บทที่ ๓ นิทานอีสปยุคเริ่มแรกในประเทศไทย

นิทานอีสปเป็นวรรณกรรมเก่าแก่มากว่า ๒,๐๐๐ ปี เชื่อกันว่าเป็นผลงานหรือมีต้นกำเนิดมาจากนักเล่านิทานชาวกรีกโบราณชื่อ “อีสป” (Aesop) ด้วยเนื้อหาของนิทานที่สนุก เข้าใจง่าย สอดแทรกข้อคิดคติสอนใจต่าง ๆ ทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งจากคนในสังคมร่วมยุคสมัยที่อีสปยังมีชีวิตอยู่ และยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

อีสป เป็นนักเล่านิทานชาวกรีกโบราณมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ ๕๖๔ - ๖๒๐ ปีก่อนคริสตกาล แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันการมีตัวตนและไม่มีผลงานเขียนของเขาหลงเหลืออยู่ แต่เชื่อว่าเขาเป็นเจ้าของนิทานซึ่งปัจจุบันเรียกว่า นิทานอีสป ซึ่งมีอยู่นับพันเรื่อง และยากระบุได้ว่านิทานเรื่องใดเป็นผลงานที่แท้จริงของเขา มีผู้เขียนประวัติของอีสปไปต่าง ๆ และมีการแต่งเพิ่มเติมจนทำให้เรื่องราวพิสดารมีสีสัน ข้อมูลจากงานวรรณกรรมโบราณซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นชื่อ The Aesop Romance กล่าวว่าเขาเป็นทาสที่อัปลักษณ์ ได้รับอิสรภาพพ้นจากความเป็นทาสด้วยปัญญา ต่อมาได้เป็นผู้ถวายคำปรึกษาแต่พระมหากษัตริย์และนครรัฐต่าง ๆ บางตำนานว่าอีสปเป็นชาวเอธิโอเปียผิวดำ

เฉลิม มากนวล ได้กล่าวถึงประวัติของอีสป ว่า

ประวัติของนักเล่านิทานมผู้นี้เล่ากันว่า มีรูปร่างอัปลักษณ์เป็นทาสมาแต่กำเนิด สันนิษฐานกันว่าเกิด ณ ตำบล ฟรีเจีย (Phrygia) ในเกาะซามอส (Samos) ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ในหมู่เกาะของกรีซ ช่วงชีวิตอยู่ในราว ๖๒๐ - ๕๖๔ ปีก่อน ค.ศ. ถึงแก่กรรม ๕๖๔ ก่อน ค.ศ. โดยถูกชาวเมืองเดลฟีซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของกรีกจับโยบลงหน้าผาเพราะไม่พอใจคำพูดเปรียบเปรยของเขา

เมื่อเขาตายแล้ว Demetrius Phalereus แห่งนครเอเธนส์ได้รวบรวมนิทานของเขาจากความทรงจำในขณะนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษากรีกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ ๓๒๐ ปีก่อน ค.ศ. Phaedrus ได้แปลจากภาษากรีกเป็นภาษาละตินใน ค.ศ.ที่ ๑ และได้เพิ่มเติมนิทานให้มากกว่าเดิม นิทานอีสปที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นฉบับภาษาอังกฤษที่ได้รับการยกย่องว่าสมบูรณ์ที่สุดคือฉบับของ William Caxton (ค.ศ. ๑๔๘๔) โดยเขาได้รวบรวมนิทานจากต้นฉบับของนิทานอีสปที่เก่าแก่มาเกือบทุกฉบับ”

การเผยแพร่ของนิทานอีสป เริ่มแรกนั้นเป็นลักษณะของ “วรรณกรรมมุขปาฐะ” หรือการบอกเล่าแบบปากต่อปาก มิได้จดบันทึกนิทานเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะมีตำนานที่กล่าวถึงความพยายามรวบรวมนิทานอีสปอยู่หลายตำนาน แต่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดนัก จนกระทั่งประมาณศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ หรือพุทธศตวรรที่ ๑๘ - ๑๙ แมกซิมุส พลานูเดส (Maximus Planudes) นักพรตชาวกรีก ได้แปลนิทานอีสปจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นิทานอีสปเริ่มแพร่หลายไปยังนานาประเทศ และมีการแปลนิทานอีสปเป็นภาษาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทย ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่านิทานอีสปเริ่มเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด หลักฐานการเผยแพร่นิทานอีสปสู่ประเทศไทยที่ชัดเจนมีปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - รัชกาลที่ ๖

