- คำนำ
- คำปรารภ
- ประวัติ หม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุล
- พระประวัติกรมหมื่นสุรินทรรักษ์
- วัดเศวตฉัตร
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑
- พระราชสาส์นพระเจ้าเกียเค่งบอกงานพระบรมศพพระปิตุราช
- พระราชสาส์นพระเจ้าเกียเค่ง ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๖๐
- พระราชสาส์น พระเจ้าเกียเค่งบอกงานฝังพระบรมศพพระปิตุราช
- พระราชสาส์นเมืองจีน เมื่อปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๑๖๗
วัดเศวตฉัตร
ของ
พ.อ. ดำเนิร เลขะกุล
ถ้าท่านนั่งรถยนต์จากวงเวียนเล็ก ธนบุรี ผ่านไปทางโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ข้ามทางรถไฟสายปากคลองสานไปทางตำบลบุคคโลแล้ว ท่านจะผ่านวัดสุวรรณเป็นวัดแรก ต่อมาเมื่อเลยไปถึงตำบลบางลำภูล่างแล้ว ท่านจะผ่านวัดเศวตฉัตร ซึ่งจะเห็นตัววัดตั้งอยู่ทางซ้ายของถนน และทางขวาของถนนมีอุโบสถตั้งอยู่โดดเดี่ยวหลังหนึ่ง
วัดเศวตฉัตรเป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก่อนที่ได้ชื่อว่า “วัดเศวตฉัตร” ชาวบ้านได้เรียกชื่อต่าง ๆ กันมาแล้วหลายชื่อว่า “วัดแมลงภู่ทอง” บ้าง “วัดกัมพูฉัตร” บ้าง และ “วัดบางลำภูใน” บ้าง เปลี่ยนไปตามกาลสมัย ซึ่งไม่มีโอกาสสอบสวนให้แน่ชัด แต่ในชั้นหลังนี้มีชื่อสามัญเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “วัดบางลำภูล่าง” ตามนามของตำบลนั้น
ตัววัดดั้งเดิมตั้งอยู่ชิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออกถูกต้องตามคตินิยมช้านานต่อมา แผ่นดินริมแม่น้ำบริเวณหน้าวัดได้งอกยื่นออกไปเสมอ ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัววัดได้ห่างจากฝั่งแม่น้ำมากขึ้น (ดังจะเห็นว่าในขณะนี้ที่ตั้งของพระอุโบสถเก่าอยู่ห่างริมฝั่งแม่น้ำถึง ๕๐๐ เมตร เป็นประจักษ์พยานอยู่) และพื้นที่หน้าวัดที่งอกออกไปใหม่นั้นมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกเป็นป่า มองจากแม่น้ำไม่เห็นตัววัดเมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ ต่อที่ ๓ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์๑ จึงได้ทรงย้ายพุทธาวาสตามออกไปสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำ ทั้งพระอุโบสถเก่าไว้ที่เดิม ในการนี้ได้ทรงรื้อพระตำหนักของพระองค์ออกไปสร้างเป็นกุฎีใหญ่ถวายวัดไว้หลังหนึ่ง และทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และพระปรางค์ขึ้นใหม่ เสร็จแล้วได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ในรัชกาลที่ ๓ ได้ปรากฏในจดหมายเหตุว่า ในปลายรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง วัดบางลำภูล่างได้รับการบูรณะเพิ่มเติมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่พบรายการว่าได้ทรงบูรณะสิ่งใดบ้าง
