บทที่ ๕ สรุปสาระนิทานอิศปปกรณัม
นิทานอิศปปกรณัม เป็นวรรณกรรมแปลจากนิทานอีสป ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าแก่มากว่า ๒,๐๐๐ ปี ที่มีต้นกำเนิดมาจากนักเล่านิทานชาวกรีก ชื่อ “อีสป” (Aesop) เมื่อประมาณ ๖๒๐ - ๕๖๔ ปีก่อนคริสตศักราช มีการนำนิทานอีสปมาแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ ภาษาทั่วโลกรวมทั้งภาษาไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านิทานอีสปเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใด มาปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเกิดวรรณกรรมจากนิทานอีสปขึ้น ๔ สำนวนคือ
๑. นิทานอีสป ฉบับหมอบรัดเลย์ ลงพิมพ์ในหนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอเดอร์ สมัยรัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔
๒. “อิศปปกรณัม” พระราชนิพนธ์ ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกวีอีกหลายท่าน อาทิ พระยาศรีสุนทรโวหาร, พระยาราชสัมภารากร พระเทพกระวี กรมหลวงพิชิตปรีชา กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขุนท่องสื่อ พระทิพยวินัย และขุนภักดีอาษา ร่วมกันแปลนิทานอีสป
๓. นิทานอีสป ฉบับฟ.ฮีแลร์ ลงพิมพ์ในหนังสืออัสสัมชัญดรุณศึกษา
๔. นิทานอีสป ของพระจรัสชวนะพันธุ์
วรรณกรรมเรื่อง อิศปปกรณัม มีลักษณะคำประพันธ์แต่งเป็นนิทานร้อยแก้วสั้น ๆ ความยาวส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องประมาณ ๕ - ๒๐ บรรทัด นิทานส่วนหนึ่งจบด้วยคติธรรมคำสอนและหรือโคลงสุภาษิต ต้นฉบับเก็บรักษาอยู่ที่หมู่นิทานร้อยแก้ว กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ เป็นหนังสือสมุดไทยดำ เขียนด้วยเส้นรง หรดาลหรือเส้นดินสอขาว มีจำนวนนิทานกว่า ๓๐๐ เรื่อง แต่ไม่พบต้นฉบับนิทานบางเรื่อง รวมมีนิทานซึ่งใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ๒๔๕ เรื่อง นิทานแต่ละเรื่องมีบอกชื่อกวี ผู้ประพันธ์นิทานและโคลงสุภาษิตไว้ด้วย มีกวีผู้แต่งที่ปรากฏนาม ๒๒ ท่าน ซึ่งน่าจะเป็นการทำงานร่วมกันโดยมีบรรณาธิการ ซึ่งสันนิษฐานว่า คือนายทัด เปรียญ และเข้าใจว่ายังมีกวีที่ไม่ปรากฏนามในต้นฉบับอีก เพราะมีนิทานจำนวนมากที่มิได้บอกรายนามกวีไว้ รวมทั้งมีชื่อกวีบางท่านซึ่งไม่มีผลงานปรากฏในเล่ม แต่มีชื่อลงชื่อกำกับในพื้นที่ว่างซึ่งเว้นไว้สำหรับโคลงสุภาษิต การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ใช้ต้นฉบับนิทานอิศปปกรณัม ซึ่งผู้วิจัยได้ตรวจสอบชำระจัดทำต้นฉบับจัดพิมพ์รวมในเล่มนี้ และหนังสือสมุดไทยซึ่งใช้ในการตรวจสอบชำระ จำนวน ๑๒ เล่ม ดังได้กล่าวแล้ว ทั้งนี้ มีหนังสือสมุดไทย เรื่องอิศปปกรณัมซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่กลุ่มตัวเขียนและจารึกทั้งสิ้น ๒๗ เล่มสมุดไทย แต่บางเล่มมีความซ้ำกัน เป็นฉบับร่าง หรือต่างสำรับกัน
หนังสือนิทาน “อิศปปกรณัม” สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นระหว่างพ.ศ. ๒๔๒๑ - ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๒ นับเป็นหนังสือสำคัญที่ได้รับความนิยมสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงมีการนำเรื่องราวจาก “อิศปปกรณัม” มาปักเป็นภาพปักเครื่องประดับพระเมรุ รัตนโกสินทร์ศกปี ๑๐๘ นับร้อยภาพ เพื่อประดับพระเมรุมาศงานพระศพเจ้าฟ้าและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระเยาว์หลายคราว ปัจจุบันผ้าปักดังกล่าว ส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อิศปปกรณัม เป็นวรรณกรรมแปลยุคแรก ๆ ของประเทศไทย ดังนั้นระบบการถ่ายถอดตัวอักษรสระ พยัญชนะจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย รวมทั้งการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษและการบัญญัติศัพท์จึงยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว โดยมากมักเป็นการเขียนคำตามเสียงอ่านหรือถอดคำจากการสะกดคำเช่นเดียวกับวรรณกรรมแปลจากภาษาอังกฤษ และวรรณกรรมที่อ้างอิงชื่อบุคคลสถานที่ภาษาอังกฤษร่วมยุคสมัย การเขียนคำไทยจากคำภาษาตะวันตกในยุคสมัยนั้น ชื่อเฉพาะต่าง ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย ในอิศปปกรณัมก็มักจะมีคำอธิบายในวงเล็บหรือต่อท้ายคำนั้น ๆ หรือสร้างคำชี้เฉพาะขึ้นใหม่ตามความเข้าใจและโลกทัศน์ของกวี ลักษณะดังกล่าวนี้ เห็นได้ว่าอิศปปกรณัม เป็นวรรณกรรมแปลที่แปลโดยอรรถ คือแปลเอาความ ซึ่งเป็นกลวิธีการแปลที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏในการแปลวรรณกรรมจีนเป็นวรรณกรรมไทย เช่น เรื่อง สามก๊ก ชิดก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณีของไทยและของประเทศแหล่งกำเนิดวรรณกรรมต่างกัน ผู้แปลจึงได้แปลงชื่อ คำนาม สถานที่ รวมทั้งลงรายละเอียดและมีคำอธิบายประกอบอยู่เสมอ หากเห็นว่าจำเป็นต้องอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ สะท้อนให้เห็นถึงวามรู้รอบตัวด้านต่าง ๆ ของกวีและผู้แปล เช่น ความรู้เรื่องเทพปกรณัมกรีก - โรมัน นิทานชาดก สำนวนภาษา ธรรมชาติวิทยา และ วรรณกรรมเรื่องอื่นของโลกตะวันตก สิ่งเหล่านี้ทำให้เรื่องอิศปปกรณัมนี้มีเอกลักษณ์ที่มีค่าควรแก่การศึกษา ทั้งในด้านการแปลภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย การใช้สำนวนภาษา และด้านอื่น ๆ
การที่นิทานอีสปได้รับความนิยมในประเทศไทยสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนั้น เพราะมีคติธรรม ปรัชญาในการดำเนินชีวิต คุณธรรมและโทษของการประพฤติผิดคลองธรรมต่าง ๆ เป็นแนวคิดซึ่งเป็นสากล มีกลวิธีการสอนที่คล้ายคลึงกันนิทานชาดกซึ่งคนไทยคุ้นเคย คำสอนซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องราว สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมผ่านบทบาทและเรื่องราวตัวละคร ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดให้ตัวละครเป็นสัตว์ พืช ที่สามารถพูดได้และกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของนามธรรมต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนั้น เช่น ลาเป็นตัวแทนของความโง่ สุนัขป่าและสุนัขจิ้งจอกเป็นตัวแทนเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ราชสีห์เป็นตัวแทนของพระราชา ความมีอำนาจ ตัวละครที่เป็นสัตว์ที่สง่างามเช่น กวางหรือนกดอกบัว หากประพฤติตนไม่สมกับศักดิ์ศรีของตน ก็มักพบกับภัยพิบัติ ตัวละครที่เป็นคนต่างอาชีพต่างวัยต่างบทบาท เช่น ช่างไม้ คนฆ่าวัว แม่ ลูก ก็จะมีบทบาท การตัดสินใจ และบุคลิกลักษณะที่เป็นตัวแทนของคนจริง ๆ ตัวละครที่เป็นเทพซึ่งสามารถให้คุณและโทษแก่มวลมนุษย์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยดี เพราะมีอยู่ในนิทานชาดกทั้งชาดกในนิบาตและชาดกนอกนิบาต จึงเป็นการง่ายที่จะนิยมยอมรับนิทานอีสปซึ่งมีแนวทางการนำเสนอและแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน โดย “อิศปปกรณัม”นอกจากนิทานแล้วกวียังได้สรุปคติธรรมคำสอนเป็นร้อยแก้วและโคลงสุภาษิตเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่ผู้อ่านอีกด้วย
การแปลนิทานอีสปครั้งนั้นน่าจะเป็นการแปลโดยมีบรรณาธิการกำกับดูแล เนื่องจากในเอกสารหนังสือสมุดไทยจะมีนิทานบางเรื่องที่ระบุชื่อเรื่องซื้อผู้ประพันธ์ไว้ในพื้นที่ ๆ เว้นว่างไว้ ไม่มีนิทานเรื่องดังกล่าว หรือมีแต่นิทานส่วนโคลงสี่สุภาพท้ายบทนั้น ระบุชื่อผู้ประพันธ์และเว้นที่ว่างไว้ แต่ยังไม่มีบทประพันธ์โคลงสี่สุภาพ จากการศึกษาวิเคราะห์และเก็บข้อมูลพบว่า วรรณกรรมเรื่องอิศปปรณัม มีประเด็นที่น่าศึกษาวิจัยหลายประการ ด้วยเหตุผลและข้อมูลดังกล่าวแล้ว อิศปปกรณัมถือเป็นวรรณกรรมสำคัญสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นวรรณกรรมคำสอนที่ทรงคุณค่า การดัดแปลงนิทานร้อยแล้วเป็นร้อยกรองโคลงสุภาษิตท้ายเรื่อง บางบทสามารถอ่านเข้าใจความได้ตลอดโดยลำพัง แต่บางบทจะเข้าใจความได้เมื่ออ่านประกอบนิทาน แม้นิทานนี้จะมีที่มาจากต่างซีกโลก ต่างวัฒนธรรม แต่กระบวนการความคิด ด้านการดำเนินชีวิต คุณธรรม และ วัฒนธรรมการสอนที่มีความคล้ายคลึงกันซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องราวและคำสอนต่าง ๆ สอดแทรกอยู่ในวรรณกรรม เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้อิศปปกรณัมได้รับความนิยมสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน คนไทยคุ้นเคยกับนิทานชาดก ทั้งชาดกในนิบาตและชาดกนอกนิบาตจึงเป็นการง่ายที่จะนิยมยอมรับนิทานอีสป
อิศปปกรณัม ถือเป็นวรรณกรรมสำคัญของราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการนำเรื่องราวมาปักเป็นภาพงามวิจิตร นับร้อยภาพเพื่อประดับพระเมรุงานพระศพเจ้าฟ้าและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระเยาว์หลายคราว ปัจจุบันผ้าปักดังกล่าว ส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร