สมุดไทยเลขที่ ๑๔

ที่ ๑๓๑ สุนัขจิ้งจอกกับคนตัดฟืน

๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งวิ่งมาหน้า สุนัขไล่เนื้อทั้งหลายตามมา พอมาพบคนตัดฟืนคนหนึ่งกำลังตัดต้นโอ๊กอยู่ ก็ว่าวอนขอให้ช่วยชี้ที่จะซ่อนให้รอดได้ คนตัดฟืนก็ซ่อนให้เข้าไปอาศัยในโรงของตัว สุนัขจิ้งจอกก็ย่องเข้าไปซ่อนอยู่ในซอกโรง พรานที่ไล่ตามมาภายหลังก็มาถึงไม่ช้านัก ถามคนตัดฟืนว่าได้เห็นสุนัขจิ้งจอกบ้างฤๅไม่ คนตัดฟืนร้องว่าไมได้เห็น แต่เวลาที่พูดนั้นชี้นิ้วไปทางในโรงที่สุนัขจิ้งจอกซ่อนอยู่จนตลอดเวลาที่พูด พรานมิทันสังเกตที่บอกใบ้ เชื่อเอาแต่วาจาแล้วก็รีบไล่ต่อไปข้างหน้า ครั้นเมื่อสุนัขจิ้งจอกแลเห็นคนไปไกลแล้ว สุนัขจิ้งจอกก็จะไปแต่ทำไม่รู้ไม่เห็นอันใดกับคนตัดฟืนเลยทีเดียว คนตัดฟืนจึ่งเรียกด้วยคำหยาบว่าเจ้าชาติอกตัญญู ได้ชีวิตกลับไปเพราะเรา แต่อย่างนั้นจะไปจากเราแต่จะขอบใจสักคำเดียวก็ไม่มี สุนัขจิ้งจอกจึ่งตอบว่า แท้จริง ถ้าอาการกายของท่านดีเหมือนกับวาจา ถ้ามือของท่านมิได้ทรยศต่อคำที่ท่านพูด ข้าพเจ้าก็จะขอบใจท่านเป็นอย่างยิ่ง ๚ะ๛

ทำคุณใช่จะเป็นได้โดยการสักว่ากระทำ ความตั้งใจจริงแลทำจริงดอกเป็นคุณแท้ ๚ะ๛

๑๓๑ การห่อนสุจริตถ้อย กายใจ ทำเอย
ห่อนนับเป็นคุณใน โลกนี้
แม้กอปรซึ่งกรรมใด โดยสัตย์ ธรรมนา
แสดงชื่อคือคุณชี้ ชอบให้ชนเห็น ๚ะ

ขุนภักดีอาษา

ที่ ๑๓๒ พรานนกกับนกกระทาแลไก่

๏ พรานนกผู้หนึ่ง กำลังจะนั่งลงกินอาหาร ๆ นั้นมีแต่ผักต่าง ๆ อย่างเดียว ในขณะนั้นมีเพื่อนผู้หนึ่งมาหามิได้ทันรู้ ในที่ดักนกทั้งปวงก็เปล่าหมดจับนกไม่ได้ พรานนกนั้นจึ่งได้คิดจะฆ่านกกระทาด่าง ซึ่งได้หัดเชื่องแล้วเป็นนกต่อ นกกระทานั้นจึงอ้อนวอนเต็มที่เพื่อจะขอชีวิต ว่าถ้าท่านจะไปขึงข่ายดักนกต่อไปภายหน้า เมื่อไม่มีข้าพเจ้าแล้วท่านจะทำอย่างไร ฤๅใครจะเป็นผู้ร้องให้ท่านนอน ฤๅจะเรียกต่อฝูงนกทั้งปวงให้มาตามเสียง พรานนกได้ฟังดังนั้นก็ยกชีวิตให้ แล้วจึงคิดด้วยการจำเป็นจะเอาไก่หนุ่มหงอนพึ่งเต็มซึ่งเป็นไก่งามมาฆ่าแทน ไก่นั้นก็ชี้แจงอ้อนวอนด้วยถ้อยคำอันน่าสงสาร ว่าถ้าท่านฆ่าข้าพเจ้าเสียแล้ว ผู้ใดจะบอกให้ท่านทราบเวลาสว่าง อนึ่ง ผู้ใดจะปลุกท่านให้ทำงานทุก ๆ วัน ฤๅจะบอกท่านเมื่อถึงเวลาที่จะไปดูที่ดักสัตว์ในเวลาเช้า พรานนกจึ่งตอบว่า ที่เจ้าว่านั้นเป็นการจริง เจ้าเป็นนกดีมากในการบอกเวลาของวัน แต่ตัวข้าแลเพื่อนของข้าที่มาในนี้ จำจะต้องมีอาหารกินด้วยกัน ๚ะ๛

ความที่ต้องการโดยจำเป็นแล้วต้องไม่ฟังกฎหมาย ๚ะ๛

ที่ ๑๓๓ สุนัขป่ากับราชสีห์

๏ สุนัขป่าขโมยลูกแกะมาจากฝูงตัวหนึ่ง คาบพาไปจะพาไปยังที่อยู่ของตน ราชสีห์ตัวหนึ่งเดินมาพบในทางแคบ ราชสีห์ก็ชิงคาบลูกแกะไปจากปากสุนัขป่า สุนัขป่าก็ถอยออกไปยืนอยู่ ณ ที่ไกลพ้นอันตราย แล้วร้องไปว่าท่านเอาของ ๆ เราไปดังนี้ไม่สมควรโดยยุติธรรมเลย ราชสีห์หัวเราะประชดให้แล้วกล่าวว่า ของนี้เป็นของท่านโดยสมควรโดยยุติธรรมแล้วฤๅนะ เป็นของเพื่อนเจ้าให้ฤๅ ๚ะ๛

