สมุดไทยเลขที่ ๑๖
ที่ ๒๑๔ นกยูงกับจูโน่๑
๏ นกยูงร้องทุกข์ต่อยูโน่ว่านกไนต์ตลิงเกล๒ (นกเล็กร้องเสียงเพราะ) เป็นที่ชอบหูทั่วไป ส่วนตัวนกยูงเองแต่เพียงพออ้าปากขึ้นเท่านั้น ก็ต้องเป็นผู้ถูกหัวเราะของผู้ได้ยิน ฝ่ายเทพธิดาจะระงับความเศร้าโศกของนกยูง จึงได้กล่าวว่าตัวท่านมีความงามแลรูปร่างใหญ่ ประเสริฐกว่าเป็นอันมาก ความงามผ่องใสแสงมรกตที่คอท่าน แลท่านแผ่หางงามรุ่งเรืองด้วยขนอันแต้มสี นกยูงจึงตอบว่าจะมีประโยชน์อันใดแก่ข้าพเจ้า ถ้าความอย่างให้นี้จะมีผู้อื่นล่วงเสียซึ่งเพลงร้องได้ ยูโน่จึ่งตอบ โชคกรรมแต่งให้คนละส่วน ๆ ท่านนั้นให้มีความงาม นกอินทรีนั้นให้มีกำลังนกไนต์ตลิงเกลให้มีเพลงร้อง นกกาพรรค์หนึ่งให้บอกลางที่ดี นกกาจำพวกหนึ่งให้บอกลางที่ร้าย สัตว์ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีความเต็มใจปรารถนาในส่วนของตัวที่ได้ทั้งนั้น สัตว์ทั้งปวงก็ยินดีรับตามส่วนนั้น ๆ ๚ะ๛
เกิดมาเป็นสรรพสัตว์ทั้งปวงย่อมมีสิ่งดีสิ่งชั่วประจำสำหรับตัวทุกสัตว์ทุกจำพวก เป็นตามธรรมดาฝืนไม่ได้ ๚ะ๛
๒๑๔๏ เกิดเป็นสรรพสัตว์ต้อง | โชคกรรม แต่งนา |
มีสิ่งร้ายดีประจำ | ทั่วหน้า |
ปวงสัตว์ย่อมรับธรรม | นิยมต่าง กันเอย |
ฝืนฝ่าดีชั่วช้า | ห่อนได้ดังประสงค์ ๚ะ |
ขุนภักดีอาษา
ที่ ๒๑๕ ลากับสุนัขป่า
๏ ลาตัวหนึ่งเดินอยู่ในป่าหญ้า เห็นสุนัขป่าจะเข้ามาจับตัวก็แกล้งทำขาเขยกทันที สุนัขป่ามาถึงก็ถามถึงเหตุที่เดินขาเขยกนักนั้น ลาตอบว่าตัวข้ามรั้วต้นไม้เท้าเหยียบหนามแหลม ขอให้สุนัขป่าช่วยถอนออกเสีย ถ้ามิฉะนั้นกินเป็นอาหารจะเป็นอันตรายแก่ลำคอ สุนัขป่ายอมแล้วยกเท้าขึ้นตั้งใจจะหาหนามอย่างเดียว ลาก็เตะด้วยกีบทั้งปวงให้พ้นสุนัขป่า ตกกลับเข้าไปในป่าแล้วห้อหนีไป ฝ่ายสุนัขป่าต้องอันตรายอันน่ากลัวยิ่ง จึงว่าเราได้รับอันตรายดังนี้สมควรทีเดียว เพราะเหตุใดเราจึงได้คิดทำวิชารักษาเจ็บ เมื่อบิดาเราได้สอนแต่เพียงวิชาที่จะฆ่าสัตว์เท่านั้น ๚ะ๛
อวดดีมักมีอันตราย ๚ะ๛
๒๑๕๏ อวดดีที่ใช่ใช้ | ในสถาน ควรฤๅ |
กอปรกิจผิดพนักงาน | พลาดเค้า |
ควรทำห่อนทำการ | กระทำกิจ ผิดนา |
พลันทุกข์โทมนัสเศร้า | สบพ้องสรรพภัย ๚ะ |
ขุนภักดีอาษา
ที่ ๒๑๖ คนขายรูปหุ่น
๏ ชายผู้หนึ่งทำรูปเมอคิวรีด้วยไม้รูปหนึ่งไปเที่ยวบอกขาย เมื่อเห็นว่าไม่มีผู้ใดอยากจะซื้อ จึงคิดจะชักชวนคนให้ซื้อด้วยคำบอกขายดังนี้ว่า รูปที่ขายนี้เป็นผู้บำรุงซึ่งจะให้บริบูรณ์มั่งคั่ง แลช่วยให้สะสมทรัพย์สมบัติทั้งปวง คนที่ยืนอยู่ใกล้ผู้หนึ่งว่ากับชายผู้นั้นว่า ทำไมท่านจึงขายท่านเสียเล่า เมื่อเป็นเหมือนท่านพรรณนา ถ้าท่านเอาไว้เองท่านก็จะได้รับสิ่งดีทั้งปวงที่ท่านจะให้ ชายนั้นตอบว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะให้ช่วยโดยเร็วเดี๋ยวนี้ แต่ท่านองค์นี้เป็นปกติที่ท่านเคยให้ของดี ๆ ของท่านช้านัก ๚ะ๛
สรรพความดีทั้งปวงย่อมเป็นดีแต่ในเวลาที่ต้องการ
๒๑๖๏ ศิลป์ศาสตร์ทุกสิ่งทั้ง | ความงาม |
ยังประโยชน์ติดตาม | เพิ่มให้ |
