คืนหนึ่ง ณ สุสานสวรรค์

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย! มนุษย์เราตามปกตินั้นจะถือเอา “ความเศร้า” เป็น “ความสุข” นานนักไม่ได้ ไม่เลือกว่าท่านจะเสียสิ่งสุดที่รักอย่างไรไป ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่เราก็ย่อมเสาะแสวงหาความสุขเพื่อความสุขตามกำลังความสามารถ ท่านผู้เคยอ่านชีวิตรักของสุจริต ธำรง-ข้าพเจ้ามาแล้ว บางทีอาจจำได้บ้างว่าตั้งแต่ปฐมวัยมา ข้าพเจ้าพบแต่ความเศร้าและความพลาดหวัง คล้ายกับว่าความเศร้าและความพลาดหวังนั้นเป็นรางวัลของความรักทุกๆ ครั้ง ไม่ว่าสุภาพสตรีใดจะรักข้าพเจ้าก่อนหรือข้าพเจ้าจะหลงรักเธอก่อน แต่ถึงเพียงนั้น ข้าพเจ้าก็มีความสุข สุขที่ยังเป็นตัวตนของข้าพเจ้า สุขเพราะข้าพเจ้ายังไม่ตายยังแข็งแรงและสามารถเขียนเรื่อง “คืนหนึ่ง ณ สุสานสวรรค์” ให้ท่านอ่าน

ก่อนที่ท่านจะอ่านต่อไป ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า “ความสุข” ที่ข้าพเจ้าหมายถึงนี้มีอยู่ในโลกนี้เป็นสมบัติของปุถุชน ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่ทุกข์เสมอไปดังเมธีบางศาสนาประกาศสอน ความสุขที่กล่าวถึงนี้ปรากฏเป็นระยะดุจต้นคิมหันตฤดู ตราบใดที่เมฆหมอกยังปกคลุมพิภพอยู่ ดวงจันทร์ยังทอแสงตามลำดับพลังทุกๆ เดือน ตราบนั้น “ความสุข” ย่อมยังมีอยู่ คนขอทานที่ไม่อยากตายก็เพราะความสุขดังกล่าวนี้

แม้แต่คนขอทาน...

“แผลรัก” ซึ่งข้าพเจ้าเรียกไม่ได้เต็มปากว่าเป็น “ความทุกข์” ที่ผ่านมาแล้วคือการสูญเสีย “เอแลน บาลอง” วีรสตรีญวน ความหลังมักจะมีละอองแห่งความสุขแทรกปนอยู่ทุกอณูถัดมาได้เสียสละ “เอียนงาง” อาจารย์หญิงแห่งโรงเรียนตาแบร์ และยังได้เสียสละ “มาร์เกริตเมืองหยงลิม” ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องเหล่านี้นานมาแล้ว อดีตชีวิตของคนทุกคนอุปมา ดั่งท่อน้ำร้อนเย็น ความสุขย่อมมีปนกับความเศร้าเสมอไป รำพันออกมาได้ยากว่าเป็นอะไร และมีอิทธิพลลึกซึ้งอ่อนบางเพียงไร

“หลัน-หลัน-เหย่” สุภาพสตรีและผู้แทนหนังสือพิมพ์ “ดุ๊กยา-นาม” ในเรื่องนี้ตรงกันข้ามกับเอแลน หรือเอียนงาง หลัน-หลัน-เหย่เกิดในตระกูลสูง มีบ้านใหญ่ที่เมืองหวินลอง เพิ่งสำเร็จวิชากฎหมายและวิชาหนังสือพิมพ์จากมหาวิทยาลัยฮานอย เป็นคนฉลาดชอบสนุกเปิดเผย ที่น่าสนใจคือหลัน-หลัน-เหย่มีความคิดเกี่ยวกับเมืองญวน ตรงกันข้ามกับเอแลนและชาวญวนที่ “รักชาติ” ทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้จักเธอในงานวันเกิดของทราน-วัน-เทือง เจ้าของหนังสือพิมพ์ ดุ๊ก-ยา-นาม ขณะนั้นข้าพเจ้าเป็นบรรณาธิการผู้ช่วยหนังสือพิมพ์ ‘ลาลุตต์’ ที่ถนนลีแบรีนอร์ต

“ฉันพอใจให้ฝรั่งเศสปกครองก็เพราะเราปกครองกันไม่เป็น” หลัน-หลัน-เหยปรารภขึ้นในตอนหนึ่ง สีแชมเปญในแก้วตัดกับสีเสื้อจัสมีนอ่อนเปล่งปลั่งดุจก้อนหิมะสู้แสงจันทร์ “...เรายังไม่รู้จักความเจริญ อารยธรรมก็ไม่รู้จัก เทศบาล-ความสะอาด ความสวยงามของถนน หนทาง การศึกษา...เหล่านี้ชาวตะวันออกไม่รู้จักเลยในขณะที่ชีวิตของศตวรรษใหม่ขึ้นกับสิ่งนี้...”

“เธอไม่คิดถึงความกดขี่ การถูกเหยียดหยาม การขาดอิสรภาพหรือ?” เฉย-เพื่อนหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งโกรธ

“ทำไม-เธอคิดว่าฉันไม่คิด!” เธอหัวเราะ “มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่ใครลงทุนอะไรลงไป เขาก็ย่อมคิดถึงผลประโยชน์กำไร แต่มีสิ่งแน่นอน เป็นกฏอีกอย่างหนึ่งคือ เขาจะเอากำไรตลอดไปไม่ได้ ชั่วรุ่นคนนี้ หรือสองชั่วรุ่นคนเขาให้การศึกษา... ให้ความสะอาด ให้ความเทียมโลกในทางที่ไม่เป็นภัย แต่อีกชั่วรุ่นคนหนึ่งเขาก็ให้อิสรภาพ” หันมาทางข้าพเจ้า “สุจริต เธอมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีการเหลื่อมล้ำระหว่างชาวอารยะกับชาวอนารยะ?”

“ปิดเทอมที่แล้วมา ฉันไปฟิลิปปินส์รู้สึกว่าเขาเจริญมาก” ข้าพเจ้าตอบเลี่ยง “การศึกษา มหาวิทยาลัย อาคาร การเทศบาล อยู่ในระดับที่ก้าวหน้า น่าอิจฉา...”

“และอีกไม่นาน ฟิลิปปินส์ก็จะเป็นอเมริกันตะวันออก เป็นอิสระ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และเจริญรุดหน้ายิ่งกว่าประเทศใดๆ ทางตะวันออก แต่แรกที่สุดความเหลื่อมล้ำย่อมต้องมี”

“เขาต่างผิวและชาติพันธ์” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้นลอยๆ

“นโยบายการปกครองก็ต่างกัน” เฉยแย้งด้วยความรู้สึกค่อนข้างรุนแรง เราจะเข้าใจความหมายของคำพูดของเขาซึ้งเพียงไร ไม่มีใครทราบ

“สรุปแล้ว ฉันเชื่อในการศึกษาเหลือเกิน” หญิงสาวหัวเราะ “ไม่มีใครในโลกดูหมิ่นเหยียดหยามใครที่มีการศึกษาเท่าเทียมกันหรือสูงกว่า ที่เรารู้สึกว่าถูกดูถูกและน้อยใจในอิสรภาพก็เพราะพูดไม่รู้เรื่องกัน ถ้าจะพูดโดยยุติธรรมแล้ว ก็ต้องพูดถึงความด้อยสมรรถภาพเกี่ยวกับอารยธรรมของชาวตะวันออกอีก เหมือนลาในป่าองุ่นน้อย คิดว่าใหญ่โตไพศาลไม่มีแห่งใดเท่าความเชื่อในความแคบ-ความกระด้างเห็นชนชาติอื่นป่าเถื่อนหมด ในพงศาวดารเก่าๆ ของเรายังเรียกชาติผิวขาวทุกชาติว่าป่าเถื่อน ๆ ดูเหมือนชาวจีนในปัจจุบันนี้หลังจากเรียกอังกฤษ, รัสเซียว่า ‘ป่าเถื่อน’ ไม่ได้แล้วก็ยังเรียกชาวไทยว่า “ชาวป่า ชาวเถื่อน’ อยู่”

ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกว่าการสนทนากับหญิงสาวผู้นี้มีรสเนตรของเธอเป็นประกายเต็มไปด้วยความปรารถนาดี

“จริง! แต่ชาวจีนที่มีการศึกษาดีเปลี่ยนแปลงแล้ว”

“เห็นไหม..การศึกษาทั้งนั้นและการศึกษาเท่านั้น!”

“อะไร การศึกษาอะไร?” เมอซิเออทราน-วัน-เทือง เจ้าภาพเดินยิ้มเข้ามาถาม

“เรากำลังพูดถึงเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับอนามัยที่ทำให้ท่านสมบูรณ์” พวกเราทุกคนลุกขึ้นตามหลัน-หลัน-เหย่ ชูแชมเปญดื่มอวยพร

“ขอบใจ! ขอบใจ! เจ้าภาพยิ้มอย่างมีสุข

“ขอให้ท่านจงมีอายุยืนนานกระทั่งประเทศญวนมีเอกราชสมบูรณ์” เฉยตะโกน พลันมีเสียงเปล่งความยินดีจากแขกทั้งหมดสนั่นหวั่นไหว

“บ๊านใหม่...บ๊านใหม่”

เสียงคนขายขนมปังร้องดังมาตามถนนชาชลูป์-โล-บาต์ ซึ่งเป็น “บ๊าน” ของพ่อกับแม่ วันนี้เป็นวันอาทิตย์ข้าพเจ้าพลิกตัวลืมตาอย่างงัวเงีย อากาศเช้าตรู่วันนี้สดชื่นยิ่งนัก พ่อแม่กับน้อง ซึ่งนอนอยู่ข้างบนยังคงเงียบ ได้ยินแต่เสียงเจ้าบ๋อยขลุกขลักต้มน้ำอยู่ในครัว แต่เจ้าเสียง “บ๊านใหม่” ยังคงดังกลบถนนเจื้อยแจ้ว

เหตุการณ์เมื่อคืนนี้ผ่านเข้ามาเป็นฉากๆ

กินเลี้ยงวันเกิดเจ้าของหนังสือพิมพ์ตุ๊ก-ยา-นาม รู้จักกับหลัน-หลัน-เหย่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับ ‘ความรักชาติ’ ตรงกันข้ามกับผู้อื่น เต้นรำ ประกวดโต้วาที ประกวดบทกวีและเพลงดึกดำบรรพ์ ฯลฯ ขากลับเจ้าภาพให้รถมาส่ง แต่ไม่มีภาพอะไรมาทับจิตใจเท่าเพื่อนใหม่ผู้วิตถาร

สุภาพสตรีญวนแท้โดยมากร่างเล็ก ไว้ผมยาว นุ่งห่มไม่ทิ้งประเพณีเดิม เสื้อยาวคลุมแขน กางเกงยาวเรียวเล็ก ตาสองชั้น หลัน-หลัน-เหย่ สวยผิดกว่าหญิงสาวญวนธรรมดาด้วยการศึกษา เธอแต่งกายแบบฝรั่งเศส สวมกระโปรงขาว ทาลิปสติกซึ่งทำให้ความกะทัดรัดอันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติสง่า น่าชมน่าคบค้าสมาคม แม้ผมจะไม่ได้ดัดอย่างหภูมิโสเภณีชาวฝรั่งเศสแถวท่าเรือกลางและซอยถนนกาตีนาต์

มโนภาพบนเตียงนอนของข้าพเจ้าปรากฏเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิต!

“ชาวตะวันออกไม่รู้จักอารยธรรม-ความสะอาด การศึกษา เทศบาล มหาวิทยาลัย ฯลฯ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของอารยธรรม-ชาวตะวันออกไม่รู้จัก” ในเมื่อไม่อาจไปอยู่ในนพเคราะห์ดวงอื่น หญิงสาวให้ความเห็นว่า “ประเทศทางทิศตะวันออกอาทิ เช่น ประเทศญวนควรให้ฝรั่งเศสปกครอง เธอไม่รักชาติหรือ? ก็อะไรเล่าคือ ‘ความรักชาติ’ ของชาวตะวันออก ถ้าไม่ใช่เลือดกับอารมณ์! แน่นอนละ ผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงย่อมพยายามวิ่งหนีออกจากป่า-หนีเลือด หนีเหตุผลอันไม่เคยเปลี่ยน แปลงหรือมีใหม่...”

คิดถึงตรงนี้ เจ้าบ๋อยยกถาดโกโก้มาข้างเตียง

“ประเทศสยามเล่า บ้านเกิดเมืองนอนของเรา เมืองตะวันออกเหมือนกัน จะรู้จักอารยธรรมหรือไม่? จะพูดเข้าใจกันยากที่สุด... เราผู้มาเรียนวิชาที่คนไทยน้อยคนกล้าเรียนจะถูกทรมานเพียงไร? ความสะอาด การศึกษามหาวิทยาลัย...”

ข้าพเจ้าไม่กล้าติดต่อเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เมืองที่มีวัดติดวัดแทนโรงงานใหญ่ เมืองที่มีปราชญ์เล่าแต่นิทาน! อิทธิพลของหลัน-หลัน-เหย่กำลังจูงมโนภาพของข้าพเจ้าไป

เราคุยกันอย่างออกรสกระทั่งเที่ยงคืน เฉยขอตัวไปสนทนากับแขกอื่น

“ความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้นสุจริต” หญิงสาวเอ่ยอย่างเชื่อมั่น “ชีวิตของมนุษย์ทุกคนต้องกฏอริสโต๊ดทุกกาลทุกสมัย...ชีวิตคือความต้องเข้าใจดี ในบ้าน ในสังคม ในประเทศ ถ้าภาษาที่เราใช้เป็นอย่างที่ฟิลิปปินส์ใช้ เรื่องต่างๆ จะคลายจากความเฉื่อยชาและความคลุมเครือลง อิทธิพลของภาษาบังคับให้ปมของความสลับซับซ้อนสลายออกเป็นความง่าย และสามารถบัญชาการหรืออำนวยงานใหญ่ๆ ได้ ซึ่งตามปกติ งานใหญ่ๆ เช่นอุตสาหกรรมหนักเป็นศัตรูหมายเลข ๑ ของชาวตะวันออก...”

“มีอะไรบ้างที่พวกเรารักหรือมีเป็นสัญลักษณ์?” ข้าพเจ้าถาม แม้จะเคยศึกษาเคยมาอยู่บ้าง

“เมียมาก เมรัย การพนัน สินบน ความมักง่าย”

“นอกจากจะมอบประเทศหรือยินดีให้ชาวผิวขาวปกครองแล้ว เราไม่มีวิธีอื่นแก้เลยหรือ?” ความงงงุนของข้าพเจ้ายังคงไม่กระจ่างจนบัดนี้ ความรู้สึกถึงคำว่า ‘ไทย’...ความเป็นทาสใครมิได้! และในความเป็นทาสใครมิได้นั้น มีธารเลือด ธารแห่งความเฉื่อยชา ธารแห่งความอิจฉาริษยา ไหลบ่ามิขาดสาย!

“มี! คือความพยายามและทิฐิมานะซึ่งจบลงด้วยความยุ่งเหยิงและความล้าหลังหาที่สุดมิได้ จีนเป็นตัวอย่างเอก” หลัน-หลัน-เหย่ เงยหน้าขึ้นดูดาว “สถิติการเสพอาหารต่ำกว่าความต้องการมีราว ๗๐ เปอร์เซ็นต์เกือบเท่าอินเดีย สุขภาพอนามัยเป็นต้น เช่น ความสะอาดของน้ำมีไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบั่นทอนมนุษยภาพทั้งตรงและอ้อม การรู้ถึงสิ่งสำคัญที่อดีตเราไม่รู้ไม่ใช่ความผิดของผิวขาวเราต่างหากเป็นผู้ผิด ความล้าหลังของพวกเรา....ความสงบอนารยกาล! บางทีเธอคงจะเคยอ่านหนังสือของพวกแมลงปอ (กลางเก่ากลางใหม่) ที่เขียนว่า ตะวันตกทำลายตะวันออก การนำเอาวัตถุแห่งความเจริญยอดเยี่ยมมาสู่ตะวันออก... นำยา นำการศึกษา นำไฟฟ้า นำอุปกรณ์พาหนะ ฯลฯ เป็นการทำลาย!”

ความคิดคำนึงของข้าพเจ้าหยุดชะงักลงเมื่อมีเสียงเดินลงมาจากข้างบนเป็นฝีเท้าของแม่ รีบลุกขึ้นและดื่มโกโก้ซึ่งเย็นเฉียบปานน้ำฝน ข้าพเจ้าหลบออกทางประตูเล็กทำเป็นออกไปเดินเล่น

สักครู่หนึ่ง เสียงแม่เรียกเจ้าบ๋อยให้ไปตามข้าพเจ้า

“มีการ์ดเชิญไปฮอลิเดย์ อ่านดูซิ” แม่มองข้าพเจ้าด้วยความรัก

ในการ์ดนั้นเขียนง่ายๆ เชิญข้าพเจ้าไปฮอลิเดย์ที่เมืองหวินลอง หลัน-หลัน-เหย่เป็นเจ้าภาพ แขกที่เชิญร่วมอีกมีอีก ๓ คน คือ เจ้าหญิงสยุมพร ณ เวียงจันทร์ เฉยกับโคลแด็ตแห่งหนังสือพิมพ์ โลปินนีองนอกนั้นกำหนดวันและเวลาที่รถจะมารับ

“ลูกควรไปการมีเพื่อนที่ดีและการรอบรู้เป็นความจำเป็นของชีวิต” แม่พูดเมื่อรับการ์ดไปอ่าน “แม่ของหลัน-หลัน-เหย่กับแม่รู้จักกันดี เจ้าหญิงสยุมพรก็เคยมาที่บ้านเรา”

อารมณ์บรรณาธิการของข้าพเจ้าดีที่สุดในเช้าวันจันทร์แจ้งเรื่องให้ทราบแล้ว ข้าพเจ้าได้รับอนุมัติทันที ต่อจากนั้นเราสนทนาถึงหลักปฏิบัติบางประการที่รัฐบาลบำเพ็ญผิดนโยบาย ประชาชนไม่สามารถเรียกร้องไปยังผู้แทนญวนที่ปารีสได้ จึงขอร้องหนังสือพิมพ์ของเราให้ประท้วง ข่าวนี้จะเป็นข่าวใหญ่ในฉบับวันพฤหัส

ในตอนบ่าย ข้าพเจ้าไปประจำหน้าที่ของข้าพเจ้าตามตลาดใหญ่ หน้าที่นั้นคือเฝ้าดูตำรวจลับว่าจะติดตามข้าราชการคนใดที่ซื้อหนังสือพิมพ์ “ลาลุตต์” ของเราจริงตามรายงานข่าวหรือไม่!

ท่านผู้อ่านที่รัก! ท่านต้องไม่ลืมว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทย...เป็น ๑ จำนวน ๔๒ คนของชาวไทยในโคแชงชินรวมทั้งคนขอทานจากปราจีนบุรีคนหนึ่ง และหน้าที่ของข้าพเจ้าทุกๆ บ่ายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ในประเทศญวนเป็นเรื่องแปลกมหัศจรรย์ควรเขียนเล่าให้โลกฟัง เพราะแปลกกว่า เสรีภาพของการอ่านของมนุษย์ในดินแดนต่างๆ

ตามปกติ ความคิดนึกของประชาธิปไตยนิยมเป็นหน้าที่ของเมธีทางสังคมซึ่งมีเป็น ๒ ค่ายเสมอไป (ไม่ควรมีมากกว่า ๒) และหนังสือพิมพ์ของค่ายที่สองหรือฝ่ายค้าน คือทำงานรวมเพื่อชาติประเทศของเมธีสังคมอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่ทำลาย ไม่ใช่ศัตรู ความเป็นจริงใดๆ อันค่ายที่สองประกาศออกมาหรือประท้วงขึ้นคือ “ความเป็นจริงอีกอันหนึ่ง” เพื่อบูรณะฟันเฟืองของรัฐบาลซึ่งค่ายที่ ๑ ที่อำนวยงานอยู่จะพึงรับฟังอย่างจริงจัง ไม่ใช่ให้ตามจับ!

