สมุดไทยเลขที่ ๔
ที่ ๗๙ โจรกับมารดา
๏ เด็กคนหนึ่ง ขโมยสมุดสำหรับเรียนหนังสือไปจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันคนหนึ่ง เอาไปบ้านให้มารดา ๆ ไม่เป็นแต่งดเฆี่ยนตี ซ้ำยุยงให้ทำดังนั้นอีก อีกครั้งหนึ่งต่อมาขโมยผ้าห่มมาให้มารดา ๆ ซ้ำชมลูกของตัวนั่นอีก ครั้นอยู่มาลูกนั้นหนุ่มขึ้น ก็คิดอ่านเข้าขโมยของที่มีราคามากขึ้นจากที่บ้านชายผู้หนึ่ง ภายหลังก็ต้องถูกจับด้วยการที่ทำนั้น เขาก็มัดมือไพล่หลังพาไปยังสนามที่ฆ่าคน มารดาของโจรผู้นั้นร้องไห้ตีอกตามไปในฝูงคนทั้งปวง เมื่อโจรได้เห็นจึ่งว่าข้าพเจ้าจะขอพูดกับมารดาที่หูสักหน่อย มารดาก็เข้ามาใกล้ โจรนั้นก็คาบหูมารดาด้วยฟันกัดจนหูขาด มารดาก็โกรธร้องยกโทษว่าเป็นลูกมิใช่ชาติมนุษย์ โจรนั้นจึงตอบว่าถ้าแม่ตีฉันเสียแต่เมื่อแรกฉันขโมยสมุดเรียนหนังสือมานั้น ฉันก็จะไม่เป็นถึงเพียงนี้ แลจะไม่ต้องมาตายด้วยความชั่วเสียดังนี้ ๚ะ๛
การที่ละเลยในความร้ายซึ่งแรกเกิดน้อย ๆ นั้น เป็นการให้กำลังอุดหนุนแก่ความร้ายอันใหญ่ ๆ ให้เป็นให้มีตรง ๆ ทีเดียว ๚ะ๛
๗๙๏ สิ่งร้ายใดเกิดขึ้น | เพียงอณู น้อยฤๅ |
ไป่รีบระงับดับดู | แต่น้อย |
คือเหตุแห่งพหู | ทรโทษ เจริญนา |
เฉกเช่นเพลิงดวงจ้อย | ไป่สิ้นคงเถกิง ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๘๐ ชายคนแก่กับความตาย
๏ ชายคนแก่ผู้หนึ่งทำการตัดฟืนอยู่ในป่า ครั้นเมื่อหาบมัดฟืนเข้ามาในเมืองจะขายชั่ววันหนึ่ง มีความเหนื่อยหน่ายด้วยหนทางไกลก็แวะนั่งลงข้างทางทิ้งหาบที่หนักลงเสีย เรียกหาความตายให้มา ขณะนั้น ความตายก็มาทันทีตามคำเรียก แล้วถามชายนั้นว่าเรียกหาด้วยเหตุใด ชายแก่นั้นจึงตอบว่าหาบที่ปลดลงวางไว้นั้น ท่านจงยกขึ้นวางบนหัวไหล่ข้าพเจ้าเถิด ๚ะ๛
ธรรมดาคนที่ไม่อดทน เมื่อต้องรับความลำบากที่ไม่อยากจะทน ก็จะขวนขวายหาการสิ่งอื่นซึ่งไม่เคยทน แม้หนักกว่าการที่ตัวต้องทนอยู่ก็ไม่ว่า แต่เมื่อการใหม่นั้นมาเมื่อใด จึงได้รู้ว่าการที่ตัวเคยทนอยู่นั้นดีกว่ามาก ๚ะ๛
๘๐๏ ผู้ใดไปกอบด้วย | อดทน |
พบหนักรีบขวายขวน | หลีกลี้ |
แสวงกิจไป่เคยกล | หวังแบก เบานา |
กิจใหม่หนักยิ่งกี้ | จึ่งรู้สึกแสยง ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๘๑ ต้นสนกับต้นแปรมเบล๑
๏ ต้นสนพูดอวดกับต้นแปรมเบลว่าเจ้านี้ไม่มีประโยชน์อะไรสักอย่างเดียว ส่วนเราได้ใช้เป็นหลังคาเรือนแลเรือนทุกหนทุกแห่ง ต้นแปรมเบลจึ่งตอบว่าน่าสงสารอย่างเช่นท่าน ถ้าท่านจะระลึกขึ้นมาในใจถึงขวานแลเลื่อยทั้งปวง เมื่อจะตัดจะทอนท่านลงท่านจะมีความคิดความประสงค์จะใคร่งอกขึ้นเป็นต้นแปรมเบลไม่เป็นต้นสน
ผู้ที่ยิ่งกำเริบเพราะมีความมุ่งหมายอย่างใดอยู่ในใจนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นไม่ได้คิดไม่ได้รู้ ว่าการที่จะให้สำเร็จความมุ่งหมายจริงนั้นเป็นอย่างไร (ฤๅ) ผู้ที่ยิ่งกำเริบนั้นเป็นผู้โง่แก่ความฉิบหาย และความอันตรายของตัวซึ่งจะต้องมี ๚ะ๛
๘๑๏ ผู้ใดเย่อหยิ่งด้วย | ผยำเผยอ |
กำเริบพยศยงคะเยอ | ด่วนได้ |
แสดงส่อว่าละเมอ | มัวโมห์ แลแฮ |
ฤๅจะรู้ว่าใกล้ | พินาศร้อนเร็วถึง ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๘๒ อิติยบ๒ (เป็นชื่อเรียกประเทศอาฟริกาแต่ก่อน)
๏ ผู้ที่ซื้อคนดำมาใช้มีความเห็นว่าสีหนังแห่งคนดำที่ดำนั้น จะเกิดขึ้นด้วยเปื้อนเปราะติดอยู่ด้วยนายเก่าทอดทิ้งเสียเป็นแน่ เมื่อพาคนนั้นมาบ้านแล้ว ก็คิดชำระสะสางแก้ไขถูทุกอย่างแลบังคับให้ถูตัวอยู่เสมอ คนดำนั้นก็เจ็บเป็นไข้อาการหนักแต่สีตัวนั้นก็มิได้เปลี่ยนได้เลย
สิ่งใดที่ติดอยู่กับกระดูกก็คงติดมาถึงเนื้อ
