กรุงเทพฯ กับศิริกาญจน์

โดยที่ศิริกาญจน์สามารถอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษชื่อ “The Picture of Dorian Grey” ของออสคาร์ ไวลด์ได้ตามลำพัง ศิริกาญจน์จึงรู้สึกถึงความโง่ไม่รอบรู้ของตน และผู้ที่ศิริกาญจน์สงสารที่สุดคือพ่อและแม่ผู้ไม่มีโอกาสเล่าเรียนศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อของเธอ ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองน้อยเมืองหนึ่งชายแดนปักษ์ใต้ถึง ๒ สมัย พ่อไม่มีความสามารถอะไรเลย เธอตระหนักได้ดียิ่งกว่าใครๆ เว้นไว้แต่บุคลิกลักษณะค่อนข้างงามกับความตั้งใจดี

การพูดกับพ่อถึงเรื่องโลกเป็นภาระอันแสนเข็ญ ยิ่งพูดละเอียดลงไปถึงความเจริญหรืออารยธรรม พ่อได้แต่รับฟัง พ่อไม่เคยเข้าใจ

“หนูกาญจน์เปรียบถนนบ้านเรากับที่กลันตันกับไทรบุรีให้พ่อนั่นมันแดนเมืองขึ้นเขา ผู้เป็นนายย่อมต้องการแสดงอำนาจ...” พ่อพยายามใช้เหตุผลที่ดีที่สุด

“ก็ถ้าเช่นนั้นเมืองอิสระมิดีแต่ปล่อยปละเละเทะหรือคะ?” บุตรีแย้งอย่างแค้นและสงสาร “อย่าว่าแต่ที่นี่เลย แม้ที่กรุงเทพฯ ก็เหลือทน”

“หนูเห็นกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร? พูดถึงกรุงเทพฯ ดีกว่า”

“ดีค่ะ”

“ดีอย่างไร?” พ่อซัก

“คำว่า ‘ดี’ เป็นยอดคำที่ชาวกรุงเทพทุกคน ทุกรุ่นโปรด เช่น จะถามว่า ‘ตึกหลังนี้เป็นอย่างไร’ ก็ตอบว่า ‘ดี’ ‘ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างไร?’ ก็ตอบว่า ‘ดี’ ‘คนๆ นี้เป็นอย่างไร’ ก็ตอบว่า ‘ดี’ ที่สุดแม้หนังสือที่ชอบอย่างล้ำล้นก็ตอบว่าดี ถ้าไม่ชอบก็ว่า ‘ไม่ดี’ แต่คำว่า ‘ดี’ คำเดียวนี้โลกเขาจัดเป็นวิชาใหม่ มีตำราว่าด้วยความดีและความไม่ดีตั้งพันๆ เล่ม”

“ทำให้ยุ่งเปล่าๆ!” เป็นเสียงที่ศิริกาญจน์สงสารอย่างจับใจที่สุด เธอคิดว่าคงไม่มีพ่อคนเดียวในเมืองไทยที่หลงเชื่อในความรุ่งโรจน์ของการไร้การศึกษา! จิตใจอันมิได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่! วิญญาณที่แลเห็นแสงสว่างของตะวันและเดือนเพียงกึ่งกลาง! โธ่! พ่อบังเกิดเกล้า! เมืองที่พ่อจัดการ ความเจริญ อารยธรรม!

“ข้าพเจ้ามีความเห็นไม่ตรงกับศาสตราจารย์โจ๊ดว่า อารยธรรมที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจเท่านั้น” เสียงนี้เป็นเสียงของศิริกาญจน์ กังวานออกจากไมโครโฟนในการประกวดปาฐกถาประจำปี ปีนี้ศิริกาญจน์เป็นนิสิตาชั้นซีเนียร์แล้ว นักศึกษาและอาจารย์จากสำนักต่างๆ รวมทั้งนิสิตนิสิตาและประชาชนนับด้วยจำนวนพันนิ่งเงียบ นานๆ ครั้งหนึ่งจึงจะมีคนค้านศาสตราจารย์โจ๊ด–อย่างฉาดฉาน

“ขอให้ท่านวาดภาพดู เมืองที่ประชาชนยากจน เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บและโจรกรรมเป็นเมืองที่มีอารยธรรมชั้นต่ำเต็มที แม้ทุกค่ำเช้าพวกที่ยากจนไข้เจ็บจะสวดมนต์ภาวนาอยู่เสมอ” มีเสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหว “หวังใจว่านักอมงคลนิยมไม่ตำหนิว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ให้ร้ายศาสนา ข้าพเจ้าก็คล้ายกับนักพิศวงแต่อดีตคือต้องการเสาะแสวงหาความจริง และความจริงของอารยธรรมคือลักษณะใดลักษณะหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรม!”

