สมุดไทยเลขที่ ๕ และ ๑๓

ที่ ๑๑๗ ราชสีห์แก่

๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งทรุดโทรมอ่อนไปด้วยอายุมาก อำนาจหมดไปเพราะโรคภัยเบียดเบียน นอนอยู่กับแผ่นดินจะถึงแก่ความตาย สุกรตัวหนึ่งวิ่งเข้าไปขวิตราชสีห์ด้วยเขี้ยวทั้งสองแก้แค้นราชสีห์ที่ได้คุมเหงไว้ช้านาน ภายหลังอีกครู่หนึ่งโคก็เข้าไปขวิดด้วยเขา เพราะเห็นว่าราชสีห์นั้นเป็นศัตรูกัน ครั้นเมื่อลาได้เห็นสัตว์ทั้งปวงทำแก่สัตว์ใหญ่ได้โดยไม่มีความเสียหายอันใดดังนั้น ก็เข้าไปเตะหน้าผากราชสีห์ด้วยกีบเท้าทั้งสอง ราชสีห์ซึ่งจวนจะตายแล้วนั้นก็กล่าวว่า เราจำใจที่ทนเจ็บใจในความดูถูกทั้งปวงซึ่งสัตว์ที่กล้าหาญทำนั้นได้ แต่ต้องมาทนความดูถูกจากเจ้า ซึ่งเป็นสัตว์เสียชาติด้วยดังนี้ เหมือนหนึ่งตายกับตายสองครั้ง ๚ะ๛

กรรมอันเดียวแต่ผู้กระทำต่างกันผลก็ผิดกัน (ฤๅ) กรรมอันใดใช่จะเกิดได้ แต่เพราะการที่ทำอย่างเดียว ย่อมเป็นหนักเบาขึ้นได้ด้วยคุณลักษณะแห่งผู้กระทำนั้นด้วย ๚ะ๛

๑๑๗ การอันเดียวแต่ผู้ กระทำ ต่างนา
ผลก็ผิดโดยคำ ท่านอ้าง
ทำกิจอย่างเดียวนำ ผลหนัก เบาแฮ
ด้วยลักษณคุณบ้าง แห่งผู้พยายาม ๚ะ

พระทิพยวินัย

ที่ ๑๑๘ สุนัขไล่สัตว์ซึ่งแก่แล้ว

๏ สุนัขไล่สัตว์ตัวหนึ่งเวลายังหนุ่มแลยังมีกำลังอยู่นั้น มิได้เคยยอมสัตว์ป่าตัวใดตัวหนึ่งเลย ครั้นเมื่อไปไล่สุกรในเวลาที่แก่แล้ว สุนัขนั้นตรงเข้าคาบหูสุกรโดยกล้าหาญ แต่คาบไว้ไม่อยู่เพราะฟันทั้งปวงชำรุดเสีย สุกรก็หนีไปได้ ฝ่ายเจ้าของตามขึ้นมาโดยเร็ว เห็นดังนั้นก็ไม่เป็นที่ชอบใจมาก จึงได้ดุสุนัขนั้นด้วยความโกรธ สุนัขนั้นแหงนดูหน้าแล้วว่า ทั้งนี้มิใช่ความผิดของข้าพเจ้าเลยนาย ใจข้าพเจ้ายังแข็งแรงดีอยู่เหมือนแต่ก่อน เว้นแต่จะห้ามพยาธิไม่ได้ การซึ่งข้าพเจ้าทำนี้เห็นว่าควรจะสรรเสริญมากกว่าที่จะโกรธว่าข้าพเจ้าเป็นดังนี้ ๚ะ๛

ความผิดไม่ควรจะว่าเป็นผิดเพราะที่การเสียอย่างเดียว ควรจะต้องพิจารณาก่อน ว่าผู้ทำผิดมีช่องที่จะทำไม่ให้การนั้นผิดได้ฤๅไม่ได้ ๚ะ๛

