สมุดไทยเลขที่ ๑
ที่ ๑ ราชสีห์กับหนู๑
๏ มีราชสีห์ตัวหนึ่งนอนหลับ มีหนูตัวหนึ่งวิ่งไปบนหน้า ราชสีห์นั้นตกใจตื่นลุกขึ้นโดยความโกรธ จับหนูไว้ได้จะฆ่าเสีย หนูจึ่งอ้อนวอนว่า ถ้าเพียงแต่ท่านไว้ชีวิตข้าพเจ้า ๆ คงจะแทนคุณท่านที่มีใจดีเป็นแน่ ราชสีห์หัวเราะแล้วปล่อยเขาไป อยู่มาไม่ช้ากว่านี้นัก ราชสีห์ต้องพรานจับผูกไว้ด้วยเชือกแข็งแรงหลายเส้น หนูได้ยินเสียงราชสีห์ร้องจำได้ก็ขึ้นมาช่วยกัดเชือก ปล่อยราชสีห์ออกได้แล้ว จึ่งร้องว่าท่านยิ้มเยาะความคิดข้าพเจ้าที่ว่าคงสามารถช่วยที่จะช่วยท่าน ๆ ไม่หมายว่าจะได้รับอันใดตอบแทนนั้น เดี๋ยวนี้ท่านคงทราบแล้ว ว่าถึงเป็นแต่เพียงหนูตัวหนึ่งก็อาจที่จะให้ความอุปถัมภ์ท่านได้ ๚ะ๛
๑๏ อย่าควรประมาทผู้ | ทุรพล |
สมเคราะห์คราวขัดสน | สุดรู้ |
เกลือกเราสบร้ายดล | ใดเหตุ |
มากพวกคงมีผู้ | รฦกเค้าคุณสนอง ๚ะ |
พระราชนิพนธ์
ที่ ๒ บิดากับบุตรทั้งหลาย
๏ ชายผู้หนึ่งมีบุตรหลายคน บุตรนั้นวิวาทกันแลกันมิใคร่ขาด บิดาแก้ไขวิวาทโดยคำตักเตือนสั่งสอนสักเท่าใดบุตรก็มิฟัง อยู่มาวันหนึ่ง บิดาจึ่งสั่งบุตรทั้งหลาย ให้ไปหาไม้เรียวมัดมาให้กำหนึ่ง ครั้นได้มาแล้ว จึงเรียกลูกทั้งปวงมาทีละคน ให้หักกำไม้เรียวนั้นให้เป็นท่อนเล็ก ๆ บุตรทั้งปวงต่างคนต่างหักจนเต็มกำลัง ก็ไม่สามารถที่จะหักออกได้ บิดาจึ่งแก้กำออกเสีย แล้วเอาไม้เรียวนั้นทีละอันส่งให้บุตรทั้งปวงหัก ก็หักได้โดยง่าย บิดาจึ่งว่ากับบุตรทั้งหลายว่า ลูกเอ๋ย ถ้าเจ้าเป็นใจเดียวกัน เข้ากันอุดหนุนกันแลกัน เจ้าจะเหมือนไม้ทั้งกำนี้ ศัตรูทั้งหลายจะปองร้ายก็ไม่มีอันตรายอันใดได้ แต่ถ้าเจ้าต่างคนต่างแตกกัน ก็จะพลันอันตรายเหมือนไม้เรียวทั้งปวงอันเดี่ยว ๆ นี้ ๚ะ๛
๒๏ เชี้อวงศ์วายรักร้อน | ริษยา กันเฮย |
ปรปักษ์เบียนบีฑา | ง่ายแท้ |
ร่วมสู้ร่วมรักษา | จิตรร่วม รวมแฮ |
หมื่นอมิตร บ มิแพ้ | เพราะพร้อมเพรียงผจญ ๚ะ |
พระราชนิพนธ์
ที่ ๓ สุนัขป่ากับลูกแกะ
๏ สุนัขตัวหนึ่งมาพบลูกแกะพลัดฝูงมาตัวหนึ่ง คิดว่าเราจะให้ลูกแกะนั้นลงเนื้อเห็นว่า๒ สุนัขป่านั้นสมควรจะกินตัวเขาเอง จึ่งได้กล่าวถ้อยคำว่า เฮ้ยเมื่อปีกลายนี้ มึงดูถูกกูใหญ่นัก ลูกแกะจึ่งตอบด้วยคำน้ำเสียงเศร้าโศกว่าไม่มีเลย เมื่อนั้นข้าพเจ้ายังไม่เกิด สุนัขป่าจึ่งว่า เจ้ากินหญ้าในทำเลของข้า ลูกแกะตอบว่าหามิได้เลยเจ้าข้า ดีฉันยังไม่รู้รสหญ้าเลย จนเดี๋ยวนี้ยังไม่เคยกิน สุนัขป่าจึ่งว่า เจ้ากินน้ำในบ่อของข้า ลูกแกะว่าหามิได้ ดีฉันยังไม่เคยกินน้ำเลย เพราะในเวลานี้ น้ำนมมารดาดีฉันเท่านั้นเป็นทั้งอาหารทั้งน้ำ สุนัขมิรู้ที่จะว่าอย่างไรก็เข้าจับลูกแกะแล้วว่า เถอะข้าไม่อดอาหารเปล่าละ ถึงเจ้าจะปฏิเสธก็ช่างเจ้า ๚ะ๛
๏ ชาติกักขฬะดุร้าย | สันดาน |
คงจะหาสิ่งพาล | โทษให้ |
