สมุดไทยเลขที่ ๑๕
ที่ ๑๕๘ รูปเมอรควิรี่กับช่างไม้
๏ มีคนหนึ่งเป็นคนจน หากินด้วยเป็นช่างไม้ มีรูปเมอรควิรี่ทำด้วยไม้รูปหนึ่ง ก็บูชาเซ่นสรวงที่หน้านั้นทุกวันทุกวัน ขอให้รูปนั้นทำให้มั่งมี แต่ถึงว่าขออยู่ดังนี้เสมอก็ยิ่งจนลงจนลง จนภายหลังมีความโกรธมาก ก็เอารูปนั้นลงเสียจากที่ตั้ง แล้วเอากระแทกเข้ากับฝาผนัง ครั้นเมื่อหัวรูปนั้นหักออก ทองคำก็ไหลออกมา ช่างไม้นั้นก็รีบโดยเร็ว แล้วว่าเออเราหมายว่าท่านจะกลับกลายเสียทีเดียว ไม่ทำให้ต้องตามสมควรเล่า เพราะเมื่อเรานับถือไหว้กราบท่านอยู่ เรามิได้มีผลประโยชน์อันใดที่จะเก็บได้ แต่เดี๋ยวนี้เราทำไม่ดีต่อท่าน เราได้ความอิ่มเอิบไปด้วยมั่งมีเป็นอันมาก ๚ะ๛
ตีความเป็นสุภาษิตไม่ได้
แต่ตีเอาตามรูปความเห็นว่า ผู้ที่ไม่ทำดีตอบแก่ผู้ที่ทำความดีแก่ตน ก็มักจะต้องทำความดีแก่ผู้ที่คิดร้ายทำร้ายแก่ตน ฯ
……...ลาภแลมิใช่ลาภอันใด หากจะเป็นไปด้วยกรรมแลเคราะห์โชคของตัวเอง ไม่เป็นไปด้วยการขอร้องบนบานเจ้านายผู้ศักดิ์สิทธิ์ แสวงหาขวนขวายให้ยิ่งกว่าธรรมดาที่ควรหาได้ ฯ
ที่ ๑๕๙ โคผู้กับแพะผู้
๏ โคผู้ตัวหนึ่งหนีราชสีห์เข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชาวเลี้ยงแกะเคยอยู่มาแต่ก่อน แพะผู้ตัวหนึ่งเหลืออยู่ในนั้นตัวหนึ่ง ก็เข้าขวิดชนโคด้วยเขาทั้งสองโดยแข็งแรง โคจึงว่ากับแพะโดยคำเฉย ๆ ว่า เจ้าจะชนสักเท่าไรก็ชนไปตามชอบใจเจ้าเถิด เรามิได้กลัวเจ็บ เรากลัวราชสีห์ดอก ขอให้สัตว์ร้ายใหญ่ไปเสียสักครั้งหนึ่ง เราจะให้เจ้ารู้โดยเร็วว่าแรงของแพะอย่างไรแรงของโคอย่างไร ๚ะ๛
๏ การเอาเปรียบเพื่อนกันในเวลาที่คับแค้น แสดงให้เห็นว่าเป็นความคิดอันชั่วร้าย ๚ะ๛
พระยาราชวรานุกูล๑
ที่ ๑๖๐ ตะเกียง
๏ ตะเกียงใบหนึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันจนมากเกินไป ไฟก็โพลงมากนัก ตะเกียงนั้นอวดตัวว่าทำให้สว่างได้มากกว่าพระอาทิตย์ ขณะนั้นลมพัดวูบมาทันที ไฟก็ดับในทันใดนั้น เจ้าของก็จุดขึ้นใหม่ แล้วกล่าวว่าอย่าอวดต่อไปดังนี้ อนึ่งแต่นี้ต่อไปภายหน้าจงเต็มความปรารถนาเพียงให้ความสว่างโดยเงียบ ๆ เถิด แลเจ้าจงรู้เสียว่า แต่ชั้นดาวทั้งปวงก็ไม่ต้องจุดใหม่ ๚ะ๛
คำอวดอ้างคุมเหงตนเกินกว่าที่มีจริง ๆ คำที่อวดเปล่านั้นก็คงปรากฏให้เห็น ๚ะ๛
ขุนพินิจจัย๒
ที่ ๑๖๑ ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอกแลลา
