ลมร้อนในเหมันตฤดู

วันเสาร์วันนั้น ร้าน “ไชยณรงค์” คับคั่งด้วยผู้คนผิดปกติ ฝนได้เริ่มปรอยมาตั้งแต่เช้า และตกหนักกระทั้งบ่ายถึงสำนวนฝรั่งว่า “ตกหมาตกแมว” ไม่ต้องสงสัยว่ากรุงเทพฯ จะไม่มอมแมมด้วยสมรรถภาพของชาวเทศบาลอย่างชอกช้ำ... หากมองจากยอดสูงของภูเขาทองจะเห็นพระนครหลวงเหมือนป่าช้าร้างแห่งโบราณกาล ข้าพเจ้าพยายามแย้งนัดของหลวงประพันธ์ไพรัชกิจว่า อาหารกลางวันที่ “ไชยณรงค์” วันเสาร์คนแน่นนัก อยากให้ไปที่ชมซุยฮง แต่คุณหลวงไม่ยอม ยืนยันจะให้เป็นที่ร้าน “ไชยณรงค์” ให้จงได้ กำชับว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่แขกคนเดียวที่รับเชิญ ยังมีแขกนัมเบอร์ ๒ อีกคนหนึ่งที่เจาะจงเอาร้านลือชื่อนี้ และที่สำคัญก็คือแขกนัมเบอร์ ๒ นั้น ต้องการรู้จักข้าพเจ้า...

“ระยำจริง! เจ้าโทรศัพท์บ้าๆ “ข้าพเจ้าหัวเสียกระชาก ๐๕ จนพลาดรู เพราะเสียงหลวงประพันธ์ หายไปกลางคัน มันเสียเป็นบ้าทุกเดือน ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะให้เอกชนจัดทำในสิ่งที่รัฐบาลตื้นตันว่า “จัดไม่เป็น” เสียสักที ขณะใดที่ต้องการพูดกับจีนเป็นได้พูดกับแขก เวลาจะพูดกับแขกเป็นต้องได้โมโหกับฝรั่ง!

“ฮัลโหล คุณหลวงหรือครับ ต้องขอโทษที่โทรศัพท์มันคอร์รัปชันร้ายกาจ เสียงมันตายไปเฉยๆ ถ้าจะไป “ไชยณรงค์” ให้ได้ขอกรุณาเป็น เวลา ๑๑.๔๕ ผมมีนัดเพื่อนที่กรมเจ้าท่าบ่ายโมงสิบห้านาที แผนผังเรื่อง “วิทยาลัยสันติภาพ” อ่านแล้ว เห็นด้วย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณหลวงไปต่างประเทศอีก แต่ผมอยากรู้ว่าใครเป็นแขกนัมเบอร์ ๒”

“เถอะ เดี๋ยวก็รู้” คุณหลวงหัวเราะห้วนๆ “ขอบใจที่สนับสนุน ผมจะไม่ลืม พวกเราโดยมากมักเห็นคนอื่นฝันเหลวเสมอ ถ้าฟ้าไม่ถล่มเร็วนัก ผมคงจะทำนิทานอิสปใหม่รวมทั้งเรื่อง ‘สุนัขในรางหญ้า’ อีกประเดี๋ยวผมจะให้ดูอะไรอีก ๒-๓ ชิ้น เลิกกันนะ”

“เดี่ยวซิครับ แขกหญิงหรือแขกชาย”

“สุภาพสตรี”

ข้าพเจ้ารู้สึกอิจฉาความกว้างขวางของหลวงประพันธ์ทันทีจากสัญชาตญาณ

“เธอคงไม่มาจากอเมริกา ใช่ไหมครับ หมู่นี้ผมเบื่อพวกยิ้มง่ายๆ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเสียจริง แม้หนังซึ่งเคยโปรดก็ดูทุลักทุเลซ้ำซากคล้ายสิ้นคิด”

“ระวังจะทายผิด เธอเพิ่งบินมาจากเชียงใหม่ เป็นเด็กดีมาก พรุ่งนี้ก็จะบินกลับ เลิกกันนะ อีกสองชั่วโมงก็รู้”

