บทที่ ๔ นิทานอิศปปกรณัม

หลังจากที่นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเลย์ ได้เรียบเรียงนิทานอีสปหรือที่เขาเรียกว่า “ความเปรียบ” จำนวน ๔๔ เรื่อง พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีวรรณกรรมแปลจากนิทานอีสปประพันธ์โดยคนไทยเกิดขึ้นเป็นเรื่องแรก คือเรื่องอิศปปกรณัม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงแปลนิทานอีสปจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยร่วมกับปราชญ์และกวีในราชสำนัก แม้ไม่ทราบว่าใช้หนังสือนิทานอีสปภาษาอังกฤษฉบับใดเป็นต้นฉบับในการแปล แต่เข้าใจน่าจะเป็นงานวรรณกรรมที่มีความสำคัญเรื่องหนึ่งในสมัยนั้น

ต้นฉบับและลักษณะคำประพันธ์

เป็นนิทานร้อยแก้วสั้น ๆ ความยาวของนิทานประมาณ ๕ ถึง ๒๐ บรรทัด นิทานส่วนหนึ่งจบด้วยคติธรรมคำสอนและหรือโคลงสุภาษิต ต้นฉบับ เก็บรักษาอยู่ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นหนังสือสมุดไทยดำ หมู่นิทานร้อยแก้ว เขียนด้วยเส้นรง หรดาลหรือเส้นดินสอขาว จำนวน ๒๗ เล่มสมุดไทย มีจำนวนนิทานกว่า ๓๐๐ เรื่อง แต่บางเรื่องซ้ำกัน หรือเป็นฉบับร่าง นิทานแต่ละเรื่องมีบอกชื่อกวีผู้ประพันธ์นิทานและโคลงสุภาษิตไว้ด้วย แต่มีนิทานจำนวนมากที่มีได้บอกรายนามกวีไว้ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ใช้ต้นฉบับอิศปปกรณัมซึ่งผู้วิจัยได้ตรวจสอบชำระจัดทำต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์และหนังสือสมุดไทยซึ่งในการตรวจสอบชำระ จำนวน ๑๒ เล่ม ดังนี้

๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๑ เรื่องที่ ๑ - ๒๔

๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๒ เรื่องที่ ๒๕ - ๕๑

๓. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๓ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๓ เรื่องที่ ๕๒ - ๗๘

๔. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๔ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๔ เรื่องที่ ๗๘ - ๑๐๖

๕. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๕ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๕ เรื่องที่ ๑๐๗ - ๑๒๗

๖. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๓ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๖ เรื่องที่ ๑๐๖ - ๑๓๐

๗. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๔ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๖ เรื่องที่ ๑๓๑ - ๑๕๗

๘. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๕ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๗ เรื่องที่ ๑๕๘ - ๑๘๓

๙. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๖ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๙ เรื่องที่ ๒๑๔ - ๒๔๒

๑๐. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๗ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๑๐ เรื่องที่ ๒๔๓ - ๒๗๑

๑๑. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๘ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เรื่องที่ ๒๙๑-๒๙๘ - ๒๔๐,๓๐๒

๑๒. หนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๙ เรื่อง นิทานอีศป (อิศปปกรณัม) เรื่องที่ ๒๙๔ - ๓๐๙

อนึ่ง ในการตรวจสอบชำระและจัดทำต้นฉบับของกรมศิลปากรครั้งนี้ ขาดนิทานไปบางเรื่องเนื่องจากไม่มีในต้นฉบับ .และไม่พบหนังสือสมุดไทย เรื่อง อิศปปกรณัม เล่ม ๘ ซึ่งจดบันทึกนิทานเรื่องที่ ๑๘๔ – ๒๑๓ รวมมีนิทานที่จัดพิมพ์ และใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ๒๔๕ เรื่อง ทั้งนี้ ได้เรียงลำดับนิทานตามหนังสือสมุดไทย เพื่อว่าหากพบต้นฉบับในภายหน้า จะได้จัดพิมพ์เพิ่มเติมได้

กวีผู้ประพันธ์

วรรณกรรมเรื่องนี้ประพันธ์ขึ้นโดยการชุมนุมกวี คือ มีกวีหลายท่านร่วมกันแปลและเรียบเรียงนิทานอิศปปกรณัมและโคลงสุภาษิตในต้นฉบับซึ่งใช้ทำการวิจัย ปรากฏนามกวี ดังนี้

๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒. พระยาศรีสุนทรโวหาร

๓. พระยาราชสัมภารากร

๔. พระเทพกระวี

๕. กรมหลวงพิชิตปรีชากร

๖. ขุนวิสุทธากร

๗. พระองค์เจ้าโสภณบัณฑิตย์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา)

๘. พระยาศรีสิงหเทพ (พระยาราชวรานุกูล)

๙. ขุนท่องสื่อ

๑๐. พระทิพยวินัย

๑๑. ขุนภักดีอาษา

๑๒. ขุนมหาสิทธิโวหาร

๑๓. หลวงบรรหารอรรถคดี

๑๔. ขุนโอวาทวรกิจ

๑๕. ขุนพินิจจัย

๑๖. พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์)

๑๗. กุเรเตอทัด หรือ นายทัศกุเรเตอ

๑๘. หลวงอินทร์อาวุธ

๑๙. พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

๒๐. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันตโสภาคย (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์)

๒๑. จมื่นทิพเสนา

๒๒. พระองค์เจ้าวรวรรณากร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)

ในต้นฉบับซึ่งได้ตรวจสอบชำระและวิจัยนี้ มีนิทานจำนวนมากที่มิได้บันทึกนามผู้แปลและผู้ประพันธ์โคลงสุภาษิต รวมทั้งมีนิทานที่เขียนนามกวีกำกับไว้ในพื้นที่ซิ่งเว้นว่างไว้สำหรับการประพันธ์โคลงสุภาษิตด้วย โดยในรายนามกวีทั้งหมด กวีลำดับที่ ๑๕ - ๒๒ และกวีบางท่านใน ๑๔ ลำดับแรก คือกวีที่มีนามปรากฏในพื้นที่ซึ่งเว้นว่างไว้ดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นได้ว่าท่านเหล่านี้คือกวีที่ได้รับมอบหมายให้ประพันธ์โคลงสุภาษิตประกอบนิทานที่กวีท่านอื่นแปลไว้ล่วงหน้า หรือเป็นผู้แปลนิทานเรื่องนั้นแต่ยังมิได้ประพันธ์โคลงสุภาษิต นอกจากนี้ยังมีนิทานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมิได้ตรวจสอบชำระ จึงอาจเป็นไปได้ว่าอาจมีกวีที่ไม่ปรากฏนามร่วมประพันธ์ด้วย อนึ่ง การแต่งวรรณคดีไทยโดยการประชุมกวี มักใช้กับวรรณคดีที่มีความสำคัญหรือมีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้กวีที่มีความรู้ความสามารถและทักษะพิเศษต่าง ๆ ในการประพันธ์ เช่นเป็นวรรณคดีที่มีความยาว หรือเป็นวรรณคดีที่แปลจากภาษาต่างประเทศต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษานั้น ๆ รวมทั้งต้องมีบุคคลที่สามารถเป็นคนกลางสื่อสารระหว่างผู้ใช้ภาษาได้

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีวรรณคดีสำคัญหลายเรื่องที่แต่งขึ้นโดยการประชุมกวี เช่น วรรณกรรมแปลจากภาษาจีน ซึ่งเริ่มมีการแปลและเรียบเรียงวรรณคดีจีนเป็นวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ สืบเนื่องมาเป็นจำนวนมาก เช่น สามก๊ก ชิดก๊กไซ่ฮั่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลและเรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นหนังสือสำคัญสำหรับพระนคร ในการประพันธ์ครั้งนั้น เนื่องจากเป็นวรรณคดีสำคัญเป็นวรรณคดีเรื่องยาวและถือเป็น “การใหญ่” เพื่อให้การดำเนินงานแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยเป็นไปโดยความเรียบร้อย เนื่องจากการแปลวรรณคดีจีนเป็นภาษาไทยนั้น ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถหลายด้าน เช่น ผู้ที่รู้ภาษาและวรรณคดีจีนดีถึงขั้นเป็นล่าม กวีที่มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่ดี อาลักษณ์ คนจีน และคนไทยที่มีความสามารถใช้สองภาษา คือภาษาไทยและภาษาจีน และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีแม่กองอำนวยการแปล ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการควบคุมและบริหารจัดการจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นแม่กองอำนวยการแปล เรื่องสามก๊ก และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง ทรงแม่กองอำนวยการแปล เรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่น มีคณะกรรมการแปลหลายคน แบ่งหน้าที่การทำงานกันเป็นแผนกต่าง ๆ คือ คนแปล เสมียน คนเรียบเรียง คนเกลาสำนวน

การประพันธ์เรื่องอิศปปกรณัมนี้ แม้จะไม่มีบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ แต่เข้าใจว่าน่าจะมีผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร จัดการแบ่งงานดูแลความเรียบร้อยและความต่อเนื่องเป็นเอกภาพของต้นฉบับ เนื่องจากนิทานอีสปมีเป็นจำนวนมาก และมีผู้แปลหลายคนแต่มิได้มีการแปลซ้ำซ้อนกัน เมื่อพิจารณาดูในรายนามกวีทั้งหมด มีความเป็นไปได้ว่ากวีลำดับที่ ๑ คือ นายทัดกุเรเตอ หรือกุเรเตอทัศ ซึ่งมีนามปรากฏอยู่ในหน้าต้นและในเนื้อหาหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๕ จะทำหน้าที่บรรณาธิการหรือผู้กำกับดูแล จ่ายงาน การแปลและเรียบเรียงนิทานตลอดจนการประพันธ์โคลงสุภาษิต เพราะคำว่า กุเรเตอร์ มาจากคำว่า curator หมายถึง ภัณฑารักษ์ หรือผู้ดูแล ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าคือผู้ควบคุมดูแลการแปลและประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ เนื่องจากมีคุณสมบัติเหมาะสมซึ่งจะกล่าวต่อไป มีข้อควรพิจารณาว่า นายทัดกุเรเตอ หรือกุเรเตอทัศเป็นใคร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏกวีนามว่าทัศ หรือทัด ๒ ท่าน ท่านแรกคือ นายทัดหรือนายทัด เปรียญ บวชอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาส หลังจากลาสิกขาแล้วได้เข้ารับราชการกรมศึกษาธิการ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๓๕ และได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษด้วย กับอีกองค์หนึ่งคือ หม่อมเจ้าทัด หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (หม่อมเจ้าทัด) พระโอรสของพระประพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นราชสกุลเสนีวงศ์) ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปประทับที่วัดระฆังโฆสิตาราม เล่าเรียนในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แต่ครั้งยังเป็นพระมหาโต ต่อมา พ.ศ. ๒๓๘๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (ต่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาโตเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.๒๓๙๒ ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรก ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมได้อีก ๔ ประโยค รวมเป็น ๗ ประโยค ได้เลื่อนสมณศักดิ์โดยลำดับ พ.ศ. ๒๔๐๗ ทรงได้รับสถาปนาเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์เป็น หม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันท์ พ.ศ. ๒๔๓๐ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ และ พ.ศ.๒๔๓๕ โปรดให้เลื่อนเป็นหม่อมเจ้าพระธรรมพิมล ได้รับอาราธนาไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พ.ศ. ๒๔๓๗ โปรดให้สถาปนาเป็นเจ้าคณะใหญ่ ในคณะกลาง มีนามว่า หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดพระชนม์ชีพ พระนามของพระองค์จึงเป็นพระนามตามสมณศักดิ์และฐานันดรศักดิ์ ด้วยข้อจำกัดจากค่านิยมและสภาพสังคมตามยุคสมัย กวีนาม “กุเรเตอทัด” จึงไม่น่าจะหมายถึงพระองค์ แต่น่าจะหมายถึงนายทัด เปรียญ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ ได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ สำหรับกวีที่ร่วมกันประพันธ์นิทานอิศปปกรณัมนี้ เมื่อพิจารณาจากต้นฉบับหนังสือสมุดไทย พบว่านิทานบางเรื่องยังมีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น มีแต่ตัวนิทานแต่ขาดบทโคลงสุภาษิตท้ายเรื่อง หรือมีการคัดลอกโคลงสุภาษิตท้ายเรื่องไปรวมกันไว้ในหน้าสุดท้ายของหนังสือสมุดไทยโดยได้เว้นที่ว่างในสมุดไทยสำหรับองค์ประกอบของนิทานที่ขาดหายไป พร้อมทั้งลงชื่อกวีผู้รับผิดชอบประพันธ์ส่วนที่ขาดไปกำกับพื้นที่ซึ่งเว้นไว้นั้นด้วย ดังตัวอย่างในภาพหนังสือสมุดไทยที่ยกมานี้

อนึ่ง ในการระบุรายนามกวีผู้แปลหรือผู้ประพันธ์โคลงสุภาษิตในนิทานบางเรื่อง ได้ลงนามราชทินนามบุคคลเดียวกันไว้ต่างกัน ซึ่งในกรณีนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานหนึ่งในการกำหนดระยะเวลาที่แต่งได้ ซึ่งจะกล่าวต่อไป