๏ ราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอกตกลงเข้ากัน ว่าจะช่วยกันและกันในการไล่สัตว์ ได้มากแล้วกลับมาจากป่า ราชสีห์ก็ขอให้ลาเป็นผู้แจกส่วนให้แก่ผู้ที่ได้สัญญากันทั้งสามตามสมควรแก่ผู้ที่จะได้เป็นส่วน ๆ ลาก็อุตสาหะแบ่งปันโดยความระวัง แบ่งอาหารนั้นออกเป็นส่วนเท่า ๆ กัน แล้วขอโดยสุภาพให้สัตว์ทั้งสองเลือกก่อน ราชสีห์ก็ฉุนขึ้นด้วยความโกรธจับลากินเสียแล้วขอให้สุนัขจิ้งจอกมีความปรานีแก่เราช่วยแบ่งส่วนใหม่ สุนัขจิ้งจอกก็เอาสัตว์ทั้งปวงที่ได้ฆ่ามาแล้วนั้นซ้อน ๆ กันขึ้นเป็นกองใหญ่ เหลือไว้
ส่วนตัวเองแต่อย่างน้อยที่สุดสักคำเดียว ราชสีห์นั้นก็ถามว่าใครสอนท่านเพื่อนผู้ประเสริฐของเราในวิชาที่จะแบ่งปันอย่างนี้ ท่านทำดีทีเดียวมิได้มีความเสียหายเลย สุนัขจิ้งจอกตอบว่าข้าพเจ้าเรียนจากลา ด้วยได้เห็นเหตุการณ์ที่ต้องเป็นมาแล้ว ๚ะ๛
๏ ผู้ซึ่งได้เรียนรู้จากที่เห็นผู้อื่นเป็นอันตราย เป็นผู้มีความสุขหนอ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัต
ที่ ๑๖๒ ขุนนางศีรษะล้าน
๏ ขุนนางผู้หนึ่งศีรษะล้านใส่ผมทำใหม่ออกไปเที่ยวไล่สัตว์ พอลมพัดกระโชกมาหมวกแลผมก็ปลิวไป เมื่อเป็นดังนี้เพื่อนฝูงทั้งปวงก็พากันหัวเราะด้วยเสียงอันดังต่อ ๆ กันไป ขุนนางผู้นั้นก็รั้งบังเทียนม้าไว้ แล้วหัวเราะทำสนุกไปในการที่ล้อนั้นด้วย แล้วกล่าวว่าอัศจรรย์อันใดกับผมที่มิใช่ของข้าพเจ้าจะปลิวไปจากข้าพเจ้า แต่เจ้าของเดิมของผมนั้นเองมันยังมาเสียจากได้ ยังว่าผมนั้นเกิดมาพร้อมกับเจ้าของด้วยกัน ๚ะ๛
ช่วยปกปิดโทษผู้ที่ทำความชั่วคงจะต้องคำซักเมื่อการนั้นจำเป็นต้องปรากฏ ๚ะ๛
ขุนพินิจจัย
ที่ ๑๖๓ คนเลี้ยงแกะกับสุนัข
๏ คนเลี้ยงแกะผู้หนึ่งต้อนแกะเข้าเป็นฝูงในเวลาค่ำ เกือบจะต้อนสุนัขป่าเข้าไปด้วย สุนัขเลี้ยงเห็นดังนั้นจึงเตือนว่านาย ถ้านายปล่อยสุนัขป่าเข้าไปอยู่ในฝูง จะหมายว่าแกะทั้งปวงจะรอดอันตรายอย่างไรฤๅ ๚ะ๛
คนร้ายกับคนดีอยู่ด้วยกันไม่ได้ ๚ะ๛
ขุนพินิจจัย
ที่ ๑๖๔ ต้นโอก๓ทั้งปวงกับจูปิเตอร์
๏ แต่กาลปางก่อนมา ต้นโอกทั้งปวงมิได้เป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นแต่ไม้กอเล็ก ๆ มิได้มีความพอใจที่ตัวต้นต่ำดังนั้น จึงขอต่อยูปิดเตอให้ขยับต้นให้สูงแลขยับอ้อมให้ใหญ่ขึ้น ยูปิดเตอชี้แจงห้ามปรามว่า ถ้าได้สมความประสงค์แล้ว ภายหลังจะมีความเสียใจ ต้นโอกมิฟังแล้ว จึงได้ให้ลำต้นสูงใหญ่เหมือนทุกวันนี้ อยู่มาภายหลังหลายปี