สมุดไทยเลขที่ ๓
ที่ ๕๒ เด็กทั้งหลายกับกบทั้งปวง
๏ เด็กทั้งหลายชวนกันไปเสนอยู่ใกล้บึงแห่งหนึ่ง เห็นกบอยู่ในน้ำมากชวนกันเอาก้อนหินขว้าง เด็กนั้นขว้างกบตายหลายตัว กบตัวหนึ่งจึงโผล่หัวขึ้นมาพ้นน้ำร้องว่า ท่านผู้เป็นเด็กทั้งปวง ขอให้ท่านหยุดเถิด สิ่งใดซึ่งเป็นความสนุกของท่านทั้งหลาย สิ่งนั้นเป็นความตายของข้าพเจ้าทั้งปวง ๚ะ๛
ความเล่นสนุกของตน แต่เป็นความให้ทุกข์แก่ผู้อื่น ๚ะ๛
๕๒๏ ประกอบการเล่นด้วย | หวังสนุก ตนเฮย |
ผลประโยชน์สรรพสิ่งสุข | เปล่าร้าง |
เป็นการจักให้ทุกข์ | เขาอื่น |
ดังนิบาตแบบอ้าง | เยี่ยงนี้อย่าเยีย ๚ะ |
ที่ ๕๓ โคทั้งปวงกับนายโคฆาต
๏ โคทั้งหลายประชุมกันครั้งหนึ่ง เพื่อทำลายพวกโคฆาตทั้งปวงซึ่งทำการหากินอันเป็นความฉิบหายแก่ชาติโคทั้งปวง โคทั้งปวงประชุมกันวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันกำหนดว่าจะลงมือทำการตามที่คิดไว้ ต่างตัวต่างลับเขาไว้จะชน ในโคพวกนั้นมีตัวหนึ่งแก่กว่าทุกตัว เพราะได้ไถมาหลายเทศกาล ได้กล่าวขึ้นแก่โคทั้งหลายว่า นายโคฆาตเหล่านี้เขาฆ่าเราจริงอยู่ แต่เขาทำด้วยฝีมือชำนาญ แลมิให้ความเจ็บในการไม่พอที่ ถ้าเราพ้นจากมือพวกนี้แล้ว จะไปตกในพวกไม่ชำนาญทำการ เราจะได้ความลำบากเสมอด้วยตายสองหนติดกัน แลเจ้าจงเชื่อเป็นแน่เถิดว่าถึงนายโคฆาตทั้งปวงจะฉิบหายหมดสิ้นทั้งปวง แต่คนทั้งปวงเขาจะไม่หายอยากกินเนื้อโค ๚ะ๛
อย่ารีบร้อนเปลี่ยนอันตรายอย่างหนึ่งไปหาอย่างอื่น ๚ะ๛
๕๓๏ อันตรายเคยสบต้อง | จำทน |
ตึกว่าคิดขวายขวน | ผิดถ้า๑ |
คิดพล่ำจะซ้ำตน | ต้องถูก ทวีแฮ |
เห็นผิดคิดจะคว้า | สิ่งแก้สิเกิน ๚ะ |
ที่ ๕๔ เด็กเลี้ยงแกะกับสุนัขป่า
๏ เด็กเลี้ยงแกะผู้หนึ่ง ออกไปเฝ้าฝูงแกะอยู่ใกล้บ้านตำบลหนึ่ง เด็กนั้นทำให้ชาวบ้านทั้งปวงต้องออกไปถึงสามครั้งฤๅสี่ครั้ง ด้วยร้องขึ้นว่า หมาป่า หมาป่า ครั้นเมื่อเพื่อนบ้านทั้งปวงมาช่วยก็หัวเราะเยาะคนเหล่านี้ที่ได้ความลำบาก ครั้นภายหลังสุนัขป่ามาจริง ๆ เด็กเลี้ยงแกะนั้นก็มีความตกใจจริง ๆ ในขณะนั้นร้องเรียกด้วยเสียงไม่ปกติด้วยความกลัวว่า ขอให้มาช่วยข้าพเจ้าด้วย สุนัขป่ามาฆ่าแกะอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะตั้งใจฟังเด็กนั้นร้อง ฤๅได้ออกมารับช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย ฝ่ายสุนัขป่าไม่มีอันใดเป็นเหตุที่จะให้กลัว ก็เข้าทำลายแกะเว้าหวะลำบากฤๅจนตายสิ้นทั้งฝูง ๚ะ๛
คนโกหกแล้วไม่เป็นที่เชื่อ ถึงแม้นจะพูดจริงก็ไม่เชื่อ ๚ะ๛
๕๔๏ พาทีมีแต่ล้วน | คำคด |
หมดเชื่อเบื่อฟังปด | ปลอกปลิ้น |
บางคาบกล่าวเสาวพจน์ | สัตย์ซื่อ |
เข็ดเท็จแคลง บ่ สิ้น | เพราะเค้าเคยลวง ๚ะ |
ที่ ๕๕ ชายผู้หนึ่งกับหญิงที่รักกันสองคน
๏ ชายผู้หนึ่ง อายุกลางคนผมพึ่งจะหงอกประปราย รักผู้หญิงสองคนพร้อมกัน คนหนึ่งยังสาว คนหนึ่งอายุล่วงไปเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนที่อายุมากนั้นมีความอายที่จะเป็นคนรักกันกับคนที่อ่อนกว่าตัว จึงได้ทำกำหนดว่า ถ้าชายที่รักนั้นมาหาเมื่อใดก็ถอนผมที่ดำเสียปอยหนึ่งทุกครั้ง ๆ ฝ่ายคนสาวข้างหนึ่งนั้นไม่อยากจะเป็นภรรยาคนแก่ ก็มีความเพียรอันแรงกล้าเหมือนกันที่จะถอนผมขาวเสียทุกเส้นบรรดาที่จะเห็นได้ เพราะอยู่ในระหว่างคนทั้งสองข้าง ผมของชายผู้นั้นก็ไม่เหลืออยู่บนศีรษะจนสักเส้นหนึ่งโดยการอันเร็วพลัน
ถ้าผู้ใดคิดอ่านที่จะให้เป็นที่ชอบใจทั่วหน้า ผู้นั้นจะให้เป็นที่ชอบของใคร ๚ะ๛
๕๕๏ โอบจิตคิดอยากให้ | เห็นรัก ทั่วฤๅ |
จำประพฤติให้ชอบพักตร์ | ทุกผู้ |
ต่างเช่นต่างชอบจัก | ทำถูก ไฉนพ่อ |
หมายที่ผิดนั้นสู้ | ผิดสิ้นสองมือ ๚ะ |
ที่ ๕๖ กวางเจ็บ
