สมุดไทยเลขที่ ๒
ที่ ๒๕ หมีกับสุนัขจิ้งจอก
๏ หมีตัวหนึ่งออกด้วยตัวมีความเมตตาต่อชาติมนุษย์เป็นอันมาก กล่าวว่าบรรดาสัตว์ทั้งปวงแล้วเขาเป็นผู้นับถือคนมามาก เพราะเขามีความเคารพต่อคนที่สุด แต่ชั้นศพของคนที่ตายแล้วเขาก็ไม่ถูกต้อง สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งได้ยินคำเหล่านี้ ยิ้มแล้วว่ากับหมี ว่าท่านกินเถิดคนที่ตายแล้ว แต่ท่านอย่ากินที่เป็น ๚ะ๛
อวดของตัวไม่รอบคอบ ไม่พ้นที่เขาจะว่าตัวได้ ๚ะ๛
๒๕๏ ประสงค์เพียงเพื่ออ้าง | อวดดี ตัวเฮย |
ยกแต่ตนพาที | พล่ำพลั้ง |
ไหนจักเลี่ยงราคี | คำกล่าว พ้นพ่อ |
เป็นที่นินทาทั้ง | ชั่วร้ายหลายสถาน ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๒๖ ลาสุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์
๏ ลากับสุนัขจิ้งจอกสัญญาเป็นพวกเดียวกัน เพื่อจะช่วยป้องกันอันตรายกันแลกัน แลพากันออกไปเที่ยวหาอาหารกินในป่า สัตว์ทั้งสองนั้นไม่ทันจะไปไกลพบราชสีห์ตัวหนึ่ง สุนัขเห็นว่าที่น่ากลัวยิ่งใหญ่ใกล้เข้ามา ก็เข้าไปหาราชสีห์รับอาสาจะไปล่อลวงลาให้ราชสีห์จับ แต่จะขอให้ราชสีห์สัญญาให้เป็นคำมั่น ว่าจะไม่ให้มีอันตรายกับเขา แล้วสุนัขจิ้งจอกจึงนำลาไปที่เหมืองลึกแห่งหนึ่ง คิดอุบายให้ลาลงไปอยู่ในนั้น ราชสีห์เห็นว่าลาคงจะได้มั่นคงแล้ว ก็จับสุนัขจิ้งจอกในประเดี๋ยวนั้น แล้วจึงค่อยไปจับลาต่อภายหลัง เมื่อเวลาว่างสบาย ๚ะ๛
คิดให้ร้ายแก่เขา ร้ายนั้นกลับถึงตัวก่อน
๒๖๏ เสาะประสงค์จงเล่ห์ไว้ | หลายกล ชั่วเฮย |
มุ่งแต่ให้ร้ายคน | อื่นร้อน |
มทันโทษไปดล๑ | โดยใฝ่ |
ความชั่วคงคืนย้อน | โทษร้ายถึงตัว ๚ะ |
พระยาราชสัมภารากร
ที่ ๒๗ คนตระหนี่
๏ คนตระหนี่ผู้หนึ่ง ขายสิ่งของบรรดาที่มีเสียหมดไปซื้อทองมาได้ลิ่มหนึ่ง แล้วก็เอาทองนั้นไปขุดหลุมฝังไว้ในแผ่นดินใกล้กำแพงเก่าแห่งหนึ่ง แล้วเวียนไปดูที่นั้นเสมอทุกวัน ๆ มิได้เว้น คนทำงานของเขาคนหนึ่งสังเกตเห็นคนตระหนี่นั้นไปที่นั้นบ่อยๆ ก็คอยจับอาการกิริยาทั้งปวงอยู่ ภายหลังก็ทราบความลับซึ่งเอาสมบัติไปฝังไว้นั้น ก็ดอดไปขุดลงไปก็ได้ทองก็ลักเอาไปเสีย ครันเมื่อคนตระหนี่ไปที่แห่งนั้นตามเคยเมื่อรุ่งขึ้น เห็นแต่หลุมเปล่าก็ฉีกผมตนสยายร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง เพื่อนบ้านคนหนึ่งเห็นคนตระหนี่นั้นทุกข์ร้อนเศร้าโศกมาก ก็ไต่ถามได้ความตลอดแล้วปลอบว่าท่านอย่าเศร้าโศกดังนี้เลย จงไปหาศิลามาสักก้อนหนึ่งใส่ลงใว้ในหลุม นึกเอาเถิดว่าทองยังอยู่ในที่นั้น ก้อนหินนั้นก็คงจะเป็นประโยชน์กับท่านเหมือนกันกับทองทีเดียว เพราะถึงว่าเมื่อทองยังอยู่ในที่นั้นก็เหมือนกับท่านไม่มีเหมือนกัน เพราะท่านไม่ได้ใช้เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวท่านสักนิดเดียว ๚ะ๛
ประโยชน์ตนก็ไม่ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ไม่มี ตัวกลับได้ทุกข์
๒๗๏ ตระหนี่เหนียวแน่นนี้ | นิศผล |
เสียส่วนประโยชน์ตน | บ่ได้ |
อีกประโยชน์ประชน | ดายเปล่า ด้วยนา |
กลับจะชักตนให้ | ทุกข์ร้อนใจจน๒ ๚ะ |
ที่ ๒๘ กบทั้งปวงขอเจ้าแผ่นดิน
๏ กบทั้งปวงมีความเศร้าโศกว่าไม่มีเจ้านายปกครองซึ่งหลักฐาน จึ่งได้แต่งทูตหลายนายขึ้นไปเฝ้ายูปิตเตอ๓ ขอให้ยูปิตเตอประทานเจ้าแผ่นดินสักองค์หนึ่ง ยูปิตเตอเห็นว่าเป็นแต่สัตว์โง่ ๆ ไม่มีพิษสงอันใด จึงได้โยนขอนไม้ใหญ่ลงมาในหนอง เมื่อขณะน้ำกระฉ่อนด้วยกำลังไม้ท่อนใหญ่ตกลงมา พวกกบทั้งปวงก็ตกใจกลัวพากันไปซ่อนตัวอยู่ลึก ๆ ในหนองนั้น
ครั้นไม่ช้านานนักพวกกบทั้งปวงเห็นว่าท่อนไม้ใหญ่นั้นนิ่งเสมอไม่ไหวติงอันใด ก็พากันว่ายขึ้นมาบนหลังน้ำ ปราศจากความกลัวทั้งสิ้น แลดูทุกคนพากันไต่ขึ้นไปบนขอนไม้แลนั่งเกาะอยู่บนนั้น ครั้นนานมาก็พากันคิดเห็นไปว่าเราทั้งปวงดูความหมิ่นประมาท เพราะตั้งผู้ปกครองที่ไม่รู้สึกอันใดมาให้ดั่งนี้ จึงได้ส่งทูตขึ้นไปเป็นครั้งที่สอง ให้ไปอ้อนวอนยูปิดเตอขอให้ตั้งเจ้าแผ่นดินองค์อื่นลงมาครอบครองพวกกบทั้งปวงอีกสักองค์หนึ่ง ยูปิดเตอประทานปลาไหล (ฤๅปลายาว) ให้มาเป็นผู้ปกครอง ครั้นเมื่อกบทั้งปวงคุ้นเคยทราบอัธยาศัยว่าเป็นชาติง่าย ๆ แลใจดีก็ไม่เป็นที่ชอบใจ จึงส่งทูตขึ้นไปอีกเป็นครั้งที่สาม ขอให้ยูปิตเตอเลือกเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้อีกครั้งเดียว ยูปิตเตอไม่โปรดที่กล่าวโทษบ่อย ๆ ดังนั้น จึงได้ให้นกกระสาลงมา นกกระสาก็กินกบไปทุกวัน ๆ จนไม่มีกบที่จะเหลืออยู่ร้องในสระนั้น