๘๒๏ สิ่งไรที่ติดกล้ำ | กับกระ ดูกแฮ |
คงจักติดมาตะ | หลอดเนื้อ๓ |
เพราะอัฐิมังสะ | ต่อเนื่อง กันนอ |
เฉกชนิดผิวนิลเชื้อ | นอกแม้นเหมือนใน ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๘๓ นายประมงกับอวน
๏ นายประมงคนหนึ่งกำลังทำการของตัวอยู่ ลงอวนได้ดีมีปลาติดมาก ชายนั้นก็เก็บอวนโดยฝีมืออันชำนิชำนาญ เพื่อจะรักษาปลาใหญ่ทั้งปวงมิให้หลุดไปและลากเข้ามาถึงฝั่ง แต่มิอาจที่จะกันปลาเล็กมิให้กลับออกไปข้างล่าง๔ชายของอวนลงในทะเลใต้ ๚ะ๛
อันตรายของผู้มียศแลทรัพย์นั้นมากกว่าคนจน คนเล็กคนจนหลบหลีกอันตรายง่ายกว่าผู้มีอำนาจผู้มีทรัพย์ ๚ะ๛
๘๓๏ คนจนจักหลีกลี้ | อันตราย |
หลบเลี่ยงโดยง่ายดาย | เพราะน้อย |
คนมีทรัพย์ยศผาย | หลบยาก ยิ่งนา |
เฉกเช่นอวนหากร้อย | รอบได้ปลาโต ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๘๔ ชายถูกสุนัขกัด
๏ ชายผู้หนึ่งถูกสุนัขกัดไปเที่ยวหาหมอรักษาไปพบเพื่อนคนหนึ่ง ถามทราบความประสงค์แล้ว กล่าวว่าถ้าท่านอยากจะให้หายจงเอาขนมปังชุบโลหิตที่แผลของท่านให้แก่สุนัขที่กัดท่านกินก็จะหาย ชายที่ถูกสุนัขกัดหัวเราะในคำที่แนะนำนั้น แล้วกล่าวว่าถ้าข้าพเจ้าทำดังนั้น ก็เหมือนกับจะอ้อนวอนขอหมาทั้งเมืองให้มากัดข้าพเจ้า ๚ะ๛
การเกื้อกูลแก่พวกที่มีน้ำใจร้าย เหมือนจะเป็นเหตุให้มันทำอันตรายแก่ท่านมากขึ้น ๚ะ๛
๘๔๏ คนพาลใจผรุสร้าย | ฤษยา |
ใครชอบชวนไปมา | ชิดใช้ |
แล้วช่วยอุดหนุนหา | ประโยชน์ ให้แฮ |
เหมือนจักก่อทุกข์ให้ | เดือดร้อนฤๅวาย ๚ะ |
พระยาศรีสิงหเทพ
ที่ ๘๕ สุนัขจิ้งจอกกับกา
๏ กาตัวหนึ่งไปลักเนื้อได้ชิ้นหนึ่งมาจับอยู่บนต้นไม้คาบก้อนเนื้อไว้ในปาก สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเห็นก็มีความประสงค์อยากจะใครได้เนื้อนั้นเป็นของตัว จึ่งคิดโกงทำกลอุบายล่อลวงก็ไม่สมประสงค์ ร้องว่าขึ้นไปกับกาว่า กานี้ช่างสวยกระไรเลย ความที่งามนั้นทั้งรูปแลผิวพรรณก็ผ่องใส แต่ถ้าเสียงเพราะเหมือนกับความงามอื่น ๆ ก็สมควรทีเดียวที่จะนับว่าเป็นพระราชินีนางพระยาแห่งนกทั้งปวง คำที่สุนัขจิ้งจอกกล่าวดังนี้ เป็นคำแกล้งยกยอตรง ๆ แต่กามีความปรารถนาที่จะแก้คำติเตียนซี่งยกว่าด้วยเสียงของตัว ก็ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังขึ้นเนื้อก็ตกลง สุนัขจิ้งจอกวิ่งไปคาบเก็บขึ้นโดยเร็ว แล้วกล่าวว่ากาของเราผู้เป็นสัตว์อันดีเสียงของท่านก็พอใช้ได้ แต่ความคิดของท่านนั้นยังต้องการอยู่อีก ๚ะ๛
คำที่ติเตียนแลสรรเสริญนั้น ควรจะต้องระวังให้มากทั้งสองอย่างเหมือนกัน ๚ะ๛
๘๕๏ คำยอยกย่องให้ | ใจเพลิน เชื่อนา |
คำติริเปลี่ยนเกิน | เก่าได้ |
ไม่จริงสิ่งสรรเสริญ | ฤๅติ |
ทำทุกข์ทั้งคู่ให้ | เร่งรู้ระวังฟัง ๚ะ |
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่ ๘๖ สุนัขสองตัว
๏ ชายผู้หนึ่งมีสุนัขสองตัว สุนัขพันธุ์ไล่เนื้อตัวหนึ่งหัดไว้สำหรับไปด้วยในการล่าสัตว์ อีกตัวหนึ่งเป็นพันธุ์สุนัขเฝ้าเรือนก็สอนให้รักษาเรือน ครั้นวันที่ไปไล่สัตว์ได้ดีมาก กลับมาก็ให้สัตว์ที่ได้แก่สุนัขเฝ้าเรือนเป็นส่วนมาก สุนัขที่ไล่เนื้อมีความเสียใจมากในการเรื่องนี้ จึงได้ว่ากับสุนัขเพื่อนกันว่าการที่จะไปจับสัตว์เป็นการที่หนักยิ่งนัก ส่วนตัวเจ้าไม่ได้ช่วยในการไล่ แต่บริบูรณ์ไปด้วยผลแห่งการของเราทำ สุนัขสำหรับเรือนจึ่งตอบว่า ท่านอย่าโกรธเราเลยเพื่อนเอ๋ย ควรจะยกผิดแก่นายผู้ซึ่งมิได้สอนเราให้ทำการ ให้แต่เลี้ยงชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่าน
เด็ก ๆ ไม่ควรจะโกรธความผิดที่บิดามารดาของตัวได้ทำ
๘๖๏ อิจฉาเพื่อนข้าเคียด | การนาย นั้นนา |
