สมุดไทยเลขที่ ๑๗

ที่ ๒๔๓ ลมเหนือกับพระอาทิตย์

๏ ลมเหนือกับพระอาทิตย์เถียงกันว่าผู้ใดจะมีอำนาจมากกว่ากัน จึงตกลงกันว่าถ้าผู้ใดเปลื้องผ้าของคนเดินทางออกได้ก่อน ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะ ฝ่ายลมเหนือเป็นผู้ลองอำนาจก่อน พัดมาโดยเต็มกำลังแต่เมื่อหนาวพัดมาหนัก คนเดินทางก็ยิ่งห่มผ้าติดตัวหนักขึ้น จนภายหลังลมละความหวังใจที่จะเอาชนะ เรียกพระอาทิตย์มาจะดูว่าจะทำอย่างไร พระอาทิตย์ก็แผดแสงเต็มความร้อนในขณะนั้นทันที คนเดินทางพอรู้สึกสบายด้วยแสงพระอาทิตย์ ก็เปลื้องผ้าออกเสียทีละสิ่งละสิ่ง จนถึงที่สุดร้อนเหลือก็เปลื้องผ้าลงอาบน้ำในลำน้ำที่อยู่ตามหนทางไป ๚ะ๛

เอาชนะด้วยอ่อนโยนดีกว่าหักด้วยกำลัง ๚ะ๛

ที่ ๒๔๔ กำกับเมอรคิวรี่

๏ กาตัวหนึ่งต้องติดอยู่ในข่าย อ้อนวอนต่ออัปโปโลขอให้ช่วยปล่อยให้พ้น บนว่าจะเอากำยานไปถวายที่วัด ครั้นเมื่อรอดจากอันตรายก็ลืมคำสัญญาเสีย ภายหลังหน่อยหนึ่งต้องตกอยู่ในข่ายเป็นครั้งที่สองก็ละอัปโปโลเสีย ไปสัญญาอย่างเดียวกัน จะถวายกำยานแก่เมอรคิวรี่ ครั้นเมื่อเมอรคิวรี่ออกมาให้เห็น กล่าวกับกาว่า มึงเป็นชาติต่ำ ข้าจะเชื่อเจ้าอย่างไร เจ้าได้ทิ้งละแลได้ทำผิดต่อท่านผู้มีคุณแก่เจ้ามาแต่ก่อนทีหนึ่งแล้วดังนี้ ๚ะ๛

ความชั่วแม้ได้ทำแต่ในแห่งเดียวครั้งเดียว ก็อาจให้โทษทั่วไปทุกแห่งทุกกาล ๚ะ๛

ที่ ๒๔๕ สุนัขจิ้งจอกกับนกกระเรียน

๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเชิญนกกระเรียนมากินอาหาร มิได้เตรียมสิ่งใดไว้เลี้ยง มีแต่สุบทำด้วยข้าวเทลงในจานศิลาแบนกว้าง นกกระเรียนกินทีไรซุปก็ไหลออกมาตามปากยาวทุกครั้ง ความเคืองรำคาญของนกกระเรียนที่กินไม่ได้เป็นเหตุให้สุนัขจิ้งจอกสนุกอย่างยิ่ง ครั้นเมื่อถึงคราวนกกระเรียนเชิญไปกินข้าวด้วยกับตัว ก็ยกเอาขวดปากแคบคอยาวมาตั้งตรงหน้า ขวดนั้นนกกระเรียนสอดปากลงไปได้โดยง่าย ก็กินของในขวดตามสบาย ส่วนสุนัขจิ้งจอกมิอาจแต่เพียงจะรู้รสได้ ต้องถูกการตอบแทนตามแบบที่ตัวได้ทำเอง ๚ะ๛

การที่สงเคราะห์ฤๅทำคุณแต่โดยอาการกิริยานั้น ไม่ใช่การทำคุณเลย นัยหนึ่งว่า การไม่ดีอย่างไรที่ตนทำต่อผู้อื่นนั้น เป็นเครื่องอุดหนุนให้อันตรายอย่างนั้นอันนั้นมาถึงตัว ๚ะ๛

ที่ ๒๔๖ สุนัขป่ากับราชสีห์

๏ สุนัขป่าเที่ยวเดินเล่นตามข้างภูเขาแห่งหนึ่งเป็นเวลาพระอาทิตย์ยอแสง แลเห็นเงาของตัวเองกว้างแลฉายโตขึ้นจึงว่าแก่ตัวเองว่า ทำไมเราเป็นผู้มีรูปใหญ่หลวงกว้างเกือบจะเต็มที่สามเส้น จะต้องกลัวแก่ราชสีห์ฤๅ เราจะนับว่าเป็นขัตติยราชแห่งสัตว์ทั้งปวงไม่ได้ฤๅ ในเมื่อขณะกำลังเอิบอาบด้วยความคิดเย่อหยิ่งนั้น ราชสีห์มาจับฆ่าเสีย เมื่อช้าเกินไปเสียแล้วจึงรู้ตัวว่าตัวผิด ร้องว่ากรรมของเราที่เราประมาณตัวเกินไปนี้ เป็นเหตุให้เราถึงความพินาศ ๚ะ๛

ความสำคัญตนผิดนั้น เป็นอันตรายแห่งตัวแท้จริง ๚ะ๛

ที่ ๒๔๗ นกทั้งปวงกับสัตว์จตุบาททั้งปวงกับค้างคาว

๏ นกทั้งปวงกำลังรบกับสัตว์จตุบาททั้งปวง ต่างพวกต่างผลัดกันมีชัยชนะ ค้างคาวกลัวผลแห่งการรบซึ่งเป็นการไม่แน่ จึงได้เอาตัวเข้าข้างพวกที่กำลังมากเสมอไป ครั้นเมื่อประกาศเลิกการสงบกัน สัตว์ซึ่งเป็นข้าศึกกันทั้งสองฝ่ายก็เห็นปรากฏในความประพฤติกลับกลอกของค้างคาว เพราะดังนั้นโทษความโกงของค้างคาวทั้งสองฝ่าย ให้ไล่เสียจากความสว่างของวัน ตั้งแต่นั้นมาค้างคาวก็ไปซ่อนตัวอยู่ในที่มืดที่ลับ บินไปบินมาก็แต่ลำพังตัวในเวลากลางคืน ๚ะ๛