แส่หาเจ้าใหม่แข็งแรง ครั้นเมื่อเห็นฤทธิ์ของเจ้าใหม่ จะนึกถึงเจ้าเก่าสิถึงตัวเสียแล้ว อย่ากำเริบเร่งเปลี่ยน ๚ะ๛
๒๘๏ กำเริบแรงเปลี่ยนเจ้า | ใหม่หมาย |
เห็นฤทธิ์เจ้าใหม่กลาย | กลับท้อ |
คิดถึงเก่าสิกาย | ตึงติด แล้วนา |
อึดอัดออกโอษฐ์อ้อ | อย่างนี้นำเข็ญ ๚ะ |
ที่ ๒๙ พ่อค้าเกลือกับลาของเขา
๏ พ่อค้าเที่ยวไปมาคนหนึ่งเป็นคนซื้อขายเกลือ พาลาไปฝั่งทะเลเพื่อจะซื้อเกลือ บางทีจะกลับมาบ้านแห่งหนึ่งนั้น ต้องข้ามลำน้ำอันหนึ่ง ครั้นเมื่อพาลากลับมาจะข้ามลำน้ำแห่งนั้น ลาเหยียบถลำลงไปในน้ำโดยการไม่แกล้ง เมื่อขึ้นมาเกลือที่บรรทุกลามาบนหลังนั้นเบาขึ้นเป็นอันมาก เพราะถูกน้ำละลายเสีย พ่อค้านั้นก็ต้องกลับทวนทางเดินไปใหม่ เติมเกลือลงในกระโปรง๔เป็นเกลือมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ครั้นถึงลำน้ำก็พลาดล้มลงตรงที่เดิมโดยความแกล้ง ครั้นเมื่อชักเท้าขึ้นมาแล้วน้ำหนักที่บรรทุกก็ลดลงมาก ลานั้นร้องเป็นทีชนะเหมือนว่านึกจะได้สมปรารถนา พ่อค้าเห็นตลอดความแกล้งนี้จึงได้พาลาไปที่ชายทะเลอีกเป็นครั้งที่สามครั้งนี้พ่อค้าซื้อสปันช์๕เป็นสินค้าแทนเกลือ ลาก็เล่นโกงอย่างเก่าอีก เมื่อมาถึงลำน้ำก็พลาดลงไปด้วยความแกล้ง ครั้นเมื่อสปันซ์อมน้ำแล้วน้ำหนักที่บรรทุกนั้นก็มากขึ้น เพราะดังนั้นลาก็ทำกลกลับกระท้อนเข้าตัวเอง ด้วยต้องมีของหนักติดอยู่บนหลังสองเท่าขึ้นอยู่กว่าแต่ก่อน ๚ะ๛
โกงแล้วไม่พ้นคนรู้เท่า ถ้ารู้เท่าแล้วจะถูกโต้
๒๙๏ ผู้เยียทุรกิจกี้ | โกงฉกรรจ์ |
ไหนจักปิดมิดควัน | ชั่วได้ |
ถ้าเขาล่วงรู้ทัน | ทุรเศศ ตนนา |
เงื่อนที่งำเปิดไง้ | ถูกโต้เต็มเสียง ๚ะ |
ที่ ๓๐ สัตว์หลายจำพวก
๏ การประชุมถุ้งเถียงกันเกิดขึ้นในหมู่สัตว์ทั้งปวง ว่าสัตว์อันใดซึ่งจะเป็นสัตว์ควรสรรเสริญในการที่มีลูกครอกหนึ่งได้ลูกในครอกมากกว่าสัตว์อื่นหมด สัตว์ทั้งปวงเมื่อยังไม่ตกลงกันดังนั้น ก็พากันวิ่งอื้ออึงมายังสำนักนางราชสีห์ ขอให้นางราชสีห์ระงับตัดสินการที่ถุ้งเถียงกัน แลสัตว์ทั้งปวงพากันถามนางราชสีห์ว่าท่านเองออกลูกครอกหนึ่งมีลูกสักกี่ตัว นางราชสีห์หัวเราะเยาะเขาทั้งปวงแล้วว่า ทำไมเรามีตัวเดียวเท่านั้น แต่ถึงตัวเดียวก็เป็นราชสีห์ที่ดีแท้ตามชาติตามตระกูล ๚ะ๛
ราคานั้นอยู่ในดีในชั่ว มิใช่เพราะมาก
๓๐๏ ราคาค่ามากนั้น | ในของ ดีนา |
ดูดุจเพชรทองปอง | เปรียบไว้ |
ไม่ดีมากมูลมอง | มีค่า ไฉนแฮ |
ขายฝากหอบหนึ่งได้ | ค่าเบี้ยอัฐเดียว ๚ะ |
ที่ ๓๑ ลากับล่อ
๏ พ่อค้าล่อออกเดินทางต้อนลาตัวหนึ่ง ล่อตัวหนึ่งซึ่งบรรทุกเต็มเดินไปข้างหน้า ลานั้นเดินมาตามทางที่เป็นที่ราบก็ทนแบกของหนักซึ่งบรรทุกไปได้โดยง่าย ครั้นเมื่อเริ่มจะต้องขึ้นเขาทางชันแคบก็รู้สึกว่าของที่บรรทุกนั้นเกินกำลังที่ตัวจะทานได้ จึ่งได้ว่ากับเพื่อนกันว่าขอให้ช่วยรับแบ่งของไปเสียสักหน่อยหนึ่ง ที่เหลืออยู่นั้นลาจะพาไปให้ถึงบ้านทั้งสิ้น ฝ่ายล่อไม่ฟังคำที่ขอนั้น ภายหลังอีกหน่อยหนึ่งลานั้นก็ล้มลงถึงแก่ความตายทั้งกำลังบรรทุกอยู่ พ่อค้าล่อมิรู้ที่จะทำอย่างไรด้วยอยู่ในประเทศที่เปลี่ยว ก็เอาสิ่งของที่บรรทุกลานั้นขึ้นบรรทุกล่อเป็นสองส่วนทั้งของเดิม แลบนหลังของทั้งนั้น เอาหนังลาซึ่งลอกไว้เมื่อลาตายแล้วนั้นขึ้นบรรทุกไปด้วย ล่อก็ครางอยู่ใต้ของหนักซึ่งบรรทุกนั้น แล้วว่ากับตัวเองว่า ซึ่งเขาทำแก่เราดังนี้สมกับที่เราได้ทอดทิ้งเสีย ถ้าเพียงแต่เราเต็มใจช่วยลาเสียสักเล็กน้อยตามความประสงค์ เดี๋ยวเราก็จะไม่ต้องแบกของที่บรรทุกเขาแลตัวเขาด้วย ๚ะ๛
ไม่เผื่อแผ่กับเพื่อนราชการฤๅเพื่อนการงานด้วยกัน เอาแต่ตัวรอดคนเดียว เพื่อนกันล้มตัวก็ต้องรับแบกหนักสองบ่าแทนเพื่อนที่ล้ม ๚ะ๛
๓๑๏ ทำกิจ บ่ เอื้อเพื่อน | ราชการ |
ฤๅกับพวกเพื่อนงาน | อื่นบ้าง |