๑๑๘ ความผิดใช่ผิดด้วย การเสีย เดียวเฮย
ควรจะคิดผู้เยีย หนึ่งครั้ง
ผิดแกล้งฤๅเพราะเพลีย เร่งรักษ์ การฤๅ
ผิวผิดเพราะจิตรตั้ง ดั่งนั้นทัณฑ์ควร ๚ะ

กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ที่ ๑๑๙ ตัวผึ้งกับยุปิกเตอร์

๏ ผึ้งตัวหนึ่งมาจากเขาฮิมเมตตัส เป็นนางพระยาในโพรงผึ้ง ขึ้นไปยังเขาโวลิมปัส (เป็นเขาที่พระยะโฮวานั่ง) เพื่อจะถวายน้ำผึ้งใหม่ที่เอามาจากรวงทั้งปวงแก่ยุปิกเตอร์ ๆ ดีพระทัยที่ถวายน้ำผึ้งนั้นจึ่งสัญญาว่าจะขออันใดจะให้ตามความปรารถนา เพราะฉะนั้นนางผึ้งจึงขอต่อยุปิกเตอร์ว่า ข้าพเจ้าจะขอต่อพระองค์ให้ประทานเหล็กใน เพื่อว่าตัวคนทั้งหลายจะเข้าไปเอาน้ำผึ้งของข้าพเจ้า ๆ จะได้ฆ่ามันเสีย ยุปิกเตอร์ไม่โปรดมาก เพราะยุปิกเตอร์โปรดชาติมนุษย์นั้นมาก แต่ครั้นจะไม่ให้ตามที่ขอ ก็ขัดอยู่ด้วยได้สัญญาไว้ เพราะฉะนั้นจึ่งตอบผึ้งว่า เจ้าจะได้ตามที่เจ้าขอ แต่จะเป็นเหตุให้อันตรายถึงชีวิตเจ้าเองด้วย เพราะถ้าเจ้าใช้เหล็กในของเจ้า เหล็กในนั้นจะติดอยู่กับแผลที่เจ้าต่อยเมื่อนั้นเจ้าจะต้องตาย เพราะเหตุที่เสียเหล็กในไปนั้น ๚ะ๛

ความปรารถนาชั่วร้ายเหมือนกับลูกไก่ทั้งปวง คงจะกลับมาจับที่ ๆ เคยจับของตัว ๚ะ๛

๑๑๙ ความประสงค์สิ่งร้ายทั่ว ทุกลบอง
คงจะลงยังคลอง ที่ร้าย
เฉกกุกกุฏปอง จับที่ เคยนา
ฤๅจักคลาศที่คล้าย กับเค้าคนประสงค์ ๚ะ

พระศรีสุนทรโวหาร

ที่ ๑๒๐ เจ้าของสุนัขกับสุนัขทั้งปวง

๏ ยังมีชายผู้หนึ่งต่อไปติดค้างอยู่ที่เรือนบ้านนอกของตัว เพราะมีพยุลูกเห็บตก แรกทีเดียวนั้นก็ฆ่าแกะทั้งปวงของตัว แล้วก็ฆ่าแพะทั้งปวง เพื่อจะได้ใช้ในการกินอยู่ในเรือน พยุนั้นยังมีอยู่ต่อไปมิได้หยุด จึ่งเป็นการจำเป็นที่จะให้ชายผู้นั้นต้องฆ่าโคคู่เอกของตัวเป็นอาหาร ครั้นเมื่อสุนัขทั้งปวงเห็นดังนี้ จึงปรึกษากันแลกันว่า เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่เราทั้งหลายจะต้องไปแล้ว เพราะถ้านายมิได้ไว้ชีวิตโคซึ่งได้ทำการให้เขาได้ประโยชน์แล้ว เพราะจะหวังใจต่อเขาอย่างไรเล่า ว่าจะไว้ชีวิตเราทั้งหลาย ๚ะ๛

ถ้าผู้ใดทำไม่ดีต่อญาติแลวงศ์ตระกูลของตัวแล้ว ผู้นั้นมิควรที่จะเชื่อถือว่าเป็นมิตร ๚ะ๛