เสียงกริ่งของโทรศัพท์ฝ่ายโน้นทำให้ข้าพเจ้ามองมันไม่เข้าใจ ผู้หญิงเชียงใหม่กับชายที่โฉดเรื่องเชียงใหม่ที่สุดดั่งข้าพเจ้า! นี่ข้าพเจ้าไปได้มีอะไรหรือทำอะไรกับผู้หญิงเชียงใหม่คนใดหนอเท่าที่จำได้เต็มสติสัมปชัญญะ มีสุภาพสตรีชาวเชียงใหม่คนเดียวที่ข้าพเจ้ารู้จัก เธอเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงอยู่ที่แม่ย่อย เลยเชียงใหม่ไป ข้าพเจ้าเคยได้ทำอะไรไม่ดีไม่งามกับชาวเชียงใหม่คนใดอีก...นึกขณะนั้นไม่ถึง แต่ถ้าจะเป็นสุภาพสตรีชาวเชียงใหม่จริง ทำไมต้องผ่านความอยากรู้จักข้าพเจ้ามาทางหลวงประพันธ์ไพรัชกิจในร้าน “ไชยณรงค์” เท่าที่ข้าพเจ้ารู้...เพราะเป็นที่พำนักชั่วคราวของ “สมาคมชาวเหนือ” มีชาวเชียงใหม่ผู้กำลังจะกลายเป็นชาวพระนครหลายคนอยู่ ทำไมจะพูดกับข้าพเจ้าโดยตรงมิได้เล่า แม้คำสองคำ

แต่นครเชียงใหม่...ข้าพเจ้าหลับตา นครที่สงบและสวยงามที่สุดในสยาม เช่นเดียวกับนครศรีธรรมราชและอุบลราชธานี ตลาดพื้นเมืองชั้นหนึ่งในประเทศใต้ชื่อไพเราะล้ำคือ “ตลาดวโรรส” กะหล่ำดอกสีขาวในฤดูเหมันต์เป็นปุยปานแก้มคนงาม สำเนียงเจรจาอ่อนหวานซึ่งข้าพเจ้ามีวาสนาได้ยินได้ฟังน้อย มารยาทเกือบไม่เดียงสา ทุกมุมเมืองเต็มไปด้วยวิญญาณของไทยบริสุทธิ์... หรือจะเป็นเพราะเรื่องนั้น อา! ระลึกได้แล้ว เพราะโฉด อาจมีบางท่านจับความรู้ด้อยของข้าพเจ้าว่าได้เขียนเรื่องสั้นที่ทรามที่สุดในชีวิตเกี่ยวกับเชียงใหม่ครั้งหนึ่งชื่อ “เมื่อดอยสุเทพร้าว”

อักษรศาสตร์ที่ทรามบทสนทนาป้ำเป๋อน่าอับอายขายหน้า ข้าพเจ้าไปเที่ยวเชียงใหม่กี่ครั้ง! ตาคนที่ยุ่งไปด้วย “ความโง่บัดซบแห่งยุค” ในที่ที่เกือบเป็นธรรมชาติเบื้องต้น ย่อมมืดมัว สังคมของข้าพเจ้าในเชียงใหม่ เป็นสังคมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และพระสงฆ์องค์เจ้า “ห้วยแก้ว” เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่เคยรู้ ข้าพเจ้าไม่เคยขึ้นดอยสุเทพฯ ไม่เคยไปเที่ยวแม้นครที่มีอุตสาหกรรมในครอบครัวชั้นเยี่ยมคือ “ลำพูน” โรงพยาบาลแม็คคอมิค โรงเรียนดารา ฯลฯ เป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น ข้าพเจ้าหมดสติปัญญาที่จะเขียนความเป็นจริงต่างๆ เพราะขณะนั้น...ในสายตาที่พร่าสะท้านกับความเก่าแก่มีชีวิตหาได้ยากยิ่งกว่าบนเกาะอยุธยานั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ง่ายนัก

