บทคัดย่อ

นิทาน “อิศปปกรณัม” เป็นวรรณกรรมแปลเรื่องนิทานอีสปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษฉบับใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลและพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตท้ายเรื่องร่วมกับกวีและนักปราชญ์ราชบัณฑิตหลายท่าน อาทิ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร พระยาราชสัมภารากร และน่าจะมีกวีที่ไม่ปรากฏนามอีกหลายท่าน ทำนองแต่งเป็นนิทานร้อยแก้วขนาดสั้น ใช้ภาษาที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่จบด้วยโคลงสุภาษิตสอนใจให้ข้อคิดแนวทางการดำเนินชีวิต

สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเรื่อง “อิศปปกรณำ” จำนวน ๒๗ เล่ม ประกอบด้วยนิทานอีสปกว่า ๓๐๐ เรื่อง โดยกรมศิลปากรได้ตรวจสอบชำระจัดพิมพ์ครั้งนี้ ๒๔๕ เรื่อง ทั้งนี้ อิศปปกรณัม เป็นผลงานแปลวรรณกรรมจากภาษาอังกฤษในยุคแรก ๆ ของไทย และมีผู้แปลหลายคน การใช้ภาษาอาจมีการลักลั่น ตลอดจนเป็นการแปลวรรณกรรมต่างขาติ ต่างวัฒนธรรม ผู้แปลจึงต้องมีกลวิธีในการกล่าวถึงสิ่งใกล้ตัวให้ผู้อ่านในยุคนั้นเข้าใจ และแม้นิทานอิศปปกรณัมจะเป็นวรรณกรรมจากซีกโลกตะวันตก แต่ด้วยมีแนวคิดด้านคุณธรรม จริยธรรม ปรัชญาการดำรงชีวิต เป็นที่ยอมรับตามหลักสากลและใกล้เคียงกับแนวคิดของไทย จึงทำให้เป็นที่ชื่นชอบและนิยมแพร่หลายในไทย

เรื่องอิศปปกรณัม นี้ ถือเป็นวรรณกรรมสำคัญสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการจัดทำภาพปักเครื่องประดับพระเมรุ ท้องสนามหลวงจากโคลงสุภาษิตท้ายเรื่อง และยังเป็นต้นกำเนิดนิทานอีสปอีกสองสำนวนในสมัยรัชกาลที่ ๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