ตำราเกี่ยวกับลัทธิปกครองแผนประชาธิปไตยมีมากมาย แต่ล้วนกล่าวสอดคล้องกันว่า “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งสูง ชาวประชาธิปไตยควรเป็นเมธี...ประชาธิปไตยจะดำรงอยู่หรือพินาศก็เพราะคนกับการศึกษา”

หลัน-หลัน-เหย่ไม่รู้เรื่องนี้

เธอเชื่อในการศึกษา แต่ศึกษาอย่างไร! การศึกษาเพื่อเอาตัวรอด...เพื่อปริญญาบัตรเท่านั้นของชาวตะวันออก ซึ่งได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากชาวตะวันตกอย่างยิ่ง! เธอไม่เคยพูด ไปฮอลิเดย์คราวนี้ข้าพเจ้าจะต้องชวนให้เธอพูดให้สมอยาก-ให้สมกับที่แม่สอนว่า “การรอบรู้เป็นความจำเป็นของชีวิต”

ในระหว่างที่คิดคำนึงดั่งนี้ ข้าพเจ้ากำลังเตร่อยู่หน้าร้านหนังสืออารแดง เจ้าตำรวจลับซึ่ง “ไม่ลับ” เกินความสนใจของเราคนหนึ่งยืนพลิกหนังสือที่ร้านขายเร่ติดๆ กัน ในร้านมีหนังสือพิมพ์ลาลุตต์ ๒-๓ ฉบับ เห็นมันยืนนาน และมีหน้าตาเหมือนพวกติดฝิ่นใหม่ๆ ข้าพเจ้ากรากเข้าไปจับหนังสือลาลุตต์ฉบับหนึ่งอ่าน

“เมอร์ซิเออร์ เห็นจะชอบหนังสือมากโดยเฉพาะหนังสือลาลุตต์” มันพูดภาษาญวน ‘ลาลุตต์’ แปลว่า ‘การต่อสู้’ และเราเคยต่อสู้มาแล้วมากเพียงใด

ข้าพเจ้าทำเป็นไม่ได้ยิน

มันพูดซ้ำอีกและคงพูดภาษาญวน เสียงดังขึ้น คราวนี้แสดงอากัปกิริยาทำไม้ทำมือสนิทสนม ข้าพเจ้าคงทำใจเย็น หยิบสตางค์ซื้อหนังสือลูกับวูอย่างละ ๑ ฉบับ พอมันพูดครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าตวาดว่า

“มันธุระอะไรของแก!”

การชิงไหวพริบระหว่างตำรวจลับกับข้าพเจ้าคงมีอยู่เรื่อยๆ ข้าพเจ้าถือว่าการกระทำของเรา-ไม่ใช่โจร ถ้าท่านเห็นหนังสือพิมพ์ของเรา ซึ่งมีจำนวนไม่กี่หน้าคล้ายหนังสือพิมพ์ไทยสมัยนี้ ท่านอ่านภาษาฝรั่งเศสรู้รสท่านจะเห็นว่าเราปราณีตเพียงไรในอักษรศาสตร์ทุกคอลัมน์ทุกประโยค เขียนอย่างนี้ ท่านคงสงสัยว่าเรามีชื่อเสียงในการต่อสู้ได้อย่างไร เพราะความเห็นจริงข้อหนึ่งเกี่ยวกับหนังสือคือ อักษรศาสตร์เป็นงานที่ยากยิ่งเกือบจะวางเป็นกฏได้ว่า ในศตวรรษหนึ่งในประเทศหนึ่งจะมีนักอักษรศาสตร์ที่แท้จริงไม่เกิน ๓ คน แต่สำหรับบรรณาธิการของข้าพเจ้าแม้จะนิยมคนยากที่สุด ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ในซอรบอนน์เท่านั้นที่ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังทางอักษรศาสตร์...ปีแอร์ก๊าสตอง ยังเป็นคนที่เก่งและเด่นที่ก๊อตติงเจนและเจนีวา

ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าถูกเชิญไปสถานีตำรวจเรื่องพูดคำหนักๆ กับตำรวจลับคนหนึ่งและข้าพเจ้าพูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา!

ไม่มีใครหัวเสียเท่าสารวัตรตำรวจซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศสตลอดเวลา ตรงข้ามกับข้าพเจ้า! กว่าจะรู้เรื่องกันได้ต้องโทรศัพท์ไปเชิญชาวอินเดีย-แห่งเมืองปอนดิชเชอรี ผู้เป็นล่ามที่ศาลมาซักถาม

“ถ้าเขาเป็นตำรวจจริง เขาก็เป็นคนหยาบและมีมารยาททรามที่สุด” ข้าพเจ้าอธิบาย “เขามาพูดกับฉันอย่างคนขอทาน และท่านคิดหรือว่า คนอย่างฉันจะฟังคนขอทานออกทุกคำ บอกเขาซี! ท่านจะมาจากปอนดิชเชอรี่หรือมลายูก็ตามว่า ฉันเป็นสุภาพบุรุษชาวไทย ไม่ใช่ชาวเขมร! ไม่ใช่ ชาวเวียงจันทน์! ท่านคงพูดภาษาฝรั่งเศสดีพอเท่ากับภาษาอังกฤษที่ฉันพูด!”

ดร. ก๊าสตองหัวเราะที่เห็นข้าพเจ้าโกรธ

เมื่อกลับมาถึงสำนักงาน ข้าพเจ้าได้รับเทศนากัณฑ์มหึมา

“เธอคงเห็นตลอดมาว่า หนังสือพิมพ์ของเราพยายามหลีกหนีภาษาหยาบคาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปราศจากการศึกษาอย่างไร ฉันอยากให้เธอลองคิดดูถึงอักษรศาสตร์ที่หยาบคายกับบุคคล ความหยาบคายขรุขระส่อถึงหลักการและอุดมคติที่ไม่ดำรงยืนนาน โวลแตร์คมเหมือนมีดโกนเพราะความแรง แต่ไม่ใช่เพราะความใหม่หรือความวัฒนาถาวร เหมือนออสการ์ไวลด์ที่เรายังพูดถึงอยู่ก็เพราะยังรักบทสนทนาของบางเรื่องบางบท ไม่ใช่รักหลักการ ฉันอยากจะพูดว่านักเขียนคมๆ ทุก ศตวรรษมีชื่อดังไม่ข้ามศตวรรษ ก็เพราะขาดหลักการและเมื่อพูดถึงคำ ‘หลักการ’ ฉันเสียใจที่ฝรั่งเศสปัจจุบันจะเป็นเหมือนอย่างโรมันชีวิตคือเสรีภาพที่ไร้อุปกรณ์! รัฐบาลคือการเปลี่ยนคณะบ่อยที่สุดเพื่อเปลี่ยนอิสรภาพ โดยไม่มีหลักการ!.”

ข้าพเจ้านิ่ง ครุ่นคิดอย่างเดียวว่า ใครบ้างหนอจะตามทรรศนะของท่านทัน แต่ถึงกระนั้นก็อดเปรียบนักเขียนไทยคมๆ บางท่านเช่น เทียนวรรณ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ น.ม.ส. ครูเทพ ฯลฯ มิได้ ถ้าจะรับ ทฤษฎีของดร. ก๊าสตองทุกตัวคำ ก็มิหมายว่า นักเขียนปากกาคมๆ เหล่านี้...ทุกศตวรรษมีชื่อดังไม่ข้ามศตวรรษเช่นนั้นหรือ?

เพราะความคมอันหาที่กีดขวางมิได้จึงได้ตัด “หลักการ” ทั้งปวงหมด?

ยุคแห่งปัญญากำลังถูกควบคุม (ความแรงกระทั่งถึงความหยาบโลน) ตัดขาดจนแปรโฉมใหม่...ปัญญาคือเงิน อักษรศาสตร์คือเงิน ฯลฯ ข้าพเจ้าเจ็บใจตัวเองที่ลืมถามท่านว่า “หลักการเล่าคือเงินเช่นเดียวกับราคาของรัฐมนตรีและผู้แทนในประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆ ที่ใครก็ซื้อได้ ใช่หรือไม่?”

ข้าพเจ้าเพียงแต่ขอบคุณท่านบรรณาธิการข้าพเจ้ารับว่าจะนำเอาไปคิด

ทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างไซ่ง่อน-หวินลอง ๓๐๐ กิโลเมตรเป็นทิวทัศน์อันสวยงาม ถนนตัดตรง-เรียบ หลุมบ่อมีน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ โคลแด็ตซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องเชิดชูความดีความงามของรัฐบาล อธิบายว่า คมนาคมที่ดีต้องจัดทำเช่นนี้ก็เพื่อประชาชน เธอชี้มือให้ดูการอำนวยการเกษตรกรรมยาง ข้าวโพด แป้ง สน ฯลฯ ซึ่งจัดเหมือนพม่าจัดป่าไม้สัก คือ ป็นบล็อกยาวสุดลูกหูลูกตา ความเป็นระเบียบและความรวดเร็วจำเป็น ที่สุด ฯลฯ เฉยและข้าพเจ้านั่งฟังอย่างสนใจ

“ต้นไม้ข้างทางนี่สูงจริง” ข้าพเจ้าอุทาน “ต้นอะไรนะ? สงสัยว่า เวลามีใต้ฝุ่นจะไม่ล้มทับทางเลยหรือ?”

“มะฮอกกานีผสมใหม่ แข็งแรงและมีอายุยืนนาน ใต้ฝุ่นปลายหางแถวนี้ไม่เป็นอันตรายเลย ดูเหมือนปลูกกันราว ๗๐-๘๐ ปีมาแล้ว” โคลแด็ตอธิบายต่อไม่สนใจกับหลัน-หลัน-เหย่ซึ่งพยายามหลับ

“ซีบีน!” โคลแด็ตเอื้อมมือไปปลูกสหายรักเรียกชื่อเป็นฝรั่งเศส “เธอเคยบอกฉันว่าเห็นภาพถนนในเมืองไทยที่ไหน...ที่ต้นไม้เตี้ยและอ้วน น่าใจหาย!”