แต่ผลย่อมมียาม | ในที่ ประสงค์นา |
แม้ขาดประสงค์ไซร้ | ประเสริฐนั้นฤๅมี ๚ะ |
ขุนภักดีอาษา
ที่ ๒๑๗ เหยี่ยวกับนกไนต์ติงเกล
๏ นกไนต์ติงเกลจับอยู่ ณ ที่สูงบนต้นโอก ร้องตามที่เคยเป็นปกติ เหยี่ยวตัวหนึ่งมีความอยากอาหาร แลเห็นก็เฉี่ยวลงมาจับตัว นกไนต์ติงเกลเมื่อจะสิ้นชีวิตก็ตั้งใจขอต่อเหยี่ยวให้ปล่อยตัวไป ว่าตัวนั้นไม่โตพอที่จะแก้ความหิวของเหยี่ยว ถ้าเหยี่ยวหิวอาหารควรจะตามนกทั้งปวงที่ใหญ่ ๆ กว่านี้ เหยี่ยวก็ตอบแซงไปว่าถ้าเราปล่อยอาหารที่อยู่ในมือเราแล้วไปเสีย เพราะจะไปตามนกทั้งปวงซึ่งแต่เพียงเห็นตัวก็ยังไม่ได้เห็น ก็จะเป็นอันเสียอารมณ์ทีเดียว ๚ะ๛
ไม่มีผู้ฉลาดผู้ใดที่จะทิ้งประโยชน์น้อยที่ได้แล้วเพราะปรารถนาของใหญ่ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ฤๅไม่ได้ ๚ะ๛
๒๑๗๏ ประโยชน์น้อยที่ผู้ | เจตนา ได้ฤๅ |
ห่อนสละเหตุแสวงหา | ไป่ได้ |
ของใหญ่ซึ่งปรารถนา | จักแน่ ไฉนนา |
ของที่น้อยได้ไว้ | สิ่งนั้นฤๅวาง ๚ะ |
ขุนภักดีอาษา
ที่ ๒๑๘ สุนัขกับไก่ แลสุนัขจิ้งจอก
๏ สุนัขตัวหนึ่งกับไก่ตัวหนึ่งเป็นเพื่อนกันสนิท ตกลงว่าจะไปเที่ยวด้วยกัน ครั้นตกค่ำลงก็เข้าไปอาศัยในพุ่มไม้ชัฏ ไก่บินขึ้นไปจับบนกิ่งแห่งต้นไม้ ส่วนสุนัขนั้นหาที่นอนในโพรงที่โคนต้นไม้ ครั้นเวลารุ่งเช้าไก่ก็ขันตามเคยด้วยเสียงอันดังเป็นหลายครั้ง สุนัขจิ้งจอกได้ยินเสียงจะใคร่ได้เป็นอาหารเช้าของตัว จึงมายืนอยู่ใต้กิ่งไม้กล่าวว่า ตัวตั้งใจปรารถนาที่จะใคร่พบเจ้าของเสียงอันงามไพเราะนี้ ไก่สงสัยในอาการกิริยาดีของสุนัขจิ้งจอก จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอให้ท่านมีความเมตตาดีต่อข้าพเจ้า จงกลับไปที่โพรงไม้ใต้ข้าพเจ้า ปลุกคนเฝ้าประตูของข้าพเจ้า เขาจะได้เปิดประตูรับท่านเข้ามา ครั้นเมื่อสุนัขจิ้งจอกเข้าไปที่ต้นไม้ สุนัขก็กระโจนออกมาจับสุนัขจิ้งจอกแล้วอีกเป็นชิ้นไป ๚ะ๛
ความล่อลวงจำจะเสียทีเมื่อมีผู้รู้ถึง ๚ะ๛
๒๑๘๏ มารยาสามารถแกล้ว | เชิงกล |
ตีสนิทคิดแสดงตน | ชื่อตั้ง |
ทำเลศล่อลวงชน | ชาวท่าน เฉลียวนา |
มักเพลี่ยงพลันพิบัติพลั้ง | เพราะผู้รู้ถึง ๚ |
ขุนภักดีอาษา
ที่ ๒๑๙ แพะกับลา
๏ ชายผู้หนึ่งมีแพะตัวหนึ่งกับลาตัวหนึ่ง แพะมีความริษยาด้วยลามีอาหารมากกว่าจึงว่า ท่านต้องใช้ดังนี้น่าอายนัก ในเวลาหนึ่งต้องเข้าเทียมโม่ ในเวลาหนึ่งต้องแบกของหนักซึ่งบรรทุก แลสอนให้ต่อไปว่า ควรจะทำเป็นลมบ้าหมูเสีย ทำตกลงไปในบ่อเสีย อย่างนั้นจึงจะได้พัก ลาเชื่อถ้อยคำก็ทำตกลงในบ่อ เจ็บช้ำเป็นอันมาก เจ้าของจึงได้หาหมอมาถาม หมอขอให้เอาเลือดในปอดแพะลงในบาดแผล นายก็ให้คนทั้งปวงจับแพะฆ่าแล้วรักษาลาด้วยสิ่งนั้นก็หาย ๚ะ๛
ผู้ที่คิดริษยาผู้อื่นนั้นผลแห่งความริษยามักจะตกแก่ตนเอง ๚ะ๛
หลวงบรรหารอรรถคดี
ที่ ๒๒๐ สุนัขจิ้งจอกกับหน้ากาก
๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเข้าไปในเรือนคนเล่นละคร เที่ยวค้นตามเครื่องแต่งตัวละครไปพบหน้ากากอันหนึ่ง ทำเลียนศีรษะคนงามน่าชมมาก ก็ยกเท้าขึ้นวางแล้วกล่าวว่าหัวนี้งามกระไรเลย แต่ถึงดังนั้นก็ยังไม่มีราคา เพราะขาดสมองเสียทีเดียว ๚ะ๛
