- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
๏ จะกล่าวความรามวงศ์องค์โอรส | รักษาพรตพรหมเมศตามเพศไสย |
เที่ยวเหาะเหินเดินทางที่กลางไพร | เห็นเขาใหญ่ใกล้ทะเลเหมือนเมฆา |
เขียวชอุ่มพุ่มพฤกษ์ดูครึกครื้น | พระลงยืนหยุดอยู่ยอดภูผา |
มีร่มไม้ไทรครึ้มมหึมา | สูงสักห้าสิบเส้นเยือกเย็นลม |
แต่ลูกยาวราวกับมะพร้าวหอม | ที่สุกงอมหอมชื่นไม่ขื่นขม |
ดูกว้างขวางหว่างเวิ้งเพิงพนม | เข้านั่งร่มไทรแท่นแผ่นศิลา |
พระแลเล็งเพ่งพิศข้างทิศใต้ | ล้วนคลื่นใหญ่ในทะเลกับเวหา |
สายสมุทรสุดหมายสุดสายตา | เห็นแต่ปลาลอยสล้างอยู่กลางชล |
แล้วเพ่งพิศทิศอุดรสิงขรเขา | ตระหง่านเงาเงื้อมฟ้าเวหาหน |
ตะวันออกหมอกสลัวมืดมัวมน | พยับฝนคลํ้าเมฆวิเวกใจ |
ทอดพระเนตรเขตคันตะวันตก | ล้วนนกหกเหินร่อนว่อนไสว |
ยิ่งแลเหล็ยวเปลี่ยวเปล่าเศร้าฤทัย | เห็นไรไรเรือทองลอยล่องมา |
เข้าเสือกเสยเกยตื้นคลื่นกระแทก | ราโท[๑]แยกแยะอยู่เชิงภูเขา |
ดูเรือทองห้องหับประดับประดา | ผู้ใดมาอยู่ในนั้นหรือฉันใด |
ไม่เห็นออกนอกเรือเหลือประหลาด | หรือปีศาจสาครหลอนไฉน |
นิ่งพินิจคิดแคลงใคร่แจ้งใจ | เหาะลงไปนาวามีฝาบัง |
ล้วนลายทองป้องปิดผนิดแน่น | ผิดเรือแล่นลูกค้าแขกฝาหรั่ง |
ชักพระขรรค์ฟันบานทวารพัง | เห็นนางนั้งเจ็ดองค์ทรงสำอาง |
อนาถนิ่งอิงเขนยเลยสลบ | เป็นซากศพกระษัตรีหรือผีสาง |
เข้าห้องเก๋งเพ่งพิศพินิจนาง | ล้วนโศกซูบรูปร่างละอย่างกัน |
เหมือนเรียงปีพี่น้องผุดผ่องพักตร์ | วิไลลักษณ์ล้ำสุรางค์นางสวรรค์ |
หรือบิดานารีสิ้นชีวัน | แต่ผิวพรรณผุดผาดเลือดฝาดมี |
หรือเหนื่อยอ่อนซ้อนซบสลบนิ่ง | จะต้องหญิงกลัวจะผิดกิจฤๅษี |
แต่ศีลห้ากาเมประเวณี | ห้ามแต่ที่มีเจ้าของเขาป้องกัน |
นี่รุ่นราวสาวแส้พอแก้ได้ | ไม่มีใครช่วยรักษาจะอาสัญ |
พลางต้องดูรู้มีดวงชีวัน | เฝ้าปลุกสั่นสักเท่าไรก็ไม่ฟื้น |
จึงเสกนํ้าพรำพรมเป่าลมธาตุ | ไม่สิ้นชาติชีวาค่อยฝ่าฝืน |
ที่ไฟธาตุขาดดับก็กลับคืน | ต่างพลิกฟื้นลืมเนตรทั้งเจ็ดองค์ |
เห็นดาบสถดถอยชม้อยชม้าย | จะทักทายอายจิตพิศวง |
หน่อกระษัตริย์ตรัสประโลมนางโฉมยง | ทั้งเจ็ดองค์ทรงสบายอย่าอายใจ |
จะขอถามตามจริงมิ่งสมร | เดิมบิดรมารดาอยู่หาไหน |
นคเรศเขตแคว้นด้าวแดนใด | จึงมาในนาวาล้วนนารี |
เห็นนางนิ่งจริงนะกลัวจะม้วย | จึงชุบช่วยชีวามารศรี |
ยังสงสัยใคร่แจ้งแห่งคดี | มาทั้งนี้มีกังวลไปหนใด |
ฝ่ายเจ็ดนางต่างรู้ว่าชูช่วย | ระทดระทวยทูลแจ้งแถลงไข |
พระบิดาข้าบำรุงชาวกรุงไกร | ทั้งโภไคไอศูรย์มากมูลมอง |
บังเกิดกรรมนํ้าท่วมประเทศถิ่น | คนตายสิ้นชายหญิงสูญสิ่งของ |
พระชนกาปรานีข้าพี่น้อง | ใส่เรือทองลอยมาในสาชล |
ทุกคืนวันสัญจรเที่ยวร่อนเร่ | มาอ้างว้างกลางทะเลระเหระหน |
ข้างเหนือใต้ไม่แจ้งแห่งตำบล | แต่เหลือทนจนชีวันจะบรรลัย |
พระสิทธามาชุบอุปถัมภ์ | พระคุณลํ้าดินฟ้าชลาไหล |
ขอทูลความถามพระภูวไนย | จะไปไหนไยจึงมาในสาคร |
พระฟังคำร่ำเล่าเศร้าสังเวช | เสียประเทศถิ่นฐานสงสารสมร |
เป็นลูกสาวท้าวพระยาอนาทร | พลอยทุกข์ร้อนรำพึงคิดถึงองค์ |
เหมือนอกเราเปล่าเปลี่ยวเสียวสะอื้น | อุตส่าห์ฝืนเล่าความตามประสงค์ |
อันตัวพี่นี้นามชื่อรามวงศ์ | จะไปปลงศพพระอัยกา |
แล้วเล่าความตามเรื่องที่เคืองแค้น | ต้องโศกแสนเสียวงศ์เผ่าพงศา |
ตั้งแต่ต้นมาค้างกลางหิมวา | จำจากเมียเสียสีกาแก้วกินรี |
รู้ว่ากรรมทำไว้จึงได้บวช | อุตส่าห์สวดมนต์ถือเป็นฤๅษี |
สารพัดตัดขาดในชาตินี้ | ไม่ขอมีเมียใหม่จนวายปราณ |
แต่ตั้งจิตคิดประโยชน์จะโปรดญาติ | กลับไปราชนิเวศน์ประเทศสถาน |
เที่ยวเฟือนทางกลางป่าไปช้านาน | พอพบพานภคินีพวกพี่น้อง |
เห็นนิ่งแน่แก้ไขพอไม่ม้วย | สงสารด้วยโฉมเฉลาจะเศร้าหมอง |
เมื่อเดิมทีศรีสวัสดิ์มีสัดจอง | ได้ลอยล่องท้องทะเลตามเวรา |
นี่เรือแตกแยกยับอยู่กับฝั่ง | เหลือกำลังทั้งเจ็ดของเชษฐา |
ขอไถ่ถามความคิดวนิดา | เจ้าจะพากันไปหนตำบลใด |
เจ็ดธิดานารีชุลีหัตถ์ | เห็นเคร่งครัดตัดมิตรพิสมัย |
จึงว่าพระจะเสด็จไปแห่งใด | จะขอไปเป็นข้าฝ่าธุลี |
ฉลองคุณมุลิกาพระดาบส | อย่าเปลื้องปลดปลิดปละสละหนี |
มิโปรดด้วยช่วยพาไปธานี | ก็น่าที่ชีวันจะบรรลัย |
พระฟังวอนอ่อนหวานสงสารสมร | พลางกอดกรว่ากรรมทำไฉน |
ถ้ารู้เหาะก็จะพาเจ้าคลาไคล | นี่จนใจจะต้องเดินเห็นเกินการ |
กำลังกายหมายมาตรสิ้นชาติหนึ่ง | ก็ไม่ถึงซึ่งนิเวศน์ประเทศสถาน |
จะทิ้งนุชสุดเสียดายจะวายปราณ | แสนสงสารทรามวัยกระไรเลย |
ทั้งเจ็ดนางจงอาศัยอยู่ไพรสูง | พอพ้นฝูงเสือสีห์เจ้าพี่เอ๋ย |
ลูกไทรหวานปานขนมนํ้านมเนย | เก็บเสวยให้ทุกวันไม่บรรลัย |
แม้นตัวพี่นี้ไปพบพาราแล้ว | ไม่ลืมแก้วกลอยจิตพิสมัย |
จะรีบจัดรถาเสนาใน | มารับไปไว้เหมือนน้องร่วมท้องกัน |
กระษัตรามาขอก็จะเษก | ให้เปนเอกอัคเรศเจ้าเขตขัณฑ์ |
แล้วตัวพี่นี้จะลาอยู่อารัญ | บวชตะบันน้ำกินจนสิ้นชนม์ |
นางฟังคำรํ่าว่านํ้าตาตก | สะอื้นอกอ้างว้างอยู่กลางหน |
จะห้ามปรามตามติดก็คิดจน | ให้อั้นอ้นชลนัยน์ไหลรินริน |
