เสาชิงช้า

ท่านผู้จะอ่านเรื่องนี้คงทราบว่า ได้มีการบูรณะเสาชิงช้าเมื่อสองสามปีก่อน บูรณะเสร็จแล้วมีคนเขียนความรู้สึกเกี่ยวกับศูนย์กลางอารยธรรมสยามแหล่งนี้ว่า สีแดงสดที่ทาเสาชิงช้าใหม่นั้นชวนให้ผู้คนระลึกถึงเครื่องมือประหารชีวิตมนุษย์ชาวฝรั่งเศสในสมัยปฏิวัติใหญ่คือ...กิโยติน! เมื่อสองสามปีมานั้น นักเลงการเมืองของไทยกำลังกลายเป็นนักกวนสังคม ปราชญ์หนีออกไปอยู่ป่าและโจรรุมกันนั่งเมือง...

เมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ข้าพเจ้าเคยมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับ “อารค เดอ ตรีอองฟ์” ของสยามในทางไม่สู้ดีสู้งามดังกล่าวมานี้เหมือนกัน แตกต่างกันที่ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาให้เสาชิงช้าเป็นที่ตัดศีรษะนักการเมืองคนใด เพราะทฤษฎีอันสุดท้ายเหมาะสำหรับคนขี้ขลาดตาขาว เหมาะสำหรับผู้บ้าคลั่งทางการเมือง แต่ไม่เหมาะสำหรับประชาธิปไตยและนักเรียนประชาธิปไตยอย่างนักการเมืองชาวไทยดินแดนแห่งผ้าเหลืองอย่างเมืองไทยนี้... ได้มีผู้วิจารณ์หนักต่อหนักมาแล้วว่าไม่เลือกว่าจะเล่นการเมืองรูปใดมักจะประมูลกันด้วยความตั้งใจดีและลงเอยลงด้วยความโง่กับน้ำตา ข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องอื่นคิดถึงเรื่องรัก...ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอย่างจริงจัง ที่จะใคร่แลเห็นเสาชิงช้าเป็น “กิโยตินของหญิงอสัตย์...ในโลก”

ในความฝันอันร้อนไหม้ของข้าพเจ้านั้น ฝันคืนแล้วคืนเล่าตลอด เดือนและปีที่กระหายใคร่เห็นศีรษะแห่งหญิงอสัตย์ทั้งนั้นเรียงคอมาให้ตัดที่เสาชิงช้า ข้าพเจ้าเองคือ ดร. กิโยติน ข้าพเจ้าเองขอเป็นผู้เกลี่ยศีรษะที่ตัดออกแล้วนั้นดุจชาวทำถนนเกลี่ยทรายในฤดูหนาว ท่านคงเข้าใจดีว่าโลกของเรานี้มีหญิงอสัตย์มากเพียงใดในความแค้นของข้าพเจ้า-คนเพิ่งมีอายุเพียง ๒๑ ปี เพิ่งรู้จักรักเป็นครั้งแรกและถูกพรากรักเป็นครั้งแรกไม่มีอะไรนอกจากความโกรธชิงชัง ความลืมตัวของข้าพเจ้า...ในโลกนี้จะมีหญิงเพศแม่นอกจากแม่ดีได้อย่างไรในเมื่อคนที่ดีที่สุดกลายเป็นคนที่ไม่ดีในสภาพที่กำลังตัดศีรษะหญิงล้วนแต่อสัตย์มาแต่ยุคต่างๆ นั้นข้าพเจ้ามีความสุขที่สุด ศีรษะและศพเกลื่อนกลาด เต็มจากหน้าโรงเรียนเบญจมราชาลัยปิด ถนนบำรุงเมือง ปิดถนนเฟื่องนคร ปิดถนนตัดใหม่หน้าวัดมหรรณพ์เป็นภาพใหญ่ที่หรูและสง่าด้วยสุนทรรสของศิลปิน ไม่เคยมีภาพนาฏกรรมภาพใดในโลกนี้หรูหรือเทียมเท่า!

ตามเหตุผลของความจริง การวาดภาพมหึมาเช่น “เสาชิงช้า” ควรจะมีสีแต่สีเลือดนานปีมาแล้วเพื่อความสดและเพื่อกลิ่นอันหมื่นไหม้ของอารมณ์ บางทีมีชาวพระนครน้อยคนนักที่จะทราบว่าเมื่อสร้างเสาชิงช้าในรัชกาลที่ ๑ นั้น พราหมณ์และกษัตริย์ได้บัญชาให้ตัดศีรษะคนน่าสงสารจำนวนกี่คนเป็นพลีแด่พระผู้สร้าง อา! พูดถึงพระผู้สร้าง พูดถึงความแค้นและความรัก ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าเองควรเป็นผู้สร้างยิ่งกว่า! ข้าพเจ้าจะไม่สร้างความโง่และความทุกข์ให้เกิดมากับมนุษย์อย่างพระผู้สร้างที่มนุษย์นับถือเลย หากเป็นไปได้ข้าพเจ้าจะขอสร้างแต่ความรักและความสวยงามอันมนุษย์อาจกลายเป็นพระผู้สร้างได้ทุกคน อนิจจา! ข้าพเจ้าได้แต่ฝันและเมื่อความฝันมีความสุขไม่ได้ข้าพเจ้าก็ฝันมีความทุกข์... ฝันอยากทำลายต้นตอของความทุกข์ทั้งหมด ฝันอยากตัดศีรษะของหญิงอสัตย์ทุกคน-ฝันไม่อยากเห็นชายใดเกิดชาติใดสมัยใดมีความเศร้าความพลาดหวังเพราะอสัตย์!

