บทที่ ๒ ทบทวนวรรณกรรม : นิทานในประเทศไทย

ความหมายของนิทาน

นิทาน หมายถึง เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา มุ่งให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน มักแฝงข้อคิด คติธรรม หรือมีคำสอนให้เป็นคนดี นิทานมักเริ่มต้นจากการเล่าเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะก่อนที่จะมีการจดบันทึกหรือนำมาประพันธ์ขึ้นเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ ผู้เล่านิทานอาจเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุในครอบครัว ในชุมชน ครูอาจารย์ พระภิกษุหรือนักเล่านิทานที่มีความรู้ความสามารถทางภาษา สามารถเล่านิทานได้อย่างสนุกสนานมีสีสัน อาจใช้ลีลาท่าทางหรือใช้น้ำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อเพิ่มอรรถรส การเล่านิทานนอกจากให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นการฆ่าเวลา สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดและปลูกฝังเจตคติที่ดี ช่วยกระตุ้นจินตนาการทำให้เด็กเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต และช่วยด้านความจำ เสริมสร้างสมาธิทั้งผู้เล่าและผู้ฟังแล้ว เนื้อหาในนิทานยังสอดแทรกข้อคิดสัจธรรม ทักษะการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็ก ใช้เป็นเครื่องบ่มเพาะคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้เด็กตระหนักถึงคุณงามความดี และสิ่งเหล่านี้จะพัฒนาเป็นอุปนิสัยและบุคลิกภาพติดตัวไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ตัวของ “นิทาน” เองถือเป็นบทบันทึกทางคติชนวิทยา เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชาวบ้านสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของนิทานนานาประเทศทั่วโลก จึงมีนิทานของประเทศตน และมีการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ รวมทั้งรับนิทานจากชาติต่าง ๆ ทำให้เกิดการรับรู้และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมการเผยแพร่ของวรรณกรรมนิทานสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดด้านคุณธรรมและจริยธรรมว่ามีความเป็นสากล แม้จะต่างเชื้อชาติต่างภาษา หากมีแนวคิดไปในทางเดียวกันสามารถเกิดการยอมรับนิทานจากต่างชาติต่างวัฒนธรรมได้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่านิทานไว้ว่า “น. เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป

เหตุ เช่น โรคนิทาน

เรื่องเดิม เช่นวัตถุนิทาน. (ป).”

พจนานุกรมของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายคำว่านิทานไว้ว่า “นิทาน (มค. นิทาน) น. เหตุ

เรื่องเดิม

คำเล่าเรื่อง, เรื่องนิยาย.”

นิทานในประเทศไทย

ก่อนที่นิทานอีสปจะแพร่หลายเข้ามานั้น ประเทศไทยเรามีนิทานอยู่ก่อนแล้วหลายประเภท ทั้งที่เป็นนิทานพื้นถิ่นของไทยเองและนิทานที่รับจากต่างประเทศ ทั้งประเทศทางโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เช่น นิทานพื้นบ้าน นิยายปรัมปรา ตำนาน เทพปกรณัมนานาชาติ เช่น จีนและอินเดีย นิทานและตำนานอันมีบ่อเกิดจากมหากาพย์รามายณะ มหากาพย์มหาภารตะ รวมทั้งนิทานชาดกจากพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่า นิบาตชาดก หรือชาดกในนิบาต นอกจากนี้ยังมี “ปัญญาสชาดก” ที่เรียกกันว่า ชาดกนอกนิบาต มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

นิทานพื้นบ้านหรือชาวบ้าน (folktales)

พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายของคำว่านิทานชาวบ้าน ว่า

นิทานที่มีรูปแบบเป็นมุขปาฐะ ได้ถ่ายทอดกันมาแบบปากต่อปาก จากชั่วคนหนึ่งไปสู่อีกชั่วคนหนึ่ง นิทานชาวบ้านหมายรวมไปถึงตำนาน นิทานอุทาหรณ์ นิทานเหลือเชื่อ เทพนิยาย นิทานของผีร้ายและวิญญาณ นิทานเรื่องเกี่ยวกับยักษ์และนักบุญ นิทานเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ นิทานเรื่องนายและบ่าว และเรื่องตลกชาวบ้านสั้น ๆ ฯลฯ นิทานชาวบ้านของไทย เช่น เรื่องปลาบู่ทอง นางสิบสอง พิกุลทอง โสนน้อยเรือนงาม” (น.๒๐๙)

นิทานพื้นบ้านหรือนิทานชาวบ้าน เป็นนิทานที่เล่าสู่กันฟังในหมู่บ้าน ในท้องถิ่น หรือในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ไม่ทราบผู้แต่ง อาจเป็นนิทานที่มีการแพร่กระจายในหลายท้องถิ่น คือนิทานเรื่องเดียวกันอาจมีการกล่าวอ้างว่าเป็นนิทานของคนหท้องถิ่นต่าง ๆ มากกว่า ๑ ท้องถิ่น เช่น ตำนานที่เกี่ยวข้องด้วยชื่อบ้านนามเมือง นิทานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตำนานวีรบุรุษ นิทานเหล่านี้ มักถ่ายทอดโดยการเล่าจากความทรงจำต่อ ๆ กันมา และเผยแพร่จากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง ทำให้มีความหลากหลาย คือมีหลายสำนวนและมีรายละเอียดเนื้อหาที่ต่างกัน อาจมีที่มาหลายแหล่ง เป็นนิทานพื้นบ้านที่มีถิ่นกำเนิตในประเทศไทยเอง เช่น นางอุทัยเทวี ผาแดง - นางไอ่ ท้าวคูลู - นางอั้ว ตาม่องล่าย เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ไกรทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม ขุนข้าง-ขุนแผน ศรีธนญชัย นางนากพระโขนง เป็นต้น หรืออาจมีที่มาจากต่างประเทศ แต่คนไทยรับเข้ามาไว้ในวัฒนธรรมไทยอย่างกลมกลืน โยงใยเรื่องราวมาเป็นตำนานภูมิสถานของไทย เช่น จากมหากาพย์รามายณะของอินเดียได้เกิดเป็นนิทานพื้นบ้านและตำนานไทยจำนวนมาก ยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องท้าวกกขนากจากรามเกียรติ์เป็นที่มาของตำนานหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ ตำนานเรื่องเขาวงพระจันทร์ ตำนานดินสอพองเมืองลพบุรี ตำนานเรื่องเหตุใดจึงห้ามนำน้ำส้มสายชูไปเมืองลพบุรี ตำนานเรื่องเหตุใดจึงมักเกิดไฟไหม้ที่เมืองลพบุรี นอกจากนี้ เรื่องรามเกียรติ์ยังเป็นต้นกำเนิดวรรณกรรมท้องถิ่นภาคต่าง ๆ ภาคอีสานคือ พระลัก-พระลาม ภาคเหนือ คือ เรื่องพรหมจักร-หรมาน เกิดตำนานและภูมินามในหลายภูมิภาค เช่น เขาทรพี จังหวัดนครราชสีมา ถ้ำพาลี จังหวัดพัทลุง ห้วยสุครีพ จังหวัดพัทลุง เขาขาด จังหวัดสระบุรี

นิทานพื้นบ้านที่เล่าสืบทอดกันมาในสังคมวัฒนธรรมไทยนั้นแบ่งออกได้หลายประเภท ตามลักษณะของเนื้อเรื่อง ลักษณะตัวละคร รูปแบบของการเล่า ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการเล่า นักคติชนวิทยาแบ่งนิทานไทยออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา (myth) นิทานมหัศจรรย์ (fairytale) นิทานชีวิต (novella) นิทานประจำถิ่น (legend) นิทานคติสอนใจ (didactic tale) นิทานอธิบายสาเหตุ (explanatory tale) นิทานเรื่องสัตว์ (animal tale) นิทานเรื่องผี (ghost story) นิทานมุขตลก (joke) นิทานเรื่องโม้ (tall tale) และนิทานเข้าแบบ (formula tale) ทั้งนี้ ได้มีการจำแนกประเภทนิทานแตกต่างกันออกไป โดยในบางแห่งได้รวมเอานิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา (myth) นิทานมหัศจรรย์ (fairy tale) เป็นประเภทเดียวกัน และเรียกรวมว่า นิทานเทวปกรณ์หรือตำนานปรัมปรา (fairy tale) ซึ่งหากจำแนกโดยเนื้อหา สามารถแบ่งนิทานออกได้ดังนี้

นิทานเทวปกรณ์ เทพปกรณัม หรือตำนานปรัมปรา (fairy tale) หรืออาจเรียกว่า นิทานมหัศจรรย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า เรื่องมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เป็นความฝันและจินตนาการของผู้แต่ง เรื่องราวมักเกี่ยวข้องกับ พระราชา พระราชินี เจ้าหญิง เจ้าชาย แม่มด ยักษ์ สัตว์ประหลาด ตอนจบตัวละครที่ดีจะเป็นฝ่ายชนะ เช่น เรื่องพระอภัยมณี คาวี สังข์ทอง พระสุธน - มโนห์รา ยอพระกลิ่น ฯลฯ

นิทานมทัศจรรย์ประเภทวีรบุรุษ (Hero tale) มักเป็นเรื่องที่มีขนาดยาว อาจคล้ายชีวิตจริงหรือจินตนาการ เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวถึงวีรบุรุษที่ต้องผจญภัยที่มีลักษณะเหนือมนุษย์ เช่น เรื่อง สิงหไกรภพ จำปาสี่ต้น ฝนสามฤดู เป็นต้น