ต่างรํ่าว่าข้าน้อยจะคอยท่า | จนชีวาม้วยมุดสุดถวิล |
มาพบปะจะขอบุญพระมุนนิน | ขอรับศีลทรงพรตดาบสนี ฯ |
๏ พระชื่นชอบตอบว่าสาธุสะ | ดีแล้วจ๊ะจะได้ถือเป็นฤๅษี |
แล้วนำนางย่างเดินเนินคีรี | ขึ้นนั่งที่แท่นใต้ต้นไทรทอง |
ส่วนเจ็ดนางต่างองค์ประจงจีบ | ชฎากลีบเสริมเกล้าทั้งเศร้าหมอง |
สไบทองรองเรืองเป็นเครื่องทอง | แล้วพี่น้องตั้งประณตบทมาลย์ |
พระสอนสั่งทั้งศีลแปดแลศีลห้า | ให้รักษาอารมณ์พรหมวิหาร |
ทั้งเจ็ดนางต่างราบก้มกราบกราน | สมาทานศีลห้าตามบาลี |
พระเลือกเก็บลูกไทรมาให้ฉัน | ประชุมกันตามจริตกิจฤๅษี |
ส่วนเจ็ดนางทรงพรตดาบสนี | ปรนนิบัติพัดวีพระพี่ยา |
ด้วยเป็นศิษย์คิดคุณบอกบุญบวช | ต่างนั่งนวดกรกายทั้งซ้ายขวา |
พระรามวงศ์สงสารแก้วกานดา | นึกจะลาแล้วสะท้อนถอนฤทัย |
เสียดายพักตร์ลักขณาพระนลาฏ | สมเป็นราชธิดาจะหาไหน |
แต่ละองค์ทรงโฉมประโลมใจ | งามวิไลแลเปล่งดังเพ็งจันทร์ |
แต่จนใจได้รักษาสิกขาบท | รู้อดรสรูปกลิ่นถวิลกลั้น |
ชำเลืองดูสุริยาเย็นสายัณห์ | สะอื้นอั้นกลั้นรักหักอารมณ์ |
จึงว่าพี่นี้จะลาแล้วหนาน้อง | แม่อยู่ห้องคูหาต่างอาศรม |
ทรงสิกขาอย่าให้ผิดในกิจกรม | จะได้พรหมนิพพานสำราญใจ |
ทั้งเจ็ดนางต่างฟังพระสั่งสอน | สะอื้นอ้อนอกสั่นประหวั่นไหว |
อยู่หว่างเขาเช้าเย็นจะเห็นใคร | ต่างรํ่าไรไห้สะอื้นกลืนนํ้าตา |
นางราศีพี่สาวคราวดาบส | น้อมประณตนอบนบซบเกศา |
พบพระพี่มีคุณกรุณา | ช่วยชีวาไว้แล้วกลับแคล้วกัน |
ในชาตินี้มิได้รองละอองบาท | จะสิ้นชาติชีวาม้วยอาสัญ |
จะเกิดไหนให้ปะองค์พระทรงธรรม์ | ให้ผูกพันพิศวาสอย่าคลาดคลาย |
นางมณีที่สองรํ่าร้องไห้ | พระจะไปไกลหม่อมฉันมิ่งขวัญหาย |
เห็นแน่ใจไม่รอดคงวอดวาย | จะจำตายเสียเปล่าเปล่าไม่เข้ายา |
อยากจะใคร่ให้พระพี่เห็นที่รัก | จะขอควักนัยเนตรให้เชษฐา |
แทนคุณพี่มีคุณกรุณา | ช่วยรับแก้วแววตาตามอาวรณ์ |
นางเสาวนีที่สามว่ายามยาก | หมายจะฝากชีวิตอดิศร |
ทรงพระคุณอุ่นจิตดังบิดร | ถึงทุกข์ร้อนดับสิ้นชื่นวิญญาณ์ |
พระจากไปใจน้องจะต้องขาด | ไปตามบาทบทเรศพระเชษฐา |
แต่ศพของน้องนี้สิ้นชีวา | จะคอยท่าฝ่ายุคลอยู่ต้นไทร |
นางอำพันนั้นเป็นน้องรองที่สี่ | ทรงโศกีมิใคร่ฟื้นสะอื้นไห้ |
โอ้ชาตินี้มีกรรมทำกระไร | จะได้ไปเป็นข้าฝ่ายุคล |
สนองคุณมุลิกาอุตสาหะ | กวาดขยะหญ้าฟางกลางถนน |
อยู่ที่นี่มิได้หายวายกังวล | ถึงบรรลัยไม่พ้นทนทรมาน |
นางละอองรองพี่เป็นที่ห้า | สะอื้นอ้อนวอนว่าน่าสงสาร |
นางมอดม้วยช่วยรักษาพยาบาล | ให้หม่อมฉานชื่นใจว่าไม่ตาย |
จะตามติดคิดรักพระจักรแก้ว | มิโปรดแล้วแสนให้อาลัยหาย |
อยู่ที่นี่มิรอดคงวอดวาย | โปรดให้ตายเสียสักหน่อยจึงค่อยไป |
นางสารานารีน้องที่หก | นํ้าตาตกซกโซมชโลมไหล |
ชุลีกรวอนว่าด้วยอาลัย | พระไปไหนน้องจะตามเป็นความจริง |
ถึงแม้นพระจะเสด็จระเห็จเหิน | น้องจะเดินทางสุธาประสาหญิง |
ถึงจะไปไม่ตลอดพระทอดทิ้ง | สู้ตายกลิ้งกลางป่าดีกว่าคอย |
นางสมุทรสุดท้องนั่งร้องไห้ | พระเมตตาพาไปไว้ใช้สอย |
ไม่สงสารฉันเป็นเด็กลูกเล็กน้อย | มิอยากปล่อยภูวไนยให้ไคลคลา |
พลางสวมสอดกอดองค์ทรงกันแสง | โอ้เสียแรงน้องรักพระหนักหนา |
ทั้งเจ็ดนางต่างสะอื้นกลืนนํ้าตา | ต่างทุกข์ร้อนวอนว่าด้วยอาลัย |
พระรามวงศ์ทรงฟังนึกสังเวช | นํ้าพระเนตรคลอคลอหลั่งหล่อไหล |
เสียดายรักหนักหน่วงเป็นห่วงใย | ด้วยเคียงใกล้ได้กลิ่นรวยรินรส |
แรกรุ่นราวสาวหนุ่มนึกกลุ้มกลัด | เสียวสัมผัสผิวเนื้อแทบเหลืออด |
แต่อายจิตกิจกรมพรหมพรต | สู้สะกดอดใจอาลัยลาญ |
เสียดายรูปลูบหลังนางทั้งเจ็ด | ช่วยชุบเช็ดชลนาน่าสงสาร |
ปลอบประโลมโฉมเฉลาเยาวมาลย์ | มาพบพานพี่ก็รักภคินี |
นึกจะไปได้กลับมารับน้อง | แม่มัวหมองนึกจะสละหนี |
จะหาไหนได้เหมือนนุชพระบุตรี | จะรู้ที่ทิ้งขว้างเสียอย่างไร |
อย่ากันแสงแหนงจิตขนิษฐ์น้อง | จะอยู่ด้วยช่วยประคองให้ผ่องใส |
รุ่งพรุ่งนี้พี่จะลาเจ้าคลาไคล | พลางลูบไล้รับขวัญเจ็ดกัลยา |
นางฟังปลอบชอบชื่นค่อยฝืนพักตร์ | ยิ่งเพิ่มรักภูวเรศเหมือนเชษฐา |
เที่ยวกรีดเล็บเก็บได้ดอกไม้มา | โรยที่แท่นแผ่นผาเมื่อราตรี |
เดือนกระจ่างกลางโพยมดังโคมช่วง | ประดับดวงดาวจรัสรัศมี |
พระนั่งแท่นแผ่นผาเจ็ดนารี | ปรนนิบัติพัดวีพระพี่ยา |
เย็นระเรื่อยเฉื่อยฉํ่าด้วยน้ำค้าง | พรอยพรอยพร่างพรมไม้ไทรสาขา |
ยามพระพายชายเชยรำเพยพา | หอมบุปผารวยรื่นชื่นอารมณ์ |
พระรามวงศ์ลงเอกเขนกนิ่ง | เจ็ดนางอิงแอบชิดสนิทสนม |
พระแกล้งกล่อมจอมขวัญให้บรรทม | ล่วงปฐมยามแล้วแก้วกลอยใจ |
เจ้าพี่เอ๋ยเคยนอนบรรจถรณ์แท่น | มาพิงแผ่นผารองไม่ผ่องใส |
สิ้นสุรางค์นางเห่แต่เรไร | จะเห่ให้ไสยาในราตรี |
เคยฟังขับศัพท์เสียงสำเนียงร้อง | มาแซ่ซ้องเสียงจิ้งหรีดดังดีดสี |
เคยบรรทมโสมนัสนางพัดวี | โอ้ยามนี้หนอนํ้าค้างพร่างโพยม |
เคยได้ยินพิณพาทย์ระนาดฆ้อง | ประโคมกลองกลางคืนให้ชื่นโฉม |
อยู่ชายฝั่งฟังคลื่นเสียครื้นโครม | เหมือนประโคมค่อนรุ่งในกรุงไกร |
เชิญพระนุชบุตรีฟังพี่กล่อม | งามละม่อมมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว |
ถึงหนาวลมห่มแพรพอแก้ได้ | แต่หนาวในทรวงสะอื้นทุกคืนวัน |
วิเวกเสียงเที่ยงคืนระรื่นเรื่อย | เจ็ดนางเหนื่อยนอนหลับแล้วรับขวัญ |
นั่งพินิจพิศน้องผ่องผิวพรรณ | แสงพระจันทร์แจ่มส่องละอองนวล |
ล้วนน่ารักพักตร์ผิวคิ้วขนง | แต่ละองค์ทรงงามทรามสงวน |
แนบถนอมหอมให้ใจรัญจวน | ฤดีป่วนรวนเรเสน่ห์ใน |
นึกสนิทชิดชื่นระรื่นกลิ่น | กลัวขาดศีลเสียกิจผิดวิสัย |
เสียดายพรตอดกลั้นอ้นอั้นใจ | ลุกขึ้นไปห่างนางข้างคีรี |
ดำริธรรมกรรมฐานสังหารรัก | ด้วยไตรลักษณ์หักธุระพระฤๅษี |
อันรูปทรงหลงเห็นว่าเป็นดี | คือซากผีพองเน่าเสียเปล่าดาย |
ได้สติตริตรึกจนดึกดื่น | จะกลับคืนเขตคันลอบผันผาย |
พวกเจ็ดนางช่างเถิดเกิดแล้วตาย | อันร่างกายไม่น่าจะอาวรณ์ |
ปลงสังเวชเจตนานิรารัก | ทรงสะพักตะพายแล่งพระแสงศร |
จากไทรทองย่องจดบทจร | พระจันทรเที่ยงตรงเปล่งโปร่งดวง |
เดินจงกรมพรหมพักตร์ประทักษิณ | รอบคิรินร่มไทรทั้งใหญ่หลวง |
ระลึกบุญพูนสวัสดิ์สัตว์ทั้งปวง | จงลุล่วงโลกพ้นทนทรมาน |
พอนางไม้ไทรทองคะนองหยอก | เป็นหญิงออกอ้อนวอนเสียงอ่อนหวาน |
ฉันไหว้จ๊ะพระมหาสิทธาจารย์ | โปรดประทานบุญบ้างอย่าหมางเมิน |
พระเหลือบเห็นเช่นพระมเหสี | แก้วกินรีริมเงาภูเขาเขิน |
ให้เคลิ้มจิตคิดว่าน้องตรัสร้องเชิญ | กลับห่างเหินหายวับไปกับตา |
ตะลึงนึกตรึกตรองโอ้น้องแก้ว | บรรลัยแล้วลับเนตรของเชษฐา |
ยังตามพี่มีบุญกรุณา | กรวดนํ้าไปให้สีกาแก้วกินรี |
นิจจาเอ๋ยเคยนอนสิงขรเขา | จำจากเจ้าเยาวลักษณ์เพราะยักษี |
ยิ่งตรึกตราอารมณ์ไม่สมประดี | ถือขันตีแตกกระเทาะก็เพราะเมีย |
มาดูที่พี่น้องผุดผ่องพักตร์ | เสียดายนักน้องหญิงจะทิ้งเสีย |
เข้าเคียงโฉมโลมเล้าคลอเคล้าเคลีย | ละห้อยละเหี่ยห่วงใยอาลัยลาญ |
สามิภักดิ์รักพี่เป็นที่ยิ่ง | จะทอดทิ้งโฉมยงก็สงสาร |
จะอุ้มเหาะก็หลายองค์นางนงคราญ | ดำริการเกินกำลังนั่งตะลึง |
แล้วคิดได้ใส่ปีกเสียให้สิ้น | สอนให้บินไปถึงไหนก็ไปถึง |
ดีพระทัยได้สมอารมณ์รำพึง | พรุ่งนี้จึงจะไปเหมือนใจจง |
พอแจ่มแจ้งแสงสว่างเจ็ดนางตื่น | พระแช่มชื่นชิดชวนนวลหง |
พี่จะทำปีกประดับสำหรับองค์ | ให้โฉมยงรู้บินเหมือนกินรี |
แล้วลดเลี้ยวเที่ยวค้นเดินวนวก | เก็บขนนกมาประดับสลับลึ |
เป็นปีกใส่สายยนต์ไกกลมี | ให้บุตรีเจ็ดองค์สวมทรงกร |
ให้โผผินบินลองก็ข้องขัด | หน่อกระษัตริย์จับมือกระพือสอน |
ยุพาพินบินเป็นเผ่นอัมพร | แฉลบร่อนราปีกเลี่ยงหลีกลม |
พระนำหน้าว่านางไปทางนี้ | เจ็ดนารีเรียงตามดูงามสม |
ข้ามสำเนาเขาเขินเนินพนม | ลิ่วลอยลมชมเมฆวิเวกใจ |
จบแสงแดดแผดร้อนสมรมิ่ง | ให้เวียนวิงหวาดพรั่นประหวั่นไหว |
พระเวทนาพานางลงกลางไพร | ดำเนินในแถวทางหว่างคีรี |
ร่มระรื่นพื้นผาศิลาลาด | รุกขชาติช้อยชดสลดสี |
ส่วนเจ็ดองค์นงนุชพระบุตรี | เก็บมาลีหลายอย่างต่างต่างกัน |
แก้วกาหลงชงโคยี่โถกระถิน | อินทนิลน่าชมดอกนมสวรรค์ |
พระรามวงศ์ทรงศรกรกุมขรรค์ | สอยลูกจันแจกอนงค์องค์ละใบ |
ทั้งเจ็ดนางต่างถวายดอกไม้ป่า | พระถามว่ารสสุคนธ์เก็บต้นไหน |
นางนิ่งเดินเมินชะม้อยร้อยมาลัย | สอดสวมใส่ศรพระขรรค์ค่อยบรรจง |
พระยิ้มแย้มแช่มชื่นระรื่นร่ม | ชวนนางชมนกไม้ไพรระหง |
เห็นสระศรีมีโกมุทบุษบง | ชวนกันลงสรงนํ้าเล่นสำราญ |
เจ็ดนารีปรีดิ์เปรมเกษมสนุก | ต่างลืมทุกข์อาบกินกระสินธุ์สนาน |
พระรามวงศ์หลงปลื้มลืมรำคาญ | เลือกหักก้านโกมุทบุษบัน |
ได้บัวตูมพุ่มพวงแซมทรวงเล่น | แกล้งเข้าใกล้ให้นางเห็นเหมือนเช่นถัน |
นางหลีกเลี่ยงเอียงอายยิ้มพรายกัน | เลียงสรวลสันต์ซิกซี้เปรมปรีดา |
เที่ยวเลือกหักฝักปทุมกระทุ่มนํ้า | ถือใบทำร่มกั้นด้วยหรรษา |
นางสุดท้องร้องดอกสร้อยสักรวา | พวกพี่ยารับน้องทำนองดี |
พระรามวงศ์ทรงว่ายถอนสายติ่ง | ทำปลิงทิ้งพระธิดามารศรี |
นางร้องกรีดหวีดผวาว่ายวารี | หนีพระพี่โผไล่เลี้ยวไปมา |
จึงฉวยฉุดยุดยื้อไม่ถือผิด | ด้วยเป็นศิษย์สังเกตเหมือนเชษฐา |
พระเสสรวลชวนชิดเล่นปิดตา | ให้พวกพ้องน้องยาอยู่โยงยืน |
แล้วลดเลี้ยวเที่ยวซ่อนสมรมิ่ง | แฝงบัวนิ่งบังหน้าค่อยฝ่าฝืน |
นางสรวลสันต์กันเองเสียงเครงครืน | ค่อยย่องยืนแยกหาเป็นช้านาน |
นางราศีพี่ใหญ่ย่องไปปะ | โถมกอดพระพระก็กอดสอดประสาน |
นาสิกเสียดเฉียดชื่นรื่นสำราญ | นางทัดทานทูลตามเป็นความใน |
พระสวมสอดกอดจูบรักรูปกลิ่น | ไม่ขาดศีลหรือพุคะนี่ไฉน |
พระเบือนบอกหยอกเล่นจะเป็นไร | แล้วแฝงใบบัวหนีไปลี้ลับ |
นางมณีที่สองเมียงมองพบ | พระหลีกหลบไล่ลัดสกัดจับ |
กระโจมกอดสอดกรพระช้อนรับ | นางหลีกกลับแกล้งหนีพระพี่ยา |
นางสมุทรสุดท้องเป็นน้องน้อย | เข้าแฝงคอยช้อยเนตรดูเชษฐา |
เห็นจวนใกล้ได้ช่องค่อยย่องมา | กอดพี่ยายุดพระบาทไม่คลาดคลาย |
พระโอบอุ้มจุมพิตสนิทสนอม | นางยินยอมยิ้มแย้มยื่นแก้มถวาย |
ด้วยพาซื่อถือว่ารักไม่ยักอาย | พระอุ้มว่ายวารีด้วยปรีดา |
แล้วชวนนุชสุดสวาทเล่นสาดนํ้า | ต่างซัดซํ้าสู้กันด้วยหรรษา |
พระสาดแรงแกล้งให้ถูกจมูกตา | นางหลบหน้าหนีกระจายพลัดพรายไป |