ก่อนวาดภาพอันเด่นตระการตาที่สุดนั้นข้าพเจ้าชอบความคิดของจิตรกรชาวเฟรมมิชคนหนึ่งชื่อเบรอเกล ตาจิตรกรคนนี้เห็นคนทั้งเมืองในยุคของแกเต็มไปด้วยภาษิตพบใครคนหนึ่งคนนั้นก็พูดภาษิตออกมาบทหนึ่ง เมื่อเจ้าภาษิตอีกคนหนึ่งบังเอิญมาพบเข้าก็สำทับกันด้วยภาษิตอีกบทหนึ่ง มีวันหนึ่งแกได้วาด “เมืองภาษิต” ของยุคแกอย่างครื้นเครงดุจเดียวกัน แตกต่างกันที่เบรอเกลแกป้ายภาพมหัศจรรย์ของแกเป็นเรื่องราวอันเย้ยเยาะภาษิต แต่ข้าพเจ้าประดับภาพของข้าพเจ้าด้วยศีรษะหญิงเจ้านาฏกรรมจุดหนึ่ง ในภาพคือศีรษะหนึ่งแม้บนเศียรของช้างเอราวัณบนมุขโบสถ์วัดสุทัศน์ก็มีศีรษะ... ศีรษะอันสวยสดงดงาม ศีรษะแห่งวรรณกรรม!

ข้าพเจ้าเขียนภาพดังกล่าวมานี้จริงๆ มีคนรู้เห็นกับก้อนเลือดที่กระจายออกมาจากนอกภาพหลายคน ภาพศพเปลือยกายที่ไม่มีศีรษะ และภาพศีรษะแสนสวยงามที่ไม่มีร่างแต่เมื่อ ๑๐ ปีที่วาดมันเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้เผาทำลายมันทันที เหลือแต่ความทรงจำอันมั่นแม่นในดวงใจ ทั้งนี้ก็เพราะความแค้นของสมัยหนึ่งอาจจะกลายเป็นความเฉยลืมเสมือนไม่มีอะไรต่อมาอีกสมัยหนึ่ง และทุกวันนี้ความสดชื่นของภาพที่เผาแล้วนั้นยังคงรูปคงร่างและหาก “รอมจิตต์” ไม่สิ้นชีพลงเมื่อสองสามอาทิตย์มานี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะไม่มีโอกาสเขียนภาพที่เคยเขียนออกเป็นอักขระให้ท่านชมได้อย่างไร

ดวงใจของข้าพเจ้า... รอมจิตต์ เรืองสุนทร เป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นที่สามและเป็นข้าราชการ เรารู้จักกันและรักกันอย่างแรกพบในงานฤดูหนาวที่เพชรบุรีเธอเป็นอาจารย์ในโรงเรียนประจำจังหวัด บ้านเกิดเมืองนอนของเธออยู่เสาชิงช้า... เสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์

รอมจิตต์เป็นสุภาพสตรีที่ไม่สวยอย่างเลอเลิศแต่สวยตรงต้องตำหรับของรัสกิน กล่าวคือวางตัวงามที่สุด อยู่ ณ แห่งใด สนทนาปราศรัยกับใคร ทำอะไร ฯลฯ ไม่มีอะไรที่เธอไม่ละมุนละไมไปทุกอย่าง ความงามดังกล่าวมานี้เป็นความโง่เขลาอย่างที่สุดของข้าพเจ้าที่เห่อวิชา... บอกให้เธอทราบว่าเธอสวยงามอย่างไรครั้งแรกที่เขาวัง

“นี่พูดด้วยใจจริง” ข้าพเจ้าย้ำคำที่นึกว่าฉลาดที่สุด “สุภาพสตรีอาจจะแต่งกายงาม ผมไม่เถียง นั่นเป็นความงามชั่วคุณค่าของเครื่องแต่งกาย แต่อิริยาบทงามนั้นเราไม่เคยมี บางทีผมอาจจะฟุ้งไปก็ได้ ผมหมายความว่างามในท่วงทีท่าทางทุกอย่าง อย่างคุณรอม...”

“อุ๊ย! หยุดเถอะค่ะ พูดมากเดี่ยวเบื่อ” เธออุทานอย่างเด็กชะมดชะม้อย ขณะนั้นเธอมีอายุเพียง ๑๙ ปี ข้าพเจ้าพูดต่ออย่างคะนองเร็วไว

“เมื่อสลับชอบก็ดีนี่ครับ ผมกำลังถามตนเองว่า ทำอย่างไรจึงจะให้คุณรอมรู้ว่าคุณรอมสวยอย่างไร?”

“นั่นไม่ใช่ประเด็นเลยผู้หญิงน่ะจะโง่ไม่รู้ว่าตนมีหรือไม่มีอะไรสวย หรือไม่สวยเทียวหรือคะ? ก็สมบัติอยู่ในตัว...”

“แต่แปลกนะ เรื่องความงาม ถึงรู้ก็รู้อย่างกระจกบอก”

“ตาก็บอก” รอมจิตต์โต้

“บอกได้ก็เท่าที่ตาเห็น เชื่อผมดีที่สุด คุณรอมคุณเป็นสุภาพสตรีที่แปลกกว่าทุกคนในที่นี้ ผมไม่พูดเล่นขอโทษไม่ใช่เกี้ยว เดี๋ยวถูกเฆี่ยนตาย...คุณเห็นใครบ้างเหมือนคุณ แต่งตัวง่ายที่สุด วางตัวสมร่างที่สุด...?”

