รำพึงมาที่ลำปาง

รำพึงสำเร็จทันตแพทย์มาจากฟิลิปปินส์ เมื่อกลับมาใหม่ๆ ก็ปรารถนาอาชีพอิสระ โดยขอเดินทางไปดู “ทำเล” ทั่วประเทศ ในที่สุดก็มาถึงลำปาง

ณ ห้าแยก “พรหมินทร์” ข้างอนุสาวรีย์เล็กแต่หรูของจินตกวีเอกแห่งล้านนาไทย รำพึงลงจากรถมองดูวัฒนาการของเมืองใหญ่อย่างพิศวง

“จะใหญ่กว่าเชียงใหม่นะจ้อย เสียแต่สถานีรถไฟควรเผาทิ้งกับถนนคลื่นลูกยาวนี่ จริงไหมจ๊ะ? คนรถ”

“ครับ” คนรถตอบ

“เทศบาลที่นี่ป่วยหรือมัวอยู่แต่ในห้องประชุมจ๊ะ?”

“ไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่าอยู่ติดกับศาลากลางจังหวัดมีเทศบาล”

“แหม! ตอบเข้าที-อือ! ไอ้ในเมืองก็มีคลื่น แพ้เชียงใหม่ แพ้นครราชสีมา”

เมื่อมาถึงบ้านพักของสหายรักซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนเตรียมประจำจังหวัด รำพึงกอดสหายรักของเธออย่างแรง

“โอ้โฮ! นิจจ๋า เธออ้วนขึ้น สวยขึ้น ฉันจะอยู่กับเธอให้นานที่สุด บางทีจะ Settle ที่นี่”

“หมายความอะไร?”

“ตั้งร้าน แต่งงาน มีคนเล็ก”

“เป็นบ้าไปได้ พึงนี่ เธอเพิ่งเห็นลำปางเพียง ๕ นาที”

“เธออย่าลืมว่าฉันเป็นทันตแพทย์นะ”

“ทันตแพทย์ไม่ใช่เทวดา” สหายของเธอแย้งขึงขัง

“ถูกแล้ว แต่ฉันเห็นใครคนหนึ่งที่สถานี---ใครคนหนึ่ง---” พูดพลางเธอเปลื้องเครื่องทรงอันค่อนข้างแปลกตาออก

“ใคร?”

“บอกใครไม่ได้เลย แต่ฉันคิดว่าฉันจำได้ จำได้แน่ๆ จำหน้าชื่อลืม อีกไม่กี่วันต้องรู้จัก ลำปางเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม?”

“เอ! ใครจะไปรู้นะ?”

“นี่แหละสมเขาว่า ‘แม่ทึมทึก’ ละ มาอยู่ตั้งนาน”

“ฉันอยากให้เธออาบน้ำเสียก่อน” อาจารย์หญิงตัดบท “ดูพลุ่งพล่านนัก เธอจะทำอะไรได้ตามความพอใจร้อยแปด แต่ต้องไม่ทำให้ใครดูถูกได้ เมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ต้องระวังเสียงซุบซิบซึ่งเป็นความสุขที่ ‘คัดเลือก’ ของเขา เมืองเล็กเมืองใหญ่ที่เมืองทั้งนั้นจำไว้ พึง ฉันจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอ”

อีกสองเดือนต่อมา รำพึงจึงหาร้านได้ ในระหว่างนั้น เธอทำตนและพยายามรู้จักใครต่อใครเกือบทุกคนที่ “กว้างขวาง” ในลำปาง นอกจาก “ใครคนหนึ่ง” ที่สถานี

เมืองน้อยนี้กำลังจะขยายตัวออกเป็นเมืองใหญ่สมจินตนาการ นอกกำแพงเมืองออกไปเต็มไปด้วยแผนผังต่างๆ ทั้งที่ทำการของรัฐบาลและของเอกชน เจดีย์เล็กเชิงดอยเขางามคือ “ม่อนพญาแช่” ช่างเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์- มีแต่เสน่ห์แห่งโบราณกาล... ไม่ผิดอะไรกับดอยสุเทพที่สำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่ฉะนั้น

รำพึงรู้จักศิลปินทางการเขียนและการวาดภาพเรืองนามของนครนี้ คือ ป. สุวรรณสิงห์ ผู้ได้รับเชิญให้เขียนป้ายชื่อร้านของเธอคือ “ทันตเกื้อ”