เสียงปรบมือกังวานยิ่งกว่าครั้งที่หนึ่งและที่สอง

“เมืองต้องมีฐานเมือง ปลูกบ้านต้องขุดหลุมฝังเสาบ้าน จิตใจ ความรักชาติ ความวิมุตติ ฯลฯ ซึ่งเป็นอารยธรรมอย่างที่มิสเตอร์โจ๊ด ‘คำนำ’ แต่อารยธรรมอังกฤษปฏิบัติได้น้อยที่สุดในโลก! ข้าพเจ้าขอร้องท่านทั้งหลายให้เพ่งถึงประวัติศาสตร์ในทางตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศตวรรษที่ ๑๘ อารยธรรมของมิสเตอร์โจ๊ดแห่งอังกฤษ คือการปล้นสะดมอย่างชัดๆ ทั้งนี้ก็เพราะเสาหินอันเป็นฐานหอคอยแห่งลอนดอนนั้นมียังไม่เพียงพอ ต้องมาขนเอาไปจากทางตะวันออก! สำหรับประเทศไทยเรา หากมิได้พระบารมีของพระไทเทวาธิราชแล้ว ก็ยากที่สุดที่จะหลบ ‘ดาบแห่งอารยธรรม’ ของมิสเตอร์โจ๊ดไปได้!”

ระยะที่ปรบมือตอนนี้ยาวและไม่หยุดเกือบ ๑ นาที

และนี่คืออีกฉากหนึ่งของ “กรุงเทพฯและชีวิต” ที่ศิริกาญจน์ไม่มีวันลืม

“ยอดรัก คุณทำได้เก่งอย่างไม่น่านึก”

เป็นเสียงที่รำพันจากความจริงใจ เป็นคนรักของศิริกาญจน์เป็นนิสิตร่วมชั้นและร่วมแผนก...เป็นสุภาพบุรุษจากปราจีนบุรี

“ขอบคุณค่ะ กาญจน์เกรงว่าคงมีคนหมั่นไส้ไม่น้อย”

“จะกลัวเกรงอะไรกับพวกใจหอยใจปู เดี๋ยวนี้ผมมีความรู้สึกอย่างกาญจน์พูด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะพวกเราไม่มีฐานของความฉลาด ไม่ยอมคิดและไม่รู้คิด จึงมีอุดมคติเพียงแค่ปริญญา พอสอบได้เสร็จก็วิ่งเข้าเกาะรัฐบาล เบียดเสียดเยียดยัดจนได้ แม้จะมีห้องทำงานในมุมเหม็นๆ มุมมืดแห่งใดแห่งหนึ่ง... กลายเป็นแบคทีเรียของเร็ดเทปปิสม์โดยไม่รู้สึกและไม่ยอมรู้สึก---”

“พูดถึงเรื่องของเราเถอะ เราจะเตรียมตัวกี่ปีก่อนแต่งงาน?”

“สามปีพอไหม” ชายหนุ่มรัดคนรักแน่น

“ในระหว่างนั้น กิจจะทำอะไร?”

“ทำป่าไม้ ผมทนระเบียบต่างๆ ของราชการไม่ไหว ถ้าป่าไม้เจริญจะขอทำโรงเลื่อยให้ได้”

“แต่กาญจน์อยากทำงานกรมโฆษณาการ จะเล่าให้ฟัง กาญจน์ฝืนมานานแล้วที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างที่เรียกกันว่า Liberal Education ขั้นแรกกาญจน์จะนำเอาบทประพันธ์เกี่ยวกับโลกปรัชญา และชีวิตของนักคิดและนักเขียนสำคัญทุกสมัยมาแปลและกระจายเสียงทุกๆค่ำ วันนี้เป็นเรื่อง ‘เด็ก’ ของเปสตาโลซี ถัดไปเป็นเรื่อง ‘การท่องเที่ยว’ ของโตลสตอย เรื่อง ‘มิตรภาพ’ ของสิเซโร ฯลฯ และจัดให้มีการสอบทุกๆ ๓ เดือน ...เข้าทีไหมคะ?”

“ดี แต่กาญจน์จะทำได้กี่วัน?”

“ก็ต้องกระทั่งขาทานรับรองร่างไม่ได้” หญิงสาวตอบด้วยสำนวนทหารโรมันบังเอิญประสานกับเสียงหัวเราะเชิงยิ้มเยาะของชายหนุ่ม

“ทำไม... ไม่เชื่อกาญจน์หรือไม่เชื่อแผนการ?”

