อ้อยกับกล้วย

จากทฤษฎี : เพราะเรามีเพียงร่างกายเดียว ชีวิตเดียว วิญญาณเดียว ความรักของเราต้องเป็นไปเช่นวิญญาณ จากนิยาย... โอกัสแซง... นิโกแล็ต

สู่ปฏิบัติ : ความรักที่แท้จริงคือการต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ... โดย โอโนเร เดอ บาลซาค

“มีแขกให้มากราบเรียนว่า เขามาจากสวรรค์ครับ” ตาแก้วคนสวนพูดพลางยื่นจดหมายให้เจ้าของบ้านผู้กำลัง “ลงสมาธิ” กับตำราเล่มมหึมา รับจดหมายอ่านคร่าวๆ ประชาผงกศีรษะขึ้น

“เขาว่ามาจากไหนนะ”

“สวรรค์ครับ” ตาแก้วย้ำคำ

“แก้วจำได้ทุกคำไม่ตกไม่หล่นนะ?”

“แน่ครับ”

“เอ! เท่าที่รู้” ประชาพูดทีเล่นที่จริง “สวรรค์นี่เป็นเมืองพระอินทร์ เมืองเทวดานี่นา แล้วแขกของแก้วมีชฎามีลอมพอกด้วยหรือเปล่า?”

“ไม่เห็นครับ มีแต่กระเป๋ากับชะลอม แล้วก็เป็นผู้ดีน่ารักจริงๆ ทั้งคู่ครับ”

“ไปถามเขาดูใหม่ซิ แล้วเชิญแขกเข้ามา”

พอแก้วเดินลงไป ประชาก็ขึ้นไปหาภรรยาข้างบน ซึ่งเป็นห้องเล็กเฉพาะแต่ห้องนอนกับห้องน้ำ

“คุณหญิง-คุณหญิง!”

จุมพิตภรรยาเบาๆ เมื่อเผยอเปลือกตาขึ้น พลางเล่าเรื่องราวให้ฟังคร่าวๆ ว่า ลูกสาวกับลูกบ่าวของลุงพระจากนครสวรรค์ จะมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยและจะมาอยู่ด้วย เหตุผลอื่นๆ ให้อ่านดูในจดหมาย พลางเขาขอตัวลงไปรับแขกและสั่งภรรยาให้ล้างหน้าตามลงไป

“กล้วยเห็นบ้านพี่หรือยัง? เราปลูกเมื่อแต่งงาน แต่ถ้าชอบและเชื่อว่าบ้านพี่จะทำให้การศึกษาสำเร็จด้วยดีพี่ก็ยินดีอยากให้กล้วยกับอ้อยอยู่...เห็นเรือนไม้นั่นไหม? เรียกช่างมากั้นวันเดียวก็เสร็จ”

“เล็กน่าอยู่ กระทั่งผมคิดว่ามาทำลายความสุขของพี่ทั้งสอง” กล้วยตอบ “แต่เราจะมาเพียงสองปีครึ่ง อ้อยต้องใช้เวลาทำปริญญาอีก ๒ ปี ผมสอบตกปีสามมาครั้งหนึ่ง ต้องใช้เวลาอีกเท่าครึ่งของนิสิตธรรมดา... แต่เอ้อ! พี่ครับ คุณพ่อสั่งผมว่าในขณะที่มาอยู่บ้านนี้ เรื่องไม้ให้ผมเอาที่บริษัทสมวงศ์ เรื่องสีและตะปูให้เอาที่บริษัทสันติภาพ”

“โธ่! คุณลุง รอบคอบถึงเพียงนี้ อ้อ! พอดีพี่ผู้หญิงลงมา”

ม.ร.ว.หญิง ลำดวนศิริรับความเคารพของญาติฝ่ายสามีอย่างหญิงที่มีรสสังคมสูง แต่การศึกษาต่ำ

“ผมให้กล้วยกับอ้อยอยู่ที่เรือนต้นไม้” ประชาพูดด้วยความรักภรรยาคล้ายรายงาน “เราซ่อมแซมเพิ่มเติมอะไรอีกนิดหน่อย เช่น ห้องน้ำ...”

