บทที่ ๑ ปัญหาและขอบเขตงานวิจัย

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

นิทานอีสป เป็นวรรณกรรมเก่าแก่มากว่า ๒,๐๐๐ปี ที่มีต้นกำเนิดมาจากนักเล่านิทานชาวกรีกชื่อ “อีสป” (Aesop) ด้วยเนื้อหาของนิทานที่มีความสนุก เข้าใจง่าย อีกทั้งยังสอดแทรกข้อคิดคติสอนใจต่าง ๆ ทำให้นิทานอีสปที่นิยมของคนในสังคมทั้งในยุคสมัยที่อีสปยังมีชีวิตอยู่ ในสมัยต่อมา และยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

การเผยแพร่ของนิทานอีสป เริ่มต้นในลักษณะของ “วรรณกรรมมุขปาฐะ” หรือการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ไม่มีการจดบันทึกนิทานเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะมีตำนานที่กล่าวถึงความพยายามรวบรวมนิทานอีสปอยู่หลายตำนาน แต่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดนัก จนกระทั่งประมาณศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ หรือ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ แมกซิมุส พลานูเดส (Maximus Planudes) นักพรตชาวกรีก ได้แปลนิทานอีสปจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้นิทานอีสปเริ่มแพร่หลายไปยังหลาย ๆ ประเทศ และมีการนำนิทานอีสปมาแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยด้วย

ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่านิทานอีสปเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach M.D.) ชาวอเมริกัน ได้จัดพิมพ์นิทานอีสปลงในหนังสือ จดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์ (The Bangkok Recorder) และต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปลนิทานอีสปจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ตั้งชื่อว่า “อิศปปกรณำ” จากนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแนะนำให้บุคคลต่าง ๆ อาทิ พระยาศรีสุนทรโวหาร พระยาราชสัมภารากร พระเทพกระวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ขุนท่องสื่อ ขุนทิพยวินัย และขุนภักดีอาษา ร่วมกันแปลและเรียบเรียงนิทานอีสปเพิ่มเติม ด้วยประโยคที่สั้น และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ สรุปเนื้อหาและประพันธ์โคลงสี่สุภาพขึ้น เพื่อเป็นสุภาษิตในการสั่งสอนในลักษณะ “นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า” เพิ่มเติมท้ายนิทานแต่ละเรื่องด้วย ทั้งนี้ มิได้มีการบันทึกวันเวลาที่ประพันธ์วรรณกรรมไว้อย่างชัดเจนว่าแปลวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นเมื่อใด

“อิศปปกรณำ” นับเป็นวรรณกรรมไทยที่แปลจากนิทานอีสปโดยคนไทยเรื่องแรก และเป็นการแปลวรรณกรรมไทยจากวรรณกรรมภาษาอังกฤษยุคแรก ๆ ในยุคที่คนไทยเริ่มสนใจและเปิดกว้างยอมรับสิ่งแปลกใหม่ของโลกตะวันตก กลวิธีการแปลทั้งด้านภาษา ตลอดจนการแปลความจากวรรณกรรมต่างชาติต่างวัฒนธรรมให้ผู้อ่านซึ่งเป็นคนไทยเข้าใจเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นยุคก่อนหน้าที่จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ การถอดคำจากภาษาอังกฤษ ระบบการถ่ายถอดตัวอักษร สระ พยัญชนะจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย รวมทั้งการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษและการบัญญัติศัพท์ จึงยังไม่มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แน่นอนตายตัว เช่นเดียวกับวรรณกรรมแปลจากภาษาอังกฤษและวรรณกรรมที่อ้างอิงชื่อบุคคลหรือสถานที่ภาษาอังกฤษร่วมยุคสมัย โดยมากมักเป็นการเขียนคำตามเสียงอ่าน และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าศึกษาคือ เหตุใดนิทานอีสปจึงเป็นที่นิยมยอมรับของคนไทย

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อตรวจสอบชำระ ศึกษา และจัดพิมพ์ วรรณกรรมเรื่องอิศปปกรณัมเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

๒. เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หากรอบระยะเวลาการประพันธ์ ตลอดจนข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิวัฒนาการ กลวิธีและการใช้ภาษาในการแปลของกวี

๓. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของวรรณกรรมไทย

ขอบเขตการศึกษาวิจัย

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการนำต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องอิศปปกรณัมมาตรวจสอบชำระและเผยแพร่มาก่อน ในการศึกษาเพื่อเรียบเรียงงานวิจัยฉบับนี้ จึงใต้ตรวจสอบชำระเนื้อหาจากต้นฉบับหนังสือสมุดไทย จัดทำต้นฉบับเพื่อพิมพ์เผยแพร่พร้อมกันเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัย รวมทั้งศึกษาวิจัยจากต้นฉบับหนังสือสมุดไทย หมู่นิทานร้อยแก้ว เรื่อง “อิศปปกรณำ” ที่เก็บรักษาอยู่ในสำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๑๒ เล่ม ดังนี้

๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๑ เรื่องที่ ๑ - ๒๔

๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๒ เรื่องที่ ๒๕ - ๕๑

๓. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๓ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๓ เรื่องที่ ๕๒ - ๗๘

๔. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๔ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๔ เรื่องที่ ๗๘ - ๑๐๖

