- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
๏ ขอหยุดเรื่องเมืองไว้ให้สงบ | จะกล่าวถึงสิงหไกรภพในคูหา |
แต่อยู่ด้วยพินทุมารก็นานมา | จนชันษาได้ถึงสิบสี่ปี |
เรียกยักษาว่าพ่อก็เกรงขาม | เรียกเจ้าพราหมณ์จินดานั้นว่าพี่ |
พญายักษ์รักบุตรแสนทวี | ให้สองศรีเรียนเวทวิเศษมนตร์ |
แม้นไพรีมีมาให้กล้าหาญ[๑] | จึงโอมอ่านวิทยาเป็นห่าฝน |
ให้มืดมิดปิดแสงพระสุริยน | บรรดาคนข้าศึกไม่เห็นกาย |
แม้นสาตราอาวุธจะถูกเข้า | ให้เสกเป่าลงแล้วก็แผ้วหาย |
ทั้งสองคนเล่ามนตร์สังวัธยาย[๒] | ไม่เคลื่อนคลายจำได้ดังใจปอง |
ฝ่ายกุมภัณฑ์วันนั้นคิดถึงป่า | จึงโลมลารํ่าสั่งเจ้าทั้งสอง |
พระลูกรักจงรักษาคูหาทอง | อย่าไปห้องโน้นเลยนะแก้วตา |
ครั้งสั่งสรรพจับกระบองออกจากถํ้า | กายกำยำคึกคักเป็นยักษา |
เที่ยวล่าไล่โคถึกมฤคา | กินตามเพศอสุราสำราญใจ ฯ |
๏ พระสิงหไกรภพพูนสวัสดิ์ | หน่อกระษัตริย์แกล้วกล้าจะหาไหน |
ถามเจ้าพราหมณ์ตามแคลงให้แจ้งใจ | พ่อจะไปแล้วก็สั่งทุกครั้งครา |
ว่ามิให้ไปเล่นที่ห้องนั้น | ของสำคัญคงจะมีกระมังหนา |
ไปให้รู้ดูสักทีพี่จินดา | ว่าแล้วพาพราหมณ์เดินดำเนินไป |
ค่อยเสียดสอดลอดองค์ลงตามปล่อง | ครั้นถึงห้องเวิ้งว้างสว่างไสว |
เป็นเชิงชั้นหลั่นลดแลวิไล | มีต้นไม้หนึ่งงามอร่ามครัน |
ทุกกิ่งใบนั้นมีสีต่างต่าง | ที่กิ่งข้างตะวันออกเขียวขบขัน |
ข้างทิศใต้ใบเหลืองสิ้นทั้งนั้น | กิ่งตะวันตกขาวราวสำลี |
ทิศอุดรกิ่งแดงดังแสงชาด | แลประหลาดสี่อย่างล้วนต่างสี |
พระเพ่งพิศพฤกษาบรรดามี | ต้นไม้นี้ผุดผาดประหลาดนัก |
พี่ยังรู้จักชื่อบ้างหรือไม่ | ต้นอะไรหนอฉันดูไม่รู้จัก |
เจ้าพราหมณ์ว่าพี่ไม่รู้เลยน้องรัก | พญายักษ์ห้ามเราเพราะเท่านี้ |
อย่าเจ้าไปจับต้องนะน้องแก้ว | ต้นไม้เช่นนี้แล้วมักมีผี |
พระเย้ยหยันเชษฐาแล้วพาที | ว่าพี่นี้ขลาดเขลาไม่เข้าการ |
ถ้าแม้นว่าเบื่อเมาเอาไม่ได้ | ไม่มีใครจงรักจะหักหาญ |
แม้นมีผู้รักษาพยาบาล | คงเป็นไม้ต้องการไม่เชื่อเลย |
บิดาหวงห้ามไว้มิให้เห็น | ต่อจะเป็นของดีคุณพี่เอ๋ย |
ต้นพฤกษาเช่นนี้เรามิเคย | จะละเลยนิ่งอยู่ดูทำไม |
เราทั้งสองลองกินดูเถิดพี่ | ถ้าร้ายดีก็คงเห็นว่าเป็นไฉน |
เจ้าพราหมณ์ฟังน้องตอบก็ชอบใจ | เข้าเด็ดใบแดงเคี้ยวทั้งสองคน |
พอกลืนกายกลายเป็นนาคราช | ทำอำนาจเลื้อยไล่กันสับสน |
นัยน์ตาแดงแผลงฤทธิ์คำรามรณ | ภาษาคนก็ยังรู้อยู่ในใจ |
เข้ากลมเกลียวเกี่ยวกอดตามเพศนาค | จะออกปากพูดกันนั้นไม่ได้ |
มิรู้ที่จะคิดอ่านประการใด | กอดกันไว้พี่น้องนองนํ้าตา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพินทุมารชาญกำแหง | เที่ยวแสวงจับสัตว์เป็นภักษา |
ตะวันบ่ายชายแสงพระสุริยา | อสุรารีบกลับมาแท่นทอง |
ถึงบัลลังก์นั่งแท่นศิลาอาสน์ | แลประหลาดมิได้เห็นลูกทั้งสอง |
ลุกขึ้นเดินลดเลี้ยวไปเที่ยวมอง | มาถึงห้องเหวใหญ่ต้นไม้ยา |
เห็นลูกเลี้ยวเกี่ยวกันในหุบหิน | รู้ว่าลูกแก้วกินใบพฤกษา |
จึงเข้าไปในซอกตรอกศิลา | ตักเอานํ้ามวกผามาโทรมกาย |
แล้วหยอดไปในปากนาคทั้งสอง | ตกถึงท้องรูปนั้นก็พลันหาย |
เป็นมนุษย์พี่น้องทั้งสองชาย | ราพณ์ร้ายร้องว่าสาแก่ใจ |
พ่อห้ามว่าอย่าเล่นขืนมาเล่น | จึงต้องเป็นนาคนองนํ้าตาไหล |
ทีนี้จำพ่ออย่านำน้องมาใน | แล้วพาไปถํ้าทองห้องไสยา |
ชวนภิรมย์ชมเชยเหมือนเคยสนิท | ประคองชิดรับขวัญด้วยหรรษา |
ครั้งรุ่งรางสว่างแสงสุริยา | อสุราเที่ยวไปในไพรวัน ฯ |
๏ หน่อกระษัตริย์ตรัสกับเจ้าพราหมณ์พี่ | ใบไม้นี้กินเป็นงูก็ดูขัน |
ไปกินอีกเถิดจะเป็นเหมือนเช่นกัน | หรือจะผันแปรร่างเป็นอย่างไร |
ฝ่ายเจ้าพราหมณ์ห้ามน้องเป็นหลายครั้ง | เห็นไม่ฟังก็ไม่ขัดอัชฌาสัย |
จึงพี่น้องสองราพากันไป | ถึงต้นไม้หยุดพูดกันสองคน |
เราตักนํ้ามวกผามาสำหรับ | แม้นกลายกลับแก้ไขไม่ขัดสน |
ยาเรามีทีนี้ไม่อับจน | แล้วสองคนตักน้ำมวกผามา |
พระโฉมยงองค์สิงหไกรภพ | จึงเร้ารบให้พี่ขึ้นใบพฤกษา[๓] |
เจ้าพราหมณ์ไปเก็บใบขาวนั้นมา[๔] | แล้วเคี้ยวกินตรงหน้าพระน้องชาย |
เป็นลิงลมโลดไล่กันในถ้ำ | แล้วกินนํ้ารูปนั้นจึงพลันหาย |
เอาใบเขียวเคี้ยวตามรูปก็กลาย | เป็นนกแก้วแพรวพรายบินลำพอง |
เอาน้ำกลืนคืนเป็นมนุษย์ได้ | เจ้าชอบใจสรวลสันต์กันทั้งสอง |
แล้วเอาใบไม้เหลืองมากินลอง | เนื้อเป็นทองธรรมชาติสะอาดตา |
เจ้ากินนํ้าสิ้นสีเสมอเก่า | ทั้งสองเจ้าแจ้งกลต้นพฤกษา |
จึงซักถามพราหมณ์เทพจินดา | เหมือนต้นยานี้ก็เห็นไม่เป็นการ |
ถึงเอาไปก็แต่พอหัวร่อเล่น | น้องไม่เห็นที่จะทำเป็นแก่นสาร |
แม้นเอร็ดอร่อยเหมือนอ้อยตาล | หรือเปรี้ยวหวานนั้นแลข้าจะว่าดี |
เจ้าพราหมณ์ว่ายาอยู่ในภูเขา | ก็เสียเปล่าจริงแล้วนะแก้วพี่ |
ถ้าแม้นเราเอาไปในบูรี | คุณนั้นมีถ้าจะรํ่าสักลำเรือ |
กินเป็นนกนึกไปไหนก็ไปง่าย | เป็นนาคร้ายจะรบกับศึกเสือ |
กินเป็นทองผ่องแผ้วในผิวเนื้อ | ปะผู้หญิงยิงเรือคงรักเรา |
นี่แสนจนคนผู้จะพบเห็น | มาหนีเร้นอยู่ในเวิ้งเพิงภูเขา[๕] |
เหมือนปักษีปีกหักลงพักเซา | ต้องเงียบเหงาอยู่ในห้องทั้งสองรา |
หน่อกระษัตริย์ตรัสถามเจ้าพราหมณ์พี่ | ว่าเดี๋ยวนี้น้องฟังยังกังขา |
แต่ข้าจำความได้จนใหญ่มา | ได้เห็นหน้าก็แต่พ่อกับพี่พราหมณ์ |
คิดว่าคนในแผ่นดินสิ้นเท่านั้น | จำสำคัญอยู่ในใจจึงไม่ถาม |
ประเดี๋ยวนี้พี่บอกออกเนื้อความ | ขอซักตามข้อแคลงไม่แจ้งใจ |
ข้ากับพี่นี้เกิดในหว่างเขา | ก็คนเหล่านั้นเกิดมาแต่ไหน |
เหมือนเกิดแล้วเกิดต่อเหมือนหน่อไม้ | น้องจะใคร่แจ้งจิตในกิจจา |
เจ้าพราหมณ์ฟังน้องว่าน่าสงสาร | จึงคิดอ่านตอบตามความมุสา |
พี่กับเจ้าชาวเมืองมิถิลา | แต่บิดาชนนีนั้นวายปราณ |
พี่กับน้องท้องเดียวเที่ยวเดินเล่น | ยักษ์ไปเห็นจับได้ไม่สังหาร |
มาเลี้ยงไว้ในคูหาเป็นช้านาน | จะคิดอ่านออกให้พ้นก็จนใจ |
จะบอกน้องแล้วก็เห็นยังเด็กอยู่ | กลัวว่ารู้ถึงยักษ์จะตักษัย |
จึงจำจนทนเทวษทุกวันไป | แล้วกอดน้องร้องไห้ระทวยกาย |
พระโฉมยงองค์สิงหไกรภพ | ได้แจ้งจบความในก็ใจหาย |
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงพรั่งพราย | ให้ระคายเคืองแค้นท้าวกุมภัณฑ์ |
แล้วคิดถึงคุณยักษ์ที่รักใคร่ | แต่มดไรมิให้ตอมถนอมขวัญ |
ค่อยคลายหายโกรธาปรึกษากัน | ถ้ากระนั้นเราจะอยู่ไปไยมี |
เก็บเอาแต่ใบไม้เอาไว้กิน | เป็นนกแก้วแล้วบินระเห็จหนี |
แต่จะไปกลางวันไม่ทันที | อสุรีรู้ความจะตามมา[๖] |
ครั้นสุริยงลงยอแสงระยับ | ชวนกันกลับมาอยู่ในคูหา |
พอพยับอับแสงสุริยา | ยักษ์ก็มาถึงถํ้าด้วยกำลัง |
ยื่นมะม่วงพวงให้กับลูกน้อย[๗] | ประคองค่อยกอดจูบแล้วลูบหลัง |
เมื่อวันนี้บิดาไปป่ารัง | เขม่นหนังนัยนาอยู่ริกริก |
ทั้งปวดเศียรเจียนแทบจะจับไข้ | จะหายใจก็ไม่คล่องช่องนาสิก |
ให้เหื่อออกเอิบอาบไหลซาบซิก | ใจพ่อยังริกริกมาเรียดทาง |