“เฮ้อ! วันนี้ ดำรงมีแต่คำชม มาด้วยกันดีๆ ไม่ว่าดี ชมกันไม่หยุดปาก อย่างนี้ก็เห็นจะเข็ด”

“ดูคนแต่งตัวสีเทาคนนั้นซิมีดอกไม้ทั้งพวงบนผมเสื้อผ้าสีฉูดฉาด คิดว่าใครจะว่าน่ารักน่าชม ยังมีทองและเพชรพราวไปหมด เห็นไหม นี่เป็นแบบความงามของชาวไทยเราที่เรียกกันว่าสวยทั่วไป มันสวยตรงไหน เดินเหินกวัดแกว่ง ดูยกเท้าเดินซิ-เหมือนอะไรดี ยังงี้ให้เป็นคู่รักวันเดียวเป็นลมตาย”

เสียงของรอมจิตต์กังวาลอย่างไพเราะ

“ปากดำรงจัดอย่างนี้เล่าถึงหาคู่ยาก”

“รักสวยรักงามไม่มีอะไรพูดก็พูดไม่ให้หงอยรู้ไหม คู่ของผมเกิดขึ้นแล้วตั้งสิบเก้าปี เธอสวยหาที่ติไม่ได้เลยขณะนี้กำลังเคียงคู่กับผมอยู่”

ชีวิตรักของเรา-ของรอมจิตต์กับข้าพเจ้าก็เหมือนกับชีวิตรักของชายหนุ่มหญิงสาวทั้งหลายเป็นความรักที่เริ่มต้นขึ้นด้วยความสดชื่นเช่นเดียวกับความสดชื่นของปุถุชน จุมพิตกันครั้งใดเราก็เชื่อเหลือเกินว่าความรักของเรา... เราจะรักกันพอที่จะแต่งงานกัน ความรักของเราเป็นความรักที่คัดเลือกที่สุดแล้ว!

น้ำตาหยดแรกและรอยแยกของเราเริ่มต้น ณ ลานเสาชิงช้า ค่ำวันนั้นพระจันทร์แรม ข้าพเจ้าจำได้ดีแม้เวลาจะผ่านมาแล้วร่วม ๑๐ ปีก็ตาม รอมจิตต์ให้น้องชายถือจดหมายชวนให้ข้าพเจ้ามารับอาหารค่ำที่บ้าน เมื่อรับเสร็จเธอชวนข้าพเจ้าไปซื้อของที่เสาชิงช้าสโตร์

“ดำรงเชื่อในความรักที่ไม่แต่งงานไหม-รักอย่างเพื่อน หรืออย่างที่เรียกว่า เพลโตนิก?”

“มันโบราณเต็มที” ข้าพเจ้าตอบไม่สงสัย “เราเป็นสมบัติของยุคนี้ แตกต่างกับสองสามพันปีมานานแล้วอย่างเราเห็นจะเป็นปรัชญาเมธีไม่ได้”

“ดิฉันสมมุติว่า หากเราต้องรักกันอย่างนั้นล่ะคะ?”

“ก็ต้องมีฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง” ข้าพเจ้าบีบมือของรอมจิตต์เบาๆ “รอม... พูดเรื่องของเราดีกว่า โลกนี้เป็นของเรา!”

“เป็นจริงหรือ? เป็นอย่างที่เรารักกันก็ดี รอมจะได้หมุนเจ้าโลกบ้านี้สักสามรอบ”

“เสาชิงช้าคงพัง โรงเรียนเก่าของรอมก็คงพัง” ข้าพเจ้ายังไม่เฉลียวใจบุ้ยปากไปยังโรงเรียนเบญจมราชาลัย

“ไม่อยากโตเลย อยากเป็นเด็กไปจนวันตาย จะโตขึ้นทำไมไม่รู้ต้องมีเรื่องรับผิดชอบร้อยแปด น่าเบื่อน่ารำคาญ”

ข้าพเจ้าหยุดชั่วขณะหนึ่งและชวนเธอเดินเล่นอ้อมวัดสุทัศน์เทพวราราม

“เสียงรอมอย่างนี้เข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้น” ยังไม่แน่ใจ

รอมจิตต์สอดแขนของเธอกับข้าพเจ้า

“เรารักกันมากพอหรือยัง ดำรง?” เธอถาม

“มากที่สุด ทำไม?”

“พอที่จะรับผิดชอบในชีวิตร่วมของเราได้หรือยัง?... รอมหมายความว่า อายุของเราเพียงเท่านี้ เราควรแต่งงานกันหรือยัง?”

“ถ้าถึงแต่งงาน ผมว่ายัง...”

ความแน่นที่รัดแขนของข้าพเจ้ารู้สึกว่าค่อยๆ คลายออก ข้าพเจ้าได้รั้งเธอให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

“ดำรงไม่ถามดิฉันสักนิดว่ามีเรื่องอะไร ความรักของเราไม่เหมือนใครอื่น” เสียงนี้มีเครือ

“มีอะไรเกิดขึ้นที่บ้านหรือ พ่อหรือแม่... หรือบุคคลที่สาม คนอื่น?”

“มีแต่ไม่ใช่ผู้ชาย รอมให้คำสัตย์กับดำรงแต่วันแรกว่ารอมรักดำรงอย่างตัดสินใจเอง เป็นอิสระกับตนเอง ย่อมต้องซื่อสัตย์ต่อความรักนั้นโดยอิสระ ความรักอิสระไม่ใช่หรือ? อย่างบุคคลที่สามจะมาทำอะไรได้”

“ดวงใจ เราไปนั่งที่ลานเสาชิงช้าเถอะ ผมใจไม่ดี ใครเป็นคนที่สาม... ไม่ใช่ผู้ชาย ความรักของเราทำไมไม่เหมือนคนอื่นเขา?”