“เห็นในสมุด อี.เอฟ.อี.โอ คนไทยชอบต้นไม้เตี้ยๆ” หลันลืมตาขึ้น “เสียใจที่สยุมพรป่วยไม่มา สยุมพรเคยไปกรุงเทพ เขาว่ามันสวยดี เขากลัวต้นไม้สูงจะทับเขา”

โคลแด็ตยิ้ม หลันหัวเราะ ข้าพเจ้าเจื่อนอย่างวาดภาพได้ยาก

ขณะนั้น ฝนเริ่มปรอยเม็ดลงมาค่อนข้างหนัก ซีตรองของเมอซิเออร ทราน-วัน-เทือง วิ่งดุจธนูโบราณ เราต่างคนต่างสวมเสื้อคลุมกันฝน ซึ่งกันหนาวได้ด้วย ในขณะเดียวกัน ก่อนถึงหวินลองเราต้องข้ามแม่โขงตอนใกล้ทะเลโดยเรือบรรทุกรถยนต์ดุจที่บางปะกง แม่โขงตอนใกล้ทะเลนั้นบางตอนแลไม่เห็นฝั่ง น้ำสีเขียวจัด สถานีต้นทางและปลายทางไม่ผิดกับของเราที่นครชัยศรีปัจจุบันนี้

ใกล้ถึงเมือง เราเห็นเจดีย์ขาวสูงของพระพุทธศาสนา

“ย่าอยู่ที่วัด” หลัน-หลัน-เหย่ บอกกับข้าพเจ้า “อายุ ๘๐ กว่าปีแล้ว ชีวิตของย่าตอนปลายนี้ต้องพูดกันมาก...การที่คนไทยในเมืองไทยจะรู้จักศาสนาพุทธได้ เขาจำเป็นต้องรู้อะไร?”

“เห็นนิยมกันว่าต้องรู้ภาษาบาลีก่อน” ข้าพเจ้าตอบตามที่เคยได้ยินมา “บางทีก็ว่าต้องบวชก่อน”

“ทุกวันนี้ย่าสละหมด แลเห็นเราเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร อ้า! ถึงบ้านแล้ว คิดถึงแม่กับย่าจริง!” หญิงสาวอุทานผ่องใส

“บ้าน” ที่เราพักเป็นตึกสี่เหลี่ยมหลังใหญ่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตึกใหญ่หลังเดียวภายในพุ่มพฤกษ์อันงามดุจเสกสรรค์ ความสูงชะลูดของต้นไม้ต่างๆ คล้ายกับจะคลุมหลังคา, หน้าต่าง, เฉลียง ฯลฯ เพื่อยังความร่มรื่น เยือกเย็น

ก้าวแรกภายในบ้านที่ทำให้รู้สึกสะดุดตามากคือ อาวุธโบราณต่างๆ แขวนไว้เหนือรูปปั้น แสดงถึงการสะสมหลายชั่วอายุคน!

แม่ของหลัน-หลัน-เหย่ ออกมาต้อนรับเราด้วยอัธยาศัยไมตรี ขณะที่สัมผัสมือกับข้าพเจ้า นางพึมพำ

“ซิม! ซิม!” หมายถึง ‘คนไทย’ พลางจูงมือข้าพเจ้าเข้าไปในห้องชั้นในห้องหนึ่ง ในห้องนั้นมีหมวกนายทหารไทยโบราณ ดาบใหญ่ประสานอยู่ใต้หมวก และยังมีโล่ห์เล็กๆ จารึกอักษรขอม

“พ่อของปู่ของฉันเคยเป็นแม่ทัพรบกับองค์บดินทร์ ดาบทั้งสองเป็นดาบขององค์บดินทร์ให้แม่ทัพญวนเป็นที่ระลึกเมื่อสงบศึก ฉันดีใจที่พบลูกหลานองค์บดินทร์ เธอต้องเล่าเรื่ององค์บดินทร์ให้ฉันอย่างละเอียด เล่าได้ไหม?”

ข้าพเจ้าชะงักกับคำหลัง เมืองไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่นิยมวีรบุรุษที่มิใช่ราชตระกูล บ้านของเจ้าพระยาบดินทร์ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นวัดที่โกโรโกโสที่สุดในกรุงเทพฯ คือวัดชัยชนะสงครามหรือวัดตึก มีแต่บ้านเช่ากับกองปฏิกูล อนุสาวรีย์ของท่านที่วัดสามปลื้มเล่าก็ว่ากันว่าให้เฝ้าแต่จระเข้กับรับเส้น แม้คนเขียนเรื่องของท่านครั้งแรก คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังถูกหาว่า “รู้เกินหูพระยาตาแร้ง”

ข้าพเจ้าได้แต่ยิ้ม พอดีหลัน-หลัน-เหย่พาโคลแด็ตเข้ามา

“ทิ้งเฉยไว้ไหนคนเดียว?” ข้าพเจ้าถาม

“เขาทิ้งตนเองบนเปลมังกร! เขาว่าเขาปวดหัวกับเรื่องอดีต” หญิงสาวเจ้าบ้านตอบ “แต่แม่จ๋า พวกเราหิวกันแล้ว แม่สั่งกับข้าวเป็นพิเศษหรือเปล่า?”

ท่านเจ้าของบ้านยิ้มไม่ตอบ จับมือบุตรีและโคลแด็ต ปากก็บุ้ยให้ข้าพเจ้าตามไป เมื่อผ่านห้องโถง ข้าพเจ้าไม่ลืมดึงขานายเฉยให้ลุกขึ้นตามไปด้วย

“บ๊ะ! กำลังฝันถึงอานามสยามยุทธ!” เฉยงัวเงีย

อาจเป็นเพราะขณะที่รับอาหารอันอร่อยที่สุดในชีวิตนั้นหลัน-หลัน-เหย่ใช้เท้าเล็กของเธอเตะน่องข้าพเจ้าทำนอง “อย่ากินมาก” หรือ “เรามีธุระอีก” อะไรอย่างหนึ่งทำให้ข้าพเจ้าชะลอการกินแทนความตั้งใจที่จะนอน ๓ ชั่วโมงหลังอาหารกลางวัน ไม่ใช่ ๒ ดังอยู่ที่ไซ่ง่อน หลันกระซิบให้ข้าพเจ้าเดินออกไปทางประตูหลัง รถยนต์จอดคอยอยู่ก่อนแล้ว

“ไปทะเล! ถ้าไม่ไปวันนี้ เราอาจไม่มีโอกาสไป” เธอกระซิบอีก

“ไป!” ข้าพเจ้าตื่นเต้น “ไกลจากนี่กี่ชั่วโมง?”

“ราวสองชั่วโมง ฝนตกเล็กน้อยไม่เป็นไร”

“หลัน ฉันชอบชื่อฝรั่งเศสของเธอเหลือเกิน...ซีบีน! จำไม่ได้ว่า เป็นนางเอกในวรรณคดีใด”

“ไม่มีกระมัง มีแต่ ‘ซีเบอลีน’” หญิงสาวตอบด้วยความสดชื่น แก้มทั้งสองแดงเรื่อดุจมีความหมายใหม่ของชีวิต

“ฉันรู้สึกแต่วินาทีแรกที่เรารู้จักกัน” ข้าพเจ้าจับมือเธอเบาๆ “ว่า...เรารู้จักกันมาตั้งแต่เกิดดวงตาที่เต็มไปด้วยการศึกษารอบรู้ การเคลื่อนไหวร่างไม้มืออันส่อถึงการศึกษาอบรมอันสูงเหล่านี้จับตาจับใจฉันที่สุด...”

เธอนิ่ง แต่ลูบคลำมือของข้าพเจ้าอย่างอ่อนโยน

“เวลาอาจจะเปลี่ยนความงามของหญิงที่งามด้วยผิวด้วยตระกูล แต่ความงามเปล่งปลั่งด้วยวิทยาการไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในงานราตรีในขณะรับอาหารและในขณะที่เดินทางฝนตก อ่อนเพลียจัด แม้พระเจ้าก็ไม่สามารถบั่นทอนความงามดังกล่าวได้”

“สุจริต ฉันจะพยายามหลับหนึ่งชั่วโมงตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงนี้ ฉันอยากได้ยินเธอพูดอย่างที่กำลังพูด...เธออนุญาตให้ฉันพิงเธอหลับได้ไหม? อีกหนึ่งชั่วโมงหลัง ฉันจะพูดทำนองเดียวกับเธอขอโทษนะ!”

ขณะนั้น รถกำลังวิ่งฝ่าละอองฝนอันเยือกเย็นสองข้างทางมีไร่ละหุ่ง และป่าละเมาะสลับกันไป หมู่บ้าน เด็กเล็กที่อยู่ใกล้ๆ ทางก็ไม่ผิดอะไรกับสองข้างทางชลบุรีศรีราชา

หญิงสาวเอนศีรษะพิงไหล่ของข้าพเจ้าแล้วหลับตา

“ถ้าจุมพิตเปลือกตาเธอในขณะที่เธอหลับ เธอก็ไม่ขัดขวาง แต่จะมีประโยชน์อะไรเหมือนจุมพิตรูปปั้นและคนที่จะโกรธเคืองที่สุดก็คือเธอ หรือจะลองพยายามดู แต่เออ! ขนตาของเธอช่างงอนยาวเสียนี่กระไร เกือบจะปิดเปลือกตาทั้งหมด ถ้าเช่นนั้นขอจุมพิตผมเถิด ซีบีนเธอจะได้ไม่รู้สึก”

ไม่มีอาการไหวติงใดๆ เลย แม้ริมฝีปากก็เม้มสนิท คลำชีพจรของเธอเบาๆ ก็รู้สึกว่าไร้มารยา-หลับเอาจริงๆ จิตใจของข้าพเจ้าที่พยายามคิดเพื่อหลีกคำรำพันของรุสโซ เชกสเปียร์ อูโอ เกอเธ และบาลซ๊าคค่อยคลายความรุ่มร้อนลง

ข้าพเจ้าร้องเพลงภาษาอังกฤษชื่อ ‘ไอรีน’ โดยเปลี่ยนเป็น ‘ซีบีน’ เบาๆ

“ซีบีนเอ๋ย ชื่อของเธอผูกรัดเส้นเลือดทุกเส้นรอบดวงใจ”

เมื่อร้องรำคำใดมีแต่ ‘ฉันรักเธอ’

สัมผัสใดในชีวิตเป็นจุมพิตไปเสียสิ้น

พิศวงจริงว่าเมื่อใด ‘เธอจะรักฉัน’

“สุจริต! ฉันฝันว่าแม่เรียก” หญิงสาวผงกศีรษะขึ้นให้ข้าพเจ้าตกใจ “ฝันร้าย อย่าไปทะเลเลยเสียดายก็เสียดาย แต่กลับเถอะคนรถ แล้วฉันจะให้รางวัลอย่างงาม”

“ฝันอะไร?” ข้าพเจ้าซักขณะที่รถหักกลับ

“ฝันว่ามือที่แม่กวักเรียกเรานั้นมีแต่เลือด”

รถวิ่งกลับมาถึงบ้านเร็วทันใจ เห็นแม่เดินกระสับกระส่ายอยู่คนเดียว โคลแด็ตและเฉยคงนอนหลับปุ๋ยไม่รู้สึก

ความฝันนั้นคล้ายกับความจริง เป็นโทรเลขจากบรรณาธิการของเราทั้งสองมีข้อความว่า “กลับเร็วที่สุดมีข่าวใหญ่ที่เว้”

จากหวินลองถึงเว้...