เมื่ออยู่ป่าปรารภถึงสองเจ้า | เร่งร้อนเร่าโรควิบัติให้ขัดขวาง[๘] |
เจ้ามิได้เคืองข้องหมองระคาง | ก็เป็นลางอื่นโอ้อัศจรรย์ |
ท้าวเอนองค์ลงเหนือศิลาอาสน์ | สะดุ้งหวาดแว่วเพ้อละเมอฝัน |
เหตุว่าสองดวงใจจะไกลกัน | ท้าวกุมภัณฑ์ม่อยหลับระงับไป ฯ |
๏ หน่อกระษัตริย์สอดหัตถ์สะกิดพี่ | ลงจากที่แท่นรัตน์จรัสไข |
แล้วเหลียวดูอสุราให้อาลัย | ถอนใจใหญ่ก้มเกล้าลงกราบกราน |
โอ้พระคุณทูนเกศของลูกแก้ว | จะลาแล้วลับไปไกลสถาน |
ด้วยพระองค์ทรงศักดิ์เป็นยักษ์มาร | จะอยู่นานไปก็แคลงระแวงกลัว |
ทั้งจะได้พบกับพี่น้อง | อยู่บ้านช่องพ่อแม่บังเกิดหัว |
ครั้นจะบอกบิตุรงค์ให้ตรงตัว | ก็เกรงกลัวจะมิให้ลูกไคลคลา |
พระคุณเอ๋ยตื่นขึ้นจะเปล่าแล้ว[๙] | มิได้กอดลูกแก้วเสน่หา |
จะคลั่งแค้นใจพ่อขอสมา | อย่าเป็นเวรเวรากับลูกน้อย |
พระโศกศัลย์กันแสงกำสรดสั่ง | ชลนัยน์ไหลหลั่งลงเผาะผอย |
เจ้าพราหมณ์เทพจินดานํ้าตาย้อย | ต่างค่อยค่อยก้มกราบกับบาทา |
แล้วระงับดับโศกให้เสื่อมสิ้น | ทั้งพี่น้องสองกินใบพฤกษา |
เป็นนกแก้วแล้วก็คาบซึ่งห่อยา | บินถลาขึ้นตามปล่องช่องคีรี |
เจ้าพราหมณ์นำน้องไปในอากาศ | เขม้นมาดมิถิลาคิรีศรี[๑๐] |
พระพายพัดส่งมาในราตรี | สกุณีรอเรียงมาเคียงก้น |
ลอยละลิ่วปลิวเข้าในกลีบเมฆ | แสนวิเวกในระหว่างทางสวรรค์[๑๑] |
เห็นแต่ดาวแจ่มแจ้งแลแสงจันทร์ | เจ้าพากันรีบบินตะบึงมา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพินทุมารชาญสมร | วันนั้นนอนหลับอยู่ในคูหา |
เมื่อสองศรีหนีไปจากไสยา | อสุราฝันไปให้เป็นลาง |
ว่าอินทรีมีฤทธิ์ทิศอิสาน | บินทะยานโผแผ่ซึ่งปีกหาง |
มาจิกสับยับสิ้นทั้งสารพางค์ | ไม่เว้นว่างเจ็บทั่วไปทั้งกาย |
แล้วมิหนำซ้ำควักเอาดวงเนตร | สำแดงเดชบินกลับไปลับหาย |
ความเจ็บแสบแทบจะสิ้นชีวาวาย | ราพณ์ร้ายดิ้นร้องจนรู้ตัว |
ยังฟั่นเฟือนเหมือนจริงไม่ใช่ฝัน | กายาสั่นขนพองสยองหัว |
ต่อเป็นครู่รู้สึกจึงสร่างกลัว | พอสุริย์แสงแจ้งทั่วทั้งโลกา |
ลุกขึ้นมองไม่เห็นสองโอรสราช | ไม่ไสยาสน์เหมือนแต่หลังก็กังขา |
หรือดวงใจไปอยู่ที่ต้นยา | อสุราเยื้องย่องเที่ยวมองเมียง |
มาถึงห้องเหวใหญ่ก็ไม่เห็น | ยะเยือกเย็นจักจั่นสนั่นเสียง |
เห็นแต่ใบไม้ร่วงอยู่รายเรียง | กิ่งก็เกลี้ยงรอยเก็บไปมากมาย |
โอ้ชะรอยพี่น้องทั้งสองศรี | พากันหนีพ่อแล้วจึงสูญหาย |
ทั้งรักลูกผูกแค้นแสนเสียดาย | ระทวยกายล้มกลิ้งลงนิ่งไป |
นํ้าค้างพรมลมโปรยลงตามปล่อง | ละอองต้องกายยักษ์ไม่ตักษัย |
ค่อยชื่นฟื้นกลืนกลํ้าระกำใจ | นั่งร้องไห้อยู่ในห้องปล่องคีรี |
โอ้เจ้าดวงนัยนาบิดาเอ๋ย | ไม่เห็นเลยที่ว่าลูกจะลอบหนี |
พ่อเลี้ยงไว้ได้ถึงสิบสี่ปี | มิได้ตีได้ด่าให้อาทร |
เมื่อแรกตกมาอยู่ในคูหา | พ่ออุตส่าห์ขอนมนางไกรสร |
มาโลมเลี้ยงลูกยาด้วยอาวรณ์ | ถนอมนอนแนบข้างไม่ห่างกัน |
แต่เห็นเจ้าร้องไห้ก็ใจหาย | พ่ออุ้มสายสุดที่รักแล้วรับขวัญ |
ความรักใคร่ในลูกนี้ผูกพัน | ถึงทุกวันเจ้าเป็นหนุ่มยังอุ้มเชย |
เจ้าคอยหลบหนีไปมิได้สั่ง | ไม่สงสารพ่อมั่งเลยลูกเอ๋ย |
ตั้งแต่วันนี้ไปที่ไหนเลย | จะได้เชยชมสองพระลูกรัก |
เมื่อลูกแก้วแววตาเจ้าฆ่าพ่อ | ควรได้ข้อวิตกเพียงอกหัก |
ยิ่งรํ่าไรไห้สะอื้นเสียงฮักฮัก | ปิ้มว่าจักมอดม้วยด้วยลูกยา |
แล้วกลั้นกลืนขืนจิตคิดขึ้นได้ | จำจะไปตามลูกเสน่หา |
ในแถวทางข้างเมืองมิถิลา | เห็นจะพากันไปดังใจปอง |