ข้าพเจ้าประคองรอมจิตต์ไปนั่งบนลานซีเมนต์กลม เวลานั้นค่ำลง ทุกขณะเสียงใบระกาบนชายโบสถ์และชายวิหารดังพอได้ยินเหมือนเสียงชายกระซิบกระซาบกันถึงความรัก ในใจของข้าพเจ้านั้นยังเต็มไปด้วยแง่ดี แง่มงคล รอมจิตต์เป็นสุภาพสตรีไทยที่สวยที่สุด มีมารยาทและความรู้ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นใครมา เธอเป็นครูเป็นอาจารย์มีเหตุมีผลและตามปกติ เป็นสุภาพสตรีที่รักความสงบไม่มีสิ่งใดเทียม

“ดำรงรักคนผิดค่ะ... ดำรงไม่ควรรักดิฉันเลย” หญิงสาวเริ่มเรื่อง คล้ายกับสายฟ้าฟาดลงมาในยามวิกาล

“ผมพร้อมที่จะรับ-หากรู้เรื่องอย่างละเอียด รอมเชื่อเถอะแม้เป็นความรักครั้งแรก ผมยินดีรับ” เสียงข้าพเจ้าเองตะกุกเต็มที

“นี่ดำรงคงไม่รู้ว่าดิฉันไม่มีแม่” เธอเลี่ยงพูดอย่างเศร้าที่สุด “ไม่มีตั้งแต่อายุได้สามขวบ ที่บ้านเป็นคนอื่นแต่ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว” รอมจิตต์บีบมือข้าพเจ้าแรงไม่ยอมปล่อย “รู้จักอินทิราไหม คุณหญิงอินทิรา”

“เคยได้ยิน ดูเหมือนเป็นเพื่อนรักของรอม”

“เรารักกันมาก และเดี๋ยวนี้อินทิรากำลังจะหย่ากับเจ้าคุณ...”

“ไม่เห็นเกี่ยวกับเรา ไม่เห็นเกี่ยวกับเราสักนิด”

“ดำรงไม่รู้ เรื่องของอินทิราบาดตารอมที่สุด ดำรงทราบหรือไม่ว่าเจ้าคุณสามีของอินทิราเป็นอาจารย์ของรอมกับอินทิรา? ไม่ทราบก็ดี... เขามีเพื่อนคนเดียว รอมก็รักเพื่อน เรื่องถึงพัวพันยุ่งเหยิงขนาดที่อยากหนีไปไกลๆ ดำรงรักรอมมากไหม...?” เธอตัวสั่น

“พูดเรื่องดีๆ ไม่มีใครในโลกที่ผมจะรักถนอมเท่ารอม แต่ขอให้ผมรู้ อีตาพระยานั่นทำอะไร?”

“แกมาขอรอมกับพ่อ” เป็นเสียงที่เหมือนมีดนับร้อยนับพันมารุมกันทิ่มแทงรอบดวงใจ ครูขอศิษย์เป็นคู่ครอง! ครูเมืองไทย! เราเจริญกันมาถึงเพียงไหนแล้ว... ครูขอศิษย์เป็นภริยา!

จากคำบอกเล่าของรอมจิตต์โดยละเอียดนั้น เธอพาซื่อคิดว่าครูอยู่ส่วนครู คิดว่าความรู้สึกสูงสุดของผู้ให้ความรู้นั้นยกไว้ ณ ที่สูง มีหลายครั้งหลายคราที่เธอได้ติดตามคุณหญิงอินทิราไปในที่ต่างๆ โดยมีเจ้าคุณอาจารย์โอบศิษย์ผู้เป็นภริยาอวดโชว์ไปทั่วเมือง บ่อยครั้งเข้า พระยานั้นก็คิดเช่นเดียวกับชายสามานย์ทั้งหลายที่เห็นเพศตรงข้ามตนมีคุณสมบัติอันสุดท้ายอยู่อันเดียว แกเห็นคนทั้งโลกเป็นภริยาแกไปหมด! อินทิราเป็นภริยาคนที่ ๑๔ ขณะที่แกโอบศิษย์ตระเวนไปทั่วพระนคร แกก็คงคิด...คิดมานานแล้วว่ารอมจิตต์เป็นคนที่ ๑๕!

ข้าพเจ้ามีโอกาสพบพระยาประหลาดผู้นั้นเย็นวันหนึ่งขอรับว่าหากบอกให้รอมจิตต์รู้ เธอคงไม่ยินยอมอาจารย์ของเธอ จะชั่วดีก็ยังเป็นอาจารย์ อนิจจา! ความซื่อของหญิงสาว

ครั้งแรกข้าพเจ้าถูกชวนให้ดื่มวิสกี้อ่อนๆ ซึ่งข้าพเจ้ารับคำ ดื่มไปคุยไปและได้ปรากฏคำสนทนาดังต่อไปนี้ ในวิถีชีวิตของข้าพเจ้ากล่าวคือ ไม่ใช่แต่อินทิราเท่านั้นที่เป็นคุณหญิง รอมจิตต์ก็เป็นคุณหญิงแล้ว! พ่อของรอมจิตต์รู้ความจริงข้อนี้ดี

ถ้าเป็นท่านในขณะนั้นท่านจะทำอย่างไร บีบคอพระยาบ้ากามผู้นั้น..ฆ่ามัน ยิ่งมัน ? ? ? ?

ข้าพเจ้าผลุนผลันออกจากบ้านที่บรรจุความเลวร้ายแรงที่สุด วิ่งออกมาเหมือนคนบ้า โธ่! รอมจิตต์เอ๋ย ศิษย์กับครู! ยายอินทิราต้องเป็นตัวการ ชีวิตรักของเราต้องไม่มีบุคคลที่สาม ยายอินทิรา!

