สมุดไทยเลขที่ ๑๘ และ ๑๙

ที่ ๒๑ หมัดกับคน

๏ คนผู้หนึ่งมีความรำคาญด้วยหมัด ภายหลังจับตัวได้จึงว่า เจ้านี้คือใคร ซึ่งมากินบนแขนบนขาของเรา แลทำความลำบากให้มากในการที่จะจับเจ้า หมัดร้องว่า ท่านเจ้าขาโปรดยกชีวิตข้าพเจ้าไว้ อย่าทำลายข้าพเจ้าเสียเลย เพราะข้าพเจ้าไม่ทำอันตรายได้มากนักดอก ชายนั้นหัวเราะแล้วตอบว่า เจ้าจะต้องตายด้วยมือเราเดี๋ยวนี้เป็นแน่ เพราะชาติที่ชั่วถึงว่าเล็กฤๅใหญ่ ก็ควรจะต้องให้เสมอกัน ๚ะ๛

ที่ ๒๙๔ ลูกแกะกับสุนัขป่า

๏ สุนัขป่าตัวหนึ่งตามลูกแกะซึ่งหนีเข้าไปอาศัยในวัดแห่งหนึ่ง สุนัขป่าเรียกลูกแกะแล้วว่า ถ้าพระเจ้าจับเจ้าได้ จะฆ่าเจ้าในการบูชายัญ เมื่อกล่าวดังนั้น ลูกแกะจึงตอบว่า ซึ่งเราจะต้องบูชายัญในวัดนั้น ยังดีกว่าที่ต้องท่านกิน ๚ะ๛

ที่ ๒๙๕ คนมั่งมีกับช่างย้อมหนัง

๏ คนมั่งมีผู้หนึ่งอยู่ใกล้ช่างย้อมหนัง มิอาจที่จะทนกลิ่นเหม็นไม่สบายแห่งที่ทำหนังได้ จึงกวนเพื่อนบ้านที่ทำหนังนั้นให้ไปเสียทีอื่น คนย้อมหนังขอผัดกำหนดที่จะไปนั้นร่ำไป ว่าแต่ว่าจะไปโดยเร็ว แต่ครั้นเมื่อช่างหนังนั้นอยู่ต่อไปก็เป็นการพ้นไปได้ เพราะเวลาล่วงไปคนมั่งมีนั้นก็เคยกลิ่นเข้า ก็ไม่รู้สึกความรำคาญอย่างไรอย่างหนึ่ง มิได้กล่าวโทษอย่างใดต่อไป ๚ะ๛

ที่ ๒๙๖ ล่อกับโจร

๏ ล่อสองตัวบรรทุกห่อสินค้าเดินไปด้วยกัน ตัวหนึ่งบรรทุกต่างเต็มไปด้วยเงิน อีกตัวหนึ่งบรรทุกกระสอบข้าว ล่อตัวที่บรรทุกทรัพย์เดินตั้งศีรษะตรงเหมือนหนึ่งรู้ราคาน้ำหนักซึ่งบรรทุก แลเขย่าระฆังเสียงเพราะซึ่งผูกอยู่กับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อนซึ่งไปด้วยตามหลังไปด้วยฝีเท้าเบาแลเงียบ ๆ ในขณะประเดียวนั้น โจรทั้งปวงจึงออกมาจากที่กำบังถึงตัว ในเมื่อขณะต่อสู้อยู่กับเจ้าของ ฟันล่อซึ่งบรรทุกทรัพย์ด้วยดาบมีบาดแผล เพราะแย่งชิงของที่บรรทุกโดยความอยากได้ ส่วนข้าวนั้นมิได้เป็นธุระอันใด ล่อซึ่งถูกปล้นที่บาดเจ็บบ่นถึงเคราะห์ร้ายของตัว ล่ออีกตัวหนึ่งจึงว่า เรามีความยินดีจริง ๆ ที่ตัวเรามีผู้นึกถึงแต่เล็กน้อยดังนี้ เพราะเราไม่ต้องเสียอะไร หรือต้องเจ็บเป็นแผลอย่างไร ๚ะ๛