หวังดีแต่ตัวราน | ระเพื่อน แตกนา |
ต้องรับการสองข้าง | ขุ่นแค้นคนเดียว ๚ะ |
ที่ ๓๒ สุกรแกะกับแพะ
๏ สุกรตัวหนึ่งต้องขังอยู่ในคอกเดียวกับแพะตัวหนึ่งและแกะตัวหนึ่ง คนเลี้ยงแกะมาจับสุกร ๆ นั้นคำรามร้องแลต่อสู้ดิ้นรนโดยแข็งแรง แกะกับแพะก็ต่อว่าสุกรที่ร้องให้เป็นที่รำคาญหนวกหูว่า เขาจับเราบ่อย ๆ ทำไมเราไม่ได้ร้อง สุกรฟังดังนี้จึงตอบว่า ที่เขาจับท่านกับจับเราผิดกันนักคนละอย่าง เขาจับท่านเพราะจะเอาขนท่านฤๅจะรูดนมท่าน แต่เขาจับเรานั้นเขาจะเอาชีวิตทีเดียว ๚ะ๛
คนที่มีทุกข์น้อยจะคิดแทนคนทุกข์มากไม่ได้
๓๒๏ คนที่มีทุกข์น้อย | ในใจ |
จักคิดแทนคนภัย | มากนั้น |
แทนยากเพราะวิสัย | กระแสจิต ต่างนา |
ทุกข์แห่งใครใครดั้น | หากด้นจนเกษม ๚ะ |
ที่ ๓๓ แพะกับสุนัขจิ้งจอก
๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งตกลงไปอยู่ในบ่อน้ำลึก ต้องติดอยู่ในบ่อนั้น จะหาทางขึ้นทางหนึ่งทางใดไม่ได้ มีแพะตัวหนึ่งกระหายน้ำเป็นกำลังมาที่บ่อน้ำนั้น เห็นสุนัขจิ้งจอกจึ่งถามว่าน้ำในนั้นดีฤๅ สุนัขจิ้งจอกแสรังทำหน้าตากิริยาสบายซ่อนบังความทุกข์ซึ่งมีอยู่แก่ตัวนั้นเสีย กล่าวสรรเสริญน้ำในบ่อนั้นว่าเป็นอย่างดีประเสริฐเหลือที่จะพรรณนาชักชวนให้แพะนั้นลงไปในบ่อ แพะมีความกระหายน้ำเป็นกำลัง มิได้ทันมีความคิดที่จะตริตรองก็โดดลงไปในบ่อ พอได้ดื่มน้ำระงับความกระวนกระวายที่กระหายมาแล้ว สุนัขจิ้งจอกจึ่งได้แจ้งความปรึกษาด้วยข้อที่ตกอยู่ในที่ลำบากคับขันด้วยกันทั้งสอง แล้วแนะนำทางที่คิดเห็นเพื่อจะให้รอดชีวิตด้วยกัน กล่าวว่าขอให้ท่านเอาเท้าหน้าทั้งสองยันขึ้นกับข้างบ่อแล้วก้มศีรษะลง
ข้าพเจ้าจะวิ่งขึ้นไปทางหลังท่าน เมื่อข้าพเจ้ารอดแล้ว ข้าพเจ้าจึ่งจะช่วยท่านต่อภายหลัง ครั้นเมื่อแพะได้ยอมแล้ว สุนัขจิ้งจอกก็กระโดดขึ้นบนหลังแพะไต่ขึ้นไปตามคออาศัยเขาแพะเป็นหลักที่มั่น ขึ้นไปถึงปากบ่อได้โดยสะดวกไม่มีอันตรายอันใด เมื่อถึงพื้นแผ่นดินแล้ว ในประเดี๋ยวนั้นก็ออกวิ่งโดยเร็วเต็มกำลังที่จะไปได้ แพะเห็นดังนั้นก็ร้องต่อว่าขึ้นไปด้วยข้อที่นัดหมายกันไว้ว่าจะช่วยกันแลกัน สุนัขจิ้งจอกได้ยินก็กลับหน้ามาแล้วร้องไปว่า เจ้าแพะ ๆ ถ้าเจ้ามีปัญญามากเหมือนเจ้ามีขนที่ลูกคาง เจ้าก็คงจะไม่ลงไปในบ่อก่อนที่เจ้าจะได้ตรวจตราหนทางขึ้น ฤๅจะทำตัวเจ้าให้ใกล้ต่อทางอันตราย ซึ่งเจ้าไม่มีทางอันใดที่เจ้าจะขึ้นได้ ๚ะ๛
ดูเสียก่อนจึงค่อยกระโดด คือถ้ามีผู้มาบอกว่ากระไร แล้วตริตรองเสียให้แน่นอนจึ่งค่อยทำตาม อย่าทำด้วยวู่วาม ๚ะ๛
๏ ……………………๖ | แนะนำ ใดเฮย |
ควรคิดพินิจคำ | ถ่องแท้ |
ตริรอบชอบจึงทำ | ตามกล่าว นั้นนา |
ผิ บ ชอบตอบแก้ | ห่อนต้องทำตาม ๚ะ |
ที่ ๓๔ หมีกับคนเดินทาง
๏ คนสองคนเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน พอพบหมีเดินสวนทางมาก็ตกใจ คนหนึ่งรีบปีนขึ้นไปบนต้นไม้โดยเร็ว ซ่อนตัวอยู่ใต้กิ่งไม้ทั้งปวง คนหนึ่งเห็นว่าจะหนีไปไม่พ้น ก็ล้มตัวลงนอนราบอยู่กับแผ่นดิน ครั้นเมื่อหมีมาถึงตัว ก็เอาจมูกถูกต้องตัวแลก้มลงมา ชายผู้นั้นกลั้นลมหายใจแสร้งทำอาการเหมือนหนึ่งตายจนเต็มกำลังที่จะทำได้ หมีอยู่ไม่นานนักก็หลีกไปโดยคำเล่ากันมาว่า หมีแล้วย่อมไม่ถูกต้องร่างกายคนที่ตายแล้ว ครั้นเมื่อหมีไปไกลพ้นไปนานแล้ว ชายเดินทางเดินที่อยู่บนต้นไม้อีกคนหนึ่งก็ลงมาแล้วเข้าไปถามเพื่อนที่นอนอยู่กับแผ่นดิน เป็นคำหยอกว่า หมีมากระซิบที่หูเจ้าว่ากระไร ชายที่นอนนั้นจึ่งตอบว่า หมีมาสั่งสอนเราว่าอย่าไปเที่ยวกับเพื่อนที่พอเห็นอันตรายมีมาก็ทิ้งเสีย ๚ะ๛
เวลาเคราะห์ร้ายอับจนได้ทดลองความซื่อตรงของเพื่อนทั้งปวง ๚ะ๛
๓๔๏ เวลาเราเคราะห์ร้าย | ทุรพล |
เป็นข่องเห็นใจชน | เพื่อนพ้อง |
ใครรักษ์ร่วมอับจน | ฤๅรัก ไฉนนา |
มิตรจิตมิตรใจซ้อง | ส่อให้เห็นกัน ๚ะ |
ที่ ๓๕ สุนัขในรางหญ้า
๏ สุนัขตัวหนึ่ง นอนในรางหญ้าซึ่งอยู่ในโรงเลี้ยงโค สุนัขนั้นขู่แลจับโคทั้งปวงมิให้มากินหญ้าซึ่งใส่ไว้ให้กินในรางนั้นใต้ โคตัวหนึ่งจึ่งได้ว่ากับเพื่อนโคด้วยกันว่า สุนัขตัวนี่มันช่างชาติรังแกจริง ๆ ตัวเองจะกินหญ้าก็ไม่ได้ แต่อย่างนั้นยังไม่ยอมให้ผู้อื่นที่เขาจะกินได้เล่า ๚ะ๛