๑๒๐ ผู้ประทุษฐ์ร้ายต่อ ญาติวงศ์ ตนนา
เป็นเหตุเห็นใจคง คดแท้
บ ควรเชื่อถือปลง จิตว่า มิตรเฮย
ใครใฝ่ฝืนคบแพ้ พ่ายพ้องภัยตัว ๚ะ

พระศรีสุนทรโวหาร

ที่ ๑๒๑ สุนัขป่ากับคนเลี้ยงแกะทั้งปวง

๏ สุนัขป่าตัวหนึ่งเดินผ่านไป เห็นคนเลี้ยงแกะหลายคนอยู่ในโรงกินขาแกะเป็นอาหารเวลาเย็น สุนัขป่าก็เข้าไปแล้วกล่าวว่า ถ้าเราทำเหมือนอย่างท่านทำอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านจะอื้ออึงกันสักเท่าใด

ความผิดที่ตัวทำไม่อยากถือว่าเป็นผิด แต่ถ้าเห็นผู้อื่นทำก็อยากช่วยให้ผิดนั้นเรี่ยวแรงขึ้น ๚ะ๛

๑๒๑ ตนผิดปิดโทษส้อน สูญหาย
ถวิลว่าดีโดยหมาย หมกไว้
ผิดผู้อื่นคิดขยาย ยกแผ่ เผยแฮ
หนุนเพิ่มเสริมส่งให้ เหตุร้ายแรงทวี ๚ะ

ขุนท่องสื่อ

ที่ ๑๒๒ คนทั้งปวงที่ไปเที่ยวตามชายทะเล

๏ คนหลายคนด้วยกันไปเที่ยวตามริมฝั่งทะเล ไต่ขึ้นไปบนยอดเขาสูงซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งติดกับน้ำ ยืนอยู่บนนั้นแลออกไปตามทะเลแลเห็นแต่ไกล คิดพร้อมกันว่าเห็นจะเป็นเรือกำปั่นใหญ่ แล้วคอยด้วยความหวังใจว่าจะได้เห็นเรือลำนั้นเข้ามาในท่า แต่ครั้นเมื่อลมพัดสิ่งที่เห็นนั้นเข้ามาใกล้ฝั่งเข้ามาอีก เขาทั้งปวงเห็นว่าถ้าจะเป็นเรือก็เห็นจะเป็นเรือเล็กทีเดียวมิใช่กำปั่น ครั้นเมื่อสิ่งนั้นมาถึงฝั่ง เขาทั้งปวงซึ่งได้ทราบว่าเป็นกำไม้เล็กเป็นมัดใหญ่ ในพวกนั้นคนหนึ่งจิ่งได้ว่ากับเพื่อนทั้งปวง ว่าเราทั้งหลายคอยเปล่า ๆ ไม่มีอะไรเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่มีอะไรจะดูที่สุดก็มีแต่ไม้มัดหนึ่งเท่านั้น

เพียงแต่ความคิดสมบัติบ้าของเราทั้งหลายในชีวิตของเรา มักจะมากเกินที่เป็นจริง ๚ะ๛

๑๒๒ เพียงคิดสมบัติบ้า มัดหมาย
ชีวิตรของพลันวาย วอดนี้
เห็นเกินกว่าจริงกลาย เป็นยืด ยาวนา
ความประมาทชักลี้ ลับเคลิ้มคลุมหลง ๚ะ