ผู้มิได้อยู่ในธรรมไม่มีอำนาจที่จะอาศัยความยุติธรรม ๚ะ๛

๑๓๓ ผู้ใดไป่ตั้งอยู่ ในธรรม
ประกอบทุจริตกำ - เริบกล้า
ฤๅอาจจักแสดงนำ ปวงประโยชน์ ไฉนฤๅ
อำนาจปราศจากคว้า เป่าข้อยุติธรรม์ ๚ะ

ขุนภักดีอาษา

ที่ ๑๓๔ นกมดกับนกพิราบ

๏ มดตัวหนึ่งไปกินน้ำที่ริมแม่น้ำ เพื่อจะแก้ความกระหาย น้ำเชี่ยวพัดตัวลอยไปเกือบจะจมอยู่แล้ว นกพิราบตัวหนึ่งจับอยู่บนต้นไม้ที่ยื่นออกไปในแม่น้ำจิกใบไม้ทิ้งลงไปในน้ำใกล้ตัวมด มดก็ไต่ขึ้นมาบนใบไม้นั้น ใบไม้ลอยมาถึงฝั่งพ้นอันตราย อยู่มาภายหลังไม่นานนัก พรานนกผู้หนึ่งมายืนที่ใต้ต้นไม้ แอบเครื่องซึ่งพาตั้งมีเหยื่อสอดขึ้นไปล่อนกพิราบซึ่งจับอยู่บนต้นไม้ มดเห็นกิริยานายพรานทราบก็เข้าต่อยเท้านายพราน เครื่องมือนั้นก็พลัดตกลงทันที นกพิราบรู้เพราะเหตุนั้นก็ได้ช่องบินไป ๚ะ๛

น้ำใจที่กตัญญูแล้วคงจะคอยหาช่องอยู่เสมอ ที่จะแสดงให้เห็นว่ารู้คุณที่มีให้ ๚ะ๛

ที่ ๑๓๕ วานรกับนายประมง

๏ วานรตัวหนึ่งเกาะอยู่บนต้นไม้สูง เห็นนายประมงทั้งหลายทอดแหลงไปในแม่น้ำ วานรนั้นก็จ้องดูการที่ทำนั้นโดยละเอียด ครั้นเมื่อนายประมงนั้นทำการไปหน่อยหนึ่ง ก็เลิกการจับปลาแลเมื่อพากันไปกินข้าวทิ้งแหไว้ที่ฝั่งน้ำ วานรซึ่งเป็นสัตว์มักจะเลียนเป็นที่สุด ลงจากยอดไม้คิดจะทำให้เหมือนนายประมงทำบ้าง จึงจับแหขึ้นแล้วโยนลงไปในน้ำ แต่นิ้วตีนของวานรนั้นติดในร่างแห เมื่อเวลาจะจมน้ำจึ่งว่ากับตัวเองว่า ตัวเราเป็นดังนี้ถูกแล้ว ธุระอะไรของเราซึ่งยังมิได้เคยจับแหเลย ฤๅมาคิดจะจับปลาดังนี้ ๚ะ๛

การที่ต้องฉิบหายเพราะทำการที่ตัวไม่รู้ไม่เคย เป็นแต่เห็นผู้อื่นทำอะไรดีก็ทำบ้างดังนี้เป็นการสมควรแล้วไม่ควรจะได้ความช่วยแลความสงสารเลย ๚ะ๛

๑๓๕ เห็นท่านทำสิ่งล้ำ ตนลาน ใจเอย
ตัว บ่ เชี่ยวชาญการ กอปรสร้าง
ประมาทหมิ่นสมุฏฐาน ถอยสติ ตนนา
ควรรับผลพินาศข้าง วิบัติร้อนเร้าถึง ๚ะ

ขุนภักดีอาษา

ที่ ๑๓ กระต่ายทั้งปวงกับกบทั้งปวง

๏ กระต่ายทั้งปวงมีความคับแคบขลาดอย่างยิ่ง เป็นธรรมดาของตัว มีความเหนื่อยหน่ายในการที่ต้องตกใจ จึงได้หนีอยู่เสมอมิได้ขาด คิดตกลงพร้อมกันเป็นใจเดียวว่าจะโดดลงจากภูเขาสูงริมน้ำให้ตกลงไปในหนองลึกภายล่าง ให้เป็นที่สุดของตัวแลระงับความลำบากเสียทีเดียว ครั้นเมื่อกระต่ายวิ่งเร่าออกไปด้วยกันตามที่คิดไว้นั้น กบทั้งปวงที่นอนอยู่ตามปากหนองทั้งรอบฝั่ง ได้ยินเสียงฝีเท้ากระต่าย ก็วิ่งแข่งกันแทรกแซงลงไปในน้ำลึกเอาตัวรอด ครั้นเมื่อกระต่ายแลเห็นกบจมหายไปดังนั้น กระต่ายตัวหนึ่งจึ่งร้องบอกพวกพ้องทั้งปวง ว่าหยุดก่อนเพื่อนเอ๋ย อย่าเพิ่งทำอย่างเช่นท่านทั้งหลายคิดนั้นเลย เพราะท่านทั้งหลายได้เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ว่าสัตว์ทั้งหลายซึ่งมีชีวิตยังเปนผู้ขลาดยิ่งขึ้นไปกว่าเพราะเราทั้งหลายยังมีอยู่ ๚ะ๛