แม้นไม่ออกนอกเขตของเราแล้ว | คงจะได้ลูกแก้วมาทั้งสอง |
แล้วจัดแจงแต่งกายกุมกระบอง | ออกจากห้องเหวใหญ่เหาะทะยาน |
คว้างคว้างกลางเมฆไม่หยุดยั้ง | ดังกำลังลมเพชรหึงหาญ |
ต้นยูงยางกลางเถื่อนไม่ทนทาน | ต้องลมพานต้นเอนระเนนมา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสกุณีทั้งพี่น้อง | มากลางห้องหิมเวศเขตยักษา |
จนรุ่งรางสร่างแสงพระสุริยา | ค่อยร่อนราลอยเลื่อนตามลมบน |
ประเดี๋ยวใจได้ยินเสียงสนั่น | พิลึกลั่นดังพายุพยับฝน |
พสุธาอากาศก็มัวมน | สุริยนเมฆกลุ้มชอุ่มบัง |
ทั้งพี่น้องสองเหลียวตะลึงหา | เห็นยักษาเหาะคว้างมาข้างหลัง |
ทั้งสองนกอกเพียงจะโทรมพัง | ไม่รอรั้งรีบรุดจนสุดแรง |
เห็นยักษามาใกล้ก็ร่ายเวท | แสนวิเศษสุริย์ฉายก็หายแสง |
เป็นห่าฝนอนธการขึ้นกลางแปลง | เข้าเคียงแข่งโบยบินตะบึงมา |
ฝ่ายขุนยักษ์ศักดาวราฤทธิ์ | ครั้นมืดมิดมิได้เห็นโอรสา |
ก็รู้ว่าลูกรักทำศักดา | อ่านมหาเวทมนตร์ที่สอนไว้ |
พระยามารอ่านมนตร์สำหรับแก้ | ก็ปรวนแปรเสื่อมสร่างสว่างไสว |
เห็นสองบุตรสุดสวาทคลาดออกไป | ยิ่งโลดไล่โดยด่วนจวนจะทัน |
พอสิ้นแคว้นแดนเขตประเทศถิ่น | ที่พระอินทร์อานุภาพเธอสาปสรร |
สิ้นกำลังทั้งนกทั้งกุมภัณฑ์ | แต่ยักษ์นั้นพลัดตกจากคีรี |
ทั้งสองนกพลัดตกจากเขาใหญ่ | ทางใกล้ไกลพอเห็นพักตร์กับยักษี |
ทั้งสองข้างต่างสิ้นสมประดี | ทั้งจะหนีก็ไม่ได้ไล่ไม่ทัน |
พญายักษ์กวักหัตถ์ตรัสประภาษ | สุดสวาทของพ่อจะผายผัน |
พ่อจะตายวายชีพสิ้นชีวัน | เจ้าพากันลงมาหาบิดร |
เขตของพ่อสิ้นอยู่เพียงภูเขา | สุดจะขืนตามเจ้าบนสิงขร |
พระลูกรักสองราจงอาวรณ์ | อย่าเพ่อให้บิดรนี้จำตาย |
เจ้านกแปลงแจ้งประจักษ์ว่ายักษา | ขึ้นภูผาไม่ได้ดังใจหมาย |
ที่ความกลัวกุมภัณฑ์นั้นค่อยคลาย | ดำรงกายกินนํ้ามวกศิลา |
กลับเป็นมนุษย์นั่งอยู่ทั้งสอง | แล้วพี่น้องก้มกราบท้าวยักษา |
ค่อยอยู่เถิดทรงฤทธิ์พระบิดา | ลูกขอลาบทมาลย์ไปบ้านเมือง |
เชิญพระองค์จงคืนไปครองถํ้า | อย่าครวญครํ่าทุกข์ตรอมให้ผอมเหลือง |
แม้นไม่มีห่วงใยมิให้เคือง | จะรองเบื้องบาทยุคลอยู่จนตาย |
นี่รำลึกนึกไปถึงแม่พ่อ | ทั้งพงศ์เผ่าเหล่ากอสิ้นทั้งหลาย |
ด้วยมิได้รู้เห็นว่าเป็นตาย | รำลึกถึงจึงถวายบังคมลา |
ถ้าแม้นไปได้พบกันสิ้นแล้ว | ตัวลูกแก้วจึงจะกลับออกมาหา |
อย่าโศกศัลย์กันแสงเสียนํ้าตา | พระบิดาจงเสด็จไปถํ้าทอง |
อสุรินทร์ยินคำที่รํ่าตอบ | จึงตรัสปลอบโลมเล้าเจ้าทั้งสอง |
ซึ่งแก้วตาอาลัยถึงพี่น้อง | ก็ควรของเจ้าแล้วไม่ห้ามเลย |
ถึงจะอยู่จะไปก็ไม่ว่า | กลับมาหาพ่อก่อนเถิดลูกเอย |
พอชื่นจิตบิดาได้ชมเชย | อย่ากลัวเกรงพ่อเลยนะแก้วตา |
สองกุมารสงสารพญายักษ์ | เห็นเรียกนักนึกจะใคร่ลงไปหา |
แล้วกลับกลัวตัวสั่นหวั่นวิญญาณ์ | ชุลีกรวอนว่าด้วยอาลัย |
ลูกทำผิดคิดหนีทั้งพี่น้อง | ควรจะต้องโทษหนักถึงตักษัย |
ให้หวาดหวั่นพรั่นตัวด้วยกลัวภัย | สุดจะไปใกล้ชิดพระบิดร |
แม้นโปรดเกล้าเจ้าประคุณจงคืนหลัง | ไปอยู่ยังถํ้าทองห้องสิงขร |
จะเห็นว่าพระโปรดยกโทษกรณ์ | ไปนครแล้วก็คงจะคืนมา ฯ |
๏ ท้าวกุมภัณฑ์ครั้นเห็นไม่กลับหลัง | จึงร้องสั่งลูกน้อยเสน่หา |
พ่อก็อ้อนวอนปลอบเป็นหลายครา | ทั้งพี่น้องสองราไม่เชื่อใจ |
เป็นเหตุเพราะเคราะห์กรรมของพ่อแล้ว | จะคลาดแคล้วลูกรักถึงตักษัย |
สะอื้นพลางทางสะท้อนถอนฤทัย | ชลนัยน์ซึมซาบลงอาบพักตร์ |