ที่ ๒๙๗ งูกับตะไบ

๏ งูตัวหนึ่งเข้าไปที่ทำงานของช่างเหล็ก จะหาอะไรแก้หิวตามเครื่องมือทั้งปวง งูนั้นตั้งใจเข้าไปหาแลแสดงตัวเองต่อตะไบ ขอให้มีความเมตตาให้อาหารสักมื้อหนึ่ง ตะไบตอบว่าท่านเห็นจะเป็นคนโง่ทีเดียว ถ้าท่านคิดจะมาเอาอะไรจากเรา ซึ่งเราเคยเอามาแต่จากผู้อื่นทุก ๆ สิ่ง มิได้เคยให้สิ่งไรตอบเลย ๚ะ๛

คนที่เป็นชาติอยากได้ของผู้อื่น แลตัวจะเป็นผู้ให้เองนั้นน้อยนัก ๚ะ๛

ที่ ๒๙๘ ราชสีห์กับคนเลี้ยงแกะ

๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งเที่ยวเล่นในป่า เหยียบไปบนหนาม ภายหลังไม่ช้าก็มาหาคนเลี้ยงแกะ โผเข้ามากระดิกหาง เหมือนกับจะว่าข้าพเจ้าเป็นผู้มาขอพึ่งท่าน เป็นผู้ขอการช่วยของท่าน คนเลี้ยงแกะก็ตรวจดูโดยกล้าหาญก็พบหนาม จึงยกเท้าราชสีห์ขึ้นวางบนตัก ถอนหนามออกช่วยราชสีห์ให้หายเจ็บ ราชสีห์ก็กลับไปในป่า ครั้นภายหลังมาคนเลี้ยงแกะต้องเป็นโทษ เพราะคำกล่าวโทษไม่จริง ตัดสินให้ทิ้งลงใบให้ราชสีห์ เป็นการลงโทษที่ได้ทำผิดนั้น ราชสีห์เมื่อปล่อยออกจากกรง จำคนเลี้ยงแกะว่าเป็นผู้รักษาให้หายเจ็บปกติ การซึ่งจะเข้าทำร้ายนั้นกลับเข้าไปหาแล้วยกเท้าขึ้นวางบนตัก เจ้าแผ่นดินพอได้ฟังทราบเรื่องก็สั่งให้ปล่อยราชสีห์กลับไปในป่าเสียอีก คนเลี้ยงแกะนั้นก็ประทานโทษให้กลับไปอยู่กับเพื่อนฝูงของตน ๚ะ๛

ที่ ๒๙๙ อูฐกับยุปิเตอ

๏ เมื่ออูฐเห็นโคมีเขาก็มีความริษยา อยากจะให้ตัวมีเกียรติยศเหมือนกัน จึงไปหายุปิเตอแล้วขอให้เขาแก่ตัว ยุปิเตอกริ้วในคำขอเพราะว่าอูฐมิได้พอในรูปร่างแลกำลังของตัว ยังมีความปรารถนามากขึ้นไปอีก ไม่แต่ไม่ยอมให้เขาเท่านั้น กลับซ้ำเจียนส่วนแห่งใบหูทั้งสองข้างไปเสียด้วย ๚ะ๛

ผู้ที่ไม่รู้จักพอในของที่ตนมี มักจะทำให้ขาดหนักไป

โลภมาก ลาภหาย ๚ะ๛

ที่ ๓๐๐ เสือแปนเทียร์ (เป็นเสือแต่สีเหมือนไลออน) กับคนเลี้ยงแกะ

๏ เสือแปนเทียร์ตัวหนึ่งโดยเคราะห์ร้ายตกลงในบ่อ คนเลี้ยงแกะทั้งปวงไปพบก็ขว้างท่อนไม้แลปาด้วยก้อนศิลาให้ถูกเสือนั้น แต่ในพวกนั้นบางคนหวั่นไหวด้วยความกรุณาต่อผู้ซึ่งจะต้องตาย ถึงแม้นว่าจะไม่มีผู้ใดทำอันตราย จึงทิ้งอาหารบางสิ่งลงไป เพื่อจะให้ชีวิตเสือยาวไป ครั้นเวลาค่ำก็กลับมาบ้าน มิได้มีผู้ใดฝันถึงอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายใจแต่ว่าพรุ่งนี้จะไปพบเสือนั้นตาย ส่วนเสือเมื่อได้พักผ่อนกำลังที่อ่อน ก็ทำให้ตัวพ้นได้ด้วยกระโดดขึ้นจากบ่อทันที ก็กลับไปที่อยู่ด้วยฝีเท้าอันเร็วถึงโพรง ภายหลังมาน้อยวัน เสือนั้นกลับมาทำลายฝูงสัตว์ของคนเลี้ยงแกะและฆ่าคนเลี้ยงแกะซึ่งทำร้ายตัวหมกมุ่นด้วยความโกรธใหญ่ เมื่อนั้นผู้ซึ่งได้ช่วยชีวิตเสือมีความกลัวอันตรายแก่ตัว ก็ยอมให้ฝูงแกะของตัวแล ขอแต่เพียงชีวิตไว้ เสือจึงตอบแก่คนเลี้ยงแกะทั้งปวงนั้นว่า เราจำได้เหมือนกันว่าใครคิดจะเอาชีวิตเราด้วยก้อนศิลา แลใครให้อาหารเรา เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงละความกลัวของท่านเสียเถิด เรากลับมาเป็นศัตรูผู้หนึ่งจริง แต่เป็นศัตรูเฉพาะผู้ซึ่งข่มเหงเรา ๚ะ๛