ถึงดีอย่างไร ๆ ถ้าไม่มีความคิดแล้ว ก็ใช้ไม่ได้ ๚ะ๛
หลวงบรรหารอรรถคดี
ที่ ๒๒๑ ราชสีห์กับโค
๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งมีความปรารถนามากที่จะจับโคตัวหนึ่ง แต่จะตีก็มีความกลัวด้วยรูปร่างใหญ่ จึงหันหาอุบายที่จะเชื่อได้แน่ว่าจะทำลายได้ จึงเข้าไปหาโคแล้วกล่าวว่า เพื่อนเอ๋ย ข้าพเจ้าได้ฆ่าแกะอันงามไว้ตัวหนึ่ง ถ้าท่านจะไปบ้านแล้วกินด้วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะดีใจที่ได้ท่านเป็นเพื่อนกิน ราชสีห์กล่าวนี้หวังใจว่าธรรมดาโคย่อมนอนในเวลาที่กิน จะได้เปรียบในการต่อตี แล้วเอาโคเป็นอาหารของตัว ฝ่ายโคเมื่อไปถึงถ้ำราชสีห์ เห็นเหล็กขอใหญ่สำหรับขึงทั้งปวงสำหรับต้ม มิได้เห็นสิ่งสำคัญว่ามีแกะสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเลยไปเสียโดยเงียบ ๆ มิได้กล่าวว่ากระไรสักคำเดียวราชสีห์จึงถามว่าทำไมจึงผลุนผลันไปมิได้มีถ้อยคำคำนับต่อเจ้าของบ้านสักคำเดียว เจ้าของบ้านก็มิได้ทำเหตุอันใดเป็นขัดเคืองให้ โคจึงตอบว่า ข้าพเจ้าเห็นเหตุพอแล้ว ข้าพเจ้ามิได้เห็นสิ่งใดเป็นสำคัญสักคำหนึ่ง ที่ว่าท่านได้ฆ่าแกะ ข้าพเจ้าได้เห็นชัดอยู่ แต่ว่าตระเตรียมแต่จะเอาโคเป็นอาหารของท่าน ๚ะ๛
ผู้คิดร้ายแม้จะกล่าววาจาอันดี แต่คงส่อกิริยาที่คิดร้าย
หลวงบรรหารอรรถคดี
ที่ ๒๒๒ ตั๊กแตนกับนกเค้าแมว
๏ นกเค้าแมวตัวหนึ่งเคยหากินในเวลากลางคืนนอนในเวลากลางวัน มีความรำคาญด้วยเสียงตั๊กแตนตัวหนึ่ง จึงได้ตั้งใจขอให้หยุดร้องเสีย ตั๊กแตนไม่ยอมหยุด นกเค้าแมวยิ่งขอก็ยิ่งร้องดังขึ้น ๆ นกเค้าแมวเห็นจะแก้ไขไม่ได้ ถ้อยคำของตัวต้องถูกหมิ่นประมาท ก็คิดจะเล่นงานสัตว์พูดมากด้วยกลอุบาย จึงว่ากับตั๊กแตนว่าตั้งแต่เราได้ยินเสียงท่านนอนไม่หลับเพราะเพลงร้องของท่าน ท่านจงเชื่อเราเถิด เพราะเหมือนหนึ่งพิณแห่งอัปโปโล (เทวดาครูเพลง)๓ เราคิดจะหาความสุขแต่ตัวด้วยกินน้ำสุรามฤตซึ่งปาลลาส๔ (เทวดาเจ้าของปัญญาแลการรบ) ให้เราแต่ก่อน ถ้าท่านชอบน้ำนั้น จงมาที่ข้าพเจ้า เราจะได้ดื่มด้วยกัน ตั๊กแตนมีความกระหายน้ำขึ้นทันที แลชอบใจในคำสรรเสริญเสียงของตัว ก็ทะยานอยากกระโดดขึ้นไป นกเค้าแมวก็ออกมาจากโพรง จับตัวฆ่าเสียให้ถึงแก่ความตาย ๚ะ๛
คำยอเป็นเหยื่อให้ผู้เชื่อเข้าเครื่องตักของความล่อลวง ๚ะ๛
หลวงบรรหารอรรถคดี
ที่ ๒๒๓ สุนัขกับแพะ
๏ สุนัขป่าเห็นแพะกินหญ้าอยู่ที่ยอดเงื้อมผาชันซึ่งมิอาจจะมีข่องขึ้นไปถึงได้ ก็ร้องเรียกขึ้นไปแลตั้งใจชวนจะให้ลงมาข้างล่าง หาไม่ถ้าพลาดพลั้งไปบ้างก็จะตกลงมา แลซ้ำว่าป่าหญ้าซึ่งตัวยืนอยู่ผักหญ้าล้วนแต่อ่อนอย่างยิ่ง แพะจึงตอบว่า ไม่แล้วเพื่อนเอ๋ย ท่านไม่ได้เชิญเราไปที่กินหญ้าดอก ท่านอยากอาหารของท่านเอง ๚ะ๛
ความแนะนำชักชวนทั้งปวงของคนอื่น มักเป็นคำที่เป็นประโยชน์ของผู้นำผู้ชวนเองมาก ๚ะ๛
หลวงบรรหารอรรถคดี
ที่ ๒๒๔ คนดักนกกับงู