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสุภาพสตรีชาวเชียงใหม่ที่ต้องการรู้จักข้าพเจ้า วันนี้คง “ไม่มาดี” อย่างน้อยที่สุดเธอคงได้อ่านพบความต่ำทรามและความขรุขระต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเขียน ต้องไม่มีเรื่องอื่นและต้องไม่ใช่เรื่องที่มีราคาแพงที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า แต่ถูกที่สุด (เท่าที่รู้) สำหรับผู้อื่นคือ “ความรัก” เธอคงถือดี...เป็นราชินีของความหยิ่ง โกรธง่าย จองหองจัด อารมณ์ร้าย...แต่สวย “อย่างจืดจาง” เธอต้องโกรธข้าพเจ้าอย่างรุนแรง ถึงขนาดต้องการต่อว่าต่อขานต่อหน้า การศึกษาของเธอคงสูงพอที่จะเห็นถึงความไม่มีอะไรต่ำเท่ากับความต่ำของการพูดลับหลัง หลวงประพันธ์ไพรัชกิจสหายผู้อาวุโสของข้าพเจ้าเป็นสื่อ อาหารมื้อกลางวันของข้าพเจ้าเสาร์นี้ ถ้าไม่อร่อยที่สุดก็คงเผ็ดร้อนถึงสะอึก และอาจจะเข็ดแขกนัมเบอร์ ๒ ของหลวงประพันธ์ฯ จนวันตาย!

“ดิฉันขอไม่พูดภาษาเหนือกับคุณ” วชิรพันธ์ ณ จอมทอง เริ่มประปรายกับข้าพเจ้าในเวลาเพียง ๓ นาทีที่ถูกแนะนำให้รู้จัก สำเนียงชาวใต้สมบูรณ์ ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ ร่างสูง เก๋อย่างประหลาด ดวงตาอ้อยอิ่ง ต้องตำรับอิสตรีโบราณเมืองแม่ระมิงค์ คิ้วงาม...มโนภาพของข้าพเจ้าช่างอยุติธรรม น่าสังเวช เดินงาม เต็มไปด้วยความอ่อนหวานอย่างลึกลับ วางตัวงามที่สุดกระทั่งไม่เชื่อตาที่อดพิศวงมิได้คือริมฝีปากคู่ที่กิ่ว เพราะความคม ผิดกับริมฝีปากสาวชาวเหนือคนใดทั้งหมดที่เคยพบปะวิสาสะ

“เชิญตามถนัด” ข้าพเจ้าพูดอย่างปกติ สำเนียงมิได้บอกภาษาเสมอไปใช่ไหมท่าน หันมายิ้มเนือยๆ กับหลวงประพันธ์ฯ ซึ่งกำลังอ่านรายชื่ออาหาร ยังไม่ชัดว่าเธอจะเริ่มต้นประเด็นใด

“ดิฉันขอร้องน้าหลวง ๓ วันมาแล้ว อยากรู้จักคุณที่สุด คุณไม่ใช่ “กรุงเทพฯ” ดังที่คิด ดิฉันหมายความว่า ต้องตามหาคุณเหมือนคนที่ไม่มีใครรู้จักเลย”

น้าหลวง! ฮึ่ม... คุณหลวง ได้การอย่างหนึ่งละ แต่มีอะไรที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักเห็นเกี่ยวกับสุภาพสตรีผู้นี้ คนที่มีความรู้เรื่องเชียงใหม่ไม่เกินถนนสองสามสายอย่างข้าพเจ้า! วชิรพันธ์ ณ จอมทอง! แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็เพิ่งได้ยิน และรูปร่างที่ไม่ปฏิเสธว่า “ไม่ชวนพิศ” ก็เพิ่งเคยได้พบปะ จับได้นิดเดียวว่าเธอพยายามกดข่มสำเนียงพูดมิให้พร่า ระยะประโยคที่ท้าทายนั้นมีสัมพันธ์กันดุจกรีดดรรชนี บางทีเธออาจจะเคยผ่าน “มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งเชียงใหม่” ดุจ “อาจารย์เรียงรมย์ ศิริโกเมร” ในเรื่อง “เมื่อดอยสุเทพร้าว” ผู้น่าขยาด!