พระเพลินเล่นเย็นจวนจึงชวนน้อง | ขึ้นบกครองเครื่องฤๅษีตามวิสัย |
นางจัดกลีบจีบชฎาอังสาสไบ | แล้วสวมใส่ปีกป้องทั้งสองกร |
พระนำหน้าพานางขึ้นกลางเมฆ | แลวิเวกหวาดทรวงดวงสมร |
ดูมืดมนฝนคลํ้าที่อัมพร | ทินกรเกือบจะดับพยับโพยม |
เย็นระรื่นชื่นฉํ่าด้วยนํ้าค้าง | เข้าเคียงนางหนาวเบียดชิดเฉียดโฉม |
พอคํ่าเดือนเลื่อนสว่างเหมือนอย่างโคม | ส่องโพยมแจ่มแจ้งแสงพระจันทร์ |
ดาวกระจายรายเรียงเรืองอร่าม | ดูแวววามงามกระจ่างสว่างสวรรค์ |
นางบินเบียดเฉียดชิดตามติดพัน | ชมพระจันทร์ชั้นฟ้าดาราเรือง |
อยากใคร่ดูรู้จักทูลซักถาม | พระบอกนามโรหิณีสุกสีเหลือง |
โน่นดวงแดงแสงกํ่าประจำเมือง | แม้นขึ้นเบื้องบูรพาเป็นการะพฤกษ์[๒] |
นั่นดาวหางต่างสีที่สังเกต | ขึ้นประเทศไหนเห็นจะเป็นศึก |
นางฟังคำจำได้ดังใจนึก | จนยามดึกดาวเคลื่อนทั้งเดือนคล้อย |
พระเคียงคลอรอนางกลางอากาศ | นํ้าค้างสาดซาบสกนธ์ดังฝนฝอย |
ฝูงปักษาการเวกแฝงเมฆลอย | ตัวน้อยน้อยนํ้าเสียงสำเนียงเย็น |
เหมือนสังคีตดีดสีเป่าปี่แก้ว | เสียงแว่วแว่วไวไวแลไม่เห็น |
พระเหาะหาว้าว่อนมันซ่อนเร้น | ชวนน้องเล่นล้อมนกเวียนวกวน |
เวลารุ่งมุ่งหมายตามสายเมฆ | สูงวิเวกว่ายฟ้าเวหาหน |
เที่ยวผันแปรแลหาทั้งสากล | ไม่เห็นคนเขตแคว้นแดนบูริน ฯ |
๏ จะกล่าวเรื่องเมืองวิเรนริมเมรุมาศ | เป็นเชื้อชาติเทวดารักษาคีล |
เกษมสันต์หรรษาทั้งธานินทร์ | ชาวเมืองกินทิพรสถือทศธรรม์ |
ทั้งถิ่นฐานบ้านเมืองล้วนเครื่องแก้ว | เป็นเลิศแล้วรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์ |
แต่ต้นไม้ในประเทศขอบเขตคัน | ล้วนจวงจันทน์กฤษณาสุมามาลย์ |
พวกนักปราชญ์ราชครูผู้วิเศษ | ย่อมอาศัยอยู่ในเขตประเทศสถาน |
รู้เหาะเหินเดินฟ้าปรีชาชาญ | แสนสำราญรื่นรอบขอบนคร |
ท่านท้าวเทพมาลีผ่านพิภพ | เลิศลบลือฤทธิ์อดิศร |
กับนางทิพกัลยาพะงางอน | ปิ่นนิกรเกศสุรางค์สำอางนวล |
นางเทวีมีพระหน่อวรนาถ | ชื่อเทวราชรูปงามทรามสงวน |
สิบห้าปีสีอินทนิลนวล | เหมือนจะชวนชาววังให้คลั่งใจ |
รู้เดินนํ้าดำดินศิลปศาสตร์ | เฉลียวฉลาดเล่นพิณดีดดิ้นไหว |
แสนสาตราฆ่าฟันไม่บรรลัย | รู้ถอดใจจุติสิทธิมนตร์ |
ไปเที่ยวออกนอกวังเคยนั่งเล่น | ที่นั่งเย็นเยี่ยมฟ้าเวหาหน |
เมื่อวันหนึ่งจึงทรงเล่นหงส์ยนต์ | ชักปีกบนอัมพรเผยร่อนรา |
กับพี่เลี้ยงเคียงองค์ชักหงส์เหิน | พระเพลิดเพลินสรวลสันต์ด้วยหรรษา |
ขึ้นสูงลิ่วปลิวลมชมชลา | ถิ่นสุธาทุ่งแถวแนวนที |
พอพายุประจุบันเป็นควันกลุ้ม | มืดชอุ่มคลํ้าฟ้าทุกราศี |
ไม่เห็นสิ้นถิ่นสุธาเหมือนราตรี | พายุตีตึงตังกำลังแรง |
ที่นั่งหงส์ทรงปลิวลิ่วลิ่วลิบ | ลับทวีปหว่างสุเมรุไม่เห็นแสง |
ถึงเนินทรายฝ่ายอสูรกองกูณฑ์จำแลง | บังเกิดแสงรัศมีเหมือนสีรุ้ง |
แม้นพิธีที่ทำนั้นสำเร็จ | กายเป็นเพชรถึงจะเอาเผาถลุง |
ไม่ล้มตายร่ายมนตร์บ่นบำรุง | เป็นเพลิงพลุ่งโพลงสว่างนั่งกลางเพลิง |
เห็นพยนต์หงส์องค์พระเทวราช | มาตรงหาดเหาะปลิวละลิ่วเหลิง |
ข้ามพิธีที่มันแกล้งเชื่อแรงเริง | จนเปลวเพลิงกลับดับจะจับกิน |
ยืนทะลึ่งถึงพระเทวราช | รวบจับฟาดฟัดแขนกับแผ่นหิน |
พระถอดใจไว้บนที่สีขริน | ยักษ์ก็กินกายกลืนเริงรื่นแรง |
พอเสื่อมมนต์อนธการบันดาลหาย | สุริย์ฉายสายสว่างกระจ่างแสง |
มารทะมึนยืนขวางอยู่กลางแปลง | สองตาแดงดังหนึ่งไฟประลัยลาม |
แลเขม้นเห็นคนมาบนเมฆ | เดินโยกเยกโย่งเย่งน่าเกรงขาม |
คอยขวางหน้าตาปลิ้นแลบลิ้นพลาม | ฝ่ายพระรามวงศ์มาข้างหน้านาง |
แลเขม้นเห็นทะมึนยืนแยกเขี้ยว | จะเลี่ยงเลี้ยวหลีกลัดก็ขัดขวาง |
มันไล่คว้ามาจะจับพระรับพลาง | จับจักรขว้างราพณ์ร้ายตัดกายกร |
ทั้งเศียรบาทขาดกระเด็นกลับเป็นอีก | พระหลบหลีกลัดแลงทรงแผลงศร |
เป็นแสนลูกถูกทะลุปรุอุทร | เป็นสี่กรแปดหน้ารุกราวี |
พระระวังทั้งเจ็ดเหนื่อยเหน็ดนัก | ยื่นศรจักรขรรค์คทาให้มารศรี |
แล้วพระองค์ทรงแกว่งพระแสงตรี | คอยต่อตีหนีพลางกลางโพยม |
ยักษ์อสูรฉุนแค้นกางแขนรวบ | ตะครุบรวบฉวยคว้าไล่ถาโถม |
นางขว้างจักรยักษ์ขาดเลือดสาดโซม | อสูรโอมอ่านเวทวิเศษมนตร์ |
ต่อไม่ติดคิดรู้ว่าผู้หญิง | เลียใจจริงจำวิบัติปัฏิสนธิ์ |
ซวนเซทรุดสุดกำลังประทังทน | ทุ่มทอดตนตึงตังดิ้นพังครืน |
กระเดือกดิ้นสิ้นชีพทวีปไหว | กายาใหญ่เสือกยืดมืดทะมึน |
พระรามวงศ์นงนุชลงหยุดยืน | อยู่เหนือพื้นแผ่นผาพอสายัณห์ |
พอได้ยินพิณพาทย์ระนาดฆ้อง | ประสานซ้องเสียงบรรเลงเพลงสวรรค์ |
สาวสุรางค์นางฟ้าฝูงเทวัญ | มาพร้อมกันสรรเสริญแน่นเนินทราย |
ต่างภิญโญโมทนาที่ฆ่ายักษ์ | มันจักคิดผลาญทวีปให้ฉิบหาย |
มาตั้งกิจพิธีจะหนีตาย | ให้กายกลายเป็นเพชรเกือบเสร็จการ |
ถึงกระนั้นอันผู้ชายทำลายล้าง | ไม่วายวางตราบกาลปาวสาน |
สตรีปราบราพณ์ร้ายจึงวายปราณ | ขอประทานแทนคุณพระมุนี |
ด้วยยักษ์ตายภายหน้าจะผาสุก | บรรเทาทุกข์เทวาในราสื |
แล้วต่างจับทับโทนตะโพนตี | มโหรีรับเพลงวังเวงใจ |
บ้างร้องขับจับระบำรำถวาย | ทอดกรกรายปรายหัตถ์กระหวัดไหว |
ฝูงเทวัญกั้นหน้านางฟ้าไว้ | ต่างล่อไล่หลีกองค์ตีวงเวียน |