ความทอดอาลัยในกายฤๅสิ่งใดว่าชั่วแท้ไม่ดีแท้ฤๅไม่ได้นั้นไม่จริง เพราะคงยังจะมีสิ่งที่เลวกว่าอยู่เสมอ ฤๅช่วงที่จะดียังคงจะมี ๚ะ๛

๑๓๖ เห็นชัดชั่วอื่นทั้ง ในสกนธ์ ก็ดี
อย่าด่วนร้อนรนตน ตื่นซ้ำ
เพราะสิ่งชั่วดีผล จักแน่ ไฉนนา
เหตุสิ่งสูงต่ำล้ำ ชั่วร้ายดีมี ๚ะ

ที่ ๑๓๗ ห่านกับเป็ด

๏ เศรษฐมั่งมีทรัพย์ผู้หนึ่งซื้อห่านสวอนตัวหนึ่ง ห่านตามธรรมเนียมตัวหนึ่งมาจากตลาด ตัวหนึ่งนั้นเลี้ยงปรนให้อ้วนสำหรับใส่กับข้าว ตัวหนึ่งเอาไว้สำหรับฟังร้องเพลง ครั้นเมื่อท่านตามธรรมเนียมนั้นปรนถึงที่ควรจะฆ่า พ่อครัวจึ่งได้ไปเอาตัวในกลางคืนเป็นเวลามืด ไม่ทันสังเกตว่าตัวใดเป็นตัวใด ก็จับตัวท่านสวอนด้วยหมายว่าห่านตามธรรมเนียม ห่านสวอนมีความกลัวตาย ก็ร้องเพลงออกมาทันที เพราะฉะนั้นจึ่งทำให้รู้จักได้ด้วยน้ำเสียง รักษาชีวิตไว้ได้เพราะเพลงอันไพเราะของตัว ๚ะ๛

ความรู้ ๆ ให้จริงถึงสิ่งเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล ๚ะ๛

ที่ ๑๓๘ นางเนื้อกับราชสีห์

๏ นางเนื้อตัวหนึ่งได้ต้องถูกขับไล่หนักแต่นายพรานทั้งปวง จึ่งได้เข้าไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งราชสีห์ เมื่อราชสีห์เห็นนางเนื้อเข้าไปแต่แรกซ่อนตัวเสีย ครั้นเมื่อเห็นว่านางเนื้อเข้าไปในถ้ำพ้นอันตรายแล้ว ก็กระโดดเข้าจับนางเนื้อฉีกป่นไป นางเนื้อนั้นจึ่งร้องว่ากรรมของเรา เราที่พ้นมือคนมาได้นี้ ก็เพียงแต่จะมาทอดตัวลงเข้าปากแห่งสัตว์เถื่อนเท่านั้น ๚ะ๛

ในการที่จะละหลีกการร้ายอย่างหนึ่ง จงระวังอย่าทำให้ตกลงในร้ายที่อื่นอีก ๚ะ๛

ที่ ๑๓๙ นายประมงกับปลาตัวเล็ก

๏ นายประมงคนหนึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยประโยชน์ซึ่งได้จากแหของตัว วันหนึ่งจับได้แต่ปลาเล็กตัวเดียว เป็นผลแห่งการที่ได้ทำทั้งนั้น ปลานั้นหายใจหอบขัดอยู่แล้วกล่าวอ้อนวอนขอชีวิตว่า ท่านเจ้าขาตัวดีฉันนี้ จะได้ดีอันใดแก่ท่านได้ ราคาตัวข้าพเจ้าน้อยนี่กระไร ข้าพเจ้ามิได้โตเต็มขนาด ได้โปรดไว้ชีวิตข้าพเจ้า แลปล่อยข้าพเจ้ากลับลงไปเสียในทะเลเถิด ข้าพเจ้าก็จะเป็นปลาใหญ่สมควรแก่โต๊ะประเสริฐทั้งหลาย โดยเมื่อนั้นท่านจึงจับข้าพเจ้าใหม่ ข้าพเจ้าจะได้ทำกำไรให้แก่ท่านงามมาก นายประมงจึ่งตอบว่าข้ายอมจะเป็นคนโง่ทีเดียวแล้ว ช่วงที่จะได้กำไรมากข้างหน้าอันเป็นการไม่แน่นั้น ข้าจะยอมเอาที่ได้เป็นการแน่แล้วเดี๋ยวนี้ ๚ะ๛

สิบเบี้ยใกล้มือ ยี่สิบไกลมือ ๚ะ๛

ที่ ๑๔๐ พรานกับคนตัดไม้

๏ พรานคนหนึ่งไม่สู้กล้านัก เที่ยวตามหารอยราชสีห์ เขาถามชายผู้หนึ่งกำลังตัดต้นไม้โอ๊กทั้งปวงอยู่ ถามว่าได้เห็นรอยเท้าฤๅรู้ว่าที่อยู่ราชสีห์อยู่แห่งไร ชายผู้นั้นตอบว่า ข้าพเจ้าจะชี้ตัวราชสีห์เองให้ท่านในเดี๋ยวนี้ นายพรานก็กลับหน้าซีดทันที ฟันกระทบกันด้วยความกลัว ตอบว่ามิได้ ขอบใจท่านข้าพเจ้าไม่ได้ถามดังนั้น ข้าพเจ้าถามแต่รอยที่ข้าพเจ้าหาอยู่มิใช่ตัวราชสีห์ดอก ๚ะ๛