ถึงจะกล่าวคำหวาน | คำชอบ ก็ดี |
หาญหักเอาจนได้ | ดังข้อเขาประสงค์ ๚ะ |
พระราชนิพนธ์
ที่ ๔ ค้างคาวกับวิเซล (เป็นสัตว์คล้ายแมวแต่ดุ)๓
๏ ค้างคาวตัวหนึ่งตกลงมายังแผ่นดิน วิเซลมาพบจับไว้ ค้างคาวก็อ้อนวอนขอชีวิต วิเซลไม่ยอมว่า เป็นธรรมดาชาติของเขาย่อมเป็นศัตรูแก่นกทั้งปวง ค้างคาวจึงยืนยันว่าตัวเขามิใช่นก เขาเป็นหนูต่างหาก เพราะดังนั้นค้างคาวก็ได้รอดชีวิตไป อยู่มาไม่นานนัก ค้างคาวตกลงมาที่แผ่นดินอีก วีเซลตัวอื่นจับได้ ค้างคาวก็ว่ากล่าวขออย่าให้กินตัวอีกเหมือนครั้งก่อน วีเซลจึ่งว่า เขามีความเกลียดชังหนูยิ่งนัก ค้างคาวก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้เป็นหนูเลย เป็นค้างคาวต่างหาก เพราะฉะนั้นค้างคาวก็รอดชีวิตได้อีกเป็นครั้งที่สอง ๚ะ๛
๏ ผู้เฉลยฉลาดส้อน๔ | พาที |
ถึงเรื่องจะราคี | ขุ่นข้อง |
ผ่อนพูดผ่อนปรนดี | กลบเกลี่ย เสียนา |
ฟัง บ บาดโสตพร้อง | รอดพ้นภัยเกษม ๚ะ |
พระศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๕ ลากับตั๊กแตน (เป็นสัตว์ไปบนหญ้าเล็กกว่าของไทย)
๏ ลาตัวหนึ่งได้ยินเสียงตั๊กแตนร้อง พิศวงจับใจยิ่งนัก คิดอยากจะใคร่ได้เพลงไพเราะนั้นบ้าง จึงถามตั๊กแตนว่าเลี้ยงชีวิตด้วยอาหารอันใด จึ่งมีเสียงเพราะดังนี้ ตั๊กแตนทั้งปวงบอกว่าน้ำค้าง ลาจึงกำหนดว่าแต่นี้ไปจะเลี้ยงชีวิตตัวด้วยน้ำค้างอย่างเดียว อยู่มาไม่นานนัก ลานั้นก็ตายโดยความหิว ๚ะ๛
ความเหมือนช้างขี้ ๆ ด้วยช้าง คือเห็นเขาทำสิ่งใด ถึงใช่วิสัยที่ตัวจะทำได้ ก็อยากจะทำบ้าง ถึงแต่ความฉิบหาย ๚ะ
๕๏ เห็นใครเขากอบเกื้อ | การใด ใดนา |
แม้นสิ่งใช่วิสัย | สุดอ้าง |
ตะกุยตะกายใจ | ทะยานอยาก ยิ่งแฮ |
ทำเทียบแข่งเขาบ้าง | บอกเบื้องฉิบหาย ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๖ สุนัขป่ากับนกกระเรียน
๏ สุนัขป่าตัวหนึ่ง กระดูกสัตว์ที่กินติดอยู่ในคอ จึ่งจ้างนกกระเรียนตัวหนึ่งเป็นทรัพย์มาก ให้เอาหัวยื่นลงไปในคอคาบกระดูกนั้นขึ้นมา ครั้นเมื่อนกกระเรียนเอากระดูกออกได้แล้ว ก็ทวงค่าจ้างที่สัญญากันไว้ สุนัขป่าขบฟันเคี้ยวฟันแล้วร้องว่า ทำไมที่เจ้าได้อนุญาตให้ชักหัวออกมาจากปากขาตะไกรแห่งสุนัขจิ้งจอกโดยสะดวก เจ้าก็เป็นอันได้รับค่าเหนื่อยสมควรแล้ว ๚ะ๛
การที่จะช่วยชาติใจร้าย อย่าหมายตอบแทนเลย ถ้าหนีอันตรายได้แล้ว พึงยินดีเถิด เป็นคุ้มค่าลำบากที่ได้ทำนั้น ๚ะ๛
๖๏ ทำคุณแก่ชาติร้าย | โหดหืน |
กลับกลอก บ ยั่งยืน | ยืดไว้ |
อย่าหวังตอบแทนคืน | คุณขอบ คุณนา |
ความที่พ้นภัยได้ | นับคุ้มแรงเรา ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๗ คนเผาถ่านกับช่างฟอก
