถิดสู้ทนไปจนตาย |
พระยิ้มพลางทางว่าอันมนุษย์ | บริสุทธิ์ศีลทานประมาณหมาย |
ถึงวิสัยใจบาปที่หยาบคาย | ก็ไม่ร้ายแรงนักเหมือนยักษ์มาร |
พี่ขอบใจไมตรีศรีสวัสดิ์ | ที่ซื่อสัตย์สามิภักดิ์สมัครสมาน |
จงเตรียมเหล่าสาวสรรค์พนักงาน | ได้ฤกษ์พานพรุ่งนี้จะลีลา |
นางรับสั่งบังคมบรมนาถ | มาปราสาทสั่งขรัวนายทั้งซ้ายขวา |
กำชับเหล่าสาวสรรค์ฝูงกัลยา | ดูตรวจตราเครื่องอานเตรียมการไว้ ฯ |
๏ ฝ่ายเสนากาลวาศต่างบาดหมาย | ทั้งไพร่นายเตรียมกันเสียงหวั่นไหว |
ถือปืนผาอาวุธทั้งชุดไฟ | แต่ล้วนใส่ปีกบินสิ้นทั้งนั้น |
สมทบกับทัพพยนต์ทั้งพลยักษ์ | ได้พร้อมพรักพลไพร่พอไก่ขัน |
บุษบกนกเทียมตระเตรียมกัน | รับกำนัลนักสนมกรมใน |
นกอินทรีที่นั่งบัลลังก์อาสน์ | มีสิงหาสน์ห้องทองม่านสองไข |
มาเทียบเกยเคยรับประทับไว้ | พออุทัยไตรตรัสชัชวาล ฯ |
๏ ฝ่ายพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท | ตื่นไสยาสน์อ่าองค์ทรงสนาน |
ประดับเครื่องเรืององค์อลงการ | แก้วประพาฬเพชรพลอยแพรวพราวพราย |
ครั้นเสร็จสรรพกับองค์อนงค์นาฏ | จากปราสาทมนเทียรวิเชียรฉาย |
นางเชิญเครื่องเยื้องย่างสำอางกาย | ต่างนาดกรายตามเสด็จกรีดเล็บยาว |
พระขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์อลงกต | ที่ชั้นลดห้ามแหนพวกแสนสาว |
ล้วนรูปร่างอย่างหุ่นพึงรุ่นราว | พับเพียบท้าวแขนช้อยชม้อยเมียง |
ได้ฤกษ์ดีตีฆ้องเลื่อนกองทัพ | ต่างโห่รับเลื่อนลั่นสนั่นเสียง |
กลองชนะมลายูเป็นคู่เคียง | ขึ้นเหาะเรียงรายสล้างกลางอัมพร |
อสุรินบินแห่เป่าแตรสังข์ | ทั้งหน้าหลังคั่งคับสลับสลอน |
ค่อยลอยเลื่อนเคลื่อนคลาพลากร | อินทรีร่อนลอยคว้างไปกลางพล |
สงสารองค์นงลักษณ์อัคเรศ | แหวกม่านทองส่องเนตรในเวหน |
เห็นปราสาทราชวังเป็นกังวล | โอ้จำจนจำพรากจำจากจร |
นิจจาเอ๋ยเคยเห็นจะเว้นว่าง | ไปเหินห่างห้องสุวรรณที่บรรจถรณ์ |
เคยผาสุกทุกเวลาเมื่อหน้าร้อน | เผยบัญชรชมจันทร์เมื่อวันเพ็ง |
เสียดายสวนล้วนบุปผาระย้าย้อย | เคยนั่งสอยมาลีอยู่ที่เก๋ง |
จะเริศร้างห่างแหสุดแลเล็ง | ยิ่งพิศเพ่งพารายิ่งอาลัย |
ยิ่งลิบลับวับจิตคิดสังเวช | พระชลเนตรคลอคลอหลั่งหล่อไหล |