เท่าที่จำได้นั้น ขาทั้งสองพาข้าพเจ้ามานั่ง ณ ลานเสาชิงช้าที่เราเคยนั่งกันเมื่อคืนก่อน ความรู้สึกเสียดายและความแค้นประหลาด... ครูกับศิษย์เขาชอบกันรักกันเขาต้องการกินอยู่ด้วยกันเพื่อความเจริญของบ้านเมืองใครจะว่าได้ น่าแค้นที่สุดที่รอมจิตต์ไม่บอกกล่าวแม้คำเดียว เธอไม่ใช่คนขาดเหตุผล ไม่มีใครมีเหตุผลไพเราะและน่าฟังเท่าเธอเลยแต่ทำไมเรื่องจึงกลายกลับเป็นถึงเช่นนี้ ทำไมเธอช่วยตัวเธอเองไม่ได้เลย....?

เวลาผ่านไปนานเท่าใดไม่ทราบได้ เมื่อรู้สึกตัวนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือทั้งสองมีแต่คราบน้ำ พยายามทรงตัวเดินออกจากลานอย่างไร้ชีวิต ข้าพเจ้าเงยหน้าขึ้นมองดูเสาใหญ่เหมือนเข็มมหึมาที่ลอยพุ่งลงมา ทำไมมันไม่ทับร่างของข้าพเจ้าให้แบนไปขณะนั้น! อากาศตรงนั้นเย็นยะเยือกเหลือเกิน หรือปีศาจเฝ้าเสาชิงช้าผลุดลุกขึ้นมาจากหลุม ข้าพเจ้าแข็งใจมองดูโคนเสาทั้งคู่ดั่งใจจะขาดจนวินาทีนั้นยังไม่เชื่อหู ครูจะเอาศิษย์เป็นภรรยาไม่ได้แน่นอน โธ่! รอมจิตต์ เธอไม่ใช่หญิงอย่างอินทิรา จิตใจของเธอ ความสุภาพอ่อนโยน การวางตัวอันงามเลิศไม่มีใครสู้ เธอเป็นไปได้อย่างไร

ในทันใดนั้นมีเสียงตอบเบาๆ ดังลงมาจากยอดเสา

“ทำไมเป็นไม่ได้เล่า...เป็นอย่างอินทิรา”

จากการสืบสวนข่าวอย่างใกล้ชิด ข้าพเจ้าทราบว่าคำที่สามีของรอมจิตต์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังนั้นเป็นความจริง เขาทั้งสอง ครูกับศิษย์แต่งงานกันเงียบๆ โดยข้าพเจ้าไม่พยายามเกี่ยวข้องด้วยอีก เพราะถือเสียว่าคนเราเกิดมาในโลกนี้ ย่อมเสาะแสวงหาความสุขตามควรแก่อัตภาพแม้เป็นพระยา เป็นเนติบัณฑิตจากอังกฤษ “พระยาบุรีธรรมวิจัย” ก็เป็นคนธรรมดาอย่างผู้ดีชั้นเก่าทั้งหลาย นิยมกันแต่แรกแต่งงานว่ามีเมียมากเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น หรือมีความเก่งกล้าสามารถเท่านั้น ความมีเมียมากของพระยาบุรีจะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจของข้าพเจ้าเลย หากแกไม่ชิงเอาศิษย์เป็นเมียและเมียคนที่ ๑๕ ของแกคือดวงใจดวงเดียวของข้าพเจ้า

แน่นอนขณะที่พยายามลืมเพื่อความสุข... ถึงกับหลับหูหลับตาลืมนั้น ข้าพเจ้ามีความรู้สึกที่สยะแสยงนานาประการ กระทั่งทนวาดออกมาเป็นมโนภาพไม่ได้ ท่านหรือใครๆ คงมีความรู้สึกอย่างข้าพเจ้าที่ยังเอื้ออาลัยต่อศีลธรรมอยู่ โปรดลองคิดดูเถิด สอนหนังสือลูกหลานเขาวันนี้ พรุ่งนี้กลับไปขอลูกสาวเขาเป็นคู่ครองและไม่ใช่คู่ครองอย่างวัฒนาถาวร เป็นคู่ครองประเภทชั่วแต่สักสามสี่สิบเดือนเมื่อทนอยู่ได้ก็อยู่ไปและเมื่อทนดู “ภริยาคนใหม่” ของครูตนไม่ได้ก็ร้างไป อินทิราผู้เป็นมิตรที่สนิทที่สุดกับรอมจิตต์ต้องแตกกับรอมจิตต์ก็เพราะไม่ใช่ตำแหน่งคุณหญิง คุณหญิงในสมัยรัฐธรรมนูญ! แต่เพราะเจ้าคุณอาจารย์หมดอาลัยตายอยากในความเก่าโดยมีความปรารถนาใหม่!

เขียนมาถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าจะบอกท่านได้อย่างไรว่าในภาพ “เสาชิงช้า” ครั้งแรก ข้าพเจ้าระบายเลือดจากดวงใจตรงไหนลงไปก่อน ท่านผู้อ่านที่รัก ข้าพเจ้าต้องขอเรียนท่านว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ดี ตระกูลรุนชาติของข้าพเจ้าเป็นจ้าว เลือดของเราแต่ละหยดได้เกิดขึ้นด้วยความเป็นลูกผู้ดี เมื่อกล่าวถึงการศึกษาข้าพเจ้าสามารถคุยได้ว่าในเมืองไทย ข้าพเจ้าอาจยืนหยัดอยู่ในสังคมทุกชั้นโดยไม่น้อยหน้าใคร แต่เกี่ยวกับความรักชนิดอัปลักษณ์อย่างยิ่งที่ครูในมหาวิทยาลัยเอาศิษย์เป็นเมียดังนี้ จำเป็นต้องวาดด้วยเลือดที่ข้นสุดข้นก่อน

อักขระแปลความหมายของเลือดหยดแรกมีความว่า “อินทรา หญิงสามานย์...”