นิทานชีวิต (Novella) เป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในโลกของความจริง มีการระบุสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมีปาฏิหาริย์อิทธิฤทธิ์แต่เป็นไปในลักษณะที่เป็นไปได้โดยใช้สถานที่ เวลา ตัวละครที่มาจากความจริง เช่น ขุนช้าง-ขุนแผน พระอภัยมณี พระลอ ไกรทอง เป็นต้น

นิทานประจำถิ่น (Saga, Local legend) มักเป็นเรื่องแปลกพิสดารซึ่งเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง บ่งบอกสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจมาจากประวัติศาสตร์ ตัวละครอาจเป็นมนุษย์ สัตว์ เทพ อมนุษย์ เช่น เรื่อง พระยากง - พระยาพาน พระร่วง เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตาม่องล่าย ท้าวปาจิตกับนางอรพิม เป็นต้น

นิทานคติสอนใจ (Parable) ตัวละครอาจเป็นคนหรือสัตว์มีเรื่องราวที่มักจบลงด้วยคติสอนใจ ผลแห่งกรรม แนวคิดที่ปรากฏในนิทานประเภทนี้คือ คุณค่าของจริยธรรม ความกตัญญู คุณแห่งการยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนา เช่น เรื่องนกกระจอกลิ้นขาด ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ กำพร้าผีน้อย เป็นต้น

นิทานอธิบายสาเหตุ (Explanatory tale) เป็นเรื่องอธิบายกำเนิด ความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ กำเนิดของสัตว์ว่าเหตุใดจึงมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ กำเนิดของพืช มนุษย์ ดวงดาวต่าง ๆ เป็นต้น เช่น ตำนานเวียงหนองสม ตำนานพญานาคเมืองหนองแส ทำไมจระเข้จึงไม่มีลิ้น กำเนิดดาวลูกไก่ ตำนานปรากฏการณ์ธรรมชาติ กำเนิดสุริยคราส จันทรคราส ฟ้าร้อง - ฟ้าผ่า (เมขลา - รามสูร) ลม ฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ กลางวัน กลางคืน ฯลฯ รวมทั้งเรื่องที่แสดงถึงความเชื่อทางศาสนา สิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องเล่าที่ใช้อธิบายที่มาของพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ ในบางแห่งได้จัดให้นิทานที่อธิบายถึงกำเนิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จักรวาลกำเนิดโลก มนุษย์ สัตว์เหล่านี้ อยู่ในนิทานเทพปกรณัม (Myth)

นิทานเรื่องสัตว์ (Animal tale) เป็นเรื่องที่มีสัตว์เป็นตัวละครเอก มีเรื่องราวเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยปัญญาความฉลาดและความโง่เขลาของสัตว์ โดยเจตนาจะมุ่งสอนจริยธรรมหรือคติธรรม ซึ่งจัดเป็นเรื่องประเภทให้คติสอนใจ เช่น นิทานอีสป และปัญจตันตระ

นิทานเรื่องผี เป็นเรื่องเกี่ยวกับผีต่าง ๆ ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่ามาจากไหน เกิดอย่างไร เช่น ผีหลังกลวงหรือผีหลังโพรง ผีกองกอย เสือสมิงฯลฯ

นิทานมุขตลก (Merry tale) เป็นเรื่องขนาดสั้นอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ หรือสัตว์ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโง่ ความฉลาด การใช้เล่ห์เหลี่ยมกลลวง เช่นเรื่อง ตดอ้ายขโมย ศรีธนญชัย นิทานสี่สหาย (ไอ้หูกาง ไอ้สามมือปาม ไอ้ตูดแหลม และ ไอ้ขี้มูกมาก) เต่ากับลิง เป็นต้น

นิทานศาสนา (Religious tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระศาสดาและพระสาวก เป็นเรื่องแต่งขึ้นไม่มีในพระไตรปิฎก แต่บางแห่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริง

นิทานเข้าแบบ (Formula tale) เป็นเรื่องที่มีโครงเรื่องสนุกสนาน เช่น นิทานลูกโซ่ นิทานไม่รู้จบ และนิทานหลอกผู้ฟัง เช่น เรื่องยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า นิทานยายกับตาทำนาบนโคก

