กรุงเทพอยู่แห่งหนใด

เพราะของทุกอย่างต้องมีสัญลักษณ์ เขาจึงพยายามเสาะแสวงหาว่า สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ นั้นอยู่ณแห่งหนตำบลไหน แต่ทว่าคำตอบที่ได้รับ - เป็นที่พอใจ เพราะ..?

“แก๊ก”

“แก๊ก”

“อย่ากักนะ เล่นสกปรกละก็เป็นเกิดเรื่องเด็ด”

“แก๊ก-ดึกๆ ดุจริงพี่ชาย”

“เอ้าลงให้เสียที เดี๋ยวตาลายชกฟ้าชกฝน”

“ไม่ใช่ชกฟ้าชกฝน ชกคนกัก- ที่แกล้งกัก” เสียงนี้ทั้งแสดงความงัวเงียและสุราพาล เสียงฝนกลบเสียงรถซึ่งกำลังวิ่งอย่างเต็มที่

“แก๊กอีก! เอ! หรือตาเราลาย”

“ระวังคุณจะต้องชกตาคุณเอง- แก๊ก”

“เฮ้ย! นี่มันแก๊กทั้งวงนี่หว่า!”

อุทานตอนนี้ดังพอที่จะปลุกสุภาพสตรีคมขำนอนเยื้องที่นั่งตรงข้าม เธอคิดว่ามันดังเกินสมควร

กระเป๋าหลายใบของใครต่อใครถูกยืมไปตั้งเป็นม้านั่งและที่สำคัญก็คือ กระเป๋าใบใหม่ของเธอถูกขอยืมไปรองก้นนายเสียงกัมปนาทโดยไม่บอกกล่าว

เมื่อเธอลุกขึ้นขอทางผ่านไปห้องน้ำ หนุ่มเจ้าของเสียงกัมปนาทเลิกคิ้ว ถามมิตรสหายโดยไม่มีเสียง

“ใคร”

“ไม่รู้” หลายคนตอบโดยไม่ใช้เสียงเหมือนกัน สั่นหัวบ้าง ยักไหล่บ้างแบมือบ้าง–

“เอ้า! เล่นต่อ อีกสองชั่วโมงสว่าง”

“แก๊ก!”

“แก๊ก!”

“กิน” ชายหน้ามนใหญ่เจ้าของไฟที่ดีที่สุดรวบเงิน

การเล่นไพ่อย่างสว่างคาที่เป็น “กีฬาธรรมดา” ในขบวนรถด่วนสายเหนือ ชั้น ๑ ทุกเที่ยว การเล่นเป็นไปทำนองครึ่งเล่นครึ่งจริง ที่อาจ แก้ตัวว่าครึ่งเล่นนั้น คือว่าแก้เหงา ไพ่ทำให้เพลินยิ่งมีการเอาพนัน เอาสุรา แม่โขงยิ่งว่าเพลิดเพลินใหญ่มิไยที่เสียงเอะอะเกะกะนั้นจะก่อความรำคาญแก่เพื่อนผู้โดยสารอย่างไร เจ้าหน้าที่รถไฟก็ไม่ว่า ตำรวจก็ไม่ว่า และที่เล่นกันจริงจังก็คือเป็นการพนันร้ายแรงที่ลืมตัว นายแพทย์ ผู้แทน พ่อค้า ครู ฯลฯ ที่ “เสียคน” เพราะไฟในรถด่วนมีแทบทุกด่วน

หนุ่มเจ้าของเสียงกัมปนาทผู้เป็นพ่อค้าตัวอย่างผู้เคราะห์ร้ายอีกคนหนึ่ง ที่กำลังเสียเงิน และจะเสียอย่างย่อยยับ หากไม่มีการทวงกระเป๋าจากสุภาพสตรีเจ้าของ

ใครจะรู้ว่าไม่มีการรวมหัวเพื่อ “ตุ๋น” ใครสักคนหนึ่ง!