๏ คนเผาถ่านคนหนึ่งทำการค้าขายของตัวอยู่ที่เรือน วันหนึ่งพบเพื่อนเป็นช่างฟอก จึ่งชวนให้มาอยู่ด้วยกันกับเขาว่า ถ้าดังนั้นจะเป็นเพื่อนบ้านกันดีกว่าแต่ก่อนมาก แลเงินที่จะใช้สอยในการบ้านเรือนก็จะน้อยลง ช่างฟอกจึ่งตอบว่าการซึ่งท่านปรึกษามานี้เป็นการไม่ได้ทีเดียว เพราะสิ่งไรที่ข้าพเจ้าทำให้ขาว ท่านก็จะทำให้ดำอีกด้วยถ่าน ๚ะ๛
เหมือนคงจะพาให้เหมือนโดยความว่าคบพาล ๆ คงจะชักให้เหมือนตัว คบนักปราชญ์ ๆ คงจะชักให้เหมือนตัว ฤๅคนที่ทำความชั่วกับทำความดี ทำร่วมทำปนกันไม่ได้ ๚ะ๛
๗๏ เผาถ่านการกลั้วคลุก | ของดำ |
ซักฟอกใฝ่ขาวขำ | ค่ำเช้า |
ที่ชั่วบาปบุญจำ | แยกถิ่น สถานนา |
สองอย่างรวมร่วมเคล้า | คลุกได้ฉันใด ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๘ เด็กจับตัวเพลี้ย
๏ เด็กคนหนึ่งเที่ยวจับตัวเพลี้ย เขาจับได้เป็นอันมาก ภายหลังพบแมลงป่องเข้าตัวหนึ่ง เขาเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเพลี้ย จึ่งเอื้อมมือไปจะจับแมลงป่องซึ่งชูเหล็กในให้เห็น แล้วว่าเพื่อนเอย ถ้าเพียงแต่ท่านต้องเราท่านก็จะเสียทั้งตัวเรา แลตัวเพลี้ยทั้งปวงของท่านด้วย ๚ะ๛
ตะกรุมตะกรามฉวยผิดฉวยถูก จะต้องไปถูกเจ็บ ๚ะ๛
๏ จับผิดจับถูกคว้า | ไขว่ซน |
กับพูดลุกลี้ลน | ลวกด้วย |
โดนพิษผิดถึงตน | ตันอก อัดเอย |
หากว่าโดนใหญ่ม้วย | มอดสิ้นเสียชนม์ ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๙ ไก่กับพลอย
๏ ไก่ผู้ตัวหนึ่งเที่ยวเขี่ยหาอาหารสำหรับตัวกินเอง แลให้นางไก่ทั้งปวงของเขากินด้วย ไปพบพลอยมีราคาเข้าเมล็ดหนึ่ง ไก่จึ่งว่ากับพลอยนั้นว่า ถ้าเจ้าของเขามาพบเข้ามิใช่เราพบ เขาก็จะเอาท่านไป แล้วฝังท่านลงไว้ในที่ของท่านที่เคยอยู่แต่ก่อน แต่เราพบท่านไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าเราได้ข้าวโภชน์สักเมล็ดเดียวจะดีกว่าได้พลอยหมดทั้งโลก ๚ะ๛
ผู้ไม่อยากดี ถึงพบการที่ดี ไม่มีใจอยากได้ ๚ะ๛
๙๏ นิสัยใจ บ ต้อง | การดี |
พบสิ่งประเสริฐศรี | ติซ้ำ |
ไป่ชอบไป่ชวนมี | จิตปรารถ นานา |
ดุจไก่พบแก้วล้ำ | หลีกแล้วเลยจร ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๑๐ มดกับตั๊กแตน
๏ วันหนึ่ง ฤดูหนาวแต่อากาศดี มดทั้งปวงกำลังทำการตากข้าวซึ่งได้สะสมไว้เป็นเสบียงแต่ฤดูร้อน มีตั๊กแตนตัวหนึ่งบอบช้ำด้วยไม่มีอาหารมานาน เดินผ่านไปทางนั้นว่าอ้อนนวอนขออาหารมดบ้างสักเล็กน้อย มดทั้งปวงจึ่งถามว่าทำไมท่านไม่เก็บอาหารไว้แต่กำลังฤดูร้อนเล่า ตั๊กแตนจึงตอบว่าข้าพเจ้าไม่มีเวลาว่างพอเลย ด้วยในเวลานั้นข้าพเจ้าติดร้องเพลงเสียตลอดเสมอทุกวัน มดทั้งปวงจึงตอบเป็นคำเย้ยหยันว่า ท่านคลั่งถึงเพียงนั้น จนร้องเพลงได้ตลอดฤดูร้อนแล้ว ท่านต้องเต้นรำอดอาหารค่ำเข้าที่นอนเมื่อฤดูหนาว ๚ะ๛
๑๐๏ เวลาควรกอบเกื้อ | กิจการ |
แสวงสิ่งธนสาร | เก็บไว้ |
เลินเล่อละเลยงาน | มัวเล่น เสียนา |