เลือดหยดที่สองบรรจงวาดความสามานย์ของหญิงที่จงใจเอาครูเป็นสามี... ศิษย์ที่ขอแต่งงานกับครูเพื่อจะเรียนเรื่องราวของชีวิตจากการแต่งงานนั้น ชะ! ชีวิต รอมจิตต์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังอย่างละเอียดว่าอินทราหญิงสามานย์ผู้นี้มีความปรารถนาร้อนไหม้อยู่อย่างหนึ่งคืออยากจะหยุดโลกโดยหยุดความรู้สึกทั้งห้า! การจูบ การกอด การปฏิบัติร่วมระหว่างครูผู้สามีกับศิษย์ผู้ภริยา! เป็นภาพอันหยาบโลนสุดที่จะมีภาพใดเทียม แต่เธอว่าน่าดูน่าชม ข้าพเจ้าขมวดก้อนเลือดก้อนนั้นเป็นรอยเว้าลงไปในดวงตาของหญิงไม่มีศีรษะเป็นคนแรกอยากจะแปลออกเป็นความหมายว่า รอยเว้านั้นคือคำประกาศว่าเป็นมายาทั้งเพ หญิงที่ต้องการรู้จักชีวิตไม่จำเป็นต้องแต่งงานกับใครเลยในโลกนี้ เป็นมายา อินทิราต้องมีความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ความยากจน ความหลงในศักดิ์แห่งคุณหญิง ความบ้า...ความคึกคะนองแห่งชีวิต จึงได้ผลักไสตนเองทำลายจารีตอันดีงามของชาวไทยก่อน

หยดที่สามยิ่งเป็นความอับอายขายหน้า วาดเป็นภาพศีรษะของหญิงอสัตย์คนหนึ่งกำลังเน่าเฟะ!

ในดวงตามีหนอน ในคิ้วมีเลือดที่กำลังจะเป็นหนอง ในปากมีน้ำเหลืองไหลออกมาเยิ้ม ลาดภาพเป็นรอยลงมาถึงฐานภาพ ในภาพนั้นข้าพเจ้าแปลว่า กำไรจากการเป็นเมียน้อยเพื่อรู้จักชีวิตนั้นไม่มีอะไรเลย หากจะแปลว่าการเป็นเมียน้อยเป็นศิลปะอย่างฝึกไม่ได้ในห้องเรียนจำเป็นต้องมาฝึกกับครูของตนแล้ว ยิ่งมีความหมายชัด เพราะเป็นทางเสียทั้งขึ้นทั้งล่องอย่างร้ายแรง

หยดที่สี่นั้นเป็นวงใหญ่ ข้าพเจ้าเก็บศีรษะหญิงต่างชาติหลายคนมารวมเรียงกันเพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกกับสังคมการแต่งงานโดยความหมาย ข้าพเจ้าต้องการให้ชาวไทยทุกคนคิดถึงความเป็นจริงของการแต่งงานของชาวไทยเพื่อนร่วมชาติที่ดีทุกรายเมื่อแรกเริ่มและเกือบเลวทุกรายเมื่อลงท้าย

ศีรษะของหญิงต่างด้าวนั้นคือการเย้ย ริมฝีปากของมันยิ้มเยาะ หมายความว่าการเสพอาหารของคู่แต่งงานบ่าวสาวชาวไทยนั้นหากเหมือนเมื่อวันแรกแต่งงานสักนิดหนึ่งก็จะดี การเสพอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การมีลูกโง่...เป็นสูตรเดียวกัน ก็เมื่อเสพอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ชีวิตแต่งงานของเรามีความหมายกินรวมไปถึงปัญหาสังคมด้านอื่น ความยากจน ความเป็นทาสทางเศรษฐกิจ...ในภาพนั้น ยังมีร่างหญิงเปลือยกายร่างใหญ่ไม่มีศีรษะตรงปลายคอเนื่องจากถูกตัดเร็วเกินไป ข้าพเจ้าได้ใช้สีขาว สีเขียวและสีดำละเลงลงไปทั่วร่างให้ดูสะพรึงกลัว ความหมายของความน่ากลัวของร่างอุจาดนั้นคือความหมดหวังที่เราจะฟื้นฟูเกี่ยวกับตัวเราเองในการดำรงอยู่ของสังคมเอกราชอันน่าอับอาย

เมื่อเขียนเสร็จในอาทิตย์แรก ข้าพเจ้าตั้งโชว์ไว้ในห้องรับแขกโดยไม่มีใครเข้าใจความหมายแม้แต่คนเดียวใครผ่านไปก็หัวเราะเยาะอย่างดีก็ชมว่า เป็นภาพแปลกที่น่ากลัว มีคนที่สนใจถามคนสองคนและข้าพเจ้าได้พยายามอธิบายให้ฟังผิดๆ อย่างซื้อรำคาญ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าศิลปอันมีความหมายลึกซึ้งเช่นที่ข้าพเจ้าพยายามเล่ามาแล้วนั้นจะมีใครเข้าใจได้ง่ายๆ