นิทานชาดก คำว่า ชาดก มาจากคำภาษาบาลีว่า ชาตก (ชา-ตะ-กะ) แปลว่า ผู้เกิดแล้ว ใช้เป็นคำเรียกเรื่องราวของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันซึ่งเสวยพระชาติในสภาพต่าง ๆ ทั้งที่เป็นมนุษย์และสัตว์ในอดีตชาติ และเป็นชื่อคัมภีร์ในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบหนึ่งใน ๙ แบบที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระพุทธเจ้ามีองค์เก้า) สามารถแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ นิบาตชาดก และพาทิรกชาดก โดยนิบาตชาดก นั้น มีอยู่ในขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก มีชาดกประมาณ ๕๔๗ เรื่อง เหตุที่เรียกว่านิบาตชาดกเพราะถูกจัดหมวดหมู่ตามจำนวนคาถา มีทั้งหมด ๒๒ หมวด หรือ ๒๒ นิบาต นิบาตสุดท้ายประกอบด้วยชาดก ๑๐ เรื่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายและถือว่าเป็นชาดกที่สำคัญที่สุด เรียกว่าทศชาติชาดกหรือพระเจ้าสิบชาติ กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีใน ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะมาเกิดเป็นพระโคตมพุทธเจ้า ทศชาติชาดกทั้ง ๑๐ เรื่อง ได้แก่ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทชาดก นารทชาดก วิทูรชาดก และเวสสันตรชาดก ส่วนพาทิรกชาดกหรือชาดกนอกนิบาต หมายถึงชาดกที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ได้แก่ ปัญญาสชาดก ซึ่งพระภิกษุชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านมาแต่งขึ้นเลียนแบบนิบาตชาดก เช่น พหลาคาวีชาดก สุธนชาดก สุบินชาดก สมุทโฆสชาดก สิริวิบุลกิตติชาดก สรรพสิทธิชาดก ซึ่งปัญญาสชาดกนี้เป็นบ่อเกิดของวรรณคดีไทยหลายเรื่อง

ดังที่กล่าวแล้วว่าชาดกหรือนิทานชาดก คือ เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันหรือ พระโคตมพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระชาติต่าง ๆ โดยทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง ได้บำเพ็ญบารมีคุณงามความดือย่างมั่นคงเพื่อบรรลุพระสัมโพธิญาณ และพระองค์ทรงนำเรื่องราวมาเล่าให้พระสาวกฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิต ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่านิทานชาดก ในอรรถกถาจะมีแสดงไว้ในตอนท้ายของชาดกแต่ละเรื่องว่า ผู้ใดในอดีตชาติกลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง เพราะฉะนั้นสาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้น ๆ

ปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาต เกิดขึ้นโดยพระเถระชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านในที่แพร่หลายในภูมิภาคนี้ แล้วนำมาแต่งขึ้นเลียนแบบทำนองชาตกัฏฐกถา (อรรถกถาชาดก) คือ นิทานชาดกหรือนิบาตชาดกจึงมักเรียกกันว่าชาดกนอกนิบาต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าได้แต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐ - ๒๐๒๒ โดยเขียนไว้เป็นภาษาบาลี มีทั้งคำประพันธ์ที่เป็นร้อยแก้วและบทคาถาหรือบทร้อยกรอง ที่กล่าวว่าปัญญาสชาดกแต่งขึ้นเลียนแบบชาดกในนิบาตนั้น เหตุด้วยโครงสร้างของปัญญาสชาดกมีลักษณะเลียนแบบนิบาตชาดกหรืออรรถกถาชาดกที่นิทานแต่ละเรื่อง จะแบ่งเนื้อหาเรื่องราวออกเป็นสามส่วน ได้แก่ ปัจจุบันวัตถุ อดีตนิทาน และจบด้วยสโมธานหรือประชุมชาดก เนื้อเรื่องของนิทานชาดกทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดกจะเริ่มจากปัจจุบันวัตถุ คือ เหตุหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เพื่อที่จะโยงเรื่องราวสู่อดีตนิทานอันเป็นส่วนที่สอง โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงโยงใยเหตุที่เกิดนั้นว่าเรื่องราวเช่นนี้ได้เคยเกิดมีขึ้นแล้วในอดีตเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้ทรงผ่านปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น โดยทรงมีพระปณิธานมุ่งมั่นในการบำเพ็ญบารมีอย่างมั่นคง ปรารถนาจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งท้ายที่สุดของแต่ละพระชาติ พระโพธิสัตว์จะสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยบารมีที่ถึงพร้อมในแต่ละพระชาติ ตอนจบของชาดกแต่ละเรื่องจะมี สโมธาน คือกล่าวถึงพระโพธิสัตว์และบุคคลต่าง ๆ ที่เกิดร่วมในชาตินั้น ได้กลับชาติมาเกิดเป็นผู้ใดในพระชาติปัจจุบันที่ทรงถือกำเนิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยสรุป นิทานถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของแต่ละชาติที่มีการเผยแพร่และสืบทอด รวมทั้งการรับเอานิทานจากชาติอื่นมาผสมผสานกับนิทานพื้นถิ่นของตนเอง นิทานนอกจากให้ความบันเทิงและเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ แล้ว ยังมีส่วนในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและสร้างสรรค์สังคมอีกด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