ความเดียวกับนกสองหัว ๚ะ๛

ที่ ๒๔๘ คนขี้จ่ายกับนกสวอลโล

๏ ชายหนุ่มผู้หนึ่งเป็นคนขี้จ่ายใหญ่ ใช้ทรัพย์สมบัติที่ใต้สืบมาแต่บิดาจนหมด เหลือแต่ผ้าห่มอย่างดีผืนหนึ่ง ชายผู้นั้นไปเห็นนกสวอลโลซึ่งมาก่อนฤดูลอยอยู่ในสระแลร้องเล่นสบายดี ชายนั้นประมาณหมายใจว่าถึงฤดูร้อนแล้ว ก็ไปขายผ้าห่มเสีย ต่อไปอีกหลายวันหนาวกลับมีมาจัดขึ้น จนน้ำแข็งได้ด้วยความหนาว ชายผู้นั้นไปพบนกสวอลโลซึ่งเคราะห์ร้าย ปราศจากชีวิตนอนอยู่กับแผ่นดินก็กล่าวว่านกไม่มีสุขนั้น เจ้าทำอะไรอย่างนั้นมาให้เห็นก่อนฤดูสปริงดังนี้ มิใช่จะฆ่าแต่ตัวเจ้าเอง เจ้าทำให้ข้าถึงฉิบหายด้วย ๚ะ๛

ความผิดของผู้หนึ่งเดียวย่อมเป็นเครื่องฉิบหายแก่ชนอื่น ซึ่งไม่รู้จักผู้ผิดแลความที่ผิดนั้น ๚ะ๛

ที่ ๒๔๙ ทหารแตรเดี่ยวซึ่งเป็นโทษการศึก

๏ ทหารแตรเดี่ยวผู้หนึ่งนำทหารเข้ารบโดยกล้าหาญต้องข้าศึกจับไปได้ ทหารนั้นร้องต่อผู้ที่จับว่า ขอให้ท่านยกชีวิตข้าพเจ้าไว้เถิด อย่าเอาซีวิตข้าพเจ้าด้วยไม่มีเหตุแลมิได้ไต่ถามเลย ข้าพเจ้ามิได้ทำลายคนในหมู่ท่านสักคนเดียวเลย ข้าพเจ้ามิได้มีอาวุธมิได้ถืออะไร ชั่วแต่แตรทองเหลืองนี่อันเดียว ผู้ที่จับนั่นตอบว่า นั่นทีเดียว ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ต้องเจ้าตาย เพราะเจ้าไม่ได้รบเองแต่แตรของเจ้าเตือนชวนให้ผู้อื่นฟังทั้งหมดออกรบ ๚ะ๛

โทษแห่งความผิดใช่จะเกิดได้แต่ผู้ที่ทำผิดผู้เดียวนั้นหามิได้ ย่อมมีแก่ผู้ที่อุดหนุนความผิดนั้นมากกว่าอีก ๚ะ๛

๏ นำหนุนผู้อื่นให้ ทำการ
โดยทรัพย์บุญพลญาณ และรู้
แม้ผิดศิษย์เป็นพาล ผิดกลับ เกิดฤๅ
ผิดที่เกิดนั้นผู้ ช่วยต้องมีเสมอ ๚ะ

กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ที่ ๒๕๐ สุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์

๏ สุนัขจิ้งจอกเห็นราชสีห์อยู่ในกรง เข้าไปยืนใกล้แล้วด่าด้วยคำหยาบอันข่มราชสีห์จึงตอบสุนัขจิ้งจอกว่า เจ้าไม่ได้เป็นผู้ด่าข้าดอก เคราะห์ร้ายซึ่งตกแก่ตัวข้านี้ด่าข้าเอง ๚ะ๛

ผู้ที่เห็นแลรู้ปรากฏอยู่ ถ้าไม่สามารถจะทำการใหญ่ได้หากอาศัยแก่ผู้อื่นฤๅเหตุอื่น แลทำการนั้นได้ก็ไม่ควรจะว่าผู้นั้นทำเอง ควรจะว่าเหตุฤๅบุคคลสึ่งผู้นั้นได้อาศัยดอกเป็นผู้กระทำ ๚ะ๛

๒๕๐ ปัญญาสามารถแจ้ง ไป่มี เองเลย
กอปรกิจได้โดยดี อื่นเอื้อ
คณะปราชญ์ขาดพาที ชนติ
เพราะท่านถือสิ่งเกื้อ ดอกแท้ผู้ทำ ๚ะ

กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ที่ ๒๕๑ นกเค้าแมวกับนกทั้งปวง