เมืองสุสาน-สุสานสวรรค์! มีอะไรหนอ...บ่าวด๋ายสิ้นพระชนม์หรือพระราชินี!

ฮอลิเดย์ของเราเลิกล้มลงฉับพลัน งานต้องเป็นงาน เรากำหนดกลับไซ่ง่อนเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เพื่อมิให้เสียเวลาต้องคอยรถไฟประจำทาง (ซึ่งมีขบวนเดียวในสมัยของข้าพเจ้า) โคลแด็ตและเฉยขอตัวที่ต้องอยู่ ไม่มีใครเสียดายเท่าแม่ ที่ หลัน-หลัน-เหย่ และข้าพเจ้าต้องจากไปเร็วไว เรื่องเจ้าพระยาบดินทรสิงห์ก็คงไม่ได้เล่า เรื่องย่า... เรื่องผู้อาวุโสในพุทธศาสนาที่เห็นผู้เกิดใหม่และหนุ่มสาวเป็นสัตว์เลื้อยคลานน่าสงสาร เรื่องความรักซึ่งข้าพเจ้ากำลังมีความสุข...

“เราจะพยายามกลับมาเร็วที่สุดแม่” หญิงสาวจุมพิตผู้ให้กำเนิด และจับไม้จับมือลาเพื่อนแล้วขึ้นรถ

“อย่างช้าอีก ๑ เดือน ผมจะพยายามมา” ข้าพเจ้าอำลา

อนิจจา! ชีวิต คำพูดกับความเป็นจริงช่างเป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังที่สุดสักเพียงใด

“ขอเวลาฉันนอนสัก ๓๐ นาทีได้ไหม?” ข้าพเจ้ามองดูเพื่อนใหม่ เห็นมีแต่ความขรึม

“แต่ฉันคงพูดอะไรไม่ถูก” เลือดวิ่งขึ้นหน้าหลันสีแดงเรื่อ “เราถูกทรมานมากใช่ไหม ที่รัก?”

“เธอได้ยินฉันพูดทุกคำหรือ?”

“ทุกคำ...และไม่โกรธ แปลกดี! ขนตาฉันงอนมากหรือ?”

“มาก แต่สวยเหลือเกิน”

หญิงสาวหัวเราะ

“สักวันหนึ่งคงยาวพอที่จะทำเป็นเชือกมัดหัวใจเธอแม้จะไปอยู่ทุกมุมโลก”

เราไม่รู้เรื่อง “ข่าวใหญ่” จนกระทั่งเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น บรรณาธิการของเราทั้งสองไปส่งเราที่สถานีและรีบกลับ ยื่นซองขนาดใหญ่ให้เราคนละฉบับ ข่าวใหญ่นั้นคือโจรจำนวนร้อยจะทำการปล้นสุสาน “หว่างเด๊” หรือพระมหาราชาธิราชโบราณ การเจาะเล็กๆ น้อยๆ ได้ลงมือทำและทางการได้เตรียมป้องกันอย่างเต็มที่ ข้อที่บรรณาธิการ “ดุ๊ก-ยา-นาม” วิตกคือการแทรกแซงทางการเมืองของพวกคอมมิวนิสต์ บรรณาธิการของข้าพเจ้าไม่เชื่อ จึงตกลงให้เราทั้งสองมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงและถูกกำชับให้แต่งกายพื้นเมือง เงินที่สอดมาเพียงพอที่จะให้เราอยู่ได้ ๗ วัน

รถไฟขบวนที่เราโดยสาร ถึงเว้เกือบเที่ยงคืน โฮเต็ลน้อยที่เราเลือกพักชื่อ “ฟองเลา” อยู่ในตรอกเล็กๆ ใกล้สถานี

เช้ารุ่งขึ้นเมื่อจัดแจงกับเครื่องแต่งตัวแล้ว เราก็ออกเดินเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ และรับอาหารเช้าที่ตลาดกลาง สิ่งที่เราเงี่ยหูฟังที่สุดคือชาวเมืองโจษขานกันอย่างไรเรื่องปล้น “สุสานสวรรค์”

เจ้าของร้านกาแฟร้านหนึ่งตอบเราว่า

“ผมได้ยินแต่เสียงลือ”

“ลืออะไร?” หลันถาม

“ลือว่าที่บรรจุพระศพหว่างเด๊เต็มไปด้วยเพชรพลอย บางองค์มีทองคำลาดเป็นแท่นก่อนฝัง เป็นเสียงลือมาหลายชั่วคนแล้ว ใครไปเห็นก็เชื่อว่าเป็นจริง แต่ข่าวอื่นๆ ไม่ได้ยิน”

“อัน-ขายน้ำชาที่นี่นานแล้วหรือ?” หลันถามอีก

“ผมขายก่อนผมเกิด!” เจ้าของร้านตอบตลก “พ่อแม่ผมตั้งร้านนี้มาไม่รู้กี่สิบปี”

“นั่นปะไร! รสน้ำชาจึงแปลกกว่าร้านอื่น ชานี่เป็นชาเกาหลีหรือไต้หวัน”

ก่อนตอบ แกเดินเข้าไปข้างในหยิบห่อชาที่ชงมาให้ดู เป็นชาจีนอย่างธรรมดา แต่เราพยายามยอแกเข้าและรับขนมของแกมากเข้าจนกระทั่งในที่สุดความลับชิ้นใหม่ก็หลุดออกมา

“ผมมีลูกสองคน มันก็ขายชาก่อนมันเกิดเหมือนกัน หลานของผมก็คงเหมือนลูกผม อยากจะเปลี่ยนอาชีพ ‘ชงน้ำชา-กล่าวคำหวาน’ นี้เหลือเกิน”

“ทำไม...อันไม่มีความสุขหรือ?”

“ก็พอมีหรอกครับ แต่ถ้าขายเป็นชั่วคนๆ อย่างนี้ละก็ผมหนีเด็ด” พลางแกเดินมานั่งข้างๆ เรา “ขอโทษ อันคงมาจากเมืองไกล”

“สามีของฉันเป็นชาวด้งดวง ฉันเป็นชาวไซ่ง่อน” หลันตอบโดยไม่เคยบอกเล่าเก้าสิบก่อน “อันมีธุระอะไร?”

แกนิ่งไปครู่หนึ่ง พลางเชิญเราทั้งสองเข้าไปข้างในบ้าน มีชายฉกรรจ์นั่งอยู่ ๒-๓ คน

“นี่คือเพื่อนใหม่ของเรา” เจ้าของร้านแนะนำและพูดฝรั่งเศสโดยที่เชื่อว่าเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจ

“พวกเหล่านี้เป็นคนจน-จนกว่ากรรมกรหาเช้ากินค่ำเพราะเขาไม่มีกิน ผมชวนเขามาก็เพื่อหาทางให้เขามีกิน เราจะไปขุดทอง-ตกลงกันอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ขุดจากบ่อ ขุดจากที่เขาขุดมาแล้ว!”

ข้าพเจ้าแสร้งทำเป็นไม่เข้าใจ

“ขึ้นไปข้างบนซิ จะให้ดูตัวอย่าง” แกพูดแล้วพาเราเดินขึ้นไปห้องข้างบน เชิญให้เรานั่งตรงมุมห้องซึ่งประดับสวยงาม เก้าอี้มุก โต๊ะมุก มีเตียงนอนสำหรับสูบฝิ่นสีดำอย่างดี

“นี่คือตัวอย่างทองที่ขุดครั้งที่สาม” เป็นทองแท่งใหญ่คงจะหนักไม่น้อยกว่าหนึ่งถึงสองกิโลกรัม เท่าที่พิจารณาดูรู้สึกว่าเป็นทองเก่า สีสุกใส

“เราแบ่งเท่าส่วนกันทุกครั้ง ถ้าต้องการเป็นเงินสดก็มีคนรับซื้อ คือพวกเรากันเอง ครั้งแรกเราได้มากเหลือเกินต้องเอาไปขายที่ฮ่องกง” แกหยุดพูด “อันจะร่วมงานกับเราก็ได้...ถ้าต้องการ”

“ทำไมคนไม่พอหรือ?”

“เราต้องการคนครบ ๑๐๐ คนเพื่องานครั้งใหม่ ถ้าทำครั้งนี้เสร็จ ผมก็จะเลิก-ตั้งใจจะไปอยู่ฮ่องกง หรือฟิลิปปินส์”

“ทำไมต้องใช้คนมาก...แล้วก็เดี๋ยวนี้มีเท่าไรแล้ว?”