ต้นโอ๊กขึ้นไปทำคำร้องต่อยูปิดเตอว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายต้องทนความหนักแห่งชีวิตไม่มีประโยชน์อันใดในบรรดาต้นไม้ที่งอกอยู่ทั้งปวงแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายต้องเป็นผู้มีความกลัวขวานอย่างยิ่งติดต่อกันอยู่เสมอ ยูปิดเตอจึงตอบว่าทั้งปวงควรจะตอบใจตัวเอง ในการที่เจ้าจะต้องรับเคราะห์เท่านั้น เพราะตัวเจ้าไม่ได้ทำเป็นเสาใหญ่เสาเล็กอย่างเอก แลมีได้ทำให้ตัวเจ้ามีประโยชน์แก่ช่างไม้แลชาวไร่นาทั้งปวง ขวานก็จะไม่ถูกรากเจ้าบ่อย ๆ ๚ะ๛
คนมีอำนาจวาสนาแลมีทรัพย์มากย่อมมีศัตรูมาก ๚ะ๛
ขุนพินิจจัย
ที่ ๑๖๕ กระต่ายกับสุนัขไล่สัตว์
๏ สุนัขไล่เนื้อตัวหนึ่งไล่กระต่ายขึ้นจากที่อยู่ เมื่อสุนัขนั้นวิ่งไปไกลแล้วก็หยุดเสีย คนเลี้ยงแพะผู้หนึ่งเห็นสุนัขหยุดก็ร้องล้อว่า ในการวิ่งของสัตว์สองตัวนี้แล้ว ตัวเล็กเป็นอย่างเอก สุนัขจึงตอบว่าท่านไม่เห็นว่าผิดกันอย่างไรในระหว่างข้าพเจ้าทั้งสอง ข้าพเจ้าวิ่งนั้นเพื่ออาหารมื้อเดียว ข้างเขาวิ่งเพื่อเอาชีวิตรอดก็ต้องผิดกันอยู่เอง ๚ะ๛
ความจำใจทำกับตั้งใจทำย่อมผิดกันเป็นธรรมดา ๚ะ๛
๑๖๕๏ ผู้ใดประกอบกิจด้วย | เต็มใจ |
จักกระทำอันใด | ห่อนช้า |
ผิจำจิตกิจไฉน | จักลุ พลันนา |
มักจักชวนเฉื่อยล้า | เล่ห์นี้ธรรมเนียม ๚ะ |
ขุนมหาสิทธิโวหาร
ที่ ๑๖๖ ต้นโอกกับคนตัดไม้ทั้งปวง
๏ คนตัดไม้ทั้งปวงตัดต้นโอกบนเขาแล้วผ่าเป็นซีก ๆ เอากิ่งโอกนั้นเองทำเป็นลิ่มแทรกหว่างไม้ที่ผ่ามาแล้ว เพื่อจะช่วยแรงคนงานทั้งปวง ต้นโอ๊กถอนใจใหญ่แล้วว่า ที่ขวานฟันต้นเรานั้น เรามิได้มีความน้อยใจ แต่มีความเจ็บใจด้วยต้องฉีกเป็นซีกไปเพราะลิ่มทั้งปวง ซึ่งทำด้วยกิ่งของเราเอง ๚ะ๛
๏ ความพินาศอันตรายซึ่งเกิดมาแต่ลูกหลานของเราเอง เป็นอันยากที่จะทนได้ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
ที่ ๑๖๗ ตัวต่อกับงู
๏ ต่อตัวหนึ่งจับบนศีรษะงูแล้วต่อยด้วยเหล็กในเป็นแผลมิได้ถอนเลย งูนั้นจะตายได้ความลำบากอย่างยิ่ง มิรู้ที่จะคิดอ่านอย่างไรให้รอดพ้นศัตรูได้ ฤๅจะไล่ให้พ้นไปเสียก็ไม่ได้ แลเห็นเกวียนบรรทุกหนักด้วยไม้เดินมาทางนั้น ก็คลานเข้าไปเพื่อจะเอาศีรษะรองล้อทั้งปวง แล้วกล่าวว่า ตัวเราแลศัตรูของเราจนถึงความฉิบหายเสียด้วยกันดังนี้เถิด ๚ะ๛
ศัตรูที่สิ้นความคิดมักไม่คิดชีวิตในการที่จะแก้แค้น ๚ะ๛
๑๖๗๏ หมู่รณจนจิตต้อง | ผจญภัย |
มักไป่คิดอาลัย | ชีพม้วย |
เขาประทุษฉันใด | จักตอบ แทนนา |
ถึงจักวายชีพด้วย | เหตุแก้แค้นควร ๚ะ |
๑๖๗๏ หมู่รณจนจิตเข้า | ขับขัน |