อุตส่าห์ฝืนกลืนกลํ้าระกำใจ | ชายสไบนงลักษณ์ซับพักตรา |
คิดคะนึงถึงตัวที่มัวหมอง | มีผัวสองเสียชาติวาสนา |
ต้องจำใจไปเป็นน้อยสร้อยสุดา | จะหยาบช้าฉันใดก็ไม่รู้ |
เมื่อพบปะจะต้องหมอบต้องนอบนบ | ยิ่งปรารภร้อนจิตคิดอดสู |
มิห่วงลูกผูกจิตคิดคิดดู | ไม่ขออยู่สู้ตายวายชีวา ฯ |
๏ นางครวญครํ่ารํ่าสะอึกสะอื้นไห้ | พระชลนัยน์พร่างพรายทั้งซ้ายขวา |
พระเห็นนางห่างเหินเมินพักตรา | ก็รู้ทีกิริยาที่อาลัย |
แกล้งโลมเล้าเซ้าซี้จี้รักแร้ | โน่นแน่แลดูมหาชลาศัย |
เฝ้าผินหลังนั่งตะลึงคิดถึงใคร | สิ้นอาลัยพี่แล้วหรือแก้วตา |
จะจัดแจงแปลงตัวเหมือนผัวเก่า | จะให้เจ้าจงรักให้หนักหนา |
ให้เขี้ยวงอกออกมายาวสักเก้าวา | จงผินหน้ามาเถิดเจ้าอย่าเศร้าใจ ฯ |
๏ นางเจ็บจิตคิดแค้นว่าแสนเข็ญ | เฝ้าล้อเล่นเช่นนี้น่าน้ำตาไหล |
เพราะแปลงเป็นเช่นผัวแทนตัวไป | จึงรักใคร่มาเป็นถึงเช่นนี้ |
ถ้าหาไม่ใจหมายจะตายเสีย | ไม่เป็นเมียน้อยมนุษย์สุดบัดสี |
เคยปลอมยักษ์รักใคร่เคยได้ที | แต่เพียงนี้อกน้องจะพองพัง |
คิดถึงตัวกลัวอายเสียดายชื่อ | ไปเบื้องหน้าฟังจะครือเคืองสันหลัง |
อย่าเยาะยักษ์นักเลยได้เคยฟัง | แม้นยักษ์ยังอยู่ที่ไหนจะได้มา |
พระว่าพี่นี้ก็รู้อยู่ดอกน้อง | ได้ตามร่องรอยรักเพราะยักษา |
เหมือนละครอ่อนหัตถ์ช่องสัทธา | พึ่งจะมาพบพานงานประชัน |
ฝ่ายเจ้างานท่านจึงเมินไม่เพลินจิต | เพราะรำผิดเพลงจังหวะไม่ขยัน |
จะฝึกใหม่ย้ายอย่างเอารางวัล | ให้เทียมทันท่าทางเหมือนอย่างยักษ์ |
เจ้าไม่อยากฝากตัวผัวมนุษย์ | จึงโศกสุดเศร้าทรวงคิดหน่วงหนัก |
แม้นชุบได้มิให้น้องมัวหมองพักตร์ | จะให้พรักพร้อมหน้าสิ้นอาลัย ฯ |
๏ นางแสนแค้นแสนอายตะกายอก | น้ำตาตกซึมโซมชโลมไหล |
เหมือนเสี้ยนยอกชอกช้ำในน้ำใจ | สะอื้นไห้ฮักฮักซบพักตรา |
พระเลียนล้อตอแยนี่แน่น้อง | นึกว่าร้องดอกสร้อยลอยเวหา |
พลางฉวยมือหรือจะรักเล่นสักรวา | เพลงไก่ป่ากันเถิดนะเห็นจะเพราะ |
เห็นนางนิ่งยิ่งเตือนยิ่งเบือนบิด | กระแซะกระชิดชวนชอบปลอบประเหลาะ |
แกล้งยุดเย้าเซ้าซี้จี้จำเพาะ | นางหัวเราะทั้งน้ำตาว่าน่าแค้น |
พระค่อนว่าสาหัสทั้งตัดพ้อ | ยังเวียนล้อน่าเบื่อเห็นเหลือแสน |