เกิตทุกข์ธุระใช้ | ทรัพย์ต้องเคืองเข็ญ ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๑๑ พระราชอาณาจักรแห่งราชสีห์
๏ ครั้งหนึ่งมีราชสีห์เป็นเจ้าแผ่นดินในฝูงสัตว์ ราชสีห์นั้นมีใจไม่หยาบคายดุร้ายฤๅโหดเหี้ยมเป็นผู้อยู่ในยุติธรรม เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินมนุษย์องค์หนึ่ง เวลาเมื่อราชสีห์เสวยราชย์อยู่นั้น ได้มีหมายประกาศหลวงในหมู่นกแลสัตว์จตุบาททั้งปวงทุกหมู่เหล่า เป็นข้อบังคับที่จะให้เข้ากันเป็นพวกเดียวกันทุกชาติทุกภาษา ในกฎหมายนั้นสุนัขป่ากับลูกแกะ เสือลายตลับ๕กับลูกแพะ เสือโคร่งกับกวาง สุนัขกับกระต่าย จะให้อยู่ด้วยกันโดยสงบเรียบร้อย เป็นไมตรีชอบพอกัน กระต่ายทราบดังนี้จึงร้องว่าโอเราได้คอยมานานแล้วที่จะได้เห็นวันนี้ ที่สัตว์มีกำลังอ่อนจะนั่งใกล้สัตว์ที่มีกำลังแรง ไม่ต้องมีความหวาดหวั่น ๚ะ๛
๑๑๏ จนมีแข็งอ่อนได้ | ยุติธรรม เสมอฤๅ |
บำราษขาดพาลกรรม | กดแกล้ง |
เจริญสุขเฉกเช่นคำ | เก่าเล่า มาแฮ |
กระต่ายอ่อนอาจออกแจ้ง | เกียรติเจ้ากลางประชุม ๚ะ |
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ที่ ๑๒ นายประมงเป่าขลุ่ย
๏ นายประมงคนหนึ่งชำนาญการดนตรี หยิบขลุ่ยกับอวนของตัวไปยังฝั่งทะเลยืนอยู่บนก้อนศิลาซึ่งยื่นออกไปในทะล แล้วเป่าขลุ่ยเป็นหลายเพลง หวังใจว่าปลาทั้งปวงฟังติดใจเพลงขลุ่ยของเขา ก็จะพากันเต้นรำมาลงในอวนซึ่งได้ขึงไว้ข้างล่างแล้วโดยลำพังเองไม่ต้องพักวุ่นวาย ครั้นคอยมานานเห็นเปล่าไป จึ่งได้วางขลุ่ยเสียตีอวนลงในทะเล ได้ปลาขึ้นมามากเต็มลาก ครั้นเมื่อเขาเห็นปลาดิ้นวุ่นเมื่อขึ้นมาถึงหลังก้อนศิลาจึ่งว่าเจ้าเอ๋ย เจ้าสัตว์หัวดื้อ เมื่อข้าเป่าขลุ่ยนั้น เจ้าไม่เต้นไม่รำ เมื่อข้าหยุดแล้วสิเจ้าเล่นออกสนุก ๚ะ๛
๑๒๏ เป็นคนควรรอบรู้ | คราวการ |
แม้นจักประกอบงาน | ง่ายได้ |
ควรรำ บ่ รำปาน | วารีช๖ นั้นฤๅ |
จักขจัดประโยชน์ให้ | เสื่อมแท้ทันเห็น ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๑๓ กระต่ายกับเต่า
๏ วันหนึ่งกระต่ายตัวหนึ่งยิ้มเยาะเต่าว่าเท้าสั้นเดินก็ช้า เต่าหัวเราะแล้วตอบว่า ถึงท่านเร็วเหมือนกับลม ถ้าวิ่งแข่งกันข้าพเจ้าจะเอาชนะท่านได้ กระต่ายเห็นว่าเต่าจะไม่วิ่งเร็วได้เหมือนตั้งที่เต่าอวดตัว ก็รับสัญญาจะแข่งกัน แล้วนัดกันว่าจะให้สุนัขจิ้งจอกเป็นผู้เลือกทางแลกำหนดที่แพ้ชนะ ครั้นถึงวันกำหนด กระต่ายกับเต่าก็ออกเดินพร้อมกัน เต่านั้นเดินไม่ได้หยุดสักอึดใจเดียว ถึงก้าวช้าแต่ฝีเท้าเสมอตรงไปจนถึงที่สุดทาง กระต่ายนั้นเชื่อความเร็วแห่งธรรมดาของตัวก็ไม่สู้จะเอาใจใส่ในการที่จะแข่ง ไปหน่อยหนึ่งก็ฟุบตัวลงนอนเสียข้างทางก็เลยหลับไป ครั้นตื่นขึ้นคิดขึ้นได้ วิ่งไปโดยเร็วเต็มกำลัง เมื่อถึงที่หยุดก็เห็นเต่าอยู่ที่นั้นก่อนนานแล้ว ๚ะ๛