จักหลีกจักหนีกัน | ห่อนพ้น |
จำจิตคิดประจัญ | ประจวบชีพ วายนา |
คงรับคงรุกร้น | รีบสู้สุดตัว ๚ะ |
ขุนมหาสิทธิโวหาร
ที่ ๑๖๘ นกยูงกับนกกระเรียน
๏ นกยูงตัวหนึ่งพบนกกระเรียนก็แผ่หางงามอย่างยิ่ง แลล้อเป็นการเยาะเย้ยนกกระเรียนซึ่งเป็นสีเทา แล้วกล่าวว่าเราแต่งตัวเหมือนกับเจ้าแผ่นดินด้วยสีทองแลสีม่วงกับสีต่าง ๆ อย่างสีรุ้ง ส่วนปีกของเจ้าไม่มีสีอะไรแต่สักอย่างเดียว นกกระเรียนตอบว่าจริง แต่เราบินสูงเสมอฟ้าส่งเสียงไปถึงดาวทั้งปวง ส่วนเจ้าเดินอยู่กับแผ่นดินเหมือนกับไก่ ปนอยู่ในนกที่โสโครกทั้งปวง ๚ะ๛
๏ งามแต่ขนมิได้ทำให้เป็นนกดีได้ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
ที่ ๑๖๙ ไก่กับไข่ทองคำ
๏ ชาวบ้านนอกกับเมียมีนางไก่ตัวหนึ่งใข่เป็นทองคำวันละใบเสมอทุกวัน ผัวเมียคู่นั้นคะเนเห็นว่าไก่ตัวนั้นคงจะมีทองแท่งใหญ่อยู่ภายใน จึงได้ฆ่าไก่เพื่อจะเอาทองนั้น ครั้นเมื่อฆ่าแล้ว เขาทั้งสองก็มีความพิศวงด้วยมิได้เห็นว่าไก่นั้นผิดจากธรรมดาของไก่อื่นเลย ผ้วเมียคู่นั้นหมายใจว่าจะมั่งมีในครั้งเดียว ก็เสียสิ่งซึ่งได้เป็นแน่อยู่ทุกวันนั้นไปด้วย ๚ะ๛
โลภมากลาภหาย
๑๖๙๏ ผู้ใดใจโลกล้น | ลามปาม |
ได้หนึ่งจักเอาสาม | สี่ห้า |
ไป่คิดถ่อมตนลาม | โลกล่วง ละเมิดนอ |
มักจักลอยหลุดคว้า | หนึ่งซ้ำพลอยสูญ ๚ะ |
๑๖๙๏ ผัวเมียไก่ไข่ให้ | เป็นทอง |
วันละใบใจปอง | ลาภล้ำ |
จับไก่ผ่าอกมอง | หาแห่ง ทองนา |
ทอง บ่ ได้ไก่ซ้ำ | พืชสิ้นสูญฟอง ๚ะ |
ขุนมหาสิทธิโวหาร
ที่ ๑๗๐ ลากับกบ
๏ ลาตัวหนึ่งต้องบรรทุกฟืนข้ามหนอง เมื่อข้ามไปถึงกลางน้ำเท้าเหยียบผิดพลาดล้มลงมิอาจที่จะลุกขึ้นได้ด้วยความหนักแห่งของที่บรรทุก ลานั้นก็ครางหนักทีเดียว กบบางจำพวกที่เคยอยู่ในหนองได้ยินเสียงคร่ำครวญดังนั้นจึงว่า ถ้าท่านต้องอยู่ในที่นี้เสมอเหมือนกับเราจะอย่างไร แต่เพียงหกล้มลงในน้ำเท่านี้ก็ต้องบ่นด้วยฤๅ ๚ะ๛
๏ คนเรามักจะบ่นเนือง ๆ ที่จะทนความลำบากเล็กน้อยไม่ใคร่จะได้ เหมือนกับทนอันตรายใหญ่ ๆ ทั้งปวง ๚ะ๛
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
ที่ ๑๗๑ นกกากับนกแก
๏ นกกาตัวหนึ่งมีความริษยานกแก เพราะถือกันว่านกแกนั้นเป็นนกสำหรับบอกลางไม่ดี ย่อมเป็นที่คนทั้งปวงสังเกต โดยกิริยาที่บินหนีว่าเป็นดีฤๅชั่วต่าง ๆ ในเหตุผลที่จะมีต่อไปข้างหน้านั้น ครั้นเมื่อนกกาเห็นคนเดินทางทั้งปวงเดินมา ก็บินขึ้นไปบนต้นไม้จับลงที่กิ่งไม้อันหนึ่งแล้วร้องเป็นอันดังเต็มเสียง คนเดินทางเหลียวหน้าไปตามเสียง มีความพิศวงว่าจะมีลางล่วงหน้าอย่างไร คนหนึ่งจึงได้ว่ากับเพื่อนกันว่าเราเดินทางไปเถิด เพราะเป็นแต่เสียงการ้องดอกท่าน จงทราบเถิดว่าเสียงกานี้ไม่มีลางอันใด ๚ะ๛