เมื่อย้ายวัดเสร็จ เจ้าอาวาสองค์แรกที่ได้รับอาราธนามาครองวัดนี้ ได้แก่ พระครูวินัยสังวร (มูล) เป็นชาวสุพรรณบุรี เล่ากันว่าท่านสมภารองค์นี้ถูกลายแทงได้ทรัพย์แผ่นดินจากพระอุโบสถเก่า จึงเป็นทุนสร้างพระพุทธไสยาสน์ พร้อมกับวิหารได้ ๑ หลัง เสร็จแล้วได้จัดงานฉลองมีละครชาตรี ๓ วัน แต่พอจะเลิก ผู้คนบ่นกันว่าเสียดายไม่อยากให้เลิกเพราะกำลังสนุก ท่านสมภารก็ออกจะประชาธิปไตยจัดอยู่ ได้สั่งให้ละครเล่นต่อไปอีกในวันรุ่งขึ้น ตอนเย็นเมื่อละครจะเลิก ท่านก็ถามผู้ดูว่าเบื่อหรือยัง ? ชาวบ้านผู้ดูบอกว่ายังไม่เบื่อ ท่านก็สั่งให้ละครมาเล่นต่ออีกในวันรุ่งขึ้น เป็นเช่นนี้ติดต่อกันมาอีกหลายวัน จนกระทั่งคนดูหลบหน้าไปเพราะเบื่อเต็มทนแล้ว ท่านจึงให้หยุด เรื่องการทำตนเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ชอบหักรานคนเช่นนี้ ท่านได้นำไปใช้ในการปกครองลูกวัดของท่านได้ผลดีเป็นพิเศษ เช่น ถ้ามีเรื่องจุกจิกเกิดจากการยุแหย่ขึ้นในวัด ท่านก็จะเรียกคนที่ทำตัวเป็น “บ่างช่างยุ” ให้เข้ามาหา แล้วเล่านิทานสั่งสอนให้รู้สำนึกผิดและกลับตัวเอง อย่างเดียวกับที่ “อีสป” ทาสชาวกรีกได้เล่าเรื่องนิทานสั่งสอนคนเมื่อราวต้นพุทธศักราชนั่นเอง จะได้เล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่งในตอนท้าย
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดบางลำภูล่างนี้เสียใหม่ว่า “วัดเศวตฉัตร” มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิด “วรวิหาร” ในกาลต่อมา
ในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้าได้เสด็จมาตรวจวัด ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถเก่าทรุดโทรมมาก จึง รับสั่งให้บูรณะบำรุงไว้ มิให้รื้อถอนพัทธสีมา และทรงบริจาคทุนช่วยเหลือในการปฏิสังขรณ์ด้วย แต่เมื่อได้มาทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ทรงเห็นหน้าบันผิดไป จึงรับสั่งแก้ไขให้มีซุ้มจระนำ ๓ ซุ้มสำหรับบรรจุพระพุทธรูปเหมือนอย่างเดิม โดยเหตุนี้เอง วัดเศวตฉัตร จึงมีพระอุโบสถสำหรับกระทำสังฆกรรมถึง ๒ แห่งด้วยกัน
พ.ศ. ๒๔๘๑ เทศบาลนครธนบุรีได้ตัดถนนเจริญนคร จากปากคลองสานถึงสี่แยกบุคคโลผ่านเข้าไปในวัด ได้แยกพระอุโบสถเก่ากับเขตวัดใหม่ไว้คนละฟากถนน และต้องรื้อหมู่กุฎีไปปลูกใหม่หลายหมู่
บรรดาสิ่งก่อสร้างภายในวัดขณะนี้ นอกจากพระอุโบสถเก่าแล้ว นอกนั้นล้วนแต่มีรูปทรงตามแบบอย่างที่นิยมสร้างกันในรัชกาลที่ ๓ ทั้งสิ้น ดังจะได้ยกเอาเฉพาะสิ่งสำคัญ ๆ มาเล่าไว้บ้างบางอย่าง คือ
พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่ชิดถนนเจริญนคร คนละฟากกับเขตวัดในปัจจุบัน เป็นอุโบสถขนาดย่อม ๆ มีระเบียงหน้าหลัง หลังคาลูกฟูกโบราณ ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเจาะเป็นช่องซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืนช่องละองค์ รวม ๓ ช่อง ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้น หน้าตักกว้างราว ๑ วา เป็นพระประธานฝีมือธรรมดา สร้างมาคู่กับวัดเดิม ข้างหน้ามีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมา ประทับนั่งบ้าง ยืนบ้าง ประดิษฐานอยู่ด้วยหลายพระองค์ ที่หุ้มกลองหลังพระประธาน มีพระพิมพ์กรอบนอกเป็นรูปกลีบบัว สูงราว ๓ นิ้ว ติดเรียงเป็นแถว ๆ รวม ๑๑ แถว บางแถวหลุดแหว่งไปหลายองค์ น่าจะถูกนักเลงเล่นพระเครื่องแกะเอาไป นอกจากนั้นภายในพระอุโบสถหลังนี้ มีเฮียกงจีนแก่ ๆ อยู่คนหนึ่ง คอยบริการแขกเหรื่อในเรื่องเสี่ยงทายไม้ทอดคู่คี่และติ้วเป็นประจำ