ไว้จังหวะประปรายชม้ายชม้อย | ดูอ่อนช้อยชดหัตถ์ฉวัดเฉวียน |
ระทวยระทดบทแบบล้วนแนบเนียน | ต่างผลัดเปลี่ยนซ้ายขวาหลายท่าทาง |
ทำเลี้ยวล่อคลอเคล้าเพริศเพราพริ้ง | รำท่าสิงโตเต้นเที่ยวเล่นหาง |
รำลงสรงหงส์ร่อนทอดกรกาง | ย้ายทำนองย่องย่างกวางเดินดง |
แล้วรำท่าม้าคลีต่างหนีไล่ | แทงวิสัยไว้จังหวะดูระหง |
แล้วรำอย่างนางกินรราร่อนลง | อ่อนเอี้ยวองค์อายเอียงม่ายเมียงกัน |
พวกเทวาคว้ากรอัปสรสะบัด | เกี่ยวกระหวัดรัดเปลี่ยนวงเวียนหัน |
รำมังกรช้อนฟองตระกองกัน | ฝูงเทวัญเวียนเคล้าหยอกเย้านาง |
แล้วรำท่านารายณ์ลั่นสายศิลป์ | มังกรกินหางกระหวัดสะบัดหาง |
แล้วย่องทำรำพระรามรีบตามกวาง | ซัดชาตรีที่นางมโนรา |
รำพระรถยศยงยอดสงสาร | สร้อยสังวาลเวียนซ้ายสอดฝ่ายขวา |
เทพบุตรฉุดสไบไล่ไขว่คว้า | เฉวียนฉวัดมัจฉาชมสาคร |
สาวสุรางค์นางสวรรค์ป้องกันกาย | รำถวายเอี้ยวองค์ท่าโก่งศร |
เกษมสันต์หรรษาสถาวร | ถวายพรภูวไนยแล้วไคลคลา |
พอได้ยินหินพลอดอยู่ยอดเขา | ผู้เป็นเจ้าแปดองค์ทรงสิกขา |
ขอโปรดด้วยช่วยอศุภชุบชีวา | จะเป็นสานุศิษย์ไปติดตาม ฯ |
๏ พระรามวงศ์ทรงฟังระวังหวาด | ว่าปีศาจสิงสู่กระทู้ถาม |
ใหัโปรดด้วยช่วยไฉนสงสัยความ | จงบอกตามจริงแจ้งอย่าแฝงบัง |
ฝ่ายดวงจิตติดหินไม่สิ้นเสียง | ฟังไล่เลียงเล่าตามเนื้อความหลัง |
เมื่อลมพัดพลัดเขตนิเวศน์วัง | ด้วยมืดทั้งดินฟ้าเหมือนราตรี |
ยักษ์กระโจมโถมจับฟัดกับหิน | แล้วกลืนกินไว้ในท้องของยักษี |
จึงดวงใจได้ค้างอยู่อย่างนี้ | ด้วยเป็นที่ท้องทับลี้ลับลม |
แม้นศพออกนอกไส้ใจเข้าติด | จะกลับฟื้นคืนชีวิตสนิทสนม |
ขอพระองค์ทรงยศสร้างพรตพรหม | ให้เสร็จสมปรารถนาสถาวร |
พระรับคำนำหน้าพาน้องรัก | เยี่ยมศพยักษ์ใหญ่กลิ้งกลางสิงขร |
แกว่งพระขรรค์ฟันทะลุแล่อุทร | เห็นศพนอนอยู่ในไส้ยังไม่โทรม |
ช่วยอุ้มออกนอกไส้ดวงใจเห็น | กลับฟื้นเป็นรูปร่างสำอางโฉม |
ผิวผ่องเหมือนเดือนเพ็งเปล่งโพยม | มานั่งโน้มน้อมหัตถ์นมัสการ |
ขอเป็นศิษย์คิดคุณการุญรัก | ด้วยศรัทธาสามิภักดิ์สมัครสมาน |
ขอทูลถามนามวงศ์พระทรงญาณ | อยู่ดินดานแดนใดไปไหนมา |
พระรามวงศ์ทรงพรตพจนารถ | บอกนามราชสุริยวงศ์เผ่าพงศา |
ตั้งแต่ต้นจนปะอสุรา | ช่วยน้องแก้วแล้วจะลาแรมป่าไป |
ฝ่ายหน่อนาถราธนาพระดาบส | อย่าเปลื้องปลดโปรดน้องให้ผ่องใส |
ไปประทับยับยั้งอยู่วังใน | พอน้องได้อภิวาทบาทบงสุ์ |
ให้บิดรมารดาวงศาสิ้น | ได้รับศีลจินตนาเป็นอานิสงส์ |
ข้าจะได้ไปด้วยช่วยพระองค์ | รณรงค์รบพุ่งไปกรุงไกร |
พระฟังน้องตรองตรึกก็นึกรู้ | กตัญญูยอดดีจะมีไหน |
เพราะคุณติดคิดสนองจึงต้องไป | ตามวิสัยสุริย์พงศ์วงศ์เทวา |
แล้วศึกนางขว้างจักรให้ยักษ์ม้วย | ไม่ต้องด้วยโอวาทขาดสิกขา |
ให้บวชใหม่ให้ศีลดังจินดา | แล้วตามพระอนุชาไปธานี |
ฝ่ายหน่อไทไปทูลสองกระษัตริย์ | โสมนัสนับถือพระฤๅษี |
ราธนามาทั้งสิ้นด้วยยินดี | ให้นั่งที่แท่นแก้วพรอยแพรวพราย |
พระหน่อนาถราชวงศ์บรรจงจัด | พานเภสัชเพลานํ้าชาถวาย |
ปรนนิบัติพัดวีฤๅษีสบาย | แต่เจ็ดนางต่างอายซังตายดำรง |
จอมกระษัตริย์ทัศนาพระดาบส | รักษาพรตงดงามตามประสงค์ |
ล้วนหนุ่มสาวคราวสนุกทุกทุกองค์ | อุตส่าห์ทรงศีลธรรมได้จำเริญ |
เหมือนเปลวไฟใกล้ฝอยน้อยหรือนะ | อุตส่าห์ห้ามหยุดสุดสรรเสริญ |
ทรงศีลธรรม์อันประเสริฐจึงเพลิดเพลิน | พลอยเจริญหฤทัยอาลัยลาญ |
จึงเอื้อนอรรถตรัสว่าพระดาบส | รู้ออมอดอารมณ์พรหมวิหาร |
อันลูกยาข้าพเจ้าไม่เอาการ | จนยักษ์มารมันทำลายแทบวายวาง |
ถวายไปใช้สอยให้ค่อยรู้ | ที่รบสู้สารพัดยังขัดขวาง |
ค่ำวันนี้นิมนต์อยู่บนปรางค์ | ต่อสว่างเวลาจึงคลาไคล |
แล้วจัดแจงแต่งปราสาทอาสนะ | ให้แปดพระสิทธาเธออาศัย |
เสร็จธุระกระษัตราลาครรไล | ไปห้องไพชยนต์รัตน์ชัชวาล |
ฝ่ายองค์พระเทวราชหน่อนาถน้อย | นึกเศร้าสร้อยแสนวิโยคโศกสงสาร |
ครั้นพลบคํ่าอำลาพระอาจารย์ | ไปกราบกรานบิตุราชมาตุรงค์ |
ลูกมีกรรมจำลาฝ่าพระบาท | เพราะบังอาจอ่อนเชิงละเลิงหลง |
ขอบุญญาฝ่าละอองสองพระองค์ | ดำรงทรงยศยืนอยู่หมื่นปี |
จอมกระษัตริย์ตรัสสอนอวยพรให้ | จงเลื่อมใสสัตย์ซื่อถือฤๅษี |
แต่โฉมยงองค์พระชนนี | ทรงโศกีกอดบุตรสุดเสียดาย |
โอ้ลูกเอ๋ยเคยสุขไม่ทุกข์ยาก | จะพลัดพรากจากไปแม่ใจหาย |
เคยเห็นเจ้าเช้าเย็นไม่เว้นวาย | สงสารสายสุดสวาทจำคลาดคลา ฯ |
๏ จะคลาดเคลื่อนเดือนปีไปลี้ลับ | แม่จะนับวันคอยละห้อยหา |
จะแลเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา | นี่เวราสร้างไว้ฉันใดเลย |
มีลูกเต้าเล่าก็พรากไปจากอก | เหมือนพรากนกพรากกานิจจาเอ๋ย |
จะออกป่าคาไม้พอไม่เคย | โอ้ใครเลยเขาจะมาพยาบาล |
เวลาคํ่านํ้าค้างกลางอากาศ | จะซัดสาดโซมองค์น่าสงสาร |
เคยนอนที่ยี่ภู่นางอยู่งาน | ลมจะพานพัดต้องให้หมองมอม |
เคยสรงชลปนปรุงจรุงกลิ่น | จะสูญสิ้นกลิ่นอายจะหายหอม |
ไปเป็นข้าดาบสต้องอดออม | จะซูบผอมพ่อเอ๋ยไม่เคยเป็น |
สิบห้าปีนี้แล้วลูกแก้วแม่ | จะเริศร้างห่างแหไม่แลเห็น |
จะละห้อยคอยเจ้าทุกเช้าเย็น | ไหนจะเว้นเวลาที่อาลัย |
แล้วกอดลูกผูกจิตคิดสังเวช | พระชลเนตรนองตกซกซกไหล |