แต่ซบเสือกเกลือกกลับกระสับกระส่าย | ไม่เหือดหายหวงห่วงให้หน่วงหนัก |
สิ้นกุศลผลกรรมมานำชัก | พญายักษ์ขาดใจบรรลัยลาญ ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อบดีกับพี่เลี้ยง | เห็นสิ้นเสียงยักษาน่าสงสาร |
ไม่ไหวติงนิ่งแน่ไปช้านาน | สองกุมารหวั่นหวาดประหลาดใจ |
จึงพากันจรจรัลลงจากเขา | ต่างวิ่งเข้าเคียงประคองแล้วร้องไห้ |
รํ่าร้องเรียกอสุราด้วยอาลัย | โอ้เป็นไรบิดาไม่พาที |
หรือเคืองขัดตัดขาดประหลาดแล้ว | ครรไลละลูกแก้วไปเมืองผี |
ไม่หมายเลยว่าจะเป็นถึงเช่นนี้ | เมื่อตะกี้คิดว่าบิดาลวง |
มิรู้ว่าปิ่นเกล้าเจ้าประคุณ | มาสิ้นบุญเสียที่เหลี่ยมภูเขาหลวง |
เคยโอบอ้อมอุ้มแอบไว้แนบทรวง | รักดังดวงชีวาไม่อาธรรม์ |
ลูกจะเล่นสิ่งไรก็ไม่ห้าม | มีแต่ตามใจสิ้นทุกสิ่งสรรพ์ |
ถึงผิดพลั้งสั่งสอนสารพัน | ไม่ตีรันด่าว่าด้วยปรานี |
คิดขึ้นมาน่าแค้นพี่พราหมณ์นัก | บอกว่าพ่อเป็นยักษ์ให้ลอบหนี |
จนบิดามาตามถึงคีรี | เหมือนลูกนี้ทำกรรมให้จำตาย |
โอ้พระคุณทูนเกศของลูกแก้ว | จะลับแล้วเช้าเย็นไม่เห็นหาย |
สะอื้นพลางทางทอดระทวยกาย | พระหัตถ์พ่ายชลนาโศกาลัย |
พราหมณ์พี่เลี้ยงเคียงปลอบพระหน่อนาถ | สุดสวาทพี่ยาอย่าร้องไห้ |
เพราะถึงกรรมกุมภัณฑ์จึงบรรลัย | เรามิได้แกล้งฆ่าพระยามาร |
จงเผาศพทรงฤทธิ์พระบิตุเรศ | อย่าให้เวทนาไว้ในไพรสาณฑ์ |
จะโศกีพี่เห็นไม่เป็นการ | คิดประหารห้ามรักหักฤทัย |
พระสิงหไกรภพซบสะอื้น | ค่อยกลั้นกลืนเช็ดชลนาไหล |
แล้วไถ่ถามตามซึ่งสงสัยใจ | เผาอย่างไรจึงจะดีเล่าพี่พราหมณ์ |
พี่เลี้ยงว่าแรงเรายังเยาว์นัก | อันศพยักษ์ใหญ่เหลือจะหาบหาม |
เอาฟืนสุมใส่เพลิงละเลิงลาม | ให้เพลิงพลามเผาสิ้นทั้งอินทรีย์ |
แล้วชวนกันดั้นเดินริมเนินผา | เที่ยวหักหากิ่งไม้ในไพรศรี |
มาสุมศพทบทับลำดับดี | จุดอัคคีเพลิงคบคนละคัน |
แล้วเลือกเด็ดดอกดวงพวงบุปผา | ปีบจำปาสุกรมนมสวรรค์ |
บูชาศพซบเศียรอภิวันท์ | พลางรำพันขอสมาพญายักษ์ |
ถนอมเลี้ยงลูกยาไม่อาวรณ์ | ค่อยชูช้อนต้องถือมือไม่หนัก |
ลูกทุบตีขี่คอด้วยความรัก | แต่อ่อนศักดิ์มาจนพ่อมรณา |
ซึ่งผิดพลั้งครั้งนี้จงได้โปรด | ประทานโทษลูกน้อยเสน่หา |
อย่าผูกผิดคิดแค้นเคืองวิญญาณ์ | จะเป็นเวรเวรากับลูกไป |
แล้วกราบศพซบทรงกันแสงสะอื้น | พระเนตรชื้นไปด้วยชลนัยน์ไหล |
แต่รอรั้งยั้งหยุดไม่จุดไฟ | เป็นห่วงใยยักษ์ร้ายที่วายปราณ |
จนโพล้เพล้เวลาจะคํ่าพลบ | ประคองคบจุดเพลิงเถกิงผลาญ |
ควันตลบกลบกลุ้มในดงดาน | ชัชวาลแสงสว่างกลางโพยม |
กะเลวรากซากศพอบระอุ | อัคคีคุลมรื้อกระพือโหม |
พอเที่ยงคืนฟืนสิ้นศพก็โทรม | ทั้งสองโทมนัสนั่งระวังไฟ |
จนเดือนดับลับเงาเขาพระเมรุ | พระสุริเยนทร์แย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล |
พราหมณ์จินดาว่ากับพระหน่อไท | เราประจุธาตุไว้หว่างคีรี |
แม้นมืสุขสืบสายไปภายหน้า | จึงกลับมาเยี่ยมธาตุท้าวยักษี |
พลางชวนน้องก่อกองเป็นเจดีย์ | ประจุธาตุไว้ที่หว่างบรรพต |
แล้วสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมาย | ไม่เหือดหายอาลัยใจสลด |
หน่อกระษัตริย์นมัสการกรประณต | เทพทั้งโสฬสจงเมตตา |
ข้าขอฝากซากศพพนาสูร | ให้เพิ่มพูนสวัสดีที่ภูผา |
แล้วกราบศพกุมภัณฑ์จำนรรจา | ลูกจะลาเลยลับไปนับนาน |
เจ้าประคุณทูลเกล้าจะเปล่าเปลี่ยว | สันโดษเดียวแดนดงน่าสงสาร |
ไหนจะต้องฟ้าฝนทนทรมาน | อยู่ริมชานเชิงผาพนาวัน |