แท้ผิดหลงกิจหมาย | ผิดเค้า |
เป็นข้าจักเกี่ยงตะกาย | เกินกิจ นายฤๅ |
งานท่านท่านเป็นเจ้า | จะใช้ตามควร ๚ะ |
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่ ๘๗ หญิงแก่กับไหน้ำองุ่น
๏ หญิงแก่พบไหเปล่าซึ่งได้กรอกน้ำองุ่นอย่างเอกอันเป็นของเก่า กลิ่นหอมของน้ำองุ่นซึ่งเคยอยู่ในนั้นยังติดอยู่ หญิงแก่นั้นยกไหขึ้นเทียมจมูกดมด้วยความอยากเป็นกำลังเป็นหลายครั้ง ยกขึ้นแล้ววางลงหลายหนพูดว่า อร่อยชื่นใจอย่างยิ่งน้ำองุ่นนั้นเองจะดีสักเพียงใดหนอ แต่เหลืออยู่ข้างหลังแต่เพียงกลิ่นในไหที่ใส่ยังมีกลิ่นหอมดังนี้
การที่ดีแล้วคงปรากฏอยู่เสมอไม่รู้สิ้น ๚ะ๛
๘๗๏ การที่ดีชอบแล้ว | เฉกรัตน์ |
คงจะปรากฏชัด | เช่นชี้ |
บ มิเสื่อมจางจรัส | เจริญอยู่ เสมอนา |
ดังแบบนิบาตนี้ | นับอ้างออกเสนอ ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๘๘ แม่ม่ายกับแกะ
๏ ยังมีแม่ม่ายคนหนึ่งเป็นคนแก่ มีแต่แกะตัวเดียวเท่านั้น ครั้นถึงฤดูตัดขนแกะก็อยากจะได้แน่ แต่จะกันไม่ให้เสียเงินจึงได้ตัดเสียเอง แต่แม่ม่ายนั้นใช้กรรใกรสำหรับตัดไม่ถนัด คีบขนแกะแล้วพลอยคีบเนื้อแกะด้วย แกะก็ดิ้นรนด้วยความเจ็บแล้วว่า มาทำไมจึ่งทำอันตรายแก่ข้าพเจ้าดังนี้ เลือดข้าพเจ้าจะเพิ่มน้ำหนักขนขึ้นได้ฤๅ ถ้าท่านอยากจะได้เนื้อข้าพเจ้า คนที่สำหรับฆ่าสัตว์ก็มี เขาจะฆ่าข้าพเจ้าตายโดยเร็วไม่ลำบาก ถ้าท่านอยากจะได้ขนช่างตัดขนก็มี เขาจะตัดไม่ทำอันตรายกับข้าพเจ้า ๚ะ๛
การที่จะเสียน้อยเสียถูกไม่เป็นเหตุให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่งเสมอไปทีเดียว ๚ะ๛
๘๘๏ เสียน้อยเสียถูกสู้ | ทนทำ เองเฮย |
ตน บ่ เชี่ยวชาญกรรม | กิจข้อง |
ไม่เป็นเหตุจะนำ | ผลลาภ เนืองนา |
ขาดประโยชน์ใหญ่ต้อง | แบบอ้างอรรถแถลง ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๘๙ ลาเถื่อนกับราชสีห์
๏ ลาเถื่อนตัวหนึ่งกับราชสีห์ตัวหนึ่ง เข้ากันเป็นไมตรีเพื่อจะได้จับสัตว์ทั้งปวงในป่าได้ด้วยกันโดยง่าย ราชสีห์ยอมที่จะช่วยลาเถื่อนด้วยแรง ลาเถื่อนจะช่วยราชสีห์ให้เป็นคุณด้วยฝีเท้าเร็วกว่า ครั้นเมื่อสัตว์ทั้งสองจับสัตว์ได้มากตามประสงค์แล้ว ราชสีห์รับเป็นผู้แบ่งอาหารที่ได้ เพราะดั่งนั้นจึงแบ่งอาหารออกเป็นสามส่วน แล้วว่าแก่ลาว่าเราจะถือเอาส่วนที่หนึ่งเพราะเราเป็นพระยาสัตว์ ส่วนที่สองเพราะเราเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าในการที่ไล่ แลส่วนที่สามนั้นเชื่อเราเถิดจะเกิดความร้ายใหญ่แก่เจ้า ยกไว้แต่เจ้ามีความยินดียอมยกให้เราแล้วรีบไปเสียโดยเร็วเต็มกำลังที่เจ้าจะไปได้ ๚ะ๛
กำลังมากทำให้เป็นการถูกการควรได้หมด ๚ะ๛
๘๙๏ คบผู้อำนาจพ้น | คุณพล ตนเฮย |
แรงร่วมแรงแสวงผล | ย่อมได้ |
ครั้นแบ่งขาดแรงตน | จะต่อ เถียงแฮ |
แรงท่านมากหากให้ | ส่วนสิ้นกินเขษม ๚ะ |
ที่ ๑๐๐๕ กวางในที่ไว้หญ้าโค
๏ กวางตัวหนึ่งได้ความคับแค้นเป็นอันมากด้วยสุนัขแห่งพรานไล่มืดไปด้วยความกลัวอันตราย วิ่งเข้าไปอาศัยในที่เลี้ยงสัตว์แห่งหนึ่งอาศัยอยู่ในร่มโรง ปนอยู่ด้วยโคทั้งปวง โคตัวหนึ่งจึงได้ตักเตือนด้วยน้ำใจกรุณาว่า ท่านผู้เป็นสัตว์ไม่มีความสุข ทำไมท่านจึงเข้าหาอันตรายเองโดยลำพังตัวของท่านดังนี้ ท่านจะมอบตัวของท่านเองไว้แก่ศัตรูฤๅ กวางจึ่งตอบว่า เพื่อนเอ๋ย ขอเพียงแต่ท่านยอมให้เราอยู่ที่เราอยู่เดี๋ยวนี้เถิด เราคิดจะหาช่องที่ดีบางเวลาแล้วก็จะได้หนีไป ครั้นเวลาตกเย็นลง คนเลี้ยงโคทั้งปวงก็พากันมาให้อาหารสัตว์ แต่มิได้เห็นกวาง ที่สุดจนผู้ตรวจการมากับคนทำงานหลายคน เดินผ่านไปในโรงนั้นก็มิได้เห็น