กรุงกระษัตริย์ตรัสว่านี่อะไร | เฝ้าร้องไห้ไปเปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
ลูกจะดีมีครูไปอยู่วัด | หรือมาพลัดพลอยหลงว่าสงสาร |
ไม่ฝึกหัดลัทธิชำนิชำนาญ | จึงรำคาญเคืองเข็ญถึงเช่นนี้ ฯ |
๏ นางฟังตรัสอัดอั้นกลั้นสะอื้น | จนดึกดื่นยามสองยิ่งหมองศรี |
บังคมลาพาพระหน่อจรลี | ไปแท่นที่ไสยาสน์อาสน์โอรส |
ให้นอนหลับรับขวัญสู้กลั้นโศก | ยามวิโยคแยกบุตรสุดสลด |
พระวงศานารีที่มียศ | ต่างกำสรดเศร้าใจอาลัยลาญ |
ครั้นรุ่งรางนางให้พระเทวราช | สำอางอาสน์อ่าองค์สรงสนาน |
นํ้าหอมฟุ้งปรุงปนสุคนธาร | พระวงศ์วานขัดสีฉวีวรรณ |
แล้วนางนาฏมาตุรงค์ช่วยทรงเครื่อง | อร่ามเรืองรัศมีสอดสีสัน |
มงกุฎเพชรเตร็จแก้วพลอยแพรวพรรณ | กุณฑลกรรเจียกกระจ่างแพรวพร่างพราย |
แล้วทรงพิณจินดาดังอาวุธ | ประเสริฐสุดเสียงดังฟ้าผ่าสลาย |
ให้ศัตรูหูแตกแหลกทำลาย | สวมตะพายสะพักไว้ไม่ไกลองค์ |
ครั้นเสร็จสรรพจับพระขรรค์กัลเม็ด | แล้วเสด็จลีลาศดังราชหงส์ |
พร้อมสุรางค์นางนาฏพวกญาติวงศ์ | พระบิตุรงค์นำมาหามุนี |
ประณตนั่งพรั่งพร้อมจอมกระษัตริย์ | โองการตรัสฝากฝังสั่งฤๅษี |
ช่วยฝึกสอนหล่อนให้รักรู้จักดี | จะได้มีเกียรติยศปรากฏไป |
พระรามวงศ์ทรงสดับก็รับสั่ง | จะนึกหวังดังหนึ่งน้องอันผ่องใส |
ประสาชายหมายสนิทร่วมจิตใจ | จะรักใคร่ไปกว่าชีวาวาย |
ขอพระองค์ทรงเดชเกศกระษัตริย์ | ผ่านสมบัติอยู่คู่สุริย์ฉาย |
ที่ทุกข์โศกโรคภัยอย่าใกล้กราย | ขอถวายพระพรลาไปอารัญ ฯ |
๏ สองกระษัตริย์ตรัสช่วยอำนวยสวัสดิ์ | ให้พ้นสัตว์ส่งไปถึงไอศวรรย์ |
ฝ่ายสาวสาวเหล่าสุรางค์นางกำนัล | ที่ผูกพันพิศวาสราชโอรส |
ต่างร้องไห้ใจหายจะวายเห็น | มิได้เป็นห้ามแหนแสนสลด |
พระสิทธาลาองค์พระทรงยศ | ชวนดาบสบุตราเจ้าธานี |
ออกนอกวังเคลื่อนคล้อยลอยลิบลิ่ว[๓] | เป็นแถวทิวปลิวฟ้าในราศี |
หน่อกระษัตริย์พลัดพรากจากบูรี | ทุกข์ทวีเทวษให้อาลัยแล |
ดูเวียงวังดังหนึ่งในใจจะขาด | จำนิราศเริศร้างเหินห่างแห |
เหาะเหลียวหลังรั้งรอคิดท้อแท้ | สงสารแม่เมื่อจะมาเหลืออาลัย |
ลูกมีกรรมจำลาฝ่าพระบาท | โอ้อนาถนึกน่าน้ำตาไหล |
ยิ่งตรึกตราอาวรณ์ร้อนฤทัย | ตัวต้องไปใจจะกลับจนลับตา |
สะอึกสอื้นกลืนกลั้นอัดอั้นอก | นํ้าเนตรตกพร่างพรายทั้งซ้ายขวา |
ฝ่ายนางสมุทรสุดท้องเป็นน้องยา | บินนำหน้าหน่อกระษัตริย์เหาะถัดนาง |
เห็นกันแสงแกล้งยิ้มทำพริ้มพักตร์ | พระอายนักสะเทิ้นทำเมินหมาง |
พอเย็นยํ่าคํ่าพลบในนภางค์ | ลอยมากลางกลีบเมฆวิเวกใจ |
พระรามวงศ์สงสารพระเทวราช | ชวนประภาษพูดจาอัชฌาสัย |
จะหยุดพักสักคืนให้ชื่นใจ | ลงเขาใหญ่ไม้ร่มรื่นลมเย็น |
จันทร์กระจ่างกลางดงด้วยทรงกลด | ถึงแม้นมดจะไต่ไปก็เห็น |
นํ้าค้างพร่างกลางอากาศสาดกระเซ็น | นอนนั่งเล่นล้อมพระที่พาทีกัน |
พระรามวงศ์ลงเอกเขนกตรัส | กับหน่อกระษัตรีย์แกล้งชวนทำสรวลสันต์ |
คิดจะใคร่ได้ยินพิณสำคัญ | จึงว่าวันนี้สบายเดือนหงายงาม |
พ่อดีดพิณจินดาว่าบวงสรวง | ขับชมดวงเดือนเจริญอย่าเขินขาม |
พระน้องรับจับพิณถวิลความ | แล้วดีดสามสายดังก้องกังวาน |
เหมือนดนตรีปี่พาทย์ระนาดฆ้อง | ประสานซ้องซ้อนเสียงสำเนียงหวาน |
แว่วกระแสงแปลงสายหลายประการ | เหมือนขับขานหวานแว่วแจ้วจำเรียง |
ไว้จังหวะประปรายกรีดกรายหัตถ์ | แสนสันทัดทุ้มเอกวิเวกเสียง |
ดังฟ้ารัองก้องกระหึ่มครึมสำเนียง | เสียงเปรี้ยงเปรี้ยงเพียงฟ้าผ่าโพยม |
แล้วย้อนเสียงเสียงซอแต่พอเพราะ | ขับเสนาะน่าชมเสียงชมโฉม |
ยามดึกเดือนเคลื่อนคล้อยลอยประโลม | ดังดวงโคมแสงสว่างกระจ่างตา |
กระต่ายแต้มแจ่มรูปเฝ้าฟุบแฝง | กระจ่างแจ้งจรเร่ในเวหา |
มีดาวห้อมล้อมเดือนคล้อยเคลื่อนคลา | ดูดาราเรียงตามอร่ามดวง |
เทวดาอารักษ์ซึ่งศักดิ์สิทธิ์ | สิงสถิตพุ่มไม้ไศลหลวง |
ทุกแหล่งหล้าฟ้าดินสิ้นทั้งปวง | ฟังบวงสรวงเสียงพิณดังจินดา |
ดีดถวายหลายเพลงวังเวงจิต | ให้หลับสนิทนานเพลินบนเนินผา |
แสงเดือนผ่องส่องพักตร์ลักขณา | ดูนวลหน้านางสมุทรแสนสุดงาม |
เห็นหงิมหงิมยิ้มเยื้อนเหมือนจะทัก | จะรับรักหรือระคางกีดขวางขาม |
จะดีดให้ตื่นฟื้นฟังรับสั่งความ | ฝ่ายพระรามวงศ์ว่าเหลืออาวุธ |
วิเวกวับจับจิตดังกริชกรีด | ประดิษฐ์ดีดดีเลิศประเสริฐสุด |
แล้วเสแสร้งแกล้งว่าลองพระน้องนุช | นางสมุทรคิดขับพอรับพิณ |
นางรับสั่งซังตายถวายเสียง | หวนสำเนียงน่าฟังหวังถวิล |
บังคมคัลวันทาเจ้าฟ้าดิน | สมเด็จอินทร์ศวรสยมบรมญาณ |
ช่วยย่นย่อมรคานภากาศ | ให้ถึงราชนิเวศน์ประเทศสถาน |
สถิตแท่นแสนมหาโอฬาฬาร | ชัชวาลชวาลาระย้าย้อย |
โอ้ยามยากจากจรมานอนป่า | นึกน้ำตาตกเหยาะเผาะเผาะผอย |
เคยห้ามแหนแสนสุรางค์นางน้อยน้อย | ประคองคอยข้างที่ศรีไสยา |
มาเย็นเยียบเงียบเหงาเศร้าสะอื้น | โอ้ดึกดื่นเดือนคล้อยละห้อยหา |
เห็นอื่นอื่นกลืนกลํ้าแต่นํ้าตา | ไม่เหมือนหน้าน้องแก้วที่แคล้วกัน |
แล้วส่งลำอำมรินทร์รับพิณแก้ว | วิเวกแว่ววังเวงเพลงสวรรค์ |
ต่างรับส่งลงจังหวะพัลวัน | ทั้งโอดพันเพลินเพลงวังเวงใจ |