กิจจุมพิตคนรักที่แขนอย่างเชื่องช้านิ่มนวล

“เรายังไม่ออกจากมหาวิทยาลัย จำไว้ ยอดรัก และกาญจน์ต้องไม่ทำตนเป็นลูกศรให้จุดหักหรือจุดเปลี่ยนอยู่ที่คำค้านหรือคำไม่เห็นด้วยของคนที่รักกาญจน์ดังดวงใจ จริงอยู่ กาญจน์อาจจะแข็ง–จะเอาตามใจเรื่อง Liberal Education แต่ถ้ากาญจน์เข้าไปพบอุปสรรค...ไทยหนุ่มนับด้วยจำนวนหมื่นที่ตั้งใจดี มีแผนการดีโดนมาแล้ว และกำลังชอกช้ำ กระทั่งต้องปล่อยเลยตามเลย ผมไม่อยากให้กาญจน์พลาดหวังเมื่ออุดมคติสลาย คนเราก็เปลี่ยนทุกอย่าง–แม้ความรู้ตลอดจนคนรัก!”

ต้นไม้เปลี่ยนสีใบ ธรรมชาติเป็นผู้ยุติธรรมอย่างยิ่งในการเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจ ปรัชญาเมธีผู้ไม่ปรากฏนามสมัยกรีกผู้หนึ่งกล่าวว่า “ธรรมชาติกับกรรมลิขิตซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกันนั้นมักวิวาทชิงอำนาจเหนือมนุษย์เสมอ”

ในการป้องกันตนอย่างถึงที่สุดนั้น มนุษย์พยายามใช้การศึกษาปีหนึ่งเต็มๆ ที่กิจจากไปเข้าป่า และศิริกาญจน์ทำงานที่กรมโฆษณา ชายหนุ่มเปิดวิทยุทุกค่ำและทุกเช้า เขาไม่เคยได้ยินเสียงแปลบทประพันธ์ของโลกคนใดเลย ไม่ได้ยินเปสตาโลซี สิเซโรและโตลสตอย ฯลฯ

ศิริกาญจน์ทำอะไรหรือ? ศิริกาญจน์หายไปไหน?

อีก ๖ เดือนต่อมา กิจมาธุระเกี่ยวกับการขายไม้ที่กรุงเทพฯ และไปหาหญิงสาวที่บ้าน เขาพบเธอเตรียมตัวไปเที่ยวกับสหายชายผู้หนึ่ง

“ขอโทษค่ะ กิจ” เธออุทาน “เรามีธุระ วันหลังค่อยพบกัน”

อนิจจา! คำว่า “วันหลัง” ...หนึ่งปีหกเดือน กิจได้รับจดหมายจากศิริกาญจน์ ๓ ฉบับ เหมือนแกงร้อน–จดหมายเหล่านั้น–เพราะมันค่อยๆ เย็นลงและเย็นลง วันหลัง! อีกกี่วันกันแน่? อีก ๒ วัน– ๒ เดือน หรือ ๒ ปี!

ในสัปดาห์ที่สองที่พิษรักบังคับให้ชายหนุ่มเลี่ยงงานโดยอยากพบศิริกาญจน์เพียงแม้สักครู่หนึ่ง ซึ่งที่สุดเขาก็พบและพบเธอบนสามล้อตอนค่ำกลางถนน!

“ทำไมไม่พบดิฉันที่บ้าน?”

“ตามปรกติควรเป็นเช่นนั้น แต่เดี๋ยวนี้ผิดปรกติแล้ว นี่แหละสามปี–สัญญา!”

“ดิฉันต้องไปทำงานค่ำอีกนะกิจ” เสียงนี้ปร่าเหมือนวิทยุเก่าที่ช่างซ่อมขี้โกงหลอกขายคนบ้านนอก

“ผมจะไปส่ง ขอให้เป็นการนั่งร่วมครั้งสุดท้าย” ชายหนุ่มแค้นและน้อยใจถึงที่สุด แน่นอน! เขาเสียดายทั้งๆ ที่รู้...นึกว่าหงส์เราจึงหลงด้วยลายย้อม ช่างปลอมแปลงท่วงทีดีหนักหนา ดั่งรักถิ่นมุจลินท์ไม่คลาดคลา ครั้นลับตาฝูงหงส์ก็ลงโคลน...

ค่ำวันนั้น ชายหนุ่มดื่มเบียร์สองสามขวด และสั่งให้รถสามล้อวิ่งไปเรื่อยๆ

ดวงศศิธรทอแสงดุจหนึ่งจำใจ รถผ่านบางลำพู–ชุมนุมชนที่เขาเกลียดเพราะ “สวยนอกงามใน” ...ร้านอาหารที่มีอาหารอร่อยที่สุดขาย มีห้องน้ำสกปรกที่สุด–สกปรกยิ่งกว่าป่าช้าตามบ้านนอก–รถผ่านไปอีก ถึงประตูผี ถึงคุกลหุโทษ–เขาอยากเข้าไปนอนในคุกลือชื่อนี้สักคืนหนึ่ง ชีวิตที่ปราศจากศิริกาญจน์เป็น “ชีวิต” ได้อย่างไร! ในคุกนี้ไม่มีคนอย่างเขาหลายสิบหลายร้อยคนหรือ?