พระศรีสุนทรโวหาร

ที่ ๑๒๓ ช่างทองเหลืองกับลาของเขา

๏ ช่างบุคนหนึ่งมีสุนัขเล็กตัวหนึ่ง เป็นที่รักแห่งเจ้าของมากติดอยู่เป็นเพื่อนนายเสมอมิได้ขาด ครั้นเมื่อเจ้าของกำลังตีทองเหลืองอยู่ สุนัขนั้นนอนหลับ แต่ครั้นเวลาอื่นคือช่างบุไปกินข้าว พอลงมือกินแล้วสุนัขก็ตื่นขึ้น กระดิกทางเหมือนกับจะขออาหารเป็นส่วนตัวบ้าง วันหนึ่งเจ้าของแกล้งทำโกรธเอาไม้แกว่งเหมือนกับจะตีสุนัข แล้วกล่าวว่าอ้ายชาติไม่มีสุขอ้ายขี้เกียจขี้เซาเล็ก ๆ จะให้ข้าทำอย่างไรแก่เจ้าฤๅ เมื่อกำลังข้าตีค้อนอยู่กับทั่งเจ้านอนบนเสื่อ ครั้นเมื่อจะกินข้าวเมื่องานของข้าเสร็จแล้วเจ้าตื่นมากระดิกหางขออาหาร เจ้าไม่รู้ว่าการงานที่ทำนั้นเป็นเหตุที่จะทำให้มีความสุขทุกอย่าง ไม่มีผู้อื่นยกไว้แต่ที่ได้ทำงานซึ่งสมควรที่จะกินได้ ๚ะ๛

เพื่อนทำงานหายาก เป็นแต่เพื่อนกินหาง่าย ๚ะ๛

๑๒๓ หาเพื่อนผู้ร่วมร้อน ฤๅสบ
มีแต่เพื่อนพลอยประจบ เจอะซ้อง
เพื่อนงานห่อนพานพบ ผินเปล่า ทรวงนา
ชุมแต่เพื่อนพูดขล้อง๑๐ เคร่าตั้งตอมกิน ๚ะ

ขุนท่องสื่อ

ที่ ๑๒๔ ลากับเงา

๏ คนเดินทางผู้หนึ่งเช่าลาขี่ไปทางไกล วันนั้นเป็นวันร้อนยิ่งนัก พระอาทิตย์ส่องแสงมีกำลังกล้า คนเดินทางนันหยุดพักเข้าอาศัยร่มบังความร้อนในเงาของลา แต่เงานั้นบังได้เฉพาะแต่คนเดียว คนเดินทางกับเจ้าของลาก็ต่างคนต่างชิงกัน จนเกิดทะเลาะเถียงกันขึ้นว่าผู้ใดควรจะได้เงานั้น เจ้าของลายืนยันว่าเราให้เช่าแต่ตัวลาเท่านั้นมิได้ให้เช่าเงาด้วย คนเดินทางนั้นก็ว่าโดยแข็งแรง ว่าได้เช่าลาแล้วก็เช่าเงาด้วย ความที่ทะเลาะวิวาทกันนั้น เริ่มขึ้นด้วยถ้อยคำเถียงกันภายหลังถึงต่อยกัน ในเมื่อคนต่อคนกำลังต่อสู้กันอยู่ ลานั้นก็ออกห้อไป

ในการวิวาทกันด้วยเงา มักจะต้องเสียสิ่งซึ่งเป็นของจริงบ่อย ๆ ๚ะ๛

๑๒๔ สาเหตุวิวาทด้วย ชิงเงา กันนอ
เงาใช่ของควรเนา นิตรได้
โทษาคติเมา มัวหมด สติแฮ
เป็นเหตุกระทำให้ สิ่งแท้พลอยสลาย ฯ