พระรามวงศ์ทรงฟังทั้งสองน้อง | ต่างยิ้มย่องยวนจิตพิสมัย |
ต่างชื่นชอบตอบต้องทำนองใน | จนอุทัยไขแสงต่างแต่งองค์ |
ขึ้นเหาะเหินเดินฟ้าเป็นหน้าหลัง | พร้อมสะพรั่งดังนกยูงแลฝูงหงส์ |
ไปหลายเดือนเพื่อนทางที่กลางดง | พอเย็นลงแลเพลินเนินพนม |
เห็นเขาเขียวเดี่ยวโดดดังโขดเมฆ | สูงวิเวกเทียมฟ้ามีอาศรม |
ปักเสาหงส์ธงปลิวริ้วริ้วลม | ระรื่นร่มรังเรียงเคียงเคียงกัน |
ทั้งเก้าองค์ลงเดินเนินบรรพต | เห็นดาบสบวชบำเพ็ญเบญจขันธ์ |
เข้าฌานนิ่งพิงผาบูชายัญ | ดูผิวพรรณเพศพักตร์เป็นยักษ์มาร |
เหมือนจะแก่แต่กายเส้นสายสะพรั่ง | หน้าเหมือนดังไกรสรซ้อนประสาน |
อยู่แดนดงองค์เดียวจะเชี่ยวชาญ | ต่างก้มกรานตรงจิตพระสิทธา |
กระแอมไอให้เสียงนั่งเรียงเรียบ | ก้มพับเพียบประนมกรอ่อนเกศา |
ฝ่ายองค์อนุโรธโคตรอสุรา | นั่งรักษาศีลเพ่งบำเพ็งญาณ |
มิได้ฉันพรรณผลอยู่บนเขา | ทุกเย็นเช้าฉันแต่วาตะอาหาร |
อายุยืนหมื่นเศษมีเหตุการณ์ | พระอาจารย์แจ้งจบทั้งภพไตร |
เสียงกระแอมแย้มเยื้อนเหมือนจะรู้ | ลืมเนตรดูขู่ถามตามสงสัย |
พวกหนุ่มสาวดาวบสบวชอดใจ | มีธุระอะไรไปไหนมา ฯ |
๏ พระรามวงศ์ทรงพรตประณตสนอง | ข้าเที่ยวท่องถือบวชสวดสิกขา |
เดินจงกรมพรหมจรรย์อรัญญา | ไม่รู้ว่าแว่นแคว้นด้าวแดนใด |
ได้พบปะพระคุณค่อยอุ่นจิต | ขอเป็นศิษย์ซักถามตามสงสัย |
พระพรรษาฝ่าเท้าสักเท่าไร | อยู่เขาใหญ่ยอดสุดสร้างกุฎี |
ได้นํ้าท่าอาศัยที่ไหนหนอ | มันเผือกพอฉันหรือพระฤๅษี |
หนึ่งประเทศเขตแขวงตำแหน่งนี้ | จะเป็นที่ถิ่นท้าวด้านแดนใด ฯ |
๏ พระอนุโรธโชติช่วงในดวงจิต | ฟังนักสิทธ์สนทนาอัชฌาสัย |
จึงแจ้งความตามประสงค์จำนงใน | เราบวชได้หมื่นปีกับสี่พัน |
รักษาศีลกินลมบรมสุข | ไม่มีทุกข์ที่จะต้องหาของฉัน |
อันคีรีที่อาศรมพรหมจรรย์ | ชื่อสัตภัณฑ์ประเทศพ้นเขตมนุษย์ |
นี่อยู่ต่อบริเวณสุเมรุมาศ | อโนดาตแดนคงคามหาสมุทร |
เป็นราวริมหิมพานต์พิมานครุฑ | นิมนต์หยุดอยู่ด้วยกันเชิญฉันลม ฯ |
๏ พระรามวงศ์ทรงฟังสังระเสริญ[๔] | แสนเจริญพรรษาอยู่อาศรม |
ซึ่งชวนฉันบรรพชาสมาคม | จะกินลมเหลือศรัทธาสมาทาน |
มาท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้มีธุระ | อุตสาหะหาเขตประเทศสถาน |
ขอพึ่งบุญมุลิกาพระอาจารย์ | โปรดประทานทางให้ดังใจจง ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระมหาสิทธาเฒ่า | เห็นย่อมเยาว์สาวหนุ่มล้วนลุ่มหลง |
ช่วยสอนสั่งทั้งเก้าว่าเจ้าปลง | ให้เห็นตรงลงในพระไตรลักษณ์ |
อันรูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครบ | เครื่องอาศภ[๕]สูญกลับอัปลักษณ์ |
ล้วนเปื่อยเน่าเก่าลงอย่าหลงนัก | ไม่น่ารักรูปนี้เกลียดรังเกียจใจ |
ถึงตัวเราเล่าก็เบื่อมีเนื้อหนัง | ไม่จีรังรักษาพออาศัย |
แต่ก่อนอยู่บำรุงชาวกรุงไกร | เป็นเมืองใหญ่ยักษ์มารแน่นบ้านเมือง |
เมียก็มีอีสาวรุ่นราวแสน | นั่งท้าวแขนขัดขมิ้นไม่สิ้นเหลือง |
ล้วนคุณหม่อมหอมฟุ้งเห็นรุ่งเรือง | ทำยักเยื้องยิ้มยั่วให้มัวเมา |
เหมือนหนุ่มหนุ่มลุ่มหลงพะวงสวาท | เหลือร้ายกาจกอดจูบรักรูปเขา |
ครั้นวอดวายตายไปเหม็นไม่เบา | เป็นหนอนหนองพองเน่าเสียเปล่าดาย |
กูได้คิดปลิดปลงเปลื้องสงสาร | หวังนิพพานเพิ่มพูนเพียงสูญหาย |
ชาติมนุษย์สุดสับปลับย่อมกลับกลาย | ประดักประเดิดเกิดตายไม่วายเว้น |
มิฟังว่าถ้าจะไปก็ได้ทุกข์ | กุลียุคยากแค้นสุดแสนเข็ญ |
จงคิดกันผันผ่อนให้หย่อนเย็น | อยู่บวชเป็นประชาชีไม่มีภัย ฯ |
๏ พระรามวงศ์ลงกราบซับซาบโสต | ซึ่งทรงโปรดปรานีจะมีไหน |
แต่ว่ายังลังเลคะเนใจ | เห็นไม่ได้ดังพระคุณกรุณา |
ยังเหนี่ยวหน่วงห่วงใยตัดไม่ขาด | คิดถึงญาติใหญ่น้อยจะคอยหา |
พระเห็นเหตุเขตขัณฑ์สวรรยา | ช่วยบัญชาชี้แจงให้แจ้งใจ ฯ |
๏ ฝ่ายองค์พระอนุโรธโปรดประภาษ | ให้โอวาทอย่าเสื่อมทางเลื่อมใส |
ซึ่งเวียนวงหลงมาไกลกว่าไกล | แม้นตรงไปปีครึ่งจึงถึงเมือง |
ล้วนยักษีผีเสื้อมันเหลือร้าย | ถึงไม่ตายกลางทางก็คางเหลือง |
มรคาสารพัดจะขัดเคือง | อยู่ข้างเบื้องบูรพาจงคลาไคล |
แล้วแอบอิงนิ่งนั่งตั้งสติ | ตามลัทธิธรรมขันธ์ไม่หวั่นไหว |
พระรามวงศ์ปลงเชื่อเห็นเหลือไกล | หยุดอาศัยในศาลาพอราตรี |
ครั้นรุ่งรางต่างลากราบดาบส | น้อมประณตนับถือพระฤๅษี |
สามิภักดิ์ทักษิณด้วยยินดี | ออกจากที่วงวัดเขาสัตภัณฑ์ |
พาพระน้องล่องลิ่วลอยปลิวฟ้า | หมายไปสู่บูรพาพนาสัณฑ์ |
ค่อยเคลื่อนคลอรอเรียงมาเคียงกัน | แล้วสรวลสันต์ผันผินด้วยยินดี ฯ |
๏ จะกล่าวนางกลางป่าหน้าเป็นยักษ์ | มีน้องรักร่วมท้องกันสองศรี |
น้องสิบสี่พี่สาวสิบเก้าปี | ผิวพรรณพี่สีเสนเหมือนเช่นครุฑ |
แต่ผิวน้องผ่องเขียวมีเขี้ยวเพชร | รู้ระเห็จเหาะเหินเดินสมุทร |
ต่างแคล้วคลาดสาตราเครื่องอาวุธ | นิ้วเหมือนครุฑครีบแขนแม้นบิดา |
ครั้นพ่อแม่แก่ตายฝ่ายลูกสาว | พึ่งรุ่นราวรู้เล่ห์เสน่หา |
ใคร่มีคู่สู่สมภิรมยา | เที่ยวเหาะเหินเดินฟ้าหาสามี |
เมื่อวันนั้นมันมาบนอากาศ | ลอยลีลาศแลเขม้นเห็นฤๅษี |
พระรามวงศ์นงนุชเจ็ดบุตรี | ที่สุดท้ายชายสีอินทนิล |
ต่างพิศเพ่งเปล่งปลั่งอยู่ทั้งสอง | นางพี่น้องต้องอารมณ์สมถวิล |