๏ นกเค้าแมวตริตรองโดยปัญญาของตัว แล้วแนะนำนกทั้งปวงว่า เมื่อแรกลูกอาคอน (คือลูกของต้นโอ๊ก) จะงอก จงช่วยกันถอนเสียจากแผ่นดิน ด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งให้จงได้ อย่าให้จำเริญขึ้นได้ เพราะจะทำให้ต้นมิศเซลโต (ไม้ซึ่งเกิดเกาะไม้ใหญ่ ๆ) กาฝากเพราะต้นไม้นั้นเป็นยาพิษอย่างร้ายที่จะแก้ไม่ได้ คือยางใช้ทำตังกักนกเอาไปจากต้นไม้นี้ นกทั้งปวงจะต้องจับไปได้ก็เพราะต้นมิศเซลโต นกเค้าแมวได้แนะนำต่อไปอีกว่า ให้ถอนเมล็ดปอที่มนุษย์หว่านลงเสีย เพราะเป็นสิ่งซึ่งจะไม่ดีต่อนกทั้งปวง ในที่สุดนั้นนกเค้าแมวเห็นพรานธนูเข้ามา ก็ทำมาว่าชายผู้นี้เดินมาด้วยเท้า แต่จะทำการขว้างอาวุธซึ่งมีขนนก อันจะบินเร็วกว่าปีกแห่งนกทั้งปวงเอง นกทั้งปวงมิได้มีความเชื่อถ้อยคำที่ชี้แจงนี้ คิดว่านกเค้าแมวเสียจริตก็พากันว่านกเค้าแมวเป็นบ้า แต่ภายหลังมาเห็นว่าถ้อยคำของนกเค้าแมวจริง ก็พากันพิศวงในความรู้ของนกเค้าแมว แลถือว่าเป็นนกฉลาดที่สุด ตั้งแต่นั้นมาถ้านกเค้าแมวมาเมื่อไร นกทั้งปวงก็ไปหาด้วยความนับถือว่ารู้สิ่งทั้งปวงหมด ส่วนนกเค้าแมวมิได้ให้คำแนะนำต่อไป อยู่แต่ตัวเดียวคร่ำครวญแต่ถึงความฟุ้งซ่านแห่งนกทั้งปวงที่เป็นมาแล้ว ๚ะ๛

ความชั่วความอันตรายใดย่อมมีเหตุที่อาศัยให้เกิด ถ้าจะตัดความอันตรายอันนั้นก็ต้องคิดตัดเหตุซึ่งเป็นที่อาศัยให้เกิดนั้นเสีย ๚ะ๛

ที่ ๒๕๒ ลากับหนังราชสีห์

๏ ลาตัวหนึ่งสวมหนังราชสีห์เที่ยวเล่นในป่า หาความสนุกใส่ตัวด้วยไล่ขู่สัตว์ทั้งปวงที่ไม่สู้มีสติดีที่ไปพบปะ จนภายหลังไปพบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง คิดจะขู่ให้กลัวบ้าง แต่สุนัขจิ้งจอกพอได้ยินเสียงลาก็ร้องมาว่า ถ้าข้าไม่ได้ยินเสียงของเจ้าร้อง ก็พอที่ข้าจะกลัวเจ้าได้ดอก ๚ะ๛

ผู้เขลาซึ่งได้แอบอิงอาศัยอำนาจของผู้มีอำนาจด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง มักจะใช้อำนาจนั้นเกินกว่าที่ควร แต่ไม่อาจจะใช้แก่ผู้ฉลาดได้ ด้วยธรรมดาชาติเขลาแล้วคงแสดงเขลาจะละเสียอย่างไรได้ ๚ะ๛

๒๕๒ ผู้เฉาเอาเกียรติผู้ มีศักดิ์ สวมฤๅ
มักจะช้าเกินหนัก กว่าเนื้อ
จำอวดไป่อำลักษณ์ เฉาโฉด ชิดเลย
เพราะจะอาจฉลาดเกื้อ กิจพ้นตนไฉน ๚ะ

กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ที่ ๒๕๓ ความดีทั้งปวงกับความชั่ว

๏ ครั้งหนึ่งความดีต้องความชั่วไล่เสียจากส่วนที่เป็นคู่กัน ซึ่งต่างสิ่งต่างมีส่วนในการงานของมนุษย์ เพราะเหตุที่ความชั่วมากก็มีชัยได้แผ่นดิน ความดีก็ปลิวตัวไปเองขึ้นไปบนสวรรค์ ขอความชอบธรรมเพื่อจะได้แก้แค้นผู้ที่ได้ข่มเหง ความดีทั้งปวงขอต่อยุปิเตอ อย่าให้ตัวต้องปะปนกับความชั่วต่อไป เพราะสิ่งทั้งสองมิได้มีอันใดเหมือนกันเลย มิอาจที่จะอยู่ด้วยกันได้ เป็นแต่เหตุที่จะให้รบกันไม่มีเวลาหยุด เพราะฉะนั้นขอให้ตั้งกฎหมายเป็นแบบที่จะไม่แก้ไขได้ ในการที่จะป้องกันทั้งสองฝ่ายสืบไปภายหน้า ยุปิเตอก็อนุญาตตามที่ขอ บัญญัติว่าแต่นี้ไปถ้าความชั่วจะไปเยี่ยมแผ่นดิน ก็ให้ความชั่วความชั่วเป็นเพื่อนกันไป แต่ความดีนั้นจะต้องไปแต่ทีละสิ่ง ๆ เดียว เข้าในที่อยู่ของคนทั้งปวง ตั้งแต่นั้น ก็บังเกิดความชั่วขึ้นมาก เพราะความชั่วมาแล้วมิได้มาแต่สิ่งเดียว ๆ ย่อมมาเป็นหมู่ ๆ ไม่มีสิ่งเดียวด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ฝ่ายความตีซึ่งมาจากยุปิเตอ แลมิได้ให้เหมือนกันหมด ย่อมมาแต่สิ่งเดียว แลต่างหากกัน ย่อมมาแต่ทีละสิ่ง ๆ ถึงผู้ซึ่งสามารถที่จะสังเกตได้ ๚ะ๛