“น้าหลวงสัญญาจะไม่พูดอะไรเลยระหว่างที่ดิฉันขอโต้คารมกับคุณ”

เธอยังไม่หยุดความคม นาสิกตรึงตรากลางพักตร์ดั่งจะเย้ยแอฟโฟรดิต คางกระหวัด “แหวนหู” เป็นพลาสติกรูปนกกระสาตัวกลมจ้องปลาเล็กสองตัวสีฟ้าขาว ข้าพเจ้าพยายามระงับใจ คนอย่างข้าพเจ้าเคยประกาศแก่ใครก่อนครั้งใดว่า คารมเรือง

“เต็มใจ คุณวชิรพันธ์ แต่ชื่อคุณยาวจริง จะเรียกว่า ‘วชิร’ หรือ ‘พันธ์’ เฉยๆ มิได้หรือ” ข้าพเจ้าพึมพำกับหลวงประพันธ์ฯ เป็นภาษาอังกฤษ ๒-๓ คำ...คงสนุก และโปรดจบลงด้วยไมตรี

“ดิฉันเกลียดคุณที่สุด”

“อ้าว!” ข้าพเจ้าอุทานเงยหน้าจากตัดเนื้อ นึกสนุกอย่างระมัดระวัง “ไม่เร็วไปหรือ ถ้าคุณบินมาแต่เมืองบนเพื่อจะพูดประโยคนี้...ผมเสียดาย”

“ไม่มีอะไรยากเกี่ยวกับคุณเลยแม้เห็นเพียง ๑ นาที!” เธอสะบัด “คุณรู้จักเชียงใหม่ทรามเหลือเกิน! ชาวเมืองน่านอย่างคุณ คุณเขียนกล้าจนเกินตัว อย่างน้อยคุณต้องไม่เคยเห็นดิฉันมาก่อน ทำไมคุณจึงหาญเขียนได้ว่า ผู้หญิงเชียงใหม่ทุกคนสวยอย่างเยือกเย็นแต่จืดจาง”

เรื่อง “เมื่อดอยสุเทพร้าว”!

วชิรพันธ์ ณ จอมทอง เป็นยิ่งกว่าโฉมตรูเหนือเกล้าของเชียงใหม่หรือว่าไร!

ข้าพเจ้าหัวเราะ หันไปตำหนิหลวงประพันธ์ฯ “ไม่เห็นบอกกล่าวล่วงหน้าสักคำว่า แขกนัมเบอร์ ๒ ดุ”

“คนดุไม่ใช่คนชั้นต่ำอย่างคนปากจัดใช่ไหมคะ น้าหลวง” เธอตอบฉาดฉาน “สาวเมืองน่านเห็นจะคมเหมือนเลี่ยมเตรียมเย้ยเพชร!”

“ผมเคยเป็นเด็กอยู่ลำปาง ยังไม่เคยเห็นเมืองน่านแม้ ๑ ตารางเซ็นต์”

คู่คารมของข้าพเจ้ายักไหล่หุ้มป่านสีสวรรค์เร็วไว ไม่แยแสแม้จะเริ่มเปิ่น

“แต่คุณยังไม่พูดสิ่งที่ดิฉันพูด”

“ทำไมกับความสวยงาม...ที่ ‘กินไม่ได้’ ...จืดจาง ผมเห็นเช่นนั้นถึงเดี๋ยวนี้” ...ข้าพเจ้าเก็งจังหวะอารมณ์ “ถ้าจะพูดตามความรู้สึกส่วนตัว ผมก็ยังเห็นผู้หญิงเชียงใหม่ทุกคนสวยเยือกเย็นแต่จืดจางที่สุด”

“แม้แต่ดิฉัน”

ฟังดูเถิด! ท่านผู้อ่านที่รัก ท่านอาจไม่เชื่อหู แต่เรื่องนี้เป็นความจริง ขณะนั้นเศียรของวชิรพันธ์ตั้งเชิดหยิ่งระหง เหมือนหงส์เหลืองปลายเสาวัดพันตองในเชียงใหม่ ที่เมื่อ ๑๒ ปีก่อนเตรียมบินในสายตาของท่านเจ้าอาวาสกับข้าพเจ้า ถ้าเป็นท่าน...ผู้หญิงที่เจิดจ้าคมกริบทั่วสรรพางค์กายในเรื่องราวของความงาม จะบอกว่ามาจากส่วนไหนของโลกก็ตาม พูดกับท่านเช่นนี้ท่านจะตอบให้เทียมทันอย่างไร

“ผมไม่เชื่อว่าคุณเป็นชาวเชียงใหม่”