หากกล่าวถึงความรู้ความสามารถและการศึกษาและภาษาอังกฤษของกวี นั้น บรรดากวีซึ่งได้แต่งนิทานอิศปปกรณัมล้วนแต่เป็นผู้มีการศึกษาและมีความรู้ความสามารถด้านอักษรศาสตร์ หลายท่านมีประวัติการศึกษาและความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นที่ปรากฏ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งทรงสามารถอ่านนวนิยายและเรื่องสั้น ตลอดจนทรงสนทนาภาษาอังกฤษได้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากครูอังกฤษชื่อ นายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน ทรงมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษดีเยี่ยม ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพันตรี และเป็นผู้ช่วยงานสถานทูต ประจำกรุงลอนตอน ประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ และต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาในสถานทูต เป็นทูตพิเศษไปเจริญทางพระราชไมตรีในประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงรับราชการอยู่ต่างประเทศ ๔ ปี และมีราชการที่ต้องเสด็จไปต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์อังกฤษและชวาอีกหลายครั้ง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการศึกษารวมถึงการศึกษาภาษาต่างประเทศว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาความเจริญให้แก่บ้านเมือง ในพุทธศักราช ๒๔๑๔ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม คือ โรงสกูลหลวง หรือโรงเรียนหลวง ตั้งอยู่ข้างโรงละครเก่าในสนามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีหลวงสารประเสริฐ (น้อย อาจารยางกูร) ปลัดกรมอาลักษณ์ซึ่งต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระศรีสุนทรโวหาร เป็นครูใหญ่คนแรก และตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอและหม่อมเจ้าต่างกรมที่ทรงได้เรียนภาษาไทยแล้ว มีนายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นครูผู้สอน ซึ่งได้มีพระบรมวงศาบุวงศ์เข้าเรียนที่โรงสกูลหลวงหลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

มีข้อควรพิจารณาที่สามารถเป็นกรณีศึกษาต่อไปสำหรับผู้ที่สนใจ คือประเด็นเกี่ยวกับนิทานหรือโคลงสุภาษิตที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง นั้น ว่านิทานบางเรื่องแม้จะไม่ได้ลงนามผู้ประพันธ์ไว้ แต่ตามธรรมดากวีย่อมมีสำนวนโวหารอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนลายมือชื่อให้สืบค้นหาตัวเจ้าของผลงานได้ ดังตัวอย่างในนิทานอิศปปกรณัม เรื่องที่ ๑๓ เรื่องห่านกับเป็ด มีถ้อยคำสำนวน กวีโวหาร และแนวคิด เทียบเคียงได้กับผลงานชิ้นอื่นของกวีท่านหนึ่งซึ่งได้ร่วมประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า นิทานเรื่องนี้ท่านเป็นผู้ประพันธ์ ดังนี้

๏ เศรษฐีมั่งมีทรัพย์ผู้หนึ่งซื้อห่านสวอนตัวหนึ่ง ห่านตามธรรมเนียมตัวหนึ่งมาจากตลาด ตัวหนึ่งนั้นเลี้ยงปรนให้อ้วนสำหรับใส่กับข้าว ตัวหนึ่งเอาไว้สำหรับฟังร้องเพลง ครั้นเมื่อห่านตามธรรมเนียมนั้นปรนถึงที่ควรจะฆ่า พ่อครัวจึงได้ไปเอาตัวในกลางคืนเป็นเวลามืด ไม่ทันสังเกตว่าตัวใดเป็นตัวใด ก็จับตัวห่านสวอนด้วยหมายว่าห่านตามธรรมเนียม ห่านสวอนมีความกลัวตาย ก็ร้องเพลงออกมาทันที เพราะฉะนั้นจึงทำให้รู้จักได้ด้วยน้ำเสียง รักษาชีวิตไว้ได้เพราะเพลงอันไพเราะของตัว

ความรู้ๆ ให้จริงถึงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล”

ในนิทานเรื่องที่ยกมาข้างต้น จบลงด้วยคติธรรมสอนใจว่า “ความรู้ ๆ ให้จริงถึงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล” ซึ่งมีสำนวนโวหารและแนวคิดเช่นเดียวกับบทกลอนในหนังสือ นิติสารสาธก ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งอาจชี้ได้ว่านิทานเรื่องนี้เป็นผลงานประพันธ์ของท่าน ความว่า

“อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์ มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน
จะตกถิ่นฐานใดคงไม่แคลน ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน
อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี
เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย หนังสือไทยก็ไม่รู้ดูบัดสี
ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี ถึงผู้ดีก็คงต้อยถอยตระกูล
จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า จะชักพายศลาภให้สาบสูญ
ทั้งขายหน้าญาติวงศ์พงศ์ประยูร จะเพิ่มพูนติฉินคำนินทา
หนึ่งหนังสือหรือตำรับฉบับบท เป็นของล้วนควรจดจำศึกษา
บิดาปู่สู้เสาะสะสมมา หวังให้บุตรนัดดาได้ร่ำเรียน
จะได้ทราบบาปบุญทั้งคุณโทษ ปะบุตรโฉดต่ำช้าก็พาเหียร
ไม่สมหวังดังบิดาปู่ตาเพียร เป็นจำเนียรแพลงพลัดกระจัดกระจาย”

ระยะเวลาที่แต่ง

สำหรับเวลาที่แต่งนั้น เนื่องจากมิได้มีการบันทึกข้อมูลวัน เดือน ปีที่ประพันธ์ไว้อย่างชัดเจน และในหนังสือสมุดไทยทุกฉบับไม่มีระบุวันเดือนปีที่แต่งหรือวันที่จารึกหนังสือสมุดไทย แต่มีหลักฐานระบุช่วงเวลาปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ “พระราชวิจารณ์ว่าด้วยหนังสือนิทานชาดก” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ ว่าได้ทรงแปล” นิทานอีสอป”เป็นภาษาไทยก่อนหน้านั้นนานนัก ความว่า

“เมื่อพิเคราะห์ดูนิทานที่ยกมากล่าวนั้นมีหลายชั้น ที่เป็นนิทานเก่าทีเดียวก็มี ที่เป็นชั้นหลัง ๆ ลงมาก็มี ฯ และนิทานอย่างเช่นชาดกนี้ไม่ได้มีแตในคัมภีร์ฝ่ายพระพุทธศาสนา ในหมู่ชนชาติอื่นภาษาอื่นนอกพระพุทธศาสนาก็มีปรากฏเหมือนกัน ฯ ชาติอื่น ๆ เช่นอาหรับ เปอร์เซีย เป็นต้น ก็ว่ามีนิทานเช่นนี้คล้ายคลึงกัน แต่จะยกไว้ไม่กล่าว เพราะไม่มีตัวเรื่องมาเทียบ ฯ จะยกแต่นิยายอีสอป ซึ่งข้าพเจ้าได้แปลลงเป็นภาษาไทยช้านานมาแล้ว ได้ตั้งชื่อว่า อีสอปปกรณัม ของนักปราชญ์ผู้หนึ่งชื่อว่าอีสอปเป็นผู้แต่งขึ้นในประเทศกรีก ฯ นักปราชญ์ผู้นี้ได้แต่งหนังสือฉบับนั้นแต่ในเมื่อเวลาราว ๆ กันกับพุทธกาล”

จากบทพระราชนิพนธ์ข้างต้นแสดงว่า ได้ทรงพระราชนิพนธ์อิศปปกรณัมขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๔๔๗ หลายปี และมีหลักฐานที่ทำให้กรอบระยะเวลาว่าวรรณกรรมเรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อไรนั้นชัดเจนขึ้น เป็นโบราณวัตถุซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือ ผ้าปักโคลงสุภาษิตอิศปปกรณัม จัดทำขึ้นเป็นเครื่องตั้งงานพระเมรุท้องสนามหลวง ร.ศ. ๑๐๘ รัตนโกสินทร์ศกปี ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เข้าใจว่าเป็นงานฝีมือช่างหลวงทำขึ้น เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระเมรุท้องสนามหลวง เพื่อพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าน้องยาเธอรวม ๓ พระองค์ โดยแบ่งออกเป็น ๒ งาน ตามลำดับพระราชสกุลยศ คือ งานพระศพพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรีภัทรวดีราชธิดา และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสมัยวุฏฐิวโรดม จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม - ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยแห่พระศพออกพระเมรุวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ และพระราชทานเพลิงพระศพวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ และงานที่สองเป็นงานพระศพพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ แห่พระศพสู่พระเมรุเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ และพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร ได้เสนอความเป็นมาของผ้าปักชุดนี้ไว้ในบทความประกอบการสัมมนาวิจัยจักขณ์ เรื่อง “ผ้าปักโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ เครื่องตั้งงานพระเมรุท้องสนามหลวง ร.ศ. ๑๐๘” ความว่า

ระหว่างการพระเมรุ ร.ศ. ๑๐๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำริที่จะบำรุงการช่าง การประดิษฐสิ่งของใช้สอย ให้ดีงามทัดเทียมกับช่างฝีมือต่างชาติ ซึ่งส่งสินค้าเข้ามาค้าขายในเมืองสยาม เพื่อผลทางการค้า การบำรุงเศรษฐกิจของประเทศ ทรงดำริว่าเครื่องตั้งตามแบบอย่างธรรมเนียมที่เคยมีมาเป็นของทำขึ้นใช้แต่ชั่วคราว ไม่เป็นประโยชน์ยั่งยืน ประสงค์ให้มีการคิดประดิษฐสิ่งของเครื่องใช้ด้วยฝีมืออันมีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ สามารถส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ จึงทรงประกาศใช้มีการประกวดงานช่างฝีมือประดิษฐสิ่งของต่างๆ จัดตั้งประดับในพระเมรุ

ต่อมาทรงดำริว่าเครื่องประดับพระเมรุมีอยู่เป็นอันมากแล้ว จึงโปรดให้ระงับการประกวดงานช่างฝีมือประดิษฐสิ่งของ และโปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ จัดหาเครื่องโต๊ะมาตั้งประกวดประชันกันในงานพระเมรุพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ตามบริเวณราชวัตรทึบ ศาลาจัตุรมุข ศาลาโรงปืน คดและ ปะรำ โปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเป็นการสนุกสนาน เนื่องจากเป็นสมัยนิยมเล่นเครื่องโต๊ะเครื่องชาลายครามกันมาก ไม่ลำบากแก่จัดหา และเป็นการแปลกกว่าการตั้งเครื่องประดับพระเมรุแต่ก่อนมา

สำหรับงานพระเมรุพระเจ้าน้องยาเธอ โปรดให้พระสงฆ์ พระบรมวงศาบุวงศ์ และข้าราชการตั้งเครื่องโต๊ะทอง เครื่องโต๊ะเครื่องแก้ว เครื่องไม้ เครื่องตุ๊กตา ตามราชวัตรทึบ ศาลาจัตุรมุขและคด และให้จัดสังเค็ดของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตามศาลาโรงปืน ราชวัตรทึบ และคด เป็นเครื่องตกแต่งประดับพระเมรุ เพราะสังเค็ดงานพระศพพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ มีการประกวดประชันกันมาก จัดทำอย่างงดงาม และเป็นของมีราคาสูง กล่าวว่างานพระศพคราวนี้เป็นการครึกครื้นเอิกเกริกมาก

อย่างไรก็ดี แม้ทรงประกาศเลื่อนประกวดงานฝีมือช่างประดิษฐ์เครื่องตั้งประดับพระเมรุแล้ว ยังได้พบหลักฐานงานประณีตศิลป์ประดับพระเมรุท้องสนามหลวง ร.ศ. ๑๐๘ ชุดหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นงานฝีมือช่างหลวงทำขึ้นเพื่อประดับพระเมรุ นอกเหนือไปจากเครื่องโต๊ะ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์ พระบรมวงศาบุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทนำมาตั้งแสดง คือ ภาพผ้าปักโคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๑๘ รายการ”

ภาพปักดังกล่าวมีสองขนาดคือ ขนาดใหญ่เป็นภาพแนวนอน กว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูง ๗๐ เซนติเมตร และขนาดเล็กเป็นภาพแนวตั้ง กว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร สูง ๘๐ เซนติเมตร บรรจุในกรอบไม้ปิดกระจก มีลวดลายเฉพาะมุมกรอบทั้งสี่ด้าน เป็นลายเครือเถาแบบตะวันตก เช่น ลายเครือเถาองุ่น ลายเครือดอกกุหลาบ ลายเครือดอกเบญจมาส หรือลายเครือกระหนกแบบไทยประเพณี ซึ่งเด่นดาว ศิลปานนท์ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องตั้งของหลวง ที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับตั้งในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรีภัทรวดีราชธิดา และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสมัยวุฏฐิวโรดม ซึ่งภาพปักนี้น่าจะมีการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องตั้งงานพระเมรุเจ้านายที่ทรงพระเยาว์อีกหลายคราว ด้วยเป็นผ้าปักนิทานสำหรับเด็ก