บุคคลที่รำพึงรู้จักและพอใจสนทนาด้วยเสมอ คือผู้รู้ชาวพื้นเมือง ชื่อ “หนานสุรีย์” ผู้นำเธอไปดูโบราณสถานทุกแห่ง นับแต่หินศิลาหลักเมืองที่อยู่บ้านผาบ่อง เลยมหาวิหารวัดพระแก้วมรกตตลอดจนรอยกระสุนปืนกู้เมืองของวีรบุรุษทิพย์ช้าง ต้นตระกูล ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน และ ณ แพร่ ณ วัดลำปางหลวง เสน่ห์ของเมืองอันประดุจสิ่งลึกลับในประวัติศาสตร์จับใจรำพึงยิ่งนัก

“โรตันต์” เป็นสุภาพบุรุษลึกลับคนสุดท้ายที่ช่วยเหลือเธอตบแต่งร้านด้วยฝีมือของช่างเยี่ยงปารีสและนิวยอร์ก เขามาพักผ่อนเงียบๆ กับเพื่อนคนหนึ่ง และเพื่อนคนนั้นบังเอิญรู้จักกับอาจารย์ “นิจ”

รำพึง รมณีย์ สำเร็จทันตแพทย์จากฟิลิปปินส์และเป็นนักเรียนเก่าราชินีมาก่อน พ่อและแม่ตามใจเพื่อเชื่อใจ เมื่อกลับมาใหม่ๆ ก็ปรารถนาอาชีพอิสระ เธอขอเดินทางดู “ทำเล” ทั่วประเทศ ข้อนี้พ่อแม่ก็ตามใจอีก กระทั่งในที่สุดรำพึงมาที่ลำปาง- พอใจเมืองผ่านที่กำลังจะกลายเป็นเมืองใหญ่ โทรเลขบอกพ่อและแม่

แต่เธอมีคู่หมั้นซึ่งเจ้าตัวไม่รู้ เดิมชื่อ “เชิญโกสินทร์” และเปลี่ยนใหม่เป็น “มนูญสัคค์วิโรจน์ ณ ชัยภูมิ”

“คุณต้องถอนถึงสี่ซี่ บนสอง ล่างสอง” เธอบอกแก่คนไข้รายใหม่ ซึ่งเธอสงสัยว่าจะเป็น “ใคร” ของเธออย่างกระวนกระวาย

“วันเดียวเสร็จไหมครับ- สี่ซี่? ชายหนุ่มรูปร่างค่อนข้างรุงรังด้วยเสื้อผ้าถาม พลางลุกขึ้น

“ต้องลองดูก่อนซีคะ ว่าคุณจะอดทนได้เพียงไร”

“ขอโทษ คุณหมอไม่เหม็นผมนาครับ”

“เหม็นอะไร?”

“เสื้อผ้า”

“อันที่จริง ดิฉันอยากให้คุณมาพรุ่งนี้ เก้านาฬิกา งานคุณคงหนักมาก”

“ผมไม่ได้อาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้ามาสักสามวัน ผมเพิ่งออกมาจากป่า”

“ตกลงไหมคะ?---หรือมิฉะนั้น คุณเข้าไปล้างตัวในห้องอาบน้ำเสียก่อน”

“ขอเลือกเอาพรุ่งนี้มา สี่ซี่วันเดียว เป็นอะไรนะครับ ลืมถามไป” เขาถาม เตรียมตัวจะออกจากร้าน

“รากเน่าหมดค่ะ เน่าเท่าๆ กัน พอถอนคุณก็รู้”

เสียงดังภายในร้าน “ทันตเกือ” ในระยะเวลา ๐๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ค่อนข้างผิดปกติ

“อูย! อูย! นี่หมอคิดว่าผมทนไหวไหมนี่?”

“ผู้ชายต้องทนไหวซิคะ”

“แต่---อูย! ---หมอครับ---หมอ!”

“หนึ่งซี่ละ” หมอตอบ “จะถอนต่อไหมคะ?”

“พรุ่งนี้เถอะครับ - ขอน้ำ เออ! เอ๊ะ! ทำไมหายปวดทันทีนี่?”