๑๓๏ เชื่อเร็วแรงเรี่ยวทั้ง | เชาวน์ชาญ เชี่ยวแฮ |
แม้นประมาทมละการ | ก็ล้า |
โฉดช้าอุส่าห์หาญ | ห่อนหยุด ยั้งเฮย |
ดั่งเต่ากระต่ายท้า | แข่งช้าชนะเร็ว ๚ะ |
พระราชนิพนธ์
ที่ ๑๔ คนเดินทางกับสุนัขที่เลี้ยง
๏ คนเดินทางผู้หนึ่งกำลังจะออกเดินทาง มาเห็นสุนัขของเขายืนดัดตัวอยู่ที่ประตู จึ่งถามด้วยคำดุว่านั่นมายืนหาวคอยอะไรอยู่นั้น อะไร ๆ ก็พร้อมแล้วเว้นแต่เจ้ามาเถิดไปเดี๋ยวนี้แล สุนัขกระดิกหางแล้วตอบว่า นายเจ้าข้า ดีฉันพร้อมทีเดียวแล้ว ที่ดีฉันคอยอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คอยนายเท่านั้น ๚ะ๛
คนที่มักโอ้เอ้มักจะหาความว่าช้าแก่เพื่อนที่หมั่นกว่าบ่อย ๆ ๚ะ๛
๑๔๏ มีกิจจิตหง่อยช้า | เชาวน์ทราม |
ช้าเนิ่นเพลินไปตาม | เรื่องคร้าน |
ยกตนเกลื่อนกลับความ | กลบหมั่น เขานา |
ดีแต่เสียงจัดจ้าน | อย่างนี้เนืองเนือง ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๑๕ เฮอรคิวเลศ๗ เป็นเทวดาเจ้าของกำลังตามลัทธิคริก๘กับชาวเกวียน
๏ นายเกวียนผู้หนึ่ง ขับเกวียนไปตามทางบ้านนอก ล้อเกวียนจมติดลึกอยู่ในร่องทางเกวียน คนขับเกวียนผู้นั้นตกใจชะงักยืนแลดูเกวียนตะลึงอยู่แล้วก็ร้องด้วยเสียงอันดัง เรียกเฮอร์คิวลีสให้มาช่วยเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรอื่นเลย มีคำกล่าวว่าเฮอร์คิวลีได้แสดงตัวให้เห็นแล้วตอบนายเกวียนว่า คนของข้าเอ๊ย จงเอาบ่าทั้งสองข้างของเจ้าดันล้อเกวียนแล้วเอาปฏักแทงโคทั้งปวงเข้า แต่นี้ต่อไปเจ้าอย่ามาอ้อนวอนให้ช่วย กว่าเจ้าจะได้ทำการช่วยตัวเองจนเป็นอย่างเอกที่จะทำได้เสียก่อน ฤๅถ้าเจ้าจะขืนทำดังนี้ต่อไปภายหน้า เจ้าจะต้องอ้อนวอนเสียเปล่า ๆ ๚ะ๛
๏ ขับเกวียนตกหล่มทิ้ง | เกวียนวอน เจ้านา |
เทพท่านยินจึ่งสอน | เลศให้ |
การตนช่วนตนถอน | เองก่อน สินา |
ตนไม่ทำเองใช้ | เพื่อนผู้อื่นไฉน ๚ะ |
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ที่ ๑๖ สุนัขกับเงา
๏ สุนัขตัวหนึ่งคาบเนื้อก้อนหนึ่งอยู่ในปากเดินไปบนตะพานข้ามลำน้ำแห่งหนึ่ง แลเห็นเงาของตัวเองในน้ำ เข้าใจว่ามีสุนัขคาบเนื้อมาก้อนโตกว่าของตัวเองเท่าหนึ่ง เมื่อเห็นดังนั้นจึงได้วางก้อนเนื้อของตัวเองเสีย ขู่คำรามเข้าสู้สุนัขตัวอื่นในน้ำเพื่อแย่งเนื้อก้อนใหญ่ เพราะฉะนั้นสุนัขตัวนั้นจึงได้เสียเปล่าทั้งสองอย่างคือที่ทะยานลงไปในน้ำก็เป็นแต่เงาเท่านั้น แลเสียตัวเอง เพราะกำลังน้ำเชี่ยวพัดตัวลอยไป ๚ะ๛
โลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ไม่มีความใคร่ครวญ ถึงเสียชีวิตเพราะมีความโลภ ๚ะ๛
๑๖๏ ชนที่มีโลภล้น | เหลือหลาย |
ละเก่ามุ่งใหม่หมาย | กลับแคล้ว |
โลภจนจวบตนตาย | ไป่คิด ชีพนา |