พระว่าใครใช้ให้หมอบไม่ตอบแทน | ไม่หายแค้นข้าไม่ฟังจะนั่งกวน |
พลางหยิบแก้มแนมหนีบบีบนาสิก | นางผลักพลิกผินผันกระสันสรวล |
ทั้งห้ามแหนแสนสุรางค์ต่างสำรวล | พระชี้ชวนชมนกวิหคบิน |
เห็นฝูงครุฑยุดนาคกระชากฉีก | บ้างบินหลีกหลบหันโผผันผิน |
พวกปักษาวายุภัศ[๒]หัสดิน | เที่ยวโบกบินบนอากาศดาษดา |
บ้างโฉบฉาบคาบช้างคาบกวางเสือ | ขยอกเหยื่อร่อนเร่บนเวหา |
ครั้นพลบคํ่ายํ่าฆ้องกลองสัญญา | ดูมืดคลุ้มกลุ้มฟ้านภาลัย ฯ |
๏ พวกพยนต์พลรบจุดคบแห่ | เสียงเซ็งแซ่ช่วงทางสว่างไสว |
นายทหารขานฆ้องป๋องป๋องไป | สนั่นในฟากฟ้านภาโพยม |
พระเอนเอกเขนกนั่งบัลลังก์อาสน์ | เผยสิงหาสน์ลมเรื่อยชื่นเฉื่อยโฉม |
ดูดาวช่วงดวงเด่นเหมือนเช่นโคม | นํ้าค้างโทรมสาดเชยรำเพยพาน |
นิ่งบรรทมชมจันทร์บนบรรจถรณ์ | พร้อมกินนรนางสำหรับกล่อมขับขาน |
ตีโทนทับรับเพลงบรรเลงลาญ | บ้างอยู่งานโบกปัดนั่งพัดวี ฯ |
๏ จะกล่าวชัยสุริยาอยู่กาลวาศ | ใจจะขาดขุ่นข้องให้หมองศรี |
คิดถึงองค์นงนุชพระบุตรี | มิรู้ที่ผ่อนผันทำฉันใด |
จะขอตัวกลัวว่าอาญาศึก | เป็นโทษลึกเหลือหนักถึงตักษัย |
ถึงได้เมืองเรืองยศสลดใจ | ไม่เหมือนได้พระธิดาในอารมณ์ |
สาวสุรางค์นางบำเรอเสนอหน้า | ไม่ปรารถนานึกคิดสนิทสนม |
ใครแต่งแง่แสนงอนทำค้อนคม | แกล้งขากถ่มทุดให้ไม่ไยดี |
พวกท้าวนางต่างหาบรรดาสาว | ที่รุ่นราวรูปร่างสำอางศรี |
เป็นเวรเวียนเปลี่ยนผลัดเข้าพัดวี | ไม่ไยดีด้วยเธอคิดถึงธิดา |
ยามเสวยเลยอิ่มให้หงิมง่วง | ไม่หายห่วงเหมวรรณเฝ้าฝันหา |
ทุกเช้าคํ่ารำพึงถึงเวลา | ออกนั่งว่าราชการงานทั้งปวง |
ครั้นเสร็จสรรพกลับเข้าไปที่ไสยาสน์ | แต่งนิราศรํ่าเรื่องจากเมืองหลวง |
ถึงย่านไหนให้สลดกำสรดทรวง | คิดถึงดวงเนตรนุชพระบุตรี |
แม้นปางใดได้สมอารมณ์รัก | เหมือนผัดพักตร์พี่ยาเป็นราศี |
ถึงตัวร้างต่างมาจากธานี | แต่ใจพี่นี้เข้าไปอยู่ในวัง |
เปรียบเหมือนพระอภัยพระทัยเศร้า | เมื่อลูกเจ้ากรุงลังกาจับมาขัง |
ต้องเปลี่ยวเปล่าเหงาง่วงเพียงทรวงพัง | ไม่อินังนั่งเฉยละเลยเมิน |
เหมือนพี่ยาสามิภักดิ์เพราะรักน้อง | มีแต่ต้องหมองหมางระคางเขิน |
ไม่ยืดยาวคราวเคราะห์จำเพาะเผอิญ | จะห่างเหินเนิ่นนานไม่พานพบ |