“แต่ดิฉันเกิดตีนดอยสุเทพ!” เสียงดัง พักตร์ผ่องปลั่งขึ้นด้วยอารมณ์ร้าย ไม่สมใจที่ข้าพเจ้าเลี่ยงตอบจังหวะฉกรรจ์ตรงๆ หน้า มือสั่นกระทั่งส้อมที่เขี่ยต้อนเศษเนื้อไปหามีดสะดุดกันในจาน หลวงประพันธ์ฯ เอื้อมไปตักก้อนเนื้อที่เหลือให้อย่างปรานีไม่ปริปากพูดและไม่ได้ยินแม้เสียง “ขอบใจ” จากความระทึกนั้น

“โปรดพูดเบาๆ จะรุนแรงเพียงใด ผมยินดีฟัง” ข้าพเจ้าประโลม สังเวยเงากระหายที่เธออยากเป็นคนสำคัญเต็มบรรยากาศ “โต๊ะที่สี่ต่อจากเราไป มีคนรู้จักผมทุกคน โต๊ะข้างหลังยังมีอีก ๒ คนที่รู้จัก”

“ขอบคุณ” เสียงของเธอช่างน่าเดียดฉันท์ “ดิฉันเกลียดคำ ‘เรา’ ที่คุณใช้ เดิมก็ไม่ตั้งใจไม่สุภาพกับคุณนัก ใครๆ ก็ลือความปากจัดของคุณกระทั่งผู้ดีก็รังเกียจ”

“แต่คุณรู้ดี...ในสังคมที่มีมาตรฐานการครองชีพต่ำที่สุดอย่างสยาม มี ‘ผู้ดี’ น้อยเพียงใด”

“ก็เช่นนั้นผู้ดีแปดสาแหรกทั้งนั้น! ดิฉันดีใจนิดเดียวที่คุณพูดเหมือนคุณเขียน มีหลัก...ไม่ยอมแพ้ง่าย ไม่แยแสใคร”

“ผมอาจจะแพ้คุณ” ข้าพเจ้านึกหยามวชิรพันธ์ เธอช่างร่ำเรียนมามากเสียจริงๆ “ถ้าการสนทนาของเราจะเป็นประโยชน์...แม้เล็กน้อย”

“ทำไมคุณชอบใช้คำ ‘เรา’”

“เป็นต้นเช่นวิเคราะห์ถึงวิธีป้องกันศิลปะการหลอกหญิงชาวเหนือ มาหลงเป็นผีเสื้อนครหลวง ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์” ข้าพเจ้าแสร้งไม่ได้ยินความดึงดื้ออันโง่เขลา รู้สึกสงสารความเก่งกล้าในวัยสาวของหญิงทรามวัยทั่วประเทศที่อ่านน้อย-รู้น้อย...รู้จักโลกที่ตนมาพักอาศัยนี้น้อยที่สุด แม้ “ความรัก” ซึ่งเป็นมงกุฎเพศแม่แต่ประการเดียวที่เธอต้องรู้ เธอไม่ยอมรู้ความรักของเธอมีเพียงแค่บุตรหรือบุตรี...ไม่มีชาติ ไม่มีเศรษฐกิจ ไม่มีโลกทัศน์ ไม่มีศาสตร์แห่งสวรรค์...

“เสียใจค่ะ ดิฉันไม่อยากรู้ อยากรู้ที่สุดอย่างเดียวคือความเข้าใจของคุณที่มีต่อดิฉัน”

“ผมไม่เข้าใจ”

“ดิฉันรู้ว่าคุณโสด และคนที่ฉลาดทุกคนอิจฉาความเป็นโสด...”

หลวงประพันธ์ฯ ผู้เจื่อนบ้างยิ้มบ้างมานานแล้ว พึมพำแซงขึ้นว่า... Homo solus aut deus aut demon. แต่วชิรพันธ์ไม่ยอมฟังพูดต่ออย่างแค้นเร็วไว “ถามจริงๆ เถอะค่ะ คุณสุจริต มีผู้หญิงเชียงใหม่คนใดทำความไม่พอใจอะไรแก่คุณถึงอาฆาตชิงชัง”

“คุณหมายถึงการแพ้รัก-อกหัก อะไรทำนองนั้นหรือ” ข้าพเจ้าพาซื่อ

“ค่ะ คุณต้องเป็นคู่รักที่ทรามที่สุด หน้าของคุณไม่มีแห่งใดว่าง-ไม่มีแผลร้ายของความรักไม่สมหวัง!”