ทำโทษก็คงจะได้โทษตอบ ทำชอบก็คงจะได้ชอบคืน ๚ะ๛

ที่ ๓๐๑ นกอินทรีกับเหยี่ยว

๏ นกอินทรีตัวหนึ่งกลัดกลุ้มไปด้วยความทุกข์ จับอยู่กับกิ่งต้นไม้ต้นหนึ่ง มีเหยี่ยวตัวหนึ่งจับอยู่เป็นพวกด้วย เหยี่ยวจึงถามว่า ทำไมข้าพเจ้าเห็นท่านดูไม่สบายอย่างนี้ นกอินทรีจึงตอบว่า เราหาคู่ที่สมควรแก่เรา แต่เราไม่สามารถที่จะหาได้สักตัวหนึ่ง เหยี่ยวจึงตอบว่าท่านจงรับข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าแรงมากกว่าท่านทั้งปวง นกอินทรีจึงถามว่าทำไมท่านจะสามารถหาเครื่องเลี้ยงชีวิตในการปล้นได้ฤๅ เหยี่ยวจึงตอบว่าข้าพเจ้าเคยจับนกออศตริช (ลางทีว่าลางตัวสูงถึงห้าศอกหกศอก) พาไปในกรงเล็บของข้าพเจ้าบ่อย ๆ นกอินทรีถูกล่อลวงด้วยถ้อยคำอันนี้ ก็รับเหยี่ยวเป็นสามี ภายหลังเมื่ออยู่กินด้วยกันแล้วไม่นานนัก นกอินทรีจึงว่าจงขึ้นไปหานกออศตริชกลับมาให้เราตามที่ท่านสัญญาไว้ เหยี่ยวก็บินขึ้นไปสูงในอากาศ พาหนูคร่ำคร่าที่สุดพองจะเน่าด้วยตายนาน ซึ่งทิ้งอยู่ในทุ่งกลับมา นางนกอินทรีจึงถามว่า นี่ฤๅที่ท่านได้ทำตามสัญญาโดยซื่อตรงต่อข้าพเจ้า เหยี่ยวตอบว่าถ้าอย่างใดซึ่งข้าพเจ้าจะได้พระหัตถ์ของท่านสมประสงค์แล้ว ก็ต้องไม่มีอันใดซึ่งข้าพเจ้าจะไม่รับสัญญา ถึงว่าสิ่งใดข้าพเจ้าจะทราบว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ก็คงจะต้องรับ ๚ะ๛

ความปรารถนากล้านั้น เป็นเครื่องให้ละจากความรักษาสิ่งดีทั้งปวง ๚ะ๛

ที่ ๓๐๒ นกอินทรีกับคนจับได้

๏ ครั้งหนึ่งชายผู้หนึ่งจับนกอินทรีได้ ก็ตัดขนปีกเสียทันที แล้วปล่อยไว้ในเล้าไก่กับนกอื่น ๆ การที่ทำดังนี้นกอินทรีหนักลงด้วยความโศกเศร้า มีเพื่อนบ้านผู้หนึ่งมาซื้อนกอินทรีไป ปล่อยให้ขนงอกขึ้นอีก นกอินทรีหนีไปเฉี่ยวกระต่ายตัวหนึ่ง พากลับมาในเดี๋ยวนั้นมาให้เป็นของกำนัลแก่ผู้ที่มีคุณของตัว สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งได้เห็นจึงว่า อย่าประจบให้ชอบใจชายผู้นี้เลย ให้ประจบแต่เจ้าของเก่าเจ้าของเจ้าเถิด ถ้าไม่ฉะนั้นเขาจะตามจับเจ้าอีก แล้วจะให้เจ้าไม่มีปิกเป็นครั้งที่สอง ๚ะ๛