๏ คนดักนกคนหนึ่งเอาตัง๕แลไม้เครื่องมือไปเที่ยวดักนก แลเห็นนกทรัช (นกขนาดย่อมเกือบเท่านกพิราบ) จับอยู่บนต้นไม้อยากจะใครได้ จึงจัดไม้เครื่องมือยาวพอสมควร แล้วเขม้นมองอย่างยิงมีความคิดมุ่งไปแต่ฝ่ายสูง เมื่อแหงนอยู่ดังนั้น เหยียบงูซึ่งนอนอยู่หน้าเท้ามิได้ทันรู้ตัว งูผงกศีรษะมาฉกเอาก็ล้มลงลมจับแล้วว่ากับตัวเองว่า กรรมของเรา เราคิดแต่จะไล่ดักผู้อื่น แต่ตัวเราต้องตกอยู่ในข่ายแห่งความตายมิได้รู้ตัวเลย ๚ะ๛
ความปรารถนาพาความรักษาตัวให้น้อยไป ๚ะ๛
ขุนโอวาทวรกิจ
ที่ ๒๒๕ ม้ากับลา
๏ ม้าตัวหนึ่งมีความจองหองด้วยเครื่องแห่งกายตัวงาม ไปพบลาเข้าในทางหลวง ลาต้องบรรทุกหนักก็ค่อยเขยื้อนตัวหลีกทางช้า ๆ ม้าจึงว่ายากนักที่เราจะหยุดยั้งเตะเจ้าด้วยส้นตีนของเรา ลารักษาความสงบเรียบร้อย ร้องขอแต่ความยุติธรรมแห่งพระเจ้าแต่ในใจ ภายหลังมาไม่นานม้ามีลมหายใจดัง (ตามสังเกตว่าไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน) เจ้าของก็ส่งไปที่ทำไร่ เมื่อลาเห็นม้าลากเกวียนโสโครก (สำหรับทำปุ๋ย) ก็หัวเราะเยาะว่าคนช่างอวด เครื่องแต่งตัวงามทั้งปวงของเจ้าไปไหน ทำไมจึงลดตัวเจ้าเองลงเป็นอย่างชาติที่เจ้าหมิ่นประมาทไว้แต่ก่อน ๚ะ๛
ความหยิ่งกำเริบเมื่อเวลาดี เป็นเครื่องทวีความอายเมื่อเวลายากมาถึงตัว ๚ะ๛
ขุนโอวาทวรกิจ
ที่ ๒๒๖ ราชสีห์กับโคสามตัว
๏ โคสามตัวกินหญ้าอยู่ด้วยกันมาช้านาน ราชสีห์ตัวหนึ่งมานอนแอบอยู่หมายว่าจะเอาโคเป็นอาหาร แต่ครั้นจะทำร้ายเมื่ออยู่พร้อมกันก็มีความกลัว ภายหลังแยกโคทั้งปวงออกได้ด้วยคำล่อลวง ราชสีห์ก็ทำร้ายได้โดยง่ายไม่มีความกลัว เพราะโคต่างตัวต่างกินต่างหากกัน ก็กินไปทีละตัวตามเวลาที่ว่าง ๚ะ๛
พร้อมเพรียงเข้าทันกันเป็นกำลัง ๚ะ๛
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ที่ ๒๒๗ แมลงวันกับล่อเทียมรถ
๏ แมลงวันตัวหนึ่งจับอยู่บนเพลารถ พูดกับล่อที่ลากว่า เจ้าช่างช้ากระไร ทำไมเจ้าไม่ไปให้เร็วขึ้นอีก ดูเลิดถ้าข้าไม่แทงเจ้าด้วยเหล็กในแล้วจะอย่างไร ล่อที่ลากตอบว่ากับคำอย่างที่เจ้าว่า ข้าธุระแต่ผู้ซึ่งนั่งอยู่ข้างบนเจ้า ผู้นั้นจะเร่งฝีเท้าเราให้เร็วด้วยแส้ จะรั้งเราให้หยุดด้วยสายถือ จงหยุดคำพูดจองหองเจ้าไปเสีย เพราะข้ารู้ดีดอก ว่าเมื่อไรจะไปเร็ว เมื่อไรจะไปช้า ๚ะ๛
แทรกแซงในที่ใช่การใช่ธุระของตน ไม่มีผลความดีอย่างไร ๚ะ๛
ขุนโอวาทวรกิจ
ที่ ๒๒๘ นายประมงทั้งปวง
๏ นายประมงพวกหนึ่งออกไปลากอวน เห็นอวนหนักมากก็เต้นรำด้วยความยินดี เพราะคาดใจว่าคงจะได้ปลาลากใหญ่ ครั้นเมื่อลากอวนขึ้นมาถึงฝั่ง พบปลามีน้อยในอวนนั้นเต็มไปด้วยทรายแลหิน ก็มีความเศร้าใจลงเหลือประมาณ แต่มิได้มีความเสียใจมากเพราะได้ปลาน้อย แต่เสียใจที่ได้คาดหมายผิดทีเดียว พวกพ้องกันคนหนึ่งเป็นคนแก่จึงกล่าวว่า เราทั้งปวงจงหยุดข่มเสียใจเสียเถิดเพื่อนเอ๋ย เพราะเราเห็นเสียแล้วว่า ความโทมนัสเป็นพี่น้องฝาแฝดกับความโสมนัสอยู่เสมอ ควรที่จะแลดูว่าเราทั้งปวง ซึ่งเมื่อตะกี้นี้มีความยินดีเหลือเกิน ต่อมาอีกจึงมีบางสิ่งจะทำให้เราทั้งปวงเสียใจ ๚ะ๛