การสนทนาและการเพิ่งรู้จักอันบาดใจ!

ความไม่สมหวัง! ในสังคมของนักศึกษาซึ่งมีแต่ความอิจฉาริษยา...ทำไมความไม่สมหวังของชีวิตจะต้องมีแต่อิสตรี! แต่ประโยค “ต้องเป็นคู่รักที่ทรามที่สุด” ของวชิรพันธ์กระทบปังกับทุกเส้นเลือดหุ้มหัวใจ อนิจจา! นี่ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้ นงรามแน่งน้อยชาวเชียงใหม่มาแต่จอมทอง เป็นคนบอกคนแรกอย่างตรงไปตรงมา...นอกจากเป็นคู่รักที่ทรามที่สุด ดวงหน้าของข้าพเจ้าไม่มีแห่งใดว่าง-ไม่มีแผลร้ายของความรักไม่สมหวัง!

วชิรพันธ์ “รัก” ข้าพเจ้าหรือ

ใครจะรู้...วัยสวาท! ความสุขสุรุ่ยสุร่ายของความรักเล่นกับอารมณ์ เธออาจจะ “เล่นรัก” กับชายทั่วโลกมาทุกคน-ทุกขณะที่เธอพบปะ เธอเองก็ไม่รู้

เหี้ยมโหดอย่างสุดเหี้ยมเทียววชิรพันธ์เอ๋ย ข้าพเจ้าสูงอายุแล้วเพียงใด! แต่คำหยามอย่างนี้ ความเข้าใจผิด แม้ในการสนทนาที่ต่ำกระด้างและไม่คู่ควร...วินาทีนี้ความวู่วามของข้าพเจ้าเริ่มเร้าโหม ไฉนเด็กประหลาดจากภาคเหนือของสยามคนนี้จึงกล้าและกราวนัก ใครหนอที่เป็นครู เธอจะอุทานถึงความหยิ่งของข้าพเจ้าอย่างไรที่เมื่อก่อนจากบ้าน ๒๐ ปีก่อน ข้าพเจ้าให้คำสัตย์แก่ตนเองว่า หากจำเป็นต้องรักและแต่งงานแล้ว จะขอมีคู่ขวัญแต่ชาวกรุง...

ความไม่เคยมีความสุขอย่างแท้จริงในชีวิตนี้บนโลกนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีเท้าดุจมิต้องเดิน ความรักเล่นเหมือนชีวิตที่สิ้นยางของนางไม้ วชิรพันธ์! เธอจะเป็นอะไรของเชียงใหม่ก็ตาม สำหรับข้าพเจ้า-เธอจะเป็นอะไรยิ่งกว่าลมร้อนสุดแสนสั้นชั่วหนึ่งวินาทีนั้นมิได้เลย โปรดรับรู้ไว้วิญญาณรักทั้งหมดของข้าพเจ้าคือเหมันตฤดู...มันหนาวเย็นที่สุด มันตายแล้ว

เธอต้องการรู้จักกับข้าพเจ้าก่อน จำไว้ให้ดี เธอท้าทายข้าพเจ้าทุกประโยคทุกจังหวะ เธอคิดว่าเธอสุภาพสักเพียงใด และยังเผ็ดร้อนล่วงเกินทุกอารมณ์ใน unbalanced poise

ที่ไม่รู้สึกอีกเล่า... อย่างไรก็ตาม ถึงวินาทีเดียวของเธอจะโชยแรงยิ่งกว่าสลาตันกล้า! แผลสวาทที่เธอเห็นเพราะความคม-ไม่มีแผลใดที่ไม่ปิดสนิทแล้วเพราะความหนาว มันปวดเศร้า มันมีชีวิตอยู่ในความตายนั้น...กระทั่งบางแผล-ใครจะเอ่ยชื่อเจ้าของแผลให้ได้ยินได้ฟังมิได้เลย ชีวิตเป็นอย่างนี้ จะให้ข้าพเจ้าบอกเธอได้อย่างไรว่า แผลทั้งนั้นยังให้ความสุขสุดสุขอยู่ในคำนึง...