“ผมหามาเกือบอาทิตย์หนึ่งได้เพียง ๘๐ คน ที่ต้องใช้คนมากเพราะเราต้องขุดอุโมงค์และป้องกันภัยให้พวกที่ขุด”

“ฉันขอโทษนะที่ต้องถามซอกแซก ฉันกับสามีกำลังต้องการใช้เงินเหมือนกัน”

“หมายความว่าอันร่วมมือด้วยนะ” แกหันมาถามข้าพเจ้าผู้เตรียมพยักหน้าทุกโอกาส

“ถ้าเช่นนั้นผมขอเลือดคนละ ๑๐ หยด เพื่อเข้าพิธีสาบาน”

หญิงสาวหันมาทางข้าพเจ้าเป็นทำนองขอความเห็น

“ได้! เมื่อไหร่จะทำพิธี?” ข้าพเจ้าตอบ

“พรุ่งนี้ตอนสิบนาฬิกาเช้า ที่ผมขอเลือดก่อนก็เพราะต้องผสมกับตัวยาบางอย่างตามพิธี”

หลัน-หลัน-เหย่ “ภรรยาในนาม” ของข้าพเจ้าป่วยเป็นไข้ทั้งคืน สาเหตุที่เป็นไข้ไม่ใช่เพราะจำนวนเลือดเพียง ๑๐ หยด แต่เป็นเพราะเครื่องมือเจาะเลือดโบราณล้าสมัยขณะที่เจาะได้ก่อความปวดอย่างรุนแรงเกือบจะทนไม่ไหว ข้าพเจ้าเองรับว่าเกือบจะทนไม่ได้เหมือนกัน

ตอนแปดนาฬิกา ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเธอ เห็นยิ้มอันสดชื่นก็รู้สึกว่าหายแล้ว

จุมพิตเธอเบาๆ ตามบริเวณหน้าผากรู้สึกไม่สู้ร้อน

“พอแข็งแรงไปร่วมพิธีได้ไหมที่รัก?”

“หายไข้แล้ว แต่ยังเพลียเหลือเกิน...” เธอตอบ “แต่-ใครอนุญาตให้เธอจุมพิตนะ!”

“ฉันเอง!”

“ทำไมไม่จุมพิตตัวเธอเองล่ะ?” เธอโอบกอดข้าพเจ้า “ฉันรับโอมาวาลตีนกับไข่แล้ว เธอรับอะไรหรือยัง?”

“เท่านี้ก็อิ่มพอแล้วแต่แม้เธอจะแข็งแรงพอฉันก็ไม่อยากให้เธอไป”

“ทำไม?”

“เธอคิดว่าเจ้าคนขายน้ำชาเป็นหัวหน้าหรือ? เจ้านั่นอาจเป็นคนเก็บรักษาหรือคนแบ่งทอง ต้องมีคนอื่นๆ อีก” ข้าพเจ้าบีบมือหญิงคนรัก “...ฉันกลัวว่ามันจะจำเธอได้”

“ฉันไม่ยักคิด! ฉันกลับคิดว่าในระหว่างสี่ห้าวันนี้จะมีคนครบ ๑๐๐ คนหรือ”

“หลัน เราจะทำลายพวกเหล่านี้ทันทีดีหรือว่าร่วมงานกันถึงที่สุด และทำลายทีหลัง?”

คำถามคำนี้เป็นคำถามที่ข้าพเจ้าถามตนเองมาเกือบทั้งคืน แม้เราจะเชื่อในความสามารถของตำรวจ-ถ้ารู้ แต่เรายังเชื่อความสามารถของเรายิ่งกว่า

“เธอไม่วิตกถึงจำนวนคนที่ไม่ครบหรือ?”

“ให้ตำรวจปลอมตัวไปสมัครเพียงวันเดียว เราไปแจ้งให้ผู้กำกับการตำรวจที่นี่โทรเลขเรียกตำรวจพื้นเมืองจากเมืองใกล้ๆ วันเดียวก็ครบ”

“แต่เราก็ต้องร่วมงานกับมันจนตลอดอยู่ดี ข้อสำคัญเราไม่รู้ว่าที่ที่มันขุดอยู่ที่ใดสุสานหว่างเด๊แต่ละสุสานใหญ่โตเหลือประมาณ...ที่รัก แล้วก็ฉันอยากให้ชีวิตของเรารู้จักการผจญภัยอันมีประโยชน์เธอคงทราบดีแล้วว่าพวกนี้ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นคนจน-เป็นโจรจนๆ อย่างธรรมดา แต่ที่หาญทำงานใหญ่นี้สิน่าสงสัย”

“ถ้าเช่นนั้นฉันจะไปคนเดียวก่อน” ข้าพเจ้าจุมพิตเธออีก “ริมฝีปากของเธอก็ยังร้อนถ้าไม่นอนนิ่งๆสักสองหรือสามชั่วโมงอาจมีไข้อีกในตอนเย็น”

ห้องหลังบ้านร้านขายน้ำชามีประตูลับทะลุออกไปสู่บ้านใหญ่ ข้าพเจ้าแปลกใจที่ได้ยินชายขายน้ำชาบอกว่าในวันที่รับข้าพเจ้านั้นได้คนใหม่อีก ๙ คน รวมเป็น ๑๑ คน และวันนี้ยังมีคนสมัครในตอนเช้าอีก ๓ คน เข้าใจว่าตอนเย็นคงจะครบจำนวน แกเสียใจที่ทราบว่า “ภรรยา” ของข้าพเจ้าป่วยมาร่วมพิธีไม่ได้

“บ้านใหญ่” นี้จะเป็นของใคร แกไม่บอกได้ยินแกเรียกเพียงแต่ ‘นาย’ รู้สึกว่าเป็นบ้านที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก ห้องที่ทำพิธีเป็นห้องโถงใต้ดิน ภาพมังกรพ่นควันธูปภาพหอกดาบ ภาพกะโหลกศีรษะหลายสิบหัว ภาพเครื่องทรมาน ฯลฯ ทันทีที่เห็น ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า สถานที่แหล่งนี้เป็นสถานที่เกี่ยวกับจารกรรมและการเมืองขั้นวิสามัญไม่ใช่ซ่องโจรธรรมดา

“นั่งลง!” เสียงนี้ดังขึ้นพร้อมกับเสียงฆ้องใหญ่ และทันใดนั้น ‘นาย’ ก็ปรากฏตัว แต่งกายด้วยแพรสีดำ ใส่แว่นตาดำ มีหนวดนิดๆ อายุประมาณ ๔๐-๔๕ ปี พอนั่งลงก็พยักหน้า ๒ ครั้ง มีคนใช้นำแชมเปญสีแดงมาหนึ่งชามเปล คือเลือดของพวกเราซึ่งผสมกับแชมเปญอย่างดีจนคาวเกือบไม่มี คนใช้ได้ในให้เราคนละแก้ว หัวหน้าก็แก้วหนึ่ง!

ก่อนดื่ม กลิ่นหอมพ่นออกจากปากมังกรคลุ้งไปทั้งห้อง เสียงฆ้องเริ่มรัวเป็นจังหวะและดังขึ้นทุกทีสักครู่หนึ่ง ‘นาย’ ยืนขึ้นพูดเป็นภาษาญวน พร้อมกับเสียงฆ้องแผ่วเบาลง

“ข้าพเจ้าขอบใจเพื่อนร่วมชาติทุกคนที่มาดื่มร่วมเลือดกัน ณ ที่นี้ ขอให้ท่านดูกะโหลกศีรษะที่เรียงรายอยู่ในห้องนี้ เป็นผลที่ข้าพเจ้าเกลียดที่สุด ทุกคนต้องตายอย่างทุเรศ เอากะโหลกศีรษะมาประจาน เอาร่างเผาจนเป็นถ่านและทำให้สูญหายไป แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็ต้องตายอย่างนี้-ต้อง ถูกประจานเช่นนี้ ถ้าข้าพเจ้าทรยศต่อเพื่อนของข้าพเจ้า หรือถ้าข้าพเจ้าหักหลังต่อแผนการณ์ของหมู่คณะ...น้ำสีแดงในแก้วนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้าได้ผสมด้วยเหล้าและตัวยาอย่างอื่นราคาแพงเพื่อชูกำลัง เมื่อดื่มไปราว ๕ นาที ความรู้สึกของท่านจะเปลี่ยน ไม่ว่าใครจะปลอมตัวอย่างใดมา ความลับนั้นก็จะขยายออก บางท่านอาจจะมีสติ บางท่านอาจจะไม่มีสติ แต่นี่เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดเท่าที่ได้ปฏิบัติมา”

จบแล้ว ‘นาย’ โบกมือให้เรายืนขึ้น ยกแก้วขึ้นในระดับคอและดื่ม เสียงฆ้องรัวดังขึ้นและดังขึ้น

ความอยากผจญภัยทำให้ข้าพเจ้าดื่มจนเกลี้ยงแก้ว!

๓๐ นาทีให้หลัง ข้าพเจ้าก็รู้สึกตัวว่าอยู่ในเครื่องพันธนาคารอย่างแน่นหนา!

ตลอดเวลา ๓๐ นาทีที่ไม่รู้สตินั้น ข้าพเจ้าละเมอออกมาเป็นภาษาของบ้านเกิดเมืองนอนของข้าพเจ้าคือภาษาไทย ซึ่งไม่มีใครเข้าใจ!

ตาขายน้ำชาตบหน้าข้าพเจ้า ๓ ที ทำให้หน้ามีเลือดร้อนผ่าวไปหมด แต่ยังไม่ร้อนพอที่จะไหม้เชือกที่มัดตัว มิเช่นนั้นแล้วแกคงจะรู้ว่าใครจะเป็นผู้ตบหน้าใครแรงกว่าใคร!

“อัน! อัน-ทรยศต่อเราทำไม?” แกตะคอกเป็นภาษาฝรั่งเศสเลวๆ

“ฉันยังไม่รู้ว่าฉันทรยศอย่างไร”

“ขณะที่ดื่มยาเลือดแล้วนอนสลบ อันพูดอะไรต่ออะไรมากที่สุด แสดงว่าทรยศ แม้ว่าไม่มีใครเข้าใจเลย”

“ก็เมื่อไม่เข้าใจ จะว่าฉันทรยศอย่างไร! แกมันบ้า! ไปบอกนายแกไป๊!” ข้าพเจ้าเถียง คิดถึงหลัน-หลัน-เหย่อย่างเลยถ้อยคำ เพราะพวกนี้อาจส่งสมุนไปลอบทำร้าย

“แต่อันต้องสารภาพว่าอันมีความประสงค์อย่างไร?”