ชีวิตของมนุษย์ ชีวิตของสังคม ชีวิตของสถาบันต่างๆ ในเมืองไทยและในโลกนี้มีผู้หญิง-เป็นผู้ปั้นหรือผู้ปลุกทั้งสิ้น เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาไม่ถึงสองสามปี เมื่อพระยาบุรีธรรมวิจัยหย่าขาดกับรอมจิตต์แล้วข้าพเจ้าจึงปลงตกและเผาภาพอันเตือนถึงความหลังนั้นทันที ตั้งใจไม่ให้ใครพบเห็นอีกต่อมาแม้แต่รอมจิตต์เอง ยิ่งกว่านั้นสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดคือการพบปะหรือการเขียนจดหมายถึงรอมจิตต์ ทั้งนี้ดังได้เขียนมาแล้วว่าเลือดตระกูลของข้าพเจ้าเป็นผู้ดีข้าพเจ้าไม่ปรารถนาให้เลือดของข้าพเจ้าต้องเปื้อนปละกับเลือดต่ำ พูดตรงๆ ข้าพเจ้าอยากจะคิดว่ารอมจิตต์นั้นตายไปแล้วจากโลกนี้ ไม่มีอะไรในข้อผูกพันเกี่ยวกับเธอ สามารถทำให้ข้าพเจ้าหวลกลับมาได้อีก

ได้มีคนรู้เรื่องของข้าพเจ้าถามเสมอว่า “ไม่คิดถึงความรักเก่าบ้างเลยหรือ?”

ข้าพเจ้ามองดูเพื่อนสนิทผู้ถามนั้นอย่างขอบคุณตอบออกไปกับเขาว่า เห็นข้าพเจ้าแตกต่างกับสามัญธรรมดาตรงไหน ทุกวันนี้ ข้าพเจ้ายังรักรอมจิตต์อยู่รักดุจเดียวกับดอกกุหลาบที่คอยแสงอรุณ แต่ไม่ใช่รอมจิตต์ผู้เพิ่งสลัดเทอบาน “คุณหญิง” ออกจากศีรษะกับโปรดเข้าใจว่าความรักที่ข้าพเจ้าใช้โดยเปิดเผยนั้นเป็นความรักของลูกผู้ชายที่รักษาวาจาสัตย์ยิ่งชีวิต คนอย่างข้าพเจ้านี้...เชิญไปบอกคุณหญิงรอมจิตต์เถิดว่าไม่เคยรักของเหลือของเกินของใครๆ แม้ของพระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจยอม การที่เกิดมามีมือตีนสมบูรณ์อยู่ในโลกไม่ง่อยเปลี่ยเสียขานั้นข้าพเจ้าถือว่าเป็นโชคสูง ยิ่งบังเอิญมามีความรักอันเราทั้งสองรักกันอย่างฟากฟ้าสั่งวิงวอนให้รัก ยิ่งรู้สึกไม่มีอะไรเทียม แต่ที่จะให้เสพน้ำใต้ศอกใครนั้น ในตระกูลของข้าพเจ้าไม่เคยมี!

แต่ท้ายที่สุดเราก็เจอะกันจนได้ในวันแต่งงานของเพื่อนรักของเราทั้งสอง ข้าพเจ้าทักเธออย่างเพื่อนเก่าคนหนึ่งอากัปกิริยาที่ชาเย็นนั้นเป็นของธรรมดา

“คุณหญิงสบายดีหรือครับ?”

มองดูข้าพเจ้าอย่างแค้นหรืออย่างน้อยใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอตอบว่า

“ดำรงเปลี่ยนชื่อแล้วหรือ?” พยักหน้านิดๆ ไม่เข้าใจว่าเธอหมายความอย่างไร

“ผมไม่เคยเปลี่ยนชื่อเลยชื่อเก่าอย่างใดอย่างนั้น คุณหญิงสบายดีหรือครับ?” ข้าพเจ้าย้ำ

“ดิฉันจะสบายอย่างไรในเมื่อเขียนจดหมายถึงดำรงกว่าสิบครั้งไม่ได้รับตอบตลอดเวลาสามสี่ปีเราไม่ได้พบกันเลย!”

ข้าพเจ้าขบกรามอย่างสะกดเต็มที่ จดหมายสารภาพโทษ! ผู้หญิงในโลกนี้เคยมีความผิดหรือ! วรรณกรรมในโลกนี้ไม่เคยรำพันถึงความผิดใดของอิสตรีใด จริงอยู่คุณหญิงรอมจิตต์เขียนจดหมายถึงข้าพเจ้านับฉบับไม่ถ้วน นึกๆ ก็น่าเสียดายที่จงใจไร้มารยาทกับเธอโดยไม่ตอบ เมื่อถามขึ้นตรงหน้าเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะตอบเธออย่างไรดี

“คุณหญิงกรุณานั่งสิครับยินดีเอสคอร์ตสำหรับคืนมงคลของเพื่อนของเรา อันที่จริงไม่ทราบว่าคุณหญิงจะมา...”

“ทำไม-ถ้าทราบว่าดิฉันจะมาคุณจะไม่มาอย่างนั้นหรือ?” เธอยิ้มอย่างฝืนที่สุด “ขอพูดเรื่องจดหมายสักนิดเถอะ...ได้รับมันบ้างหรือเปล่า”

ก่อนตอบ ข้าพเจ้าทรุดกายลงข้างเคียง

“โปรดอย่าหาว่าหยาบคาย ผมได้รับจดหมายทุกฉบับโดยไม่เชื่อว่าคำตอบใดๆ จะมีประโยชน์ ผมลืมเรื่องเก่าแก่ของเราหมด ขอประทานโทษ เดี๋ยวนี้คุณหญิงยังทำงานที่โรงเรียนทุกวัน?”