แกล้งรามาใช่เหตุ๗ ต้องกับคำพูดกันว่ามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ฤๅหวงขี้เท็จ๘ ๚ะ๛
๏ สุนัขนอนรางใส่หญ้า | โคปอง หญ้าเฮย |
สุนัข บ เห็นมอง | เท่าห้าว |
สรรพชาติอิจฉาจอง | ใจดับ ยากเฮย |
หวงใช่เหตุก้าวร้าว | ก่อร้ายริษยา ๚ะ |
ที่ ๓๖ .........................๙
ราชสีห์ตัวหนึ่งเป็นสัตว์แก่แล้ว แลมักป่วยไข้ไม่สบาย ไม่สามารถที่จะหากินด้วยกำลังได้ จึงได้ตกลงคิดจะหากินโดยทางกลอุบาย ราชสีห์ไม่ออกจากถ้ำเลย นอนอยู่แกล้งทำเป็นป่วย แลคิดอ่านที่จะให้สัตว์ทั้งปวงรู้ทั่วไปว่าตัวเจ็บมาก สัตว์ทั้งปวงต่าง ๆ แสดงความเศร้าโศก ผลัดกันมาเยี่ยมราชสีห์นั้นทีละตัว ๆ ราชสีห์ก็จับกินเป็นอาหารเสีย ครั้นเมื่อสัตว์ทั้งปวงหายไปเป็นอันมากดังนั้น สุนัขจิ้งจอกจึงได้รู้กลแล้วไปหาราชสีห์ ยืนอยู่แต่นอกถ้ำห่าง ๆ ราชสีห์ ราชสีห์ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงร้องถามข่าวราชสีห์ว่า เดี๋ยวนี้ท่านเป็นอย่างไรบ้าง ราชสีห์ตอบว่าเดี๋ยวนี้อาการป่วย........นอก๑๐ เชิญท่านเข้ามาสนทนากับเราข้างในนี้เถิด สุนัขจิ้งจอกจึงตอบว่าไม่ต้องเข้าไปมิได้ ข้าพเจ้าขอบใจท่าน ข้าพเจ้าสังเกตดูเมื่อรอยเท้าสัตว์ทั้งปวงเข้าไปในถ้ำของท่านเป็นอันมาก แต่หาเห็นรอยเท้ากลับออกมาไม่เลย เขาฉลาดเป็นผู้รอดจากอันตราย เพราะเห็นอันตรายที่ต้องแก่ผู้อื่น ๚ะ๛
๓๖๏ เชาวน์ไวไหวพริบรู้ | เหตุผล |
เพราะสืบสวนทราบกล | เล่ห์แล้ว |
ตริตรองผ่อนผันตน | หลีกเลี่ยง เร็วพ่อ |
จึ่งจะรอดตัวแคล้ว | คลาดพ้นภัยฉกรรจ์ ๚ะ |
ที่ ๓๗ .........................๑๑
นกแก๑๒ตัวหนึ่งได้เห็นห่านอยากจะมีขนงามเหมือนห่านบ้าง จึงคิดประมาณดูในใจตัวว่า ซึ่งท่านมีสีขาวงามนัก เห็นจะเป็นชำระตัวอาบน้ำอยู่เสมอ นกแกจึ่งได้ออกจากที่บูชาในวัดที่ตัวเคยอาศัยแลเคยหากินเลี้ยงชีวิตอยู่แต่ก่อน ไปหาที่อยู่ใหม่ในหนองในสระทั้งปวง แต่ครั้นเมื่อชำระขนของตัวบ่อย ๆ เต็มตามความปรารถนานั้น แกนั้นก็ไม่อาจชำระสีขนของตัวให้เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่อาหารนั้นอดหนักเข้าก็ถึงแก่ความตาย ๚ะ๛
เปลี่ยนความประพฤติจะให้เลิกถอนธรรมดาที่เป็นเองไม่ได้ ๚ะ๛
๓๗๏ กาแก......................… | เป็นวงศ์ ห่านฤๅ |
จักเปลี่ยนพรรณแปลงพงศ์ | ยากแท้ |
ชาวบกจะเอาลง | เรือล่อง ถนัดฤๅ |
ขืนวิสัยเสียแส้๑๓ | เสื่อมเถ้าทางเจริญ ๚ะ |
ที่ ๓๘ สุนัขสวมหนังแกะ
๏ ในกาลครั้งหนึ่งสุนัขป่าคิดจะสวมเพศของตัวแลปลอมแต่งตัวใหม่ เพื่อจะได้ไปเที่ยวหากินให้ได้อาหารเต็มบริบูรณ์ไม่บกพร่อง จะได้หาหนังแกะมาสวมตัว ปลอมเข้าไปในที่กินหญ้า และปลอมอยู่ในฝูงแกะทั้งปวง ลวงคนเลี้ยงแกะด้วยอุบายดังนี้ ครั้นเวลาเย็นก็หลบเข้าไปอยู่.........................๑๔ คนเลี้ยงแกะปิดประตูคอกทางเข้าออกแน่นหนาแล้วก็ไป ครั้นเวลาค่ำคนเลี้ยงแกะมาในคอกเพื่อเตรียมอาหารของตัวในวันรุ่งขึ้น ก็จับตัวสุนัขป่านั้นแทนแกะฆ่าเสียด้วยมีดในคอกนั้น ๚ะ๛
ผู้ที่คิดจะทำอันตรายผู้อื่น มักจะต้องอันตรายแก่ตัวเอง ๚ะ๛
ที่ ๓๙ .........................๑๕
๏ ราชสีห์ตัวหนึ่งไปขอลูกสาวคนตัดฟืนเป็นภรรยา บิดาของหญิงไม่เต็มใจจะให้ แต่ครั้นจะบอกปฏิเสธไม่ยอมให้ตามที่ขอก็กลัว จึงคิดอุบายที่จะให้พ้นจากความรบกวนให้เป็นที่น่ากลัวดังนี้ต่อไป จึงบอกความประสงค์แก่ราชสีห์ว่ามีความยินดีนักที่จะรักราชสีห์เป็นเจ้าแต่งงานกับบุตรสาว แต่จะต้องขอให้มีการยกให้อย่างหนึ่ง คือให้ราชสีห์ยอมถอนฟันแลตัดเล็บเสียให้หมดก่อน ด้วยลูกสาวของเขากลัวฟันแลเล็บยิ่งนัก ราชสีห์มีความยินดียอมตามที่ขอนั้น ครั้นภายหลังราชสีห์มาเตือนคำที่อนุญาตไว้นั้นอีก คนตัดฟืนสิ้นกลัวแล้ว ก็ตีด้วยไม้ไล่ราชสีห์เข้าป่าไป
หลงลุอำนาจแก่ตัณหา …………...เขี้ยวเล็บแล้วก็สิ้นอำนาจตัวเอง สิ่งที่หมายก็ไม่ได้ตัวก็ฉิบหาย ๚ะ๛
๓๙๏ หลงลุอำนาจด้วย | ดำฤษณา |
ยอมปลดเขี้ยวนขา | หมดสิ้น |
ที่หมายก็คลาดคลา | บ่ เสร็จ สบพ่อ |
ตัวจักพินาศสิ้น | เดือดร้อนรันทรวง ๚ะ |
ที่ ๔๐ นกพิราบ…………...