๏ กวางตัวหนึ่งเจ็บนอนอยู่ข้างทำเลที่ดินหญ้าที่นั้น มีหญ้าอยู่ใกล้ตัวกวางนั้นมากพอที่จะกินไปได้หลายวัน กวางพวกห้องพากันมาเยี่ยมถามข่าวเจ็บเป็นอันมาก ต่างตัวต่างก็กินหญ้าซึ่งจะเป็นอาหารสำหรับเพื่อนที่เจ็บกินนั้น จนหญ้าที่อยู่แถบนั้นหมด เพราะดังนั้นกวางนั้นก็ตาย แต่มิได้ตายเพราะเจ็บหนัก ตายเพราะไม่มีอันใดจะเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต
พวกพ้องที่ชั่วทั้งปวง พาอันตรายมามากกว่าประโยชน์ ๚ะ๛
๕๖๏ มิตรไม่ดีคบคุ้น | เคยกัน |
กลับจะแทะและปัน | ปอกเนื้อ |
จนถึงชีพอาสัญ | เพราะเพื่อน |
ปาปะมิตรเป็นเชื้อ | ชาติร้ายทลายผล ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๕๗ คนเลี้ยงแพะกับแพะเถื่อน
๏ คนเลี้ยงแพะผู้หนึ่ง ต้อนฝูงแพะจากที่ทำเลกินหญ้าในเวลาเย็น พบแพะเลื่อนหลายตัวปนมาด้วยในหมู่ ก็ต้อนเข้าขังไว้ในคอกกับแพะของตัวในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งขึ้นเข้าลูกเห็บน้ำแข็งตกมากนัก จึงมิได้พาฝูงแพะทั้งปวงออกไปหากินในที่ ๆ เคยหากินตามเคย ต้องขังไว้ในคอก คนเลี้ยงนั้นให้อาหารแพะของตัว เพียงแต่พอที่จะรักษาชีวิตไว้ได้ แต่ให้แพะเถื่อนทั้งปวงกินมากกว่าเป็นอันมาก เพราะหมายใจว่าจะล่อแพะทั้งปวงเหล่านั้นให้อยู่ด้วยกับตัว แล้วจะเอาเป็นของตัวเสียทีเดียว ครั้นเมื่อน้ำแข็งที่ตัวละลายหมดแล้ว คนเลี้ยงแพะก็พาฝูงแพะทั้งปวงไปเที่ยวหากิน ฝ่ายแพะเถื่อนทั้งปวงก็ออกวิ่งโดยเร็วเต็มกำลังพากันไปตามภูเขาทั้งปวง คนเลี้ยงแพะก็กล่าวติเตียนแพะนั้นว่าอกตัญญูที่ทิ้งเขาไปเสีย ด้วยเมื่อเวลาเป็นพายุเห็บตก เขาได้ทำนุบำรุงรักษายิ่งกว่าแพะในฝูงของเขาเสียอีก เมื่อนั้นแพะเถื่อนตัวหนึ่งจึงหันหน้ามาว่ากับชายนั้น เพราะเหตุที่ท่านว่าเดี๋ยวนี้เหตุใดเหตุนั้นแลต้องให้เราทั้งหลายรู้ตัวระวังตัว เพราะถ้าท่านทำนุบำรุงเราเมื่อวานนี้ดีกว่าแพะทั้งปวงที่อยู่กับท่านช้านานมาแล้ว ควรเห็นได้ชัดเหมือนกันว่ากว่าเราทั้งปวงอีกเหมือนกัน ๚ะ๛
ซึ่งจะเสียเพื่อนเก่าทั้งปวงเพราะเหตุที่จะมีเพื่อนใหม่ให้พ้นจากความเสียไปไม่ได้ ๚ะ๛
ได้ใหม่ลืมเก่า
๕๗๏ ลาภใดดุจที่ต้อง | การหา |
ได้ใหม่สมปรารถนา | สิ่งนั้น |
บำรุงรักษ์รักษา | ของใหม่ |
ลืมเก่าของเก่าซั้น๒ | เสื่อมเศร้าเปลืองคลาย ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๕๘ เด็กกับต้นเน็ตเตล๓
๏ เป็นต้นไม้มีแต่ในเมืองหนาวอย่างหนึ่งชื่อต้นเน็ตเตล สูงประมาณศอกเศษ ไม้นี้ถ้าใครจับเบา ๆ แล้ว เหมือนกับแมลงผึ้งที่มีพิษต่อย เพราะมีสายเหมือนไหมอยู่ข้างใน ถ้าจับแรงไม่ค่อยได้ วันหนึ่งเด็กชายผู้หนึ่ง ไปต้องต้นเนตเตลแต่เบา ๆ ต้นเนตเตลต่อยวิ่งกลับมาบ้าน บอกแก่มารดาว่าฉันจับเบา ๆ ทีเดียวยังทำฉันเจ็บมาก มารดาจึงว่าเจ้าทำอย่างนั้นแลเป็นต้นเหตุให้ต้นเนตเตลต่อยเข้า คราวนี้ต่อไปถ้าจะจับต้นเนตเตล จงจับโดยกล้าให้แน่นมือทีเดียว ถ้าอย่างนั้นต้นเนตเตลก็จะอ่อนในมือเจ้าเหมือนกับแพรจะไม่มีอันตรายอะไรเลย ๚ะ๛
ท่านทั้งปวงจะทำการอะไร ๆ ก็ดี จงทำให้เต็มกำลังที่จะทำได้ ๚ะ๛
๕๘๏ จักจับจงมั่นคั้น | จนมลาย |
ทำสิ่งใดดลหมาย | อย่าร้าง |
รัดรีบอย่าหยุดขยาย | เยียหย่อน การเอย |
ผิไปตลอดกิจค้าง | กลับร้ายรึงสกนธ์ ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๕๙ สุนัขจิ้งจอกซึ่งเสียหาง
๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งต้องเขากัดหนีรอดได้เสียแต่แปรงหาง ตั้งแต่นั้นก็นึกว่าเราจะอยู่อย่างนี้ต่อไปก็จะมีแต่ความอายแลเป็นที่ยิ้มเยาะเป็นการประจำตัวอยู่เสมอ สุนัขจิ้งจอกนั้นคิดจะให้สุนัขจิ้งจอกทั้งปวงเป็นเหมือนอย่างตัวบ้าง เพราะเห็นว่าถ้าเสียหางเสียด้วยกันทั้งปวงนั้น จะยังชั่วเป็นการปิดบังของตัวได้ จึงได้ประชุมสุนัขจิ้งจอกทั้งปวงเป็นอันมาก แล้วตักเตือนด้วยคำอันเป็นการสำคัญว่า ให้ตัดหางเสียด้วยกันทั้งสิ้นว่า มิใช่แต่ไม่มีหางจะดูดีขึ้นเท่านั้น ทั้งจะได้พ้นความหนักแห่งแปรงหางซึ่งเป็นที่รำคาญอันใหญ่ยิ่งด้วย สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งจึ่งได้พูดสอดขึ้นว่า เพื่อนเอ๋ยถ้าท่านไม่เสียหางเองแล้ว ท่านก็จะไม่มาปรึกษาแนะนำเราทั้งปวงดอก ๚ะ๛
ตัวชั่วแล้วอยากจะป้ายผู้อื่นให้ชั่วเสียให้เหมือนให้หมดด้วยกัน ๚ะ๛
๕๙๏ ตนเพ็ญทุรเพศกลั้ว | กลัดตรึง |
ความชั่วตนทรหึง | เหตุร้าย |
คิดใคร่เกลี่ยโทษถึง | คนอื่น ทั่วนา |
ช่วยชักสอนซัดป้าย | เพื่อนเปื้อนหมดมวล ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๖๐ โหรเป็นนักเรียนทางอากาศ
๏ โหรผู้หนึ่งเคยออกไปดูดาวทั้งปวงในเวลากลางคืนอยู่เสมอ วันหนึ่งเวลาค่ำออกไปเที่ยวดูดาวตามบ้านนอกริมเมือง ตั้งใจมุ่งดูแต่ท้องฟ้าไม่ทันรู้ตัวตกลงในบ่อน้ำอันลึก ก็ร้องคร่ำครวญด้วยความเจ็บ บาดแผลแลฟกช้ำร้องเรียกให้คนช่วยด้วยเสียงอันดัง ชาวบ้านริมนั้นผู้หนึ่งวิ่งมาที่บ่อ แลถามทราบความตามเหตุที่เป็นอย่างไรแล้วจึงว่า นี่แน่ะตาแก่ ทำไมแกจึงตั้งใจแต่จะสืบว่าเป็นอย่างไรในท้องฟ้า ทำไมไม่ตั้งใจที่จะดูบ้างว่าอะไรอยู่ที่แผ่นดิน ๚ะ๛
ตาแลดูแต่สูงอย่างเดียว แลดูแต่ฟ้า พลาดแล้วจึงเห็น ๚ะ๛
๖๐๏ เนตรบงตรงฝ่าฟ้า๔ | เมินหมาย |
นอนนั่งยืนเดินหงาย | พักตร์ชะแง้ |
บ่ ดูแผ่นดินกลาย | ใจถ่อม ใจนา |
ตาเพ่งเล็งสูงแท้ | พลาดแล้วจึ่งเห็น ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๖๑ กาหยิ่ง
๏ ยุปิกเตอ๕มีความประสงค์ดังกล่าวกันมา ว่าจะตั้งกษัตริย์ให้เป็นใหญ่แก่นกทั้งปวง จึงได้มีประกาศให้ทราบทั่วกันว่า กำหนดวันนั้น ๆ ให้นกทั้งปวงไปประชุมกันเฉพาะหน้ายุปิกเตอ ยุปิกเตอจะเลือกให้พวกเหล่านั้นว่าใครงามยิ่งกว่าทุกตัวจะให้กษัตริย์ ฝ่ายกาทราบว่ารูปร่างของตัวน่าเกลียดไม่งาม จึงได้เที่ยวค้นหาขนนกซึ่งตกจากปีกเพื่อนกันตามป่าต่าง ๆ ทุ่งต่าง ๆ แล้วเอามาเสียบตัวเข้าทั่วทั้งตัว หมายใจว่าจะทำตัวให้งามยิ่งกว่านกทั้งปวง ครั้นเมื่อถึงวันกำหนดนกทั้งปวงหากันไปประชุมเฉพาะหน้ายุปิกเตอ กาก็ไปสำแดงตน๖ในความงามแห่งขนทั้งหลายที่ประดับไว้นั้นในที่ประชุมด้วย ครั้นเมื่อยุปิกเตอกล่าวว่าจะกะให้กาเป็นกษัตริย์เพราะเหตุที่มีขนอันงาม นกทั้งปวงก็ร้องบอกกล่าวด้วยความขัดใจตนอันเห็นว่าไม่เป็นการถูกต้องนั้น แล้วต่างตัวก็เข้าถอนขนของตัวจากกา กานั้นก็กลับไม่เป็นอะไรไปได้ เป็นกาอยู่นั่นอย่างเดิม ๚ะ๛
ผู้ดีทำควร ขี้ตรวนทำบ้าง๗ ถึงจะทำอย่างไรก็คงหาชาติของตัว อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ ๚ะ๛
๖๑๏ ผู้ดีมียศเกื้อ | กากิจ ควรเฮย |
ทุรเพศทรพลคิด | แข่งบ้าง |
คงจักกลับลงชนิด | เดิมชาติ ตนนา |
เพราะใฝ่เกินศักดิ์อ้าง | อย่าเอื้อมอาจหมาย ๚ะ |
ที่ ๖๒ แมวกับนกทั้งหลาย
๏ แมวตัวหนึ่งทราบข่าวว่านกทั้งหลายในกรงใหญ่ตำบลหนึ่งป่วยไข้ไม่สู้สบาย ก็แต่งตัวเองเหมือนอย่างหมอถือไม้เท้าหวายเทศแลเครื่องมือสำหรับวิชานั้นพร้อมไปที่กรงนกใหญ่ เคาะประตูแล้วถามนกที่อยู่ในนั้นว่า ท่านทั้งปวงเป็นอย่างไรบ้าง แลว่าถ้านกทั้งปวงเจ้าจะรมตรวจบอกอาการไข้แลจะรักษาให้หาย นกทั้งปวงตอบว่าเราทั้งหลายได้อยู่ที่ด้วยกันหมดแลจะเป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าท่านอยากจะทำดีแล้ว ขอให้ท่านไปเสียให้เราทั้งปวงอยู่โดยปกติของเรา ๚ะ๛
ชาติที่เคยประพฤติชั่ว ถึงจะทำกิริยาพูดจาดี ก็ไม่น่าวางใจ ๚ะ๛
๖๒๏ เชื่อผู้หวานนอกแม้น | ขมใน ยุนา |
ผู้ซื่อต่อตนใจ | เที่ยงแท้ |
กลับ บ ชอบหฤทัย | สละละ เสียเฮย |