เล่ห์สุนัขคาบเนื้อแล้ว | โลภชิ้นเงาชล ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๑๗ ลูกตุ่นกับแม่ตุ่น
๏ ตุ่นตัวหนึ่งเป็นสัตว์ตาบอดมาแต่กำเนิต ครั้งหนึ่งว่ากับมารดาว่า ฉันเชื่อเป็นแน่ว่า ตาฉันเห็นได้นะแม่ แม่ตุ่นอยากให้บุตรทราบว่าความเห็นของลูกผิดแท้ จึงได้เอากำยานสองสามก้อนวางไว้ตรง ๆ หน้าลูก แล้วถามว่ามีอะไร ลูกตุ่นบอกว่าก้อนกรวด แม่ตุ่นจึงร้องว่าลูกเอ๋ย แม่กลัวว่าเจ้าจะไม่เพียงแต่ตาบอด กลัวว่าเจ้าจะเสียฆานประสาทเสียด้วย๙ ๚ะ๛
โง่แล้วดื้อด้วย เถียง ๆ ดันไป
๑๗๏ ตาบอดมักสอดก้าว | เกินเห็น |
ไปติดขุกลำเค็ญ | ขัดข้อง |
วาจากว่ารู้เป็น | เหตุแห่ง พินาศนา |
ถูกจักออกหลอกต้อง | อัดอั้นตันทรวง ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๑๘ นกแซงแซวกับกา
๏ นกแซงแซวกับกาเกิดเถียงกันว่าขนว่างามไม่งาม กาจึ่งได้ตัดความที่ทุ่มเถียงกันลงด้วยคำว่า ขนของท่านก็งามนักในเวลาฤดูร้อนจริงอยู่ แต่ขนของข้าพเจ้าป้องกันตัวข้าพเจ้าในฤดูหนาวได้ เพราะในเมืองหนาว ถ้าฤดูหนาวนกแซงแซว ต้องหนีไปเมืองร้อน กาไม่ต้องหนี ๚ะ๛
มิตรในฤดูดี ไม่สู้มีราคามาก
๑๘๏ มิตรมาผูกรักด้วย | ยามเรา ดีนา |
เปรียบพัสดุเยาว์ | ค่าน้อย |
มิตรคบเมื่อกำเดา๑๐ | แดดับ แค้นเฮย |
มีค่านับกว่าร้อย | โกฏิล้านแหล่หลาย ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๑๙ ชาวนากับงู
๏ ฤดูหนาวชาวนาคนหนึ่งพบงูแข็งทั้งตัวด้วยถูกเย็นแห่งความหนาว ชาวนาผู้นั้นมีความกรุณา จึ่งได้หยิบมากอดไว้กับอก งูนั้นเมื่อตัวค่อยอ่อนลงด้วยอุ่น ก็กลับคืนคงเป็นปรกติได้โดยเร็ว พยศเดิมตามธรรมดาของชาติงูก็มีขึ้น จึ่งกัดเอาผู้ที่มีคุณนั้นเป็นแผลถึงแก่ชีวิต เมื่อชาวนาที่มีใจออกวาจา สมน้ำหน้าตัวเราที่มีความเมตตาชาติที่ชั่ว ๚ะ๛
การทำนุบำรุง ถึงใหญ่ยิ่งเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันความอกตัญญูได้ ๚ะ๛
๑๙๏ สันดานพาลถ่อยแท้ | อกตัญ ญูแล |
ถึงจักผดุงมัน | มากล้น |
ทำคุณแบ่งปูนปัน | ทรัพย์เท่า ใดเฮย |
ฤๅอาจจจะคุ้มพ้น | คิดร้ายสนองเรา ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๒๐ นายโคบาลกับโคที่หาย
๏ นายโคบาลผู้หนึ่งไปเลี้ยงโคอยู่ในป่า ลูกโคผู้ตัวหนึ่งหายไปจากฝูง แต่เที่ยวตามหาเป็นช้านานเท่าใดก็ไม่ได้ ซึ่งได้ออกปากบ่นว่าแต่เพียงได้ทราบว่าคนไรเป็นคนลักลูกโคไป จะเอาลูกแกะบูชายัญถวายเฮอรเมศเหมือนกับมากวิรี๑๑คือพระพุธ กับเทวดาทั้งปวงซึ่งเป็นผู้รักษาป่าไม้ ครั้นเมื่อบนแล้วไม่นานเขาก็เดินขึ้นไปบนชะง่อนเขาเล็ก จึ่งแลเห็นราชสีห์กินลูกวัวอยู่ที่เชิงชะง่อนเขานั้น เมื่อเห็นดังนั้นก็ตกใจเป็นกำลัง จึงตั้งตาแลยกมือขึ้นไปสู่ฟ้า แล้วร้องว่าเมื่อตะกี๊นี้ข้าพเจ้าบนว่า ถ้าเพียงแต่ข้าพเจ้าสืบได้ความว่าใครขโมยข้าพเจ้า ๆ จะถวายลูกแกะแก่เทวดาทั้งปวงที่รักษาป่าไม้ แต่ประเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าพบตัวขโมยแล้ว ข้าพเจ้าจะมีความยินดีถวายโคตัวผู้ที่โตเต็มที่แล้วเพิ่มเติมลูกโคของข้าพเจ้าที่หายอีกตัวหนึ่ง ขอแต่ช่วยตัวข้าพเจ้าเองให้รอดพันอันตรายจากตัวผู้ร้ายนั้นเถิด ๚ะ๛