ความดีมีน้อยหายาก ความชั่วมีมากหาง่ายทำง่ายเป็นธรรมดา ๚ะ๛

พระเทพกระวี

ที่ ๒๕๔ นกกระจอกกับกระต่าย

๏ นกอินทรีตัวหนึ่งเฉี่ยวกระต่าย กระต่ายสะอึกสะอื้นมากแล้วร้องไห้ออกมา เหมือนนกกระจอกกลัวกระต่ายว่า เดี๋ยวนี้เท้าว่องไวของท่านไปข้างไหนเสีย ทำไมเท้าท่านจึงได้ช้าดังนี้ ในเมื่อนกกระจอกกำลังกล่าวอยู่ เหยี่ยวตัวหนึ่งจับตัวนกกระจอกฆ่าเสียทันที กระต่ายก็ตายด้วยความสบาย เมื่อจวนจะตายนั้นกล่าวว่า เออแต่ก่อนเจ้าหมายว่าตัวเจ้านั้นไม่มีอันตราย ดีใจในการเคราะห์ของเรา เดี๋ยวนี้เจ้ามีเหตุที่จะต้องร้องไห้ในการเคราะห์ร้ายของเจ้าบ้างเหมือนกัน ๚ะ๛

ความทุกข์ความอันตรายย่อมมีสำหรับตัวอยู่ด้วยกันทั้งหมด ไม่ควรจะเป็นเหตุที่จะเยาะเย้ยฤๅยินดีที่ผู้อื่นต้องถูกเร็วกว่าตัวก่อนตัวเท่านั้นเลย ๚ะ๛

พระเทพกระวี

ที่ ๒๕๕ คนกับเซเตียเป็นสัตว์มีในเรื่องนิทานเบื้องบนเป็นคนเบื้องล่างเป็นสัตว์

๏ ครั้งหนึ่งชายผู้หนึ่งกับเซเตียเซ่นสุราสาบานเป็นเพื่อนกันและกัน วันหนึ่งนั่งฟังสนทนาอยู่ด้วยกัน หนาวเหมือนฤดูหนาว คนนั้นก็ยกมือขึ้นเป่า ครั้นเซเตียถามเหตุนั้น ก็ตอบว่าหนาวนัก ที่ทำให้มือร้อน ภายหลังก็ถึงเวลากลางวัน นั่งกินอาหารด้วยกัน อาหารนั้นกำลังร้อน ชายผู้นั้นก็ยกจานใบหนึ่งขึ้นไปใกล้ปากแล้วเป่าลงในจานนั้น ครั้นเมื่อเซเตียถามเหตุนั้นอีกก็ว่าอาหารร้อนนัก ที่ทำนี้จะให้เย็น เซเตียจึงว่าเราจะนับว่าท่านเป็นเพื่อนต่อไปไม่ได้ เพราะท่านเป็นคนมีลมอย่างเดียว จะเป่าให้ร้อนก็ได้ให้เย็นก็ได้ ๚ะ๛

ความประพฤติไม่เสมอในสิ่งอันเสมอกัน ย่อมไม่เป็นที่นับถือและเป็นที่หวังของคนทั้งปวงได้ เพราะสังเกตการร้ายการดียาก ๚ะ๛

จมื่นทิพเสนา

ที่ ๒๕๖ ลากับคนที่ซื้อ

๏ ชายผู้หนึ่งอยากจะซื้อลา ตกลงกับเจ้าของขายว่า จะเอามาทดลองดูก่อน จึงจะซื้อ ชายนั้นพาลามาบ้านปล่อยไว้คอกฟางกับลาอื่น ๆ ครั้นเมื่อลาตัวนั้นเข้าไปอยู่แล้วก็ทิ้งลาอื่น ๆ เสียหมด ไปอยู่กับลาตัวหนึ่งซึ่งขี้เกียจอย่างยิ่ง แลกินมากที่สุดกว่าลาทั้งหมด ชายผู้นั้นก็เอาเชือกสวมคอลาแล้วจูงกลับไปที่เจ้าของ เมื่อเจ้าของถามว่าทำไมจึงได้ทดลองได้ในเวลาน้อยดังนี้ ชายผู้นั้นตอบว่าข้าพเจ้าไม่ต้องการที่จะทดลอง ข้าพเจ้าทราบว่าลาตัวนี้มันคงจะเหมือนกับลาตัวหนึ่ง เพราะบรรดาลาทั้งหมด ลาตัวนี้เฉพาะเลือกเอาตัวนั้นเป็นพวกพ้องแต่ตัวเดียว ๚ะ๛

คนย่อมรู้ประจักษ์ได้โดยพวกพ้องที่เขาคบ ๚ะ๛

พระองค์เจ้าจิตรเจริญ

ที่ ๒๕๗ ตัวหมัดกับโค

๏ ตัวหมัดมีคำถามโคว่า ขัดขวางอย่างไรท่านก็เป็นสัตว์ใหญ่ แลมีกำลังทานจึงได้ย่อมรับความคุมเหงอันไม่เป็นธรรมแต่คน แลเป็นทาสแก่คนทั้งปวงทุกวันทุกวันไปดังนี้ ส่วนเราเป็นสัตว์เล็กถึงเพียงนี้ยังกินเนื้อคน มิได้มีความปรานี แลกินโลหิตคนมิได้หยุดยั้ง โคตอบว่าเราไม่อยากจะเป็นคนเนรคุณ เพราะเราเป็นที่รักที่ถนอมของคน คนทั้งปวงย่อมตบศีรษะหัวไหล่เราอยู่บ่อย ๆ ตัวหมัดร้องว่า ทุกข์ของเราตกที่ท่านชอบนั้นทีเดียว เมื่อบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าบ้างแล้ว คงจะหาความพินาศฉิบหายอันแก้ไขไม่ได้มาด้วย ๚ะ๛

(ตีความไม่ถนัด)

ผู้ที่มีกตัญญูมั่นคง ย่อมจะไม่ถือเอาความเกียจคร้านเป็นประมาณ แลไม่หวั่นไหวด้วยภัยต่าง ๆ ๚ะ๛