“เข้าใจว่าคงไม่น้อยกว่า ๓๐๐ บาท” คุณหญิงกล่าวดุจไม่แยแส

“คุณลุงรอบคอบเหลือเกินในเรื่องนี้ กล้วยบอกว่าท่านสั่งเรื่องไม้เรื่องสีอะไรต่ออะไรมาเสร็จ”

“เออ! นี่ฉันยังไม่รู้คนไหนชื่อ ‘กล้วย’ คนไหนชื่อ ‘อ้อย’

“ผู้ชายเป็นพี่ชื่อ ‘กล้วย’ ผู้หญิงเป็นน้องชื่อ ‘อ้อย’ ประชารายงานอีก “ชื่อจริงของกล้วยคือ ‘โอภาศ’ ชื่อจริงของอ้อยคือ ‘ศิริณี’

“เรื่องอาหารล่ะคะ...? หญิงอยากให้ทั้งกล้วยและอ้อยรับกับเราข้างบน” เสียงนี้ไม่บริสุทธิ์ แต่ก็แสดงมุทิตาอย่างไม่เคยเลย

“แต่อ้อยตกวิชา Nutrition ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ จึงอยากจะขอร้องทำเองในปีแรกครับ” กล้วยตอบแทนน้องสาว “ถ้าปีสองตกอีกก็ต้องให้ไปรับใช้อยู่กับบริษัทเทียนห้อย”

“ตามใจ! ขอให้ถือเป็นบ้านของเธอก็แล้วกัน ต้องการอะไรบ้างให้สั่งตาแก้ว” พูดอย่างค่อนข้างเข้าใจยากตามน้ำเสียงซึ่งเป็นธรรมดาของชาวพระนครกับชาวนอกพระนคร ผู้แรกมาพักอาศัยอยู่ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างมนุษย์ แม้เพียงแรกพบมีจริงๆ...เลือด สิ่งแวดล้อม การศึกษา ช่วยมนุษย์ได้มากสักเพียงใด!

ตาแก้วผู้รัก “ชาวสวรรค์” ของแกแต่แรกพบกับแม่หวานคนครัว ช่วยให้เรือนไม้เป็นห้องนอนชั่วคราวเท่าที่สวยที่สุดเท่าที่จะสวยได้วันนั้น”

“ไม่รัก ไม่เกรงใจหญิง ทำไมไม่มาพูดข้างบนก่อน!” ฝ่ายภรรยาเริ่มเรื่องค่อนข้างดึกดื่นวันเดียวกัน “เอาผู้คนมาตั้งสองคน”

“ทำไมไม่บอก” สามีตื่นงัวเงีย คิดแต่เหตุการณ์ของวันใหม่ “ตอนปลุกก็บอก ในจดหมายของคุณลุงก็อธิบายแจ่มแจ้ง”

“แต่ตอนอนุมัติให้มาอยู่ที่นี่ ประชาไม่ปรึกษาหญิงแม้แต่นิดหนึ่ง บ้านเราหรือแสนจะเล็ก เรือนไม้อีกไม่กี่วันก็จะจมลงไปอยู่ก้นสระ”

“ก็แขกมาพร้อมกับจดหมาย เรื่องเช่นนี้ใครๆ ก็ช่วยไม่ได้”

“ช่วยอะไรไม่ได้?”

“ช่วยไม่ให้อ้อยกับกล้วยพักนะซิ คุณลุงมีพระคุณกับผมล้นกล้า... นอนเถอะง่วงเต็มที... มีโอกาสสนองคุณท่านครั้งนี้เป็นความสุขที่สุด หญิงควรร่วมจิตร่วมใจ”

ฝ่ายภรรยาไม่ฟังเสียง บุรุษหรือสตรีที่ได้รับการศึกษาไม่ถึงขนาด ย่อมไม่ต้องการฟังเหตุผลของใคร แม้เหตุผลนั้นจะประเสริฐเพียงใดก็ตาม ชายผู้มีการศึกษาสูงได้หญิงทรามปัญญามาคู่เคียงย่อมเป็นเครื่องเศร้าหมองอัปลักษณ์จนวันตาย

“แล้วนี่จะให้ทำอย่างไร? สารพัดภาระที่จะต้องเพิ่มขึ้น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าข้าวสาร ฯลฯ ถึงแม่อ้อยจะแยกไปทำวิชาอะไรของแกก็อยู่ในบ้านเดียวกัน”

“ก็อย่ายุ่งซี!” สามีรำคาญ “เรื่องเล็กน้อยทำเป็นเรื่องใหญ่เสมอ” ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามีภรรยาคู่นี้ทะเลาะกันตั้งแต่แต่งงานกันมา ประชาหลบตา อีกสักครู่พึมพำว่า “ขอ...โทษ”

“ก็ประชาเป็นผู้ชาย” ลำดวนศิริสะอื้นเต็มที่ในตอนนี้ “ไม่เคยเป็นแม่บ้านจะรู้เรื่องอะไร มีเงินเท่านั้น ไม่มีความรักความเข้าใจบ้านก็ไม่เป็นบ้าน แม่ครัวเปลี่ยนเดือนละ ๓ คน เสียงนินทาข้ามบ้านข้ามเมือง... อย่างแม่อ้อยอย่างนี้...”

สามีผุดลุกขึ้นนั่ง

“นี่จะไม่ให้นอนหรืออย่างไร?”

“ทำไม...? ภรรยาซึ่งบัดนี้ลืมตัวและโกรธถึงที่สุด ผุดขึ้นเผชิญ “ตั้งแต่ลดเกียรติลงมาแต่งงานกับประชา เราเคยทะเลาะกันกี่ครั้ง?”

“ลดเกียรติมาแต่งงาน”

“แน่ล่ะซิ! แม่เตือนฉันกี่สิบครั้ง เรื่องความสุขชนิดไพร่กับราชตระกูล”

เหมือนไฟลุกวาบจี้ตรงดวงใจ

“ถ้าเช่นนั้น ขณะที่แต่งงานคุณ- พวกคุณและบริวารมิคิดหรือว่า ฉันช่างเป็นไพร่เสียสิ้นดี” ประชาโกรธจัดและพูดอย่างไม่เคยพูด “ขอบคุณ นี่เพิ่งรู้ ถ้าอ้อยกับกล้วยไม่มาพักด้วยก็เห็นจะไม่รู้ แต่ขอให้คิดว่าขณะที่แต่งงานกับคุณนั้น ฉันมีมนุษยธรรมพอ ไม่เคยคิดว่าคุณเป็นธิดาหม่อมนั้น หม่อมเจ้านี่หรือเป็น ‘ณ อยุธยา’ สายนั้นสายนี้ ฉันแต่งงานกับคุณเพราะฉันรักคุณไพร่รักเจ้าฟ้าหญิง หรือเจ้าฟ้าหญิงรักไพร่มีถมไป...คุณเป็นเพียงหม่อมราชวงศ์!”

“แล้วยังไง?”

“แล้วก็เป็นอย่างเดี๋ยวนี้ ฉันได้คุณมาเคียงข้าง เสียเงินเสียทองไปบ้างก็ธรรมดา แต่เหนือสิ่งใดคือเวลาที่ต้องอบรมสั่งสอนคุณแม้ในการแต่งงานของคุณเอง...แม้จะทำคัตเส็ต หรือละเลงขนมเบื้อง...”

“หมดหรือยัง?”

“การให้เหตุผลแก่อิสตรีชั่วชีวิตก็ไม่หมด!”

“พูดซี! เพื่อฉันจะพูดกับเธอ เพียงครึ่งชีวิต”

“พวกคุณต้องการให้เราเกิดเป็นของสูงสุดเหนือเกล้า...โดยคุณมี ‘ความน่ารัก’ น้อยที่สุด สิ่งที่ลึกซึ้งที่มีค่าจริงๆ ย่อมละเอียดอ่อนแลต้องไม่ให้เพศชาย ‘รู้สึก’ ได้อย่างง่ายดาย จนกระทั่งมีผู้เขียนว่า ‘ต้องใช้เวลา ๑๐ ปี ที่จะสอนผู้หญิงให้รู้จักความงามกับมรรยาท’ และไม่ต้องถึงกับปลุกสามีมาทะเลาะกลางดึกซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง...ลำดวนศิริ! ไพร่อย่างฉันทนไม่ได้ นี่เธอจะให้ความรักของฉันสิ้นสุดลงเมื่อไหร่?”

“คืนเดียว-คืนนี้-เดี๋ยวนี้!” หม่อมราชวงศ์หญิงลำดวนศิริร้องเกือบสิ้นเสียง

ในเรือนไม้ตอนที่ ๔ ของคืนวันนั้น กล้วยผู้ได้ยินการทะเลาะและเห็นเจ้าของบ้านออกไปตอนดึก พูดกับน้องสาวว่า

“อ้อย! Prototype ของ ultraroyalist ของเธอเป็นอันตรายเสมอ อยู่ไหนก็เป็นอันตราย ถึงเธอจะเงียบเป็นหอยโบราณที่บ้าน เป็นหัวโจกชิมแปนซีที่โรงเรียน ก็ยังเป็นอันตราย พี่ขอทำนายว่าจะมีเรื่องคาดไม่ถึงยิ่งกว่านี้”

อีก ๘ วัน ลำดวนศิริก็กลับมาที่บ้านของสามี

ประชาไปทำงาน อ้อยกับกล้วยอยู่ที่มหาวิทยาลัย หวานไปตลาด

“โอ้โฮ! เรือนไม้เหมือนวิมาน ชายฝาแบบ “เท็กซัน” นี่เราอยากได้มาสัก ๑๐ ปี!” ชื่นชมพลางเดินตรวจอย่างละเอียดเกือบทุกซอกทุกมุม ตาแก้วเดินตามมีน้ำตาคลอ

“ร้องไห้ทำไมกัน!”

“คิดถึงคุณหญิงครับ หวานกับผมอยากให้คุณหญิงกลับเราอยู่สุขด้วยกันกว่า ๒ ปี แม่อ้อยกับพ่อกล้วยแกก็มีแต่เรียนหนังสือ เช้าไปค่ำมา ว้าเหว่จริงๆ ครับที่บ้านขาดแม่บ้าน”

“เออแน่ะ! ในส้วมแม่หวานกับแก้วก็มีพัดลมด้วย หรูจัง!” เธอไม่แยแสต่อเสียงของคนใช้ผู้ซื่อสัตย์ “ตั้งแต่ฉันไม่อยู่นี่ คุณผู้ชายกลับตามปรกติหรือเปล่า?”

“ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยครับ”

นั่งปล่อยอารมณ์ไปสักครู่หนึ่ง เธอถามคนใช้เบาๆ

“แก้วอย่าประจบนะ แม่อ้อยกับฉันน่ะใครสวยกว่าใคร?”

“แหม! เรื่องสวยเรื่องงามจริงๆ นี่ผมไม่สู้รู้ดีครับ สำหรับแม่อ้อยแกคงไม่ประสาทางนี้กระมัง ผมก็ไม่ตัด ปากก็ไม่ทา เล็บก็ไม่ทา... เสียงรถของคุณผู้ชายมาแล้วครับ ผมจะไปเปิดประตู”

หนุ่มสาวเดินไปนั่งบนระเบียงเรือนไม้ด้วยความอึดอัดทั้งสองฝ่าย ในที่สุดลำดวนศิริเอ่ยขึ้นก่อนมีเสียงเครือ

“ประชา เรามีความสุขล้นเหลือมาด้วยกันร่วมสองปี...”

“และจะมีต่อไปกระทั่งพระเจ้าพราก” ประชาล้อรู้นัย

“เดี๋ยวนี้ฉันต้องการเปลี่ยนชีวิต ประชาเคยสอนฉันว่า พระเจ้าสร้างโลกนี้จริง แต่สร้างไม่สมบูรณ์ เราจำเป็นต้องเป็นพระเจ้าสร้างโลกต่อ ความรักของฉันวิญญาณ...ทุกอย่างต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อความสมบูรณ์ ฉันปรึกษาท่านแม่แล้ว ท่านขอให้ฉันใคร่ครวญดู ๒ เดือน แต่ฉันไม่เชื่อว่าประชาไม่ตามใจฉัน ครั้งสุดท้ายนี้”

“ลำดวนคิดรอบคอบแล้วหรือ?”

“ประชามีความเห็นอย่างไร?”

“เรื่องของเรา ไม่เป็นเรื่องสักนิดหนึ่ง โง่ทั้งสองฝ่าย!” ประชาพูดอย่างเหน็ดเหนื่อยและเสียดาย “แต่ชีวิตครอบครัวไทยมักเป็นเช่นนี้ทั่วไป...ปลาตกน้ำตัวโตทุกที เรื่องไม่สำคัญกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มักง่ายหัวโต ขาลีบ ตัดสินใจง่าย ส่วนเรื่องที่สำคัญจริงๆ กลับหวาดกลัว”

“นั่นเป็นเหตุผลของประชา แต่เรายังเป็นเพื่อนกันไม่ใช่หรือ!”