พระประดิษฐ์คิดแต่งแจ้งประจักษ์ | ล้วนเรื่องรักรํ่าไรมิใคร่จบ |
จนยามสามตามเทียนเขียนแล้วลบ | ให้ปรารภร้อนฤทัยอาลัยลาญ |
ถึงยามนอนกรพาดนลาฏนิ่ง | ยิ่งคิดยิ่งให้วิโยคโศกสงสาร |
เป็นทุกข์ตรอมผอมเหลืองอยู่เมืองมาร | รํ่าแต่อ่านเรื่องนิราศไม่ขาดวัน ฯ |
๏ ฝ่ายทัพพระสิงหไกรภพระเห็จ | รีบเสด็จด้วยพหลพลขันธ์ |
ได้เดือนครึ่งถึงพาราเมืองมารัน | พอสายัณห์หยุดประทับพลับพลาไชย |
เจ้าพราหมณ์พาข้าเฝ้าเหล่าอำมาตย์ | เฝ้าพระบาทบัญชาตรัสปราศรัย |
ถึงถิ่นฐานบำรุงซึ่งกรุงไกร | พราหมณ์ทูลให้ทราบอุบลแต่ต้นมา |
ทั้งองค์พระอัยกียินดีนัก | พาวงศ์ยักษ์หญิงชายทั้งซ้ายขวา |
ไปเยี่ยมถามความเมืองเรื่องนัดดา | พระวันทาทูลแถลงให้แจ้งความ |
เมื่อรบรับกับเทพาสูรานั้น | ประลัยกัลป์วายวางกลางสนาม |
ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จเสร็จสงคราม | แต่เจ้ารามวงศ์พาธิดาไป |
ให้ติดตามถามรอบทุกขอบเขต | ไม่แจ้งเหตุว่าไปหนตำบลไหน |
จะแยกย้ายรายพลสกลไกร | เที่ยวตามหากว่าจะได้ดังใจจง |
พระอัยกีตีทรวงเป็นห่วงหลาน | แสนสงสารหลานเอ๋ยจะเลยหลง |
พลางสั่งว่าถ้าไปปะรามวงศ์ | พ่อจงส่งตัวมาให้อัยกี |
แล้วดูเหล่าสาวสุรางค์นางห้ามแหน | ให้หึงแทนสร้อยสุดามารศรี |
ว่าพ่อพามาทำไมมันไม่ดี | แต่ล้วนอีเจ้าเสน่ห์เจ้าเล่ห์กล |
เชื้อกินรงอนแง่ทั้งแก่สาว | จะมีคาวเคืองเข็ญไม่เป็นผล |
ฟังแม่ว่าอย่านะอย่าปะปน | ใช้เป็นคนขนขยะจึงจะควร |
พลางค้อนควักพยักหน้าประสาแก่ | พระยอบแต่องค์ลงทรงพระสรวล |
นางพูดพร่ำรํ่าว่าเวลาจวน | จึงลาชวนวงศาเข้าธานี ฯ |
๏ จอมกระษัตริย์ตรัสสั่งพราหมณ์พี่เลี้ยง | รักษาเยี่ยงอย่างบำรุงชาวกรุงศรี |
ตรวจตระเวนเกณฑ์พหลพลโยธี | ไปทั้งสี่ทิศตามรามวงศ์ |
แม้นรู้เรื่องเคืองเข็ญเป็นไฉน | จงบอกให้แจ้งความตามประสงค์ |
แล้วยกทัพขับทหารชาญณรงค์ | รีบนกทรงตรงมาถึงธานี |
เข้าในวังพรั่งพร้อมประยูรญาติ | ที่ปราสาทสร้อยสุดามารศรี |
พวกห้ามแหนแสนสุรางค์ต่างยินดี | มาเฝ้าที่ชานพักพร้อมพรักกัน |
พระเล่าความตามเรื่องรบเมืองยักษ์ | ถึงสองพักเข่นฆ่าไม่อาสัญ |
พระลูกรักลักธิดาไปอารัญ | ถามกุมภัณฑ์มิได้แจ้งแห่งกิจจา |
ได้แต่ตัวแม่ยายลูกชายเจ้า | ทั้งพงศ์เผ่าที่รักของยักษา |