ที่ ๒๕๘ นกพิราบกับกา

๏ นกพิราบต้องขังอยู่ในกรง อวดที่ว่าได้ฟักไข่มีลูกมาก กาได้ยินจึงว่า เพื่อนผู้มีน้ำใจดีเอ๋ย หยุดอวดซึ่งมิใช่ฤดูนี้เสียเถิด ลูกหลานยิ่งมากขึ้น ก็เหมือนอย่างเป็นเหตุที่จะให้ท่านมีความทุกข์มากขึ้น เพราะเมื่อท่านเห็นลูกหลานต้องติดอยู่ในที่ขังแห่งผู้ซึ่งเป็นโทษฉะนี้ ๚ะ๛

ความทุกข์ความยากกลับเป็นความนับถืออวดอ้าง นั้นมีเป็นธรรมดาทุกรูปทุกนาม ๚ะ๛

จมื่นทิพเสนา

ที่ ๒๕ เมอคิวรีกับคนทำงาน

๏ คนทำงานผู้หนึ่งล้มไม้อยู่ที่ริมแม่น้ำ พลาดมือไปขวานตกลงไปในห้วงน้ำอันลึก เมื่อเสียสิ่งอันเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีวิตนั้น ก็ร้องรำรำพันถึงความเคราะห์ร้ายของตัว เมอคิวรีก็ปรากฏแล้วถามเหตุซึ่งได้ต้องน้ำตาตกนั้น ชายผู้นั้นก็เล่าเคราะห์ร้ายของตัวให้ฟัง เมอคิวรีก็กระโดดลงไปในน้ำ แล้วหยิบขวานทองคำขึ้นมาเล่มหนึ่ง แล้วถามว่าเล่มนี้ฤๅมิใช่ที่หาย ครั้นเมื่อชายนั้นตอบว่ามิใช่ของตัว เมอคิวรีก็หายลงไปในน้ำเป็นครั้งที่สอง แล้วกลับขึ้นมาด้วยขวานเงินเล่มหนึ่งอยู่ในมือ ถามคนทำงานนั้นอีกว่า นี่ของตัวฤๅ เมื่อคนทำงานว่ามิใช่ ก็ดำลงไปในห้วงน้ำเป็นครั้งที่สาม หยิบขวานเล่มที่หายนั้นขึ้นมา ครั้นเมื่อคนทำงานนั้นกล่าวว่าเป็นของตัวและแสดงความยินดีที่ได้ขวานคืนมา เมอคิวรีก็โปรดในความสัตย์ซื่อของชายผู้นั้น จึงให้ขวานทองแลขวานเงินเพิ่มขึ้นในขวานเดิมของชายผู้นั้น คนทำงานนั้นเมื่อกลับมาถึงเรือน ก็เล่าให้เพื่อนฝูงฟังตลอดเหตุที่เป็นนั้น เพื่อนคนหนึ่งอยากจะใคร่ลองในเดี๋ยวนั้น ว่าตัวจะได้ลาภดีเหมือนนั้นฤๅไม่ ก็วิ่งไปที่แม่น้ำตั้งใจทิ้งขวานลงไปในหัวงน้ำแห่งเดียวกัน แล้วลงนั่งเช็ดน้ำตาที่ฝั่งน้ำ เมอคิวรีก็มาหาเหมือนอย่างเช่นนึกไว้ แลถามเหตุที่ทุกข์ร้อนได้แล้วก็โดดไปในน้ำ หยิบขวานทองคำขึ้นมาเล่มหนึ่ง ถามว่านี้ฤๅที่หาย คนทำงานก็จับขวานทองนั้นด้วยความตะกลาม แสดงวาจาว่าเป็นความจริงว่าคือขวานเล่มนี้ทีเดียวที่ของตัวหาย เมอคิวรีไม่โปรดในการโกงของชายผู้นี้ ไม่เอาแต่ขวานทองไปเสีย ซ้ำไม่รับที่จะหาขวานเดิมของเขาที่ทิ้งในห้วงน้ำให้ด้วย ๚ะ๛

ความสัตย์กับความอาสัตย์นั้นเหมือนกันไม่ได้ ๚ะ๛

จมื่นทิพเสนา

ที่ ๒๐ นกอินทรีกับนกแก

๏ นกอินทรีตัวหนึ่งบินลงมาจากรังยอดภูเขาสูง จับลูกแกะในกรงเล็บพาลอยไป แกตัวหนึ่งได้เห็นการที่จับลูกแกะนั้น ก็ไหวสะเทือนด้วยความริษยา ตั้งใจว่าจะแข่งกำลังแข่งฝีปีกนกอินทรี ก็บินวนด้วยเสียงปีกวู่ดัง จับลงบนหลังแกะผู้ตัวใหญ่ด้วยหมายใจว่าจะพาบินไป แต่เล็บนั้นก็ไปติดเกี่ยวกับขน ถึงกระพือปีกเต็มกำลังก็มิอาจจะปลดตัวได้ คนเลี้ยงแกะเห็นการที่เป็น ก็วิ่งไปจับแกได้แล้วตัดปีกทิ้งเสียทันที พามาบ้านในเวลากลางคืนให้แก่บุตรทั้งปวง ครั้นเมื่อบุตรทั้งปวงถามว่านั่นนกอะไร พ่อตอบว่าในความรู้ของพ่อที่เป็นแน่นั้นก็เป็นนกแก แต่ตัวของเขาจะให้ตัวเขาเป็นนกอินทรี ๚ะ๛

ความกำเริบคาดหวังตัวเองผิดแล้วทำการที่เกินตัวจะทำได้ ย่อมเป็นความฉิบหายแท้ ๚ะ๛

๒๖๐ เห็นท่านสามารถเกื้อ การใด
ขาดคาดตนทำใจ ใหญ่บ้าง
แรงน้อยยกหนักไฉน จักรอด ตนนอ
หนูจะใช้อย่างช้าง จะใช้ไฉนหนอ ฯ

กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ที่ ๒๖๑ ยุปิเตอกับเนปซุน๑๐ เป็นเทวดาเจ้าของทะเล

๏ มิเนอว่าเทพธิดาเจ้าของปัญญาแลการเล่าเรียน โมมัศ๑๑เทวดาช่างเยาะเย้ยติเตียน ตามจดหมายเรื่องราวแต่โบราณมาว่า คน ๆ แรกที่เกิดนั้นยุปิเตอสร้าง โคตัวแรกเนปชูนสร้าง เรือนหลังแรกมิเนอว่าสร้าง ครั้นเมื่อการสร้างของเทวดาทั้งปวงที่ทำแล้วเสร็จ ก็เกิดเถียงกันขึ้นว่าผู้ใดจะทำดีพิเศษพร้อมกว่ากัน ตกลงกันตั้งให้โมมัศเป็นตระลาการ จะขอยอมฟังคำตัดสินด้วยกันทั้งสิ้น ฝ่ายโมมัศนั้นเล่าก็มีความอิจฉาในมือที่ทำนั้นทุก ๆ คน ก็หาโทษใส่ทุกสิ่ง ที่หนึ่งนั้นยกผิดการที่เนปชูนทำ เพราะเหตุว่ามิได้ทำเขาแห่งโคให้อยู่ใต้นัยน์ตา เพื่อว่าจะได้เห็นดีขึ้นว่าจะขวิดตรงไหน ต่อไปก็ตัดสินลงโทษการที่ยุปิเตอทำ เพราะเหตุที่มิได้วางหัวใจแห่งมนุษย์ไว้ภายนอก ถ้าเป็นอย่างนั้นทุก ๆ คนก็จะอ่านความคิดของผู้ซึ่งมีความประสงค์ร้าย ได้ตระเตรียมต่อสู้การที่เขาคิดร้ายไว้ก่อน แลที่สุดนั้นยกโทษมิเนอว่า เพราะเหตุมิได้ทำล้อเหล็กไว้ในรากเรือน ถ้ามีล้ออย่างนั้น ถ้าเพื่อนบ้านจะอยู่กันไม่สบายจะได้ย้ายไปง่าย ๆ ยุปิเตอกริ้วในถ้อยคำที่หาถ้อยคำเสมอดังนี้ จึงไล่เสียจากตำแหน่งตระลาการ แลขับออกจากตึกใหญ่แห่งโวลิมปัด๑๒ ๚ะ๛

ผู้ที่ดีแต่คุ้ยเขี่ยติเตียนแต่ไม่ได้ทำเอง ไม่เป็นผู้ที่ควรจะอยู่ในพวกผู้ที่ต้องทำทั้งหลาย ๚ะ๛

จมื่นทิพเสนา

ที่ ๒๒ นกอินทรีกับสุนัขจิ้งจอก

๏ นกอินทรีตัวหนึ่งกับสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งผูกพันเป็นไมตรีกันสนิท ตกลงว่าจะอยู่ใกล้กันแลกัน นกอินทรีขึ้นไปทำรังอยู่บนกิ่งต้นไม้อันสูง ส่วนสุนัขจิ้งจอกลงไปอยู่ในซุ้มใต้ต้นไม้ก็ออกลูกในที่นั้น เมื่อตกลงตามความคิดนี้ไม่นานนัก เมื่อสุนัขจิ้งจอกไปเที่ยวหาอาหาร นกอินทรีกำลังอยากได้เสบียงมาเลี้ยงลูกเล็ก ๆ ก็โอบลงไปที่ลูกเล็ก ๆ ของสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง เอามาเลี้ยงตัวเองแลเลี้ยงลูก เมื่อสุนัขจิ้งจอกกลับมาก็มีความเศร้าโศกในการที่ลูกตายน้อยกว่าที่ตัวไม่สามารถจะแก้แค้นนกอินทรีได้ ภายหลังลงโทษอันเป็นยุติธรรมก็ตกต้องนกอินทรีโดยเร็ว เมื่อขณะบินราปีกริมแท่นที่บูชา ซึ่งชาวบ้านพวกหนึ่งได้เอาแพะมาบูชายัญ นกอินทรีก็บินไปจับขึ้นเนื้อโดยเร็ว แลถ่านซึ่งติดไฟอยู่บ้างติดไปที่รังด้วย ลมแรงก็พัดเชื้อเพลิงให้เป็นเปลวขึ้นโดยเร็ว ลูกนกอินทรีซึ่งขนยังมิได้งอกขึ้นบริบูรณ์ไม่มีผู้ช่วย ก็ตัวงอย่างอยู่ในรังก็จนลงมาตายที่โคนต้นไม้ สุนัขจิ้งจอกก็คาบขยอกกินต่อหน้านกอินทรี ๚ะ๛

ความอาสัตย์อาธรรมซึ่งผู้ใหญ่ทำแก่ผู้น้อย แม้ถึงผู้น้อยจะไม่มีโอกาสที่จะแก้แค้นของตัวได้เองก็ดี ความอาสัตย์อาธรรมนั้นคงจะลงโทษแก่ผู้ทำแก้แค้นแทนเองไม่ต้องสงสัย ๚ะ๛

จมื่นทิพเสนา

ที่ ๒๖๓ ถุงสองใบ

๏ ตามจดหมายแต่โบราณเล่ามา ว่าคนเกิดมาในโลกนี้ทุก ๆ คนมีถุงผูกคอมาสองใบ ถุงเล็กอยู่ข้างหน้าเต็มไปด้วยความเสียของเพื่อนบ้าน ถุงใหญ่อยู่ข้างหลังเต็มไปด้วยความเสียของตัว ตั้งแต่นั้นมาคนจึงเห็นความผิดของผู้อื่นได้เร็ว แลซ้ำตาบอดไม่เห็นเสียของตัวบ่อย ๆ ด้วย ๚ะ๛