“ดูซิคะ รากฟันของคุณเหมือนเสื้อผ้าของคุณไม่มีผิด สีเทาเหม็นอย่างต้องล้างจริงๆ สักสามวัน”

“แหม! ต้องขอบพระเดชพระคุณ แต่อีกสามนี่มันไม่ปวดเลยนี่ครับ”

“เสื้อผ้าของคุณก็เหมือนกัน ถ้าไม่เหม็นก็ไม่ซักใช่ไหมคะ? ดิฉันว่ากันดีกว่าแก้ มิฉะนั้นพอปวดก็ปวดหนัก ทนเจ็บเอานิดเดียวแล้วก็หาย”

“ขอให้ผมนอนคิดคืนเดียว ขอบิลล์ด้วยครับ” เขาสั่นหัว มองดูหน้าอันงามผุดผ่องของหมออย่างอยากอยู่ใกล้ แต่ในขณะที่เริ่มถอนฟันนั้น หมอก็หมอ เทพธิดาก็เทพธิดา เขานึกอยากจะ “แตะ” เสียเหลือเกิน ปวดอะไรจะรุนแรงโหดร้ายเท่าปวดฟัน

“ไม่เป็นไรค่ะ คุณชื่อศรีหมื่น ใช่ไหมคะ?”

“ขอบคุณที่รู้จัก ผมเป็นสมุห์บัญชีบริษัทป่าไม้บริรักษ์ครับ”

“รู้จักค่ะ ให้ครบสี่ซี่ ดิฉันจะให้คนเอาบิลล์ไปส่ง”

“เอิงเงย! Wherever you go, whatever you are-you belong to me- เพราะไหมจ๊ะ? วันนี้ฉันพบเขา นิจ เขามาดูฟัน แล้วก็ฟันเขาดี๊ดี ฉันเลยถอนเสีย ๑ ซี่ อีก ๒-๓ วันจะถอนอีก ๓ ซี่”

“ต๊าย! ตาย พึง! ฟันดีๆ เธอก็ถอน!”

“ฉันรักเขา” ตอบอย่างเฉยที่สุด

“วิธีที่ทันตแพทย์เขารักใคร เขาทำกันอย่างนี้หรือ?” อาจารย์หญิงถามเหงื่อเต็มหน้า เต็มไปด้วยความพิศวง

“นี่เป็นวิธีของฉัน”

“ใครนะ?”

“ต้องถอนครบ ๔ ซี่ แล้วจะบอก”

“ถอนฟันดีๆ โธ่! รำพึง เธอจะทำให้ฉันเป็นบ้าเพราะความรัก วิธีของเธอ– ตาย! เห็นจะอยู่ลำปางไม่ได้ กลัวถูกฟันหน้า”

“หนานสุรีย์บอกว่า ไม่เคยมีฟันหน้าผู้หญิงเลยที่ลำปาง”

“แต่เธอจะเป็นคนแรก–เธอป่าเถื่อน”

“ความรักที่แท้จริงมักป่าเถื่อนนะจ๊ะ– กะฟัน ๔ ซี่”

“ให้ฉันลองถอนเธอดูบ้างเอาไหม?” อาจารย์หญิงไม่ยอมแพ้

“ฮิ! ฮิ!” รำพึงพูดหัวเราะ และเดินผ่านไปทางห้องอาบน้ำ “Siati...you have no dental certificate yet.”

“คุณศรีคะ โปรดสนทนากับดิฉันสักครู่ค่ะ” รำพึงพูดกับคนใช้ของเธอวันรุ่งขึ้นอย่างสำนึกผิด

“หมอไม่สบายหรือครับ?” ชายหนุ่มพาซื่อ ลงจากเก้าอี้ทำฟัน

“เปล่าค่ะ สมมุติดิฉันทำอะไรด้วยความคะนอง---แต่มีเจตนาดี มีความมุ่งมาดปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งในความคะนองนั้น คุณจะให้อภัยไหมคะ?”

“ก็ต้องแล้วแต่กรณีซิครับ” เขางง

“ดูเหมือนเราจะรู้จักกันมาก่อนเมื่อสิบปีก่อนที่กรุงเทพฯ---”

“ผมจำไม่ได้” ชายหนุ่มตอบทำหน้าย่น

“เรา-เพื่อนและดิฉันเห็นคุณที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เพื่อนดิฉันสองสามคนเรียนที่อัสสัมชัญคอนแวนต์”

“เด็กชายลำปางโดยมากมักไปเรียนที่อัสสัมชัญหรือโรงเรียนคริสเตียนเพราะต้องการภาษาต่างประเทศกันมาก การค้าที่ดีต้องรู้มากกว่า ๑ ภาษา และภาษาอังกฤษจำเป็นยิ่งกว่าภาษาอื่น---”