ลอยขวางหน้าว่าเจ้าคุณพระมุนิน | จะไปถิ่นฐานตำบลแห่งหนใด ฯ |
๏ พระรามวงศ์นงนุชหยุดพินิจ | ต่างนิ่งคิดพิศวงนึกสงสัย |
มือตีนนางอย่างครุฑวุฒิไกร | เหตุไฉนหนอพักตร์เหมือนยักษ์มาร |
มีเขี้ยวแก้วแววไวอยู่ในปาก | ดูแรงราครูปสาวเห็นห้าวหาญ |
ประดับเครื่องเรืองจรัสชัชวาล | พัดใบตาลต่างจักรป้องพักตรา |
เห็นท่วงทีมีฤทธิ์รูปผิดเพศ | รู้พระเวทเหาะเหินเดินเวหา |
เห็นผู้ชายหมายเขม้นแลเล่นตา | ดูท่วงทีกิริยาจะบ้ากาม |
จึงเอื้อนอรรถตรัสว่ามาแต่ไหน | เจ้าชื่อไรไม่รู้จักมาทักถาม |
อันเราหรือฤๅษีเป็นชีพราหมณ์ | เที่ยวมาตามกิจกรมพรหมจรรย์ |
เจ้าทั้งสองน้องพี่หรือมิใช่ | อยู่เมืองไหนนารีต่างสีสัน |
ฝ่ายนางยักษ์รับเคารพอภิวันท์ | ตัวหม่อมฉันชื่อปักษีเป็นพี่ยา |
นางคนนี้เป็นน้องของหม่อมฉัน | แม่เป็นพันธุ์พวกยักษ์พ่อปักษา |
ทั้งพ่อแม่แก่ตายวายชีวา | เป็นกำพร้าพี่น้องอยู่สองคน |
พวกนักสิทธ์วิทยาเขามาขอ | ฉันไม่พอใจเห็นไม่เป็นผล |
มาพบพระจะถวายกายสกนธ์ | ตามไปปรนนิบัตินวดพัดวี |
จะไปไหนไปด้วยจนม้วยมอด | มิได้ทอดทิ้งธุระพระฤๅษี |
แล้วสองนางต่างไปหาสุมาลี | นางผู้พี่ถวายพระรามวงศ์ |
น้องสาวให้กับพระเทวราช | ด้วยหวังสวาทมาดจิตคิดประสงค์ |
เธอไม่รับจับต้องทั้งสององค์ | พระรามวงศ์ว่าสีกาอย่ามากวน |
จะจับต้องของเจ้าเข้าก็บาป | บอกให้ทราบสาวรุ่นอย่าหุนหวน |
เป็นสีกาพาไปก็ไม่ควร | เวลาจวนอย่าขวางหนทางจร |
จงอยู่ดีพี่น้องทั้งสองยักษ์ | อย่าริรักฤๅษีฟังพี่สอน |
แล้วหลีกไปให้ห่างกลางอัมพร | นางตามวอนว่าพระคุณพระมุนี |
นางทั้งเจ็ดเหตุไฉนจึงให้อยู่ | มิใช่ผู้หญิงหรือเป็นฤๅษี |
ส่วนตัวน้องข้องขัดตัดไมตรี | รูปไม่ดีหรือไม่รักเป็นยักษ์มาร |
แต่มีมนตร์ดลศักดาอานุภาพ | ทูลให้ทราบแสนหอมเนื้อหม่อมฉาน[๖] |
ขอไปด้วยช่วยรักษาพยาบาล | อย่าทัดทานทิ้งไว้ให้ได้อาย ฯ |
๏ พระตอบว่านารีเหล่าพี่น้อง | เป็นพวกพ้องพรหมจรรย์ควรผันผาย |
เจ้าเป็นยักษ์มักโทโสโมโหร้าย | จะใกล้กรายกลัวผิดกิจสิทธา |
ทั้งสองยักษ์รักงามเหาะตามหลัง | ขอบวชมั่งเหมือนพระองค์ทรงสิกขา |
ช่วยบอกให้ได้สำเร็จจงเมตตา | ต่างตามอ้อนวอนว่าด้วยอาลัย |
พระรามวงศ์สงสารรำคาญจิต | สุดจะคิดผันแปรสุดแก้ไข |
มันขืนเฝ้าเซ้าซี้พิรี้พิไร | จะหลีกไปไม่พ้นจำจนจริง |
จะฆ่าตีชีวิตให้ปลิดปลด | จะขาดพรตอดสูฆ่าผู้หญิง |
แกล้งหยุดหย่อนร่อนเร่ประเวประวิง | ยิ่งเย็นยิ่งกริ่งที่จะมีภัย |
พาพระน้องล่องลอยลงเหลี่ยมเขา | เข้าบังเงาเงื้อมผาหยุดอาศัย |
ส่วนพี่น้องสองนางไม่ห่างไกล | เด็ดดอกไม้ไปถวายธิบายวอน |
น้องหวังรักหนักหนาอุตส่าห์ง้อ | มาตามขอบวชด้วยพระช่วยสอน |
รํ่าว่ากล่าวท้าวแขนแสนแสงอน | ชะอ้อนอ่อนคอเอียงเข้าเคียงชิด ฯ |
๏ พระอดสูขู่ขับจับพระแสง | ทำเสียงแข็งขืนเบียดเกลียดจริต |
มิหลบลี้หนีไปกูไม่คิด | ประเดี๋ยวนี้ชีวิตไม่ติดตัว |
ส่วนสองนางต่างสัญญาว่าเช่นนั้น | แม้นพระฟันฉันให้ตายถวายหัว |
แม้นไม่ม้วยช่วยประคองอย่าหมองมัว | ยอมเป็นผัวฉันนะจ๊ะจงฉะฟัน |
พระเคืองคำทำใบ้ให้พระน้อง | ต่างจะลองฤทธิ์ยักษ์ชักพระขรรค์ |
นางยักษ์ยืนยื่นคอหัวร่อกัน | สององค์ฟันหันฟาดพลัดพลาดแพลง |
พระรามวงศ์ทรงจักรขว้างยักษ์ผิด | ยิ่งเคืองคิดแค้นค้อนลั่นศรแผลง |
ไม่ถูกต้องสองนางคิดคลางแคลง | จนอ่อนแรงรู้ว่าดีมีศักดา |
เอาดีต่อขอโทษอย่าโกรธหยอก | พี่ฟันหลอกลองจิตขนิษฐา |
ทั้งสองนางต่างว่าฉันได้สัญญา | จะขอพาไปเป็นผัวทูนหัวเมีย |
น้องรักใคร่ไม่คิดชีวิตม้วย | จงเอออวยอนุกูลอย่าสูญเสีย |
แล้วสองนางต่างเฝ้าคลอเคล้าเคลีย | อย่าปดเมียไม่ได้นะเล่นพนัน ฯ |
๏ พระรามวงศ์องค์พระเทวราช | เชิงฉลาดหลอกหลอนพูดผ่อนผัน |
ไม่กลัวบาปหยาบช้าเช่นว่านั้น | จะโกรธกันเสียเปล่าไม่เข้ายา |
แม้นอยากใคร่ไปด้วยจะช่วยบวช | ให้รู้สวดศักราชศาสนา |
ฝึกสอนเจ้าเล่า ก ข แล ก กา | ได้เห็นหน้าเหมือนหนึ่งน้องทั้งสองนาง |
อสุรีดีใจจะได้ผัว | ต่างฝากตัวตามแต่ตรัสไม่ขัดขวาง |
พระสอนสองครองผ้าสารพางค์ | ให้ศีลนางพลางแปลแต่ปาณา |
อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดฉ้อฉล | อย่าแปดปนกาเมเสน่หา |
อย่าปดโป้โว้เว้ถือเอกา | อย่าพูดจาสัพยอกอย่าหยอกเอิน |
ให้โอวาทมาดหมายไม่กรายใกล้ | แต่พอให้สองนางเจ้าห่างเหิน |
ครั้นเสร็จบวชกรวดนํ้าให้จำเริญ | ต่างเพลิดเพลินพลอยรักษาศีลห้าตัว |
ทั้งสองนางต่างคนปรนนิบัติ | หน่อกระษัตริย์สัญญานึกว่าผัว |
เชื่อฟังคำยำเยงทั้งเกรงกลัว | รักษาตัวตามพรตดาบสนี |
นอนค้างคืนตื่นเช้าจากเขาเขิน | ขึ้นเหาะเหินเดินฟ้าในราศี |
ที่บวชเก่าเคล้าคลอกันจรลี | อสุรีรั้งหลังระวังองค์ ฯ |
[๑] ราโท แปลว่า ไม้กระดานที่ประกบบนกาบเรือ
[๒] การะพฤกษ์ ประกายพรึก (ชื่อดาวประจำรุ่ง)
[๓] ต้นฉบับว่า “ออกนอกวังทั้งสิบลิบลิบลิ่ว” แต่จำนวนตามท้องเรื่องมีเพียง ๙ คน จึงแต่แปลงเสียใหม่ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑)
[๔] สังระเสริญ = สรรเสริญ
[๕] อาศภ = อศุภ
[๖] หม่อมฉาน = หม่อมฉัน