กวางก็ชมบุญของตัวเองที่รอดไปได้ แลเริ่มแสดงความขอบใจไมตรีแก่โคทั้งปวงซึ่งมีน้ำใจกรุณาได้ช่วยเขาในเวลาขัดสน โคตัวหนึ่งจึ่งตอบว่าเรามีความประสงค์อยากจะให้ท่านดีจริง ๆ ดอก แต่อันตรายนั้นยังไม่หมดทีเดียว ยังมีอีกคนหนึ่งที่จะผ่านมาในโรงนี้ คนนั้นเหมือนกับมีตาสักร้อยดวง ตั้งแต่เขามาจนเขาจะกลับไป ชีวิตของท่านยังตกอยู่ในที่น่ากลัว ในประเดี๋ยวนั้นนายผู้เป็นเจ้าของก็เข้าไปแลติเตียนว่าไม่ได้เลี้ยงโคให้บริบูรณ์ แลไปดูที่วางหญ้าเองร้องว่าทำไมอาหารที่เลี้ยงสัตว์จึงได้น้อยดังนี้ ฟางก็ไม่พอที่สัตว์จะนอนสักครึ่งเดียว อ้ายพวกขี้เกียจพวกนี้ชั้นแต่จะปัดใยแมงมุมเสียก็ไม่มี เมื่อตรวจดูทีละสิ่งละสิ่งเป็นลำดับไปดังนั้นก็แลเห็นเขากวางยื่นขึ้นมาจากกองฟาง จึ่งเรียกคนงานทั้งปวงมาสั่งให้จับกวางนั้นไปฆ่าเสีย ๚ะ๛
การที่จะฝ่าอันตรายไปในพวกศัตรู เพราะประมาทกำลังปัญญาแห่งศัตรูนั้น เป็นการที่ให้ชีวิตของตัวแก่ศัตรูเปล่า ๆ แท้จริง ๚ะ๛
๑๐๐๏ การฝ่าฝืนเข้าสู่ | สถานมี ภัยแฮ |
ประมาทตนเสียที | ทุกข์ล้น |
เหมือนไม่รักษ์ละชี- | วิตแก่ ศัตรูแฮ |
ดุจเช่นกวางเคาด้น๖ | อยากหญ้าเหยื่อโค ๚ะ |
พระเทพกระวี
ที่ ๑๐๑ ลาชอบเล่น
๏ ลาตัวหนึ่งปีนขึ้นไปบนหลังคาตึกแล้วก็วิ่งเล่นอยู่บนนั้น กระเบื้องก็หักลงไป เจ้าของตึกตามขึ้นไปไล่ลงมาโดยเร็ว แล้วตีด้วยไม้เจ็บเป็นสาหัส ลาจึ่งว่าทำไมข้าพเจ้าเห็นลิงทำอย่างนี้เมื่อเวลาวานนี้ ท่านหัวเราะมากด้วยกันทั้งนั้น ดูเหมือนเป็นการสนุกชอบใจของท่านมาก ๚ะ๛
ผู้ใดไม่รู้จักที่สมควรของตน จำจะต้องสอนให้รู้ ๚ะ๛
๑๐๑๏ รู้ใดไม่เท่ารู้ | จักตน เองนา |
เพราะไม่รู้จึ่งซน | สับไขว้ |
ต้นต่ำจะทำกล | สูงเสลี่ยง หามฤๅ |
โง่กระนี้ดีให้ | หนักน้ำมือสอน ๚ะ |
ที่ ๑๐๒ นกอินทรีกับลูกธนู
๏ นกอินทรีตัวหนึ่งจับอยู่บนชะง่อนศิลาสูง มองดูกระต่ายตัวหนึ่งวิ่งไปมาเพื่อจะได้เป็นอาหาร นายขมังธนูผู้หนึ่งแลเห็นนกอินทรีจากที่กำบังตัวอยู่ หมายแน่นอนแล้วก็ยิงขึ้นไป ลูกธนูต้องนกอินทรีถึงแก่ความตาย เมื่อขณะนกอินทรีจะตายนั้น แลดูลูกธนูซึ่งเข้าไปในอกตนเห็นในแวบเดียวนั้น ว่าลูกธนูผูกด้วยขนของตัวเอง จึ่งร้องว่าความเสียใจของเราครั้งนี้เป็นสองเท่า เพราะเราจะต้องถึงแก่ความตายครั้งนี้ เพราะลูกธนูอันผูกด้วยขนปีกทั้งปวงของเราเอง ๚ะ๛
ทางที่อันตรายจะมาได้ถึงตัวนั้น มักจะต้องอาศัยแก่ของแก่การในตัวของตัวเป็นทางมาก ๚ะ๛
๑๐๒๏ ทางมาแห่งทุกข์ทั้ง | อันตราย |
ทราบแน่จักผ่อนหาย | ห่างได้ |
อาศัยแก่การกาย | กอปรขจัด เสียนา |
เป็นเหตุมรรคาให้ | หลีกพ้นตนเกษม ๚ะ |
ที่ ๑๐๓ เหยี่ยวเจ็บ
๏ เหยี่ยวตัวหนึ่งเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย จึ่งว่ากับมารดาว่า แม่ขาอย่ามีความเศร้าโศกเลย จงอ้อนวอนให้เทวดาทั้งปวง ช่วยให้ชีวิตลูกรอดโดยเร็วเดี๋ยวนี้เถิด แม่เหยี่ยวจึ่งตอบว่าลูกเอ๋ยเทพยดาองค์ใดที่เจ้าคิดว่าจะมีเมตตาแก่เจ้าฤๅ มีเทพยดาสักองค์หนึ่งฤๅที่เจ้ามิได้ล่วงเกินโดยฉกลักของเครื่องสังเวย ที่ชนทั้งปวงเข้ามาถวายที่หน้าศาลแห่งท่านทั้งปวง ๚ะ๛
ถ้าเราอยากจะให้คนทั้งปวงช่วยในเวลาที่ได้ความคับแค้น เราจะต้องทำไมตรีไว้เสียแต่เมื่อเวลายังเป็นสุขสบายอยู่ ๚ะ๛
๑๐๓๏ ยามดีมีแต่จ้อง | จัณฑาล ทั่วเฮย |
เบียนเบียดเสียดส่อพาล | ผิดบ้าย๗ |
ยามยากหากต้องการ | แรงท่าน ถึงแฮ |
โอเปล่าการเก่าร้าย | คิดสิ้นสิ่งประสงค์ ๚ะ |
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่ ๑๐๔ ราชสีห์กับปลาโลมา
๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งซึ่งเที่ยวเดินเล่นตามฝั่งทะเล เห็นปลาโลมาตัวหนึ่งยกศีรษะขึ้นจากคลื่น จึงขอต่อปลาโลมาให้สัญญาเป็นไมตรีกันกับเขา กล่าวว่าในบรรดาสัตว์ทั้งปวงแล้ว เราทั้งสองควรจะเป็นมิตรกันอย่างเอก เพราะฝ่ายหนึ่งก็เป็นขัตติยราชแห่งสัตว์ทั้งปวงบนแผ่นดิน อีกฝ่ายหนึ่งเล่าก็เป็นเจ้าเป็นใหญ่ปกครองสัตว์ทั้งปวงซึ่งอยู่ในมหาสมุทร ปลาโลมาก็มีความยินดีเต็มใจยอมตามที่ชักชวนนี้ อยู่มาภายหลังไม่นานนัก ราชสีห์รบต่อสู้กับโคเถื่อน จึงเรียกให้ปลาโลมามาช่วย ฝ่ายปลาโลมาก็มีความยินดีอยากจะช่วย แต่มิอาจที่จะช่วยได้ เพราะจะคิดอ่านอย่างหนึ่งอย่างใดให้ถึงแผ่นดินได้ ราชสีห์ก็ยกโทษว่าเป็นผู้เสียสัตย์ ปลาโลมาจึ่งตอบว่า เพื่อนเอ๋ยอย่าเพ่อโกรธข้าพเจ้าเลย ธรรมดาซึ่งให้ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ในทะเล แต่มิได้ยอมให้อำนาจแก่ข้าพเจ้าที่จะให้อยู่บนบกได้เลย ๚ะ๛
ประโยชน์อำนาจฤๅกำลังย่อมมีแต่ในที่ ๆ จะมีได้ ซึ่งจะหมายอาศัยแต่การดีที่มีได้แต่แห่งหนึ่งมาใช้ในที่ซึ่งจะมีไม่ได้นั้น เป็นการปรารถนาผิดแท้ ๚ะ๛
๑๐๔๏ ประโยชน์อำนาจกล้า | กำลัง อีกเอย |
อันจะสมควรหวัง | ไป่ค้าง |
ควรเหตุจึ่งเสร็จดัง | จิตมุ่ง หมายแล |
หากใช่ที่เพียรอ้าง | ประโยชน์นั้นกลับสูญ ๚ะ |
ที่ ๑๐๕ ราชสีห์กับสุกรป่า
๏ ในฤดูร้อนวันหนึ่ง เมื่อความร้อนอันกล้าทำให้สัตว์ทั้งปวงมีความกระหายน้ำเป็นธรรมดา ราชสีห์ตัวหนึ่งกับสุกรป่าตัวหนึ่งจะมากินน้ำในบ่อเล็กร่วมคณะเดียวกัน ก็ต่างคนต่างถึงกันโดยเข้มแข็งว่าผู้ใดควรจะกินก่อน มินานก็ต่อสู้กันป่วยเจ็บเกือบจะถึงแก่ชีวิต ครั้นเมื่อขณะหยุดพักหายใจพร้อมกันเพื่อจะต่อสู้ใหม่ให้แข็งแรงขึ้นอีก สัตว์ทั้งสองก็แลเห็นแร้งทั้งปวงมาคอยอยู่ในที่ห่างๆ เพื่อจะกินสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งซึ่งล้มก่อน สัตว์ทั้งสองก็สงบวิวาทกันทันทีแล้วกล่าวว่า เราทั้งสองเป็นมิตรกันเสีย ดีกว่าที่จะเป็นอาหารแห่งกาฤๅแร้งทั้งปวง ๚ะ๛
ทำการวิวาทแตกร้าว เป็นการที่ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ๚ะ๛
๑๐๕๏ เมธาผู้รอบรู้ | ทางประโยชน์ |
เห็นว่าแตกร้าวโกรธ | ต่างผู้ |
เกื้อกูลแต่ปราโมทย์ | ชนม์ยืน ประสมนา |
ตนเสื่อมหิตคุณรู้ | ต่อแล้วจึงเห็น ๚ะ |
พระเทพกระวี
ที่ ๑๐๖ หนูกับวิเซลทั้งหลาย
๏ วิเซลกับหนูทั้งหลายทำการสงครามซึ่งกันแลกัน จนถึงโลหิตตกกันเป็นอันมากมิได้ขาด วิเซลทั้งปวงย่อมเป็นผู้มีชัยชนะทุกครั้ง หนูทั้งปวงจึ่งคิดว่าเหตุซึ่งเราทั้งหลายต้องถึงแก่ปราชัยเนือง ๆ ดังนั้น จะเป็นเพราะมิได้มีผู้เป็นหัวหน้าซึ่งได้ยกให้สูงกว่าทหารทั้งปวง จะได้บังคับบัญชาใพร่พลทั้งปวง แลข้อซึ่งเป็นทางอันตรายแก่หนูทั้งปวงนั้น เพราะมิได้ฝึกหัดให้เรียบร้อย จึ่งพร้อมกันเลือกหนูทั้งปวงซึ่งมีชื่อเสียงโดยชาติตระกูลสืบ ๆ มา แลที่เป็นผู้มีกำลังก็ดีปัญญาความคิดก็ดี ที่มีชื่อเสียงในการกล้าหาญในการรบ หนูทั้งปวงนี้สามารถที่จะจัดการทัพวางกระบวนรบ แลจัดไพร่พลทั้งปวงให้เป็นหมู่ๆ เป็นกองๆ เป็นทัพๆ ครั้นเมื่อจัดการทั้งปวงนี้เสร็จแล้ว ก็ฝึกหัดทหารทั้งปวงชำนิชำนาญเสร็จแล้ว หนูผู้ที่สำหรับนำข่าวไปบอกประกาศรบแก่วิเซลทั้งปวงตามธรรมเนียม พวกหนูแม่ทัพซึ่งเลือกตั้งขึ้นใหม่ ๆ นั้น ก็เอาฟางคาดศีรษะทุกตัวเพื่อจะให้แปลกขึ้นกว่าหมู่ทหารทั้งปวง ครั้นลงมือรบได้สักประเดี๋ยวเดียวความแตกพ่ายใหญ่ก็เกิดขึ้นแก่หนูทั้งปวง ต่างตัวต่างวิ่งหนีไปลงปล่องของตน ๆ เต็มกำลังที่จะวิ่งไปได้ แต่หนูซึ่งจะเป็นแม่ทัพทั้งหลาย มิอาจที่จะลงในปล่องของตัวได้ เพราะติดเครื่องประดับบนศีรษะ วิเซลก็จับไว้ได้ทั้งสิ้น แล้วกินเป็นอาหารเสีย ๚ะ๛