นิทานอีสป ของ หมอบรัดเลย์

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) ชาวอเมริกัน ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตจึงผลิตหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกชื่อจดหมายเหตุบางกอก รีคอเดอ หรือบางกอก รีคอเดอร์ (Bangkok Recorder) เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ โดยเขาเป็นบรรณาธิการและเขียนบทความเอง ตั้งสำนักพิมพ์อยู่ที่บ้านพวกมิชชันนารีอเมริกัน ริมคลองหน้าวัดประยุรวงศาวาส ยุคนั้นหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งแปลกใหม่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และมีผู้คิดว่าเป็นหนังสือจดหมายเหตุ จึงเรียกว่า หนังสือจดหมายเหตุ แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจึงพิมพ์ได้เพียงปีเดียวแล้วเลิกไประยะหนึ่งก่อนที่จะกลับมาพิมพ์จำหน่ายอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหฤทัยที่เปิดกว้างและทรงยอมรับการหลั่งไหลเข้ามาของอารยธรรมตะวันตก ทั้งทรงเคยเป็นสมาชิกบางกอก รีคอเดอร์มาก่อน เมื่อหมอบรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์อีกครั้ง ได้ทรงบอกรับเป็นสมาชิกอีก ครั้นทรงพบว่าหมอบรัดเลย์เขียนบทความวิพากษ์พุทธศาสนา ก็มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจระงับการพิมพ์ หากแต่ทรงเขียนบทความโต้ตอบเพื่อแก้ข้อกล่าวหาและความเข้าใจผิด โดยมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่เนื่องจากหมอบรัดเลย์มักเขียนบทความเชิดชูประเทศและศาสนาของตนในทำนองว่าดีกว่าประเทศและศาสนาของคนไทย จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่คนไทย ทำให้ไม่มีผู้สมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดการต่อต้านโดยสมาชิกเดิมไม่จ่ายเงิน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หมอบรัดเลย์จึงประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ เมื่อพิมพ์ได้ถึงฉบับที่ ๒๔ ในครั้งหลังโดยให้เหตุผลว่า ขาดทุนและรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างแต่ก่อน

เมื่อนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอร์ นั้น เขาเป็นบรรณาธิการและเป็นเขียนบทความต่าง ๆ ลงพิมพ์เองด้วย หนึ่งในบทความซึ่งหมอบรัดเลย์ได้เรียบเรียงขึ้นและจัดพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์ สมัยรัชกาลที่ ๓ คือ นิทานอีสป จำนวน ๒ เรื่อง โดยในครั้งนั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นนิทานอีสป แต่ได้ตั้งชื่อว่า คำเปรียบข้อหนึ่ง และ คำเปรียบข้อสอง และมีชื่อเรื่องนิทานภาษาอังกฤษกำกับ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้อธิบายไว้ในบทความทางวิชาการ เรื่อง “พัฒนาการของนิทานอีสป” ความว่า

นิทานอีสปซึ่งหมอบรัดเลย์เรียบเรียงมานั้น อยู่ในหนังสือจดหมายเหตุฯ ฉบับที่ ๗ หรือใบที่ ๗ มี ๒ เรื่อง แต่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นนิทานอีสป เป็นแต่มีภาษาอังกฤษกำกับว่า A Fable : The dog and the piece of flesh และ A Fable : The Fox and the Grapes. และเมื่อเป็นภาษาไทย ก็ใช้ว่า คำเปรียบข้อหนึ่งและคำเปรียบข้อสอง ดังจะขอยกเรื่องประกอบดังนี้

นิทานอีสป สำนวนที่ ๑ (หมอบรัดเลย์)

A Fable : The dog and the piece of flesh

คำเปรียบข้อหนึ่ง

ณะกาลครั้งหนึ่ง สุนักข์ตัวหนึ่งคาบท่อนเนื้อจะข้ามแม่น้ำไป, ก็แลเหนเงาของตัวสำคัญว่าสุนักข์อื่นคาบเนื้อไปเหมือนกัน.ตัวเดิมนั้นเห็นแล้วหยากได้, อดไม่ทล, จึ่งอ้าปากจะชิงเนื้อจากปากสุนักข์อื่น.ครั้นอ้าปากแล้ว, เนื้อที่คาบไปนั้นตกจมเสียก็สูญหายฉิบ.

A Fable : The Fox and the Grapes

คำเปรียบข้อสอง

สุนักข์จิงจอกภอใจกินลูกอหงุ่นรักษ์นัก. กาลจันหนึ่งสุนักข์จิงจอกตัวหนึ่ง, เข้าไปในสวนเห็นพวงลูกอหงุ่นเป็นอันมาก สุกงอมดี, แต่ว่าแขวนไว้สูง ๆ ดูเป็นหน้ากินน้ำลายไหล. อ้ายจิงจอกโดดขึ้นจะชิงเอา, โดดขึ้นสุดกำลังเป็นหลายทีหลายครั้ง, จนตัวเหนื่อยนัก, จะชิงเอาไม่ได้, เห็นเป็นแน่ว่าไม่ได้แล้ว, ก็ขัดใจว่า, ใครจะเอาก็เอาเถิด ข้าไม่เอาละ”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอร์อีกครั้งหนึ่ง และได้เรียบเรียงนิทานอีสปลงพิมพ์ โดยนำนิทานอีสปสองเรื่องก่อนหน้าซึ่งได้เคยจัดพิมพ์เผยแพร่ในบางกอกรีคอเดอร์สมัยรัชกาลที่ ๓ มาลงพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง จำนวนรวมทั้งสิ้น ๔๔ เรื่อง ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้รวบรวมรายชื่อนิทานไว้ ดังนี้

ในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์ ของหมอบรัดเลย์ซึ่งตีพิมพ์ในรัชกาลที่ ๓ มีนิทานอีสป เพียง ๒ เรื่องเท่านั้น ก็หยุดกิจการไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนถึงรัชกาลที่ ๔ บางกอก รีคอเดอร์ จึงปรากฏขึ้นใหม่ เท่าที่รวบรวมมีทั้งหมด ๔๔ เรื่อง ดังนี้