“ดูเหมือนกระเป๋านั่นของดิฉันใช่ไหมคะ?” เธอถาม

“ครับ! ผมไม่รู้จะขอโทษคุณอย่างไร ที่บังอาจยืมมาสนุกโดยไม่บอกกล่าว”

เขาวางไพ่ ขอทางเพื่อนและยกกระเป๋าไปที่เดิม แต่ก่อนถึงที่เขาต้องชะงักเพราะข้างกระเป๋าปรากฏเป็นรอยเปิดอ้าน้ำหนักตัวของเขานั่นเอง! นั่งทับมันมาร่วม ๑๐ ชั่วโมง

“เสียรูปหมด! เต็มทีจริง–ต้องให้ช่างแก้”

“ไม่ทันหรอกค่ะ ดิฉันตั้งใจจะลงที่อยุธยา เสียไปบ้างเล็กน้อย ไม่เป็นไรค่ะ”

“แต่มันเป็นเจตนาผมขโมยของคุณไป ขอโทษอีกครั้งเถิดครับ คุณจะลงทำธุระอะไรที่อยุธยา?”

“คุณแม่มาบวชน้องที่วัดสุวรรณ ที่จริงดิฉันควรไปกรุงเทพฯ เช้า วันนี้ ไม่เป็นไรค่ะเรื่องกระเป๋า ดิฉันจะให้ช่างซ่อมเอง-“

“ผมมีความผิดหลายอย่างมาด่วนนี้” เสียงของเขาแผ่วเบาลงน่าสงสาร “หนึ่งทำเสียงดังปลุกคุณตื่นขณะที่หลับสนิท สอง ขโมยกระเป๋าไปนั่งจนกระเป๋าเสียรูป สาม เล่นไพ่เสียไปหลายพัน”

“เที่ยวๆ คุณเล่นเสมอหรือคะ?”

“ผมเป็นชาวเชียงราย เพิ่งจะมาซื้อของกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ยังไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างไร-อยู่แห่งหนใด-”

“ไม่น่าเชื่อ! ถ้าไม่เคยมากรุงเทพฯ หรือไม่รู้จักเลย คุณจะซื้อของได้อย่างไร?”

“ก็ต้องซื้อความโง่เป็นระยะ”

“ดูซิคำตอบของคุณ! ไม่ปดหรือปิดบังอะไรดิฉันนะคะ–ดิฉันชื่อสมภรณ์”

“ผมยังมีความผิดกับคุณอยู่ ความผิดเก่ายังไม่หาย จะทำความผิดใหม่ก็ดูกระไร”

“นี่น้องชายดิฉันชื่อ ลิลิต เราจะช่วยชี้กรุงเทพฯ ให้คุณดูจะให้คุณพักบ้านของเราที่ราชวิถี”

สมภรณ์สงสารชายหนุ่มอย่างจับใจ หน้าตาของเขาซื่อ ดวงตาเกือบไม่เดียงสา ผิวพรรณความเป็นลูกมีเลือดผู้ดี ชายหนุ่มผู้บอกชื่อของเขาว่า “คำพัน” เป็นเจ้าของโรงบ่มยาเวอร์จิเนียสองแห่งเป็นโสด มีการศึกษาสูงสุดเท่าที่เชียงรายจะสามารถให้เขาได้ คำพันรับคำเชิญของหญิงสาวอย่างขอบบุญขอบคุณ

แต่สมภรณ์จะรู้จักกรุงเทพฯ แท้จริงหรือ?”

หัวลำโพงไม่ใช่กรุงเทพฯ

เขาดิน สภาผู้แทนราษฎร วัดพระแก้วมรกต หลักเมือง ฯลฯ ไม่ใช่กรุงเทพฯ เลย!

ตลอดเวลาที่พักบ้านของสมภรณ์ คำพันได้รับความเอาใจใส่ดังแขกผู้เป็นญาติ หลังจากไปอยุธยาเพื่อบวชพี่ชายของลิลิตเพียง ๒ วัน หญิงสาวได้พาชายหนุ่มไปซื้อของต่างๆ ตามที่เขาต้องการ ราคาสินค้าเหล่านั้นทำให้เขาแปลกใจ เพราะบางอย่างถูกกว่าที่ผู้จัดการของเขามาซื้อตั้ง ๒-๓ เท่าตัว การซื้อสินค้าในเมืองหลวงนั้นมักเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา ของที่น่าจะแพงที่สุดกลับถูกที่สุด ส่วนของที่น่าจะถูกกลับแพง ทั้งนี้ย่อมสำคัญที่ผู้รู้ซื้อหรือไม่รู้ซื้อ

แต่บางลำภู บางรัก สี่พระยา สีลม ท่าเตียน ก็มิใช่กรุงเทพฯ อยู่ดี

“ผมรู้สึกอย่างนั้น!”