ผู้ที่ทำคุณกับตัวเร่งสนองคุณตอบ ผู้ที่ทำร้ายกับตัวจงเร่งเกรง ๚ะ๛

ที่ ๓๐๓ พระราชโอรสเจ้าแผ่นดินกับราชสีห์เขียน

๏ พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งมีพระราชโอรสองค์เดียว ชอบในการทหารแข็งแรง เห็นสุบินนิมิตว่าพระราชโอรสจะต้องเสียพระชนม์เพราะราชสีห์ มีความกลัวว่าฝันนั้นจะจริง จึงสร้างวังอันเป็นที่เกษมสำราญพระราชทานแก่พระราชโอรส ตามผนังนั้นให้เขียนรูปภาพสัตว์ต่าง ๆ ทุกอย่างเท่าตัวเป็นไว้ให้เป็นที่สนุกสบาย ในรูปภาพทั้งปวงนั้นมีรูปราชสีห์อยู่ด้วยรูปหนึ่ง ครั้นเมื่อเจ้าชายหนุ่มนั้นได้เห็นรูปราชสีห์ ความเศร้าโศกซึ่งต้องกักขังก็บังเกิดขึ้นในเดี๋ยวนั้น ยืนอยู่ใกล้ราชสีห์แล้วว่าดังนี้ ตัวมึงเป็นสัตว์พึงเกลียดที่สุด แต่เพียงพระบิดากูนอนฝันซึ่งเห็นในเวลาหลับเท่านั้น เพราะเหตุด้วยมึง กูต้องมาขังอยู่ในวังนี่เหมือนกับลูกผู้หญิง เดี๋ยวนี้กูจะทำอะไรกับมึงดีหนอ ด้วยถ้อยคำที่กล่าวอยู่ดังนี้ก็ยื่นมือไปที่ต้นไม้มีหนาม จะหักเรียวไม้จากกิ่งเพื่อจะตีราชสีห์ เมื่อนั้นหนามที่แหลมก็ตำนิ้วมือปวดยิ่งนักซาบซ่านไป เจ้าชายนั้นก็ล้มลงสลบ ภายหลังก็เป็นไข้ใหญ่ต่อไปในทันที ไม่หลายวันนักก็สิ้นพระชนม์ชีพ ๚ะ๛

เราสู้ทนความลำบากโดยกล้าหาญ ดีกว่าที่จะคิดหนีให้พ้น ๚ะ๛

ที่ ๓๐๔ แมวกับวีนัศ

๏ แมวตัวหนึ่งรักกับชายหนุ่มรูปสวยผู้หนึ่ง อ้อนวอนวีนัศขอให้จำแลงรูปของตัวเป็นหญิง วีนัศยอมตามคำขอ จึงจำแลงแมวเป็นหญิงรูปงาม เพราะฉะนั้นเมื่อชายหนุ่มเห็นนางก็มีความรัก พานางนั้นไปบ้านเป็นภรรยา ขณะเมื่อนอนเล่นอยู่ในห้องด้วยกัน วีนัศจะใคร่ทราบว่าแมวนั้นเปลี่ยนรูปแล้วจะเปลี่ยนอาการเคยประพฤติฤๅไม่ จึงทำให้หนูตกลงมาในกลางห้อง นางนั้นก็ลืมเพศซึ่งตัวเป็นในเวลานั้น กระโดดจากเก้าอี้ยาวไล่ตามหนู อยากจะใคร่กิน วีนัสไม่ชอบพระทัยมาก จึงให้นางนั้นกลับคืนเป็นรูปเดิมของตัว ๚ะ๛

ปกติของชาติแรงกว่าที่จะสั่งสอน ๚ะ๛

ที่ ๓๐๕ นกอินทรีกับตัวด้วง

๏ นกอินทรีกับตัวด้วงเป็นศัตรูต่อกัน ทำลายรังซึ่งกันและกัน นกอินทรีทำร้ายก่อน จับลูกด้วงกินเสีย ด้วงจึงลอบเข้าไปที่ไข่นกอินทรี แล้วกลิ้งให้ตกลงจากรัง แล้วตามนกอินทรีขึ้นไปจนถึงที่เฉพาะพระพักตร์จูปิเตอร์ ครั้นเมื่อนกอินทรีฟ้องจูปิเตอร์ จูปิเตอร์สั่งให้นกอินทรีทำรังบนตัก ด้วงก็บินว่อนไปรอบ ๆ ยุปิเต้อลุกขึ้นไล่ด้วงจากพระเศียร มิทันระวังก็เทไข่ทั้งปวงลงแตก ๚ะ๛