๒๐๏ ทรัพย์ใดในพ่างพื้น | ปรัตพี ภพเฮย |
ยศอีกบริวารมี | เพิ่มใช้ |
เทียบ บ่ เท่าดวงชี- | พิตสัก หยาดเลย |
รักแต่ชีพเดียวไร้ | อื่นนั้นทำเนา ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๒๑ ชาวไร่กับนกดอกบัว
๏ ชาวไร่ผู้หนึ่งไถที่หว่านพืชลงไว้ใหม่ ๆ จึ่งเอาตาข่ายร่างแหคลุมที่ไว้ นกกระเรียนทั้งปวงพากันมากินเมล็ดที่เป็นพืช ก็พากันติดอยู่ตามตาข่ายเป็นอันมาก นกดอกบัวก็พลอยมาติดอยู่ด้วยตัวหนึ่ง นกดอกบัวนั้นดิ้นจนขาหัก แล้วอ้อนวอนชาวไร่ว่า ขอได้โปรดปล่อยดีฉันไปสักครั้งหนึ่งเถิด ขาดีฉันที่หักคงจะเป็นเหตุให้ท่านปรานีบ้าง แลทั้งข้าพเจ้าก็เป็นชาตินกดอกบัวที่มีชื่อเสียงดีมาก ข้าพเจ้าไม่มีขนเหมือนนกกระเรียนเลยสักเส้นเดียว ชาวนาได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วตอบว่าการก็เห็นจะเป็นจริง เหมือนคำท่านว่าทั้งหมดดอกกระมัง แต่ที่เรารู้นั้นเพียงนี้ คือข้าจับเจ้าได้กับขโมยพวกนี้ เจ้าจำจะต้องตายไปในพวกเดียวกับเขาทั้งหลาย ๚ะ๛
๒๑๏ ไปคบคนชั่วร้าย | พัวพาล |
ตนย่อมเป็นไปปาน | ชั่วล้น |
ถึงจักกล่าวคำขาน | ขยายออก ตัวนา |
ก็ไม่หลีกตนพ้น | เพราะร้ายรุมรึง ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๒๒ ลูกเนื้อกับแม่เนื้อ
๏ ครั้งหนึ่งลูกเนื้อตัวหนึ่ง เห็นแม่เนื้อวิ่งหนีสุนัขจึงว่ากับแม่เนื้อว่า แม่ขา แม่ก็โตกว่าสุนัข แลว่องไวกว่าสุนัข ในการวิ่งเล่าก็เคยชำนาญกว่า ทั้งมีเขาถึงสองเขา เป็นเครื่องสำหรับตัวสู้อย่างนี้ แม่จึงได้สะทกสะท้านกลัวสุนัขอย่างยิ่ง วิ่งหนีอยู่เสมอดังนี้ แม่เนื้อยิ้มแล้วตอบว่าลูกเอ๋ย แม่รู้ชัดทีเดียวตามคำที่เจ้าว่า คำที่เจ้าว่าทั้งปวงจริงทุกอย่าง แม่มีภาษีกว่าสุนัขเหมือนคำที่เจ้าว่า แต่ถึงอย่างนั้นแต่เพียงแม่ได้ยินสุนัขเท่าตัวเดียว แม่รู้สึกตัวเหมือนจะเป็นลมทันที เพราะฉะนั้นจึ่งต้องวิ่งหนีเสียโดยเร็วเต็มกำลังที่จะวิ่งได้ ๚ะ๛
๒๒๏ ใจกลัวจะยั่วให้ | ฮึกหาญ |
แนะที่เคืองนำขาน | ยิ่งคร้าม |
สุดจะกล่าวแปลงการ | สุรเปลี่ยน ขามแฮ |
ชนะที่ชาติขลาดห้าม | กลับกล้าฤๅมี ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๒๓ ต้นทับทิม ต้นแอบเปล้อ กับต้นแบรมเบล๑๒
๏ ต้นทับทิมกับต้นแอบเปล้อเถียงกันว่าใครจะเป็นผู้งามยิ่งกว่ากัน เมื่อกำลังเถียงกันอึกทึกเต็มที่ ต้นแบรมเบลที่เลื้อยอยู่กับแนวต้นไม้ริมนั้นส่งเสียงขึ้นมาแล้วพูดด้วยคำอย่างอวดตัวว่า เพื่อนเอ๋ยขอเสียเถอะการเถียงอวดอ้างกันอย่างนี้ เรื่องนี้อย่าพูดต่อหน้าข้าพเจ้า ๚ะ๛