พระศรีสุนทรโวหาร๑๑

ที่ ๑๒๕ ลากับเจ้าของทั้งปวง

๏ ลาตัวหนึ่งเป็นของคนขายผัก เจ้าของให้กินอาหารน้อยนัก แต่ให้ทำงานมากเหลือเกิน ลานั้นไปร้องต่อยุปิกเตอร์ให้โปรดให้พ้นจากการที่ทำอยู่ในเดี๋ยวนั้น แลขอให้มีนายคนอื่นใหม่ ยุปิกเตอร์เมื่อชี้แจงให้ฟังว่าจะต้องเสียในการที่ขอ ลาไม่ฟังแล้วจึ่งบังคับให้ขายไปแก่ช่างที่ทำกระเบื้อง ภายหลังไม่นานนักลาก็รู้สึกตัวว่าต้องบรรทุกหนักกว่าแต่ก่อน แลต้องทำการในที่ทำอิฐหนักขึ้นจึ่งได้ร้องขอเปลี่ยนนายใหม่อีก ยุปิกเตอร์ก็บอกกับลาว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สุดที่จะยอมอนุญาตให้ตามขอ แล้วจึ่งบังคับให้ขายลาให้แก่ช่างหนัง ลานั้นก็เห็นว่าต้องตกอยู่ในมืออันร้ายนัก แลได้เห็นการที่นายทำก็ครางว่า ถ้าเราจะต้องอดอาหารเพราะนายคนหนึ่งฤๅจะต้องทำการหนัก เพราะนายคนหนึ่งเหลือเกิน ก็ยังเห็นว่าอยู่กับนายเก่าทั้งนั้นดีกว่า ที่จะให้เจ้าของใหม่เดี๋ยวนี้ไปซื้อมา นายคนนี้ถึงโดยเราจะตายก็คงทำหนังเราให้เป็นประโยชน์กับตัวเขาอีก

ความไม่รู้พอแลไม่อดทนแก่ความทุกข์ เสือกสนดิ้นรนไปนั้นเป็นเหตุให้ได้ความทุกข์หนักขึ้น

๑๒๕ ผู้ใดใจเร่าร้อน รักสุข
บ่ มิเพียรทนทุกข์ ที่ช้า
ตะเกียกตะกายบุก บักร่าย เร่เฮย
จักสบเทวศทวีกล้า กราบสิ้นอวสาน ฯ

ขุนท่องสื่อ

ที่ ๑๒๖ ราชสีห์ในรั้วไร่

๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งเข้าไปในไร่แห่งหนึ่ง ชาวไร่จะใคร่จับตัวเอาไว้ก็ปิดประตูเสีย เมื่อราชสีห์เห็นประตูปิดดังนั้นมิอาจที่จะหนีพ้นได้ ก็โดดเข้าไปในที่ฝูงแกะ ฆ่าแกะทั้งปวงเสียแล้วก็ไปตีฝูงโค ชาวไร่บังเกิดความกลัวขึ้นจึงเปิดประตูเสีย เพื่อจะให้พ้นอันตราย เมื่อนั้นราชสีหก็รีบไปโดยเร็วเต็มที่จะไปได้ ครั้นเมื่อราชสีห์ไปพ้นแล้ว ชาวไร่ก็มีความเศร้าโศกทุกข์ร้อนด้วยความยับเยินแห่งฝูงแกะฝูงโค เมื่อนั้นภรรยาชาวไร่ซึ่งได้อยู่ที่นั้น แลเห็นการที่เป็นทุกอย่าง จึงได้ว่าอันที่จริงนั้นเป็นการสาใจเจ้าทีเดียว ทำไมเจ้าจึงคิดขังราชสีห์ไว้กับเจ้าในรั้วไร่ถึงแม้นแต่ว่าครู่เดียว เพราะเจ้าก็รู้อยู่แล้วว่าแต่เพียงเจ้าได้ยินเสียงแผดแห่งราชสีห์ในที่ไกลทีเดียว เจ้าก็จะสั่นสะท้านอยู่ในรองเท้าของเจ้าแล้ว ๚ะ๛

คิดทำอันตรายแก่ผู้เกินกำลังตนจะทนก็จะได้ความอันตรายเองก่อน (ถ่มน้ำลายรดฟ้า) ๚ะ๛

๑๒๖ คิดร้ายหมายมุ่งสู้ สูงศักดิ์
เกินกว่ากำลังมัก เร่าร้อน
ขืนทนก็ตนจัก เจอเหตุ ร้ายแฮ
หงายถ่มเขฬะย้อน หยาดต้องตนเอง ๚ะ

