เมืองปริญญา

เรื่องทำนองนี้หาผู้เขียนได้ยากเพราะเป็นหลายมุมจะว่าเป็นเรื่องที่เย้ยหยันสังคม สวิฟต์ หรือ เบอร์นาร์ด ชอว์ เขียนก็ได้ บอกว่า “อยากให้อ่านกันเล่นๆ เผื่อเรื่องที่อ่านกันได้หลายเหลี่ยม อย่างอีราสมุส, รามเลส์ เป็นเรื่องตลกก็ได้ แต่ผู้เขียนบางทีมันอาจไม่เป็นจริงอะไร

แม้ปัจจุบันนี้ มนุษย์ร่วมกึ่งพิภพหายใจเข้าออกเป็นปริญญา...

ณ นครใหญ่แห่งหนึ่งในสยาม ความเจริญกำลังคลี่คลายขยายตัวอย่างถึงที่สุด พร้อมด้วยความร่วงโรยแห่งพระพุทธศาสนาภายในสวนสาธารณะกลางของนครมีสุภาพสตรีและบุรุษ ๗-๘ คนกำลังนั่งสนทนา และเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน มี ดร. ศาสตราจารย์นาค (ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไลม์ซิกอเกรเจ (ปริญญาเอกแห่งเอก) จากมหาวิทยาลัยปารีส---เป็นประธาน

ตะวันเพิ่งเริ่มจะคล้อยบ่าย

ดร. นาค “สหายรักผู้มีปริญญาทั้งหลาย ประเด็นที่เราร่วมกันคิดอยู่ขณะนี้คือ เราจะทำอย่างไรจึงจะทำให้พลเมืองของนครนี้ทุกคนมีปริญญา ข้าพเจ้าจำได้ว่าเราได้เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมาแล้วครั้งหนึ่ง”

เอ็ม. เอ. ประเสริฐ (จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เขียนปริญญาไว้หน้าชื่อก็เพราะท่านผู้นี้เห็นว่า ปริญญาสำคัญกว่าชื่อ ในประเทศพม่านิยมใช้วิธีนี้มาก เช่น เอ็ม.เอ. หม่องนั่นหม่องนี่ เมืองไทยก็นิยมกันตามมุมมหาวิทยาลัยต่างๆ)

“ผมกำลังคิดอยู่แล้ว เดือนที่แล้วก็ลองเสนอเป็นบทเรียนแก่นักเรียนปริญญาตรี หลายคนพอใจ หลายคนไม่พอใจว่าปริญญาเป็นเพียงบัตรผ่านประตูจากมหาวิทยาลัยไปสู่โลก อีกหลายคนว่าปริญญาตรีควรแบ่งเป็น ๓ อันดับ ซึ่งจะเป็นทางทำง่ายขึ้น”

เอ็ม.เอ.ที.เอช.ที. กิ่ง (จากมหาวิทยาลัยฟาร์อิสเทิร์น และแคลิฟอร์เนีย ที่เรียนปริญญาโทเทียบปริญญาเอก บางทีก็ควบปริญญาตรีด้วยเนื่องจากโก้ดี) “ตามความเห็นของผม คนมีปริญญาควรสวมหมวกและเสื้อปริญญาทุกวัน จะได้รู้ว่าใครเป็นใครมีความรู้จากมหาวิทยาลัยใด ใครที่ไม่มีปริญญาจะได้เลื่อมใส อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าคนมีปริญญาแตกต่างกับคนไม่มีปริญญาเพียงใด”

ธ.ม., ศ.ม. วิสิทธิ (จากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ) “ข้าพเจ้าขอสนับสนุน และยิ่งกว่านั้นควรจะแบ่งออกเป็น พ.ร.บ. ใหม่ว่าผู้ไม่มีปริญญาห้ามเข้าสถานที่มหรสพชั้น ๑ ห้ามฟังการประชุมที่สำคัญ ห้ามเข้าพิพิธภัณฑ์มหากษัตริย์ รถไฟชั้น ๑ และรถเสบียงห้ามเด็ดขาด ฯลฯ อนุชนจะได้ทะเยอทะยานยิ่งขึ้น”

ม.ล. ศิริประไพภาคย์ อ.บ., ธ.บ., ปม. (จากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ)

“ควรแพร่แต่ให้เป็นคติ ไม่ควรออกเป็น พ.ร.บ. เพราะคนยังจนกันเหลือเกิน ค้าขายกันไม่เป็น ดีแต่พูดมากและชอบพูดแต่เรื่องไม่สำคัญ”

“คุณศิริประไพภาคย์! คุณศิริประไพภาคย์” ประธานเตือน “คุณคิดว่าคุณพูดในประเด็นหรือ?”

“ก็ท่านประธานคิดว่า ‘ในประเด็น’ กับ ‘นอกประเด็น’ อยู่ไกลกันหรือคะ?” ม.ล. ศิริฯ เถียง

“ดิฉันกำลังทำวิทยุนิพนธ์ (ความรู้ใหม่) เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เพราะ เท่าที่เห็นพูดกันในประเด็นนั้นโดยมากลากข้างเต็มที”

“คุณว่าใครลากข้าง!” เอ็ม.เอ. ประเสริฐโกรธ

ศิริประไพภาคย์ลองดี “ก็สมมุติดิฉันหมายถึงคุณล่ะ”

“ท่านประธาน ปริญญาของผมถูกดูถูก”

“ดิฉันไม่ได้ดูถูกปริญญาคร่ำครึของใคร...”

“จริง” นางสาวพจนีย์ พี.เอ., ป.ม. (จากมหาวิทยาลัยริกเกียว การที่ไม่เขียนนามสกุลของนางสาวพจนีย์ก็เพราะปริญญาสำคัญกว่า)

“จริงค่ะ ถ้าศิริประไพภาคย์จะดูถูกใคร ก็มักดูถูกบุคคล ไม่เคยดูถูกปริญญา คนมี ปริญญาอาจทรามได้ตั้ง ๑๐๐ สถาน”

“ร้อยสถาน” เอ็ม.เอ. ประเสริฐตะโกน “การที่มนุษย์ศึกษาเพื่อปริญญา ก็เพื่อการคัดเลือกให้สูงกว่าคนธรรมดา คนมีปริญญาอาจจะเป็นอย่างว่าไม่ได้”

ประธานนิ่ง รู้สึกเหมือนมีเข็มแหลมๆ แทงรอบข้าง

“ปริญญาตรีจะมีความคิดเท่าปริญญาโทไม่ได้” เอ็ม.เอ. ประเสริฐ โกรธจัด ลุกขึ้นทำท่าจะปาฐกถา

“ก็ถ้าคุณเชื่อจนหลงอย่างนั้นคุณมาร่วมประชุมทำไม?” นางสาวพจนีย์เริ่มหยิ่งในปริญญาตรีและมหาวิทยาลัยตนทันที

“ถ้าผมรู้ล่วงหน้าเจ็ดวัน---” พึมพำเป็นภาษาละติน (ถูกบ้างผิดบ้าง) “ผมจะไม่มาเลย”

“เป็นดิฉันรู้ล่วงหน้าเพียงวันเดียวไม่ยักมา(พึมพำเป็นภาษาญี่ปุ่น) คุณคิดว่าปริญญาโททำยากหรือ?”

“อ๋อ! ทำที่เมืองผิวเหลืองน่ะไม่ยากหรอก แต่ที่-เคมบริดจ์-,”

อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาณสถานแห่งเดียวกันได้มีการประชุมกันอีก การประชุมครั้งใหม่นี้ทำการกระจายเสียงไปทั่วโลก

“ท่านประธาน คราวก่อนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้พูด” หมอประกิต (เอ็ม.บี เอ็ม.เอส.เอฟ.อาร์.ซี.เอส.) ดร.ดี.พี.เอ็ม.เอ็ม.ดี (เอดินเบอเรอห์) ดี.เอส.ซี. (ลอนดอน) “ข้าพเจ้าค้นพบยาใหม่ฉีดเพิ่มกำลังสมองได้แน่นอน ยาขนานนี้สามารถทำให้คนทุกคนฉลาดเท่ากันหมด ถ้าทำปริญญาตรีก็สามารถทำได้ภายใน ๓ เดือน

“ทำไมเร็วนัก?” เอ็ม.เอ. กิ่งถาม

“ก็เพราะตำราวิชาต่างๆ สำหรับปริญญาตรีนั้น ถ้าจะเขียนอย่างคนฉลาดเขียนก็จะเขียนเสร็จภายใน ๑ เดือนอีก ๒ เดือนหาความชำนาญ”

“ปริญญาเอกล่ะ?”