“ไม่ต้องบอก ฉันมาที่นี่แล้ว” เสียงฝีเท้าของนายดังเข้ามาใกล้ “ภรรยาของเธอ...หลัน-หลัน-เหย่ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ ดุ๊ก-ยา-นาม ก็มาด้วย”

เสียงนี้แสดงถึงการศึกษาอันสูง เป็นสำนวนฝรั่งเศสที่ดี ไม่มีอะไรตกใจเท่ากับเห็นหญิงคนรักตกอยู่ในสภาพนักโทษเช่นเดียวกับข้าพเจ้า แม้ดวงตาของเธอจะแข็ง แต่ไฉนเรื่องเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์จึงแดงขึ้น

“ตามกฎของคณะ เธอทั้งสองต้องตาย” เขาพูดดุจผู้พิพากษาศาลสูง แต่ฉันผู้เป็นหัวหน้าได้ดื่มเลือดของเราร่วมกัน ทั้งเธอก็ยังไม่ได้กระทำความผิดอะไรนอกจากสามีของเธอ...หลัน สามีของเธอได้เพ้อภาษาที่พวกเราไม่เข้าใจ” เสียงของเขาคล้ายคุ้นเคยกับ ‘ภรรยา’ ของข้าพเจ้ามาแรมปี พลางหันไปพูดกับเธอ

“ยังไง มาดาม เธอยังรักฝรั่งเศสมากดังเดิมหรือลดลงมาแล้ว?”

“ฉันรักบ้านเกิดเมืองนอนของฉันยิ่งกว่าอะไรหมดแต่จะไม่รักอย่างโง่เขลาเป็นอันขาด” หญิงสาวตอบ “ฉันอธิบายให้คนที่พยายามไม่เข้าใจไม่ได้ เมอซิเออร์เวห์-ชิน-เทือง แม้เราจะเคยพูดกันมาหลายครั้งที่ฮานอย ถ้าเราปกครองเราในขณะนี้ ซากศพของ ‘นักรักชาติ’ จะกองอยู่เต็มถนนทุกๆ หัวเมืองใหญ่เพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้จักอารยธรรม-ไม่รู้จักความเจริญ..อาจไม่รู้ด้วยซ้ำแม้ยุงซึ่งนำความพินาศฉิบหายมาสู่มนุษย์นับจำนวนล้าน และในไซ่ง่อน...เรามียุงเกือบนับตัวถ้วน...”

“พอที! เธอจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่รู้ไม่สามารถ โดยไม่ทดลองความสามารถของเราก่อน?” เวห์-ชิน-เทืองโกรธจัด

“เธอจะโกรธฉันอีก ถ้าฉันตอบ”

“ไม่โกรธ!”

“ก็เพราะเห็นความสามารถมาแล้ว!”

“ถ้าเช่นนั้น เธอและสามีก็คงไม่สามารถอะไรเท่าใดนัก พรุ่งนี้ตอน ๑๐ นาฬิกาเช้า เราจะได้เพื่อนร่วมตายครบจำนวน และตอนเที่ยงคืนเราจะเริ่มงานของเรา เธอทั้งสองกับเพื่อนอีก ๑๘ คนมีหน้าที่ระวังภัยในบริเวณ แต่คืนวันนี้ฉันเสียใจที่เธอต้องนอนที่นี่ การปล่อยหรือไม่ปล่อยเธอ อยู่ที่ความปลอดภัยของเรา”

เดือนหงายแจ่มจำรัสในเที่ยงคืนวันรุ่งขึ้น เรา ๒๐ คน ต่างก็แยกย้ายกันดูเหตุการณ์ในบริเวณสุสานสวรรค์...ซากพระศพของพระเจ้า เถียวตรี, ตื๋อดึ๊ก, หมิ่นหมาง ซึ่งนิ่งสงบมาเป็นเวลานานปีกำลังถูกเจาะทำลาย หลันและข้าพเจ้าได้รับแจกปืนพกคนละกระบอกกระสุนพร้อมเช่นเดียวกับอีก ๑๘ คน แม้จะร่วมงานถึงเพียงนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่าฝ่ายเจาะจะเริ่มงานจากแห่งใดและเราจะถูกหักหลังเมื่อใด

“จำได้ไหมเจ้าคนขายน้ำชาบอกว่ามันเคยเจาะมาแล้วถึง ๓ ครั้ง?” ข้าพเจ้าทรุดตัวลงนั่งใต้พุ่มไม้กระซิบถามหลัน

“ได้สิ! มันคงเจาะอุโมงค์มายืดยาว” หลันตอบ โอกาสที่แยกออกมาตามลำพังนี้ หญิงสาวได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกพวกมันจับตลอด จนเจ้าหัวหน้าคือ เวห์-ชิน-เทือง

“พวกชาตินิยมจนหลงชาตินี่น่าสงสาร เหตุผลมีดีเกือบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มักจะ ‘ยืนบนบ่าครู’ (หักด้ามพร้าด้วยเข่า) เอะอะก็เลือดและปืนเป็นที่ตั้ง ไม่คิดถึงการณ์ไกล ไม่สุขุมไม่ทำให้ศัตรูเห็นใจ...”

“หลัน สมมุติเราจะหนีขณะนี้...”

“อีกสองสามชั่วโมงเธอก็รู้ว่าอะไรต้องเกิดขึ้น ฉันไม่ชอบหนีใคร... แต่สุจริต เธอเห็นอย่างไรกับโจรกรรมวิสามัญอย่างนี้”

“ชาวตะวันออกมักก่อความอับอายขายหน้าเช่นนี้เสมอ” ข้าพเจ้าตอบ “กรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงเก่าของสยามก็ทำนองเดียวกัน พม่ายกกองทัพมาตีแตกแต่ที่เมืองทำลายลงอย่างย่อยยับไม่ใช่เพราะพม่า แต่เป็นเพราะพวกลักขุด”

“ตายแล้วคิดว่าขึ้นสวรรค์จริงๆ แต่กลับอยู่บนพื้นดินมิหนำซ้ำกระดูกยังถูกรบกวนถูกทำลายอีก” หญิงสาวถอนใจ “แม้ฟาโรห์ที่สร้างปิรามิดป้องกันซากตนก็ถูกเจาะถูกคุ้ยโชว์แก่โลก...” เธอซบไหล่พิงข้าพเจ้า “นี่ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน-มันมีความสุขไหม?”

“มี ยอดรัก มีบนพื้นพิภพนี้ แต่ไม่สมบูรณ์”

“พระเจ้านี่ช่างไม่ฉลาดเสียจริงๆ” เธอพึมพำ “แม้สร้างนกก็ยังให้ความสุขน่าริษยา ทีมนุษย์สิ...กลับให้อุปสรรคและความไม่สมบูรณ์ต่างๆ”

“นกไม่มีโอกาสเป็นพระเจ้าเพราะเป็นดิรัจฉานแต่เรามีหวังที่จะเป็น... เป็นเพราะเรามีรูปร่างเหมือนพระองค์”

“ฉันเห็นจะเลือกเป็นนกเพราะมีความสุขไม่ขาดตกบกพร่อง เกิดกับธรรมชาติ ตายไปกับธรรมชาติ ไม่มีหมอหน้าเลือด ไม่มีขึ้นโรงขึ้นศาล อันมีแต่ความอยุติธรรมกับเงิน...เป็นมนุษย์ดีอย่างไร?”

“ถ้าจะตอบก็มีแต่ว่ามนุษย์ดีกว่าสัตว์ตรงสามารถคลี่คลายจิตใจและวิญญาณ รู้จักเรียน รู้จักความสะอาด รู้จักค้นคว้าหาพลังต่างๆ เพื่อเอาชนะธรรมชาติที่วิปริต”

“แต่เราเรียนกันถึงไหน? จริงอยู่ เราสามารถมีไฟฟ้า มีวิทยุ เราไม่สามารถชนะความริษยาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราพากันหลงนิยมของปลอมแปลงต่างๆ ว่าเป็นความดีความงาม ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติเดิมๆ ของเราบางอย่างของมนุษย์ยังทรามกว่าสัตว์”

ข้าพเจ้าหมุนศีรษะของเธอให้นอนลงกับตัก ขณะนี้เป็นเวลาร่วมตีหนึ่งแล้วเสียงร้องของพวกระวังภัยดังมาเป็นจังหวะ เมื่อเสียงรับผ่านข้าพเจ้าไป หลันซึ่งลืมตาโพลงดูเดือนกระซิบอีก

“เราอยู่ตีนสุสานใช่ไหมสุจริต...อนิจจา! สุสานสวรรค์! เธอรู้สึกว่า ‘มัน’ เหมือนสวรรค์ไหม?... ปูน, แผ่นหิน, ดิน, ไม้, สี...”

“เธอง่วงหรือยัง?” ข้าพเจ้าไม่ตอบ

“ฉันอยากให้เธอจุมพิตดวงใจของฉันเหลือเกิน! มันตื่นเต้นถึงที่สุด! เธอยังไม่ตอบฉันเลย ยอดรัก มันเหมือน ‘สวรรค์’ ไหม?”

“ตอบอย่าง สำนวนชาวไทย เมื่อหญิงคนรักอยู่แนบข้าง-ลำพังในจักรวาลดังเดี๋ยวนี้ ฉันรู้สึกว่าเป็นสวรรค์ชั้นที่เจ็ด”

“แต่ฉันได้ยินว่าสวรรค์มีสิบหกชั้น อีกเก้าชั้นจะมีความสุขสูงกว่าความรักได้อย่างไร?” เธอแย้งจับคางข้าพเจ้า เป็นคำแย้งที่น่าคิดและไม่เคยคิด

“วินาทีนี้ฉันไม่อิจฉาความสุขในชั้นสิบหกเลย” ข้าพเจ้าโอบอุ้มเธอเข้าสู่ทรวงอกและเราทั้งสองจุมพิตกันด้วยความรักอันเกิดจากความเสียสละความอบอุ่นและวิญญาณ

เวลาจะผ่านไปเท่าใดไม่ปรากฏ แม้เสียงกู่จะผ่านข้าพเจ้าไปถึงสองสามรอบโดยไม่รับ ข้าพเจ้าไม่รู้สึกจนกระทั่งเสียงปืนดังขึ้น ๒ นัด ทั้งหลันและข้าพเจ้าร้องขึ้นเบาๆ เราถูกปืนด้วยกันทั้งคู่ เราถูกหักหลังแล้ว! กระสุนปืนถูกหลันกลางทรวงอกและยังไม่ทันพิจารณาดูบาดแผลเสียงปืนก็ดังขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวรอบด้าน

ข้าพเจ้าเสียวแปล๊บที่แขนขวาเกือบซ้ำรอยเก่าอีกครั้งหนึ่งแม้จะมืดเพราะเดือนเจียนตก ข้าพเจ้าก็สามารถเห็นตำรวจเป็นจำนวนมากมาย แปรขบวนเข้าล้อมพวกเหล่าร้าย