“แน่นอนสำหรับข้อนั้น” ประชาประคองกอดภรรยารัดแน่น “มีใครบ้างไม่อาจเป็นมิตรกับใครได้ถ้าต้องการในโลกนี้! ผมแปลกใจว่าทำไมวันนี้กลิ่นผมของลำดวนหอมชื่นใจอย่างประหลาด แต่นี่คุณดูเรือนต้นไม้ทั่วแล้วหรือ?”

“ฉันอิจฉาคนอยู่จะตายแล้ว!”

๖ เดือนผ่านไป โดยลำดวนศิริและประชาหย่ากันอย่างเรียบร้อย แก้วกับหวานร้องไห้เมื่อทราบข่าวอันไม่น่าเชื่ออยู่หลายวัน ในระหว่างเวลา ๖ เดือนก่อนนั้น ประชาพบลำดวนไปเต้นรำที่สวนอัมพร ๒ ครั้ง ที่รัตนโกสินทร์ครั้งหนึ่ง ทุกๆ ครั้งประชาไม่ได้สังเกตว่า “กล้วย" เจ้าของเรือนไม้ชายฝาแผน “เท็กซัน” และผู้พยากรณ์ว่าในบ้านที่ตนมาพักจะมีเรื่องคาดไม่ถึงอีก...เป็นผู้พาลำดวนศิริมา!

อีก ๑๘ เดือนหลังจากกล้วยได้รับปริญญาแล้ว พระวนกิจโกศล บิดาของกล้วยกับอ้อยก็ลงมากรุงเทพฯ เพื่อทำพิธีหมั้นหม่อมราชวงศ์ลำดวนศิริ พิลาศ ณ อยุธยา ให้นายโอภาศ ณ นครสวรรค์ บุตรชาย!

ประชากำลังเดินทางไปตรวจรับซื้อซากหินประหลาดซึ่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเคยขุดพบและขายให้กับบริษัทกรุปป์ก่อนมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่จันทบุรี เขาสงสัยว่ามันเป็นพลูโทเนียมในคืนที่กล้วยหมั้นนั้น!

นอนกับประชา กินกับประชา เกี่ยวกับประชา ตลอดเวลาที่อยู่ในกรุงเทพฯ กระทั่งจะจากไปนครสวรรค์ พระวนกิจฯ ถามหลานชายว่า

“ลุงเคยทราบว่าแว่วๆ ว่า แกมีภรรยาเชื้อเจ้าเหมือนกันแล้วนี่ไปไหน?”

“ตายหลายปีแล้ว เธอตกทะเลตายที่ปัตตาเวีย! คุณลุงมีอะไรหรือครับ?”

“ก่อนตาย พ่อแกกำชับลุงหนักหนา... ขอให้ดูแลแกให้ตลอดอยู่เป็นโสดนานๆ ปีอย่างนี้ชั่วหลายอย่าง ลุงเป็นห่วงแกในเรื่องนี้ ยิ่งทราบว่า แกเป็นหัวหน้ากรรมการค้นคว้าระเบิดปรมาณูยิ่งเป็นห่วงมาก แกจะทำงานเพื่อบ้านเกิดเมืองนอนมนุษยชาติได้ดีรอบคอบยิ่งกว่านี้ถ้าแกรีบแต่งงาน”

(ลวดลายของเรื่องนี้ มีอนุสนธิมาจากมรณกรรมและความพยายามของศาสตราจารย์ ดร. หลวงพรตฯ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำการค้นคว้าเกี่ยวกับพลังปรมาณูในประเทศไทย ศิษย์ของท่านกลุ่มหนึ่งมี “ประชา” เป็นหัวหน้าได้ค้นคว้าต่อโดยรัฐบาลสนับสนุน ความเป็นจริงต่างๆ หลายตอนถูกตัดออกเพื่อความลับ ข้าพเจ้าผู้เขียนรู้จักประชามานาน และการสนับสนุนเขาเต็มที่... แม้ในชีวิตส่วนตัว ได้สนับสนุนกระทั่งการแต่งงานระหว่างศิริณี ณ นครสวรรค์กับเขา เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเขาตรองไม่ตกว่า การที่ต้องไปเป็น “เขย” ของภรรยาที่เพิ่งหย่านั้นจะเป็นไปได้อย่างไร!)

ลงใน “พิมพ์ไทยรายเดือน” ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