๑. คำเปรียบข้อหนึ่ง คือเรื่องสุนัขคาบเนื้อ ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วในเล่มที่ ๗ ในรัชกาลที่ ๓

๒. คำเปรียบข้อสอง คือสุนัขกับพวงองุ่น

๓. ไก่ตัวภู่กับเพชร

๔. คำปริศนา คือ เรื่องละมั่งผู้อวดฉลาด

๕. ไม่มีชื่อเรื่อง

๖. ช้างทำผิดปหลาด

๗. คำเปรียบด้วย ตัว ฬา

๘. คำปฤษณา คือ เรื่องหมาจิ้งจอกกับแพะผู้โง่เขลา

๙. ไม่มีชื่อเรื่อง คือ เรื่องค้างคาวผู้กลับกลอก

๑๐. กาแลสุนัขจิ้งจอก

๑๑. ไม่มีชื่อเรื่อง คือเรื่องชาวบ้านกับงูเห่า

๑๒. หมีแลรังผึ้ง

๑๓. นกพิราบกระหายน้ำ

๑๔. สิงโตหาเมีย

๑๕. หมาในกับลูกแกะ

๑๖. หมาบ้านแลหมาใน

๑๗. อึ่งอ่างอยากได้เจ้านาย

๑๘. ม้ารบกับฬา

๑๙. หมากับวัว

๒๐. ปูแม่ลูก

๒๑. นกอินทรีแลกา

๒๒. หมอยารักษาไข้กับศิษย์

๒๓. เฮิกกิลีกับพ่อค้าเกวียน

๒๔. พระอาทิตย์แลลม

๒๕. นกอินทรีกับหมาจิ้งจอก

๒๖. นกยูงแลกา

๒๗. กาแลหม้อน้ำ

๒๘. หมาจิ้งจอกหางด้วน

๒๙. เด็กเลี้ยงแกะกับหมาใน

๓๐. ลิงแลคนตระหนี่

๓๑. ชาวนาแลหมาของตัว

๓๒. ไก่แลฬาแลสิงโต

๓๓. เด็กจมน้ำ

๓๔. ฬาแลเจ้าของ

๓๕ ม้าสองตัว

๓๖. สิงโตแลหมีแลหมาจิ้งจอก

๓๗. คนเที่ยวในป่าแลหมี

๓๘. หมาในที่เอาหนังแกะมาใส่ตัว

๓๙. ลิงแลคนลงอวน

๔๐. หนูแลหมาจิ้งจอกแลไข่

๔๑. แพะแลกระจก

๔๒. สิงโตแลสัตว์ป่าอื่นต่าง ๆ

๔๓ ห่านที่มีไข่ทอง

๔๔. คนตระหนี่ใหญ่กับเพื่อนบ้านของตัว”

นิทานอีสปสำนวนหมอบรัดเลย์มีลักษณะเป็นนิทานร้อยแก้วสั้น ๆ และในจำนวนนิทานทั้งหมด ๔๔ เรื่อง (สองเรื่องแรกความซ้ำเป็นเรื่องเดียวกับที่ลงพิมพ์ในจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์สมัยรัชกาลที่ ๓ จึงนับเป็นเรื่องเดียวกัน) มีบทอุทาหรณ์สอนใจ ทำนอง “นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า” ซึ่งหมอบรัดเลย์ เรียกว่า “ความเปรียบ” อยู่เพียง ๓๕ เรื่อง

แม้หมอบรัดเลย์จะเรียบเรียงนิทานอีสปพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์เพียง ๔๔ เรื่อง และน่าจะเผยแพร่อยู่ในวงจำกัดเฉพาะชนชั้นสูงและผู้มีการศึกษาในสมัยนั้น แต่เข้าใจว่าน่าจะจุดประกายความสนใจและทำให้นิทานอีสปเริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทย ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เกิดวรรณกรรมไทยจากนิทานอีสปขึ้น ๑ สำนวน คือ “อิศปปกรณำ” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และชุมนุมกวี และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ อีก ๒ สำนวน ได้แก่ นิทานอีสป ของ พระจรัสชวนะพันธ์ (พ.ศ. ๒๔๕๕) และนิทานอีสป ของ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ (พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๓) ลงพิมพ์ในหนังสือแบบเรียนดรุณศึกษา

นิทานอีสปในสมัยรัชกาลที่ ๖ ฉบับของภราดา ฟ. ฮีแลร์ และของพระจรัสชวนะพันธ์ เป็นหนังสือแบบหัดอ่านระดับประถมศึกษาที่มีคุณค่ามาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนฉบับ “อิศปปกรณำ”นั้น โคลงสุภาษิตท้ายนิทานได้รับการจัดพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือวรรณกรรม “โคลงสุภาษิต” หลายครั้ง แต่ในภาคของนิทานนั้น นอกจากที่ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้นำภาพสำเนาหนังสือสมุดไทยมาจัดพิมพ์จำนวน ๑๐๐ เรื่อง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ แล้ว ยังไม่เคยมีการตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์แบบครบถ้วนมาก่อน วรรณกรรมนิทานอีสปทั้งสามฉบับมีลักษณะดังนี้