๏ นกพิราบตัวหนึ่งมีความร้อนรุ่มระหาย๑๖น้ำเหลือกำลัง แลเห็นรูปถ้วยน้ำที่เขียนไว้ในกระดานป้ายที่แขวนไว้หน้าเรือน ไม่คิดว่าเป็นแต่รูปเขียน ก็บินเข้าไปด้วยเสียงปีกอันดังไม่ทันสังเกตโผเข้าไปที่กระดานป้าย ตัวกระทบกระดานโดยแรงปีกทั้งสองก็หักตกลงยังแผ่นดิน คนที่ยืนอยู่ใกล้ที่นั้นผู้หนึ่งก็จับตัวได้ ๚ะ๛
มีความอุตสาหะแล้วอย่าลืมความระวัง คือหมั่นมุ่งหมายแก่การงานแล้ว หมั่นระวังไว้อย่าให้การนั้นเสียไปด้วยความเผลอละเมิน ๚ะ๛
๔๐๏ พากเพียรประกอบเกื้อ | กิจใด |
จำหมั่นระวังใน | กิจนั้น |
อย่าเผลออย่าพลาดใจ | พันผูก ไว้พ่อ |
เสียกิจจิตจักอั้น | อกโอ้อาดูร ๚ะ |
ที่ ๔๑ โคทั้งปวงกับไม้เพลาเกวียน
๏ มีเกวียนบรรทุกหนักเล่มหนึ่ง ลากด้วยโคหลายตัวไปตามทางบ้านนอก เพลาเกวียนสีกับดุมร้องครางแลออกดังยิ่ง โคที่เทียมเกวียนจึงได้เหลียวหน้ามาว่ากับล้อเกวียนว่า เฮ้ยนี่แน่ะ ทำไมเจ้าจึงร้องเสียงดังนักดั่งนี้ พวกเราดอกต้องรับการเหน็ดเหนื่อยควรที่พวกเราจะร้อง ไม่ควรที่พวกเจ้าจะร้อง ๚ะ๛
ผู้ที่ได้ความลำบากอย่างยิ่ง ผู้นั้นมักจะร้องน้อย ๚ะ๛
๔๑๏ ผู้ทำกิจมากล้น | ลำบาก ยิ่งเฮย |
มัก บ่ มีออกปาก | บ่นบ้า |
ผู้ทำ บ่ กรำกราก | เบาจิต กายเฮย |
มักจะร้องเสียงจ้า | โอษฐ์โอ้อึงดัง ๚ะ |
ที่ ๔๒ เต่ากับนกอินทรี
๏ เต่าตัวหนึ่งนอนผิงแดดขี้เกียจอยู่ แล้วบ่นกล่าวโทษความอาภัพของตัวต่อนกที่หากินตามชายทะเลว่า ผู้ใดไม่มีที่จะสอนให้เขาบิน ขณะนั้นนกอินทรีบินร่อนอยู่ใกล้ได้ยินเสียงเต่าบ่นพิไรรำพันดังนั้นจึงว่ากับเต่าว่า ถ้าจะพาขึ้นไปให้สูงลอยอยู่ในอากาศเต่าจะให้รางวัลอะไร เต่าตอบว่าเราจะให้สมบัติในทะเลแดงแก่ท่าน นกอินทรีจึงว่าเราจะสอนให้ท่านบินเดี๋ยวนี้ ว่าแล้วนกอินทรีก็จับเต่าเข้าในกรงเล็บ แล้วบินลอยขึ้นไปเกือบสุดเมฆแล้ว ก็ปล่อยเล็บเสียทันที เต่าก็ตกลงมาถูกยอดภูเขาสูง กระดองก็แตกเป็นขึ้นเล็กขึ้นน้อยไปหมด เมื่อขณะเต่าจะตาย ร้องว่าเรานี้สมควรแล้วที่จะต้องรับทุกข์ภัยอันนี้ เพราะบกแลเมฆนั้น …………… เดินก็ไม่ใคร่จะไหวอยู่แล้ว ๚ะ๛
ถ้าคนทั้งปวงนึกอะไรได้สมความปรารถนาทุกอย่างแล้ว คงจะต้องถึงแก่ความฉิบหายบ่อย ๆ ๚ะ๛
๔๒๏ ใจมนุษย์นี้ย่อม | นึกหมาย สูงแฮ |
ความคิดกิจเกินกาย | จิตจ้อง |
คิดใดหาก บ คลาย | สมทุก สิ่งนา |
คงจะพะพานต้อง | พินาศแพ้ภัยตน ๚ะ |
ที่ ๔๓ ชาวนากับนกยาง
๏ นกยางบางพวก มักเที่ยวหากินตามท้องนาที่ไถนาหว่านพืชข้าวสาลีลงใหม่ ๆ ชาวนาที่เฝ้าอยู่น้าวแต่สายกระสุนเปล่า ทีนี้เรียกกระสุนแทน “สลิง” เพราะเมืองเราไม่มีจะต้องอธิบายมากนัก ไล่ให้หนีไปด้วยความตกใจ ครั้นนานมานกทั้งปวงเห็นว่าเป็นแต่น้าวกระสุนเปล่า ๆ ถึงจะน้าวขึ้นก็เฉยทำไม่รู้ไม่เห็นเสีย ชาวนาเห็นดังนั้นก็เอาลูกกระสุนยิงไปจริง ๆ ถูกนกตายเป็นอันมาก เพราะดังนั้นนกทั้งปวงก็ทิ้งท้องนาหนีไปทันที แลร้องบอกกันว่า คราวนี้ถึงเวลาที่พวกเราทั้งปวงจะไปที่ลีลีปุด๑๗ เพราะคน ๆ นั้นไม่เป็นแต่ขับไล่เราเปล่า ๆ ต่อไปอีกแล้ว เขาเริ่มตั้งใจสำแดงให้เราเห็นว่าเขาได้ทำอย่างไรที่เขาทำได้บ้างอยู่แล้ว ๚ะ๛
ถ้าคำว่ากล่าวไม่พอ ก็ต้องถึงหมัดต่อย ๚ะ๛
๔๓๏ เพียงขู่ดุด่าด้วย | คำหยาบ |
ยัง บ่ อาจปรามปราบ | เรียบได้ |
อาญายิ่งเอิบอาบ | ถึงต่อย ตีนา |
ดื้อประดุจยั่วให้ | เพิ่มซ้ำอาญา ๚ะ |
ที่ ๔๔ แมวกับไก่
๏ แมวตัวหนึ่งจับไก่ได้ คิดปรึกษาใจของตัวเองว่าจะหาเหตุอันใดยกขึ้นกล่าวให้เห็นว่าเป็นการสมควรที่จะกินไก่ จึงได้ยกโทษไก่ว่า เป็นผู้ทำรำคาญลำบากให้มนุษย์ทั้งปวง เพราะขันในเวลากลางคืนไม่ปล่อยให้คนนอน ไก่จึงได้เถียงต่อสู้ว่า ที่ทำดังนั้นเพราะจะให้เป็นประโยชน์กับมนุษย์ทั้งปวง จะได้ตื่นทันเวลาทำงานการทั้งปวง แมวจึงว่าถึงเจ้าจะแก้ตัวคล้ายกับการที่จะเป็นจริงมากสักเท่าใดข้าก็ไม่ยอมอดเปล่าละ แมวก็กินไก่นั้นเป็นอาหารมื้อหนึ่ง ๚ะ๛