เธอต้องรู้ดี ในอาณาจักรรักนั้นไม่เคยมีซาตานแห่งความทราม หรือเทพธิดาแห่งความดีโดยเด็ดขาด ความรักที่สมบูรณ์คือ “ความไม่มีเหตุผลร่วมกัน” ทำไมเธอไม่คิดว่ามนุษย์เราทุกคนในโลกนี้คือ “อุบัติเหตุแห่งกรรมใหม่” ...คนไหนคนนั้น ไม่มียกเว้นเลย ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้คือชายหรือหญิงใดก็ตามรักกับหญิงหรือชายใดก็ตาม จะต้องแต่งงานกับ “อีก” คนหนึ่งที่ไม่เคยรักกันมาก่อนเสมอไป และคู่ที่แต่งงานกันได้บนปฐพีนี้เล่า มีใครบ้างที่ไม่แต่งงานกันมาแล้วบนสวรรค์

แต่ความพลาดรักเป็นบาปที่ต้องชำระของกรรมเก่า ข้าพเจ้าเคยรัก “เอแลน บาลอง” ในเมืองญวน แต่เรามิอาจแต่งงานกันได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง! นั่นมิได้หมายว่าข้าพเจ้าเป็นคนขลาดเป็นชายชั่วหรือเธอทราม... บุระณา, พัชรี, กรองทอง, ตระลัก, กรรณิการ์ และเทพธิดาแห่งชีวิตคือ “นวลพรรณ” ในเมื่อทุกคนมีเหตุผลดีเลิศในความเป็นอยู่ โสดและวิวาหกรรม ข้าพเจ้าไม่เคยอุทานว่าเธอคนใดเป็นคนทราม ตรงกันข้ามข้าพเจ้าว่าเธอเป็นฝ่ายถูก...ฟ้าและข้าพเจ้าเป็นฝ่ายผิด เธอเป็นคนดี...วิเศษ! เธอต้องการเลี้ยงมนุษยชาติด้วยชนรุ่นใหม่ ศิลปการครองชีพของเธอลึกซึ้งยิ่งกว่าตำรับใหญ่ของเมธีใด ในขณะที่ข้าพเจ้ามีแต่หนังสือ ปากกา ความฝัน...การท่องเที่ยวไปและหนังสือ!

ทุกคนมีกรรมหลังเป็น “ความรัก” ที่ต้องใช้คืน แม้สุภาพสตรีบางคนในชีวิตของข้าพเจ้าจะเป็นเหมือนขนนกอ่อน เกิดในที่สูงมีก้านคอที่สูงผิดปกติ และไม่เคยต้องการอะไรในการต้องอยู่นอกจากลมประจบเพื่อพยุงปลิวให้บินไป แม้ต้องข้ามธรรมสถิตแห่งศีลธรรม! หากจะวิเคราะห์ในแง่จริยทัศน์แล้ว ทุกคนคือคนดี ความชั่วหรือความหลอกลวงคือความชำนาญของชีวิตนี้เพื่อความดีนั่นเอง ถ้าวชิรพันธ์บังเอิญรู้ถึงความรักที่เลือกรัก...คนเดียวเด็ดเดียวในครั้งเดียว รู้ถึงความพยายาม ความเศร้าความเสียสละเพื่อความสุขของคนที่ข้าพเจ้ารัก เธอจะพูดดั่งที่เข้าใจหรือไม่หนอ

เมื่อรู้สึกตัว ข้าพเจ้าเห็นแสงขาวในแก้วตาวชิรพันธ์เป็นสีดำ

“หน้าของดิฉันไม่มีแผลหรอกค่ะ” เสียงแจ้วดุจใบระกาทองต้องลมเหนือ “นอกจากลิปสติกสีอุลตรารีแกล”