อิศปปกรณัม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชุมนุมกวี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปลนิทานอีสปจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยร่วมกับปราชญ์และกวีในราชสำนัก ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าทรงแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษฉบับใด ลักษณะการแต่ง เป็นนิทานร้อยแก้วขนาดสั้น ลักษณะการประพันธ์ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ ใช้ประโยคสั้น ๆ และมีคำเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์สรุปเนื้อหาและประพันธ์โคลงสี่สุภาพขึ้น เพื่อเป็นสุภาษิตสอนใจในลักษณะ “นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า” เพิ่มเติมท้ายนิทานแต่ละเรื่องด้วย มีจุดมุ่งหมายในการแต่งเพื่อเป็นคติสอนใจและแนวทางแก่ผู้อ่านให้เลือกปฏิบัติตามคำสอนจากนิทานในแต่ละเรื่อง สำหรับชื่อของวรรณกรรมนั้น ในพระราชนิพนธ์อธิบายเรื่องนิทานชาดกเดิมทรงเรียกนิทานอีสปว่า “นิทานอีสอป” และทรงเรียกวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า “อีสอปปกรณำ” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิตและบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถทางการประพันธ์ เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร, พระยาราชสัมภารากร พระเทพกระวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ขุนท่องสื่อ ขุนทิพยวินัย และขุนภักดีอาษา ฯลฯ ร่วมกันแปลและเรียบเรียงนิทานอีสปเพิ่มเติมขึ้นอีก มีต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเรื่อง อิศปปกรณัม ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่กลุ่มตัวเขียนและจารึกสำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวนทั้งสิ้น ๒๗ เล่มสมุดไทย ต้นฉบับเป็นหนังสือสมุดไทยดำ จารึกอักษรด้วยวัสดุต่าง ๆ ได้แก่ หรดาล รง และ ดินสอขาว บางเล่มมีความซ้ำกันจนถือว่าเป็นฉบับเดียวกัน บางเล่มเป็นฉบับร่าง มีจำนวนนิทานมากกว่า ๓๐๐ เรื่อง ลักษณะการประพันธ์เป็นนิทานร้อยแก้วขนาดสั้น จบด้วยโคลงสุภาษิตซึ่งเป็นคำสอน นิทานส่วนหนึ่งมีระบุนามผู้ประพันธ์นิทานและโคลง แต่บางเรื่องยังแต่งไม่จบสมบูรณ์

อนึ่ง การวิจัยครั้งนี้ วิจัยโดยใช้ข้อมูลจากวรรณกรรม “อิศปปกรณัม” ซึ่งผู้วิจัยได้ตรวจสอบชำระ จัดทำต้นฉบับเพื่อดำเนินการจัดพิมพ์โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พร้อมกันในครั้งนี้ และจากหนังสือสมุดไทย ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์และวิจัย จะกล่าวโดยละเอียดต่อไปในบทที่ ๔

นิทานอีสป ของพระจรัสชวนะพันธ์

พระจรัสชวนะพันธ์ (พระยาเมธาธิบดี) เดิมชื่อ สาตร์ สุทธเสถียร เป็นบุตรหลวงอาวุธอรรคนี (สุด สุทธเสถียร) เจ้าเมืองชุมพรกับนางพัน สุทธเสถียร เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะ (ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๒๒) ในตรอกข้างวัดมหาธาตุ พระนคร เริ่มการศึกษาเมื่ออายุ ๙ ปี เรียนกับ พระปลัดคง วัดมหาธาตุ สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรครูภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนฝึกหัดครู เป็นผู้อ่านคำกราบบังคมทูลรับเสด็จบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประพาสยุโรปเป็นภาษาอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับทุนเรียนจบวิชาครูที่ประเทศอังกฤษ แต่ถูกเรียกตัวให้กลับมารับราชการก่อนรับปริญญา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านภาษาไทยภาษาอังกฤษและวิชาครูดีเยี่ยม นอกจากผลงานแปลนิทานอีสปแล้ว ยังเขียนตำราเรียนและคู่มือครูเป็นจำนวนมากเช่น การสอนบทเรียนด้วยของ เล็คเชอร์ด้วยดิสศิปลินของโรงเรียน เล็คเชอร์ด้วยวิธีสอนพงศาวดาร วิชาครูอัธยาตมวิทยา ฯ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้เรียบเรียงตำราเคมี ตำราจิตวิทยา และเป็นผู้สร้างข้อสอบเชาวน์เพื่อวัดระดับสติปัญญาของคนไทยเป็นคนแรก เป็นผู้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์มากกว่าการท่องจำ และการใช้คำไทยหรือสร้างศัพท์บัญญัติแทนการทับศัพท์ เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ๓ สมัย พ.ศ. ๒๔๙๐ ๒๔๙๒, ๒๔๙๓ เป็นองคมนตรี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นอธิบดีกรมธรรมการ กระทรวงวัง อธิบดีกรมวิชชาธิการ (กรมวิชาการ) กระทรวงธรรมการ พ.ศ.๒๔๖๕-๒๔๗๓ รั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๖๒ เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๖๙ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๙ สิริอายุ ๗๖ ปีเศษ