สามยอด สะพานหัน เยาวราช!

เขาสั่งให้รถจอดที่ร้านผู้หญิงหากินร้านหนึ่ง เขาไม่ต้องการอะไร นอกจากชวนแม่หน้ามนคนหนึ่งในร้านไปรับเบียร์ และอาหารที่เทียนกัวเทียน

“นี่ กินรี เธอเชื่อว่าความรักมีไหม–รักอย่างสุดสวาทขาดใจด้วยความซื่อสัตย์น่ะ?” เขาถามขณะที่รับอาหาร

“ตอบอย่างจริงใจนะคะ...ไม่มีค่ะ” แม่กินรีตอบ

“ก็ที่เขากินอยู่กันเต็มบ้านเต็มเมืองล่ะ เป็นอะไร?”

“เอ! เห็นจะเป็นความจำเป็นกับหน้าที่กระมังคะ ครั้งหนึ่งเมื่อก่อนจะเสียคน–ดิฉันหมายถึง ๗-๘ ปีมาแล้ว รู้สึกว่ามีความรู้สึกที่ร้อนไหม้รอเวลาละลายอยู่เสมออย่างหนึ่ง จะเรียกความรู้สึกนั้นว่าอย่างไรก็ตาม ที่แน่ที่สุดคือมันบอดตา บอดความรู้สึกอื่นๆ และบังคับให้มนุษย์ลืมตัว...”

“นั่นละ ความรัก!” กิจเสริม

“แต่มันร้อนค่ะ มันกระวนกระวาย มันบ้า ในที่สุดมันพาขึ้นสวรรค์ ที่มีชื่อว่านรก...”

กราบเท้าคุณพ่อของศิริกาญจน์

ผมไม่เชื่อว่าจดหมายฉบับนี้จะมีข้อความเต็มเจตนาที่ผมต้องการ และเกรงความเข้าใจผิดจะเกิดขึ้น จึงขอโทษล่วงหน้าไว้ก่อน แต่เดิมศิริกาญจน์กับผมตกลงกันตามที่คุณพ่อทราบ คือออกจากมหาวิทยาลัยครบ ๓ ปีเมื่อใด เราจึงจะแต่งงานกัน บัดนี้ครบเวลาเพียงครึ่งหนึ่ง เหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผมจำเป็นจะต้องกราบเรียนมาให้ทราบ โปรดนำจดหมายฉบับนี้ให้ศิริกาญจน์ดูเพื่อพิสูจน์ว่าผมยังรักและซื่อสัตย์ต่อเธออยู่

ศิริกาญจน์เป็นข้าราชการตามที่คุณพ่อรู้ดี เธอมีเพื่อนมากและในรายชื่อผู้เป็นมิตรกับเธอนั้น ขณะนี้ไม่มีผมแล้ว การที่เราแยกกันคราวนี้ ผมขอไม่ลงโทษศิริกาญจน์...หากขอลงโทษผมเองที่ยุ่งกับการค้าจนเกินไป

แต่หากจะว่าไป จะลงโทษความห่างเหินฝ่ายผมเท่านั้นก็ไม่ถูกต้องนัก ผมพยายามเขียนจดหมายถึงเสมอ เดือนละฉบับ ปีหกเดือนศิริกาญจน์ตอบผมเพียง ๓ ฉบับ งานราชการเปลี่ยนจิตใจเธออย่างสิ้นเชิง ไม่ผิดอะไรกับตัวอย่างของสตรีนับพันที่จะ “เอา” กรุงเทพฯ ให้อยู่มือ คุณพ่อคงเคยได้ยินมาบ้างว่ากรุงเทพฯนั้นใหญ่โตกว้างขวางเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา พรหมจรรย์นั้นดุจเศษอาหารที่ทิ้งลงไป เรื่องที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะอิ่มนั้นเคยมีหรือ?

ศิริกาญจน์เป็นคนฉลาดที่สุด ที่น่าเสียดายที่สุด เมื่อไหร่หนอเธอจะกลับคืนเป็นตัวตนของเธอเอง?

ด้วยความเคารพไม่เปลี่ยนแปลง

กิจ นิพัทธ์การ

ลงใน “พิมพ์ไทยรายเดือน” ฉบับ พฤษภาคม ๒๔๙๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