ผู้มีอำนาจมากกว่า ถึงผู้มีอำนาจน้อยจะโต้เถียงด้วยความจริงก็ไม่ฟัง คงจะกดขี่ด้วยอำนาจของตัวอยู่นั่นเอง ๚ะ๛
๔๔๏ ผู้สูงอำนาจแม้น | ใจพาล |
ผิจักคิดระราน | รุกเร้า |
อำนาจต่ำจักพาน | เถียงตอบ ไฉนฤๅ |
คงจะกดขี่เข้า | เขตข้างตนประสงค์ ๚ะ |
ที่ ๔๕ คนเดินทางช่างอวด
๏ นายผู้หนึ่ง ได้ไปเที่ยวตามแผ่นดินต่างประเทศมาก เมื่อกลับมาถึงเมืองของตัวแล้วพูดอวดตัวมาก ว่าได้ทำการอัศจรรย์ แลการกล้าหาญประหลาดต่าง ๆ ในที่ต่าง ๆ ที่เขาได้ไปแล้วนั้น ในข้อที่อวดทั้งปวงนั้น ข้อหนึ่งเขาได้กล่าวว่า เมื่อเขาอยู่ที่เมืองโรเดศ๑๘เขาได้กระโดดไกลยิ่งนัก คนในอายุเขาที่จะกระโดดให้ได้เท่าเขาไม่มีทีเดียว แลเมื่อเขากระโดดนั้นมีคนที่เมืองโรเดศได้เห็นมาก เขาจะเรียกมาเป็นพยานได้
ในขณะนั้นคนที่ยืนฟังอยู่ใกล้คนหนึ่งสอดมีถ้อยคำขึ้นไปว่า นี่แน่ะท่านเป็นคนดี ถ้าคำที่ท่านว่านี้เป็นคำจริงแล้วก็ไม่ต้องหาพยาน นึกเอาเถิดว่าทีนี้ ต่างว่าเมืองโรเดศ เดี๋ยวนี้เชิญท่านกระโดดเถิด ๚ะ๛
จะอวดก็อวดให้เห็นจริง อย่าอวดครึ่ง ๆ ให้เขาคัดค้านขัดคอได้ ๚ะ๛
๔๕๏ จะอวดจงอวดให้ | เห็นจริง ตลอดเฮย |
ผู้อื่นจักท้วงติง | ตอบได้ |
ออกอรรถที่อ้างอิง | มีหลัก แหล่งนา |
ถึงจะโป้ปดให้ | กล่าวเกลี้ยงกลมสมาน ๚ะ |
ที่ ๔๖ แพะกับคนเลี้ยงแพะ
๏ คนเลี้ยงแพะผู้หนึ่ง คิดจะต้อนแพะซึ่งเที่ยวกระจายไปเข้าฝูงเพื่อจะนำกลับไปคอก ชายนั้นก็ผิวปากแลเป่าเขาโคเท่าใดก็เปล่าไป แพะซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่พากันเฉยเสียไม่มาตามที่เรียก คนเลี้ยงแพะจึงฉวยก้อนศิลาขว้างไปโดนเขาแพะแตก คนเลี้ยงแพะนั้นจึงได้อ้อนวอนแพะอย่าให้บอกเหตุอันนี้แก่นาย แพะตอบว่าทำไมเจ้าโง่นักเพื่อนเอ๋ย ถึงแม้นว่าข้านิ่งเสีย เขาข้าที่แตกก็คงพูด อย่าคิดปิดบังสิ่งซึ่งจะปิดไม่ได้ ๚ะ๛
๔๖๏ การปิด บ่ มิดต้อง | เผยผัง แผ่เฮย |
อย่าคิดปิดปกบัง | เบี่ยงส้อน๑๙ |
ขืนปิดเผื่อภายหลัง | ทลายทะลุ ขึ้นนา |
โทษจักเป็นสองซ้อน | เพราะเอื้ออำยวน๒๐ ๚ะ |
ที่ ๔๗ เด็กชายกับฟิลเบิด๒๑ “เป็นถั่วฝรั่งกินมัน”
๏ เด็กชายคนหนึ่ง ล้วงมือลงไปในไหคอแคบเต็มไปด้วยถั่วฟิลเบิด เด็กนั้นควักถั่วเต็มกำมือที่จะกำได้ ครั้นเมื่อจะชักมือออกมาชักไม่ได้ ด้วยกำมือติดคอไห จะวางถั่วฟิลเบิดเสียก็ไม่เต็มใจเสียดาย น้ำตาไหลอาบแล้วร้องไห้คร่ำครวญไปเพราะไม่ได้สมความประสงค์ คนซึ่งอยู่ใกล้ที่นั้นคนหนึ่งจึงว่ากับเด็กนั้นว่า เจ้าจงเต็มใจเอาแต่ครึ่งกำเถิด เจ้าก็จะชักมือเจ้าออกได้โดยง่าย ๚ะ๛
อย่าคิดเอาให้มากนักในคราวเดียว ๚ะ๛
๔๗๏ แสวงใดควรคิดยั้ง | ผ่อนโรย ปันนา |
อย่าโลภคราวเดียวโกย | กอบกว้าน |
เฉกพายุพัดโชย | ชายเฉื่อย ชื่นแฮ |
สมพยุกระโชกค้าน | เดาะไม้ทลายลง ๚ะ |
ที่ ๔๘ คนทำงานกับงู
๏ งูตัวหนึ่งมีปล่องอยู่ไกลเฉลียงเรือนแห่งหนึ่ง งูตัวนั้นกัดลูกชายอ่อน ๆ เป็นแผลสำคัญถึงแก่ความตาย บิดามารดามีความเศร้าโศกเป็นอันมาก บิดาคิดจะฆ่างูเสียให้ได้
ฤๅจะว่าถ้าเห็นหน้าผู้ที่ทำให้เป็นอันตรายอยู่แล้ว จะลืมความโกรธแค้นเสียได้จริง ๆ นั้นไม่ได้ ๚ะ๛
๔๘๏ เห็นคนข้าศึกเสี้ยน | สงคราม กันฤๅ |
ใครอาจจะลืมความ | โกรธแค้น |
เปรียบเดินพบงูหวาม | ใจหวาด ฉะนั้นนา |
เวรตอบเวรแน่นแฟ้น | ก่อเชื้อไฟฟุน ๚ะ |
ที่ ๔๙ ม้ากับคนเลี้ยงม้า
๏ คนเลี้ยงม้าผู้หนึ่ง เคยกราดแปรงแลถูรูปม้าอยู่เสมอตลอดวันยังค่ำทุก ๆ วัน แต่คนเลี้ยงม้าขโมยข้าวให้ที่สำหรับให้ม้ากิน ไปขายเป็นประโยชน์ตนอยู่เสมอด้วย ม้านั้นจึงได้ว่ากับคนเลี้ยงว่า ถ้าท่านอยากจะให้ข้าพเจ้าสบายดีจริง ๆ แล้ว ท่านจงปฏิบัติรักษาข้าพเจ้าให้น้อยลง แลให้อาหารข้าพเจ้าให้มากขึ้นอีก
ความซื่อตรงเป็นทางอย่างเอกของความประพฤติ ๚ะ๛
๔๙๏ ความสัตย์สุจริตพร้อม | ไตรทวาร |
บ่ คดคิดตรงปาน | ปทัดไม้๒๒ |
ฤๅดั่งช่างชูสมาน | ความซื่อ |
เป็นเอกของการใช้ | ประพฤติทั้งธาตรี ๚ะ |
ที่ ๕๐ ลากับสุนัข…………...