เครื่องตั้งงานพระเมรุอันเป็นเครื่องสังเค็ดเหล่านี้ นอกจากที่เก็บรักษาไว้ณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครแล้ว น่าจะมีอีกเป็นจำนวนมาก แต่ได้กระจัดพลัดพรายไป ด้วยเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว จะพระราชทานเครื่องสังเค็ดส่วนหนึ่งไปยังพระอารามต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เด่นดาว ศิลปานนท์ได้สำรวจภาพผ้าปักที่ยังเหลืออยู่ พบว่ามีทั้งที่เป็นภาพเรื่องราวและภาพปักบทโคลงสุภาษิตจากเรื่องอิศปปกรณัม เมื่อสอบเทียบแล้วสำนวนโคลงสุภาษิตบนผ้าปักมีที่ตรงกับโคลงประกอบนิทานอีสปฉบับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและบทประพันธ์ของกวีท่านอื่น และยังมีภาพปักบทโคลงที่ไม่ปรากฏในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย หรือเรื่องตรงกันแต่มีสำนวนแตกต่างกัน จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะยังมีวรรณกรรม “อิศปปกรณำ” มากกว่าที่พบในปัจจุบัน อนึ่ง เนื่องจากภาพปักเหล่านี้ จัดทำขึ้นมาจากเรื่องราวและบทโคลงสุภาษิตในวรรณกรรม “โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ” จึงสามารถเป็นข้อสรุปได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ต้องประพันธ์ขึ้นก่อน ร.ศ. ๑๐๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นปีซึ่งจัดการพระเมรุครั้งนั้น

เมื่อได้ข้อกำหนดว่าเรื่องอิศปปกรณัม แต่งขึ้นก่อนพ.ศ. ๒๔๓๒ ตามหลักฐานเอกสารและโบราณวัตถุดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ได้กรอบระยะเวลาที่ประพันธ์เรื่องอิศปปกรณัมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ได้พบข้อสังเกตประการหนึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยตีกรอบช่วงปีที่ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ให้แคบเข้าได้ คือรายพระนามและรายนามกวีผู้ซึ่งได้ร่วมกันประพันธ์นิทานและโคลงสุภาษิตนั้น มีข้อสังเกต ๒ ประการคือ

๑. กวีที่เป็นบุคคลคนเดียวกัน นิทานต่างเรื่องกัน ในต้นฉบับมีการบันทึกราชทินนามต่างกันในบางแห่ง

๒. รายนามกวีที่ปรากฏในต้นฉบับ น่าจะเป็นนาม พระนาม ราชทินนาม และพระอิสริยยศในขณะที่สร้างหนังสือสมุดไทยนั้น

สำหรับในประเด็นแรกนั้น ในรายพระนามและรายนามกวีทั้งหมด ๒๒ ท่านดังกล่าวแล้ว ปรากฏพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีการบันทึกพระนามโดยระบุลำดับชั้นพระอิสริยยศต่างกัน เป็น กรมหมื่นพิชิตปรีชากร และกรมหลวงพิชิตปรีชากร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระนามเดิม พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ และทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๘

ในประเด็นที่สอง รายนามกวีที่ปรากฏในต้นฉบับ เป็นนาม พระนาม ราชทินนาม และพระอิสริยยศในขณะที่สร้างหนังสือสมุดไทย บางนามที่ปรากฏอาจไม่เป็นที่รู้จักนักเนื่องจากในหนังสือวรรณคดีและตำราวิชาการในปัจจุบัน มักจัดพิมพ์โดยใช้นามและพระนามที่ได้รับการแต่งตั้งหรือสถาปนาหลังสุด ทั้งนี้ ข้อมูลปีที่กวีได้รับการแต่งตั้งหรือการเฉลิมพระยศที่ตรงกับ “นาม” ที่บันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทยของวรรณกรรมเรื่องนี้ จะช่วยกำหนดกรอบระยะเวลาในการประพันธ์ให้ชัดเจนขึ้นได้ทางหนึ่ง ในรายพระนามและรายนามกวี ๒๒ ท่าน ที่กล่าวนามในหน้า ๔๙ - ๕๐ แล้วนั้น จากข้อมูลการเฉลิมพระยศ และการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตามพระนาม นามหรือทินนามที่ตรงกับที่ปรากฏในนิทานอิศปปกรณัม ดังนี้ คือ

กวีลำดับที่ ๖ ขุนวิสุทธากร เป็นตำแหน่งเดิมของพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) เริ่มเข้ารับราชการตำแหน่งมหาดเล็กเวรวิเศษ ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนวิสุทธากร ปลัดกรมพระคลังสวนขวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ และได้เลื่อนเป็นพระผดุงศุลกกฤต ตำแหน่งเจ้ากรมศุลกากร ขึ้นอยู่ในกรมพระคลังมหาสมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ และเป็นพระยาอิศรพันโสภณ สังกัดกระทรวงพระธรรมการ พ.ศ. ๒๔๓๕

กวีลำดับที่ ๗ พระองค์เจ้าโสภณบัณฑิตย์ เป็นพระนามเดิมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ทรงพระนาม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

กวีลำดับที่ ๘ พระยาศรีสิงหเทพ หรือ พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เริ่มเข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๗ สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาศรีสิงหเทพ ปลัดบาญซีกรมมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ผู้ช่วยเหรัญญิกในกรรมสัมปาทิกสภาหอพระสมุดวชิรญาณประจำปีที่ ๙ และได้รับระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาราชวรานุกูล ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕

กวีลำดับที่ ๑๑ ขุนภักดีอาษา เป็นนามเดิมของ พระอมรสินธพ ท่านเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กเวรหลวงชาญภูเบศร์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๐ และได้เลื่อนเป็นขุนภักดีอาสา ปลัดกรมทนายเลือกหอกขวา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ และได้ดำรงตำแหน่งเป็นขุนภักดีอาษาจนถึงพ.ศ. ๒๔๓๘ ก่อนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงมลโยธานุโยค เจ้ากรมทนายเลือกหอกซ้าย

กวีลำดับที่ ๑๒ ขุนมหาสิทธิโวหาร (สืบ ศรีเพ็ญ) ท่านเข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนมหาสิทธิโวหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑

กวีลำดับที่ ๑๓ หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด) เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้เลื่อนยศมาโดยลำดับ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจ่าชำนิทั่วด้าน ตำแหน่งจางวางกรมพระตำรวจนอกซ้าย และเลื่อนเป็นหลวงบรรหารอรรถคดี ตำแหน่งราชการในศาลชำระความฎีกาเป็นหลวงบรรหารอรรถคดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระภิรมย์ราชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒

กวีลำดับที่ ๑๕ ขุนพินิจจัย นามเดิม อยู่ เป็นข้าราชการสังกัดกรมท่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นหลวงภิรมย์โกษา ตำแหน่งปลัดกรม กองการกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๕

กวีลำดับที่ ๑๖ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙

กวีลำดับที่ ๑๗ กุเรเตอทัด หรือนายทัศกุเรเตอ คือ นายทัด หรือนายทัด เปรียญ บวชอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาส หลังจากลาสิกขาได้เข้ารับราชการกรมศึกษาธิการ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณระหว่างพ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๓๕ และทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษด้วย

กวีลำดับที่ ๑๘ หลวงอินทร์อาวุธ คือ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม พระนามเติม พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔

กวีลำดับที่ ๑๙ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๒๘

กวีลำดับที่ ๒๐ พระองค์เจ้าเกษมสันตโสภาคย คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันตโสภาคย พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ พ.ศ. ๒๔๒๖

กวีลำดับที่ ๒๑ จมื่นทิพเสนา หรือ จมื่นทิพยเสนา (เจริญ เศวตนันทน์) เป็นบุตรพระยามหานิเวศนานุรักษ์ (เผือก) กับคุณหญิงบุนนาค ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้เป็นจ่าแผลงฤทธิรอนราน และจ่าชำนาญทั่วด้าว ในกรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ในพ.ศ. ๒๔๒๐ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจมื่นทิพยเสนา ปลัดกรมพระตำรวจในขวา ก่อนจะเลื่อนเป็นเป็นพระอินทราภิบาล ในพ.ศ. ๒๔๒๙ จมีนทิพยเสนารับราชการต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือพระยาอภิชิตชาญยุทธ จางวางกรมพระตำรวจ มียศเป็นพระตำรวจตรี และได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกด้วย

กวีลำดับที่ ๒๒ พระองค์เจ้าวรวรรณากร คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

จากข้อมูลลำดับเวลาการดำรงตำแหน่งของกวีที่ประมวลมา ช่วงปีพุทธศักราชที่ตรงกันกับปีที่กวีดำรงตำแหน่งทางราชการหรือมีพระนามตรงกับที่บันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทย และความน่าจะเป็น สันนิษฐานว่านิทานอิศปปกรณัม น่าจะแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๑ และแต่งต่อเนื่องมาจนถึงก่อน พ.ศ. ๒๔๓๒ อันเป็นปีที่จัดงานพระเมรุ ร.ศ. ๑๐๘ ซึ่งได้มีการจัดทำผ้าปักภาพตามโคลงสุภาษิตอิศปปกรณัมเป็นเครื่องตั้งประกอบพระเมรุ

การใช้ภาษา

นิทานอิศปปกรณัมมีเอกลักษณ์การใช้ภาษาสำคัญที่ควรกล่าวถึงอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. การใช้ภาษาในวรรณกรรมเรื่องนี้ใช้ถ้อยคำภาษาในยุคสมัยที่แต่ง แม้มีสำนวนโวหารเก่า แต่อ่านแล้วยังสามารถสื่อสารเข้าใจได้ ยกตัวอย่างการใช้สำนวนโวหารเก่าว่า ชาวบ้านนอก ชาวเกวียน เทวดาเจ้าแห่งกำลังตามลัทธิครีค ฤๅ กระนั้น ลาก็เตะด้วยกีบทั้งปวงให้พ้นสุนัขป่า ฯ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนขึ้นจะขอยกตัวอย่างจากนิทานเรื่องที่ ๑๙ และนิทานเรื่องที่ ๒๘ ที่ปัจจุบันยังเป็นที่นิยมแพร่หลายในชื่อเรื่องชาวนากับงูเห่า และเรื่องกบเลือกนาย ดังนี้

ที่ ๑๙ ชาวนากับงู

๑ ฤดูหนาวชาวนาคนหนึ่งพบงูแข็งทั้งตัวด้วยถูกเย็นแห่งความหนาว ชาวนาผู้นั้นมีความกรุณา จึงได้หยิบมากอดไว้กับอก งูนั้นเมื่อตัวค่อยอ่อนลงด้วยอุ่น ก็กลับคืนคงเป็นปรกติได้โดยเร็ว พยศเดิมตามธรรมดาของชาติงูก็มีขึ้น จึงกัดเอาผู้ที่มีคุณนั้น เป็นแผลถึงแก่ชีวิต เมื่อชาวนาที่มีใจออกวาจา สมน้ำหน้าตัวเราที่มีความเมตตาชาติที่ชั่ว ๚ะ๛

การทำนุบำรุง ถึงใหญ่ยิ่งเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันความอกตัญญูได้

๏ สันดานพาลถ่อยแท้ อกตัญ ญแล
ถึงจักผดุงมัน มากพ้น
ทำคุณแบ่งปูนปัน ทรัพย์เท่า ใดเฮย
ฤๅอาจจจะคุ้มพ้น คิดร้ายสนองเรา ๚ะ

พระยาศรีสุนทรโวหาร”

ที่ ๒๕ กบทั้งปวงขอเจ้าแผ่นดิน

๏ กบทั้งปวงมีความเศร้าโศกว่าไม่มีเจ้านายปกครองซึ่งหลักฐาน จึงได้แต่งทูตหลายนายขึ้นไปเฝ้ายุปิตเตอ ขอให้ยุปิตเตอประทานเจ้าแผ่นดินสักองค์หนึ่ง ยุปิตเตอเห็นว่าเป็นแต่สัตว์โง่ ๆ ไม่มีพิษสงอันใด จึงได้โยนขอนไม้ใหญ่ลงมาในหนอง เมื่อขณะน้ำกระฉ่อนด้วยกำลังไม้ท่อนใหญ่ตกลงมา พวกกบทั้งปวงก็ตกใจกลัวพากันไปซ่อนตัวอยู่ลึก ๆ ในหนองนั้น

๏ ครั้นไม่ช้านานนักพวกกบทั้งปวงเห็นว่าท่อนไม้ใหญ่นั้นนิ่งเสมอไม่ไหวติงอันใด ก็พากันว่ายขึ้นมาบนหลังน้ำ ปราศจากความกลัวทั้งสิ้น แลดูทุกคนพากันไต่ขึ้นไปบนขอนไม้แลนั่งเกาะอยู่บนนั้น ครั้นนานมาก็พากันคิดเห็นไปว่าเราทั้งปวงดูความหมิ่นประมาท เพราะตั้งผู้ปกครองที่ไม่รู้สึกอันใดมาให้ดั่งนี้ จึงได้ส่งทูตขึ้นไปเป็นครั้งที่สอง ให้ไปอ้อนวอนยุปิตเตอขอให้ตั้งเจ้าแผ่นดินองค์อื่นลงมาครอบครองพวกกบทั้งปวงอีกสักองค์หนึ่ง ยุปิตเตอประทานปลาไหล (ฤๅปลายาว) ให้มาเป็นผู้ปกครอง ครั้นเมื่อกบทั้งปวงคุ้นเคยทราบอัธยาศัยว่าเป็นชาติง่าย ๆ แลใจดีก็ไม่เป็นที่ชอบใจ จึงส่งทูตขึ้นไปอีกเป็นครั้งที่สาม ขอให้ยุปิตเตอเลือกเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้อีกครั้งเดียว ยุปิตเตอไม่โปรดที่กล่าวโทษบ่อย ๆ ดังนั้น จึงได้ให้นกกระสาลงมา นกกระสาก็กินกบไปทุกวัน ๆ จนไม่มีกบที่จะเหลืออยู่ร้องในสระนั้น ๚ะ๛