คนกล้าหาญ กล้าทั้งการที่ทำ แลกล้าทั้งถ้อยคำที่พูด ๚ะ๛

ที่ ๑๔๑ สุนัขจิ้งจอกบวม

๏ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอดอาหารเป็นอันมาก เห็นขนมปังกับเนื้อของคนเลี้ยงแกะทั้งปวงทิ้งไว้ในโพรงต้นโอ๊กก็คลานเข้าไปตามช่องกินอิ่มเหลือกำลัง ครั้นเมื่อกินแล้วเสร็จท้องพองเต็มที่มิอาจที่จะกลับออกมาได้ ก็ร้องครางแลบ่นพิไรด้วยความเศร้าโศกเป็นอันมาก สุนัขจิ้งจอกอีกตัวหนึ่งเดินมาได้ยินเสียงร้อง ก็เข้าไปถามเหตุที่สุนัขตัวนั้นคร่ำครวญ ครั้นเมื่อได้ทราบการที่เป็น จึ่งว่ากับสุนัขนั้นว่า เพื่อนเอ๋ย เจ้าจะต้องอยู่ในนั้นกว่าเจ้าจะเป็นเหมือนเมื่อแรกคลานเข้าไป เมื่อนั้นเจ้าจึ่งจะกลับออกมาได้ เห็นแต่โลภมิได้คิดหน้าหลังให้ตลอดก็ไม่พ้นอันตราย ๚ะ๛

ความบริบูรณ์มั่งมีย่อมเป็นเครื่อง (ฤๅ) ผูกขังสัตว์ทั้งหลาย ความบริจาคสิ่งเดียวเป็นเครื่องแก้ ๚ะ๛

ที่ ๑๔๒ อูฐกับคนอาหรับ

๏ คนอาหรับกับพ่อค้าอูฐคนหนึ่งบรรทุกอูฐของตัวเสร็จแล้ว ถามอูฐว่าจะชอบทางไหนมาก ขึ้นเขาฤๅลงเขา น่าสงสารอุฐนั้นตอบต้องใจความว่า ท่านถามข้าพเจ้าทำไมทางที่ราบ ๆ ในป่านั้น ปิดเสียแล้วฤๅ

ทางที่จะสบายมีอยู่ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงความยาก ๚ะ๛

ที่ ๑๔๓ ชาวโม่กับลูกชายแลลาของเขา

๏ ชาวโม่ผู้หนึ่งกับลูกชาย จูงลาของตัวไปที่ตลาดนัดอยู่ใกล้เคียงเพื่อจะขาย ไม่ทันจะไปไกลนักพบผู้หญิงประชุมกันอยู่ที่ปากบ่อน้ำ พูดกันหัวเราะกันอยู่ที่นั่น หญิงคนหนึ่งร้องขึ้นว่า ใครจะเคยเห็นบ้างฤๅไม่คนเช่นนี้ ลาก็มีจะขี่ก็ได้แต่ไม่ขี่เดินทนลำบากมาตามหนทาง ชายแก่ได้ยินดังนั้นก็ให้บุตรขึ้นขี่ลาโดยเร็ว ตัวเดินไปข้างลาสบายดีต่อไป ทันใดนั้นก็พบชายแก่พวกหนึ่ง กำลังปรึกษาถุ้งเถียงกันอยู่ คนหนึ่งจึ่งเอยขึ้นว่า นั่นแน่ะ เป็นพยานคำที่ข้าพเจ้าพูดอยู่เดี๋ยวนี้ คนทุกวันนี้มีความนับถือคนแก่เมื่อไร ท่านเห็นฤๅไม่อ้ายเด็กคนนั้นขี่ลา ส่วนพ่อที่เป็นคนแก่นั้นต้องเดิน เฮ้ย อ้ายเด็กจัญไรลงเสีย ให้คนแก่ได้พักเหนื่อยล้าแข้งขาบ้าง เมื่อได้ยินดังนี้ ชายผู้นั้นก็ให้บุตรลงเสียตัวขึ้นขี่เอง ครั้นเมื่อไปดั่งนี้ได้หน่อยหนึ่ง ก็พบผู้หญิงกับเด็กอีกพวกหนึ่ง พวกคนเหล่านั้นก็ส่งเสียงขึ้นมาพร้อมกันหลายเสียงว่า ตาแก่ขี้เกียจทำไมท่านขี่ไปบนลาได้ ส่วนลูกนิดหนึ่งน่าสงสารวิ่งเกือบจะไม่ทันข้างท่านอยู่แล้ว ฝ่ายชาวโม่ซึ่งเป็นคนใจดีก็เอาบุตรขึ้นไปนั่งลาข้างหลังตัวด้วยทันทีในเมื่อไปเกือบจะถึงเมือง ชาวเมืองผู้หนึ่งร้องถามมาว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านหน่อยเพื่อนคนซื่อ นั้นลาของท่านเองฤๅ ชายแก่นั้นตอบว่า เออ ชาวเมืองผู้นั้นจึ่งว่า เห็นจะไม่มีผู้ใดคิดว่าอย่างนั้น เพราะแลเห็นการที่ท่านบรรทุกมัน เพราะเห็นว่าท่านทั้งสองคน ถ้าจะช่วยกันอุ้มลาไป จะยังชั่วกว่าที่ให้ลารับประทุกท่านไปทั้งสองคน ข้าพเจ้าอยากจะให้ถูกใจท่านทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งสองอยากจะลองดู เมื่อกล่าวดังนั้นแล้ว ลงจากลาพร้อมกันกับบุตร แล้วผูกเท้าลาให้ติดกัน คิดเอาคานสอดหามขึ้นบ่า เดินขึ้นไปบนตะพานใกล้ชานเมือง การที่ทำดังนี้เป็นที่น่าสนุกซัดให้ราษฎรพากันมาดูเป็นหมู่ใหญ่ พากันหัวเราะจนลาไม่ชอบเสียงอึง แลไม่ชอบการที่ต้องผูกถือแปลกอย่างใหม่ ก็ดิ้นจนเชือกที่ผูกนั้นขาด พลัดตกจากคานแล้วเลยตกลงไปในน้ำ เมื่อเป็นดังนั้นคนแก่ก็มีความเคืองใจแลมีความอาย รีบหลีกกลับมาบ้านโดยเร็ว แลเห็นชัดว่าซึ่งคิดจะทำให้ชอบใจทั่วทุกคนนั้น กลับไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ใดสักคนหนึ่งทั้งซ้ำเสียลาไปในการเรื่องนี้ด้วย ๚ะ๛