ล้วนเชื้อสายฝ่ายกินรกวาดต้อนมา | ไว้ใช้เล่นเป็นสง่าในธานี |
เป็นเกี่ยวดองของเจ้าเยาวลักษณ์ | เห็นแก่พักตร์ธิดามารศรี |
จัดตึกใหญ่ให้อยู่ตามผู้ดี | พอเป็นที่อาศัยอยู่ในวัง |
สร้อยสุดาพาซื่อไม่ถือโกรธ | รับพระโอษฐ์ภูวไนยเหมือนใจหวัง |
ให้จัดแจงแต่งตึกเตียงบัลลังก์ | อยู่ทั่วทั้งสาวสรรค์กำนัลนาง |
ครั้นสายัณห์เรียกสุพรรณภาชน์เสวย | เหมือนอย่างเคยปรนนิบัติไม่ขัดขวาง |
ครั้นผ่านเกล้าเข้าที่ศรีสำอาง | พระนุชนางนวดฟั้นให้บรรทม |
พระเชยชื่นรื่นเรียงเคียงเขนย | เหมือนอย่างเคยเชยชิดสนิทสนม |
นางทูลถามตามระแวงแคลงอารมณ์ | พระไปชมสมบัติอสุรา |
อันนารีที่บำรุงเจ้ากรุงยักษ์ | ที่งามทรงวงพักตร์มีหนักหนา |
ไม่มีคนปรนนิบัติชอบอัชฌา | เลยหรือว่ามีบ้างเป็นอย่างไร ฯ |
๏ พระฟังคำทำเฉยแกล้งเลยหลับ | นางยิ่งจับพิรุธสุดสงสัย |
ยิ่งเซ้าซี้มิได้ตรัสยิ่งขัดใจ | นางพิไรรํ่าว่าพระสามี |
นี่หรือพระอนุกูลพระทูลเกล้า | ไปหลงเฝ้าฟูมฟักเมืองยักษี |
จึงเพลิดเพลินเนิ่นช้าอยู่กว่าปี | เพราะมีที่พิศวาสไม่คลาดคลาย |
คิดว่ายังตั้งสงครามปราบปรามยักษ์ | มิรู้รักรัดมั่นกระสันสาย |
ให้เศร้าสร้อยคอยหาระอาอาย | นึกเสียดายนํ้าตาหนักหนานัก |
ยังมิหนำซํ้าพาเอามาเย้ย | โอ้อกเอ๋ยอาภัพอัปลักษณ์ |
พระลืมตามรามวงศ์เพราะหลงรัก | เห็นประจักษ์แล้วว่าวาสนาน้อย |
ตั้งแต่นี้มีแต่จะแหห่าง | เปรียบเหมือนอย่างนํ้าลดต้องถดถอย |
นางกินรหล่อนจะปลิวขึ้นลิ่วลอย | จะต้องน้อยหน้ารับแต่อับอาย |
พระมาถึงจึงไม่ตรัสดูอัดอั้น | เพราะผูกพันพิศวาสที่มาดหมาย |
เหมือนหนึ่งน้องรองรังเป็นซังตาย | เปรียบเหมือนปลายอ้อยจืดออกชืดชื้อ ฯ |
๏ พระยิ้มพลางทางว่าน่าหัวร่อ | นั่งเทศน์จ้อแต่พลบจบแล้วหรือ |
ทำหงุดหงิดจิตใจเหมือนไฟฮือ | ขืนจะรื้อเรื่องตายให้กลายเป็น |
ประเวณีมีศักดิ์อัคเรศ | จะก่อเหตุหึงเชลยไม่เคยเห็น |
แม้นไม่บอกยอกย้อนคิดซ่อนเร้น | ก็จำเป็นจำถามตามสงกา |
นี่ก็พามาให้ทั้งใหญ่น้อย | ให้ใช้สอยสุดแต่จิตขนิษฐา |
จะซักถามความพิสูจน์เหลือพูดจา | พี่จะอ้าโอษฐ์บอกไม่ออกเลย ฯ |
๏ นางฟังตรัสตัดบทว่าอดสู | ใครจะรู้เท่าเล่าแม่เจ้าเอ๋ย |