แส่หาเจ้าใหม่แข็งแรง ครั้นเมื่อเห็นฤทธิ์ของเจ้าใหม่ จะนึกถึงเจ้าเก่าสิถึงตัวเสียแล้ว อย่ากำเริบเร่งเปลี่ยน

๏ กำเริบแรงเปลี่ยนเจ้า ใหม่หมาย
เห็นฤทธิ์เจ้าใหม่กลาย กลับท้อ
คิดถึงเก่าสิกาย ตึงติด แล้วนา
อึดอัดออกโอษฐ์อ้อ อย่างนี้นำเข็ญ ๚ะ

๒. การทับศัพท์ภาษาอังกฤษหรือการถอดคำภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เนื่องจากเรื่องอิศปปกรณัมนี้ เป็นการแปลวรรณกรรมจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยยุคแรกเริ่ม ก่อนหน้าที่จะสรุปและกำหนดศัพท์บัญญัติรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การเขียนคำทับศัพท์ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีวิธีการสะกดคำโดยใช้พยัญชนะต้น ตัวสะกด วรรณยุกต์ ต่าง ๆ กันตามความเข้าใจและตามความพอใจของผู้ใช้ภาษา ยังมิได้มีหลักเกณฑ์แน่นอนตายตัว จึงมีทั้งคำที่เกิดจากการเขียนคำทับศัพท์ ตามการอ่านออกเสียง และเขียนแบบถอดคำตามรูปพยัญชนะ แม้ในคำ ๆ เดียวกันแต่ผู้ประพันธ์ต่างคนกันก็อาจสะกดต่างกัน หรือแม้ในบางครั้งเป็นผู้ประพันธ์ท่านเดียวกัน แต่อาจเขียนต่างกันในนิทานต่างเรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น

- คำว่า จูปิเตอร์ (Jupiter) หมายถึง เทพจูปิเตอร์ ในหนังสือสมุดไทยจะมีสะกดต่าง ๆ กัน เช่น ยุปิตเตอ จูปิตเตอ จูปิกเตอ

- คำว่า เฮอคิวเลศ (Hercules) หมายถึง เฮอร์คิวลีส เทพเจ้ากรีกบุตรของเทพเจ้าซูส มีมารดาเป็นมนุษย์ชื่อ อัลค์เมนา ในต้นฉบับมีสะกดว่า เฮอคิวเลศ เข้าใจว่าเป็นการเขียนโดยการถอดตามพยัญชนะ ปัจจุบันเราสะกดว่า เฮอร์คิวลิส ซึ่งเป็นชื่อตามภาษาโรมันและภาษาอังกฤษ ส่วนชื่อในภาษากรีกคือ เฮราคลีส (Heracles)

- คำว่า เมอร์คิวรี่ หมายถึง เทพเมอร์คิวรี่ (Mercury) ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยมีสะกดต่าง ๆ กัน เช่น มากวิรี เมอควิรี เมอคิวรี

- คำว่าในติงเกลในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสะกดเป็น ไนต์คลิงเกล เข้าใจว่า เป็นการเขียนถอดตามพยัญชนะการสะกดคำภาษาอังกฤษว่า Nightingale

- เขาฮิบเมตตัส หมายถึง เขาไฮเมตตัส Hymettus เข้าใจว่าเป็นการเขียนตามพยัญชนะการสะกดคำภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างการเขียนคำทับศัพท์หรือคำศัพท์บัญญัติคำที่เขียนโดยการถอดตัวอักษร รวมทั้งคำที่เขียนตามการออกเสียงแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นคำร่วมยุคสมัยของวรรณกรรม และมีใช้แพร่หลายสื่อสารเข้าใจได้ในยุคนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นชื่อบุคคล สถานที่ องค์กร เช่น

- หันรี บารนี (เฮนรี เบอร์นี Henry Burney)

- กัดมันฟันสยาม (Government of Siam)

- แบงก์สยามกัมมาจล (The Siam Commercial Bank)

- บุคคลัภย์ (Book Club)

- รอแยลมายิเกลโซไซเอตี (Royal Magical Society)

รูปแบบการเขียนคำทับศัพท์ในลักษณะเช่นนี้ มีปรากฏในการเรียกหรือเขียนชื่อบุคคล สถานที่ คำนามศัพท์จากภาษาอังกฤษ หรือสิ่งที่ยังไม่มีในประเทศไทยในสมัยนั้น ซึ่งในเอกสารสิ่งพิมพ์และการเขียนหนังสือของคนไทยช่วงนั้น ตลอดจนวรรณคดีร่วมสมัยกับนิทานอิศปปกรณัม เช่น เรื่อง “สุริยพันธุ์คำกลอน” ก็มีการใช้ชื่อตัวละคร ภูมินาม และคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่มีการสะกดคำในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ เขียนตามเสียงอ่าน ตามความเข้าใจ และความพอใจของผู้ใช้ภาษา เช่น second class เขียนว่า สกันด์คลาส god เขียนว่า กอด ทั้งนี้ จะขอยกคำกลอนจากเรื่องสุริยพันธุ์คำกลอนที่มีการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษมาประกอบให้เข้าใจ ดังนี้

นายห้างใหญ่ใจคิดถึงสินค้า ที่ซื้อมามากหลายเพราะหมายผล
สูญทรัพย์สิ้นลูกเมียทั้งเสียชนม์ ระทมทนเวทนาเหลืออาดูร
คู่ผัวเมียเสียใจร้องไห้รัก ชีวิตจักอันตรายทำลายสูญ
เพราะมาเที่ยวด้วยกันฮันนีมูน จึงต้องพูนเทวษเศร้าเหงาวิญญาณ์
ท่านบาทหลวงห่วงคิดถึงศิษย์สาว ที่รุ่นราวรับเรียนศาสนา
เคยสอนธรรมตามคำยะโฮวา โอ้จะต้องร้างราเหลืออาลัย
มีชายหนึ่งนั้นเป็นนักเลงเหล้า มัวมึนเมาหยำเปเถลไถล
ดื่มบ้าหรั่นดีกระหน่ำซ้ำเข้าไป ไม่กลัวภัยอันตรายสบายบาน
หมอคนหนึ่งทุกข์ทนร้อนรนนัก เห็นว่าจักสิ้นชีวังดับสังขาร
เอาโมเฟียฉีดหมายวายรำคาญ เลยสำราญจิตระงับนอนหลับกรน
บรรดาคนโดยสารสิ้นทั้งนั้น บ้างตัวสั่นหัวพองสยองขน
บ้างนอนนั่งรำพึงคิดถึงตน บ้างเดินวนวุ่นไปในเรือเมล์
บ้างร้องไห้โฮโฮว่าโอลอร์ด ขอให้กอดช่วยชีวันอย่าหันเห
ได้ยินแซ่ซ้องเสียงสำเนียงเปร เพราะกลัวจมในชเลเป็นเหยื่อปลา

(สุริยพันธุ์คำกลอน ตอนที่ ๖)”

ในบทกลอนที่ยกมามีคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจหลายคำ คือคำว่า บ้าหรั่นดี (บรั่นดี brandy), โมเฟีย หมายถึง มอร์ฟีน (morphine) การที่เขียนว่า โมเฟีย เข้าใจว่าเขียนตามชื่อเดิมของมอร์ฟีน ซึ่งเดิมเรียกว่า มอร์เฟียม (morphium) ตามพระนามของเทพมอร์เฟียส หรือมอร์ฟิอัส (morpheus) เทพเจ้าแห่งฝันของกรีก กอด มาจากคำว่า God คือ พระเจ้า เปร หมายถึง pray แปลว่า การสวดอ้อนวอน หรือในวรรณคดีเรื่องเดียวกันตอนที่ ๑๓ จะมีคำนามศัพท์และคำภาษาอังกฤษที่ใช้ทับศัพท์เป็นจำนวนมากดังนี้

จะกล่าวเรื่องเมืองข้างต่างประเทศ อาณาเขตแอนิมัลอันไพศาล
พื้นไผทใหญ่โตมโหฬาร ไม่กันดารสารพัดสวัสดี
เมืองที่เป็นแกปิตัลอันเรืองรุ่ง เรียกว่ากรุงยูนิคอนบุรีศรี
มีตึกรามงามตาเต็มธานี บริบูรณ์พูนทวีทุกสิ่งอัน
ดูเกลื่อนกลุ้มด้วยประชุมประชาราษฎร์ มีอำนาจปกป้องครองเขตขันธ์
ร่วมประสงค์สมาคมนิยมกัน คิดเลือกสรรเปรซิเดนท์เป็นจอมเมือง
เยเนอราลไลออนขจรยศ เกียรติปรากฏทั่วเขตเดชกระเดื่อง
ผู้บำรุงกรุงไกรให้รุ่งเรือง ไม่ฝืดเคืองเจริญสุขทุกเวลา
มีคณะมินิสเตอร์เสนอศักดิ์ การเบาหนักตื้นลึกได้ศึกษา
แล้วตรองตริผ่อนผันด้วยปัญญา พิทักษ์ธานีรัฐสวัสดี
พวกเซมเบอดิปุตีและเซเน็ต มีพร้อมเสร็จครบถ้วนจำนวนที่
ชุมนุมกันพร้อมพรักสามัคคี คิดบำรุงบุรีให้ไพบูลย์”

(สุริยพันธุ์คำกลอน ตอนที่ ๑๓)”

จากคำกลอนที่ยกมานี้ จะมีการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่เป็นศัพท์ทางการปกครอง คือ คำว่า แอนิมัล (Animal) แกปิตัล (capital) ยูนิคอน (unicorn) เปรซิเดนท์ (president) เยเนอราลไลออน (General Lion) มินิสเตอร์ (minister) เชมเบอดิปุตี (chamber deputy) เซเน็ต (senate)

ทั้งนี้ วิธีการเขียนคำทับศัพท์ที่ปรากฏในเรื่องอิศปปกรณัมและในคำศัพท์ร่วมยุคสมัยเหล่านี้ ทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของการใช้ภาษาไทยด้านการเขียน

สำนวนโวหาร กลวิธีในการแปลและอธิบายความ

วรรณกรรมเรื่อง อิศปปกรณัม นี้ มีที่มาจาก “นิทานอีสป” ซึ่งเป็นนิทานของชาวกรีกที่ได้แพร่หลาย ได้รับการแปลและการประพันธ์ขึ้นในภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก การที่นิทานอีสปมีที่มาจากโลกตะวันตก เมื่อเผยแพร่มายังประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในโลกตะวันออก จึงทำให้เรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในนิทานมีความแปลกใหม่และแตกต่างไปจากสิ่งที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคย อาทิ ชื่อและเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์ เทพเจ้า พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ตลอดจนแนวคิดและคติความเชื่อ

แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันในนิทานเหล่านี้ก็ยังมีความคล้ายคลึงและมีสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมร่วมปรากฏอยู่ เช่น แนวคิดเรื่องคุณงามความดี ความเลว ความยุติธรรม และความอยุติธรรม จึงทำให้เกิดการยอมรับการแพร่หลายของนิทานอีสปในประเทศไทยได้ แม้เราจะไม่ทราบว่ากวีแปลวรรณกรรมเรื่องนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษฉบับใด แต่เมื่ออ่านนิทาน “อิศปปกรณัม” เราจะสัมผัสได้ว่า กวีแต่ละท่านเป็นผู้มีความรู้รอบตัว และได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นเพื่ออรรถาธิบาย ทั้งยังมีความพยายามในการแปลเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องราวต่างวัฒนธรรม โดยใช้องค์ความรู้และกระบวนการต่าง ๆ ผสมผสานกันในการเรียบเรียงต้นฉบับเพื่ออธิบายเรื่องราวแปลกใหม่จากอีกซีกโลกให้ผู้อ่านเข้าใจ กระบวนการดังกล่าว ได้แก่

โยงใยความละม้าย

ใช้ความรู้เดิม

เสริมโดยอธิบายลักษณะ

ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อต้องเขียนถึงความแปลกใหม่ ความต่างวัฒนธวรรมในนิทานอีสป เช่น ชื่ออาชีพคน สัตว์ เทพเจ้า หรือชื่อเฉพาะต่าง ๆ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย กวีมักจะให้คำอธิบายเป็นวงเล็บ หรืออธิบายเพิ่มเติมต่อท้ายคำนั้นๆ หรือสร้างคำชี้เฉพาะขึ้นใหม่ ตามความเข้าใจ ประสบการณ์ และโลกทัศน์ของกวี โดยกระบวนการทั้งสี่นั้น มีความหมายและวิธีการพร้อม ยกตัวอย่างจากเรื่องอิศปปกรณัม ดังนี้

๑. โยงใยความละม้าย หมายถึง การแปล การอธิบาย โดยการอ้างอิงเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีความใกล้เคียงกันที่คนไทยรู้จัก เช่น ในนิทานบางเรื่องกล่าวถึงตัววีเซล (weasel) ซึ่งคนไทยในยุคนั้นไม่รู้จัก การอธิบายรายละเอียดในสิ่งไกลตัวออกจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ผู้แปลจึงอธิบายโดยเทียบเคียงกับสัตว์ที่คนไทยรู้จักไว้ในวงเล็บหรือไว้ต่อเนื่องจาก ข้อความท้ายคำ

๒. ใช้ความรู้เดิม หมายถึง การแปล การอธิบาย โดยเทียบกับเรื่องราวอันเป็นความรู้เดิมของคนไทยเช่น สำนวนไทย คำสอนในพุทธศาสนา