โทษผู้อื่นเท่าเส้นผมอาจเห็นได้โทษตัวเท่าภูเขาไม่อาจเห็น ๚ะ๛

ที่ ๒๖๔ กวางกับห้วงน้ำ

๏ กวางตัวหนึ่งมีความกระหายน้ำจึงไปที่ลำธารเพื่อจะกินน้ำ แลเห็นเงาของตัวฉายลงไปในน้ำ ก็มีความพิศวงด้วยรูปร่างของตัวแลเขาก็มีกิ่งก้านต่าง ๆ แต่นึกโกรธตัวเองว่ามีขาเล็กแลเท้าไม่แข็งแรง ในเมื่อกำลังติตัวเองอยู่นั้น ราชสีห์ตัวหนึ่งมาที่ห้วงน้ำ คลานเข้าไปจะกระโดดจับตัวกวาง กวางก็หนีเอาตัวรอดข้ามนที แลใช้กำลังเร็วจนเต็มฝีเท้า เมื่อไปในที่ห้วงทุ่งราบไม่มีต้นไม้ ก็เอาตัวหนีได้ใกลราชสีห์พอพ้นอันตราย แต่ครั้นเมื่อเข้าในป่าไม้เขาก็ติดเกะกะ ราชสีห์ก็วิ่งตามมาด้วยโดยเร็วจับตัวได้ ครั้นเมื่อช้าเกินไปเสียแล้ว กวางจึงรู้สึกตัว ติเตียนตัวเองว่าเรานี้สัตว์กรรมชัก เป็นอย่างไรเราจึงได้หลอกตัวเราเอง ตีนของเราซึ่งจะได้ช่วยชีวิตเรากลับติเตียน ไปยกย่องชมเขาซึ่งปรากฏเป็นแท้ว่าเป็นที่ฉิบหายของเรา ๚ะ๛

สิ่งใดซึ่งมีราคาสูงจริง ๆ มักจะตกต่ำไม่ถึงราคาบ่อย ๚ะ๛

๏ สิ่งดีมีประโยชน์แท้ ธรรมดา เสมอฤๅ
มักจืดไป่เจิดตา ตื่นรู้
สิ่งชั่วไม่เคยปรา กฎชอบ
แปลกแต่นิดกิตอู้ เอิกร้องชมปรม ๚ะ

กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ที่ ๒๖๕ นางสุนัขกับลูกทั้งปวง

๏ นางสุนัขตัวหนึ่งจวนจะออกลูก จึงตั้งใจขอต่อคนเลี้ยงเพื่อจะให้ให้ที่ซึ่งจะออกลูก ครั้นเมื่อคำขอนั้นได้อนุญาตก็ขอให้ยอมต่อไปอีกเพื่อจะได้เลี้ยงลูกในที่แห่งเดียวนั้น คนเลี้ยงแกะก็ยอมให้อีก แต่ครั้นเมื่อภายหลังนางสุนัขมีลูกเป็นผู้ป้องกัน เพราะลูกสุนัขในเมื่อนั้นโตขึ้นพอที่จะกันตัวของตัวได้หมดด้วยกัน ก็กล่าวว่าที่นั้นเป็นของตัวสิทธิ์ขาดทีเดียว แลไม่ยอมให้คนเลี้ยงแกะเข้าไปที่นั้นด้วย ๚ะ๛

ความอ่อนน้อมย่อมมีแต่ผู้มีกำลังอ่อนอย่างเดียว ถ้าแข็งขึ้นได้เท่าใด ความอ่อนน้อมนั้นจะกลับหายไปเท่านั้น ๚ะ๛

จมื่นทิพเสนา

ที่ ๒๖๖ สุนัขทั้งปวงกับหนัง

๏ สุนัขพวกหนึ่งมีความหิวด้วยอดอยากอาหาร แลเห็นหนังโคหลายแผ่นแช่อยู่ในแม่น้ำ มิอาจที่จะไปถึงได้ ก็ตกลงกันว่าจะกินน้ำในแม่น้ำเสียให้หมด แต่น้ำนั้นก็กลับออกมาเสียด้วยท้องแตกเพราะกินน้ำช้านานก่อนที่จะถึงหนัง ๚ะ๛

อย่าคิดจะทำการซึ่งจะทำไม่ได้

พระองค์เจ้าวรวรรณากร

ที่ ๒๖๗ แกกับสุนัขจิ้งจอก

๏ แกตัวหนึ่งอยู่ข้างจะอดอยาก จับอยู่บนต้นมะเดื่อซึ่งมีผลผิดฤดู คอยด้วยความหวังใจว่ามะเดื่อจะสุก สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเห็นแกนั่งอยู่บนต้นไม้นานก็รู้เหตุที่ทำนั้น จึงกล่าวว่า ท่านทำไมจึงเป็นดังนี้ไปทีเดียว หลอกลวงตัวเองในการซึ่งเป็นที่เศร้า ท่านมาเพลิดเพลินเรี่ยวแรงด้วยด้วยความหวังใจจนถึงพอที่จะโกงท่านได้ แต่สิ่งนั้นจะไม่รางวัลท่าน ด้วยให้ท่านได้ด้วยความยินดีเลย ๚ะ๛

เชื่อแต่โดยใจนึกเอาเอง มิได้เห็นแน่เข้าถนัด ก็เหมือนหมายนกกลางป่า หมายปลากลางแม่น้ำ ไม่อาจสำเร็จผลประโยชน์ได้ ๚ะ๛