ธรรมดาคนทำการใดให้เป็นที่ชอบใจแต่คนทุกคนนั้นไม่อาจจะทำได้ ๚ะ๛

ที่ ๑๔๔ แมวกับหนูทั้งปวง

๏ ในเรือนแห่งหนึ่งมีหนูทั้งปวงวิ่งเต็มไปในนั้น แมวตัวหนึ่งรู้เค้าอันนี่ก็หาทางเข้าไปในนั้น แลจับหนูกินทีละตัวสองตัว หนูทั้งปวงเมื่อต้องกินไปดังนั้น ก็ต่างตัวต่างซ่อนเสียอยู่ในปล่องของตัว แมวมิอาจที่จะจับได้อีก เห็นว่าจะต้องล่อให้หนูออกมาด้วยกลอุบาย เพราะมีความประสงค์ดังนี้ จึงโดดขึ้นบนราวข้างฝาห้อยตัวลงมาแกล้งทำเป็นตายแล้ว หนูตัวหนึ่งลักมองออกมาดู เห็นแมวก็ว่าท่านผู้เป็นคนดีของข้าพเจ้า ถึงแม้นว่าท่านจะกลับตัวลงเป็นถุงแป้ง ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าไปใกล้ท่าน ๚ะ๛

คนร้ายปรากฏแล้วถึงจะทำอย่างไรก็ยากที่จะให้คนที่เคยเข็ดนั้นกลับเชื่อได้ ๚ะ๛

ที่ ๑๕ หนูกับโคผู้

๏ โคผู้ตัวหนึ่งถูกหนูกัดให้ปวดบาดแผลเป็นกำลัง ก็คิดอ่านจะจับหนู ๆ ก็หนีปลงปล่องเสียก่อน พ้นอันตราย โคก็เอาเขาทั้งสองขุดตามรอบปล่อง หนูมองออกมาเห็นก็ลัดคลานขึ้นมา ปีนขึ้นไปบนสีข้างโคแล้วกัดเอาอีก แล้วก็หนีลงไปเสียในปล่อง โคลุกขึ้นมิรู้ที่จะทำอย่างไรก็มีความเศร้าหมองด้วยความจนใจ หนูก็ร้องออกไปเบา ๆ ว่าที่ใหญ่มิใช่จะชนะเสมอไป ก็มีเวลาอยู่บ้าง เมื่อเด็กแลต่ำจะมีกำลังที่สุดที่จำทำร้าย ๚ะ๛

(อธิบายชัดอยู่ในตัวแล้ว)

ที่ ๑๔๖ กบสองตัว

๏ กบสองตัวอยู่ห้วงน้ำแห่งเดียวกัน หัวงน้ำนั้นแห้งด้วยความร้อนในฤดูร้อน กบทั้งสองตัวนั้นก็ทิ้งที่นั้นไปหาที่อยู่ใหม่ด้วยกัน เมื่อเดินไปตามทางเผอิญพบบ่อน้ำลึกแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยน้ำ เมื่อเห็นดังนี้กบตัวหนึ่งจึงได้ว่ากับกบอีกตัวหนึ่งว่า เราจงลงไปแล้วอยู่ในที่นี่เถิด เห็นจะเป็นได้ทั้งที่อาศัยแลมีอาหารบริบูรณ์ กบอีกตัวหนึ่งตอบด้วยความระวังมากกว่า ถ้าหากว่าน้ำหมดไปเราจะขึ้นมาจากที่ลึกนี้อย่างไร