ด้วยลักษณะของนิทานอิสปที่มีลักษณะเป็นนิทานสั้น ๆ มีคติสอนใจจึงเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเป็นหนังสือแบบเรียนและหนังสือหัดอ่านสำหรับเด็ก เพราะนอกจากจะได้ความรู้ด้านภาษาแล้ว ยังช่วยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดาอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ทรงแนะนำให้พระจรัสชวนะพันธ์ แปลและเรียบเรียงหนังสือนิทานอีสปเป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับหัดอ่านของเด็กชั้นมูลศึกษา (เทียบเท่าขั้นประถมศึกษาในปัจจุบัน) พระจรัสชวนะพันธ์จึงได้แปลเรียบเรียงหนังสือนิทานอีสปขึ้นดังรายละเอียดในคำชี้แจงของผู้แต่งในการพิมพ์ครั้งนั้นว่า

คำชี้แจงของผู้แต่ง

หนังสือนิทานอีสปเล่มนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ทรงแนะนำให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้น ให้ใช้ภาษาง่าย ๆ และประโยคสั้น ๆ สำหรับเด็กในขั้นมูลศึกษาจะได้ใช้เป็นแบบสอนอ่าน ในเมื่อเรียนแบบเรียนมูลศึกษาจบเล่มแล้ว ธรรมเนียมหนังสือที่เป็นแบบสอนอ่านอย่างดีไม่ว่าจะแต่งขึ้นในภาษาใด ๆ ย่อมเพ่งประโยชน์อยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งเพื่อให้มีความรู้ในวิชาหนังสือดีขึ้น เช่น ให้อ่านหนังสือคล่อง ให้อ่านถูกระยะวรรคตอน ให้ทั้งผู้อ่านและผู้ฟังเข้าใจความได้ชัดเจน กับให้จำตัวสะกดการันต์ และถ้อยคำสำนวนที่ดีได้ เป็นต้น อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นข้อสำคัญยิ่ง และซึ่งครูมักจะละเลยกันเสียมาก ก็คือเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ปัญญา ความคิด ที่จะตริตรองตามเนื้อเรื่องที่ได้อ่านแล้วให้เห็นประจักษ์ขึ้นในใจตนเองว่าภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ล้วนเป็นของดี และถ้าตนประพฤติตามก็ได้รับประโยชน์ด้วยกันทุกคน ไม่เลือกหน้าว่าผู้ใด ความเพ่งประโยชน์ ในสองข้อนี้ถ้าครูจะปฏิบัติให้สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็มีข้อที่จะแนะนำอยู่บ้างคือ เมื่อนักเรียนอ่านบทใดไปแล้ว อย่าให้ครูถือว่าเป็นเสร็จธุระของตนเพียงเท่านั้น จงอุตส่าห์ซักถามสกัดสะแกงให้นักเรียน คิดตอบ ตามเนื้อเรื่องได้โดยอนุมัติของตนเอง เช่น นิทานเรื่องราชสีห์กับหนู เมื่อปันให้นักเรียนในชั้นอ่านเป็นตอน ๆ จนจบแล้ว ครูควรให้นักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้นเล่าให้ฟังจนตลอดเรื่องแล้วถามนักเรียนเป็นคน ๆ ไปว่า ราชสีห์ในรูปนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เขี้ยวเล็บเป็นอย่างไร ถ้าเด็กไปพบเข้าตามทางสักตัวหนึ่งจะทำอย่างไร ส่วนหนูนั้นใคร ๆ ก็รู้จัก ที่บ้านใครมีหนูชุมบ้าง หีบไม้หนา ๆ และพื้นกระดานแข็ง ๆ ทำไมหนูจึงทะลุลอดเข้าไปได้ ฟันหนูเป็นอย่างไร ราชสีห์โกรธหนูเมื่อตะครุบหนูไว้ได้แล้วทำไมจึงปล่อยตัวไปเสีย ใจคอราชสีห์เป็นอย่างไร ถ้าราชสีห์ฆ่าหนูเสียในเวลาโกรธ เมื่อมาถึงคราวที่ราชสีห์ติดบ่วงแร้วต้องอับจนเข้าดังนี้ ราชสีห์จะเป็นอย่างไร ใจคอหนูเป็นอย่างไร ดังนี้เป็นต้น”

หนังสือนิทานอีสป ของพระจรัสชวนะพันธ์ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๖) พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ จำนวนพิมพ์ ๓๐,๐๐๐ เล่ม ราคาจำหน่ายเล่มละ ๒๕ สตางค์ นิทานทุกเรื่องมีคติธรรมสอนใจ “นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า” อยู่ท้ายเรื่อง มีนิทานทั้งสิ้น ๔๕ เรื่อง ดังนี้