ที่ ๒๖๘ นกลาก๑๓ฝังศพบิดาของตัว

๏ นกลาก (ตามมีมาแต่จดหมายโบราณว่า) ได้สร้างขึ้นก่อนตัวแผ่นดินเอง ครั้นเมื่อบิดาเป็นใช้สำคัญถึงแก่ความตาย ในขณะนั้นไม่มีแผ่นดิน นกลากไม่รู้ว่าจะหาที่ฝังศพที่ไหน จึงได้ทิ้งศพไว้ไม่ฝังห้าวัน ครันวันที่หกก็ยังเป็นการลังเลอยู่ ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร จึงได้ฝังศพบิดาไว้ในศีรษะของตน แต่นั้นมานกลากจึงได้มีจุก ซึ่งเป็นที่คนทั้งปวงชอบพูดว่า เป็นที่พูนดินหลังที่ฝังศพของบิดา ๚ะ๛

การแรกต้นของเด็กหนุ่มนั้นคือความนับถือบิดามารดาทั้งสอง ๚ะ

พระองค์เจ้าวรวรรณากร

ที่ ๒๖๙ ยุงกับโค

๏ ยุงตัวหนึ่งจับบนเขาโคนั่งอยู่นั้นข้านานครั้นเมื่อขณะจะบินไปทำเสียงหวี่ ๆ แล้วถามโคว่าโคจะอยากให้ไปฤๅ โคตอบว่าเราไม่รู้ว่าเจ้าได้มา เราก็จะไม่รู้ตัวว่าเจ้าจะไปข้างไหนเมื่อไรเหมือนกัน ๚ะ๛

คนบางคนมักเห็นตัวเป็นสำคัญในนัยน์ตาของตน มากกว่าในนัยน์ตาเพื่อนบ้านเห็น ๚ะ๛

พระองค์เจ้าวรวรรณากร

ที่ ๒๐ วานรกับอูฐ

๏ สัตว์ทั้งปวงในป่ามีการเลี้ยงใหญ่ ในครั้งนั้นวานรยืนขึ้นรำเป็นที่ยินดีใหญ่ของสัตว์ที่มาประชุม วานรนั้นนั่งลงเมื่อขณะชอบใจตบมือทั่วกัน อูฐมีความริษยาต่อความสรรเสริญซึ่งได้แก่วานร มีความปรารถนาจะถอนความชอบใจแห่งสัตว์ที่มาทั้งปวงให้มาชอบใจตัว จึงกล่าวขึ้นว่าจะขอยืนขึ้นตามคราวผลัดของตัว จะรำให้เป็นที่สนุกแก่สัตว์ทั้งปวง แล้วลุกขึ้นโยเยไปมาเป็นที่น่าหัวเราะเต็มที สัตว์ทั้งปวงก็ทุบด้วยความโกรธแล้วไล่เสียจากที่ประชุม ๚ะ๛

การที่จะเลียนทำให้เราทั้งหลายดีขึ้น (เพราะไม่ดีจริง) นั้นเป็นการน่าชังแลไม่ได้เรื่อง ๚ะ๛

พระองค์เจ้าวรวรรณากร

ที่ ๒๗๑ คนเลี้ยงแกะกับฝูงแกะ

๏ คนเลี้ยงแกะผู้หนึ่งไล่ฝูงแกะไปในป่าไม้ เห็นต้นโอ๊กต้นหนึ่งโตเกินปกติ เต็มไปด้วยลูกเอคอน๑๔ ปูผ้าห่มลงที่ใต้กิ่งแล้วปีนขึ้นไปบนต้นสั่นลูกเอคอนลงมา แกะทั้งปวงกินลูกเอคอนไถผ้าหรอ๑๕ด้วยมิได้แกล้งผ้านั้นก็ขาด คนเลี้ยงแกะกลับลงมาเห็นการที่เป็นไปแล้วนั้น จึงว่าเจ้าพวกสัตว์เนรคุณที่สุด เจ้าทั้งหลายเป็นผู้ให้เกิดขนสำหรับทำผ้านุ่งห่มแห่งคนอื่นทั้งปวงทั่วหมด แต่เจ้าทำลายผ้าของผู้ซึ่งได้เลี้ยงตัว ๚ะ๛

ทำการกับนายแต่หยาบคายมักง่ายนั้น ได้ชื่อว่าทำเนรคุณเหมือนกัน๑๖ ๚ะ๛

  1. ๑. คือ เทพอพอลโล่

  2. ๒. หมายถึง ซุป (soup)

  3. ๓. หมายถึง นกนางแอ่น (Swallow)

  4. ๔. คือฤดูใบไม้ผลิ (Spring)

  5. ๕. โคลงสุภาษิตประกอบนิทานเรื่องนี้ในภาพปักเครื่องตั้งงานพระเมรุเป็นโคลงต่างสำนวนกัน ดังภาพประกอบ

  6. ๖. คือ ลูกเอคอน (acorn)

  7. ๗. คือ ต้นมิสเซิลโท (mistletoe)

  8. ๘. ตัง คือ ยางไม้ที่ผสมกับสิงอื่นทำให้เหนียว ใช้ทำกาวดักนก

  9. ๙. แก หมายถึง นกแก

  10. ๑๐. คือ เทพจูปิเตอร์กับเทพเนปจูน

  11. ๑๑. คือ โมมัส หรือโมมุส (Momus) เทพแห่งการเย้ยหยัน ตำหนิ ติเตียน

  12. ๑๒. คือ เขาโอลิมปัส

  13. ๑๓. คือ นกลาร์ก (Lark)

  14. ๑๔. คือลูกเอคอร์น (Acorn)

  15. ๑๕. หรอ หมายถึง กร่อนเข้าไป, สึกเข้าไป, หดหายไป

  16. ๑๖. ไม่มีนิทานเรื่องที่ ๒๗๒-๒๙๐ จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๗ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่๑๘ ไม่มีต้นฉบับนิทานตั้งแต่เรื่อง ๒๙๒-๒๙๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