ถ้ามีความยินดีมากเพราะสิ่งใด สิ่งนั้นจะทำให้ได้ความโทมนัสมากเท่ากันทุกสิ่งทุกอย่าง ๚ะ๛
ขุนโอวาทวรกิจ
ที่ ๒๒๙ หนูชาวเมืองกับหนูชาวบ้านนอก
๏ หนูชาวบ้านนอกเชิญหนูชาวเมืองซึ่งเป็นเพื่อนสนิทให้ไปเยี่ยม แลให้กินอาหารบ้านนอกของตัว ครั้นเมื่อหนูทั้งสองไปที่ท้องนาเปล่า ก็กินต้นข้าวแลรากไม้ขุดมาจากรั้วต้นไม้ หนูในเมืองจึงว่ากับเพื่อนว่า เจ้าอยู่ที่นี่เหมือนกับชีวิตแห่งมดทั้งปวง ส่วนเรือนของเราเป็นที่อร่อยมาก ตัวเราบริบูรณ์ทุกอย่างโดยรอบ ถ้าท่านจะไปด้วยเรา ท่านจะได้ส่วนอันอร่อยเป็นอันมาก เต็มตามความปรารถนาของท่าน หนูชาวบ้านนอกก็รับชักชวนโดยง่าย กลับเข้าในเมืองกับเพื่อนของตัว ครั้นเมื่อถึงแล้วหนูชาวเมืองก็จัดขนมปังสด ข้าวสาลี ถั่ว ลูกมะเดื่อแห้ง น้ำผึ้ง ลูกองุ่นแห้ง จนภายหลังเอาของอร่อยอย่างเอกเนยแข็งชิ้นหนึ่งออกมาจากกระจาดวางให้หนูชาวบ้านนอก หนูชาวบ้านนอกได้เห็นของกินอย่างดีก็มีความดีใจนัก แสดงความชอบใจด้วยถ้อยคำอันแข็งแรง แลบ่นรำพันถึงความยากของตัว ในทันใดเมื่อหนูทั้งสองลงมือกิน มีผู้บิดประตูเข้าไปคนหนึ่ง หนูทั้งสองวิ่งร้องจิ๊ด ๆ ไปโดยเร็ว ๆ เต็มกำลัง ลงไปในปล่องแคบพอที่จะลงสองตัวได้ด้วยเบียดกันจนตัวแบน ภายหลังยังมิทันที่จะลงมือกินอีก มีคนอื่นเข้าไปหยิบของในตู้ หนูทั้งสองยิ่งกลัวหนักขึ้นกว่าแต่ก่อนจึงวิ่งหนีไปซ่อนตัวอีก จนภายหลังหนูชาวบ้านนอกเกือบจะตายด้วยอดอาหาร จึงว่ากับเพื่อนกันว่า ถึงแม้ว่าท่านตระเตรียมอาหารอันอร่อยเพียงนี้ไว้ให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ต้องงดไว้ให้ท่านรับประทานของท่านเอง ด้วยอันตรายนั้นโดยรอบเกินนักที่ข้าพเจ้าจะชอบ ข้าพเจ้าชอบที่นาเปล่าแลรากไม้ศีรษะรั้วของข้าพเจ้ามากกว่า เพราะเห็นว่าข้าพเจ้าจะอยู่ได้พ้นอันตรายแลปราศจากความกลัว ๚ะ๛
ความมั่งมีบริบูรณ์มากย่อมมีทางอันตรายมาก ๚ะ๛
ขุนโอวาทวรกิจ
ที่ ๒๓๐ สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก กับวานรทะโมน
๏ สุนัขป่าฟ้องสุนัขจิ้งจอกว่าเป็นโจร แต่สุนัขจิ้งจอกปฏิเสธคำฟ้องนั้นทีเดียว วานรตัวหนึ่งรับเป็นผู้ตัดสินความในระหว่างสัตว์ทั้งสอง ครั้นเมื่อต่างตัวต่างให้การความของตัวแล้ว วานรจึงกล่าวคำตัดสินว่า สุนัขป่าของที่เจ้าว่าหายนั้น เราเห็นว่าไม่ได้หายเลย แลสุนัขจิ้งจอกนั้นเราก็เชื่อว่าได้ขโมยของที่เจ้าปฏิเสธโดยแข็งแรงจริง ๚ะ๛
ผู้ที่ไม่ซื่อตรง ถึงโดยจะทำการซื่อตรงก็ไม่มีผู้ใดเชื่อ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าจิตรเจริญ
ที่ ๒๓๑ ห่านทั้งปวงกับนกกระเรียนทั้งปวง
๏ ห่านทั้งปวง นกกระเรียน กินอยู่ในป่าหญ้าแห่งเดียวกัน คนจับนกมาตลบด้วยร่างแห นกกระเรียนเป็นนกเบาปีก พอคนเข้ามาก็บินหนี ส่วนห่านเป็นนกบินช้ากว่าด้วยตัวหนัก ก็ต้องจับไปได้ ๚ะ๛
ความเป็นผู้ห่วงน้อยหนีอันตรายง่าย ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๓๒ ตัวต่อทั้งปวงกับนกกระทาทั้งปวงกับชาวไร่