๕. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๕ เรื่องที่ ๑๐๗ - ๑๒๗

๖. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๓ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๖ เรื่องที่ ๑๐๖ - ๑๓๐

๗. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๔ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๖ เรื่องที่ ๑๓๑ - ๑๕๗

๘. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๕ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๗ เรื่องที่ ๑๕๘ - ๑๘๓

๙. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๖ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๙ เรื่องที่ ๒๑๔ - ๒๔๒

๑๐. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๗ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๑๐ เรื่องที่ ๒๔๓ - ๒๗๑

๑๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๘ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เรื่องที่ ๒๙๑-๒๙๘ - ๒๔๐,๓๐๒

๑๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๙ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เรื่องที่ ๒๙๔ - ๓๐๙

ทั้งนี้ จะศึกษาวิจัยใน ๔ ประเด็นคือ เวลาที่ประพันธ์ กลวิธีการแปล การใช้ภาษา และคุณค่าของวรรณกรรม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. วรรณกรรมเรื่องนิทานอิศปปกรณัมได้รับการตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่ อันจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป

๒. ได้ทราบกรอบระยะเวลาการประพันธ์ที่ชัดเจนขึ้น

๓. ความรู้ด้านวิวัฒนาการ กลวิธีและการใช้ภาษาในการแปลของกวี

๔. เกิดความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของวรรณกรรมไทย

ข้อตกลงเบื้องต้น

๑. เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบว่าวรรณกรรมเรื่องอิศปปกรณัมนี้ แปลมาจากนิทานอีสปฉบับภาษาอังกฤษฉบับใด จึงมิอาจศึกษาเปรียบเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ แต่จะศึกษาโดยเทียบเคียงนิทานอิศปปกรณัมซึ่งตรวจสอบชำระขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนี้ กับต้นฉบับหนังสือสมุดไทย และวรรณกรรมร่วมสมัยของวรรณกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

๒. ขอบเขตการวิจัยจะกล่าวถึงนิทานของไทยก่อนที่นิทานอีสปจะเผยแพร่เข้ามา และนิทานอีสปในยุคแรกของไทยโดยสังเขป ประเด็นศึกษาจะเน้นที่นิทานอิศปปกรณัม เนื่องจากแม้ว่าจะเป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์จากนิทานอีสปโดยคนไทยฉบับแรก แต่ไม่เคยมีการพิมพ์เผยแพร่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ต้นฉบับส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบชำระจัดพิมพ์เผยแพร่ จึงเป็นที่รู้จักน้อยกว่านิทานอีสปอีกสองสำนวนในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งปัจจุบันยังมีการจัดพิมพ์เผยแพร่อยู่

๓. ในการตรวจสอบชำระวรรณกรรมเรื่อง “อิศปปกรณัม” นี้ได้คงการสะกดคำนาม ซึ่งเป็นคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิวัฒนาการด้านการแปลและการใช้ภาษาของไทย

คำจำกัดความ

มีคำที่ใช้กล่าวถึงหรืออ้างอิงในงานวิจัยฉบับนี้ ดังนี้

อิศปปกรณัม ในงานวิจัย จะมีการสะกดเป็นสองแบบคือ อิศปปกรณำ และ อิศปปกรณัม ทั้งนี้ คำว่า “อิศปปกรณำ” เป็นการเขียนตามชื่อวรรณกรรมที่ปรากฏอยู่หน้าต้นหนังสือสมุดไทย และเป็นชื่อที่ใช้มาแต่ก่อน ส่วน “อิศปปกรณัม” เป็นการสะกดตามอักขรวิธีปัจจุบัน ซึ่งในทะเบียนหนังสือสมุดไทยและใบปิดหน้าหนังสือสมุดไทยของหอสมุดแห่งชาติได้ใช้การสะกดแบบปัจจุบัน

ปกรณัม (อ่านว่า ปะ - กะ - ระ- นำ) แปลว่า เรื่อง, หนังสือหนังสือรวมเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้

รวมความ อิศปปกรณัม หมายถึง หนังสือรวมเรื่องนิทานอีสป

ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ในที่นี้หมายถึง ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเรื่องนิทานอีศป (อิศปปกรณัม) ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ กลุ่มตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ

ชุบรง อธิบายเป็นสองคำคือ คำว่า “ชุบ” เป็นคำโบราณ แปลว่า เขียนหนังสือด้วยหมึก เป็นต้น. และคำว่า “รง” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า น. ชื่อไม้ต้นชนิด น. ชื่อยางไม้ที่ได้จากไม้ต้น ๒ ชนิดในสกุล Garcinia วงศ์ Guttiferae คือ มะพูด (G. dulcisKurz) และ รง (G. hanburyi Hook.f.) ชนิดแรกให้ยางสีเขียว ๆ อมเหลืองเรียก รงกา ชนิดหลังให้ยางสีเหลืองเรียก รง ใช้ทำยาและเขียนหนังสือหรือระบายสี รงนั้นถ้าใช้ทองคำเปลวผสมเขียนตัวหนังสือหรือลวดลายต่าง ๆ เรียกว่า รงทอง.

สำรับ คำว่า สำรับ แปลว่า ของ หรือ คนที่รวมกันเข้าเป็นชุดเป็นวง. ในงานวิจัยนี้ มีกล่าวถึงหนังสือสมุดไทยคนละชุด ว่าหนังสือสมุดไทยต่างสำรับ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