“ดำรงเปลี่ยนแปลงจนเกินไป ดิฉันทราบจากเพื่อนเราบางคน คุณมีสิทธิ์ทุกอย่างที่จะลงโทษดิฉันได้”

ข้าพเจ้าหัวเราะ เป็นหัวเราะครั้งแรกที่ไม่เชื่อว่าจะหัวเราะได้ต่อหน้าสุภาพสตรีผู้สูงศักดิ์

“ทำไมจะต้องไปลงโทษใคร เรื่องมันแล้วไปแล้ว ผมไม่เคยถือเรื่องเช่นนี้จริงจังเพราะเคยคิดว่า หากยังมีชีวิตอยู่และใครอื่นจะเป็นจะตายหากไม่ได้ของที่เรารัก ผมหรือใครก็ยินดีเสียสละ เมื่ออยู่บ้านที่ลำปางผมเคยสละมาแล้ว กรุณาเข้าใจผมให้ชัด การแต่งงานนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยที่สุดสำหรับผม คนเขารักกันแต่งงานกันก็เป็นเรื่องธรรมดา คุณหญิงแต่งงาน เจ้าคุณมีความสุข หรืออย่างมงคลเพื่อนรักของเราแต่งงานคืนนี้ มงคลมีความสุขเป็นธรรมดาที่สุดโปรดสนทนาเรื่องอื่นดีกว่า คุณหญิงจะรับอะไรบ้างไหมครับ?”

“ขอบใจ ยังไม่อยากอะไรทั้งหมด ดิฉันเห็นความปวดร้าวของดำรงดี...”

“ไม่มี ไม่จริง หายหมดแล้ว! ครั้งหนึ่งเคยรู้สึกเหมือนกัน เมื่อคุณหญิงแต่งงานใหม่ๆ ว่าอยากฆ่าใครต่อใครให้หมดทั้งโลก เดี๋ยวนี้อยากหัวเราะ”

“ถามจริงๆ เถอะดำรง ในเสียงหัวเราะของคุณน่ะไม่มีความน้อยใจ ไม่มีความขมขื่นอะไรเลยจนนิดเดียว?” เธอชะโงกหน้าถาม

“ต้องแล้วแต่เรื่อง”

“เช่นเรื่องของเรา... เราเคยจุมพิตกันครั้งแรกที่เสาชิงช้า ดำรงเคยกอดฉัน คุณสัญญาจะรักฉันจนวันตาย...”

“คุณหญิงควรต้องทราบ อ้า-คุณหญิง...”

“เรียกเฉยๆ ก็ได้ เรียกอย่างเก่าสิ หรือจะเรียกอะไรก็ตามใจ”

“เอาอย่างนี้ดีกว่า เรื่องของความรักนี่เป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ผมเรียนคุณหญิงแต่แรกแล้วว่าผมมีความรู้สึกเกี่ยวกับความหลังของเราเหมือนไม่มีเลย เรื่องมันแล้วก็ให้มันแล้วไป จะให้กลับคืนมาดั่งเท่านั้นยาก ทั้งผมก็ไม่ต้องการเห็นมันมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก ทุกวันนี้ผมมีความสุขที่สุด ไม่ใช่สุขอย่างมี ‘หัวใจร้องไห้’ อย่างใครคนหนึ่งว่า ผมสุขจริงๆ โปรดเชื่อผมเถอะ เรื่องมันแล้วไปแล้ว”

“ก็เมื่อคิดได้แข็งแรงเช่นนี้ทำไมไม่เขียนจดหมายตอบ...” ข้าพเจ้า ไม่ได้สังเกตว่าคุณหญิงมีความรู้สึกอย่างไรกระทั่งเห็นเธอยกผ้าขึ้นเช็ดน้ำตา

“ก็เพื่อให้มันลืม-แล้วกันไปเสียที ผมเคยเศร้ามามากกระทั่งไม่มีความเศร้าอีก ก็อยากจะแสวงหาความสุขบ้าง ไม่ใช่มีชีวิตอยู่เพื่อคิดคลุ้มคลั่งแต่เรื่องเก่าเรื่องแก่โดยไม่ต้องทำอะไร”

หญิงสาวผู้ซึ่งบัดนี้กลายเป็นหญิงเกือบวัยกลางคนเพราะคิดมากและเพราะความเศร้าหยุดนิ่งไปฉับพลัน และจากการพบกันคืนนั้น เราไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งข่าวตายของเธอปรากฏในวิทยุและหน้าหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกที่มึนชาไปได้ชั่วขณะหนึ่ง เธอจากไปก็ดีแล้ว รอมจิตต์ โลกนี้ไม่เหมาะสำหรับคนดีอย่างเธอเกิดมาเลย และในวันเผาศพเธอที่สุสานหลวงวัดมกุฏกษัตริย์ ข้าพเจ้าเห็นพระยาบุรีธรรมวิจัยกับคุณหญิงคนที่ ๑๖ ของแกไปเผา “คุณหญิงคนที่ ๑๕” วันนั้นแกใสแว่นตาดำ ร่างเตี้ยลงสักเล็กน้อย คุณหญิงใหม่รูปร่างสูงระหงและอ้วน ดูหน้าตาเอิบอิ่มมีความสุข

ข้าพเจ้าอธิษฐานขออภัยศพสั้นๆ ว่า “ผมยังรักคุณเสมอ รอม วิญญาณของคุณจงรับฟังความรักของลูกผู้ชายที่แท้จริงนั้นมีสองครั้งไม่ได้ โปรดรักผมสักเล็กน้อย...”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