๓. เสริมโดยอธิบายลักษณะ หมายถึง การแปล การอธิบายโดยอธิบายรูปร่าง ลักษณะให้พอเข้าใจ เช่น “ตั๊กแตน สัตว์ไปบนหญ้าเล็กกว่าของไทย”

๔. ให้รายละเอียดเพิ่มเติม หมายถึง การแปล การอธิบายโดยให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่คนไทยไม่รู้จัก เช่น เมื่อกล่าวถึงเทพีจูโนกวีได้อธิบายเพิ่มเติมต่อท้ายไว้ว่า “จูโน เป็นมเหสีจูปิเตอร์ราชินีเมืองฟ้า”

ทั้งนี้ ในการอธิบายความแต่ละข้อความอาจใช้มากกว่า ๑ กลวิธี จึงขอยกตัวอย่างในภาพรวม ดังนี้

ตัวอย่างการอธิบายความ

๑. “วิเซล (เป็นสัตว์คล้ายแมวแต่ดุ)” (นิทานเรื่องที่ ๔)

๒. “ลากับตั๊กแตน (เป็นสัตว์ไปบนหญ้าเล็กกว่าของไทย)” (นิทานเรื่องที่ ๕) ตั๊กแตนในนิทานเรื่องนี้ ตามเนื้อเรื่องเป็นสัตว์ที่มีเสียงร้องไพเราะ เมื่อเทียบเคียงกับนิทานอีสปที่ตรงกันซึ่งแพร่หลายในปัจจุบันมักแปลว่า ลากับจิ้งหรีด หรือ ลาโง่กับจิ้งหรีด ฉบับภาษาอังกฤษที่เนื้อเรื่องตรงกันใช้ชื่อเรื่องว่า The Donkey and The Grasshopper

๓. “ความเหมือนช้างขี้ ๆ ด้วยช้าง คือเห็นเขาทำสิ่งใด ถึงใช่วิสัยที่ตัวจะทำได้ ก็อยากจะทำบ้าง ถึงแต่ความฉิบหาย” (นิทานเรื่องที่ ๕)

๔. “เฮอคิวเลศ เป็นเทวดาเจ้าของกำลังตามลัทธิครีก” (นิทานเรื่องที่ ๑๕)

๕. “เฮอร์เมสเหมือนกับมากวิรีคือพระพุธ” (นิทานเรื่องที่ ๒๐) ในสมุดไทยเขียนว่า “เฮอรเมศเหมือนกับมากวิรี” เฮอร์เมสหรือเฮอร์มีสเป็นเทพเจ้าในเทพปกรณัมกรีก เป็นบุตรแห่งซูสและไลยาดีสเมอา เป็นเทพผู้พิทักษ์และอุปถัมภ์นักเดินทาง คนเลี้ยงแกะ โจร นักพูดข้างถนน กวี นักกีฬา และปราชญ์ เทียบได้กับเทพเมอร์คิวรี่ของโรมัน เข้าใจว่าชื่อเมอคิวรี่ตามเทพปกรณัมของโรมันจะเป็นที่รู้จักมากกว่าชื่อกรีก ผู้แปลจึงได้อธิบายเทียบไว้ และอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเทียบว่าหากเป็นทางฝั่งโลกตะวันออกแล้ว เทพองค์นี้เทียบได้กับพระพุธ

๖. ปลาไหล (ฤๅปลายาว) (นิทานเรื่องที่ ๒๘) คำว่า “ปลายาว” เป็นคำราชาศัพท์ หรือคำสุภาพของคำว่า “ปลาไหล”

๗. “แกล้งรามาใช่เหตุ ต้องกับคำพูดกันว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำฤๅหวงคี่เท็จ” (นิทานเรื่องที่ ๓๕) คำว่า “รามา” ในข้อความ “แกล้งรามาใช่เหตุ” แปลว่า “ระราน” มาจากสำนวนไทยว่า “รามากะทาสี” ซึ่งแปลว่า รบกวน รังควาน รังแก ซึ่งขุนวิจิตรมาตราได้อธิบายความหมายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า

คำ “รามา” จะตัดออกมาจาก”รามากะทาสี” หรือคำเดิมเป็น “รามา” แล้วเติม “กะทาสี” ต่อท้ายเข้าไปก็ไม่ทราบ คำ “กะทาสี” หมายความว่า “รังแกทาสหญิงหรืออย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน”

. “นกยางบางพวก มักเที่ยวหากินตามห้องนาที่ไถนาหว่านพืชข้าวสาลีลงใหม่ๆ ชาวนาที่เฝ้าอยู่น้าวแต่สายกระสุนเปล่า ทีนี้เรียกกระสุนแทน “สลิง” เพราะเมืองเราไม่มีจะต้องอธิบายมากนัก ไล่ให้หนีไปด้วยความตกใจ ครั้นนานมานกทั้งปวงเห็นว่าเป็นแต่น้าวกระสุนเปล่า ๆ ถึงจะน้าวขึ้นก็เฉยทำไม่รู้ไม่เห็นเสีย” (นิทานเรื่องที่ ๔๓)

๙. “เด็กชายกับฟิลเบิต “เป็นถั่วฝรั่งกินมัน” (นิทานเรื่องที่ ๔๗) ถั่วฟิลเบิร์ต FILBERTS ต้นฉบับเขียนเป็น “ฟิลเบิด” เป็นถั่วชนิดเดียวกับถั่วเฮเซลนัต กวีได้อธิบายสั้น ๆ ว่า “ถั่วฝรั่ง” นั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้

๑๐. “ซึ่งจะเสียเพื่อนเก่าทั้งปวงเพราะเหตุที่จะมีเพื่อนใหม่ให้พ้นจากความเสียไปไม่ได้ ได้ใหม่ลืมเก่า” (นิทานเรื่องที่ ๕๗)

๑๑. “เด็กกับต้นเน็ตเตล

๏ เป็นต้นไม้มีแต่ในเมืองหนาวอย่างหนึ่งชื่อต้นเน็ตเตล สูงประมาณศอกเศษ ไม้นี้ถ้าใครจับเบา ๆ แล้ว เหมือนกับแมลงผึ้งที่มีพิษต่อย เพราะมีสายเหมือนไหมอยู่ข้างใน ถ้าจับแรงไม่ค่อยได้” (นิทานเรื่องที่ ๕๘) นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่ไปจับโดนต้นเน็ตเตล แล้วมีอาการเหมือนโดนแมลงต่อย ผู้แปลได้อธิบายเรื่องต้นเน็ตเตลซึ่งไม่มีในเมืองไทยไว้ก่อนจะเข้าเรื่องนิทาน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ

๑๒. “อิติยบ (เป็นชื่อเรียกประเทศอาฟริกาแต่ก่อน)” (นิทานเรื่องที่ ๘๒) นิทานเรื่องนี้กล่าวถึงการจับคนผิวดำจากประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกามาขายเป็นทาส โดยในนิทานใช้คำว่า อิติยบ หมายถึง เอธิโอเปีย (Ethiopia, Etiyopya)

๑๔. “ผึ้งตัวหนึ่งมาจากเขาฮิมเมตตัส เป็นนางพระยาในโพรงผึ้ง ขึ้นไปยังเขาโวลิมปัส(เป็นเขาที่พระยะโฮวานั่ง)” (นิทานเรื่องที่ ๑๑๓)

๑๕. “เมอควิรี่กับช่างแกะรูป

๏ ครั้งหนึ่งเมอควิรี่ (พระพุธ) อยากจะทราบว่าตัวจะเป็นที่นับถือแห่งพวกมนุษย์ทั้งปวงอย่างไรบ้าง เพราะเหตุฉะนี้จึงได้ถือเพศเป็นมนุษย์ชาย มาเยี่ยมโรงช่างแกะรูปโดยเพศที่แปลงมานั้น ครั้นเมื่อดูรูปที่แกะต่าง ๆ ทั่วแล้ว จึงถามราคารูปยูปิเตอกับรูปยูโน เป็นมเหสีจูปิเตอร์ราชินีเมืองฟ้า ครั้นเมื่อช่างแกะบอกราคาแล้ว เมอร์คิวรี่ซึ่งได้ชี้ที่รูปของตัว แล้วว่าแก่ช่างแกะว่าท่านคงจะต้องการราคารูปนี้มากขึ้นอีก เพราะว่าเป็นรูปนักการของเทพยดาทั้งปวง แลเป็นเจ้าของผู้ที่ให้เจ้าเป็นประโยชน์ ช่างแกะนั้นตอบว่าเอาเถิด ถ้าท่านจะซื้อทั้งสองที่ว่าก่อนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะตีรูปนี้แถมให้ในราคาที่ว่าเดิมนั้น” (นิทานเรื่องที่ ๑๒๗)

ในนิทานเรื่องนี้ ผู้แปลได้อธิบายชื่อเทพเจ้าเมอร์คิวรี่และเทพีจูโน่โดยวงเล็บนามพระพุธไว้ต่อท้ายชื่อเมอร์คิวรี่ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ชื่อละตินของดาวพุธ (Mercury) มาจากคำเต็มว่า Mercurius ในภาษาละตินซึ่งหมายถึงเทพองค์นี้เช่นกัน ส่วนเทพีจูโน่นั้น น่าจะเป็นเทพที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยสมัยนั้นจึงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อท้ายไว้

๑๕. “เศรษฐีมั่งมีทรัพย์ผู้หนึ่งซื้อห่านสวอนตัวหนึ่ง ห่านตามธรรมเนียมตัวหนึ่งมาจากตลาด ตัวหนึ่งนั้นเลี้ยงปรนให้อ้วนสำหรับใส่กับข้าว ตัวหนึ่งเอาไว้สำหรับฟังร้องเพลง ครั้นเมื่อห่านตามธรรมเนียมนั้นปรนถึงที่ควรจะฆ่า พ่อครัวจึงได้ไปเอาตัวในกลางคืนเป็นเวลามืดไม่ทันสังเกตว่าตัวใดเป็นตัวใด ก็จับตัวห่านสวอนด้วยหมายว่าห่านตามธรรมเนียม ห่านสวอนมีความกลัวตาย ก็ร้องเพลงออกมาทันที เพราะฉะนั้นจึ่งทำให้รู้จักได้ด้วยน้ำเสียง รักษาชีวิตไว้ได้เพราะเพลงอันไพเราะของตัว” (นิทานเรื่องที่ ๑๓๗)

ในต้นฉบับนิทานเรื่องนี้ ตั้งชื่อเรื่องว่า “ห่านกับเป็ด” แต่ในเรื่องได้ใช้คำเรียกสัตว์สองชนิดต่างกันเป็นห่านตามธรรมเนียม และห่านสวอน เข้าใจว่าเพื่อให้แยกกันได้ระหว่าง Goose กับ Swan เป็นที่น่าสังเกตว่าในต้นฉบับไม่ได้เรียกห่านสวอนว่า หงส์ ตามที่คนไทยเรียกกันในปัจจุบัน

นอกจากตัวอย่างที่ยกมา ในวรรณกรรมอิศปปกรณัม ยังมีการอธิบายความเมื่อกล่าวถึงเรื่องราวต่างวัฒนธรรมด้วยกระบวนการดังกล่าวอีกมากเช่น “พิณแห่งอับโปโล (เทวดาครูเพลง) เราคิดจะหาความสุขแต่ตัวด้วยกินน้ำสุรามฤตซึ่งปาลลาส (เทวดาเจ้าของปัญญาแลการรบ)” (นิทานเรื่องที่ ๒๒๒), “เสือแปนเทียร์ (เป็นเสือแต่สีเหมือนไลอ้อน)” (นิทานเรื่องที่ (๓๐๐), และ “นกออศตริช (ลางทีว่าลางตัวสูงถึงห้าศอกหกศอก)” (นิทานเรื่องที่ ๓๐๑)

แต่ทั้งนี้ ในการแปลและเรียบเรียงนั้น บางครั้งกวีผู้ประพันธ์ไม่ได้อธิบายความเพิ่มเติม แต่ได้แปลโดยเลือกใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาแทนเช่นในนิทานเรื่องที่ ๑๘ ความว่า

ที่ ๑๘ นกแซงแซวกับกา

๏ นกแซงแซวกับกาเกิดเถียงกันว่าขนว่างามไม่งาม กาจึ่งได้ตัดความที่ทุ่มเถียงกันลงด้วยคำว่า ขนของท่านก็งามนักในเวลาฤดูร้อนจริงอยู่ แต่ขนของข้าพเจ้าป้องกันตัวข้าพเจ้าในฤดูหนาวได้ เพราะในเมืองหนาวถ้าฤดูหนาวนกแซงแซวต้องหนีไปเมืองร้อนกาไม่ต้องหนี”

เทียบตามเนื้อเรื่อง นิทานเรื่องนี้ แปลจากเรื่อง The Crow and The Swallow พระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้แปลได้เลือกใช้คำว่า “นกแซงแซว” ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทยมากกว่าแทนคำว่า “swallow” นกนางแอ่น ตามเนื้อเรื่องนก swallow อพยพในไปยังเขตอบอุ่นฤดูหนาว ทั้งนี้ นกแซงแซวก็เป็นนกอพยพเช่นกัน