เป็นช่องอันตรายแก้ | ยากล้นภัยแฝง ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๖๓ ชาวสวนกับลูกชายทั้งปวง
๏ ชาวสวนคนหนึ่ง เมื่อเกือบจะตายอยากจะให้บุตรทั้งปวงเป็นประกันที่สวนของตัว ด้วยการบำรุงให้เหมือนเช่นตัวเราทำมาแต่ก่อน จึงได้เรียกบุตรทั้งปวงมาข้างที่นอนแล้วว่า ลูกเอ๋ย ขุมทรัพย์ใหญ่ซ่อนอยู่ใต้ต้นองุ่นแห่งหนึ่ง เจ้าจงหาดูเถิด ครั้นเมื่อบิดาตายแล้ว บุตรทั้งปวงก็เอาพลั่วแลจอบไปเที่ยวขุดค้นหาโดยละเอียดในพื้นดินนั้นทั่วทุกแห่ง เขาทั้งหลายก็มิได้พบทรัพย์ แต่องุ่นทั้งปวงใช้ค่าแรงให้ โดยมีผลมากยิ่งนักเกินปกติ ๚ะ๛
ถ้าจะหาทรัพย์สมบัติ หาที่แลเห็น คือทำเรือกสวนไร่นา ตีกว่าคิดปริศนา เพราะได้จริงมาก ๚ะ๛
๖๓๏ ทางได้โดยคดนั้น | มีมาก จริงนา |
เห็นง่ายทำง่ายหาก | มากพลั้ง |
ไร่สวนส่วนทำยาก | แต่มั่น ดีนอ |
เห็นแต่ตาตนตั้ง | น่าได้เดียวจริง ๚ะ |
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ที่ ๖๔ โคอ่อนกับโคใหญ่
๏ โคอ่อนตัวหนึ่งเห็นโคใหญ่ทำการหนักต้องเทียมไถ ก็รบกวนให้เป็นที่เจ็บช้ำด้วย ว่าถึงเหตุที่ไม่มีความสุขเพราะต้องกดขี่ให้ทำการงาน อยู่มาภายหลังไม่นานนักเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เจ้าของโคก็ปล่อยโคใหญ่ออกจากแอก แล้วผูกมัดโคอ่อนด้วยเชือกทั้งปวงแล้วจูงไปยังหน้าที่บูชาเพื่อจะฆ่าในการนักขัตฤกษ์ เมื่อโคใหญ่ได้เห็นการที่ทำดังนั้น ยิ้มแล้วว่ากับโคอ่อนว่า เพราะดังนี้จึงปล่อยให้เจ้าขี้เกียจอยู่เปล่า ๆ เพราะเจ้าจะต้องบูชายัญเดี๋ยวนี้ ๚ะ๛
ถึงจะตรากตรำลำบากเหนื่อยอยู่เสมอ ก็ดีกว่าอยู่ที่สบาย ๆ ต้องตายโดยเร็ว ๚ะ๛
๖๔๏ ความทุกข์ยากเหนื่อยต้อง | จำทน |
ลำบากแต่ชีพตน | ห่อนม้วย |
มีสุขก่อนเขาปรน | ปรือเพื่อ ประโยชน์แฮ |
จักฆ่าเพราะหวังด้วย | แล่เนื้อดุจโค ๚ะ |
พระเทพกระวี
ที่ ๖๕ โคกับกบทั้งปวง
๏ โคตัวหนึ่งไปกินน้ำที่ริมหนองก้าวเข้าไปในกลางครอกแห่งลูกกบเล็ก ๆ ทั้งปวง เหยียบตายเสียตัวหนึ่ง ครั้นเมื่อแม่กบขึ้นมาไม่พบลูกของตัว ตัวนั้นจึงได้ถามกบพี่น้องทั้งปวงของกบที่ตายว่าเป็นอย่างไร ลูกกบตัวหนึ่งจึงบอกว่าพี่ชายนั้นตายเสียแล้วนะแม่ เพราะมีสัตว์หนึ่งโตยิ่งนัก มีเท้าใหญ่สี่เท้ามาที่หนองนี้แล้วเหยียบด้วยเท้าเป็นกีบผ่าสองถึงแก่ความตาย แม่กบพองตัวขึ้นแล้วถามว่าสัตว์นั้นเขื่องสักเท่านี้ได้ฤๅไม่ ลูกกบจึงว่าจงหยุดเถิดแม่อย่าพองตัวแม่เลย แลแม่อย่าโกรธด้วย ฉันจะบอกแม่เป็นแน่แท้ว่าถ้าแม่ขืนพองตัวไป ตัวคงจะแตกเร็วทีเดียวที่จะเทียบเทียมความโตยิ่งของสัตว์ใหญ่อันพึงกลัวนั้นไม่ได้เลย ๚ะ๛
อย่าโกรธตอบที่อำนาจสูงเหลือกำลังที่ตัวจะทำอะไรได้ ๚ะ๛
๖๕๏ ตนอำนาจต่ำต้อย | วาสนา |
หมายประทุษผู้ศักดา | เดชล้ำ |
ตอบโต้ไม่สมอา - | รมณ์มุ่ง มาดแฮ |
กลับเพิ่มทุกข์สองซ้ำ | เปรียบคล้ายกับเขา ๚ะ |
พระเทพกระวี
ที่ ๖๖ หญิงแก่กับหมอ
๏ ผู้หญิงแก่ผู้หนึ่งเสียจักษุทั้งสองข้างใช้ไม่ได้ จึงได้เรียกหมอคนหนึ่งมาให้รักษา สัญญากันต่อหน้าพยานหลายคนว่า ถ้าหมอรักษาหายหมอนั้นจะได้รับเงินจากเขา แต่ถ้าตาที่ป่วยนั้นไม่ทาย เขาจะให้อันใดแก่หมอ การที่สัญญากันดังนี้เป็นอันตกลงใช้ได้ หมอก็เอาน้ำมันหุงประสมขี้ผึ้งหยอดตาหญิงนั้นทุก ๆ เมื่อ มาเยี่ยมไข้ครั้งใดก็คงจะเอาอันใดอันหนึ่งติดมือไปด้วยทุกครั้ง ขโมยทรัพย์สมบัติของหญิงนั้นไปทีละเล็กละน้อยจนหมด ครั้นเมื่อได้ของที่หญิงแก่ไปหมดแล้ว หมอนั้นจึงรักษาให้หาย แลทวงทรัพย์ค่าจ้างที่ได้สัญญากันไว้ หญิงแก่นั้นครั้นเมื่อได้จักษุคืนมาแล้วไม่แลเห็นของทั้งปวงของตัวที่มีอยู่ในเรือนเลย ก็ไม่ให้อันใดกับหมอ หมอก็ทวงตามที่เขาควรจะได้ ครั้นเมื่อหญิงแก่นั้นยังไม่ยอม ก็ไปฟ้องเรียกหญิงแก่นั้นไปชำระต่อหน้าตระลาการ หญิงนั้นยืนอยู่ในศาลให้การว่าชายผู้ที่พูดนั้นเป็นคำจริงตามที่เขาว่า เพราะข้าพเจ้าได้สัญญาว่าจักษุข้าพเจ้าหายข้าพเจ้าจะให้เงินข้า ตาข้าพเจ้ายังบอดอยู่อีกข้าพเจ้าจะไม่ต้องให้อะไรแก่เขา เดี๋ยวนี้เขาออกความซัดว่าได้รักษาข้าพเจ้าหายแล้ว แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าฝ่ายหนึ่งขอยืนยันว่าตาข้าพเจ้ายังบอดอยู่ เพราะเมื่อก่อนข้าพเจ้ายังไม่เสียตา ตายังใช้ได้อยู่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งของเครื่องใช้สอยแลของมีราคาเป็นอันมากอยู่ในเรือนข้าพเจ้า แต่บัดนี้ถือทั้งหมอได้สาบานว่า ข้าพเจ้าได้หายตาบอดแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่สามารถที่จะเห็นของในเรือนข้าพเจ้ามีแต่สักสิ่งเดียว ๚ะ๛
๖๖๏ ความคิดผิดซื่อทั้ง | ผิดธรรม |
คงจะมีสิ่งอัน | คู่ล้าง |
ทำชอบกอบโกงพัน | หลักแอบ กินฤๅ |
ผลที่โกงก่อนสร้าง | ตัดสิ้นดีสูญ ๚ะ |
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ที่ ๖๗ ม้ากับชาวโม่แป้ง
๏ ม้าตัวหนึ่ง รู้สึกความทรุดโทรมด้วยความชรา จึงได้รับการโม่แป้งแทนที่จะต้องออกไปในการสงคราม ครั้นเมื่อต้องถูกเทียมโม่แป้งแทนที่ออกรบก็มีความเศร้าโศกด้วยการที่เปลี่ยนแปลงคราวของตัว ระลึกขึ้นในใจของตัวที่การที่ตัวเคยมาแต่ก่อน ๆ แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าของโม่แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยไปในการสงคราม ข้าพเจ้าแต่งเครื่องเกราะตั้งแต่อกจนตลอดหาง แลมีคนตามเลี้ยงข้าพเจ้าเสมอ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าไม่รู้ที่จะบอกความเจ็บใจของข้าพเจ้าอย่างไรที่มาชอบการโม่มากกว่าการสงคราม ชาวโม่จึงตอบว่าอย่าพูดถึงการที่เป็นการเก่าแก่เพราะบรรดาที่เกิดมาสำหรับตาย ย่อมจะต้องทนรับความขึ้นความลงทั้งปวงแห่งโชคแลเคราะห์เฉพาะตัว ๆ เหมือนกันทั้งนั้น ๚ะ๛
ธรรมดาคนย่อมได้พบสุขบ้างทุกข์บ้าง ๚ะ๛
๖๗๏ ธรรมดามนุษย์ทั้ง | หญิงชาย ทั่วเฮย |
ย่อมประสบสุขสบาย | ทุกข์บ้าง |
มีลาภยศแล้วคลาย | จากลาภ ยศแฮ |
ใคร บ่ อาจหลีกมล้าง | ล่วงพ้นธรรมดา ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๖๘ สุนัขจิ้งจอกกับวานร
๏ วานรตัวหนึ่งได้รำในที่ประชุมสัตว์ทั้งปวง สัตว์ทั้งปวงชอบใจในการที่วานรได้เต้นรำนั้น จึงได้พร้อมกันเลือกวานรตั้งขึ้นเป็นกษัตริย์ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งมีความริษยาในการที่วานรได้รับยศ ครั้นเมื่อไปพบที่ดักสัตว์แห่งหนึ่ง มีชิ้นเนื้อวางอยู่ในนั้น ก็มานำวานรไปถึงที่แล้วพูดว่าตัวได้พบคลังวันนี้ แต่มิได้ใช้เป็นอาณาประโยชน์ รักษาไว้เพื่อมิให้วานร เพราะเห็นว่าเป็นพระราชทรัพย์สำหรับแผ่นดินเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตของวานร แลข้อปรึกษาแนะนำให้วานรหยิบเอาชิ้นเนื้อนั้น วานรมิได้มีความระแวงก็เข้าไปหยิบตัวก็ติดอยู่ในที่ดักนั้น ครั้นเมื่อวานรต่อว่าสุนัขจิ้งจอกว่าตั้งใจที่จะแกล้งแนะนำให้มาต้องดักดังนี้ สุนัขจิ้งจอกจึงตอบว่า ลิงเอย เมื่อน้ำใจของเจ้าเป็นดังนี้ เจ้าจะยังเป็นกษัตริย์ปกครองสัตว์ทั้งปวงฤๅ ๚ะ๛
โลภนักแล้ว ถึงจะเป็นใหญ่ก็มักมีอันตราย ๚ะ๛
๖๘๏ แม้นถึงอิศรผู้ | อธิบดี |
หากว่าใจโลภมี | มากแล้ว |
เป็นเหตุจะเสื่อมศรี | ยศศักดิ์ |
อันตรายฤๅจักแคล้ว | คลาดพ้นภัยพาล ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๖๙ ม้ากับเจ้าของผู้ที่ขี่