นิทานที่ ๑ เรื่อง ราชสีห์ กับ หนู

นิทานที่ ๒ เรื่อง พ่อ กับ ลูก

นิทานที่ ๓ เรื่อง ลา กับ จิ้งหรีด

นิทานที่ ๔ เรื่อง หมาจิ้งจอก กับ นกกระสา

นิทานที่ ๕ เรื่อง หมาจิ้งจอก กับ แพะ

นิทานที่ ๖ เรื่อง กา กับ นกยูง

นิทานที่ ๗ เรื่อง เด็กจับตี๊กแตน

นิทานที่ ๘ เรื่อง มดง่าม กับ จักจั่น

นิทานที่ ๙ เรื่อง ไก่ กับ พลอย

นิทานที่ ๑๐ เรื่อง กระต่าย กับ เต่า

นิทานที่ ๑๑ เรื่อง เทวดา กับ คนขับเกวียน

นิทานที่ ๑๒ เรื่อง หมา กับ เงา

นิทานที่ ๑๓ เรื่อง ลูกอั้น กับ แม่อัน

นิทานที่ ๑๔ เรื่อง ชาวนา กับ งูเห่า

นิทานที่ ๑๕ เรื่อง ลา หมาจิ้งจอก กับ ราชสีห์

นิทานที่ ๑๖ เรื่อง แมลงวัน กับ ไหน้ำผึ้ง

นิทานที่ ๑๗ เรื่อง หมาป่า กับ ลูกแกะ

นิทานที่ ๑๘ เรื่อง หมาไล่เนื้ออายุมาก

นิทานที่ ๑๙ เรื่อง หมาอยู่ในรางหญ้า

นิทานที่ ๒๐ เรื่อง ไก่แจ้ กับ เหยี่ยว

นิทานที่ ๒๑ เรื่อง หมาจิ้งจอกหางด้วน

นิทานที่ ๒๒ เรื่อง ลูกแพะ กับ หมาป่า

นิทานที่ ๒๓ เรื่อง หมาจิ้งจอก กับ เม่น

นิทานที่ ๒๔ เรื่อง อึ่งอ่าง กับ วัว

นิทานที่ ๒๕ เรื่อง ลูกปู กับ แม่ปู

นิทานที่ ๒๖ เรื่อง พวกหนู ประชุมปฤกษากัน

นิทานที่ ๒๗ เรื่อง นกอินทรี กับ หมาจิ้งจอก

นิทานที่ ๒๘ เรื่อง ชาวสวน กับ ลูก

นิทานที่ ๒๙ เรื่อง ท้อง กับ ตัว

นิทานที่ ๓๐ เรื่อง เทพารักษ์ กับ คนตัดไม้

นิทานที่ ๓๑ เรื่อง นายพราน กับ ไก่ฟ้า

นิทานที่ ๓๒ เรื่อง หนู กบ กับ เหยี่ยว

นิทานที่ ๓๓ เรื่อง ราชสีห์ ชันสูตร์ลมหายใจ

นิทานที่ ๓๔ เรื่อง กบเลือกนาย

นิทานที่ ๓๕ เรื่อง ยายแก่ กับ หมอ

นิทานที่ ๓๖ เรื่อง ต้นไทร กับ ต้นอ้อ

นิทานที่ ๓๗ เรื่อง หมาจิ้งจอก กับ ราชสีห์

นิทานที่ ๓๘ เรื่อง แม่เนื้อ กับ นายพรานป่า

นิทานที่ ๓๙ เรื่อง หมาดุ

นิทานที่ ๔๐ เรื่อง พ่อค้าเกลือ กับโคต่าง

นิทานที่ ๔๑ เรื่อง กระต่ายป่า กับ กบ

นิทานที่ ๔๒ เรื่อง กวาง กับ เสือ

นิทานที่ ๔๓ เรื่อง ลิง กับ คนทอดแห

นิทานที่ ๔๔ เรื่อง คนเลี้ยงแพะ กับ ลูกเสือ

นิทานที่ ๔๕ เรื่อง คนเลี้ยงวัว กับ วัวหาย

นิทานอีสป ของ ภราดา ฟ. ฮีแลร์ (พ.ศ. ๒๔๕๓)

นิทานอีสปสำนวนนี้จัดพิมพ์อยู่ในหนังสือดรุณศึกษา ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนภาษาไทยผลงานค้นคว้าเรียบเรียงของฟร็องซัว ตูเวอแน ฮีแลร์ (François Touvenet Hilaire) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม ภราดา ฟ.ฮีแลร์ (F. Hilaire) หรือ เจษฎาจารย์ฮีแลร์ ฟ.ฮีแลร์ (F. Hilaire) ด้านประวัติส่วนตัว ท่านเกิดที่ตำบลจำโปเนีย เมืองบัวเตียร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นนักบวชชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการยกย่องว่ามีความเชี่ยวชาญแตกฉานภาษาไทย ท่านเดินทางมาเมืองไทยตามคำชักชวนของบาทหลวงกอลมเบต์เพื่อสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญในประเทศไทย เมื่อแรกเดินทางมานั้น ท่านอายุเพียง ๒๐ ปี ไม่สันทัดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แต่ได้อุตสาหะศึกษาภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็น “ครู” ที่ดีด้วยความตั้งใจจริง ท่านฟังเด็กไทยท่อง “มูลบทบรรพกิจ” อยู่เป็นประจำ และหลงใหลในท่วงทำนองลีลาแห่งภาษาไทย จึงมุมานะเรียนรู้ให้เข้าใจคำศัพท์และความหมายของถ้อยคำภาษาไทย โดยได้ศึกษากับครูผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยหลายท่าน อาทิ ครูวันซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาวารสิริ ท่านมหาทิม หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม ศุขยางค์) ครูฟุ้ง เจริญวิทย์ และมหาศุข ศุภศิริ ฟ.ฮีแลร์เรียนภาษาไทยได้ดี จนสามารถอ่านมหาชาติเข้าใจ และสามารถแต่งหนังสือแบบเรียนไทยคือหนังสือชุด “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา” ขึ้นใช้แทนหนังสือมูลบทบรรพกิจในขณะที่เพิ่งมาอยู่เมืองไทยได้เพียง ๕ ปี โดยหนังสือ อัสสัมชัญดรุณศึกษานี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมหาศุข ศุภศิริ ได้เป็นผู้ช่วยตรวจแก้ไขต้นฉบับให้