“๗ วันเท่านั้น”

“๗ วัน!!!” สอง เอ็ม. เอ. ตะโกน

โดยอาศัยอำนาจยาของหมอประกิต ในไม่ช้านครใหญ่นั้นก็กลายเป็นเมืองปริญญา

ทุกคนมีปริญญาเอกนำหน้าห้อยท้ายทั้งนั้น คนขับรถ คนเทขยะ สัปเหร่อ เสมียนพนักงาน เจ้าหน้าที่ในบริษัท ฯลฯ ตลอดจนคนขอทาน ทุกคนมีคำ “ดอกเตอร์” ไม่มีนาย ไม่มีนาง ไม่มีนางสาว ภาพที่น่าดูที่สุดคือในเมืองปริญญานั้นไม่มีใครที่ไม่สวมเสื้อปริญญา ดอกเตอร์แก้ว (ซึ่งเป็นคนขอทาน) ก็สวมแม้จะขาดตะปุตะปะ

ร้านตัดเสื้อในเมืองมีฝีมือเป็นเยี่ยมอย่างเดียวคือตัดเสื้อปริญญา กางเกงปริญญา เสื้อเชิ้ตปริญญา หมวกปริญญา อย่างอื่นตัดไม่ได้ เพราะไม่มีใครใส่และนิยม

บังเอิญเกิดประเด็นประหลาดขึ้นเกี่ยวกับความต้องเท่าเทียมกันทางมันสมอง เพราะ “ดอกเตอร์” ที่ได้ปริญญาเอกด้วยยาของหมอประกิตนั้น มีอายุสั้นอย่างอเนจอนาถ หมอประกิตเองก็ตกใจแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงขอให้ ดร. นาคเปิดการประชุมใหม่

การประชุมครั้งใหม่นี้ ดร.ประเสริฐ (เอ็ม.เอ. เดิมก็กำลังร่อแร่) มีดอกเตอร์ใหม่ๆ มาประชุมกันมากมาย โดยมากเป็นดอกเตอร์ “ยาฉีด” ของหมอประกิตทั้งสิ้น ดอกเตอร์เหล่านี้พูดไม่เก่งมาถึงก็นั่งซึม สวมเสื้อปริญญารุ่มร่วม แม้จะนั่งลงในที่ประชุมแล้วหมวกปริญญาก็ยังไม่ถอด บางคนนั่งยองๆ ลงกับพื้นดิน เช่น ดร.วัน (ปริญญาเอกทางส้วมซึม) ดร.สี (ปริญญาเอกทางการทำท่อ) และดร.ฉาบ (ปริญญาเอกเฉพาะไล่ยุงมาลาเรีย) เป็นต้น

ประธานสั่งให้ติดโทรศัพท์ที่โต๊ะ

“หมอ! ยาที่ทำผลเร็วแต่อยู่ไม่ได้นานน่ะ หมอมีทฤษฎีค้นคว้าอย่างไร? ทำไมหมอไม่ดูตำราปรัชญาบ้าง” เสียงประธานตอนนี้ไม่เชิงจริงจัง แต่ช้าและเศร้า

“หมอจะมียาทำลายฤทธิ์ยาที่ฉีดแล้วไหมคะ?” นางสาวพจนีย์ (ผู้ไม่ยอมฉีดยา) ซัก

“ปรัชญาไม่ใช่วิทยาศาสตร์!” หมอประกิตเถียง

“คุณปรามาสอย่างนี้ พวกเราจึงฉิบหาย! ความแคบ--- การค้นคว้าที่ต้นกับปลายไม่เหมือนกันก็เพราะวิชาของคุณต่างหากที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์”

“แต่ผมมียาแก้”

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ประธานฟังแล้วพูดเบาๆ หน้าสลด

“ดร. กิ่งเสียเสียแล้ว! ดร. (อีก ๖ คนล้วนแต่มีปริญญาเอกในทางสังคมทั้งสิ้น) ก็เสีย- หมอคุณเริ่มแก้เถิด คุณต้องการผู้ช่วยกี่คน?”