พระอุโบสถใหม่ อยู่ภายในกำแพงแก้ว ซึ่งปลูกต้นโศกระย้ารายไว้รอบ รูปทรงพระอุโบสถแบบไทยปนจีนอย่างที่นิยมกันในรัชกาลที่ ๓ หลังคาลด ๒ ชั้น ลุ่น ๆ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันชั้นบนประดับลายดอกไม้ปูนปั้น ชั้นล่างประดับเครื่องกระเบื้องเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ของจีน
ซุ้มประตูและหน้าต่างประดับด้วยลายปูนปั้น เป็นรูปดอกไม้ประกอบแถบผ้า ติดกระจกสี บานประตูและหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ เป็นรูปฉัตร ๕ ชั้นกับพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านในไม่ได้เขียนอะไร ทาแดง ๆ ไว้เท่านั้น ผนังพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้านเขียนลายดอกไม้ร่วง
พระประธานของพระอุโบสถหลังนี้ ดูออกจะแปลกดี องค์พระเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย กว้างหน้าตักราว ๓ ศอก แต่ได้ก่อตัวพระยานาคขดท่อนหางพันฐานชุกชีไว้ ๔ รอบ แล้วยืดท่อนหัวขึ้นทางเบื้องหลัง ใช้เศียรทั้ง ๗ แผ่ปกอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธรูป เบื้องหลังพระยานาคออกไปอีก ได้ทำเป็นต้นจิกแผ่กิ่งใบอยู่หนึ่งต้น ประดับดวงไฟฟ้าสีไว้พราวตา สันนิษฐานว่าพระประธานองค์นี้ทีแรกได้สร้างเป็นพระปางมารวิชัยก่อน ดังจะเห็นพระหัตถ์ขวากดพระเพลาเป็นพยานอยู่ ต่อมาได้ก่อตัวพระยานาคกับต้นจิกเพิ่มเติมเข้าอีก เพื่อแปลงให้เป็นพระปางนาคปรก แต่มิได้แก้ไข พระหัตถ์ขวาให้ไปวางอยู่ในท่าสมาธิตามแบบอย่างของพระนาคปรกที่ถูกต้อง จึงดูขัด ๆ กันอยู่
ตรงฐานชุกชีเบื้องหลังพระประธาน ได้เจาะช่องบรรจุอัฐิของ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ฯ คนแรกไว้ช่องหนึ่ง และอัฐิของชาวสกุล “ฉัตรกุล ณ อยุธยา ” ในสาย ม.จ. กลางไว้อีกช่องหนึ่ง
พระวิหาร อยู่ทางขวาพระอุโบสถ มีรูปทรงเหมือนกับพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย หน้าตัก ๖ ศอก สวยงามกว่าพระประธานในพระอุโบสถใหม่มาก
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ชาวบ้านเรียกกันว่า “ โบสถ์พระนอน” ตั้งอยู่ชิดกำแพงหน้าระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๖ วาเศษ ฝีมือปั้นปูนงามพอใช้
พระปรางค์ แบบอยุธยา ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถใหม่และพระวิหาร บนฐาน ๘ เหลี่ยม ๒ ชั้น ได้เจาะเป็นช่อง ๆ สำหรับบรรจุอัฐิโดยรอบ
นอกจากนี้ก็มีศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอระฆัง และศาลาใหญ่บ้างและเล็กบ้างหลายหลัง หลังพระปรางค์มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังหนึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ใกล้ ๆ กันมีห้องสมุดประชาชนประจำตำบลบางลำภูล่างขนาดย่อมอยู่หลังหนึ่ง ชาวบางลำภูล่างได้ช่วยกันออกทุนออกแรงสร้างไว้เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาของเขา
ก่อนจบขอฝากนิทานประหลาดเรื่องหนึ่งที่ท่านพระครูวินัยสังวร (มูล) สมภารองค์แรกของวัดในรุ่นหลัง ได้ใช้เล่าสอนใจคนปากอยู่ไม่สุขได้ผลดีมาตลอดอายุของท่าน ดำเนินเรื่องดังต่อไปนี้ .-