มียศมากขึ้นก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น ๚ะ๛
๑๐๖๏ เกียรติยศยึดผูกผู้ | มียศ มั่นแล |
ยศกีดทั่วกิจกด | หมดสิ้น |
ยามร้อนจะรีบบท | ยศขัด เสียนอ |
ยามเกิดอันตรายดิ้น | ไป่พ้นจนตาย ๚ะ |
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ที่ ๑๐๗ นางเนื้อตาเดียว
๏ นางเนื้อตัวหนึ่งเสียจักษุข้างหนึ่ง เคยไปกินหญ้าที่ศิลาริมทะเล ถ้าจะมีหญ้ากินออกไปได้เพียงเท่าใด ก็ออกไปจนใกล้น้ำเป็นที่สุดเท่านั้น โดยความหวังใจว่าเป็นที่ไว้ใจว่าจะไม่มีอันตรายดีกว่าที่อื่น ๆ นางเนื้อนั้นหันจักษุดีมาข้างบก เพื่อว่าถ้านายพรานฤๅสุนัขมา จะได้ทราบการโดยเร็วทีเดียว ตาข้างที่เป็นอันตรายนั้นหันไปทางทะเล เพราะทางนั้นมิได้มีระแวงว่าจะมีอันตรายเลย ชาวเรือทั้งหลายแล่นใบไปทางนั้นแลเห็นก็มุ่งหมายแม่นยิงนางเนื้อถึงแก่ความตาย เมื่อขณะระบายลมหายใจหอบแล้วได้รำพันดังนี้ ตัวเรานี้เป็นสัตว์มีความลำบาก ที่มาคิดระวังตัวต่อสู้ทางบก แต่ในที่สุดการอันถึงเข้านั้น ฝั่งทะเลซึ่งเรามาหาเพื่อว่าเป็นที่พ้นอันตรายนั้น กลับเป็นอันตรายใหญ่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ๚ะ๛
ที่แห่งใดฤๅการสิ่งใดที่เคยประมาทไว้ใจไม่ได้ระวังว่าจะมีอันตราย สิ่งนั้นแห่งนั้นมักจะเป็นที่มาแห่งความอันตรายยิ่งกว่าที่ ๆ สงสัยระแวงว่าจะมี ๚ะ๛
๑๐๗๏ ระวังตนอยู่รอบข้าง | เหลือดี นักเฮย |
ในถิ่นไม่เคยมี | ทุกข์ร้าย |
คู่เวรมุ่งเป็นที | เพราะห่อน ระวังนา |
ทำสนิทเร็วได้คล้าย | แม่เนื้อตาเดียว ๚ะ |
พระเทพกระวี
ที่ ๑๐๘ คนเลี้ยงแกะกับทะเล
๏ คนเลี้ยงแกะผู้หนึ่งเฝ้าฝูงแกะอยู่ริมฝั่ง เห็นทะเลสงบเรียบราบก็อยากจะเที่ยวไปในทะเลเพื่อประสงค์จะค้าขาย จึงได้ขายฝูงแกะทั้งปวงไปจัดหาสินค้าอินทผลัมได้แล้วก็ออกแล้ว แต่ครั้นไปหน่อยหนึ่งก็ถูกพยุใหญ่เป็นที่น่ากลัวว่าจะต้องอันตรายถึงเรือจม จึงได้ขนสินค้าในเรือทิ้งน้ำเสีย แล้วเอาชีวิตรอดได้กับเรือเปล่าโดยความยากที่จะพ้นอันตรายได้ ครั้นอยู่มาไม่นานนักมีผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้น ชมว่าทะเลเรียบไม่มีคลื่น คนเลี้ยงแกะนั้นจึงพูดกับชายนั้นว่า ฤๅทะเลจะอยากกินอินทผลัมอีกจึงได้ดูสงบเรียบดังนี้ ๚ะ๛
๏ ความโง่ตื้นเป็นเครื่องนำให้ทำผิด ความไม่รู้เป็นเครื่องทำให้เห็นผิดเชื่อผิด ๚ะ๛
๑๐๘๏ เหงางึมงมโง่ตื้น | ตันปัญ ญานา |
เป็นเครื่องชักก่อทัณฑ์ | โทษต้อง |
ความที่ไม่ทราบสรรพ์ | ถึงสุด ความนา |
เป็นเหตุเห็นผิดพ้อง | เชื่อเพี้ยนผิดพิสัย ๚ะ |
ที่ ๑๐๙ ลากับไก่แลราชสีห์
๏ ลากับไก่อยู่ด้วยกันในที่ไว้หญ้า ครั้นเมื่อราชสีห์ตัวหนึ่งกระวนกระวายด้วยความหิวเป็นกำลัง ราชสีห์ก็ได้เข้าไปในที่นั้นเกือบจะกระโดดเข้าจับลา ในเมื่อนั้นไก่ก็ขันขึ้นด้วยเสียงอันดัง (มีคำกล่าวมาว่าราชสีห์ย่อมเกลียดชังเสียงไก่ยิ่งนัก) ก็รีบวิ่งหนีไปโดยเต็มกำลังที่จะวิ่งได้ ฝ่ายลาได้เห็นราชสีห์ทำเหมือนมีความกล้วดังนั้น นึกว่าแต่ชั้นไก่ขันเท่านั้นก็กลัว จึงแข็งใจตั้งความกล้าหาญขึ้นว่าจะไปตีราชสีห์ ก็รีบห้อไปตามเพื่อจะทำตามที่คิดไว้นั้น ลายังมิทันที่จะวิ่งไปไกลนัก ราชสีห์ก็กลับหน้ามาจับลาได้ฉีกป่นเป็นชิ้นเล็กไป ๚ะ๛
ความเชื่อการที่ผิด ๆ มักจะชักให้เป็นอันตรายบ่อย ๆ ๚ะ๛
๑๐๙๏ เชื่อง่ายมักง่ายได้ | ความผิด ง่ายแล |
ดูหมิ่นเห็นหมิ่นคิด | พลาดพลั้ง |
รู้ตื้นคิดตื้นกิจ | ปองขัด เสียนอ |
ง่ายหมิ่นตื้นผลาญตั้ง | หมื่นม้วยอยู่ตาม ๚ะ |
ที่ ๑๑๐ หญิงสำหรับรีดนมโค
๏ ลูกสาวชาวนาผู้หนึ่งเอาถังน้ำนมทูนศีรษะมาแต่โรงโค กำลังเดินมานั้นนึก ๆ ก็สนุกเพลินไปว่า เงินที่ขายน้ำนมได้นี้จะซื้อไข่ไก่ได้อย่างน้อยก็สามร้อยใบ ไข่นั้นคิดยอมให้ทั้งเสียทั้งหายเสร็จแล้ว คงจะฟักเป็นลูกไก่ได้สองร้อยห้าสิบตัว ลูกไก่เหล่านี้โตขึ้นควรจะขายได้ในตลาดถูกกำลังราคาไก่แพงด้วย เพราะฉะนั้นในปลายปีนี้เราก็จะได้เงินจากเศษเล็กเศษน้อยเหล่านี้ ตกเป็นส่วนของเราพอที่จะซื้อเสื้อใหม่ได้ เราจะซื้อเสื้อใหม่นี้ไปในการเล่นนักขัตฤกษ์วันเกิดพระเยซู เมื่อนั้นผู้ชายหนุ่ม ๆ ทั้งปวงก็จะมาพูดนัดแนะกับเรา ๆ จะสะบัดหน้าไม่ยอมเสียทุกคน ในทันใดนั้นหญิงนั้นก็สะบัดไปด้วยพร้อมกับความที่คิดในใจการที่ใฝ่ฝัน ก็ถึงแก่ความฉิบหายในบัดเดี๋ยวทันใดนั้น ๚ะ๛
ความที่นึกมั่นหมายอยู่ในใจอย่างไรนั้น จะซ่อนไว้แต่ในใจนั้นไม่ได้ คงจะปรากฏออกมาภายนอก (ฤๅ) ความคิดเพลิดเพลินฟุ้งซ่านเป็นการฉิบหายแก่กิจที่จะพึงรักษาพึงทำ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ๚ะ๛
๑๑๐๏ จิตมุ่งหมายก่อเกื้อ | การสกล |
นึกนิ่งเนาในกมล | บ่ได้ |
คงเผยพจนดาลดล | ดังออก นอกนา |
ปรากฏแก่ชนให้ | แจ่มแจ้งใจหมาย ๚ะ |
ที่ ๑๑๑ หนูทั้งปวงในที่ประชุมปรึกษา
๏ หนูทั้งปวงพร้อมกันมาประชุมปรึกษา เพื่อจะคิดไว้ให้ตกลงว่า พวกเขาทั้งปวงจะทำอย่างไรดี ที่จะให้รู้เหตุเมื่อแมวซึ่งเป็นศัตรูใหญ่ของเราทั้งหลายจะเข้ามา ไขความคิดต่าง ๆ เป็นหลายอย่างที่คิดขึ้นนั้น ความคิดอันหนึ่งกล่าวขึ้นว่าจะผูกระฆังที่คอแมวเป็นดีกว่าทั้งปวงหมด เพราะหนูทั้งปวงจะได้รู้ตัวว่ามาด้วยเสียงระฆัง จะได้ต่างตัวต่างซ่อนในปล่องเสียหมด แค่ครั้นเมื่อพูดปรึกษากันต่อไป ว่าในหนูทั้งปวงผู้ใดจะเป็นผู้ไปแขวนระฆังแมว ก็ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งจะรับทำการนั้นได้ ๚ะ๛
ความที่นึกนั้นเป็นการง่ายกว่าการที่ทำมาก ๚ะ๛
๑๑๑๏ ความที่ตรึกทั่วถ้วน | กิจการ |
เห็นโปร่งด้วยจิตวาร | ง่ายแท้ |
ลงแรงประกอบงาน | บ ง่าย เลยนา |
เพราะจิตคิดคล่องใช้ | ก่อเกื้อการเบา ๚ะ |
ที่ ๑๑๒ สุนัขป่ากับสุนัขบ้าน
๏ สุนัขป่าตัวหนึ่งพบสุนัขบ้านพันธุ์ซึ่งเรียกมัศติบ๘ เลี้ยงอ้วนบริบูรณ์ แต่มีไม้ผูกติดอยู่กับคอด้วย จึ่งถามสุนัขบ้านว่าผู้ใดเป็นผู้ได้เลี้ยงดีถึงเพียงนี้ แต่จะไปแห่งใดยังให้ลากท่อนไม้ไปด้วยทุกแห่ง สุนัขบ้านจึ่งตอบว่านายผูกไว้ สุนัขป่าจึ่งว่าขออย่าให้เพื่อนเราตกอยู่ในความลำบากดังนี้เลย เพราะแต่เพียงน้ำหนักสายโซ่เท่านี้กีพอที่จะเสียรสอาหารได้อยู่แล้ว ๚ะ๛
ความที่เลี้ยงบริบูรณ์นั้นไม่แก้ไม่คุ้มความที่ต้องข่มขี่ข่มเหงได้ ๚ะ๛
๑๑๒๏ การที่รักใคร่เลี้ยง | บริบูรณ์ |
ถึงเรี่ยวแรงเอิบอูร | อิ่มท้อง |
การอภิบาลพูน | ภักษ์เพิ่ม ก็ดี |
ไม่อาจคุ้มความต้อง | ขู่เขี้ยน๙ข่มเหง ๚ะ |
ที่ ๑๑๓ สุกรเถื่อนกับสุนัขจิ้งจอก
๏ สุกรเถื่อนตัวหนึ่ง ยืนอยู่ใต้ต้นไม้ถูเขี้ยวกับต้นไม้ต้นนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านไป ถามว่าทำไมท่านจึ่งลับเขี้ยวเมื่อไม่มีอันตรายให้เป็นที่หวาดหวั่นจากพรานฤๅสุนัขอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ สุกรจึงตอบว่าเราทำดังนี้เป็นการดี เพราะจะลับอาวุธของเราเวลาที่จะต้องใช้เดี๋ยวนั้น ที่ไหนจะทำได้ ๚ะ๛
ซึ่งตระเตรียมตัวพร้อมในการรบไว้เสร็จนั้น เป็นประกันอย่างเอกของการสงบเรียบร้อย ๚ะ๛
๑๑๓๏ ความสงบรบได้เพื่อ | เครื่องรบ พร้อมแฮ |
ข้าศึกทราบสรรพสงบ | งดกล้า |
จะคอยจัดเตรียมครบ | ต่อศึก ถึงฤๅ |
ศึกสิเกิดแล้วอ้า | อาจล้างอย่างไฉน ฯ |
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่ ๑๑๔ คนค้าขายสามคน