๏ ตัวต่อทั้งปวงกับนกกระทาทั้งปวงมีความกระหายน้ำเหลือกำลัง มาหาชาวไร่ผู้หนึ่งแล้วขอให้น้ำกินสักหน่อยหนึ่ง สัตว์ทั้งสองพวกสัญญาว่าจะแทนคุณที่ได้มีความเมตตาต่อคำที่ขอนี้ให้เต็มที่ นกกระทาประกาศตัวว่าจะขุดดินที่ไร่องุ่น ให้ออกผลขึ้นดึกว่าแต่ก่อน ตัวต่อว่าจะอยู่รักษาคอยไล่ขโมยทั้งปวงด้วยเหล็กใน ชาวไร่นั้นจึงห้ามเสียว่า เรามีโคอยู่ถึงสองตัว มันไม่ได้ขอให้สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ได้ทำการเหล่านี้ได้ทั้งหมด ถ้าเราจะให้น้ำแก่โคทั้งสอง จะดีกว่าให้เจ้าเป็นแน่ ๚ะ๛
คำพูดที่ไม่ได้ทำจริง สู้การที่ทำจริง ๆ ไม่ได้พูดไม่ได้ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๓๓ พี่ชายกับน้องหญิง
๏ พ่อคนหนึ่งมีลูกชายคนหนึ่งหญิงคนหนึ่ง คนแรกนั้นพิเศษด้วยรูปงาม น้องสาวนั้นขี้ริ้วอย่างประหลาดทีเดียว วันหนึ่งเล่นอยู่ด้วยกันตามภาษาเด็ก วันหนึ่งเผอิญสบช่องไปแลดูในกระจกซึ่งวางอยู่บนเก้าอี้ของมารดาด้วยกัน เด็กชายนั้นชมตัวในที่ตัวรูปงาม ฝ่ายเด็กหญิงมีความโกรธขึ้น มิอาจที่จะทนคำยกยอตัวของพี่ชายชมได้ แปลคำที่พี่ชายว่าทั้งปวงนั้น (เพราะจะให้เข้าใจอย่างอื่นอย่างไรได้) ว่าเป็นติตัวเองทั้งนั้น เด็กหญิงนั้นก็วิ่งไปหาบิดาเพื่อจะให้ลงโทษแก่พี่ชายให้แก่ตัว แลฟ้องด้วยความโกรธว่า เด็กผู้ชายใช้สิ่งซึ่งเป็นแต่ของสำหรับผู้หญิงทั้งปวงฝ่ายเดียว บิดากอดบุตรทั้งสองคนแล้วจูบด้วยความรักเสมอกันทั้งสองฝ่ายแล้วว่า พ่ออยากให้เจ้าทั้งสองดูกระจกทุก ๆ วัน เจ้าผู้เป็นลูกชายของพ่อจงอย่าทำให้เสียงามเพราะประพฤติชั่ว แลเจ้าผู้เป็นลูกหญิงของพ่อ จงทำความที่ต้องอยากงามของเจ้าให้งามขึ้นด้วยความดีทั้งปวง ๚ะ๛
ถึงชั่วฤๅดีอย่างไร ๆ ก็ยังมีช่วงที่จะทำชั่วให้เป็นดี ดีเป็นชั่วได้ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๓๔ คนตาบอดกับลูกสุนัขป่า
๏ คนตาบอดคนหนึ่งเคยรู้จักสัตว์ต่าง ๆ ด้วยมือถูกต้อง มีผู้หนึ่งเอาลูกสุนัขป่ามาให้ดู ขอให้คลำแล้วบอกว่าอะไร คนตาบอดนั้นคลำสุนัขป่ามีความสงสัยก็กล่าวว่า เราไม่รู้แน่ทีเดียวว่าจะเป็นลูกของสุนัขจิ้งจอกฤๅลูกของสุนัขป่า แต่เรารู้ชัดทีเดียวอย่างนี้ว่า สัตว์ตัวนี้จะปล่อยให้เข้าไปอยู่ในคอกแกะนั้น ไม่เป็นที่ไว้ใจว่าจะไม่อันตรายได้ ๚ะ๛
ชาติที่จะเป็นชั่วร้ายย่อมแสดงให้เห็นแต่เล็ก ๆ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าจิตรเจริญ
ที่ ๒๓๕ สุนัขป่าทั้งปวงกับสุนัขจิ้งจอก
๏ สุนัขบ้านหลายตัวพบหนังราชสีห์ก็ลงมือช่วยกันฉีกด้วยฟัน สุนัขจิ้งจอกเห็นจึงว่า ถ้าราชสีห์นี้ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าคงจะได้รู้ว่าเล็บของราชสีห์นั้นแข็งแรงกว่าฟันของเจ้า ๚ะ๛
๏ ซึ่งจะเตะคนเมื่อล้มนั้นแล้วนั้นง่ายดอก ๚ะ๛
พระองค์เจ้าจิตรเจริญ
ที่ ๒๓๒ ช่างซ่อมรองเท้ากลับเป็นหมอ