จะทำอันใดอย่าให้ละความที่ต้องคิดถึงเหตุที่จะมาต่อไปภายหน้า ๚ะ๛

ที่ ๑๔๗ สุนัขกับพ่อครัว

๏ เศรษฐีมั่งมีทรัพย์ผู้หนึ่งจะมีการเลี้ยงใหญ่ จึ่งเชิญมิตรสหายแลคนที่รู้จักกันมาเป็นอันมาก สุนัขของเศรษฐีเห็นการนั้นเป็นโอกาส จึ่งเชิญสุนัขจรซึ่งเป็นเพื่อนของตัวว่านายเราจะมีการเลี้ยง ท่านจะได้พบอาหารอันอร่อยดีเป็นปรกติ ขอเชิญท่านมารับอาหารกับข้าพเจ้าในเวลาค่ำวันนี้ สุนัขที่ต้องเชิญนั้นก็มาตามกำหนดนัด ครั้นเมื่อมาเห็นตระเตรียมการรับแขกเลี้ยงกันเป็นการใหญ่ดังนั้น ก็ว่าด้วยความยินดีในใจว่าเรามีความยินดียิ่งนักที่ได้มา เรามิได้พบช่องอย่างนี้บ่อย ๆ เราจะอุตส่าห์กินเสียให้พอที่จะคุ้มไปได้สองเวลาทั้งวันนี้แลพรุ่งนี้ เมื่อกำลังนึกชมวาสนาตัวอยู่ดังนั้น ก็กระดิกหางเหมือนกับจะแสดงความชอบใจแก่เพื่อน ฝ่ายพ่อครัวเห็นสุนัขวิ่งไขว่ตามถ้วยจาน ก็จับรวบเท้าหน้าเท้าหลังหมดแล้วโยนลงไปทางหน้าต่าง มิได้มีทางอันใดเลย เมื่อสุนัขนั้นตกลงมายังแผ่นดินโดยกำลังแรง ลุกขึ้นเดินกะโผลกกะเผลกร้องด้วยเสียงดังยิ่งนัก สุนัขทั้งปวงตามถนนได้ยินเสียงร้องในทันใดนั้น ก็มาหาแลไต่ถามว่าไปกินอร่อยสบายอย่างไรบ้าง สุนัขนั้นตอบว่าเราบอกท่านตามจริง เรากินน้ำองุ่นมากเหลือเกิน จนจำอะไรไม่ได้สักสิ่งหนึ่ง เราไม่รู้ว่าเราออกมาจากเรือนอย่างไร ๚ะ๛

แขกที่ไม่ได้เชิญ ห่าง ๆ ที่จะได้รับการต้อนรับดี ๚ะ๛

ที่ ๑๔๘ โจรทั้งปวงกับไก่

๏ โจรจำพวกหนึ่งทำลายเข้าไปในเรือน มิได้พบสิ่งอันใดมีแต่ไก่ตัวเดียว ก็ลักเอามาแล้วรีบไปโดยเร็วเมื่อกำลังที่จะไปได้ ครั้นเมื่อถึงบ้านโจรจะลงมือฆ่าไก่ ไก่จึ่งขอชีวิตว่า ขอให้ท่านงดข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้ามีประโยชน์แก่มนุษย์มากนัก ข้าพเจ้าปลุกให้เขาลุกขึ้นทำงานในเวลากลางคืน โจรทั้งหลายจึ่งตอบว่าเพราะเหตุนั้นทีเดียวทำให้เราจำต้องฆ่าเจ้ามากขึ้น เพราะว่าเมื่อเจ้าปลุกเพื่อนของเจ้าให้ตื่น เจ้าเป็นผู้ตัดทางธุระของเราทั้งหลายให้เป็นที่สุดเสียทีเดียว ๚ะ๛

ผู้ป้องกันรักษาความดีทั้งหลาย ย่อมเป็นที่เกลียดชังของผู้ที่มีน้ำใจร้าย ๚ะ๛

ที่ ๑๔๙ ราชสีห์กับหมีแลสุนัขจิ้งจอก

๏ ราชสีห์กับหมีจับลูกแพะพร้อมกันขณะเดียว ต่างตัวต่างสู้กันด้วยความโกรธเพื่อชิงกันเป็นเจ้าของลูกแพะนั้น ครั้นเมื่อต่อสู้กันโดยมีความกลัวเป็นสามารถดังนั้น ต่างตัวต่างอ่อนลงด้วยกันเพราะสู้กันมาช้านาน ต่างตัวต่างทอดตัวลงนอนด้วยความสิ้นแรง สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งได้ไปเดินอยู่รอบ ๆ ท่าง ๆ เป็นหลายเที่ยว เห็นสัตว์ทั้งสองนอนเหยียดอยู่กับแผ่นดิน ลูกแพะวางอยู่ในหว่างกลางไม่มีผู้ใดจับต้อง ก็วิ่งเข้าไประหว่างสัตว์ทั้งสอง คาบลูกแพะพาวิ่งไปโดยเร็วเต็มกำลังที่จะวิ่งไปราชสีห์กับหมีแลแห็นดังนั้น แต่ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นได้ ก็กล่าวว่ากรรมมาถึงเราทั้งสอง เราต่อสู้กันออกแรงด้วยกันและกันก็เพียงแต่จะช่วยให้ช่องแก่สุนัขจิ้งจอกเท่านั้น ๚ะ๛

บางทีก็มีผู้หนึ่งเป็นผู้ทำงานทั้งหมด แต่ผู้หนึ่งเป็นผู้ได้กำไร ๚ะ๛

ที่ ๑๕๐ ชาวนากับสุนัขจิ้งจอก

๏ ชาวนาคนหนึ่งมีความพยาบาทสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งมาช้านาน ด้วยสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเคยมาปล้นไก่ในเล้าของตัว ภายหลังก็จับได้อยากจะใคร่แก้แค้นให้เต็มในความปรารถนา จึงเอาปอชุบน้ำมันผูกหางแล้วเอาไฟจุด สุนัขจิ้งจอกถูกเคราะห์แปลกมาใหม่ดังนี้ ก็วิ่งเข้าไปในนาของชาวนาผู้ที่จับนั้น ในขณะนั้นเป็นเวลาข้าวสุกแก่ควรเกี่ยว แต่ชาวนานั้นเลยมิได้เกี่ยวข้าวในปีนั้น กลับมาบ้านด้วยความเสียใจแลเจ็บใจนัก ๚ะ๛