“เราเป็นนักหนังสือพิมพ์” ข้าพเจ้าร้องบอกตำรวจที่ผ่านไป “โปรดช่วยสุภาพสตรีด้วย เธอถูกปืนอาการสาหัส”

ตำรวจคนนั้นกรากเข้ามาช่วยข้าพเจ้าอุ้มหลันออกไปข้างซอกหินไกลจากที่เดิมประมาณ ๑๐ เมตร ข้าพเจ้าช่วยเหลือเธอมากที่สุดได้อย่างเดียวคือฉีกเสื้อเชิ๊ตออกซับเลือดมือขวากอดเธอไว้แน่นมือซ้ายถือปืน รู้สึกแค้นและอยากจะล้างแค้นเจ้าคนยิง

กระทั่งสางเสียงกังวาลของปืนยังไม่หาย ต่อมาอีกสักครู่ใหญ่ ภาพที่ปรากฏต่อหน้าข้าพเจ้าคือพวกเหล่าร้ายถูกจับมัดมือไพล่หลังเดินมาเป็นคู่ๆ ประมาณ ๑๐ คู่ และแล้วข้าพเจ้าก็ไม่รู้สึกตัวเนื่องจากเลือดออกมากผิดปกติ

๑๐

ภายในโรงพยาบาลอันสะอาดกว้างขวาง

ทันทีที่ฟื้น ข้าพเจ้าถามถึงหญิงคนรัก

“เพิ่งเอกซเรย์” นางพยาบาลที่สุภาพอ่อนโยนคนหนึ่งตอบ “แต่ เข้าใจว่าไม่ถึงชีวิตเพราะกระสุนไม่ถูกที่สำคัญ”

ข้าพเจ้าถอนใจยาวด้วยความดีใจ

“ขณะนี้เธอฟื้นหรือยัง?”

“ยัง! หมอห้ามเยี่ยมเด็ดขาด แต่-อ้อ เวลาเก้านาฬิกาผู้บังคับการตำรวจจะมาเยี่ยม”

ถ้าเช่นนั้นกรุณาหากระดาษดินสอได้ไหม ฉันจะโทรเลข”

ใจความโทรเลขนั้นข้าพเจ้าบอกเมอซิเออร์ทราน-วัน-เทืองว่ารีบขึ้นมาเว๊วันนี้ ส่งจากโรงพยาบาลเทศบาล ซึ่งคงรู้ถึงบรรณาธิการของข้าพเจ้า

ตอนเก้านาฬิกา ผู้กำกับการตำรวจมาเยี่ยมพร้อมด้วยนายตำรวจอีก ๒ คน

“ฉันขอบใจในนามของราชการกรมตำรวจ” แกพูดช้าๆ นั่งข้างข้าพเจ้า “ถ้าเราไม่ได้รับจดหมายจากภรรยาของเธอ เราก็ไม่สามารถรู้กำหนดวันและเวลาที่พวกโจรจะทำการ” หันไปถามหมอ “อีกกี่วันอาการจะหายเป็นปกติ?”

“กระสุนถูก ๒ แผล ไม่ทะลุ ต้องผ่าออกเป็นแผลใหญ่ อย่างน้อยผมเข้าใจว่าอีก ๑ สัปดาห์”

“แต่เมอร์ซิเออร์จะบอกได้ไหมว่าใครเป็นหัวหน้าใหญ่?”

ความรู้สึกอย่าหนึ่งวิ่งปลาบมาสู่จิต จะบอกดีหรือไม่ดีหนอ? ประโยชน์ที่บอกกับความอาฆาตมาดร้ายต่อไปเล่า? ข้าพเจ้าได้ย้อนถามว่า

“ท่านผู้กำกับจับเจ้าของร้านน้ำชาได้หรือไม่?”

“ได้! เจ้าคนนั้นหรือ?”

“นั่นเป็นคนหนึ่ง คนที่ไว้หนวดจับได้กี่คน?”

“เอ! ไอ้นี่...มีใครจำได้ไหม? แต่ไม่เป็นไร-อีกเจ็ดวันก็คงทราบเรื่องละเอียด”

“ขอโทษ ท่านผู้กำกับจับคนในอุโมงค์ได้หรือเปล่า?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสาร

“จับได้หลายคน ถูกยิงตายในอุโมงค์ก็หลายคน”

“มีอีกข้อหนึ่ง อุโมงค์ที่เจาะนั้นเจาะสุสานทั้งสามพร้อมกันหรือ?”

“ดูเหมือนจะพร้อมกัน”

ภายในศาลพิเศษเวลาล่วงมาประมาณ ๓๐ วัน

เราทั้งสองได้ปรึกษาเมอร์ซิเออร์ ทราน-วัน-เทือง ว่าควรเผยเรื่องราวทั้งหมดดีหรือไม่ เมื่อซักเราอย่างละเอียดและไม่ปรากฏว่าหลักการของเมอร์ซิเออร์เวห์ชินเป็นคอมมิวนิสต์ แกก็ให้ความเห็นว่าควรปิดเพราะรู้จักเวห์-ชิน-เทืองดีและจะแนะให้แกหยุดวิธีการอันเลวทรามดังที่แล้วมา

“ถ้ามีคนตายสามสี่สิบคนดังคำของโจทก์ หัวหน้าของมันก็ต้องตายแล้ว” หลัน-หลัน-เหย่ให้การอย่างฉาดฉาน เวห์-ชิน-เทือง ซึ่งโกนหนวดสวมแว่นตาสีฟ้าแทนสีดำยิ้มแก้มแทบปริ เขานั่งข้าง ๆ เมอร์ซิเออร์ทรานวันเทือง วันนั้น “ข้าพเจ้ารู้จักมันดีเพราะเคยเรียนหนังสือด้วยกันที่ฮานอย ชื่อ...ชื่อ ‘โลย-ทัด’ รูปร่างสูงไว้หนวด แต่งกายเป็นชาวพื้นเมืองเสมอ สำหรับสาเหตุของโจรกรรมนั้น ข้าพเจ้าทราบในวันเริ่มงานกับเขาอีก ทำเพราะความจน ทุกคนต้องการทองคำ ไม่ใช่การเมือง เพราะพวกนี้มีการศึกษาน้อยเหลือเกินแม้คำว่า ‘การเมือง’ ก็ไม่รู้จัก”

เสียงคนฟังอึงมี่ขึ้นด้วยความแปลกใจ

“เกี่ยวกับการเสี่ยงเข้าร่วมงานเพื่อให้สุสานสวรรค์คงยังเป็น ‘สุสานสวรรค์’ นั้น ข้าพเจ้าและสามีเพียงแต่ทำตามหน้าที่เท่านั้น”

จบคำให้การของหลัน-หลัน-เหย่ และข้าพเจ้าผู้ไม่มีอะไรพูด นอกจากคำสองคำ อัยการให้ล่ามถามจำเลยแต่ละคน ทุกคนก็ว่าทำเพราะความจน แล้วแต่จะกรุณา

ศาลพิเศษวันนั้นไม่อาจตัดสินใจได้ เพราะจำเลยทุกคนสารภาพโดยไม่มีข้อยอกย้อนอื่นๆ หัวหน้าศาลฝ่ายราชสำนักได้นำความกราบทูลบ่าวด๋ายหว่างเด๊ ทรงกรุณาให้จำคุกจำเลย ๒๐ ปีทุกคน และให้ตัดสินประหารชีวิตเจ้าของร้านขายน้ำชา!

ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่เพียงใดไม่ต้องกล่าวถึง

เมื่อเราทั้งสามกลับไซ่ง่อน เราได้รับอนุญาตให้มีฮอลิเดย์คนละ ๑ เดือน หลันขอตัวพักโดยลำพังที่บ้านพักของเธอ ๒-๓ วัน สำหรับข้าพเจ้า พอถึงบ้านก็พบข่าวไม่เป็นมงคลทั้งโทรเลขและจดหมาย ข้อความที่อ่านโทรเลขให้แม่ฟัง คือคำสั่งของผู้ปกครองให้กลับกรุงเทพฯ ในจดหมายก็ทำนองเดียวกัน ฉบับแรกจากธนาคารอินโดจีน ปฏิเสธสมัครงาน ฉบับที่สองจากกงสุลไทยให้ข้าพเจ้ารีบกลับเมืองไทย

หลันน้ำตาไหลอาบหน้า เมื่อทราบความจากจดหมาย

“เมื่อมีคนต้องการเธอมากในเมืองไทย เธอก็ควรไป”

“เธอไม่เคยนึกชวนให้ฉันแต่งงานกับเธอ...ตายบนทรวงอกเธอหรือซีบีน” ข้าพเจ้าสุดที่จะพูดเหมือนกัน

“ทำไม! แต่ฉันอยากจะให้เรารักกันมากกว่านี้เพราะอายุเรายังน้อยนัก”

“แต่แล้วเราก็จะเสียใจในวัยแก่ในสิ่งที่เราควรทำในวัยหนุ่มวัยสาวแล้วเราไม่ทำ”

ข้าพเจ้าโอบจุมพิตเธอด้วยความรัญจวนใจจะขาด

และแล้ว...ข้าพเจ้าก็จาก หลัน-หลัน-เหย่ มา นี่แหละท่าน! ชีวิตรักของคนที่อาภัพ ทุกครั้งที่มีแสงสว่างผ่านมา แสงสว่างนั้นดำรงอยู่ได้ไม่ยืนนาน ความมืดก็เข้ามาเยือนแทน จะเรียกได้ไหมว่า “ความรัก” คือ “ความสุขที่มีอายุสั้นที่สุด”?

ทุกวันนี้ ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ด้วยจุลินทรีย์แห่งความหลัง ซึ่งก่อเป็นพลังของอนาคต ทั้งนี้ก็เพราะความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะดำรงชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่เชื่อในอิทธิพลยืนนานของความทุกข์ ที่ไม่เชื่อและขอไม่เชื่ออย่างเด็ดขาด ก็เพราะความสุขยังมีอยู่ โอกาสยังมีอยู่ แสงสว่างจากพระอาทิตย์ยังมีอยู่ ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังขึ้นในทางทิศตะวันออก ความหวัง...ความสุขก็ยังมีอยู่ทุกๆ เช้า

แม้แต่คนขอทานยังไม่อยากตาย...

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