๏ ช่างซ่อมรองเท้าคนหนึ่งมิอาจที่จะหากินด้วยวิชาของตัว ความจนทำให้สิ้นความคิด ก็เริ่มทำการหมอยาในเมืองหนึ่งซึ่งมิได้มีผู้ใดรู้จักตัว ชายนั้นขายยาที่แกล้งทำว่าแก้ หาชื่อเสียงตัวให้ใหญ่ได้ด้วยลายปากยาว แลลงพิมพ์แจ้งความ อยู่มาว่าชายผู้นั้นเจ็บลงอาการมาก เพราะเหตุนั้นผู้รักษาเมืองอยากจะทดลองวิชาของชายผู้นั้น จึงได้เรียกถ้วยมาใบหนึ่ง เทน้ำลงในถ้วยแกล้งทำเป็นว่ายาพิษปนกับยาแก้ยาพิษของช่างซ่อมรองเท้านั้น แล้วบังคับให้กินว่า กินได้จะให้รางวัล ช่างซ่อมรองเท้ามีความกลัวตายเป็นกำลังก็รับเป็นสัตย์ว่าไม่มีวิชาหมอเลย ซึ่งทำให้ชื่อเสียงตัวดีได้เพราะความชื่นชมเชยโดยความโง่ของคนเป็นอันมาก ผู้รักษาเมืองจึงเรียกคนทั้งปวงมาประชุมแล้วกล่าวแก่ชาวเมืองทั้งปวงว่า เหตุใดท่านทั้งปวงจึงได้หลงผิดไปดังนี้ ท่านทั้งปวงมิได้ยั้งหยุดมามอบศีรษะเชื่อถือแก่คนซึ่งไม่มีผู้ใดจะใช้แต่ชั้นให้ทำรองเท้าสำหรับที่จะสวมเท้าของเขาดังนี้ ๚ะ๛
ความเชื่ออาจกลับชั่วเป็นดี เท็จจะเป็นจริงได้ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๓๗ สุนัขป่ากับม้า
๏ สุนัขป่าออกมาจากนาข้าวสาลี พบม้าตัวหนึ่งก็เข้าไปพูดว่า ข้าพเจ้าจะขอแนะนำท่านให้ท่านเข้าไปในนา ที่นั่นเต็มไปด้วยข้าวสาลีอย่างดี ซึ่งข้าพเจ้าเว้นไว้ให้ท่านมิได้จับต้องเลย ด้วยท่านเป็นเพื่อนแลเสียงนั้นของท่านเป็นที่ชอบใจของข้าพเจ้าที่จะได้ยิน ม้าตอบว่าถ้าข้าวสาลีเป็นอาหารของสุนัขป่าทั้งปวง ท่านก็จะไม่อยากจะบำเรอหูท่านด้วยสิ่งซึ่งเป็นของสำหรับท้องท่าน ๚ะ๛
๏ คนซึ่งมีชื่อเสียงชั่วร้าย เมื่อจะทำการที่ดีก็ไม่ได้ความเชื่อถือในการที่ทำ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าจิตรเจริญ
ที่ ๒๓๘ ชายสองคนซึ่งเป็นศัตรูกันและกัน
๏ ชายสองคนเป็นศัตรูกันและกันอย่างแรง แล่นใบไปด้วยกันในกำปั่นลำเดียวกัน คิดจะอยู่ให้ห่างกันคนละส่วนเต็มที่พอจะอยู่ได้ คนหนึ่งนั่งอยู่ท้ายเรือ คนหนึ่งนั่งอยู่หัวเรือ ครั้งหนึ่งบังเกิดพายุกล้าเป็นที่น่ากลัวเรือนั้นจะจม คนที่อยู่ท้ายเรือถามนำร่องว่า ปลายที่สุดของเรือทั้งสองข้างข้างไหนจะจมก่อน ครั้นเมื่อเขาตอบว่าเขาประมาณเห็นว่าจะเป็นข้างหัว ชายผู้นั้นจึงกล่าวว่าความตายไม่เป็นที่ให้เราเสียใจ ถ้าให้เราได้เห็นแต่เพียงศัตรูของเราตายก่อนเรา ๚ะ๛
ความอาฆาตวิวาทกันเป็นเครื่องฉิบหายตลอดกันเว้นแต่เร็วกับช้า ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๓๙ ไก่ชนกับนกกระทา
๏ ขายผู้หนึ่งเลี้ยงไก่ชนไว้ในคอกเลี้ยงไก่สองตัว วันหนึ่งเผอิญไปพบนกกระทาที่เขาเลี้ยงเชื่องแล้ว ก็ซื้อพามาบ้านเพื่อจะเลี้ยงไว้ด้วยกันกับไก่ชนทั้งสอง ครั้นเมื่อไว้ในคอกไก่ ๆ ทั้งสองก็มาตีแลติดตามไปทุกแห่ง นกกระทาก็มีความเจ็บใจแลกลุ้มใจ หมายว่าซึ่งตัวต้องถูกประพฤติร้ายต่อดังนี้เพราะเป็นผู้แปลกเข้ามา อยู่มาไม่นานนักก็ได้เห็นไก่ต่อตีกันเอง มิได้พรากกันกว่าหนึ่งจะแพ้กันทีเดียว นกกระทาจึงได้ว่ากับตัวเองว่า เราจะไม่มีความคับแค้นตัวเราต่อไปอีก เพราะเหตุที่ไก่ชนเหล่านี้ได้ตีเมื่อเราได้เห็นชัดแล้วว่าไก่เหล่านี้ มิอาจที่จะยั้งความวิวาทได้จนชั้นกันแลกันเอง ๚ะ๛