ขณะที่เขียนเรื่องนี้ วชิรพันธ์บินกลับไปเชียงใหม่แล้ว อีก ๖ สัปดาห์ หลวงประพันธ์ฯ บอกว่าเธอจะแต่งงาน ข้าพเจ้าดีใจ สุภาพสตรีสยามทุกคนต้องแต่งงานครั้งหนึ่งหรือมีลูกแล้วคนหนึ่งจึงควรอยู่ในโลกนี้อย่างน่ารัก ฉลาด น่าใหลหลง! คนอย่างข้าพเจ้านั้นแม้จะหนาวสุดถ้อยคำในเหมันตฤดู ลมร้อนดุจวชิรพันธ์คงไม่อุ่นดวงใจได้เกิน ๗ วัน จริงอยู่ไม่มีใครได้ปฏิเสธว่า เธอไม่คมคายเผ็ดร้อนเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ กระทั่งอยากเขียนความงามสาวเชียงใหม่ให้กลับคำ แต่ชีวิตของวชิรพันธ์อยู่ในดวงตาของข้าพเจ้าเพียง ๕๐นาที น่าเสียดายวัยกำดัดที่โถมวิ่งเข้าสู่ประตูวิวาห์เร็วไวเกินความรอบรู้! ที่เสียดายที่สุดคือเวลาแห่งความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาและมหาวิทยาลัยของข้าพเจ้าที่ต้องมาเสียไปเพราะ “ลมร้อน” ซึ่งไม่มีวันหวนกลับมาอีก...

สัปดาห์นี้ หลวงประพันธ์เหลวเต็มที มหาสงครามครั้งที่ ๓ กำลังเกิดขึ้นไม่เกิน พ.ศ. ๒๔๙๕ นี้ “วิทยาลัยสันติภาพ” สิควรสนใจล้นเหลือ นี่กระไรกลับทอดตัวเป็นสะพานเพื่ออิสตรีกับอารมณ์

ท่านผู้อ่านที่ข้าพเจ้ารัก ท่านรู้ดีว่าผู้หญิงที่สวยทุกคนคือคนโง่ และยิ่งคนสวยที่ไม่มีไหวพริบเด่นคนใดรู้ว่าตนสวยอย่างไรความเศร้าและนาฏกรรมแห่งตระกูลต้องเกิดขึ้นทุกกาลทุกสมัยดุจดังกฎ แต่วชิรพันธ์ ณ จอมทองของเราฉลาดจนเกินตัว ไม่ต้องสงสัยว่าเธอไม่ตัดสินใจแต่งงานด้วยเหตุผล ๒๐๐ ข้อ โดยไม่มี “ความรัก” อย่างแน่นอน ถึงกระจกที่คล้ายงั่งคือข้าพเจ้าไม่ตอบเธอตรงไปตรงมา เธอก็รู้ วชิรพันธ์คือดอกบัวหลวง กำลังอร่วมเปล่งปลั่งอยู่เหนือน้ำ...สวยสดงดงามที่สุด เป็น freak แห่งลานนาไทย กลิ่นหอมที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด!

แต่อนิจจา! เธอไร้วิญญาณ

และขณะนี้เธอกำลังจะถูกเด็ดเอาไปบูชา ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่เธอไม่เข้าใจ มันมืด...แห้งแล้งที่สุด จืดชืดที่สุด และชาเย็นที่สุด!!

วันที่เธอจะบินกลับไปเชียงใหม่นั้น ข้าพเจ้าเสียดายและเสียใจที่ส่งเธอไม่ทัน ข้าพเจ้าพยายามส่งจดหมายอวยพรไปโดยไม่รู้กำหนดวันแต่งงาน ตอนหนึ่งในจดหมายนั้นจำได้ว่าดั่งนี้ “...ความเศร้าและความขมขื่นของผมมีมากมายพอกระทั่งต้องทำตนสนุกสนานที่สุดในแง่นี้ วชิรพันธ์ คุณเป็นเทพธิดา ผมอิจฉาคนในโลกทุกคนที่รู้จักคุณ แต่โปรดเชื่อเถิด คนอย่างผมไม่มีความพลาดหวังเป็นทั้งหมดแห่งชีวิต โปรดให้อภัยด้วยในเวลาเล็กน้อยที่เรารู้จัก ผมขอเห็นแก่ตัวสักครั้งหนึ่ง ขอให้พรทั้งหลายแด่คุณทั้งปากคำและจากสมุดวิวาหรำลึกในวันมงคลนั้น แพ้พรบริสุทธิ์ของผมครึ่งหนึ่งทุกรายไป”

ลงใน “โยนก” พ.ศ. ๒๔๙๑

  1. ๑. ผู้ชายที่อยู่คนเดียว ถ้าไม่เป็นเทพเจ้าก็เป็นปีศาจ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