หนังสือดรุณศึกษา เป็นหนังสือแบบเรียนอ่านและเขียนภาษาไทยที่ท่านตั้งใจประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้สอนในโรงเรียนอัสสัมชัญแทนหนังสือมูลบทบรรพกิจ เนื้อหานอกจากสอนเรื่อง การสะกด การันต์ การอ่านและการเขียนแล้ว ยังได้เรียบเรียงเรื่องความรู้รอบตัว ประวัติศาสตร์ ตำนานพงศาวดาร และนิทานนานาชาติรวมทั้งนิทานอีสป ที่แฝงการอบรมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อให้เด็กนักเรียนเติบโตเป็นคนดีแทรกอยู่ในเล่มด้วย โดยรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาและมูลเหตุในการแต่งหนังสือดรุณศึกษานั้น ปรากฏอยู่ในคำนำหนังสืออัสสัมชัญดรุณศึกษา ตอนกลาง ฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ความว่า

คำนำ

ตั้งแต่ได้พิมพ์หนังสือ “ดรุณศึกษาตอน กอ ขอ” เป็นคราวแรกมานั้น. มีครูและนักเรียนหลายคนพอใจมาถามข้าพเจ้าบ่อย ๆ ว่า เมื่อไรจะพิมพ์เล่มสองต่อไป ? หรือจะมีเพียงเล่มเดียวเท่านี้ ? ที่จริงควรจะแต่งต่อไปอีกให้ครบชุด จนพอแก่ความต้องการให้เป็นแบบสำหรับเล่าเรียนเขียนอ่านในเชิงอักขรสมัยในภาษาไทย แท้จริง, ข้าพเจ้าก็มีนิสัยชอบแต่งเรื่องอะไรต่ออะไร ซึ่งรู้สึกว่าอาจมีคุณประโยชน์แก่เด็ก ๆ อยู่แล้ว; เมื่อถูกถามดังนี้อยู่เนือง ๆ ก็เลยเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารวบรวมถ้อยคำซึ่งมีตัวสกด.ตัวการันต์ และอักขระบัญญัติต่าง ๆ ที่ใช้พูด, ใช้เขียนอยู่ชุกชุมในภาษา แล้วเลือกคัดจัดสรรปันเป็นบท ๆ ตามระเบียบ, ซึ่งเห็นว่านักเรียนจะสังเกต, และจำง่ายไว้เป็นแพนกหนึ่ง.

แล้วได้ค้นหาเรื่องนิทานที่เป็นจริงบ้าง, นิยายสำหรับสนุก ๆ บ้าง, คติสาสนาบ้าง, ตำนานพงศาวดารบ้าง, มาแต่งเป็นเรื่องสั้น ๆ อย่างที่เข้าใจว่า พอสมกับความสามารถของเด็ก, ที่จะรู้เข้าใจได้ มาแซมแซก บทละเรื่อง ๆ อีกแพนกหนึ่ง หมายจะให้เป็นเครื่องชักจูงใจนักเรียนให้เพลิดเพลินในการเรียน”

อนึ่ง เพื่อจะให้เป็นที่เปลี่ยนอารมณ์ของนักเรียนซึ่งต้องอ่านคำร้อยแก้วเป็นพื้น ข้าพเจ้าได้เลือกหาบทนิพนธ์ของกระวีบางท่านที่เป็นคำโคลงและคำกลอน อย่างเข้าใจความง่าย มาประกอบกับเรื่องเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่งเป็นบางบท เพื่อเป็นโอกาสให้นักเรียนเริ่มคุ้นเคยกับวรรณคดีและสำนวนโวหารต่าง ๆ.

นอกกว่านั้น ในบางเรื่อง ยังได้แซมรูปภาพประกอบไว้ด้วย เพราะรู้อยู่แก่ใจชัด ๆ ว่า ธรรมดาเด็กทุกคนชอบใจอย่างที่สุด ที่จะดูรูปของผู้ที่เป็นตัวการสำคัญในเรื่องนิทาน ที่เขากำลังอ่านอยู่นั้น.

หากว่าหนังสือ “ดรุณศึกษา ตอนกลาง” เล่มนี้ ได้เป็นเหตุให้นักเรียนบางคนได้ชอบเรียนหนังสือไทยและของน่ารู้อื่นๆมากขึ้น, ทั้งทำให้เขายิ่งนิยมนับถือในสิ่งที่ควรนับถือเช่นความประพฤติอันชอบธรรม, ความเลื่อมใสศรัทธาในการปฏิบัติพระผู้เป็นเจ้า, ความนบนอบต่อบิดามารดาครูบาอาจารย์, ความจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากระษัตริย์ เป็นต้นแล้ว. ข้าพเจ้าก็จะมีความยินดียิ่ง จะถือว่าหนังสือดรุณศึกษาเล่มนี้มีผลสำเร็จ เต็มตามความประสงค์ของข้าพเจ้าทุกอย่างทุกประการ!