พระคิดไปใจหายไม่วายห่วง | ยิ่งเศร้าทรวงทรงโศกกันแสงศัลย์ |
พราหมณ์ประคองน้องรักร่วมชีวัน | พลางรับขวัญเช็ดชลนานอง |
พ่ออย่ารํ่ากำสรดกันแสงไห้ | จะเจ็บไข้พาตัวนั้นมัวหมอง |
ทางยังไกลไปบ้านเถิดหนอน้อง | ถึงบ้านช่องจะได้เล่นให้เย็นใจ |
แล้วแย้มสรวลชวนชื่นเชิงฉลาด | พาลีลาศเลยเลี้ยวเหลื่อมไศล |
ถึงสุมทุมพุ่มพงพนาลัย | เอาใบไม้ยาดีมีศักดา |
แล้วแบ่งปันกันกินสิ้นทั้งสอง | ทั้งพี่น้องกายกลายเป็นปักษา |
บินละลิ่วปลิวลมขึ้นลอยฟ้า | ค่อยร่อนรารอเรียงมาเคียงกัน |
สุริยงลงลับเหลี่ยมสิงขร | สำนักนอนเนินผาพนาสัณฑ์ |
แต่แรมทางกลางไพรมาหลายวัน | ถึงเขตคันนิคมคามพราหมณ์จินดา |
จึงนำน้องล่องลอยลงเนินเขา | ต่างคนเข้ากินนํ้าในมวกผา |
เป็นมนุษย์ผุดผ่องเพียงทองทา | พราหมณ์จินดาดีใจใครจะปาน |
ออกนำหน้าพาเดินดำเนินนาด | ค่อยลีลาศลัดทางมากลางบ้าน |
ขึ้นเคหาอาศัยแสนสำราญ | ให้กุมารเข้ามายั้งอยู่ข้างใน |
เห็นข้าคนบนตึกมาต้อนรับ | สั่งกำชับชี้แจงแถลงไข |
แม้นน้องเราเขาถามเนื้อความใคร | สูอย่าได้แจ้งอรรถที่สัจจา |
จงบอกว่าข้ากับกุมารนั้น | ได้ร่วมครรภ์ชนนีเสน่หา |
แล้วให้แต่งเอมโอชโภชนา | สามเวลาเลี้ยงดูพระกุมาร |
เกษมสุขทุกข์โศกก็เสื่อมสิ้น | อยู่บ้านถิ่นเป็นสุขสนุกสนาน |
ถนอมหน่อกระษัตราไว้ช้านาน | จนกุมารชันษาสิบห้าปี ฯ |
๏ ขอยกความพราหมณ์ชื่อประสิทธิ์โสม | อยู่เมืองโรมวิสัยบูรีศรี |
ชำนาญในไตรเพททางพิทธี | ถือจารีตโยคีเที่ยวเขจร |
มาถึงย่านบ้านพราหมณ์วิรุณฉาย | เป็นสหายเคยสมัครสโมสร |
จึงตรงขึ้นเคหาด้วยอาวรณ์ | ประทับร้อนนั่งรออยู่หอกลาง |
ร้องเรียกหาว่าพราหมณ์วิรุณฉาย | จนเที่ยงสายแล้วไม่เปิดหน้าต่างบ้าง |
อยู่หรือไปข้างไหนอย่าได้พราง | มาหอกลางนั่งเล่นก็เป็นไร |
พราหมณ์จินดาแลดูก็รู้จัก | ว่าเพื่อนรักของบิดามาปราศรัย |
ออกจากห้องน้องชายก็ตามไป | นั่งลงไหว้พฤฒาแล้วพาที |
ท่านผู้เฒ่าเที่ยวไปข้างไหนหาย | เชิญขึ้นนั่งให้สบายบนเก้าอี้ |
อันบิดาข้าตายเสียหลายปี | ทุกวันนี้เปล่าใจไม่สบาย |
ข้าเห็นท่านปานเห็นบิดาข้า | เคยไปมาเหมือนหนึ่งญาติไม่ขาดสาย |
ครั้งนี้ท่านผู้เฒ่ามาเปล่าดาย | ข้าใจหายให้คิดเหมือนบิดา |
พลางสะท้อนถอนใจอยู่ในอก | นํ้าตาตกพร่างพรายทั้งซ้ายขวา |
ตาพราหมณ์ฟังนั่งคิดอนิจจา | แล้วว่าข้ามิได้รู้ถึงหูเลย |
คราวโน้นมาว่าเมียนั้นมอดม้วย | เดี๋ยวนี้ตัวตายด้วยเจียวอกเอ๋ย |
เราพลอยโศกเสียใจไม่เสบย | บุญไม่เคยเผากันเมื่อวันตาย |
ก็พี่น้องพ้องญาติยังอยู่มั่ง | หรือสิ้นทั้งว่านเครือในเชื้อสาย |
นั่นลูกใครน่าดูเป็นผู้ชาย | มิตรสหายหรือว่าญาติกากัน |
พราหมณ์จินดาได้ยินสิ้นสติ | มิได้ปริปากพูดแล้วผินผัน |
กลัวน้องรักจักรู้เรื่องสำคัญ | จึงเสกสรรตอบตามเรื่องความไป |
คนนี้น้องท้องเดียวกันกับข้า | ท่านบิดาลืมชื่อหรือไฉน |
แล้วพูดเชือนเกลื่อนกลบเนื้อความใน | เชิญท่านไปอาบนํ้าให้สำราญ |
ตาพราหมณ์ฟังคำพลางทางหัวร่อ | เราถามพ่อเจ้าแต่ยังไม่สังขาร |
บอกว่ายายวายชีพชนมาน | เห็นแต่ท่านผู้เดียวดังดวงตา |
ว่าน้องรักร่วมครรภ์นั้นเห็นผิด | นี่เนื้อคิดเสแสร้งแกล้งมุสา |
ให้เสียวงศ์พงศ์พราหมณ์จำนรรจา | อันบิดาเจ้าไม่เป็นเหมือนเช่นนี้ |
พูดกันไปไยเล่าไม่เข้าข้อ | เจ้าหลอกล่อลวงเล่นเหมือนเช่นผี |
แล้วลงจากเคหาเดินพาที | ตั้งแต่นี้กูไม่มาแล้วอย่าแคลง |
