ความนำ (คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก)

การเขียนเรื่อง "อ่านเล่น” ที่เรียกกันว่า "นวนิยาย” นั้น ตามตำราและแบบฉบับแล้ว เขียนได้ยากมาก นอกจากต้องเป็นผู้มองดูชีวิตเก่ง, มีแนวทางใหม่แปลกๆ และตระหนักในยุคที่จะเขียนนั้นๆ แล้วยังต้องมีวุฒิพิเศษ คือ don หรือ gift ทางภาษา กล่าวดังนี้ไม่ใช่ของเล็กของน้อย คำว่า “ผู้มองดูชีวิตเก่ง” หมายถึง ความเชี่ยวชาญในปัญหาชีวิตทุกเหลี่ยมทุกมุม ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนหนุ่ม นสาวหากมิใช่อัจฉริยบุรุษหรือ genius สหายของข้าพเจ้าคนหนึ่งได้ขอร้องข้าพเจ้าให้เขียนนวนิยายเมื่ออายุเลย ๔๐ ปีแล้ว

คำว่า “แนวทางใหม่แปลกๆ” เป็นประเด็นใหญ่ ในเมืองไทยเรามีนักประพันธ์ที่โกงประชาชนโดยขโมยแนวความคิดจากนิตยสารต่างประเทศไม่น้อย บางที่ลอกมาทั้งดุ้นจากเรื่องอินเดีย, เรื่องฝรั่งเศส, เรื่องอังกฤษ ฯลฯ แปลงชื่อ และสถานที่ใหม่ แล้วเซ็นชื่อตนลงไป เมื่อโกงแล้วก็ไม่บอกที่มาเป็นธรรมดา เรื่องความคิดใหม่, โครงเรื่องใหม่โดยทั่วไปเป็นผลจากการศึกษาร่ำเรียนวิชาการทางมนุษย์วิทยา, ปรัชญา และสังคมวิทยา แต่ก็มีนิตยสารของเราบางฉบับที่ตั้งหน้าตั้งตาตีพิมพ์นวนิยายที่ไม่ต้องการความคิดใหม่หรือเค้าโครงใหม่ อ้างว่าต้องการแต่ เรื่องเบาๆ อ่านแล้วเหมือนดมดอกไม้งามดอกหนึ่ง ชื่อมันจะเป็นอะไรก็ตามแต่มัน จะบานเมื่อใด ผสมอย่างไร เป็นตระกูลอะไร ฯลฯ ไม่สำคัญ ขอให้ดมเล่นเป็นหมดธุระ

นวนิยายประเภทนี้เรียกว่า “นวนิยายโสเภณี" ซึ่งเป็นภัยต่อสังคมทุกสถาน เช่น ความรักที่เกิดในเวลาอันสั้น การเสียตัวเร็ว การบรรยายถึงความมั่งมีอันมหาศาล การถือศักดิ์ ความหยิ่ง ความงอน ฯลฯ ซึ่งเกิดง่าย สูญหายง่าย อภัยกันง่าย คล้ายเด็กอายุ ๔ ขวบ วาดภาพมนุษย์ปรากฏเป็นรูปก้านไม้ขีด ๕ ซี่ รูปศีรษะเป็นวงกลม จมูกไม่มี ตากับปากคือเส้นตรงๆ สองสามเส้น!

สำหรับข้าพเจ้าเขียนเรื่องอ่านเล่นก็เพื่อให้อ่านกัน “เล่นๆ” ไม่เคยตั้งใจจะให้เป็นเรื่องจริงเรื่องจัง ข้าพเจ้าไม่ใช่นักประพันธ์ บังเอิญมีนักอ่านตาคมอ่านแล้วเห็นเป็นเรื่องจริงจังขึ้น เรื่องบางเรื่องอย่าง “เอแลน บาลอง” จึงซู่ซ่าร่ำลือไป แต่ต้องขอย้ำว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่นักประพันธ์เป็นคำรบสอง แต่ที่เขียนหนังสือผูกถ้อยคำ เป็นเรื่องมีชื่อกำกับลงพิมพ์ได้ พร้อมทั้งได้ราคาค่างวดตามสมควรนั้นเพราะนึกสนุกไม่ได้เจตนาเขียนอย่างจริงจังไม่เคยอิจฉาริษยาใครทั้งไม่เคยถือเป็นงานสำคัญ ตั้งใจแต่จะเขียนเล่นๆ แต่ถ้าการเขียนเล่นนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา หรือ “ดูเป็นจริง” ไป ก็ช่วยไม่ได้ จุดหมายปลายทางของการเขียนก็ไม่มี ได้บอกกล่าวเพื่อนฝูงเสมอ ว่าไม่ต้องการได้ชื่อเสียงทางเขียนนวนิยายอย่าง ม.จ. อากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ หรือ “ดอกไม้สด” อาจเพราะกลัวจะเป็นบ้าอย่าง กีย์ เดอโมปาสซอง ซึ่งเสียสติก่อนตายถึง ๑๐ ปี และคนอื่นๆ อีกไม่น้อยคนก็ได้

ถ้าใครเป็นนักอ่านชนิดเอาเรื่อง จะอ่านพบความซ้ำซากบางประการและจับได้ว่าผู้เขียนไม่ใช่ “นักประพันธ์” จริงๆ แต่ที่บรรณาธิการนิตยสารบางฉบับ และผู้อ่านจำนวนหนึ่งชอบ (ไม่ต้องสงสัยจำนวนที่ไม่ชอบ) ก็ว่ากันเพราะมีรสแปลก คำนี้ทำให้กลุ้มใจ ไม่ใช่ดีใจ ที่ไม่ดีใจเพราะต้องเขียนอยู่เรื่อยๆ ความนึกสนุกกลายเป็นความเคร่งขรึมไปบางครั้ง บางทีความจำเป็นบังคับให้เขียนก็มีซึ่งโดยมากเอาดีได้ยาก เพราะมีนิสัยเขียนเร็ว ไม่เคยว่าง ไม่เคยกะว่าจะเขียนอย่างนั้น อย่างนี้ต้องสารภาพว่าปากกาพาไปจริงๆ ที่น่าเศร้าใจก็คือเรื่องที่เราว่าดี บรรณาธิการท่านว่าไม่ดี แต่เรื่องที่เราว่าไม่ดีเขากลับว่าตรงข้าม

ท่านผู้อ่านที่รัก เรื่องทั้งหลายที่ตีพิมพ์ ณ ที่นี้ คือความฝันไม่ใช่ความจริง ถ้าจะมีอะไรใกล้ความจริงอยู่บ้างก็ช่วยไม่ให้เป็นเช่นนั้นมิได้

ส.ธรรมยศ

๑๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