ขณะที่พูดนี้ “ฟันดีๆ” อีก ๓ ซี่ของศรีหมื่นประจักษ์ชัดในสายตาของทันตแพทย์สาว นี่เธอจะพูดอะไรต่อไปดี พลันน้ำตาหลายหยดก็ประดังออกมาโดยไม่รู้สึก

“โปรดเข้ามาในห้องส่วนตัวค่ะ–เมื่อวานนี้ดิฉันผิดทั้งจรรยาแพทย์และมนุษยธรรม โดยถอนฟันดีๆ ของคุณออก ๑ ซี่ และเตรียมจะถอนอีก ๓ ซี่---และที่ทำไปก็เพราะคะนอง เพราะเชื่อในวิถีใหม่ของจิตสังคม---เพราะรักคุณ

ลมอ่อนโชยมาแต่เขาน้อยใหญ่ เสียงนกสกุล “ดอกไม้” ร้องเรียกหาเพื่อนและคู่อยู่อย่างวังเวง อาจารย์นิจกางหนังสือ “Philosophy of Love” พลางขยับแว่นตามองดูการสะอื้นของเพื่อนรักพลางปลอบขึ้น

“นี่แหละชีวิต” เธอกล่าวเป็นภาษาฝรั่งเศส “–toute petite la vie! แต่ง่ายนิดเดียว ถ้าคู่หมั้นของเธอมา เขาจะมาวันนี้หรือ?”

“แม่โทรเลขมาว่าอย่างนั้น” เธอตอบเสียงยังไม่หายสะอื้น

“อา! ดี–เขาชื่ออะไรนะ?”

“มนูญสัคค์วิโรจน์ ณ ชัยภูมิ”

“ทำไมยาวเป็นบ้า เหมือนงู ไม่ใช่ชื่อพระราชทานนะ”

“ผู้ชายกรุงเทพฯ กำลังเห่อชื่อเหมือนผู้หญิงเห่อกระโปรง”

“ที่ผมต้องมาก็เพราะทราบว่า คุณรำพึงจะแต่งงาน”

นายมนูญสัคค์วิโรจน์เช็ดเหงื่อที่หน้าผาก “–แต่งงานกับคนพื้นเมือง–พวกลาว–”

“หยุดคำหลังค่ะ” อาจารย์หญิงเกือบจะร้อง “ดินแดนนี้เป็นดินแดนไทยเหนือ-ไทยแท้ๆ ยิ่งไปกว่าพวกเรา ถ้าคุณไปพูดที่อื่นจะเกิดเรื่อง”

“แต่คุณคิดว่าผมจะยอมง่ายๆ หรือ? คู่หมั้นแต่งงานกับคนอื่น”

“รำพึงทราบไหมคะว่าเธอมีคู่หมั้นก่อนเธอจะมีคนรักทางนี้”

“มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ผมเองก็มีคู่รักแต่ก็ยังสละ เมื่อทราบว่าตนมีคู่หมั้น เป็นใจใครบ้าง?”

“แต่รำพึงไม่รักคุณเลย”

“นั่นซิครับ ขอให้ผมพบคุณรำพึงสักสิบนาที เขาอยู่กับคนรักของเขาหรือครับ”

“เปล่า! รำพึงไม่ใช่คนมูมมาม เธออยู่ที่ร้านและทำงานหนักทุกวัน คุณจะไปพบรำพึงเดี๋ยวนี้ก็ได้”

เมื่ออาจารย์หญิงและนายมนูญสัคค์วิโรจน์ ณ ชัยภูมิไปถึงร้าน “ทันตเกื้อ” และนั่งอยู่ในห้องรับแขก คนทั้งสองได้ยินเสียงจากข้างบน

“อูย! ไม่มีครับ ไม่เคยครับ! รักครับ เห็นใจครับ–แต่อูย–”

“ซี่ที่กำลังถอนนี่ ซี่ไม่ดีนะคะ–ประเดี๋ยวจะถอนซี่ที่ดี”

“อูย! อย่าครับ ขอน้ำยาแก้ปวดนิดเถอะครับ ขอซี่ดีๆ ไว้เถอะครับ แล้วก็–นี่ครับค่าบิลล์และกำหนดแต่งงานของเรา”

----------------------------

ลงใน “บางกอก” พ.ศ. ๒๔๘๙ และลงใน “พิมพ์ไทยรายเดือน” ฉบับกันยายน ๒๔๙๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