ม.ล. ศิริประไพภาคย์พึมพำ

“สงสัยว่ายาแก้นั้นจะให้แก้แต่เครื่องปริญญา ยาบ้าๆ นั่นฉีดเข้าไปตั้งนาน ถ้าฉีดแก้ก็เห็นจะเป็นใบ้เป็นบ้ากันหมด เฮ้อ! เมืองดุษฎีบัณฑิต-เมืองปริญญา ต่อไปมิช้าก็จะเป็นเมืองพิการกันแน่นอน นี่แหละ ความหลงงมงายในสิ่งที่เป็นแต่เครื่องประดับประดาภายนอก”

ไม่มีใครยุ่งเท่าหมอประกิต ในเวลาต่อมา ทันทีที่มติที่ประชุมให้แก้พวกปริญญาที่ได้รับฉีดเข้าไป แต่ยังมีเสียงสงสัยในยาแก้ของหมอประกิตอยู่เสียงหนึ่ง ทำให้หมอประกิตทั้งหัวเสียทั้งแค้น นางสาวพจนีย์คือเจ้าของเสียงนั้น

“ดิฉันสงสัยผลการค้นคว้าของคุณมาก-ทำไมเร็วนัก! นี่มิต้องฉีดกันตั้ง ๑๐๐-๒๐๐ เข็มเหมือนยาบ้าๆ อื่นหรือคะ? ที่สงสัยนี้ดิฉันขอไม่ขอโทษ เพราะรู้เห็นความใจแคบของพวกหมอมามาก ไม่มีเวลาพอก็ดุก็ตวาดคนไข้ บางคนทำตนเป็นยิ่งกว่าผู้เผด็จการทั้งๆ ที่ ‘ความรู้’ ของตนเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่พอ---แคบ จิตใจทารุณโหดร้าย มีมารยาทดีที่สุดตรงซื้อความรำคาญ”

คนไข้ของหมอประกิตเต็มทั้งเมือง

แต่ต่างคนก็ต้องฉีดยาให้กัน โดยไม่มีกำหนดเวลา! ไม่มีอะไรน่าอนาถใจเท่ากับไม่มีใครรู้ว่า “ตนต้องทุกข์ทรมานไปอีกกี่เดือนกี่ปี” หมอประกิตเป็นหมอใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ใหญ่ที่สุดของเรื่องยา ถ้ายาอะไรแกบอกว่าต้องใช้แล้วยาอื่นไม่มี--ยาอื่นเป็นยาเลวทั้งสิ้น! ครั้นปรากฏแก่สายตาของแกว่า บรรดาดอกเตอร์ต่างๆ มีอาการอย่างอื่นที่น่าเกลียดแทนอายุสั้น กล่าวคือแขนขาหดสั้นเข้า มือที่เคยเหยียดตรงก็หงิกหงอ ผมโกร๋น ฯลฯ เมืองปริญญากลายเป็นเมืองคุดทะราด

หมอประกิตชิงกินยาตายเสียก่อนที่ ‘ดอกเตอร์เคราะห์ร้าย’ ทั้งปวงจะประหารแก

ดร. นาคต้องสละสวนสาธารณะกลางให้เป็นโรงพยาบาล ‘สำหรับสหายรักผู้มีปริญญา’ ของท่าน บุตรชายของท่านคนหนึ่งก็กลายเป็น ‘คนเตี้ย’ ที่น่าสะพรึงกลัวในโรงพยาบาลใหม่ เพราะเห่อปริญญา

การค้นคว้าใหม่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของหมอประกิตมากมาย ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลก วัตถุประสงค์ของการค้นคว้าได้มุ่งเข้าสู่ความจริง ไม่ใช่ปริญญา! บุคคลย่อมเป็นเครื่องวัดของทุกสิ่งทุกอย่าง---ไม่ใช่ปริญญา! อารยธรรมที่ต้องยกพื้นแผ่นดินนี่ให้เป็นสวรรค์ ย่อมต้องแล้วแต่สมรรถภาพตามธรรมชาติของคน ไม่ใช่ปริญญา!!!

ไม่มีราตรีไหนสลดใจเท่ากับราตรีที่ ‘ดอกเตอร์ผู้เคราะห์ร้าย’ ทั้งปวงได้ตายลงพร้อมๆ กับ ‘เมืองปริญญา’ ดุจหนึ่งเป็นสุสานคนตาย ไม่ยอมตายในสวนสาธารณะเท่านั้น มีหลายสิบคนร้อยคนได้ตะเกียกตะกายไปดูหน้าลูกเมีย และยังมีจำนวนไม่น้อยที่ตายสวมเสื้อและหมวกปริญญา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของ ‘เกียรติยศสูงสุด’

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