ที่อ่อนมักจะแก้แค้นของตัวต่อผู้ซึ่งทำไม่ดีต่อมันทั้งปวง ถึงแม้นว่าผู้นั้นจะมีอำนาจมาก ๚ะ๛

ที่ ๓๐๖ แพะตัวเมียกับหมวก

๏ แพะตัวเมียโดยขอยุปิเตอโปรดให้ แพะตัวผู้ทั้งปวงมีความเสียใจไม่ชอบจึงร้องว่า ตัวเมียทั้งปวงมียศบรรดาศักดิ์เสมอตัว ยุปิเตอร์ว่ายอมให้มันเถิด ให้มันมียศเปล่า ๆ ให้มีที่หมายของเพศเจ้าที่เป็นเพศสูงกว่า ด้วยมันมิได้เสมอเจ้าทั้งปวงโดยกำลังแลความกล้าหาญ ๚ะ๛

ผู้ที่มีความดีน้อยกว่าเรา จะเหมือนกับเราแต่ที่เห็นภายนอกนั้นเป็นการนิดหน่อยดอก ๚ะ๛

ที่ ๓๐๗ คนหัวล้านกับแมลงวัน

๏ แมลงวันตัวหนึ่งกัดหัวเปล่าของคนหัวล้าน ซึ่งเจ้าตัวอยากจะใคร่ทำลายแมลงวันเสีย จึงตบตัวเองด้วยมือหนัก เมื่อนั้นแมลงวันพูดเป็นทีล้อว่า แต่เพียงสัตว์นิด ๆ ต่อยท่าน ท่านอยากจะแก้แค้นถึงเอาชีวิต ท่านจะทำอย่างไรแก่ตัวท่านเองซึ่งเป็นผู้เดิมดูถูกเข้ากับอันตรายเล่า คนหัวล้านตอบว่า เราจะทำการสงบวิวาทกับตัวเราเองง่ายดอก เพราะเรารู้ว่ามิได้ตั้งใจจะทำให้เจ็บ แต่เจ้าเป็นสัตว์ที่ไม่น่ารัก สัตว์ควรดูถูกชอบใจกินเลือดมนุษย์ เราอยากจะให้เราได้ฆ่าเจ้า ถึงแม้นว่าจะรับการลงโทษอันหนักยิ่งกว่านี้ ๚ะ๛

บางคนหมายจะแก้การเจ็บใจในการนิดหน่อย ย่อมลงทุนมากกว่าที่ได้คืน

ที่ ๓๐๘ คนเรือแตกกับทะเล

๏ คนเรือแตกผู้หนึ่งคลื่นซัดขึ้นบนตลิ่ง ก็นอนหลับเพราะต้องสู้คลื่นในที่ลึก สักหน่อยหนึ่งก็ตื่นขึ้น เมื่อแลดูทะเลแล้วก็ด่าว่าลวงคนทั้งปวง ด้วยทำให้เห็นว่าสงบเรียบร้อย ครั้นเมื่อชักชวนคนทั้งปวงให้ไถไปในน้ำได้ ก็กลับเป็นคลื่นขึ้นแล้วทำลายคนทั้งปวงเสียหมดทีเดียว ทะเลก็ถือเอารูปเป็นผู้หญิงตอบว่า อย่าโทษข้าพเจ้าเลยท่านผู้เป็นคนดี โทษลมเถิด เพราะถ้าโดยธรรมดาของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าก็สงบแน่นราวกับแผ่นดินอันนี้ แต่เมื่อลมพัดมาถูกเราทันที ก็ทำให้คลื่นเหล่านี้มีขึ้น แลชอบเราให้มีความโกรธไป ๚ะ๛