ความโกรธปิดความพิจารณาเสียได้ (ฤๅ) ทุกขโตทุกขถานํ ตามแต่จะเห็นกัน ๚ะ๛

ที่ ๑๕๑ วานรเต้นรำทั้งปวง

๏ เจ้าองค์หนึ่งมีวานรหลายตัวฝึกให้เต้นรำ วานรนั้นเป็นธรรมดาช่างเลียนคนทำการต่าง ๆ เพราะดังนั้นวานรทั้งปวงนั้น แสดงตนให้เห็นว่าเป็นศิษย์สอนง่าย ครั้นเมื่อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันงาม แลสวมหน้ากากก็เต้นรำเหมือนข้าราชการจะทำได้ การที่เล่นนั้นได้รับการแสดงความชอบใจเนือง ๆ ต่อ ๆ กันไปเป็นอันมากจนถึงเวลาหนึ่งข้าราชการผู้หนึ่งคิดปรารถนาจะทำให้เสีย จึงควักถั่วออกจากกระเป๋าเสื้อฟายมือหนึ่งโยนไปให้วานรบนโรงที่เล่น ครั้นเมื่อวานรได้เห็นถั่วก็ลืมการเต้นรำกลับจากละครลงเป็น (เหมือนกับที่มันทั้งปวงเป็นจริง ๆ) วานรแล้วกระชากหน้ากากออกเสีย อีกเสื้อของตัว ต่างเข้าสู้กันแลกันแย่งถั่ว การที่ดูเต้นรำก็เป็นอันเลิกกันในขณะที่คนซึ่งมาดูหัวเราะมาก แลเยาะเย้ยเป็นการดูถูก ๚ะ๛

การที่เอาของที่ไม่ดีจริงมาขืนใช้จะให้เป็นดี มักจะต้องความอันตรายแต่ศัตรูโดยไม่ลำบาก ๚ะ๛

๑๕๑ ของจริงสิ่งประเสริฐต้อง จำดี
ใครจะอาจกดกระวี ชั่วไซร้
ละโฉดเครื่องเมธี สรวมอาตม ออกฤๅ
อมิตรคิดตัดได้ แต่ด้วยถูกเดียว ๚ะ

ที่ ๑๕๒ นกซีคลอกับเหยี่ยว

๏ นกนางนวลตัวหนึ่งกลืนปลาตัวใหญ่เกินไป กระเพาะชั้นล่างแตกนอนอยู่กับฝั่งจะตาย เหยี่ยวตัวหนึ่งแลเห็นนกนางนวล ร้องมาว่าเจ้าได้รับโชคร้ายของเจ้าดั่งนี้ควรยิ่งนัก เพราะเป็นนกในอากาศ ไม่มีธุระอันใดที่จะไปหาอาหารในทะเล ๚ะ๛

ทุก ๆ คนจะต้องเต็มใจระวังแต่ธุระของตัวเอง ๚ะ๛

ที่ ๑๕๓ นักปราชญ์ทีโลโซเฟอกับมดทั้งปวงแลเมอร์คิวรี

๏ นักปราชญ์ทีโลโซเฟอผู้หนึ่ง แลไปดูจากฝั่งเห็นกำลังเรือกำปั่นแตกลูกเรือแลคนโดยสารจมน้ำด้วยกันหมด ก็นึกติเตียนต่อความไม่เป็นยุติธรรมแห่งผู้ซึ่งเหมือนกับว่าเป็นพระเจ้า ซึ่งบางทีจะมีความหมายเฉพาะจะทำเฉพาะคนที่มีโทษผิดมากซึ่งไปในเรือนั้นแต่คนเดียว ปล่อยให้คนที่ไม่มีความผิดทั้งปวงพลอยจมด้วยเป็นอันมาก เมื่อกำลังนึกกลุ้มอยู่ด้วยเรื่องนี้ ไม่ได้รู้ว่าต้องแวดล้อมอยู่ในกองทัพมดทั้งปวง เพราะไปยืนอยู่ที่ปากรังมดทั้งหลาย มดตัวหนึ่งไต่ขึ้นไปกัดเอา นักปราชญ์ผู้นั้นก็กระทืบเท้าให้มดทั้งปวงตายทันที ในขณะนั้นเมอร์คิวรี่ก็มาแสดงตนแล้วเอาไม้เคาะนักปราชญ์นั้นให้รู้ตัว แล้วกล่าวว่าเจ้าฤๅจะตั้งตัวเองเป็นตระลาการว่าด้วยพระเจ้าทีเดียว เมื่อตัวเจ้าเองยังทำกับมดซึ่งเป็นที่น่าสงสารเหล่านี้ด้วยว่าการอย่างเดียวกันกับที่ว่านั้น ๚ะ๛