๏ ทหารม้าคนหนึ่งได้อุตส่าห์ทนลำบากเป็นอันมากในการที่จะเลี้ยงม้าของตัว เมื่อเวลามีการรบอยู่จนตลอดเวลาเสร็จศึกนั้น ทหารผู้นั้นเห็นว่าม้าของตัวเป็นเพื่อนยากที่สำหรับจะช่วยในเวลาลำบากทั้งปวง ก็ร้องคอยให้อาหารทั้งข้าวทั้งหญ้ากินมิได้ขาด ครั้นเมื่อเสร็จการศึกแล้ว ทหารผู้นั้นก็ให้ม้ากินเพียงแกลบรำแลใช้บรรทุกฟืนอันหนัก กดขี่ม้านั้นด้วยใช้สอยการหนักเป็นอันมาก เหมือนกับทาสมิได้ระวังรักษาโดยดีเลย ครั้นภายหลังมาเกิดการศึกขึ้นอีก แตรก็เป่าเรียกทหารผู้นั้นไปเข้าหมู่ของตัว ทหารผู้นั้นแต่งตัวสวมเสื้อเกราะอันหนัก ม้านั้นก็ล้มลงกับที่โดยความอันหนัก ไม่มีกำลังพอควรเสมอกับที่จะรับบรรทุกทนความหนักสืบไปได้ จึงว่ากับนายม้าว่าเดี๋ยวนี้ท่านเห็นจะต้องไปรบด้วยเดินเท้าแล้ว เพราะท่านเปลี่ยนข้าพเจ้าจากเป็นม้าลงเป็นลาเสียแล้ว ท่านจะหมายอย่างไรว่าข้าพเจ้าจะกลับจากเป็นลาขึ้นเป็นม้าได้อีกในอึดใจเดียว ๚ะ๛
๖๙๏ ใช้พล บ ให้พัก | แรงทำ |
ทุกทิวากรากกรำ | แกร่วสู้ |
ยามเกิดกิจใหญ่สำ- | คัญจัก ใช้นา |
คนบอบฤๅจักกู้ | กิจนั้นฉันใด ๚ะ |
พระยาศรีสุนทรโวหาร
ที่ ๗๐ ท้องกับอาการอื่น ๆ ในตัวคน
๏ อาการอื่น ๆ ทั้งปวงในตัวคนพากันกำเริบต่อสู้ท้องท้ากันกล่าวว่าทำไมเราทั้งหลายต้องมีธุระที่จะทำการให้สมความอยากของเจ้าอยู่เสมอไม่หยุดหย่อนได้เลย ส่วนเจ้าไม่ได้ทำอะไรเป็นแต่อยู่นิ่ง ๆ หาความสุขใส่ตัวด้วยความบริบูรณ์ ตามความสบายของตัวเองดังนั้นฤๅ อาการทั้งปวงก็ทำตามที่ตกลงกัน คือไม่ยอมที่จะช่วยท้องเลย ร่างกายทั้งปวงก็อ่อนลงพร้อมกันโดยเร็ว ครั้นเมื่อมือแลเท้าทั้งปวง ปากแลตาทั้งสองรู้สึกเสียใจในความฟุ้งซ่านของตัวสิช้าเกินไปเสียแล้ว ๚ะ๛
ไม่รู้จักที่เกิดที่เจริญของตัว คิดทรยศต้องตายเอง ๚ะ๛
๗๐๏ หึงคลั่งตั้งคิดฉ้อ | ฉลปอง ล้างนอ |
หึงคณะพระปราชญ์ตรอง | ลบล้าง |
หึงท้องว่ากินของ | มากอด เสียฤๅ |
ชนโฉดฉะนี้อ้าง | ชื่อชั้นเดียวเสมอ ๚ะ |
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ที่ ๗๑ ยูปิกเตอร์๘กับวานร
๏ ยูปิกเตอร์ออกหมายประกาศแต่บรรดาสัตว์ทั้งปวงในป่า ว่าถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีลูกซึ่งเห็นว่าเป็นสวยกว่าทั้งหมดจะพระราชทานรางวัล ครั้งนั้นมีวานรตัวหนึ่งหาบุตรมาพร้อมกับสัตว์ทั้งปวง ลูกวานรอ่อนตัวนั้นจมูกบี้ไม่มีขนรูปร่างพิกลพิการ แต่นางวานรมารดานั้นถนับถนอมพามาในที่ประชุม เพื่อจะเป็นคนมาเลือกรับรางวัลที่กำหนดไว้นั้น สัตว์ทั้งปวงก็พากันคำนับรับนางวานร เมื่อพาบุตรเข้าที่ประชุมนั้นด้วยการหัวเราะฮาใหญ่ทั่วกัน ฝ่ายนางวานรนั้นมิได้มีความกระดากกระเดื่องกล่าวคำขึ้นโดยแข็งแรง ว่าเราไม่รู้เลยว่ายุปิกเตอจะประทานรางวัลแก่บุตรเราฤๅไม่ แต่เรารู้อยู่อย่างนี้แน่ว่าถึงอย่างใดก็ดี ในดวงตาของเราผู้เป็นมารดา เห็นว่าลูกเราเป็นที่น่ารักอย่างยิ่ง สวยอย่างแลงามเลิศล้ำกว่าสัตว์ทั้งปวงหมด
อธิบายยาว๏ สรรพสิ่งใด ๆ ที่ว่าชั่วว่าไม่ดีแท้ ๆ นั้นไม่มี เพราะถึงจะเห็นไม่ดีในชนเป็นอันมาก ฤๅผู้ใหญ่ผู้ดีอย่างไรก็ดี แต่ยังคงอาจเป็นของดี ฤๅเป็นที่รักของสิ่งฤๅบุคคลผู้ปรารถนาต้องการแลจำเป็นต้องรักในสิ่งที่ว่าชั่วนั้น ๚ะ๛
อธิบายสั้น๏ สรรพสิ่งทั้งปวงย่อมเป็นของดีของประเสริฐ ของผู้ที่รักแลต้องการในของสิ่งนั้น ๚ะ๛
๗๑๏ สิ่งใดใจชอบแล้ว | เชยชม |
ยกย่องโดยอารมณ์ | รักเร้า |
ถึงใครไป่นิยม | เห็นชอบ เลยนา |
ตัวว่าดีคงเฝ้า | เพรียงพร้องสรรเสริญ๙ ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๓๒ แม่ม่ายกับสาวใช้เล็กสองคน
๏ แม่ม่ายคนหนึ่งเป็นคนชอบสะอาด มีสาวใช้เล็ก ๆ สองคนสำหรับแม่ม่ายใช้สอย แม่ม่ายนั้นเป็นคนปรกติเสียทีเดียวที่จะปลุกสาวใช้นั้นแต่เช้าพอไก่ขัน สาวใช้สองคนมีความรำคาญที่ต้องทำการหนักดังนี้ จึ่งได้คิดตกลงกันว่าจะฆ่าไก่ซึ่งเป็นผู้ปลุกนายให้ตื่นแต่เช้าเสีย ครั้นเมื่อทำตามที่คิดแล้วสาวใช้นั้นจึงได้รู้ ว่าที่ทำนั้นเป็นการที่ทำให้มีความลำบากมากขึ้นอีก เพราะเหตุว่านายเขาไม่ได้ยินทุ่มโมงแต่ไก่ ก็ปลุกสาวใช้นั้นแต่กำลังเที่ยงคืน ๚ะ๛