“ก็ตำบลสถานที่ต่างๆ เหล่านี้แหละรวมกันเป็นกรุงเทพฯ” สมภรณ์อธิบายอย่างเยือกเย็น เธอไม่อาจปฏิเสธว่า “ความรักแรกพบ” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ดุจอ่านหนังสือ

“ผมหมายถึงสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ-หมายถึงแคเร็กเตอร์ซึ่งควรจะลึกซึ้ง เห็นทันทีรู้สึกทันที แต่ผมไม่เห็นกรุงเทพฯ ที่บางลำภูเลย ถ้าคุณไปเชียงใหม่คุณจะเห็นเชียงใหม่ที่ตลาดวโรรส”

“ชลบุรีเห็นจะอยู่ที่โรงน้ำปลา!” หญิงสาวหัวเราะ

“แน่นอน! ขอแต่อย่าบอกว่าแมลงวันกับยุงคือกรุงเทพฯ เท่านั้น!”

ในระยะอีก ๖ เดือนต่อมา คำพันลงมากรุงเทพฯ เพื่อซื้อของและเพื่อความรักของเขาหลายครั้ง ทุกครั้งแม้จะหมั้นกับสมภรณ์แล้ว เขาก็ไม่หายพิศวงเรื่อง “กรุงเทพฯ อยู่แห่งหนใด”

เขาถามครูเทศบาล

สมภรณ์ถามอาจารย์มหาวิทยาลัย

ตำรวจ เสมียน เลขานุการรัฐมนตรี รัฐมนตรี!

และคนแจวเรือจ้างและโสเภณี ไม่มีใครรู้! ก็ใครเล่าจะรู้!

เขาประกาศให้รางวัลผู้สามารถตอบความสงสัยของเขาในหน้าหนังสือพิมพ์ ๑ เดือน ๓ เดือน ๖ เดือน ไม่มีใครตอบเป็นที่พอใจเลย

“ไม่มีประโยชน์หรอกค่ะ” สมภรณ์ปรารภอย่างท้อแท้ “กรุงเทพฯ คือทุกๆ อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวัน”

“ไม่ใช่! ของทุกอย่างต้องมีสัญลักษณ์ ไม่มีไม่ได้ แม้ประเทศของเราก็ยังมีข้าวกับพระพุทธศาสนา กรุงเทพฯ ก็ต้องมี” คำพันไม่ยอมเปลี่ยนความตั้งใจ “ที่รัก ถ้าคุณเพลีย คุณเบื่อ ก็ขอให้ผมเสาะแสวงหาตามลำพัง”

“ใช้ได้หรือคะ? ดิฉันไม่ได้เพลียและไม่ได้เบื่อสักนิด หาอีกเถอะค่ะ ดิฉันจะช่วยเหลือถึงที่สุด” ไม่รู้ว่าใครเอากำลังใจอะไรมาหนุนให้พูด บางทีอาจเป็นความฝืนครั้งสุดท้าย สมภรณ์มีความรู้สึกอย่างสามัญธรรมดาเกี่ยวกับกรุงเทพฯ บ้านเกิดเมืองนอนเช่นเดียวกับพระนคร คนอื่น เมืองท่า เมืองฟรี จะเอาสัญลักษณ์มาแต่ไหน

ทิวทัศน์นั้นลึกเข้าไปในคลองน้อย และคืนนั้นเดือนกำลังหงาย ต้นมะพร้าวสูงโน้มลงจดปลายทางเกือบถึงลำน้ำเกือบไม่มีที่ว่างก่อเป็นเงายาวพาดสลับกับแสงสะท้อนของความสว่างอ่อนๆ บนต้นไม้อื่น–

ยิ่งลึกเข้าไปยิ่งแสนสุข คล้ายกับจะพ้นไปจากโลก!

ลมโชยมาค่อนข้างเบา โดดเดี่ยว โรแมนติก!

อา! กรุงเทพฯ เจ้าอยู่แห่งหนใดหนอ?

ลง “บางกอกสมิต” รายปักษ์ พ.ศ. ๒๔๙๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