๏ ชายผู้หนึ่งมีลาอยู่ตัวหนึ่ง กับสุนัขเล็กพันธุ์เมืองมอลติด๒๓ตัวหนึ่งงามยิ่งนัก ลานั้นอยู่โรงมีข้าวแลหญ้ากินมากบริบูรณ์เหมือนกับที่เลี้ยงลาอื่น ๆ จะเลี้ยงได้ สุนัขนั้นมีวิชาหลายอย่าง เป็นที่อย่างยิ่งของเจ้าของ เจ้าของชอบเล่นอยู่เนือง ๆ ถ้าจะไปกินเลี้ยงแห่งใดก็มีของที่อร่อย ๆ มาฝากให้สุนัขกินด้วยมิใคร่ขาด สุนัขนั้นก็วิ่งเล่นแลกระโดดอยู่ริมตัวเขาเป็นที่น่าดู ฝ่ายลาข้างหนึ่งนั้นมีงานที่จะต้องทำมากคือโม่แป้ง บรรทุกฟืนมาแต่ป่า แลบรรทุกของหนักมาแต่ไร่ ลานั้นมีความเศร้าโศก ด้วยมีความลำบากความหนักของตัว เปรียบกับความบริบูรณ์แลความเกียจคร้านของสุนัขเล็กอยู่เนือง ๆ อยู่มาวันหนึ่งลาดึงเชือกที่ผูกนั้นขาด ห้อไปในเรือนเจ้าของ คะนองยกเท้าเตะไม่มีประมาณ แล้ววิ่งเล่นแลโผนเข้าไปทำประจบทำเต้นกำลังที่จะทำได้ต่อไป ก็กระโดดตามข้างตัวเจ้าของจะทำให้เหมือนที่เห็นสุนัขเล็กทำ แต่ไปโดนโต๊ะหัก ถ้วยจานทั้งปวงบนโต๊ะเปรื่องปร่างแตกละเอียดไป ภายหลังทำจะเข้าไปเลียเจ้าของแล้วกระโดดขึ้นบนหลัง พวกบ่าวทั้งปวงได้ยินเสียงตึงตังประหลาด ก็เห็นเหตุว่าจะมีอันตรายแก่นาย พากันรีบไปช่วยโดยเร็ว ไล่ลาออกไปโรงด้วยเตะแลตีด้วยไม้ ทุบตีด้วยมือเป็นอันมาก ลากลับไปที่อยู่ ถูกตีเกือบจะถึงแก่ความตาย ก็มีความเศร้าโศกคร่ำครวญว่า นี่ตัวเราหาอันตรายใส่ตัวเราเองทั้งนั้น…………..ไม่เต็มใจที่จะทำงานกับเพื่อนทั้งปวงของเราเพราะอยากจะเกียจคร้านตลอดวันเหมือนกับสุนัขเล็ก ที่ไม่มีประโยชน์อันใดฤๅ ๚ะ๛
ไม่รู้จักประมาณตัวว่าตัวควรใช้สถานใด ๚ะ๛
๕๐๏ เห็นเขาสบายอยากได้ | ดลสบาย บ้างแฮ |
กลับทุกข์โศกเพียงวาย | ชีพม้วย |
เพราะไม่ประมาณกาย | เกิดแต่ ทุกข์นา |
ทำเยี่ยงเขาดีด้วย | จึงได้ทุกข์ทวี ๚ะ |
ที่ ๕๑ สุนัขซนอย่างคุม
๏ สุนัขตัวหนึ่ง พบใครมักจะย่องเข้าไปที่เท้าเงียบ ๆ กัดเอามิให้ทันรู้ เจ้าของสุนัขนั้นจึงหากระดึงใบหนึ่งผูกไว้ที่คอ เมื่อสุนัขตัวนั้นจะไปที่ไหนให้รู้ว่าไปที่นั่น สุนัขตัวนั้นมีความกำเริบด้วยระฆังก็วิ่งไปให้ระฆังนั้นดังเป็นการอวดท้องตลาด สุนัขแก่ตัวหนึ่งจึงว่ากับสุนัขนั้นว่า ทำไมเจ้าจึงทำการอวดตัวเจ้าเองด้วยเหตุอันนี้ ระฆังที่เจ้าแขวนคออยู่นั้นเชื่อเราเถิด ระฆังที่แขวนอยู่นั้นมิใช่เครื่องอิสริยยศสำหรับความดีดอก อันที่จริงตรงนั้นเป็นที่หมายแห่งความเสียความไม่ดีดอก เพื่อประกาศคนทั้งปวงให้หลีกเจ้า เพราะเจ้าเป็นสุนัขผู้มีอาการอันชั่ว ๚ะ๛
ชื่อเสียงดังเพราะความไม่ดี มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเกียรติยศเกียรติคุณ ๚ะ๛
๕๑๏ ฦๅชื่อเพราะชั่วร้าย | ทรชน |
เรียกต่อฉายาจน | เลื่องอ้าง |
เข้าใจผิดว่าตน | บุญประกอบ |
เกียรติยศเกียรติคุณข้าง | ชั่วนั้นฤๅถวิล ๚ะ๒๔ |
-
๑. มทันโทษไปดล พิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ↩
-
๒. โคลงบทนี้และบทอื่นหลังจากนี้ บางบทต้นฉบับหนังสือสมุดไทยไม่ได้ระบุนามผู้ประพันธ์ไว้ ↩
-
๓. หมายถึงเทพจูปิเตอร์ (Jupiter) ราชาแห่งเทพในตำนานเทพเจ้าโรมัน เท่ากับเทพซูสในตำนานเทพเจ้ากรีก ในหนังสือสมุดไทยเขียนต่าง ๆ กัน เช่น ยูปิดเตอ ยูปิตเตอ จูปิตเตอ จูปิกเตอ ↩
-
๔. กระโปรง ในที่นี้หมายถึง เครื่องจักสานเป็นกระบุงรูปทรงสูง กันเป็นสี่เหลี่ยม ปากผายเล็กสอบลงมา ลักษณะคล้ายกระโปรงบานใช้สำหรับขนสิ่งของต่าง ๆ เช่นมะพร้าวหรือข้าวเปลือก ↩
-
๕. สปันจ์ ต้นฉบับสมุดไทยเขียนว่า สปันซ์ หมายถึง Sponge แปลว่า ฟองน้ำ ↩
-
๖. โคลงบาทแรกในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน ใช้ข้อความจากภาพปักเครื่องตั้งงานพระเมรุ ร.ศ. ๑๐๘ ↩
-
๗. รามามาจากสำนวน “รามากะทาสี” แปลว่า ข่มเหง, รบกวน, รังแก ↩
-
๘. ขี้เท็จ ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเป็น คี่เท็จ ↩
-
๙. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน ↩
-
๑๐. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน ↩
-
๑๑. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือนและชำรุด ↩
-
๑๒. นกแก คือ อีแก นกอีแก เป็นนกชนิดหนึ่งในวงศ์นกอีกา แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อยค่อนข้างบาง หน้าผาก กระหม่อม คอ และหน้าอกส่วนบนดำเงา มีปลอกคอจากท้ายทอยถึงอก ส่วนล่างเป็นสีน้ำตาลเทาอ่อน - เข้ม แตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่ ปีก หาง และขาเป็นสีดำ ในนิทานพื้นบ้านของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความกตัญญู ↩