๒๓๏ ยินเสียงเสียงส่ำอื้อ | อวดตัว |
พูดข่มกันพันพัว | เพื่อนท้า |
อีกนายหนึ่งฟังนัว | พลอยพลอด |
พูดกลบความคือข้า | พิเศษล้ำพวกสู ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๒๔ ภูเขาเจ็บท้อง
๏ ครั้งหนึ่งภูเขาแห่งหนึ่งหวั่นไหวใหญ่ แลมีเสียงครึ้นครั่นดังแลเสียงต่าง ๆ ปรากฏได้ยินทั่วไป คนทั้งปวงมาประชุมกันเป็นอันมาก ตั้งใจด้วยหมั่นหมายว่าจะมีอันตรายน่ากลัวอันใด ในขณะนั้น มีหนูออกมาตัวหนึ่งเท่านั้น ๚ะ๛
อย่าทำอึกทึกมาก เพราะไม่มีเหตุอันใด ๚ะ๛
๒๔๏ อย่าทำเอิกเกริกอื้อ | อึกทึก |
อย่าตื่นวุ่นวายตรึก | ตรวจเค้า |
หน่วงจิตคิดรฦก | เล็งเหตุ |
เปล่า บ่ มีเหตุเร้า | ระงับแส้๑๓ หยุดเสียง ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร๑๔
-
๑. ถ่ายถอดและตรวจสอบชำระจากหนังสือสมุดไทย เลขที่ ๑ เรื่อง อิศปปกรณำ เล่ม ๑ ↩
-
๒. หมายความว่า จะให้ลูกแกะนั้นเห็นด้วยว่า ↩
-
๓. คงการสะกดตามต้นฉบับซึ่งมีใช้ทั้ง วีเซล วิเขล หมายถึง ตัววีเชิล แฟเร็ต หรือ มิงก์ (weasel, ferret, mink) คนไทยเรียกว่า มิงก์หรือเพียงพอน เป็นสัตว์เลียงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายพังพอน แต่ก่อนคนนิยมล่าเพื่อนำขนและหนังไปทำเป็นเสื้อขนสัตว์ที่เรียกว่า “เสื้อขนมิงก์” ↩
-
๔. ส้อน คือ ซ่อน เป็นคำโทโทษ (หมายถึง คำที่ใช้ไม้โทกำกับเสียงเติมซึ่งใช้ไม้เอก โดยการเปลี่ยนพยัญชนะต้น เพื่อให้ลงตำแหน่งคำโทในโคลงตามฉันทลักษณ์บังคับ เช่น ท่า เป็น ถ้า ว่า เป็น หว้า) ↩
-
๕. เสือลายตลับ คือ เสือดาว ↩
-
๖. วารีช แปลว่า เกิดจากน้ำ ในที่นี้หมายถึง ปลา ↩
-
๗. เฮอรคิวเลส ถอดคำตามภาษาโรมัน คือเฮอร์คิวลีส เป็นเทพเจ้ากรีกบุตรของเทพเจ้าซูส มีมารดาเป็นมนุษย์ชื่อ อัลค์เมนา ชื่อเฮอร์คิวลิสเป็นภาษาโรมัน (Heracles ส่วนชื่อในภาษากรีกคือ “เฮราคลีส” ↩
-
๘. คริก หมายถึง กรีก ↩
-
๙. ฆานประสาท คือ ประสาทที่รับรู้กลิ่น ↩
-
๑๐. กำเดา (ขม. เกฺดา = ร้อน) น. ความร้อน ในที่นี้หมายถึงความลำบากความทุกข์ร้อน ↩
-
๑๑. คือ เฮอรมีศและเมอคิวรี” เฮอร์มีสเป็นเทพเจ้าในเทพปกรณัมกรีก เทียบได้กับเทพเมอร์คิวรี่ของโรมัน เป็นบุตรแห่งซูสและไลยาดีสเมอา เป็นเทพผู้พิทักษ์และอุปถัมภ์นักเดินทาง คนเลี้ยงแกะ โจร กวี นักกีฬา และปราชญ์ นายโคบาลจึงอ้อนวอนต่อเทพองค์นี้ ↩
-
๑๒. ต้นแอบเปล้อ คือ ต้นแอปเปิ้ล ส่วนต้นแบรมเบล คือต้น Bramble ↩
-
๑๓. แส้ คือ แซ่ แปลว่าเสียงดัง เสียงเซ็งแซ่ เป็นคำโทโทษ ↩
-
๑๔. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒ เรื่อง อิศปปกรณัม เล่ม ๒ ↩