ผู้ใดถือเอาเพศแลกิริยาซึ่งมิใช่เป็นเพศของตัว เป็นเหมือนหนึ่งทำตัวให้เป็นที่เขาหัวเราะเยาะ ๚ะ๛
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
ที่ ๑๗๒ ตั้นไม้ทั้งปวงกับขวาน
๏ ชายผู้หนึ่งเข้าไปในป่าขอต้นไม้ทั้งปวงให้ช่วยหาด้ามขวานให้สักอันหนึ่ง ต้นไม้ทั้งปวงก็ยอมทำตามคำขอให้ต้นแอช (เป็นไม้เหนียว) รุ่นต้นหนึ่ง ครั้นเมื่อชายนั้นได้ไม้ใหม่ทำด้ามติดกับขวานแล้ว ในประเดี๋ยวนั้นก็ลงมือใช้ฟันต้นไม้ใหญ่งามในป่าล้มโดยเร็ว ต้นโอกเก่าต้นหนึ่งก็มีความเศร้าโศกรำพันต่อเพื่อนทั้งปวงเมื่อช้าเกินไปเสียแล้ว ว่ากับต้นชิคาที่อยู่ใกล้ว่า การที่เริ่มแรกเท่านั้นเราอาจเสียได้หมด ถ้าเราทั้งหลายมิได้ยกความชอบธรรมของต้นแอชเสีย เราคงจะยังรักษาอำนาจที่ควรยกควรเว้นของเราไว้ได้ แลยังจะยืนอยู่หลายชั่วอายุ ๚ะ๛
ข่มขี่ผู้น้อยในพวกตัวให้แก่ศัตรูเพื่อปรารถนาจะเอาตัวรอด การนั้นจะกลับเป็นทางฉิบหายใหญ่ทำให้ศัตรูปรารถนาอีก ๚ะ๛
ขุนมหาสิทธิโวหาร
๑๗๒๏ ข่มผู้ต่ำศักดิ์ให้ | ศัตรู |
หวังเพื่อตัวรอดชู | เชิดไว้ |
คนอื่นไป่เอ็นดู | รักแต่ ตนนา |
มักจักเกิดภัยได้ | เหตุด้วยอาธรรม์ ฯ |
ขุนมหาสิทธิโวหาร
ที่ ๑๗๓ โคแลนางราชสีห์ แลพรานสุกรป่า
๏ โคตัวหนึ่งพบลูกราชสีห์นอนหลับก็ขวิตด้วยเขาถึงแก่ความตาย นางราชสีห์มาพบก็มีความเศร้าโศกคร่ำครวญ ด้วยบุตรแห่งตนถึงแก่ความตาย พรานสุกรป่าผู้หนึ่งเห็นนางราชสีห์ได้ความคับแค้นดังนั้น ก็ยืนอยู่ ณ ที่ไกลแล้วกล่าวว่า ท่านจงคิดดูว่าจะมีคนสักกี่มากน้อย ที่มีเหตุจะต้องคร่ำครวญด้วยเสียบุตรทั้งหลายไปด้วยความตายอันใดซึ่งท่านได้เป็นผู้ทำเหตุนั้น ๚ะ๛
คนพาลผู้ทำอันตรายแก่ผู้อื่นให้ได้ความคับแค้นโดยไม่กรุณา มักจะเห็นโทษแห่งการที่ตนได้ทำนั้นต่อเมื่อเวลาทุกข์นั้นมาถึงตัวเอง ๚ะ๛
๑๗๓๏ พาละชนชั่วร้าย | ทุจริต |
เบียนแต่เขาขุ่นนิจ | เนื่องร้อน๔ |
ห่อนเห็นโทษความผิด | ของอาตม์ เองนา |
ต่อทุกข์กระทั่งถึงย้อน | คิดรู้โทษตน ๚ะ |
ขุนมหาสิทธิโวหาร
ที่ ๑๗๔ สุนัขป่าทั้งปวงกับสุนัขเลี้ยงแกะทั้งปวง