สิทธมัตถุ! ขอจงสำเร็จตามความปรารถนาอันนี้ด้วยเทอญ!

ฟ. ฮีแลร์

โรงเรียนอัสสัมชัญ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๑๕๒๑”

จากคำนำที่ยกมาข้างต้น ในหนังสือดรุณศึกษาจะมีบทความรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนิทาน เกร็ดพงศาวดาร ชีวประวัติบุคคลสำคัญ ความรู้รอบตัว ฯลฯ ซึ่งผู้แต่งได้เรียบเรียงหรือค้นคว้าหาต้นฉบับร้อยแก้วร้อยกรองที่มีกวีประพันธ์ไว้ แทรกอยู่ในบทเรียนแต่ละบท ให้เหมาะกับวัยของผู้ศึกษา เช่น

๑. ตำนานประวัติบุคคลสำคัญและเกร็ดประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน เรื่องมหาราชสองพี่น้อง (สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ) เรื่องขุนหลวงทรงปลา (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ หรือพระเจ้าท้ายสระ) เรื่องเรือกลไฟของสยาม เรื่องเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เรื่องติตานิก (เรือไททานิก)

๒. นิทานนานาชาติ เช่น นิทานพื้นเมืองสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องวิลเลียม แตล ขมังธนู (William Tell) นิทานสิงหฬ เรื่องหูหนวกเจ็ดคน และนิทานจีน เรื่องลิงกินมังคุด คำกลอน

๓. นิทานอีสป เช่น เรื่องหนูกับลิงคำโคลง เรื่องนกกระสาคำกลอน เรื่องเจ้าจิ้งจอกหลอกอีกา เรื่องจระเข้ไม่มีลิ้น เรื่องนกติดแร้วคำกลอน เรื่องพรานเบ็ดกับลูกปลา เรื่องเสือมีลายคำกลอน เรื่องกาน้ำแก่ เรื่องนกติดแร้ว และเรื่องพ่อค้าแกลบ

๔. ร้อยกรองจากวรรณคดีไทย เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนคุ้นเคยกับวรรณคดีและสำนวนโวหารต่าง ๆ เช่น โคลงโลกนิติ ซึ่งบทร้อยกรองจากเรื่อง “ศรีสวัสดิวัด” ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด และมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานประพันธ์ของฟ.ฮีแลร์ คือ บทกาพย์ยานี ๑๑ ที่ขึ้นต้นว่า “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าจากเมืองไกล”

อนึ่ง สำหรับนิทานต่าง ๆ ที่พิมพ์ในหนังสืออัสสัมชัญดรุณศึกษา ส่วนใหญ่มิได้ระบุที่มาหรือระบุว่าเป็นนิทานของชาติใด วรรณคดีบางเรื่องระบุชื่อผู้ประพันธ์ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น ในต้นฉบับร่างระบุว่ามาจากคำกลอนของสุนทรภู่ แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงลงลายพระหัตถ์แก้ไขให้ด้วยดินสอ ดังนั้น เรื่องนิทานอีสปในหนังสือดรุณศึกษาจะมีจำนวนกี่เรื่องนั้นจะต้องพิจารณาต่อไป

ในด้านงานวรรณกรรม นอกจากนิทานอีสปฉบับภาษาไทย ๔ ฉบับดังกล่าวแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ ได้มีการสร้างสวรรค์หนังสือนิทานอีสปภาษาไทยต่อมาอีกหลายสำนวน รวมทั้งมีการผลิตเป็นสื่อในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย อาทิ การ์ตูนแอนิเมชั่น หนังสือการ์ตูน เทปนิทาน ละครเวที เรื่องราวในนิทานอีสปเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป กลายเป็นสำนวนไทยและความรู้ชาวบ้าน เช่น เรื่องกระต่ายตื่นตูม จระเข้ไม่มีลิ้น แสดงให้เห็นถึงความนิยมและการยอมรับในนิทานอีสปของคนไทย

  1. ๑. เฉลิม มากนวล, การวิเคราะห์และเปรียบเทียบนิทานชาดกกับนิทานอีสป, กรุงเทพ: หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู. ๒๕๑๘. หน้า ๓๓-๓๔____.

  2. ๒. นิยะดา เหล่าสุนทร “พัฒนาคารของนิทานอีสป” อีศปปกรณำ นิทานอีสปฉบับสมุดไทย. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๒ , หน้า ____

  3. ๓. เรื่องเดียวกัน

  4. ๔. “อิศปปกรณำ” ใช้ตามหนังสือสมุดไทย ปัจจุบันใช้ว่า “อิศปปกรณัม”

  5. ๕. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๕๖๒ รวมกับงานวิจัยนี้

  6. ๖. คือ จิตวิทยา

  7. ๗. ฟ. ย่อมาจาก ภาษาฝรั่งเศส Frere ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Brother”

  8. ๘. หนังสืออัสสัมชัญดรุณศึกษา ตอนกลางฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่งโรงพิมพ์อัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ค.ศ. ๑๙๒๑ พ.ศ. ๒๔๖๔

  9. ๙. ต้นฉบับหนังสืออัสสัมชัญดรุณศึกษาฉบับร่าง ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. ๑๙๒๑

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