อธิบายยาว๏ จะคาดคะเนสิ่งฤๅการทั้งปวงว่าเป็นของดีมีประโยชน์ ฤๅเป็นของชั่วให้โทษนั้นเป็นการยากอย่างยิ่ง เพราะธรรมดาสรรพสิ่งทั้งปวงที่ให้คุณให้โทษนั้น ย่อมซ่อนเร้นระคนปนกันยากที่จะเห็นได้ ถ้ามักง่ายทำลายสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ เพราะด้วยความสงสัยเล็กน้อย ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็จะกลับความดีเป็นชั่ว ๆ เป็นดีบ่อย ๆ ๚ะ๛
อธิบายสั้น๏ การที่หนีความทุกข์ ความลำบาก ฤๅแสวงความสุขโดยความที่คาดคะเนง่าย ๆ ไม่พิจารณาการให้ตลอด มักจะกลับเป็นการชั่วร้ายที่หนักขึ้น ๚ะ๛
๗๒๏ จักประมาณการชอบทั้ง | การผิด |
จงกอบปรีชากิจ | เลือกฟั้น |
ซึ่งจะเสร็จสมคิด | สุดประโยชน์ ปองนา |
ผิว่าหยาบจักซั้น | เสื่อมสิ้นศุภผล ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๗๓ เหยี่ยวนกเขา เหยี่ยวแดงกับนกพิราบ
๏ นกพิราบทั้งปวงแลเห็นเหยี่ยวแดงมามีความกลัวเป็นกำลัง จึงเรียกเหยี่ยวนกเขาเข้ามาช่วยป้องกันเหยี่ยวนกเขาก็รับทันที ครั้นเมื่อนกพิราบทั้งปวงยอมให้เหยี่ยวนกเขาเข้าอยู่ในเรือนที่เป็นรังดังนั้นแล้ว จึงได้รู้ว่าเหยี่ยวนกเขานั้นได้ทำอันตรายฆ่าพวกตัวเสียในวันเดียวเป็นอันมาก ยิ่งกว่าที่เหยี่ยวแดงจะเฉี่ยวเป็นคราว ๆ ตลอดทั้งปี ๚ะ๛
๏ จงละยารักษาซึ่งแรงเกินโรค ๚ะ๛
๗๓๏ โรคาอุบัติพ้อง | พาลตน |
แต่นิดคิดขวายขวน | เกี่ยงแก้ |
กินยาที่แรงจน | เกินโรค |
โอสถซึ่งเสพแท้ | เครื่องมล้างชีวัน ๚ะ |
พระองค์เจ้าโสภณบัณฑิตย์
ที่ ๗๔ นกแซงแซวกับงูแลศาลชำระความ
๏ นกแซงแซวตัวหนึ่งกลับมาแต่เมืองอื่น ตั้งแต่นั้นมาก็ชอบอยู่ว่าเคยกับคน ทำรังอยู่ที่ศาลชำระความแห่งหนึ่งแลฟักไข่มีลูก ๗ ตัวด้วยกัน ยังมีงูตัวหนึ่งเลื้อยขึ้นมาจากกำแพงผ่านรังนกไปก็กินลูกนกขังรังซึ่งยังไม่มีขนนั้นเสีย ครั้นเมื่อแม่นกมาเห็นรังเปล่าก็ร้องไห้เศร้าโศกยิ่งรำพันว่า กรรมของของเราซึ่งเป็นสัตว์จรมาในที่นี้ ๆ ที่เราอยู่ย่อมเป็นทีพึ่งที่รักษาความชอบธรรมของผู้อื่นทั้งปวง เว้นแต่เราผู้เดียวต้องถูกความข่มเหง
อธิบายยาว๏ ความที่มักง่ายฤๅความที่เอาอย่างเขาง่าย ๆ เห็นเขาทำอะไรได้ดี ก็ทำบ้างมิได้พิจารณาดูตัวของตัวก่อน ว่ากำลังวาสนาของตัวนั้นจะควรทำฤๅไม่ควรนั้น มักจะเป็นช่องให้เกิดความคับแค้นแก่ตัวเมื่อภายหลัง ๚ะ๛
อธิบายสั้น๏ ไว้ตัวเอาอย่างผู้ที่กำลังแล้วาสนาไม่เหมือนตัวนั้น เป็นทางให้ได้ความคับแค้น เมื่อเวลากำลังฤๅวาสนาของตัวไม่มี มิพอที่จะใช้เหมือนผู้ที่เอาอย่าง ๚ะ๛
๗๔๏ เห็นท่านยิ่งยงล้ำ | เดชา นุภาพเฮย |
ไป่คิดเจียมกายา | ว่าน้อย |
เย่อหยิ่งแข่งเคียงพา | กระพือจิต ทะยานแฮ |
จะยากเลือดตาย้อย | คับแค้นภายหลัง ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๗๕ หม้อสองใบ
๏ หม้อสองใบลอยมาตามน้ำไหล ใบหนึ่งเป็นหม้อดิน ใบหนึ่งเป็นหม้อทองแดง หม้อดินว่ากับหม้อทองแดงว่า ขอให้ท่านอยู่แต่ห่าง ๆ อย่าเข้ามาใกล้ข้าพเจ้า เพราะว่าท่านถูกข้าพเจ้าแต่เบา ๆ ทีเดียว ข้าพเจ้าก็จะแตกเป็นชิ้นแหลกไปหมด อีกประการหนึ่งข้าพเจ้าก็ไม่อยากใกล้ท่านเลย ๚ะ๛
เสมอกันเป็นมิตรกันอย่างเอกได้
๗๕๏ เสมอกันทุกอย่างทั้ง | พิทยา ฉลาดเฮย |
ยศเกียรติตระกูลปรา - | กฎเชื้อ |
ใจพาลจิตปราชญ์มา - | รยาทเท่า กันแฮ |
เป็นสหายเสมอเนื้อ | เอกแท้ควรถนอม ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๗๖ คนเลี้ยงแกะกับสุนัขป่า