๏ สุนัขป่าทั้งปวงว่ากับสุนัขเลี้ยงแกะทั้งปวงว่า ทำไมท่านก็เหมือนกับเราเป็นหลายอย่าง จึงไม่เป็นน้ำใจเดียวกับเราทั้งหลายทีเดียว แลอยู่กับเราทั้งหลายเหมือนกับพี่น้องควรจะอยู่ เราผิดกับท่านก็อย่างเดียวเท่านั้น คือเราอยู่เป็นไทย แต่ส่วนท่านต้องนบนอบแลเป็นทาสของคนทั้งปวง ซึ่งวางวันที่ท่านได้รับการด้วยเฆี่ยนด้วยแส้ แลเอาปลอกรัดคอท่าน อีกเขาทั้งปวงยังซ้ำให้ท่านรักษาฝูงแกะ แต่ครั้นเมื่อเขากินเนื้อแกะแล้วย่อมทิ้งแต่กระดูกให้ท่าน ถ้าท่านจะยอมตามคำเราทั้งหลายชักชวน ให้แกะทั้งปวงแก่เรา เราจะกินแกะนั้นด้วยกันจนเราจะอิ่มเหลือเฟือด้วยกันทั้งสิ้น สุนัขทั้งปวงก็ยอมฟังคำโดยดีตามที่กล่าวชักชวนนี้ แล้วเข้าไปในโพรงแห่งสุนัขป่าทั้งปวง สุนัขป่าทั้งปวงก็จับสุนัขบ้านฉีกเป็นชิ้น ๆ ไป ๚ะ๛
คำชี้แจงชักชวนใด ๆ แม้ถึงจะเป็นคำดีคำจริงอย่างไร ก็มักจะได้ประโยชน์แก่ผู้ชักชวนมากกว่าผู้ที่ทำตาม ๚ะ๛
นายทัศกุเรเตอ
ที่ ๑๗๕ นายขมังธนูกับราชสีห์
๏ นายขมังธนูผู้หนึ่งมีฝีมือชำนาญยิ่งนัก ไปเที่ยวหาสัตว์ตามภูเขา เมื่อเข้าไปในที่แห่งใดสัตว์ทั้งปวงก็พากันหนีหมด มีแต่ราชสีห์ตัวเดียวท้าสู้กันตัวต่อตัว นายขมังธนูก็ยิงลูกธนูลูกหนึ่งไปทันทีแล้วว่าแก่ราชสีห์ว่า เราส่งคนถือข่าวของเราไป แลจากผู้ถือข่าวนั้นท่านจะได้ทราบว่า ถ้าตัวเราต่อตีกับท่านเองจะเป็นอย่างไร ราชสีห์ต้องบาดเจ็บดังนั้นก็วิ่งไปโดยเร็วด้วยความกลัวเป็นอันมาก แลเมื่อนั้นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งซักชวนให้ราชสีห์แข็งใจจงดี แลอย่าให้หนีในการต่อตีครั้งแรก ราชสีห์ตอบว่าท่านแนะนำเราเสียเปล่า แต่เพียงเขาส่งผู้นำข่าวยังน่ากลัวดังนี้แล้ว เราจะคอยให้ตัวเขามาตีเองได้ฤๅ ๚ะ๛
๏ คนซึ่งตีได้แต่ไกล จะไม่เป็นเพื่อนบ้านอันอยู่สบายได้ ๚ะ๛
หลวงอินทรอาวุธ
ที่ ๑๗๖ อูฐ
๏ เมื่อคนได้เห็นอุฐครั้งแรกมีความกลัวนักด้วยรูปร่างใหญ่ก็วิ่งหนี ครั้นภายหลังมาหน่อยหนึ่งเห็นว่าใจอ่อนแลเรียบร้อยไม่ดุร้าย ก็แข็งใจกล้าเข้าไปที่อูฐ ภายหลังไม่นานนักก็สังเกตเห็นว่าเป็นสัตว์ใจไม่แข็งเลย จึงได้ถือเอาความกล้าหาญจนเข้าสอดบังเหียนจนในปากให้เด็กหัดขับไป ๚ะ๛
๏ เคยทำให้หายกลัว ๚ะ๛
หลวงอินทรอาวุธ
ที่ ๑๗๗ ปูกับสุนัขจิ้งจอก
๏ ปูตัวหนึ่งออกจากที่ฝั่งทะเล เลือกเอาที่ป่าหญ้าในที่ใกล้เคียงแห่งหนึ่งเป็นภูมิที่หากิน สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งมาพบกำลังหิวอดอยากเป็นกำลังก็กินเสีย เมื่อขณะปูจะต้องกินทีเดียวกล่าวว่า มีธุระอันใดของเราที่จะขึ้นบก เมื่อธรรมดาแลปกติเคยของเราเฉพาะสำหรับอยู่ในทะเลเท่านั้น ๚ะ๛