จินดาพราหมณ์หวามไหวฤทัยหวาด | กลัวหน่อนาถน้องชายจะหน่ายแหนง |
ฉวยพรางไว้ไม่มิดคิดระแวง | จะเสียแรงเสียรักที่ภักดี |
นึกสะท้อนถอนใจอยู่ในหน้า | แล้วลีลาเข้าห้องให้หมองศรี |
ไม่มีสุขทุกข์ทับระทมทวี | ดังอัคคีคนสุมรุมอุรา ฯ |
๏ สงสารหน่อนฤเบศเกศกระษัตริย์ | ฟังรหัสแจ้งจิตคิดกังขา |
เห็นจริงจังดังคำพราหมณ์พฤฒา | ชลนาคลอเนตรสังเวชใจ |
จะถามไถ่ใครดีคราวนี้หนอ | ว่าแม่พ่ออยู่ถึงหนตำบลไหน |
อนาถนึกตรึกตรองหมองฤทัย | ที่ไหนใครเขาจะรู้ในเรื่องความ |
ธรรมดาว่าเสี้ยนสิ่งใดยอก | จะบ่งออกมาได้ก็ด้วยหนาม |
จำจะพูดพาทีกับพี่พราหมณ์ | ให้แจ้งความเท็จจริงที่กริ่งใจ |
จึงเข้าไปในตึกที่เตียงตั้ง | เห็นพราหมณ์นั่งทุกข์ร้อนถอนใจใหญ่ |
เข้าเคียงข้างพลางถามเนื้อความใน | พี่อย่าได้โศกเศร้าไม่เข้าการ |
ข้าตรองตรึกนึกดูก็รู้สิ้น | ด้วยได้ยินพฤฒาท่านว่าขาน |
เสียแรงเลี้ยงน้องมาเป็นช้านาน | ไม่แจ้งการให้ประจักษ์แต่สักคำ |
จึงอื้ออึงถึงหูรู้ถนัด | อย่าควรปัดบอกตามเนื้อความขำ |
แม้นยอกย้อนซ่อนเงื่อนทำเอื้อนอำ | ก็จะจำจืดจางทางอาลัย |
อันบิดามารดาของข้านี้ | อยู่ถิ่นที่นัคเรศประเทศไหน |
แม้นรักน้องเหมือนหนึ่งน้องจงตรองใจ | ช่วยบอกให้แจ้งอรรถแต่สัจจา ฯ |
๏ พราหมณ์จินดาหน้าซีดสลดจิต | ดังชีวิตชีวังจะสังขาร์ |
แม้นบอกความตามจริงจะโกรธา | แสร้งมุสาเกลื่อนกลบประจบความ |
นี่แน่พ่อข้อนี้เป็นจนจิต | มิควรคิดสงสัยมาไถ่ถาม |
ขืนจะเชื่อวาจาอีตาพราหมณ์ | แก่พลุ่มพล่ามพูดพร่ำเที่ยวหยำเป |
ดูฟั่นเฟือนเหมือนบ้าหน้าเป็นหลัง | เอาจริงจังก็ไม่ได้ทำไพล่เผล |
คนพิการบาญชีเขาแทงเท | เจ้าโมโหโว้เว้ทุกสิ่งอัน |
พี่บอกความตามจริงยังกริ่งแหนง | ใช่จะแกล้งเอาเท็จมาเสกสรร |
พ่อแม่ตายไร้ญาติขาดพงศ์พันธุ์ | ได้เห็นกันพี่กับน้องทั้งสองรา ฯ |
๏ พระฟังความพราหมณ์พรางยิ่งหมางหมอง | ให้ขุ่นข้องเคืองขัดสหัสสา |
ไม่เชื่อฟังตั้งต้นหนนั้นมา | ค่อยตรึกตราตรองจิตคิดคะนึง |
ธรรมดาว่าเชื้อกระษัตริย์ชาติ | แหลมฉลาดผู้ใดไม่หยั่งถึง |
ประสมทรัพย์ซ่อนไว้หลายตำลึง | พอวันหนึ่งพราหมณ์พี่มีที่ไป |
จึงเรียกหาข้าคนเข้าในห้อง | ให้เงินทองเสื้อผ้าแล้วปราศรัย |
ท่านทั้งหลายชายหญิงอย่ากริ่งใจ | เราแหนงในกิจจาจึงหารือ |
อันพี่พราหมณ์จินดากับข้านี้ | ร่วมชนกชนนีกันแน่หรือ |
ท่านรู้เห็นเหตุผลแต่ต้นมือ | ช่วยเล่ารื้อเรื่องหลังให้ฟังความ |
คนทั้งหลายชายหญิงได้สิ่งทรัพย์ | น้อมคำนับตอบคำที่ร่ำถาม |
อันนายของข้าพเจ้าเป็นเผ่าพราหมณ์ | ประพฤติตามพระสนมพรหมจรรย์ |
เมื่อคราวครั้งสิ้นบุญคุณผู้ใหญ่ | เธอเที่ยวไปกลางป่าพนาสัณฑ์ |
จำไม่แน่แต่ประมาณก็นานครัน | จึงผายผันพาพ่อลีลามา |
ว่าเป็นน้องเป็นพี่นั้นมิใช่ | เห็นแต่ใจจงรักพ่อนักหนา |
ข้าบอกความตามจริงจงเมตตา | อย่าต่อว่าอื้ออึงคะนึงไป ฯ |
๏ พระโฉมยงองค์สิงหไกรภพ | ได้ฟังจบแจ้งสิ้นไม่สงสัย |
แสนวิโยคโศกเศร้าเสียพระทัย | คิดอาลัยถึงชนกชนนี |
ขับบรรดาข้าคนไปพ้นตึก | คะนึงนึกตรึกตรองให้หมองศรี |
โอ้อาภัพอัปภาคย์พันทวี | มิได้มีพ่อแม่อยู่แต่ตัว |
เมื่อครั้งอยู่คูหาพนาสัณฑ์ | พึ่งกุมภัณฑ์เพียงพ่อบังเกิดหัว |
เพราะพราหมณ์ว่าร้ายกาจขยาดกลัว | คิดว่าพี่ของตัวจึงตามมา |
โอ้มิรู้ผู้อื่นสิ้นทั้งนั้น | ก็หมายมั่นเหมือนญาติวงศา |
แสนสงสารมารดรกับบิดา | มรณาหรือยังอยู่ไม่รู้ความ |
