คำชี้แจง
นิทานกับเด็กเป็นสิ่งคู่กัน เราต่างเติบโตมากับความอบอุ่นในครอบครัวและนิทานประเภทต่าง ๆ ได้แก่ นิทานชาดก นิทานที่มีเรื่องราวของพระราชา พระราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิง แม่มด รวมทั้งนิทานที่มีตัวละครเป็นสัตว์สิ่งของและพืชที่พูดได้ ซึ่งมีมาก่อนที่นักวิชาการจะบัญญัติศัพท์คำว่า “บุคลาธิษฐาน” เสียอีก นานาประเทศทั่วโลกต่างมีนิทานท้องถิ่นของตนเอง และยินดีรับการเผยแพร่ของนิทานต่างชาติ นอกจากความสนุกสนานแล้ว นิทานไม่ว่าจะเป็นของชาติใดภาษาใด มักแฝงคติธรรมคำสอน “นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า” ซึ่งจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดี พร้อมทั้งชี้นำแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมร่วมเป็นเอกลักษณ์ของนิทานและเป็นสิ่งที่ทำให้เรานิยมยอมรับนิทานต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรมได้
เฉพาะประเทศไทยนอกจากนิทานพื้นบ้านแล้ว นิทานอีสปก็เป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลาย อาจกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันนี้นิทานอีสป เช่น เรื่องราชสีห์กับหนู กบเลือกนาย เทพารักษ์กับคนตัดฟืน ฯลฯ อาจเป็นที่รู้จักของเยาวชนไทยมากกว่านิทานเรื่องตาม่องล่าย เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ท้าวหมาหยุย พญาคันคาก ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของไทย ทั้ง ๆ ที่ปรากฏหลักฐานว่านิทานอีสปเพิ่งเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยยังไม่ถึง ๒๐๐ ปี หลังจากที่หมอบรัดเลย์ได้แปลนิทานอีสปลงในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์แล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีหนังสือนิทานอีสปแปลโดยคนไทยเกิดขึ้น คือเรื่อง “อิศปปกรณัม” ซึ่งในช่วงเวลานั้น อิทธิพลของวรรณคดียุโรปได้แผ่เข้ามาในประเทศไทย เป็นผลให้วรรณคดีไทยเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเนื้อหา เกิดวรรณกรรมแปล และวรรณกรรมรูปแบบใหม่มาแทนที่เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่คนไทยคุ้นเคย มีการแปลวรรณกรรมภาษาตะวันตกเป็นภาษาไทย นิทาน “อิศปปกรณัม” นับเป็นวรรณกรรมแปลจากภาษาอังกฤษในยุคแรกของไทย และเป็นวรรณกรรมที่น่าจะได้รับความนิยมและมีความสำคัญเรื่องหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากมีการนำโคลงสุภาษิตอิศปปกรณัมไปจัดทำภาพปักเครื่องตั้งประดับงานพระเมรุท้องสนามหลวงหลายคราว และเป็นต้นกำเนิดของวรรณกรรมนิทานอีสปอีกสองสำนวนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ นิทานอีสป ของ พระจรัสชวนะพันธ์ และนิทานอีสป ของ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ แม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปี แต่คติธรรมคำสอนในเรื่องนิทานอิศปปกรณัมยังคงทันสมัยและเป็นจริง นอกจากนี้ยังให้ความรู้เรื่องพัฒนาการทางการใช้ภาษาอีกด้วย
งานศึกษา วิเคราะห์ วิจัยวรรณกรรมฉบับนี้จะสำเร็จลุล่วงไม่ได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือและความอนุเคราะห์จากผู้มีพระคุณหลายท่าน ดังที่จะขอกล่าวคำขอบคุณต่อไปนี้ ขอบคุณภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ กรุณาให้คำปรึกษาและเอื้อเฟื้อข้อมูลงานวิจัย เรื่อง “ผ้าปักโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ เครื่องตั้งงานพระเมรุท้องสนามหลวง ร.ศ. ๑๐๘” ขอบคุณศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ที่กรุณาเป็นที่ปรึกษาแนะนำแนวทางและประเด็นศึกษา ขอบคุณ นายนาวี พงษ์กาญจนะ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ นางสาวน้ำทิพย์ นงสูงเนิน กลุ่มไมโครพิล์ม ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านต่าง ๆ ขอบคุณนายวัฒภูมิ ทวีกุล และ Assumption Museum สำหรับความร่วมมือและอนุเคราะห์ต้นฉบับนิทานอีสป ของ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้า และบุคคลท่านอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึง ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานศึกษาวิเคราะห์วิจัยนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ดาวรัตน์ ชูทรัพย์