ที่ ๓๐๙ ตลกกับชาวบ้านนอก

๏ ครั้งหนึ่งขุนนางที่มั่งมีผู้หนึ่งเปิดโรงละครไม่เรียกเงินค่าดูกับคนทั้งปวง แล้วประกาศให้รู้ทั่วกันว่า ผู้ใดจะคิดเล่นสนุกอย่างใหม่ในการครั้งนั้นจะให้รางวัลอันงาม คนที่เคยเล่นการมหรสพใหญ่ต่างคนก็ต่างประกวดกัน ในพวกนั้นมีจำอวดผู้หนึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงปรากฏแก่คนทั้งปวงในการเล่นตลกมาก กล่าวว่าตัวมีการเล่นสิ่งหนึ่ง ซึ่งยังมิได้เคยเล่นในโรงใดมาแต่ก่อน คำเล่าลือก็ฟุ้งไปทำให้ตื่นกันในที่นั้น ที่โรงละครนั้นก็เต็มทุกช่อง ตลกผู้นั้นก็ออกมาคนเดียวที่หน้าโรง ไม่มีเครื่องมือฤๅผู้ช่วยอย่างใด ความปรารถนาแห่งคนที่จะคอยดู ทำให้เงียบสงัดทีเดียว ตลกก็ก้มศีรษะลงที่อกแล้วร้องเลียนเสียงสุกรเล็ก ๆ ด้วยเสียงของตัวดีนัก คนที่ดูทั้งหมดก็ออกปากเป็นเสียงเดียวว่ ลูกสุกรอยู่ในผ้าห่ม เรียกให้สะบัดผ้าออก ครั้นเมื่อทำดังนั้นแล้วมิได้พบอันใด คนทั้งปวงก็สรรเสริญผู้เล่น แลให้ความสรรเสริญด้วยตบมืออันดัง ชาวบ้านนอกผู้หนึ่งอยู่ในหมู่คนที่แน่น สังเกตการณ์ที่เป็นทั้งปวงนั้นแล้วว่า เฮอร์คิวเลศจงช่วยข้าพเจ้า เขาจะไม่ชนะข้าพเจ้าด้วยวิชาเล่นนี้ ในทันใดนั้นก็ประกาศตัวว่า จะทำให้เหมือนอย่างนี้ในเวลารุ่งขึ้น แลจะให้เหมือนกับสัตว์จริง ๆ มากกว่านี้ ครั้นรุ่งขึ้นคนที่โรงละครยิ่งมากขึ้น แต่ในขณะนั้นน้ำใจคนทั้งปวงเอียงไปข้างคนเล่นซึ่งเป็นคนที่ชอบใจเป็นไปอยู่ทั่วกัน คนที่มาดูนั้นอยู่ข้างจะมาหัวเราะเยาะชาวบ้านนอกมากกว่าที่จะมาดูการเล่น คนที่จะเล่นทั้งสองคนก็ออกมาที่หน้าโรง ตลกก็คำรามแล้วร้องเสียงสุกรก่อน ต่อนั้นไปคนชาวบ้านนอกจึงได้ลงมือเล่น แกล้งทำเป็นซ่อนสุกรเล็ก ๆ ไว้ในผ้าห่ม (ซึ่งที่จริงนั้นก็ซ่อนจริง แต่มิได้เป็นที่สงสัยแห่งคนดู) แกล้งทำเป็นเอื้อมลงไปฉุดสุกร เมื่อนั้นสุกรก็ร้องแสดงความเจ็บ ครั้นร้องอย่างสุกรจริง ๆ คนที่ดูก็ร้องพร้อมกันเป็นเสียงเดียวว่า ตลกร้องเหมือนกว่า แลร้องขอให้เตะคนชาวบ้านนอกลงเสียจากโรงละคร เมื่อเป็นดังนี้ชาวบ้านนอกก็ล้วงสุกรเล็กออกมาจากเสื้อชูให้เห็นเป็นพยานจริงแท้ในความผิดใหญ่ของคนทั้งปวงว่า ดูนี่แน่ ที่แสดงให้เห็นว่าคำตัดสินของท่านทั้งปวงเป็นอย่างไร คนทั้งนั้นมิรู้ที่จะตอบประการใดต้องนิ่งทั้งหมด ๚ะ๛

ผู้ที่กล่าววาจาแต่ถ้อยคำอันจริงนั้น ย่อมเป็นสง่าราศีแก่คนทั้งหลายเป็นอันมากมิอาจโต้ตอบได้ ๚ะ๛

  1. ๑. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๘ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๙ เรื่องนิทานอิสป (อิศปปกรณัม) ไม่พบต้นฉบับนิทานตั้งแต่เรื่อง ๒๙๒ - ๒๙๓

  2. ๒. คือ เทพจูปิเตอร์

  3. ๓. คือ เสือแพนเทอร์ (Panther)

  4. ๔. หมายถึง นกกระจอกเทศ (ostrich)

  5. ๕. คือ เทพวีนัส (Venus)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