ไม่ควรจะท้อใจในความทุกข์ซึ่งคนที่ดีกว่าตัวต้องทน ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๔๐ กบซึ่งเป็นหมอรักษาไม่ได้
๏ ครั้งหนึ่งกบตัวหนึ่งขึ้นมาจากที่อยู่ของตัวในเปือกตม บอกประกาศแก่สัตว์ทั้งปวงหมดว่าตัวเป็นหมออันได้เล่าเรียนมากชำนาญในการที่จะใช้ยาทั้งหลาย สามารถที่จะรักษาโรคทั้งปวงให้หายได้ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งจึงถามว่า ทำไมท่านจึงอวดดีจะบอกโรคผู้อื่นเมื่อท่านมิอาจที่จะรักษาขาของท่าน ซึ่งเดินเหมือนกับคนขาหักแลเนื้อซึ่งย่นได้ดังนี้ๆ ๚ะ๛
ที่ ๒๔๑ ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอก
๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งชราเข้าก็นอนเจ็บอยู่ในถ้ำ บรรดาสัตว์ทั้งปวงมาเยี่ยมกษัตริย์ของตัวหมด เว้นแต่สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่าเห็นจึงคิดว่าเป็นช่วงวันดีของตัว ฟ้องสุนัขจิ้งจอกต่อราชสีห์ว่าไม่มาคำนับอ่อนน้อมต่อท่านซึ่งเป็นผู้ปกครองแก่เขาทั้งปวง เพราะมิได้มาเยี่ยมราชสีห์ ในบัดเดี๋ยวนั้นสุนัขจิ้งจอกมาได้ยินปลายคำที่สุนัขป่าพูด ราชสีห์แผดเสียงด้วยความโกรธสุนัขจิ้งจอก สุนัขจิ้งจอกก็คิดหาช่องที่จะป้องกันตัวแล้วกล่าวว่า บรรดาสัตว์ซึ่งมาที่ท่าน ผู้ใดที่ได้ทำความดีให้แก่ท่านเหมือนข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าได้เที่ยวไปจากที่โน้นถึงที่นี้ทุกทิศทุกทาง เพื่อจะเที่ยวสืบเสาะตามหมอทั้งปวง ในวิธีจะรักษาท่านให้หาย ราชสีห์บังคับให้บอกวิธีที่จะหายนั้นในบัดเดี๋ยวนี้ สุนัขจิ้งจอกจึงตอบว่า ท่านต้องถลกหนังสุนัขป่าแล้วเอาหนังที่ยังอยู่นั้นห่อตัวท่าน สุนัขก็ต้องจับถลกหนังทั้งเป็นในทันใดนั้น เพราะเหตุดังนี้สุนัขจิ้งจอกจึงหันหน้าไปยิ้มแล้วว่ากับสุนัขป่าว่า เจ้าควรจะยุให้นายมีความปรารถนาดี ไม่ควรจะยุให้มีความปรารถนาร้าย ๚ะ๛
ทุกขโต ทุกขถานัง ความปรารถนาร้ายต้องความร้าย ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
ที่ ๒๔๒ เรือนของสุนัข
๏ สุนัขตัวหนึ่งในฤดูหนาว งอตัวเข้าขดอยู่ในที่นิดเดียวที่สุดเพราะความหนาว ตกลงใจว่าจะต้องทำเรือนอยู่ ครั้นเมื่อฤดูร้อน กลับมานอนหลับอิดเหยียดยาวเต็มที่ ความเห็นปรากฏแก่ตัวนั้นรูปร่างใหญ่ จึงมาคิดว่าการที่จะทำเรือนให้พออยู่สบายนั้น ก็ไม่เป็นการง่ายแลไม่สู้เป็นการจำเป็นที่จะต้องการนัก ๚ะ๛
เวลาที่เดือดร้อนจึงจะต้องการความระงับ เหมือนดังยารักษาไข้ ถ้าและไม่มีคนเจ็บแล้วได้เจ็บต้องการยาเล่า๖ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
-
๑. เริ่มต้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๖ เรื่อง อิศปปกรณำ เล่ม ๙ ↩
-
๒. คือ นกไนติงเกล ↩
-
๓. คือเทพอะพอลโล่ (Apollo) ↩
-
๔. คือเทพแพลลัส (Pallas) หรืออาจจะเป็น แพลลัสอะธีนา (Pallas Athena) ในปกรณัมของกรีก ↩
-
๕. ตัง คือยางไม้ที่ผสมกับสิ่งอื่นให้เหนียว สำหรับดักนก ↩
-
๖. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๖ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๗ ↩