๏ เมืองแห่งหนึ่งต้องศัตรูล้อมไว้ พลเมืองทั้งปวงจึงเรียกกันมาประชุมตริตรอง ว่าคิดจะป้องกันเมืองให้พ้นศัตรูด้วยอย่างใดจะดี ช่างก่ออิฐผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในที่นั้นได้กล่าวแนะนำโดยแข็งแรง ว่าอิฐแลจะเป็นสิ่งให้ความป้องกันได้จริง ช่างไม้คนหนึ่งก็มีความปรารถนาแรงกล้าเสมอกัน ชักชวนว่าไม้ซุงเป็นของใช้รับรองได้ดีกว่า ในเมื่อว่ากันอยู่ดังนี้ ช่างหนังผู้หนึ่งยืนขึ้นแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านทั้งปวงข้าเห็นต่างไปจากท่านทั้งปวงทีเดียว เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่จะต่อสู้เสมอกับด้วยหุ้มด้วยหนังทั้งปวง แลมิได้มีสิ่งใดที่จะดีกว่าหนัง ๚ะ๛
ทุก ๆ คนก็เผื่อตน ๚ะ๛
๑๑๔๏ ความเห็นความคิดผู้ | ใดใด |
ผดุงสุขฤผองภัย | กอบกั้น |
พูดมากหากอ้อมไป | เป็นเวียด วงเฮย |
ประโยชน์ตนเองนั้น | ตอกข้อใจความ ๚ะ |
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่ ๑๑๕ ลาซึ่งบรรทุกรูปเคารพ
๏ ลาตัวหนึ่งบรรทุกรูปทำด้วยไม้อันมีชื่อเสียงปรากฏไปตามทางทั้งปวงในเมืองแห่งหนึ่ง เพื่อจะไปตั้งในวัดทั้งปวงของพระนั้นวัดใดวัดหนึ่ง คนซึ่งประชุมกันอยู่ตามหนทางที่ผ่านไป ก็พากันหมอบราบต่อหน้ารูปนั้น ลาคิดว่าเขาก้มศีรษะหมอบกราบตัว เพื่อจะแสดงเคารพนับถือต่อตัวก็ชันตัวขึ้นด้วยความจองหอง แลทำกิริยาภูมิไม่ยอมที่จะก้าวต่อไปอีก คนที่ขับเห็นลาหยุดดังนั้น ก็ตีด้วยแส้โดยแรงตามไหล่ทั้งสองข้าง แล้วกล่าวว่าอ้ายสัตว์หัวดื้อหัวโง่ ยังไม่ถึงเวลาที่มนุษย์จะกราบไหว้ต่อลาดอก ๚ะ๛
ผู้ใดถือเอาความนับถือที่เขามีต่อผู้อื่นมาเป็นของตัว คนทั้งหลายเหล่านั้นเป็นคนไม่มีปัญญา ๚ะ๛
๑๑๕๏ บังใบบุญฤทธิผู้ | เรืองบุญ |
อิงแอบปัญญาคุณ | ท่านใช้ |
เห็นคล่องคาดตนขุน | และปราชญ์ |
เลวกว่าโงโง่ให้ | โง่รู้เจียมตน ๚ะ |
ที่ ๑๑๖ คนเดินทางสองคนกับขวาน
๏ ชายสองคนเดินทางไปเป็นเพื่อนกันแลกัน ชายคนหนึ่งเก็บขวานที่ทิ้งตามหนทางที่เดินไปเล่มหนึ่งก็ร้องขึ้นว่า ข้าได้ขวานเล่มหนึ่ง อีกคนหนึ่งจึ่งทักว่าอย่าเพ่อก่อน เพื่อนเอ๋ย อย่าว่าแต่ ข้า(คือเจ้า) คนเดียว ควรจะว่าเราทั้งสองเก็บขวานได้เล่มหนึ่ง ครั้นพากันเดินไปไม่ไกลที่นั้นก็เห็นเจ้าของเที่ยวเดินตามหาขวานของเขาอยู่ ชายผู้ที่เก็บขวานได้นั้นจึ่งว่า เราทั้งสองเสียทีเสียแล้ว อีกคนหนึ่งก็ตอบว่า อย่าเพ่อก่อนเพื่อนเอ๋ย รักษาคำที่เจ้าพูดแต่เดิมไว้ก่อน เมื่อนั้นเจ้าคิดว่าอย่างไรถูก เดี๋ยวนี้ก็ต้องคิดว่าถูกเหมือนกัน ว่าเสียใหม่เถิดว่า ข้า อย่าว่าเราทั้งสองเสียที เสียแล้ว ๚ะ๛
ผู้ใดซึ่งเป็นผู้ได้รับส่วนในความลำบากด้วย ควรจะต้องได้รับส่วนประโยขน์ด้วย ๚ะ๛
๑๑๖๏ ผู้ใดได้เกี่ยวข้อง | ในลำ บากเอย |
ฝ่ายส่วนประโยชน์จำ | จักได้ |
เพราะการที่ร่วมทำ | แรงร่วม เหนื่อยนา |
แม้น บ่ แบ่งปันให้ | ห่อนต้องยุติธรรม ๚ะ๑๐ |
-
๑. คือ ต้นแบรมเบิล (Bramble) เป็นพุ่มไม้มีหนาม ↩
-
๒. อิติยบ หมายถึง เอธิโอเปีย (Ethiopia, Etiyopya) ↩
-
๓. ตะหลอดเนื้อ พิมพ์ตามหนังสือสมุดไทย หมายถึง ตลอดเนื้อ ↩
-
๔. “ล่าง” ในหนังสือสมุดไทย เป็น “ร่าง” ↩
-
๕. ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ไม่มีนิทานเรื่องที่ ๙๐ - ๙๙ ↩
-
๖. เคา (โบราณ) หมายถึง โค ↩
-
๗. บ้าย คือ โยนความผิดให้ผู้อื่น ใช้ว่า บ้ายความผิด ↩
-
๘. คือสุนัขพันธุ์ Mastiff ↩
-
๙. เขี้ยน หมายถึง เฆี่ยน เป็นคำโทโทษ ↩
-
๑๐. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๔ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ เรื่อง อิศปปกรณำ เล่ม ๕ และสอบเทียบกับหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๓ ↩