จะปิดควันกันความเหมือนหนามเตย | มิให้เผยปากได้จนใจจริง |
น้องทูลถามตามตรงพระทรงยศ | แกล้งเลี้ยวลดว่าให้เจ็บใจหญิง |
จะให้เป็นเช่นไม้ขอนเขาทอนทิ้ง | ไม่ไหวติงนิ่งอยู่หลับหูตา |
นั่นแหละพระจะไม่อายให้หายเงียบ | ถ้ากริบเกรียบก็กระดากยากนักหนา |
จะหาเข็มเล่มใหญ่กับไหมมา | เย็บปากไว้ไม่ว่าไม่พาที ฯ |
๏ พระสรวลสันต์กลั้นยิ้มว่าหงิมแท้ | เดี๋ยวนี้แง่งอกแหลมสอดแซมศรี |
จะเย็บปากยากอยู่ไม่สู้ดี | ไม่เหมือนที่ฝึกหัดให้ชัดเจน |
แม้นเจ้าจะให้ผัวกลัวอำนาจ | เอาผ้าคาดเคียนอกถกเขมร |
ทะเลาะล้อต่อเถียงให้เสียงเกน | ใครชิงผัวกลัวระเนนแล้วน้องรัก |
จงเรียนรํ่าจำตำราแม่ค้าปลด | รู้ประชดประชันขยันหนัก |
นางยิ้มพลางทางว่าพระชนะยักษ์ | ได้เอกอัครชายาเจ้าคารม |
หรือจึงจำตำราเอามาสอน | หรือจะค่อนแคะว่าให้สาสม |
พระแย้มสรวลชวนสนิทแนบชิดชม | จนบรรทมหลับไปในไสยา |
ครั้นรุ่งแจ้งแต่งองค์สรงเสวย | เหมือนอย่างเคยสรวลสันต์ด้วยหรรษา |
ให้สาวใช้ไปที่เทพกินรา | บอกให้มาทั้งสุรางค์นางกำนัล ฯ |
๏ สาวใช้รับอภิวาทแล้วยาตรเยื้อง | ไปแจ้งเรื่องรับสั่งนรังสรรค์ |
พระภูวไนยให้หาจงพากัน | ไปสุวรรณปรางค์มาศปราสาททอง ฯ |
๏ ฝ่ายโฉมเทพกินราประหม่าจิต | สุดจะคิดขัดขวางให้หมางหมอง |
ต้องรับคำจำใจจะไปลอง | เข้าในห้องไห้สะอื้นกลืนนํ้าตา |
ไม่แต่งองค์ทรงประดับสำรับเก่า | กำสรดเศร้าโศกสยายปลายเกศา |
ชวนที่รักยักขินีแล้วลีลา | พร้อมสาวสรรค์กัลยาฝูงนารี |
ไปปรางค์รัตน์ชัชวาลขึ้นชานพัก | เห็นทรงศักดิ์สร้อยสุดามารศรี |
ค่อยก้มกรานคลานมากราบสามี | แล้วอัญชลีนงลักษณ์ก้มพักตรา ฯ |
๏ นางรับหัตถ์ตรัสเรียกมาริมอาสน์ | พระนุชนาฏโปรดประทานพานสลา |
แล้วถามความรามวงศ์องค์ธิดา | จะลอบพากันไปหนตำบลใด |
นางนบนอบตอบความตามสุภาพ | สืบไม่ทราบว่าไปหนตำบลไหน |
สร้อยสุดาปรานีศรีสะใภ้ | จึงปราศรัยซื่อตรงเหมือนพงศ์พันธุ์ |
จงนึกว่าข้านี้เหมือนพี่น้อง | ไม่ขัดข้องขึ้งเคียดคิดเดียดฉันท์ |
ด้วยถูกเต้าเล่าก็ได้รักใคร่กัน | จะสืบพันธุ์พงศ์กระษัตริย์สวัสดี |
แม้นขัดขวางอย่างไรจงให้รู้ | จะคํ้าชูช่วยรักษามารศรี |
นางคำนับรับพระเสาวนีย์ | ต่างเปรมปรีดิ์ปรองดองกันสองรา ฯ |