-
๑๓. แส้ คือ แซ่ แปลว่า วงศ์ตระกูล เขียนแบบคำโทโทษ ↩
-
๑๔. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน นับจากนี้ เนื้อความที่ต้นฉบับเลอะเลือนจะเว้นและลงประจุดไข่ปลาไว้ ↩
-
๑๕. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือนและชำรุด ↩
-
๑๖. ระหาย แปลว่า กระหาย, อยากน้ำ, หิวน้ำ ↩
-
๑๗. ลีลีปุต หมายถึง Lilliputเกาะลีลลิพุต ในเรื่อง การเดินทางของกัลลิเวอร์ (Gulliver’s Travels) ภาคแรก การผจญภัยที่ลีลลีพุต A Voyage to Lilliput ของโจนาธาน สวิฟต์ (Jonathan Swift) นักเขียนขาวไอริช เป็นชื่อเกาะซึ่งเต็มไปด้วยมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่ยึดมั่นในคุณธรรมความดี จนบางครั้งเป็นการเถรตรงเกินไป ↩
-
๑๘. เมืองโรเดศ เป็นการสะกดโดยการถอดพยัญชนะ น่าจะหมายถึง เกาะโรดส์ (Rhodes) อยู่ทางตอนใต้สุดของกรีก ↩
-
๑๙. ส้อน คือ ซ่อน เป็นคำโทโทษ ↩
-
๒๐. อำยวน แปลว่า ความลับ, ปกปิด, ปิดบัง, พราง, อำพราง ↩
-
๒๑. คือ ถั่วฟิลเบิร์ต Filberts เป็นถั่วชนิดเดียวกับเฮเซลนัต ↩
-
๒๒. ปทัดไม้ คือ ไม้บรรทัด ↩
-
๒๓. คือ มอลทีส (maltese) ↩
-
๒๔. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๓ เรื่อง อิศปปกรณัม เล่ม ๓ ↩
-
๑. มทันโทษไปดล พิมพ์ตามต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ↩
-
๒. โคลงบทนี้และบทอื่นหลังจากนี้ บางบทต้นฉบับหนังสือสมุดไทยไม่ได้ระบุนามผู้ประพันธ์ไว้ ↩
-
๓. หมายถึงเทพจูปิเตอร์ (Jupiter) ราชาแห่งเทพในตำนานเทพเจ้าโรมัน เท่ากับเทพซูสในตำนานเทพเจ้ากรีก ในหนังสือสมุดไทยเขียนต่าง ๆ กัน เช่น ยูปิดเตอ ยูปิตเตอ จูปิตเตอ จูปิกเตอ ↩
-
๔. กระโปรง ในที่นี้หมายถึง เครื่องจักสานเป็นกระบุงรูปทรงสูง กันเป็นสี่เหลี่ยม ปากผายเล็กสอบลงมา ลักษณะคล้ายกระโปรงบานใช้สำหรับขนสิ่งของต่าง ๆ เช่นมะพร้าวหรือข้าวเปลือก ↩
-
๕. สปันจ์ ต้นฉบับสมุดไทยเขียนว่า สปันซ์ หมายถึง Sponge แปลว่า ฟองน้ำ ↩
-
๖. โคลงบาทแรกในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน ใช้ข้อความจากภาพปักเครื่องตั้งงานพระเมรุ ร.ศ. ๑๐๘ ↩
-
๗. รามามาจากสำนวน “รามากะทาสี” แปลว่า ข่มเหง, รบกวน, รังแก ↩
-
๘. ขี้เท็จ ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเป็น คี่เท็จ ↩
-
๙. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน ↩
-
๑๐. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน ↩
-
๑๑. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือนและชำรุด ↩
-
๑๒. นกแก คือ อีแก นกอีแก เป็นนกชนิดหนึ่งในวงศ์นกอีกา แต่ตัวเล็กกว่าเล็กน้อยค่อนข้างบาง หน้าผาก กระหม่อม คอ และหน้าอกส่วนบนดำเงา มีปลอกคอจากท้ายทอยถึงอก ส่วนล่างเป็นสีน้ำตาลเทาอ่อน - เข้ม แตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่ ปีก หาง และขาเป็นสีดำ ในนิทานพื้นบ้านของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความกตัญญู ↩
-
๑๓. แส้ คือ แซ่ แปลว่า วงศ์ตระกูล เขียนแบบคำโทโทษ ↩
-
๑๔. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือน นับจากนี้ เนื้อความที่ต้นฉบับเลอะเลือนจะเว้นและลงประจุดไข่ปลาไว้ ↩
-
๑๕. ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเลอะเลือนและชำรุด ↩
-
๑๖. ระหาย แปลว่า กระหาย, อยากน้ำ, หิวน้ำ ↩
-
๑๗. ลีลีปุต หมายถึง Lilliputเกาะลีลลิพุต ในเรื่อง การเดินทางของกัลลิเวอร์ (Gulliver’s Travels) ภาคแรก การผจญภัยที่ลีลลีพุต A Voyage to Lilliput ของโจนาธาน สวิฟต์ (Jonathan Swift) นักเขียนขาวไอริช เป็นชื่อเกาะซึ่งเต็มไปด้วยมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่ยึดมั่นในคุณธรรมความดี จนบางครั้งเป็นการเถรตรงเกินไป ↩
-
๑๘. เมืองโรเดศ เป็นการสะกดโดยการถอดพยัญชนะ น่าจะหมายถึง เกาะโรดส์ (Rhodes) อยู่ทางตอนใต้สุดของกรีก ↩
-
๑๙. ส้อน คือ ซ่อน เป็นคำโทโทษ ↩
-
๒๐. อำยวน แปลว่า ความลับ, ปกปิด, ปิดบัง, พราง, อำพราง ↩
-
๒๑. คือ ถั่วฟิลเบิร์ต Filberts เป็นถั่วชนิดเดียวกับเฮเซลนัต ↩
-
๒๒. ปทัดไม้ คือ ไม้บรรทัด ↩
-
๒๓. คือ มอลทีส (maltese) ↩
-
๒๔. จบหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๒ ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๓ เรื่อง อิศปปกรณัม เล่ม ๓ ↩