๏ ตัวไม่ดีเองเป็นธรรมดาจะติเตียนคนอื่นที่เป็นเหมือนกับตัวอย่างไรได้ ๚ะ๛

ที่ ๑๕๔ คนเดินทางกับเคราะห์

๏ คนเดินทางผู้หนึ่งอ่อนเปลี้ยด้วยเดินทางไกล นอนลงที่ปากบ่อน้ำลึกด้วยความเหนื่อย ที่นอนนั้นใกล้น้ำสักนิ้วเดียวก็จะตกลงไป มีคำกล่าวว่าเทพธิดา ซึ่งเป็นผู้รักษาโชคแลเคราะห์ออกมาหาปลุกให้ตื่นขึ้นจากหลับ แล้วกล่าวแก่คนเดินทางนั้นว่า ท่านผู้เป็นคนดีจงตื่นขึ้น ถ้าท่านตกลงไปในบ่อ โทษจะตกอยู่แก่เรา ๆ จะต้องเสียชื่อในหมู่มนุษย์ทั้งปวง เพราะเราทราบว่าเมื่อมนุษย์ทั้งปวง เมื่อต้องเหตุร้ายแล้วมักยกโทษเอาเรา ถึงโดยว่าเหตุนั้นจะเป็นเพราะความฟุ้งซ่านของตัวเองก็ดี แต่ที่จริงนั้นเขาหาใส่ตัวเองทั้งนั้น ๚ะ๛

คนทุก ๆ คนย่อมเป็นผู้ปกครองเป็นเจ้าของเคราะห์โชคของตัวเอง ถึงมาตรว่าคนหนึ่งจะมากบ้างคนหนึ่งจะน้อยบ้าง ๚ะ๛

ที่ ๑๕๕ สุนัขจิ้งจอกกับเสือดาว

๏ สุนัขจิ้งจอกกับเสือดาวเถียงกัน ว่าสองตัวใครจะงามกว่ากัน เสือดาวอวดลายของตัวต่าง ๆ ซึ่งประดับตามหนังทีละแห่งละแห่ง สุนัขจิ้งจอกจึงห้ามแก่เสือว่าเรางามกว่าท่านมาก เพราะมิได้ประดับให้ร่างกาย เรางามในน้ำใจ ๚ะ๛

ผู้ที่ไม่มีสิ่งใดจะอวดมักจะเอาสิ่งที่เห็นไม่ได้มาอวด ๚ะ๛

๑๕๕ เสือดาวว่าจิ้งจอก หางาม ไม่เฮย
ข้าอวดตัวลายลาม พร่างพร้อย
จิ้งจอกว่าตูทราม จริงอยู่
แต่เรี่ยมกว่าเจ้าร้อย ส่วนน้ำใจงาม ๚ะ

ที่ ๑๕๖ ราชสีห์กับกระต่าย

๏ ราชสีห์ไปพบกระต่ายตัวหนึ่ง กำลังหลับสนิทที่ ๆ เคยนอน ราชสีห์นั้นพอจะลงมือจับ มีเนื้อผู้หนุ่มงามตัวหนึ่ง เดินเหย่า ๆ มาข้างนั้น ราชสีห์ก็ทิ้งกระต่ายเสียตามเพื่อไป กระต่ายได้ยินเสียงนั้นตกใจตื่นขึ้นก็วิ่งไปเสียโดยเร็ว ราชสีห์ตามเนื้อไปไกลจับหาได้ไม่ ก็กลับมาจะกินกระต่าย ครั้นเมื่อมาพบกระต่ายวิ่งหนีไปเสียด้วยแล้ว ก็กล่าวว่าสาใจเราทีเดียวที่ได้ละอาหารที่เราได้อยู่ในมือแล้ว เพราะเห็นแต่โอกาสอันจะได้มากกว่า ๚ะ๛

โลภมากต้นทุนก็หายปลายทุนก็หลุด ๚ะ๛

ที่ ๑๕๗ ชาวบ้านนอกกับนกอินทรี

๏ ชาวบ้านนอกผู้หนึ่ง ไปพบนกอินทรีติดอยู่ในเครื่องดัก มีความพิศวงเห็นดีในนกนั้นมากก็ปล่อยเสียให้พ้นภัย นกอินทรีนั้นมิได้สำแดงให้เห็นว่าเป็นสัตว์ไม่คิดถึงบุญคุณผู้ปล่อย เพราะเมื่อเห็นว่าชาวบ้านนอกผู้นั้นนั่งอยู่ริมกำแพงซึ่งเป็นที่ไม่ไว้ใจได้ ก็บินเข้าไปเฉี่ยวห่อผ้าซึ่งวางบนศีรษะด้วยกรงเล็บโดยเร็ว เมื่อชายผู้นั้นลุกขึ้นไล่ตามนกอินทรีก็ปล่อยห่อผ้าลงมาให้จิก ชาวบ้านนอกนั้นหยิบห่อผ้าแล้วก็กลับไปที่เดิม พบกำแพงที่ตัวนั่งอยู่ใกล้นั้นพังทลายลงถึงแผ่นดิน ชายนั้นก็เห็นเป็นการอัศจรรย์มาก ซึ่งนกอินทรีได้สนองคุณ ซึ่งเขาได้ช่วยแต่นกอินทรีนั้น ๚ะ๛

คุณที่กระทำแก่สัตว์ติรถาน ก็น้อยหนักที่จะเป็นกรรมอันสูญเปล่า ๚ะ๛

  1. ๑. หมายถึง นักปรัชญา (Philosopher)

  2. ๒. โคลงสุภาษิตบทนี้ พิมพ์ตามโคลงสุภาษิตในภาพปักเครื่องตั้งงานพระเมรุ

  3. ๓. ขึ้นหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๑๕ นิทานอิสป (อิศปปกรณัม) เล่ม ๗ สอบเทียบกับหนังสือสมุดไทยเล่ม ๑๔

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