คำสอนในอิศปปกรณัม

นอกจากความสนุกสนานของเรื่องราวแล้วสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งของนิทานคือ บทสรุป นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า ที่ถือว่าเป็นหัวใจและเป็นเสน่ห์ของการเล่านิทานเรื่องต่าง ๆ ซึ่งผู้ฟังที่อาจเป็นทั้งเยาวชนหรือผู้ใหญ่ต่างรอคอยที่จะฟังบทสรุปดังกล่าว ในหนังสืออิศปปกรณัม มีคติธรรมคำสอนปรากฏอยู่เป็นสองลักษณะ คือ โคลงสุภาษิต และคำสอนที่เป็นบทร้อยแก้ว โดยในนิทานบางเรื่องมีคติธรรมคำสอนทั้งสองรูปแบบ บางเรื่องมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีบทคติธรรม “นิทานเรื่องนี้สอนไว้ให้รู้ว่า” กำกับไว้ ทั้งนี้ คติธรรมคำสอนที่ปรากฏในเรื่องดังกล่าว กวีผู้ประพันธ์จะเป็นผู้แปลนิทาน วิเคราะห์ตีความและสรุปออกมาเป็นคติธรรมคำสอนด้วยตนเอง ซึ่งการที่นิทานจำนวนหนึ่งไม่มีคติธรรมคำสอนกำกับไว้ อาจเป็นได้ว่านิทานเรื่องนั้นยากแก่การตีความหรือเป็นการแปลนิทานไว้ก่อนแต่ยังไม่ได้ตีความ โดยปรากฏหลักฐานยืนยันแนวคิดนี้ในนิทานเรื่องหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น นิทานเรื่องที่ ๑๕๘ เรื่องที่ ๑๖๒ และเรื่องที่ ๒๕๗ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่าไม่สามารถตีความออกมาเป็นคติธรรมคำสอนได้ ดังนี้

ที่ ๑๖๒ ขุนนางศีรษะล้าน

๏ ขุนนางผู้หนึ่งศีรษะล้านใส่ผมทำใหม่ออกไปเที่ยวไล่สัตว์ พอลมพัดกระโชกมาหมวกแลผมก็ปลิวไป เมื่อเป็นดังนี้เพื่อนฝูงทั้งปวงก็พากันหัวเราะด้วยเสียงอันดังต่อ ๆ กันไป ขุนนางผู้นั้นก็รั้งบังเหียนม้าไว้แล้วหัวเราะทำสนุกไปในการที่ล้อนั้นด้วย แล้วกล่าวว่าอัศจรรย์อันใดกับผมที่มิใช่ของข้าพเจ้าจะปลิวไปจากข้าพเจ้า แต่เจ้าของเดิมของผมนั้นเองมันยังมาเสียจากได้ ยังว่าผมนั้นเกิดมาพร้อมกับเจ้าของด้วยกัน ๚

ช่วยปกปิดโทษผู้ที่ทำความชั่วคงจะต้องคำซักเมื่อการนั้นจำเป็นต้องปรากฏ ๚ะ๛

ซึ่งนิทานรื่องนี้ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ได้มีเว้นที่ว่างไว้เข้าใจว่าเพื่อสำหรับลงบทโคลงสุภาษิต มีบันทึกไว้ตรงนี้ว่า “อย่างไรไม่รู้ ฤๅตีความยาก” และได้ลงนาม “ขุนพินิจจัย” กำกับไว้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นกวีที่ได้รับมอบหมายให้แต่งโคลงสุภาษิตประกอบนิทานเรื่องนี้

ที่ ๑๕๘ รูปเมอรควิรี่กับช่างไม้

๏ มีคนหนึ่งเป็นคนจน หากินด้วยเป็นซ่างไม้ มีรูปเมอรคิวรี่ทำด้วยไม้รูปหนึ่ง ก็บูชาเซ่นสรวงที่หน้านั้นทุกวันทุกวัน ขอให้รูปนั้นทำให้มั่งมี แต่ถึงว่าขออยู่ดังนี้เสมอก็ยิ่งจนลงจนลง จนภายหลังมีความโกรธมาก ก็เอารูปนั้นลงเสียจากที่ตั้ง แล้วเอากระแทกเข้ากับฝาผนัง ครั้นเมื่อหัวรูปนั้นหักออก ทองคำก็ไหลออกมา ช่างไม้นั้นก็รีบโดยเร็ว แล้วว่าเออ เราหมายว่าท่านจะกลับกลายเสียทีเดียว ไม่ทำให้ต้องตามสมควรเล่า เพราะเมื่อเรานับถือไหว้กราบท่านอยู่ เรามิได้มีผลประโยชน์อันใดที่จะเก็บได้ แต่เดี๋ยวนี้เราทำไม่ดีต่อท่าน เราได้ความอิ่มเอิบไปด้วยมั่งมีเป็นอันมาก ๚

ตีความเป็นสุภาษิตไม่ได้

แต่ตีเอาตามรูปความเห็นว่า ผู้ที่ไม่ทำดีตอบแก่ผู้ที่ทำความดีแก่ตน ก็มักจะต้องทำความดีแก่ผู้ที่คิดร้ายทำร้ายแก่ตน ๚

……...ลาภแลมิใช่ลาภอันใด หากจะเป็นไปด้วยกรรมแลเคราะห์โชคของตัวเอง ไม่เป็นไปด้วยการขอร้องบนบานเจ้านายผู้ศักดิ์สิทธิ์ แสวงหาขวนขวายให้ยิ่งกว่าธรรมดาที่ควรหาได้ ๚ะ๛

ที่ ๒๕๗ ตัวหมัดกับโค

๏ ตัวหมัดมีคำถามโคว่า ขัดขวางอย่างไรท่านก็เป็นสัตว์ใหญ่ แลมีกำลังทานจึงได้ย่อมรับความข่มเหงอันไม่เป็นธรรมแต่คน แลเป็นทาสแก่คนทั้งปวงทุกวันทุกวันไปดังนี้ ส่วนเราเป็นสัตว์เล็กถึงเพียงนี้ ยังกินเนื้อคนมิได้มีความปรานี แลกินโลหิตคนมิได้หยุดยั้ง โคตอบว่าเราไม่อยากจะเป็นคนเนรคุณ เพราะเราเป็นที่รักที่ถนอมของคน คนทั้งปวงย่อมตบศีรษะหัวไหล่เราอยู่บ่อย ๆ ตัวหมัดร้องว่า ทุกข์ของเราตกที่ท่านชอบนั้นทีเดียว เมื่อบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าบ้างแล้ว คงจะหาความพินาศฉิบหายอันแก้ไขไม่ได้มาด้วย ๚

(ตีความไม่ถนัด)

ผู้ที่มีกตัญญูมั่นคง ย่อมจะไม่ถือเอาความเกียจคร้านเป็นประมาณ ๚ะ๛

ซึ่งข้อความที่ว่า “อย่างไรไม่รู้ ฤๅตีความยาก” “ตีความเป็นสุภาษิตไม่ได้ แต่ตีเอาตามรูปความเห็นว่า”และ “(ตีความไม่ถนัด)” เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากวีผู้ประพันธ์นอกจากทำหน้าที่ในการแปลและเรียบเรียงแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ตีความนิทานออกมาเป็นคติธรรมคำสอนด้วย ทั้งนี้ กวีอาจทั้งผู้แปลนิทานและประพันธ์โคลงสุภาษิตประกอบนิทาน หรืออาจประพันธ์โคลงหรือนิทานอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้คติธรรมคำสอนในนิทานอิศปปกรณัมจะมีที่มาจากนิทานตะวันตก แต่แนวคิดเรื่องคุณธรรมความดีสัจธรรมของชีวิต ถือเป็นวัฒนธรรมร่วมมีความเป็นสากล จึงทำให้คนไทยเรานิยมและยอมรับนิทานอีสปได้

คติธรรมคำสอนในนิทานอิศปปกรณัมมีลักษณะร่วมและลักษณะที่น่าสนใจโดยสรุปได้ ดังนี้

๑. โคลงสุภาษิตกับคติธรรมคำสอนร้อยแก้วในนิทานเรื่องเดียวกัน จะมีความสอดคล้องไปในทางเดียวกันและเสริมความกันให้ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

ที่ ๑๔ คนเดินทางกับสุนัขที่เลี้ยง

๏ คนเดินทางผู้หนึ่งกำลังจะออกเดินทาง มาเห็นสุนัขของเขายืนดัดตัวอยู่ที่ประตู จึ่งถามด้วยคำดุว่านั่นมายืนหาวคอยอะไรอยู่นั้นอะไร ๆ ก็พร้อมแล้วเว้นแต่เจ้ามาเถิดไปเดี๋ยวนี้แล สุนัขกระดิกหางแล้วตอบว่า นายเจ้าข้า ดีฉันพร้อมทีเดียวแล้ว ที่ดีฉันคอยอยู่เดี๋ยวนี้ ก็คอยนายเท่านั้น ๚ะ๛

คนที่มักโอ้เอ้ มักจะหาความว่าช้าแก่เพื่อนที่หมั่นกว่าบ่อย ๆ

๏ มีกิจจิตหง่อยช้า เชาวน์ทราม
ช้าเนิ่นเพลินไปตาม เรื่องคร้าน
ยกตนเกลื่อนกลับความ กลบหมั่น เขานา
ดีแต่เสียงจัดจ้าน อย่างนี้เนืองเนือง ๚ะ

พระยาราชสัมภารากร”

และ

ที่ ๑๒ สุนัขกับเงา

๏ สุนัขตัวหนึ่งคาบเนื้อก้อนหนึ่งอยู่ในปากเดินไปบนตะพานข้ามลำน้ำแห่งหนึ่ง แลเห็นเงาของตัวเองในน้ำ เข้าใจว่ามีสุนัขคาบเนื้อมาก้อนโตกว่าของตัวเองเท่าหนึ่ง เมื่อเห็นดังนั้นจึงได้วางก้อนเนื้อของตัวเองเสีย ขู่คำรามเข้าสู้สุนัขตัวอื่นในน้ำเพื่อแย่งเนื้อก้อนใหญ่ เพราะฉะนั้นสุนัขตัวนั้นจึงได้เสียเปล่าทั้งสองอย่างคือที่ทะยานลงไปในน้ำก็เป็นแต่เงาเท่านั้น แลเสียตัวเอง เพราะกำลังน้ำเชี่ยวพัดตัวลอยไป ๚ะ๛

โลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ไม่มีความใคร่ครวญ ถึงเสียชีวิตเพราะมีความโลภ

๏ ชนที่มีโลภล้น เหลือหลาย
ละเก่ามุ่งใหม่หมาย กลับแคล้ว
โลภจนจวบตนตาย ไป่คิด ชีพนา
เล่ห์สุนัขคาบเนื้อแล้ว โลภชิ้นเงาชล ๚ะ

พระยาศรีสุนทรโวหาร”

๒. คติธรรมคำสอนมีแนวคิดเป็นสัจธรรมอันเป็นสากล ได้แก่ ห้ามคบคนพาล คุณของการคบคนดี ทำดีได้ดี - ทำชั่วได้ชั่ว คุณของความขยันหมั่นเพียร โทษของการเกียจคร้าน การมีสติรู้จักไตร่ตรอง ความเมตตากรุณา ผู้มีสัตย์และผู้ไร้สัตย์ การพึ่งพา คุณแห่งน้ำมิตร เป็นต้น

ยกตัวอย่าง เช่น

คำสอนให้อย่าประมาทผู้ด้อยกว่าเรา

อย่าควรประมาทผู้ ทุรพล
สมเคราะห์คราวขัดสน สุดรู้
เกลือกเราสบร้ายดล ใดเหตุ
มากพวกคงมีผู้ รฦกเค้าคุณสนอง ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๑ ราชสีห์กับหนู (พระราชนิพนธ์)

คำสอนเรื่องความรักใคร่สามัคคีในหมู่ญาติพี่น้อง

เชื้อวงศ์วายรักร้อน ริษยา กันเฮย
ปรปักษ์เบียนบีฑา ง่ายแท้
ร่วมสู้ร่วมรักษา จิตร่วม รวมแฮ
หมื่นอมิตร บ มิแพ้ เพราะพร้อมเพรียงผจญ ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๒ บิดากับบุตรทั้งหลาย พระราชนิพนธ์)

คำสอนเรื่องคนพาล

ชาติกักขฬะดุร้าย สันดาน
คงจะหาสิ่งพาล โทษให้
ถึงจะกล่าวคำหวาน คำชอบ ก็ดี
หาญหักเอาจนได้ ดังข้อเขาประสงค์ ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๓ สุนัขป่ากับลูกแกะ พระราชนิพนธ์)

คำสอนเรื่องความเพียรและความประมาท

๑๓ เชื่อเร็วแรงเรี่ยวทั้ง เชาวน์ชาญ เชี่ยวแฮ
แม้นประมาทมละการ ก็ล้า
โฉดช้าอุส่าห์หาญ ห่อนหยุด ยั้งเฮย
ดั่งเต่ากระต่ายท้า แข่งช้าชนะเร็ว ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๑๓ กระต่ายกับเต่า พระราชนิพนธ์)

คำสอนเรื่องเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

๘๘ เสียน้อยเสียถูกสู้ ทนทำ เองเอย
ตน บ่ เชี่ยวชาญกรรม กิจข้อง
ไม่เป็นเหตุจะนำ ผลลาภ เนืองนา
ขาดประโยชน์ใหญ่ต้อง แบบอ้างอรรถแถลง ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๘๘ แม่ม่ายกับแกะ พระยาราชสัมภารากร)

คำสอนเรื่องการเตรียมพร้อม

๑๑๓ ความสงบรบได้เพื่อ เครื่องรบ พร้อมแฮ
ข้าศึกทราบสรรพสงบ งดกล้า
จะคอยจัดเตรียมครบ ต่อศึก ถึงฤๅ
ศึกจักเกิดแล้วอ้า อาจล้างอย่างไฉน ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๑๑๓ สุกรเถื่อนกับสุนัขจิ้งจอก กรมหมื่นพิชิตปรีชากร)