ขุนท่องสื่อ

ที่ ๑๒๗ เมอรควิรี๑๒กับช่างแกะรูปภาพ

๏ ครั้งหนึ่งเมอควิรี (พระพุธ) อยากจะทราบว่าตัวจะเป็นที่นับถือแห่งพวกมนุษย์ทั้งปวงอย่างไรบ้าง เพราะเหตุฉะนี้จึงได้ถือเพศเป็นมนุษย์ชาย มาเยี่ยมโรงช่างแกะรูปโดยเพศที่แปลงมานั้น ครั้นเมื่อดูรูปที่แกะต่าง ๆ ทั่วแล้ว จึ่งถามราคารูปยูปิเตอร์กับรูปยูโน๑๓เป็นมเหสียูปิเตอราชินีเมืองฟ้า ครั้นเมื่อช่างแกะบอกราคาแล้ว เมอรควิรีจึงได้ชี้ที่รูปของตัวแล้วว่าแก่ช่างแกะว่าท่านคงจะต้องการราคารูปนี้มากขึ้นอีก เพราะว่าเป็นรูปนักการของเทพยดาทั้งปวง แลเป็นเจ้าของผู้ที่ให้เจ้าเป็นประโยชน์ ช่างแกะนั้นตอบว่าเอาเถิด ถ้าท่านจะซื้อทั้งสองที่ว่าก่อนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะตีรูปนี้แถมให้ในราคาที่ว่าเดิมนั้น ๚ะ๛

สิ่งที่ปรารถนาจะให้ดีให้ยิ่งมักจะกลับพลาดไม่สมปรารถนา เพราะการที่คิดช่วยเกินไป ๚ะ๛

๑๒๗ ปรารถนาสรรพลาภทั้ง บรรดา ศักดิ์เอย
เกินแก่ตนแส่หา เหตุเกื้อ
ความชั่วจักนำพา เสื่อมสวัสดิ์ ไปแฮ
เพราะไป่คิดเอื้อเฟื้อ ฝ่าด้วยโมหันต์ ๚ะ

ขุนภักดีอาษา๑๔

  1. ๑. นามกวีใช้ตามหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๓ ในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ ไม่ระบุนามผู้ประพันธ์

  2. ๒. นามกวีใช้ตามหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๓ ในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ ไม่ระบุนามผู้ประพันธ์

  3. ๓. คือ จูปิเตอร์

  4. ๔. คือ เขาไฮเมตตัส Hymettus

  5. ๕. คือ เขาโอลิมปัส

  6. ๖. กุกกุฏ แปลว่าไก่ ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยใช้ กุนกุฎ

  7. ๗. นามกวีใช้ตามหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๓ ในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ ไม่ระบุนามผู้ประพันธ์โคลง และในสมุดไทยเลขที่ ๑๓ มีโคลง ๒ บทโดยมีโคลงหน้าบทนี้อีก ๑ บทว่า

    ๏ ปรารถนาชั่วร้ายทุก สิ่งสรรพ
    คงจะลงลอยกัน ทุกทั่ว
    เฉกลูกไก่ บ ผัน ผิดที่ จับนา
    แถวจิตรปราชญหากรู้ จึ่งอ้างออกแถลง ฯ
  8. ๘. นามกวีใช้ตามหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๑๓ ในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ ไม่ระบุนามผู้ประพันธ์

  9. ๙. ส้อน คือ ซ่อน เป็นคำโทโทษ

  10. ๑๐. ขล้อง คือ คล่อง เป็นคำโทโทษ

  11. ๑๑. ในหนังสือสมุดไทย เดิมลงนามกวีไว้ว่า พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์

  12. ๑๒. คือ เมอร์คิวรี่

  13. ๑๓. เทพีจูโน (Juno) เทพีในตำนานเทพปกรณัมโรมันที่เทียบเท่ากับเทพีเฮราในตำนานเทพปกรณัมกรีก เป็นทั้งเป็นน้องสาวและชายาของเทพจูปิเตอร์

  14. ๑๔. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ และ ๑๓ เริ่มหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๔ เรื่องนิทานอิศปกรณัม เล่ม ๖ นิทานเรื่องที่ ๑๒๘ - ๑๓๐ ไม่มีต้นฉบับ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