๏ ความสันโดษเต็มใจในสิ่งซึ่งเป็นของ ๆ เรา เป็นส่วนแห่งความสุข ๚ะ๛
หลวงอินทรอาวุธ
ที่ ๑๗๘ ผู้หญิงกับนางไก่
๏ ผู้หญิงคนหนึ่งมีนางไก่ตัวหนึ่งไข่วันละใบเสมอทุกวัน ผู้หญิงนั้นคิดอยู่เนือง ๆ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ให้ไก่ไข่มากขึ้นกว่าวันละใบเป็นวันละสองใบขึ้น อยากจะได้สมประสงค์ จึงตกลงใจว่าจะให้ไก่กินข้าวสองเท่าที่เคยให้กิน ตั้งแต่นั้นไปไก่ก็อ้วนจนขนเกลี้ยงมิได้ไข่อีกสักครั้งเดียว ๚ะ๛
โลภนักมักจะเป็นเหตุให้การนั้นเสียไปเอง ๚ะ๛
หลวงอินทรอาวุธ
ที่ ๑๗๙ ลากับคนแก่เลี้ยงแกะ
๏ คนเลี้ยงแกะผู้หนึ่งระวังให้ลากินหญ้าอยู่ในป่าหญ้าแห่งหนึ่ง มีความตกใจด้วยเสียงร้องแห่งสัตว์มาในทันที ก็เรียกลาให้หนีไปด้วยกับตัว หาไม่สัตว์จะจับไปได้ทั้งสองด้วยกัน ลาตอบอย่างขี้เกียจทีเดียวว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านว่าเหมือนอย่างข้าพเจ้านี้ ท่านคิดเห็นว่าท่านผู้ที่ชนะดูเหมือนจะบรรทุกต่างข้าพเจ้าสองคู่ฤๅ คนเลี้ยงแกะตอบว่าไม่ดอกลาจึงตอบว่านั่นแล ถ้าข้าพเจ้าต้องบรรทุกต่างสำรับเดียวอยู่ตราบใด ก็จะเป็นอันใดกับข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าจะต้องรับการของท่านผู้ใด ๚ะ๛
.ในการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง คนจนนี้ได้เปลี่ยนแปลงอันใดยิ่งกว่านี้ เปลี่ยนชื่อนายของตัว ๚ะ๛
หลวงอินทรอาวุธ
ที่ ๑๘๐ เหยี่ยวกับท่านทั้งปวง
๏ เหยี่ยวแต่อายุเก่าได้ความพิเศษที่ร้องเพลงได้เหมือนกับห่านทั้งปวง แต่ครั้นได้ยินเสียงม้าร้องก็ลุ่มหลงเห็นเพราะไปด้วยเสียงม้า ก็หัดเลียนทำเสียงม้า แต่หัดร้อง ๆ อย่างม้าก็ลืมร้องเพลงเสีย ๚ะ๛
ความปรารถนาซึ่งเป็นแต่ความคิดเห็นว่าจะเป็นดี มักจะเป็นเหตุให้กลับเสียสิ่งดีซึ่งมีอยู่แล้ว ๚ะ๛
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ที่ ๑๘๑ กระต่ายทั้งปวงกับสุนัขจิ้งจอก
๏ กระต่ายทั้งปวงกำลังรบอยู่กับนกอินทรีทั้งปวง เรียกให้สุนัขจิ้งจอกช่วย สุนัขจิ้งจอกทั้งปวงจึงตอบว่า ถ้าเราทั้งหลายไม่รู้ว่าท่านเป็นอย่างไร แลผู้ที่ท่านรบกันเป็นผู้ใด เราก็จะมีความเต็มใจที่จะช่วยท่าน ๚ะ๛
คิดราคาเสียก่อนที่ท่านจะออกตัวจงทำ ๚ะ๛
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ที่ ๑๘๒ สุนัขจิ้งจอกกับเม่น
๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งว่ายข้ามแม่น้ำลอยไปตามกำลังน้ำเชี่ยว ถึงที่ฝั่งสองข้างเป็นเขาชันลึก ก็นอนทอดอยู่นานเจ็บช้ำมากมิอาจที่จะไหวตัวได้ แมลงวันที่กินเลือดตอมว่อนโดยความหิวแล้วจับที่ตัวสุนัขจิ้งจอก เม่นตัวหนึ่งมีความสงสารที่สุนัขจิ้งจอกได้ความลำบาก จึงขอว่าจะช่วยปัดใส่แมลงวันที่กวนให้มีความลำบากให้ สุนัขจิ้งจอกตอบว่า ไม่ต้องการเลย ขอท่านอย่าได้ไปกวนมัน เม่นถามว่าทำไมอย่างนั้น ท่านไม่อยากจะพ้นแมลงวันฤๅ สุนัขจิ้งจอกตอบว่า ข้าพเจ้าไม่อยาก เพราะแมลงวันที่ท่านเห็นเหล่านี้ล้วนแต่กินเลือดเต็มแล้ว จะต่อยเราก็แต่เล็กน้อย ถ้าท่านจะให้เราพ้นแมลงวันที่กินอิ่มพวกนี้แล้ว พวกอื่นที่หิวคงจะมาแทน ก็จะกินเลือดของข้าพเจ้าที่ยังเหลืออยู่เสียหมด ๚ะ
จำทนทุกข์แห่งศัตรูที่ได้เคยเบียดเบียนอยู่แล้ว ดีกว่าเปลี่ยนไปหาศัตรูที่ยังไม่เคย ๚ะ๛
นายทัศกุเรเตอ
ที่ ๑๘๓ สุนัขกับกระต่าย
๏ สุนัขไล่สัตว์ตัวหนึ่งไล่กระต่ายไปข้างเนินแล้วตามไปใกล้หน่อยหนึ่ง ในคราวหนึ่งกัดกระต่ายเหมือนกับจะเอาชีวิต อีกเวลาหนึ่งโผเข้าไปหยอกกระต่ายเหมือนกับเล่นด้วยสุนัขตัวอื่น กระต่ายจึงว่า เราอยากให้ท่านทำแก่เราโดยจริง แลขอให้ท่านแสดงตนท่านในธงที่จริง (สองชาติวิวาทรบกันมักจะแกล้งปลอมใช้ธง) โดยตรง ๆ ถ้าท่านเป็นมิตรทำไมท่านจึงกัดเราแรงดังนี้ ถ้าท่านเป็นศัตรูทำไมท่านจึงโผมาหยอกเรา ๚ะ๛
ผู้ใดซึ่งท่านไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไว้ใจได้ฤๅไม่ไว้ใจได้ ผู้นั้นมิใช่มิตร ๚ะ๛๕
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
-
๑. ในหนังสือสมุดไทย ท้ายเรื่องที่มีลงนาม “พระยาราชวรานุกูล” กำกับไว้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นกวีที่ได้รับมอบหมายให้แต่งโคลงสุภาษิตประกอบนิทานเรื่องนี้ ↩
-
๒. ในหนังสือสมุดไทย ท้ายเรื่องมีลงนาม “ขุนพินิจจัย” กำกับไว้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นกวีที่ได้รับมอบหมายให้แต่งโคลงสุภาษิตประกอบนิทานเรื่องนี่ ทั้งนี้นักแต่งนิทานเรื่องนี้เป็นต้นไป หากมีชื่อกวีท้ายนิทาน และไม่มีโคลงสุภาษิตท้ายเรื่อง แสดงว่าเป็นนามกวีที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว ↩
-
๓. คือ ต้นโอ๊ก ↩
-
๔. โคลงบทนี้ในหนังสือสมุดไทย เดิมแต่งว่า “เบียนแต่เขาเนืองนิจ รุ่มร้อน” แต่มีการแก้ไขเป็น ๒ แบบ คือ “เบียนแต่เขาขุ่นนิจ เนื่องร้อน” และ “เบียนแต่เขาเนืองกิจ กระหน่ำร้อน” ↩
-
๕. ยังไม่พบต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เรื่อง อิศปปกรณำ เล่ม ๘ เรื่องที่ ๑๘๔ - ๒๑๓ ↩