คำสอนเรื่องความผิดของตนและของผู้อื่น

๑๒๑ ตนผิดปิดโทษส้อน สูญหาย
ถวิลว่าดีโดยหมาย หมกไว้
ผิดผู้อื่นคิดขยาย ยกแผ่ เผยแฮ
หนุนเพิ่มเสริมส่งให้ เหตุร้ายแรงทวี ๚ะ”

(นิทานเรื่องที่ ๑๒๑ ขุนท่องสื่อ)

๓. นิทานส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นนิทานคติธรรม มีแนวคิดต้องกับศาสนธรรม เช่นการไม่ผูกเวร การไม่เพ่งโทษผู้อื่น การปล่อยวาง ยกตัวอย่างนิทานเรื่องที่ ๒๖๓ เรื่องถุงสองใบ ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง ความว่า

ตามจดหมายแต่โบราณเล่ามา ว่าคนเกิดมาในโลกนี้ทุก ๆ คนมีถุงผูกคอมาสองใบ ถุงเล็กอยู่ข้างหน้าเต็มไปด้วยความเสียของเพื่อนบ้าน ถุงใหญ่อยู่ข้างหลังเต็มไปด้วยความเสียของตัว ตั้งแต่นั้นมาคนจึงเห็นความผิดของผู้อื่นได้เร็ว แลซ้ำตาบอดไม่เห็นเสียของตัวบ่อย ๆ ด้วย ๚ะ๛

โทยผู้อื่นเท่าเส้นผมอาจเห็นได้ โทษตัวเท่าภูเขาไม่อาจเห็น”

๔. การใช้สุภาษิต คำพังเพย คำคม หรือหลักธรรมคำสอน ซึ่งรู้จักแพร่หลายมาสรุปแนวคิดเป็นคติธรรมคำสอน โดยพิจารณาจากเนื้อความในนิทาน เช่น โลภมากลาภหาย, ทุกขโต ทุกขถานัง, สิบเบี้ยใกล้มือ, นกสองหัว จะขอยกตัวอย่างจากนิทานประกอบ ดังนี้

“๏ ชาวบ้านนอกกับเมียมีนางไก่ตัวหนึ่งไข่เป็นทองคำวันละใบเสมอทุกวัน ผัวเมียคู่นั้นคะเนเห็นว่าไก่ตัวนั้นคงจะมีทองแท่งใหญ่อยู่ภายใน จึงได้ฆ่าไก่เพื่อจะเอาทองนั้น ครั้นเมื่อฆ่าแล้ว เขาทั้งสองก็มีความพิศวง ด้วยมิได้เห็นว่าไก่นั้นผิดจากธรรมดาของไก่อื่นเลย ผัวเมียคู่นั้นหมายใจว่าจะมั่งมีในครั้งเดียว ก็เสียสิ่งซึ่งได้เป็นแน่อยู่ทุกวันนั้นไปด้วย ๚ะ๛

โลภมากลาภหาย”

(นิทานเรื่องที่ ๑๖๙ ไก่กับไข่ทองคำ)

“นกทั้งปวงกำลังรบกันกับสัตว์จตุบาททั้งปวง ต่างพวกต่างผลัดกันมีชัยชนะ ค้างคาวกลัวผลแห่งการรบซึ่งเป็นการไม่แน่ จึงได้เอาตัวเข้าข้างพวกที่กำลังมากเสมอไป ครั้นเมื่อประกาศเลิกการสงบกัน สัตว์ซึ่งเป็นข้าศึกกันทั้งสองฝ่ายก็เห็นปรากฏในความประพฤติกลับกลอกของค้างคาว เพราะดังนั้นโทษความโกงของค้างคาวทั้งสองฝ่าย ให้ไล่เสียจากความสว่างของวัน ตั้งแต่นั้นมาค้างคาวก็ไปส่วนตัวอยู่ในที่มืดที่ลับ บินไปบินมาก็แต่ลำพังตัวในเวลากลางคืน ๚ะ๛

ความเดียวกับนกสองหัว

(นิทานเรื่องที่ ๒๔๗ นกทั้งปวงกับสัตว์จตุบาททั้งปวงกับค้างคาว)

“๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งซราเข้าก็นอนเจ็บอยู่ในถั่ว บรรดาสัตว์ทั้งปวงมาเยี่ยมกษัตริย์ของตัวหมด เว้นแต่สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่าเห็นจึงคิดว่าเป็นช่วงวันดีของตัว ฟ้องสุนัขจิ้งจอกต่อราชสีห์ว่าไม่มาคำนับอ่อนน้อมต่อท่านซึ่งเป็นผู้ปกครองแก่เขาทั้งปวง เพราะมิได้มาเยี่ยมราชสีห์ ในบัดเดี๋ยวนั้นสุนัขจิ้งจอกมาได้ยินปลายคำที่สุนัขป่าพูด ราชสีห์แผดเสียงด้วยความโกรธสุนัขจิ้งจอก สุนัขจิ้งจอกก็คิดหาช่องที่จะป้องกันตัวแล้วกล่าวว่า บรรดาสัตว์ซึ่งมาที่ท่าน ผู้ใดที่ได้ทำความดีให้แก่ท่านเหมือนข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าได้เที่ยวไปจากที่โน้นถึงที่นี้ทุกทิศทุกทาง เพื่อจะเที่ยวสืบเสาะตามหมอทั้งปวง ในวิธีจะรักษาท่านให้หาย ราชสีห์บังคับให้บอกวิธีที่จะหายนั้น ในบัดเดี๋ยวนี้ สุนัขจิ้งจอกจึงตอบว่า ท่านต้องถลกหนังสุนัขป่าแล้วเอาหนังที่ยังอยู่นั้นห่อตัวท่าน สุนัขก็ต้องจับถลกหนังทั้งเป็นในทันใดนั้น เพราะเหตุดังนี้สุนัขจิ้งจอกจึงหันหน้าไปยิ้มแล้วว่ากับสุนัขป่าว่า เจ้าควรจะยุให้นายมีความปรารถนาดี ไม่ควรจะยุให้มีความปรารถนาร้าย ๚ะ๛

ทุกขโต ทุกขถานัง ความปรารถนาร้ายต้องความร้าย ๚ะ๛”

(นิทานเรื่องที่ ๒๕๑ ราชสิท์กับสุนัขจิ้งจอก)

“ความเหมือนช้างขี้ๆ ด้วยช้าง คือเห็นเขาทำสิ่งใด ถึงใช่วิสัยที่ตัวจะทำได้ ก็อยากจะทำบ้าง ถึงแต่ความฉิบหาย” (นิทานเรื่องที่ ๕)

๕. การสอนถึงคุณธรรม คุณและโทษของความดี - ความเลวและโทษของการประพฤติผิดคลองธรรมต่าง ๆ แฝงปรัชญาในการดำเนินชีวิตผ่านตัวละคร โดยกำหนดให้ตัวละครส่วนใหญ่เป็นสัตว์ พืช ที่สามารถพูดได้ และให้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงนั้น เช่น ลาเป็นตัวแทนของความโง่ สุนัขป่าและสุนัขจิ้งจอกเป็นตัวแทนเล่ห์เหลี่ยม กลโกง ราชสีห์เป็นตัวแทนของพระราชา ความมีอำนาจ ตัวละครที่เป็นสัตว์ที่สง่างามเช่น กวาง หรือนกดอกบัว หากประพฤติตนไม่สมกับศักดิ์ศรีของตนก็มักพบกับภัยพิบัติ ตัวละครที่เป็นคนต่างอาชีพต่างวัยต่างบทบาท เช่น ช่างไม้ คนฆ่าวัว แม่ ลูก ก็จะมีบทบาท การตัดสินใจ และบุคลิกลักษณะที่เป็นตัวแทนและใกล้เคียงกับคนจริง ๆ ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังนิทานสามารถคิดตามและนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้

อนึ่ง นิทานที่มีสัตว์พูดได้เช่นนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับนิทานชาดกซึ่งคนไทยมีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว น่าจะมีส่วนทำให้เรานิยมยอมรับนิทานอีสป เนื่องจากมีแนวทางการนำเสนอเช่นเดียวกัน

๖. รูปแบบการประพันธ์นิทานมีรูปแบบค่อนข้างยืดหยุ่น มิได้กำหนดแน่นอนตายตัวนัก กล่าวคือ ไม่ยึดกับข้อกำหนดว่านิทานเรื่องหนึ่งควรมีความยาวเท่าใด รวมทั้งต้องจบด้วยด้วยบทคติธรรมสอนใจเป็นร้อยแก้วและปิดท้ายด้วยโคลงสุภาษิต ๑ บท นิทานบางเรื่องมีองค์ประกอบแตกต่างออกไป เช่น อาจมีหรือไม่มีบทคติธรรมสอนใจเป็นร้อยแก้ว หรือโคลงสุภาษิตก็ได้ รวมทั้งมีกวีบางท่านที่มีรูปแบบแนวทางลักษณะการประพันธ์นิทานบางเรื่องแตกต่างออกไป เช่น ขุนวิสุทธากรหรือพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) และขุนมหาสิทธิโวหาร (สืบ ศรีเพ็ญ) โดยคติธรรมคำสอนร้อยแก้วของขุนวิสุทธากร จะมีทั้งคำอธิบายสั้นและอธิบายยาวประกอบนิทานเรื่องเดียวกัน ส่วนนิทานของขุนมหาสิทธิโวหาร จะจบด้วยโคลงสุภาษิตจำนวน ๒ บทก็มี ดังนี้

นิทานของขุนวิสุทธากร

“ที่ ๗๑ ยูปิกเตอร์กับวานร

๏ จูปิเตอร์ออกหมายประกาศแต่บรรดาสัตว์ทั้งปวงในป่า ว่าถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีลูกซึ่งเห็นว่าเป็นสวยกว่าทั้งหมดจะพระราชทานรางวัล ครั้งนั้นมีวานรตัวหนึ่งหาบุตรมาพร้อมกับสัตว์ทั้งปวง ลูกวานรอ่อนตัวนั้นจมูกบี้ไม่มีขนรูปร่างพิกลพิการ แต่นางวานรมารดานั้นถนับถนอมพามาในที่ประชุม เพื่อจะเป็นคนมาเลือกรับรางวัลที่กำหนดไว้นั้น สัตว์ทั้งปวงก็พากันคำนับรับนางวานรเมื่อพาบุตรเข้าที่ประชุมนั้นด้วยการหัวเราะฮาใหญ่ทั่วกัน ฝ่ายนางวานรนั้นมิได้มีความกระดากกระเดื่องกล่าวคำขึ้นโดยแข็งแรง ว่าเราไม่รู้เลยว่ายุปิกเตอร์จะประทานรางวัลแก่บุตรเราฤๅไม่ แต่เรารู้อยู่อย่างนี้แน่ว่าถึงอย่างใดก็ดี ในดวงตาของเราผู้เป็นมารดาเห็นว่าลูกเราเป็นที่น่ารักอย่างยิ่ง สวยอย่างแลงามเลิศล้ำกว่าสัตว์ทั้งปวงหมด

อธิบายยาว สรรพสิ่งใด ๆ ที่ว่าชั่วว่าไม่ดีแท้ ๆ นั้นไม่มี เพราะถึงจะเห็นไม่ดีในชนเป็นอันมาก ฤๅผู้ใหญ่ผู้ดีอย่างไรก็ดี แต่ยังคงอาจเป็นของดี ฤๅเป็นที่รักของสิ่งบุคคลผู้ปรารถนาต้องการแลจำเป็นต้องรักในสิ่งที่ว่าชั่วนั้น

อธิบายสั้น สรรพสิ่งทั้งปวงย่อมเป็นของดีของประเสริฐ ของผู้ที่รักแลต้องการในของสิ่งนั้น

๏ สิ่งใดใจชอบแล้ว เชยชม
ยกย่องโดยอารมณ์ รักเร้า
ถึงใครไป่นิยม เห็นชอบ เลยนา
ตัวว่าดีคงเฝ้า เพรียงพร้องสรรเสริญ ๚ะ

ขุนวิสุทธากร”

“ที่ ๗๔ นกแซงแซวกับงูแลศาลชำระความ

๏ นกแซงแซวตัวหนึ่งกลับมาแต่เมืองอื่น ตั้งแต่นั้นมาก็ชอบอยู่ว่าเคยกับคน ทำรังอยู่ที่ศาลชำระความแห่งหนึ่งแลฟักไข่มีลูก ๓ ตัวด้วยกัน ยังมีงูตัวหนึ่งเลื้อยขึ้นมาจากกำแพงผ่านรังนกไปก็กินลูกนกชังรังซึ่งยังไม่มีขนนั้นเสีย ครั้นเมื่อแม่นกมาเห็นรังเปล่าก็ร้องไห้เศร้าโศกยิ่งรำพันว่า กรรมของของเราซึ่งเป็นสัตว์จรมาในที่นี้ ๆ ที่เราอยู่ย่อมเป็นที่พึ่งที่รักษาความชอบธรรมของผู้อื่นทั้งปวง เว้นแต่เราผู้เดียวต้องถูกความข่มเหง