๏ ครั้งหนึ่งคนเลี้ยงแกะไปพบสุนัขอ่อนของสุนัขป่าตัวหนึ่งพามาเลี้ยงไว้จนโตขึ้น ครั้นอยู่หน่อยหนึ่งสอนให้ลูกสุนัขป่านั้นขโมยลูกแกะในฝูงที่อยู่ใกล้เคียงกันทั้งปวง ลูกสุนัขป่าก็ทำการให้เห็นว่าเป็นศิษย์ที่สอนง่าย แล้วว่ากับคนเลี้ยงแกะว่า เมื่อท่านสอนให้ข้าพเจ้าขโมยแล้วท่านต้องระวังตรวจตราโดยตาไว ถ้ามิฉะนั้นแกะในฝูงของท่านเองก็คงจะหายบ้าง ๚ะ๛
๏ สร้างความอันตรายให้กับผู้ที่เหมือนกับตัว ฤๅในพวกของตัว ๆ ก็คงจะต้องเป็นเหมือนกัน ๚ะ๛
๗๖๏ ผู้ใดประกอบก่อร้อน | แรงอัน ตรายแฮ |
ในพรรคพวกเดียวกัน | แส่ไซร้ |
ภัยจักกลับตามผัน | ผายสู่ ตนนา |
ให้ระบมอกไหม้ | ดุจนั้นเนืองเสนอ ๚ะ |
ขุนวิสุทธากร
ที่ ๗๗ ลูกปูกับแม่ปู
๏ แม่ปูว่ากับลูกปูว่า ลูกเอ๋ย ทำไมเจ้าเดินไปแต่ข้างเดียวดังนี้ ลูกชายจึ่งตอบว่าจริงทีเดียวแม่จ๋า ถ้าแม่ทำทางตรงให้ฉันดู ฉันรับสัญญาว่าจะเดินทางนั้น แม่ลองเดินดูก็ไม่สำเร็จก็ต้องยอมตามคำค่อนว่าของลูก ไม่มีข้อแก้ตัวอย่างไรเลย ๚ะ๛
ตัวอย่างมีกำลังกล้ากว่าคำสอน ๚ะ๛
๗๗๏ ตัวอย่างแรงกล้ากว่า | คำสอน |
คือสละสรรพสาสน์รอน | หน่ายร้าง |
บงแบบสบใจจร | จำเยี่ยง เยียนา |
ดังหมู่กรกฏอ้าง | เรื่องไว้เป็นแผน ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๗๘ บิดากับบุตรหญิงทั้งสอง
๏ ชายผู้หนึ่งมีบุตรหญิงสองคน คนหนึ่งนั้นแต่งงานกับชาวสวน คนหนึ่งแต่งงานกับช่างทำกระเบื้อง ภายหลังครั้งหนึ่งบิดาไปเยี่ยมบุตรสาวซึ่งแต่งงานกับชาวสวน ถามถึงสุขทุกข์ของลูกสาวแลการซึ่งลูกสาวทำทั้งปวงเป็นอย่างไรบ้าง ลูกสาวตอบว่าอะไร ๆ อันก็สบายเรียบร้อยสบายดีอยู่ ฉันมีความประสงค์อยู่อย่างเดียวแต่อยากให้ฝนตกพรรณไม้ต่างๆ จะได้น้ำบริบูรณ์ ครั้นอยู่มาไม่นานนักชายผู้เป็นบิดานั้นก็ไปเยี่ยมบุตรสาวที่แต่งงานกับช่างทำกระเบื้องถามสุขทุกข์และการงานเหมือนกัน บุตรสาวตอบว่า ฉันไม่มีความประสงค์อันใด มีความประสงค์อยู่อย่างเดียว แต่ขอให้ฤดูแล้งยาวไป พระอาทิตย์จะได้แจ่มแดดกล้า กระเบื้องจะได้แห้งบิดาจึงได้ว่ากับบุตรสาวว่า ถ้าพี่ของเจ้าอยากให้ฝนตก ส่วนเจ้าอยากจะให้อากาศแห้ง มีความประสงค์เป็นอย่างดังนี้ จะให้พ่อเข้าช่วยปรารถนาด้วยไหนเล่า ๚ะ๛
อย่างหนึ่ง๏ สรรพสิ่งซึ่งว่าเป็นคุณเป็นโทษนั้น เป็นตามความต้องการของผู้จะใช้ในสิ่งนั้น ความที่ถือว่าดีในชนพวกหนึ่ง เป็นความฉิบหายของชนพวกหนึ่งซึ่งตรงกันไป ๚ะ๛
๗๘๏ สิ่งจะเป็นโทษทั้ง | เป็นคุณ เล่านา |
เป็นเพราะใจเจือจุน | ชอบใช้ |
สมหวังก็เป็นสุน - | ทรชอบ เชิงแฮ |
ผิดประสงค์จักใต้ | ก่อเกื้อกลีเจริญ ๚ะ๑๐ |
ขุนวิสุทธากร
-
๑. ผิดถ้า คือ ผิดท่า เป็นคำโทโทษ ↩
-
๒. ซั้น แปลว่า นั้น, ไว, เร็ว, ถี่ ๆ, ติด ๆ กัน. ↩
-
๓. ต้นเน็ตเตล หนังสือสมุดไทย ใช้ว่า เน็ตเตล และเนตเตล หมายถึง ต้นเนตเทิลหรือสติงกิงเนตเทิล (Nettles, Stinging Nettle) มีต้นกำเนิดอยู่ที่อเมริกา และแพร่ขยายสู่ยุโรป รูปใบหยัก มีขนขึ้นตามใบ เมื่อสัมผัสใบจะมีอาการผื่นคัน ต้นเน็ตเทิลมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรที่ทรงคุณค่า สามารถรักษาโรคได้หลายโรค ↩
-
๔. เนตรบงตรงฝ่าฟ้า” บง หมายถึง มอง ใช้ตามภาพปักโคลงอิศปปกรณัม ส่วนในหนังสือสมุดไทยใช้เป็น “เนตรบ่งตรงฝ่าฟ้า” ↩
-
๕. คือ จูปิเตอร์ ซึ่งในนิทานเรื่องนี้สะกดว่า ยุปิกเตอ ทุกแห่ง ↩
-
๖. ขี้ตรวน น่าจะหมายถึง คนเดนคุก ต้นฉบับเขียนเป็น คี่ตรวน ↩
-
๗. “กาก็ไปสำแดงตน” ในหนังสือสมุดไทย เป็น “กาก็ไยสำแดงตน” ↩
-
๘. คือ จูปิเตอร์ ในต้นฉบับสมุดไทย และนิทานเรื่องนี้เขียนเป็น ยูปิกเตอร์ ยุปิเตอ ↩
-
๙. ใช้ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย น่าจะเป็น “เพรียกพร้องสรรเสริญ” ↩
-
๑๐. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๓ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๔ เรื่อง อิศปปกรณัม เล่ม ๔ ↩