แม้นใครช่วยชี้แจงตำแหน่งให้ | ลูกจะไปตามติดไม่คิดขาม |
น้อยหรือช่างชั่วช้าจินดาพราหมณ์ | จนวอนถามแล้วไม่แจ้งแห่งยุคล |
เช่นนี้อยู่ดูหน้ากันไม่ได้ | จำจะไปเสาะแสวงทุกแห่งหน |
เมื่อพบพานมารดาบิดาตน | ท่านยากจนจะได้ทดแทนพระคุณ |
แม้นนิ่งอยู่ดูเหมือนไม่รักญาติ | ทั้งเสียชาติโฉดเฉาเหมือนเต่าตุ่น |
ลูกผู้ชายตายเป็นก็ตามบุญ | ให้หมกมุ่นหมองหมางระคางใจ |
จึงแต่งองค์ทรงกวดกระหมวดเกศ | เหมือนอย่างเพศพงศ์พราหมณ์ตามวิสัย |
จีบกระโจมโขมพัตถ์พับสไบ | สายธุรำอำไพพิสดาร |
แล้วทรงช้องป้องพักตร์เพชรประดับ | กระจ่างจับแจ่มแสงพระสุริย์ฉาน |
ปักกุณฑลเพชรแพรวแก้วประพาฬ | พระกรกาญจน์สอดใส่กำไลงาม |
ธำมรงค์ทรงสอดนิ้วพระหัตถ์ | เนาวรัตน์พลอยพรายลายอร่าม |
แล้วจุณเจิมเฉลิมพักตร์เป็นเพศพราหมณ์ | พลางคิดความที่จะไปข้างไหนดี |
จึงยกหัตถ์อธิษฐานถึงเทเวศ | พิมานเมศเมืองฟ้าในราศี |
ขอให้ปะพระชนกชนนี | จะบัตรพลีแต่งตั้งเครื่องสังเวย |
แล้วเคี้ยวยากินกายกลายเป็นนก | ก็โผนผกออกทางหน้าต่างเผย |
ค่อยแช่มชื่นด้วยพระพายชายรำเพย | ละลิ่วเลยลอยฟ้าถึงป่าวัน |
เทพเจ้าเข้าดลบันดาลจิต | ให้ไปทิศทักษิณเกษมสันต์ |
จะได้นางล้างผลาญมารฉกรรจ์ | ให้สามัญเป็นสุขทุกตำบล |
พระบินพลางทางทัศนาเนตร | ดูประเทศหล้าแหล่งทุกแห่งหน |
เห็นเกาะใหญ่ในท้องทะเลวน | แลสกลสวนแก้วอุทยาน |
เป็นที่เทพนิกรกินรนาฏ | มาประพาสภูผาพฤกษาสาณฑ์ |
ชื่อเกาะแก้วโมลีที่สำราญ | มีสถานเทวฤทธิ์อิศรา |
เจ้านกน้อยลอยเลื่อนแฉลบร่อน | ชมสิงขรเขียวชอุ่มพุ่มพฤกษา |
ยิ่งพินิจพิศเพลินเจริญตา | ถาบถลาลงจับกับคีรี |
ดูภูมิฐานศาลสรวงสุรารักษ์ | แฝงชะงักเงื้อมเงาคิรีศรี |
ศิลาลานแลสะอ้านสะอาดดี | หอมมาลีกลิ่นกลบตรลบไพร |
สบายใจหายเหนื่อยระเรื่อยรื่น | ด้วยลมชื่นเชิงผาน่าอาศัย |
ขึ้นบนเทวสถานสำราญใจ | วิเวกในวิญญาณ์เอกากาย |
เสียงนกร้องก้องกู่กันกลางป่า | ฟังภาษาสัตว์ไพรแล้วใจหาย |
หวิววาบหิวหาวนอนผ่อนสบาย | จนเคลิ้มกายหลับไปในไพรวัน ฯ |
[๑] สมุดไทยว่า “แม้นไพรีมีมาทำกล้าหาญ”
[๒] สังวัธยาย แปลว่า สวดมนต์ดังๆ ให้จำได้
[๓] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “จึงเร้ารบให้พี่กินพฤกษา”
[๔] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “เจ้าพราหมณ์ไปเก็บเอาใบขาวมา”
[๕] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “มาลี้เร้นอยู่ในเวิ้งเพิงภูเขา”
[๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ มีคำกลอนก่อนเริ่มบรรทัดถัดไปว่า
......................... | “อสุรีรู้ความจะตามทัน |
เราเก็บแต่ใบไม้เอาไว้ก่อน | ต่อยักษ์นอนสบายจึงผายผัน |
ได้ล่วงทางคืนหนึ่งถึงกุมภัณฑ์ | จะตามไปไม่ทันเห็นมั่นคง |
เจ้าพราหมณ์เห็นด้วยกันก็หรรษา | จึงเก็บใบไม้ยาตามประสงค์ |
ทั้งสี่กิ่งกิ่งละห่อภูษาทรง | ต่างผูกพันมั่นคงกับกายา” |
[๗] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ยื่นมะม่วงพวงผลให้ลูกน้อย”
[๘] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “จะร้อนเร่าโรควิบัติให้ขัดขวาง”
[๙] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “พระคุณเอ๋ยตื่นเช้าจะเปล่าแล้ว”
[๑๐] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “เขม้นมาดมิถิลาบูรีศรี”
[๑๑] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “แสนวิเวกอ้างว้างประหวั่นขวัญ”