อธิบายยาว ความที่มักง่ายฤๅความที่เอาอย่างเขาง่าย ๆ เห็นเขาทำอะไรได้ดีก็ทำบ้างมิได้พิจารณาดูตัวของตัวก่อน ว่ากำลังวาสนาของตัวนั้นจะควรทำฤๅไม่ควรนั้น มักจะเป็นช่องให้เกิดความคับแค้นแก่ตัวเมื่อภายหลัง

อธิบายสั้น ไว้ตัวเอาอย่างผู้ที่กำลังและวาสนาไม่เหมือนตัวนั้น เป็นทางให้ได้ความคับแค้น เมื่อเวลากำลังฤๅวาสนาของตัวไม่มี มิพอที่จะใช้เหมือนผู้ที่เอาอย่าง

๏ เห็นท่านยงยิ่งล้ำ เดชา นุภาพเฮย
ไป่คิดเจียมกายา ว่าน้อย
เย่อหยิ่งแข่งเคียงพา กระพือจิต ทยานแฮ
จะยากเลือดตาย้อย คับแค้นภายหลัง ๚ะ

ขุนวิสุทธากร”

นิทานของขุนมหาสิทธิโวหาร

“ที่ ๑๖๗ ตัวต่อกับงู

๏ ต่อตัวหนึ่ง….บนศีรษะงูแล้วต่อยด้วยเหล็กในเป็นแผลมิได้ถอนเลย งูนั้นจะตายได้ความลำบากอย่างยิ่ง มิรู้ที่จะคิดอ่านอย่างไรให้รอดพ้นศัตรูได้ ฤๅจะไล่ให้พ้นไปเสียก็ไม่ได้ แลเห็นเกวียนบรรทุกหนักด้วยไม้เดินมาทางนั้น ก็คลานเข้าไปเพื่อจะเอาศีรษะรองล้อทั้งปวงแล้วกล่าวว่า ตัวเราแลศัตรูของเราจนถึงความฉิบหายเสียด้วยกันดังนี้เถิด ๚ะ๛

ศัตรูที่สิ้นความคิดมักไม่คิดชีวิตในการที่จะแก้แค้น

๑๖๗ หมู่รณจนจิตต้อง ผจญภัย
มักไป่คิดอาลัย ชีพม้วย
เขาประทุษฉันใด จักตอบ แทนนา
ถึงจักวายชีพด้วย เหตุแก้แค้นควร ๚ะ
๏ หมู่รณจนจิตเข้า คับขัน
จักหลีกจักหนีกัน ห่อนพ้น
จำจิตคิดประจัญ ประจวบชีพ วายนา
คงรับคงรุกร้น รีบสู้สุดตัว ๚ะ

ขุนมหาสิทธิโวหาร”

“ที่ ๑๖๙ ไก่กับไข่ทองคำ

๏ ชาวบ้านนอกกับเมียมีนางไก่ตัวหนึ่งไข่เป็นทองคำวันละใบเสมอทุกวัน ผัวเมียคู่นั้นคะเนเห็นว่าไก่ตัวนั้นคงจะมีทองแท่งใหญ่อยู่ภายใน จึงได้ฆ่าไก่เพื่อจะเอาทองนั้น ครั้นเมื่อฆ่าแล้ว เขาทั้งสองก็มีความพิศวงด้วยมิได้เห็นว่าไก่นั้นผิดจากธรรมดาของไก่อื่นเลย ผัวเมียคู่นั้นหมายใจว่าจะมั่งมีในครั้งเดียว ก็เสียสิ่งซึ่งได้เป็นแน่อยู่ทุกวันนั้นไปด้วย ๚ะ๛

โลกมากลาภหาย

๑๖๙ ผู้ใดใจโลกล้น ลามปาม
ได้หนึ่งจักเอาสาม สี่ห้า
ไป่คิดถ่อมตนลาม โลภล่วง ละเมิดนอ
มักจักลอยหลุดคว้า หนึ่งซ้ำพลอยสูญ ๚ะ
๏ ผัวเมียไก่ไข่ให้ เป็นทอง
วันละใบใจปอง ลาภล้ำ
จับไก่ผ่าอกมอง หาแห่ง ทองนา
ทองบ่ได้ไก่ซ้ำ พืชสิ้นสูญฟอง ๚ะ

ขุนมหาสิทธิโวหาร”

คุณค่าและความสำคัญ

นิทานและโคลงสุภาษิตอิศปปกรณัม บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และชุมนุมกวีในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีจำนวนนิทานมากกว่า ๓๐๐ เรื่อง นอกจากแสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษของคนไทย การเปิดกว้างยอมรับวัฒนธรรม ประเพณีและค่านิยมของต่างประเทศแล้ว การแปลและเรียบเรียงนิทานอีสปจำนวนมากเป็นวรรณกรรมไทย ยังแสดงถึงความนิยมอ่านเรื่องที่แปลมาจากวรรณคดีตะวันตก ซึ่งมีความแปลกใหม่กว่าวรรณคดีแบบตั้งเดิมของคนไทยอีกด้วย

นิทานและโคลงสุภาษิตอิศปปกรณัมเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าและความสำคัญ ดังนี้

๑. มีคติธรรมคำสอนที่เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ผู้อ่านสามารถพิจารณาคำสอนตามที่กวีได้ระบุไว้ในนิทานเรื่องนั้น ๆ หรือพิจารณาวิเคราะห์หาคติเตือนใจได้ด้วยตนเอง

๒. คุณค่าด้านวรรณกรรมคำสอน อันมีนิทาน คำสอน และโคลงสุภาษิตเป็นองค์ประกอบที่เสริมความซึ่งกันและกัน วรรณกรรมเรื่องนี้ได้เคยมีการคัดเฉพาะโคลงสุภาษิตไปจัดพิมพ์รวมเล่ม ซึ่งโคลงสุภาษิตบางบทไม่สามารถสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน เนื่องจากขาดนิทานอันเป็นต้นเค้าข้อมูลของคำสอนในโคลงสุภาษิต ทำให้การสื่อสารของโคลงนั้นไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เต็มที่ ยกตัวอย่างโคลงจากนิทานเรื่องที่ ๑๕๒ เรื่องเด็กทั้งหลายกับกบทั้งปวง ซึ่งอ่านแล้วไม่ได้ความชัดเจนว่าหมายถึงนิบาตใด ความว่า

๕๒ ประกอบการเล่นด้วย หวังสนุก ตนเฮย
ผลประโยชน์สรรพสิ่งสุข เปล่าร้าง
เป็นการจักให้ทุกข์ เขาอื่น
ดังนิบาตแบบอ้าง เยี่ยงนี้อย่าเยีย ๚ะ”

๓. เป็นวรรณกรรมแปลจากภาษาอังกฤษยุคแรกของไทยทำให้เห็นวิวัฒนาการในการแปลและการใช้ภาษาของวรรณกรรมแปลในประเทศไทย

๔. ใช้เป็นข้อมูลหลักฐานในการกำหนดอายุของคำและการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย โดยเราจะพบว่าคำบางคำซึ่งปัจจุบันมีศัพท์บัญญัติแล้ว แต่ในวรรณกรรมเรื่องนี้ใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นหลักฐานแสดงถึงเหตุผลหลายประการ คือ คำศัพท์บัญญัติดังกล่าวอาจยังไม่เกิดมีขึ้นในยุคนั้น อาจด้วยเป็นสิ่งที่ยังไม่มีในประเทศไทย ยังมิได้กำหนดศัพท์บัญญัติ หรือคนไทยในขณะนั้น ไม่เคยเห็น เช่น ฟองน้ำ นักปรัชญา นกกระจอกเทศ หงส์ ก็จะใช้คำทับศัพท์ แล้วอาจมีการอธิบายความต่อท้ายหรือไม่มีก็ได้ เช่น

- “เหยี่ยวจึงตอบว่าข้าพเจ้าเคยจับนกออศตริช(ลางทีว่าลางตัวสูงถึงห้วศอกหกศอก” (นิทานเรื่อง ที่ ๓๐๑ นกอินทรีกับเหยี่ยว)

- “๏ นักปราชญ์ฟิโลโซเฟอร์ผู้หนึ่ง แลไปดูจากฝั่งเห็นกำลังเรือกำปั่นแตกลูกเรือแลคนโดยสารจมน้ำด้วยกันหมด ก็นึกติเตียนต่อความไม่เป็นยุติธรรมแห่งผู้ซึ่งเหมือนกับว่าเป็นพระเจ้า” (นิทานเรื่องที่ ๑๕๓ นักปราชญ์ฟีโลโซเฟอกับมดทั้งปวงแลเมอรคิวรี)

- “พ่อค้าเห็นตลอดความแกล้งนี้จึงได้พาลาไปที่ชายทะเลอีกเป็นครั้งที่สาม ครั้งนี้พ่อค้าซื้อสปันซ์เป็นสินค้าแทนเกลือ ลาก็เล่นโกงอย่างเก่าอีก เมื่อมาถึงลำน้ำก็พลาดลงไปด้วยความแกล้ง ครั้นเมื่อสปันซ์อมน้ำแล้วน้ำหนักที่บรรทุกนั้นก็มากขึ้น” (นิทานเรื่องที่ ๒๓ พ่อค้าเกลือกับลาของเขา)

- “๏ เศรษฐีมั่งมีทรัพย์ผู้หนึ่งซื้อห่านสวอนตัวหนึ่ง ห่านตามธรรมเนียมตัวหนึ่งมาจากตลาด ตัวหนึ่งนั้น เลี้ยงปรนให้อ้วนสำหรับใส่กับข้าว ตัวหนึ่งเอาไว้สำหรับฟังร้องเพลง ครั้นเมื่อห่านตามธรรมเนียมนั้นปรนถึงที่ควรจะฆ่า พ่อครัวจึงได้ไปเอาตัวในกลางคืนเป็นเวลามืด ไม่ทันสังเกตว่าตัวใดเป็นตัวใด ก็จับตัวห่านสวอนด้วยหมายว่าห่านตามธรรมเนียม ห่วนสวอนมีความกลัวตาย ก็ร้องเพลงออกมาทันที เพราะฉะนั้นจึงทำให้รู้จักได้ด้วยน้ำเสียง รักษาชีวิตไว้ได้เพราะเพลงอันไพเราะของตัว

ความรู้ ๆ ให้จริงถึงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล”

(นิทานเรื่องที่ ๑๓๗ ห่านกับเป็ด)

๕. เรื่องราวและถ้อยคำสำนวนคำสอนจากนิทานอีสป และจากวรรณกรรมนิทานอิศปปกรณัม เกิดเป็นสำนวนไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป เช่น

กระต่ายตื่นตูม ใช้เปรียบเทียบคนที่แสดงอาการตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้ก่อน

บ่างช่างยุ หมายถึง คนที่ชอบส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน

ไก่ได้พลอย หมายถึง ได้สิ่งที่มีค่าแต่ไม่รู้คุณค่า

องุ่นเปรี้ยว หมายถึง คนที่แสร้งแสดงความรังเกียจสิ่งที่ตัวเองไม่มีหรือไม่ได้มา

แม่ปูลูกปู หมายถึง การที่คนเราจะสอนใครได้นั้น ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้เสียก่อน

๖. เนื้อเรื่องเป็นที่รู้จักแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับเช่นนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า มีการนำไปวาดเป็นภาพวาดในจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ ๘๐ ตอนอินทรชิตขอกินนมมารดาและออกรบจนตาย

๗. เป็นแหล่งข้อมูลของสื่อนิทานในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าวรรณกรรมเรื่องอิศปปกรณัม จะมีการแปลไว้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมิได้มีการตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่ จึงไม่ใคร่เป็นที่รู้จัก ส่วนใหญ่เราจะรู้จักนิทานอีสปที่สำนวนของ ฟ. ฮีแลร์ และพระจรัสชวนะพันธ์มากกว่า เนื่องจากเป็นหนังสือแบบเรียน เช่น นิทานอิศปปกรณัมเรื่องที่ ๒๕๙ เรื่อง เมอร์คิวรี่กับคนทำงาน จะเป็นที่รู้จักน้อยกว่านิทานเรื่องที่ ๓๐ เรื่อง เทพารักษ์กับคนตัดไม้ของพระจรัสชวนะพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน และฉบับของพระจรัสชวนะพันธุ์ น่าจะได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมอิศปปกรณัม

๘. มีกวีเพิ่มขึ้นและมีการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมในรูปแบบใหม่

๙. กระบวนการความคิดด้านการดำเนินชีวิต คุณธรรม และวัฒนธรรมการสอนที่มีความคล้ายคลึงกันซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องราวและคำสอนต่าง ๆ สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรม เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้อิศปปกรณัมได้รับความนิยมสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน คนไทยคุ้นเคยกับนิทานชาดก ทั้งชาดกในนิบาตและชาดกนอกนิบาตจึงเป็นการง่ายที่จะนิยมยอมรับนิทานอีสป

  1. ๑. สะกดตามทะเบียนบัญชีหนังสือสมุดไทยของกลุ่มตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ

  2. ๒. กรมหลวงพิชิตปรีชากร ในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย มีระบุอิสริยยศทั้ง กรมหมื่นพิชิตปรีขากร และ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ส่วนชื่อกวีในสำตับที่ ๑๐ ขุนทิพวินัย นั้นในต้นฉบับหนังสือสมุดไทย มีระบุราชทินนามเป็น พระทิพยวินัย ด้วย

  3. ๓. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมหน้า ๓๐

  4. ๔. ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์), สำนวนไทย, กรุงเทพฯ: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ๒๕๔๓) หน้า ๔๗๘.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