ครอบครัวหนึ่งมีลูกสาวอยู่ ๔ คน รูปร่างสะสวยดี แต่ว่าทุก ๆ คนมีความเก่งกาจอยู่ในตัวไม่ซ้ำแบบกันเลย คนที่หนึ่งกินจุเป็นกำลัง คนที่สองขี้ขะโมย คนที่สามเจ้าชู้เกี้ยวคนไม่เลือก คนที่สี่แสนจะปากบอน พ่อแม่เห็นว่าขืนเลี้ยงลูกสาวเลว ๆ เหล่านี้ไว้ ก็มีแต่จะนำความเดือดร้อนมาสู่วงศ์ตระกูลแต่อย่างเดียว จึงตัดใจนำตัวลงใส่แพให้ลอยไปแสวงโชคเอาเองตามยถากรรมทั้งสี่คน
แพลอยเท้งเต้งไปในทะเลได้ไม่กี่วัน ก็มีสำเภาลำหนึ่งแล่นมาพบเข้า นายสำเภาได้นำหญิงสาวทั้งสี่ขึ้นมาบนสำเภา ล่วงมาไม่นานหญิงเหล่านั้นก็สำแดงนิสัยทรามของตนออกมาอวด คนแรกหยิบฉวยอาหารของใคร ๆ กินไม่เลือก คนที่ ๒ คอยลักขะโมยเผลอไม่ได้ คนที่ ๓ มุ่งแต่คบชู้สู่ชาย คนที่ ๔ เที่ยวปากบอนยุแหย่ให้คนในสำเภาทะเลาะเบาะแว้งกัน หาความสงบสุขไม่ได้ นายสำเภาได้แก้ไขด้วยการมอบหน้าที่แม่ครัวให้หญิงคนแรกทำ มีแรงกินได้เท่าใดก็กินไป ไม่นานนักก็เบื่อ หายนิสัยชั่วนั้นได้ ได้ตั้งหญิงคนที่ ๒ ให้เป็นนายคลังรับผิดชอบในสิ่งของเครื่องใช้ของคนในเรือทุกคน นิสัยที่เห็นข้าวของคนอื่นไม่ได้ ให้อยากหยิบฉวย ก็หายไป หญิงคนที่ ๓ เป็นคนเจ้าชู้ นายสำเภาได้ยกขึ้นเป็นภรรยาของตนเสีย จิตใจที่ร้อนรุ่มอยู่ทุกคืนวันก็สงบลง ส่วนหญิงคนที่ ๔ ปากบอนนี้ซิ นายสำเภาจนปัญญา มองไม่เห็นทางแก้ จะเอาไว้ก็ไม่ได้ สำเภาคงแตกเสียก่อนที่จะถึงฝั่งแน่นอน เพราะเที่ยวยุแหย่ให้คนวิวาทแตกร้าวกันทุกวัน นายสำเภาจึงตัดสินใจ จับตัวลงลอยแพให้ล่องลอยไปตามเดิม
ไม่นานนัก มีนกอินทรีผัวเมียคู่หนึ่งบินผ่านมา เห็นหญิงอยู่บนแพก็สงสารได้ลงมาช่วย ทั้งคู่ช่วยกันคาบปลายไม้คานไว้ในปากข้างละตัว ให้หญิงสาวนั้นจับกลางคานไว้ให้แน่น แล้วพาบินไปในอากาศ แม้จะอยู่ในที่คับขันถึงปานนั้นแล้วก็ตาม หญิงปากบอนกระงับปากของตนไม่ได้ อุตส่าห์กระเถิบไปใกล้หูนกผัวกระซิบว่า “เมียท่านกำลังสงสัยว่า ท่านกำลังจะนอกใจมารักข้าเข้าแล้วละ” นกผู้ร้อง ฮื แต่ก็ไม่พูดอะไรอีก หญิงนั้นได้ไต่ไม้คนไปใกล้หูนกเมีย แล้วกระซิบบอีกว่า “ผัวของเจ้าได้พยักหน้าให้ข้าไปหา แล้วบอกว่า ข้าสวย รักข้าเข้าแล้วละ” หญิงปากอยู่ไม่สุขได้พูดยุแหย่อยู่ไม่นานก็ได้เรื่อง นกเมียเกิดหึงส์ขึ้นมา จึงปล่อยไม้โผเข้าตีผัวกลางอากาศ หญิงสาวคนนั้นตกลงในทะเลตาย
ซากศพลอยไป เนื้อหนังเน่าเปื่อยเป็นอาหารแก่เต่าปลา กระดูกหลุดจมลงสู่ก้นทะเล เหลือแต่กระโหลกศีรษะ ลอยไปติดอยู่หน้าวัดแห่งหนึ่ง พระไปพบเข้า นำมาทำเป็นกระบวยตักน้ำล้างเท้า เพื่อให้ผีเจ้าของกระโหลกได้รับส่วนกุศลบ้าง แต่ไม่นาน พระและสามเณรในวัดที่เคยเรียบร้อยก็เกิดรวนเร ขึ้นทั้งวัด ท่านสมภารรู้เค้า ได้เอากระโหลกนั้นไปทิ้งไว้ในถานวัด พระและสามเณรที่ไปถ่ายทุกข์ก็ทะเลาะเบาะแว้งกันอีก
ต่อมามีนักไสยศาสตร์พวกหนึ่ง ได้มาถามหากระโหลกศีรษะคน เพื่อเอาไปรวมกับที่หาไว้แล้ว ๒ หัว ทำเป็นก้อนเส้าหุงยาอายุวัฒนะ ท่านสมภารก็แนะให้เอากระโหลกหญิงปากบอนนั้นไป กระโหลกนั้นได้คายพิษอีก ยาที่หุงเสร็จแล้วแทนที่กินแล้วจะเป็นยา ผู้กินกลับทะเลาะวิวาทกันและติดงอมแงมให้อยากกินเรื่อย ๆ แต่กินแล้วก็เกิดเรื่องทุกทีเหมือนกัน น้ำหุงนั้นได้ชื่อว่า “สุรา” ในเวลาต่อมา
นิทานเรื่องนี้ ท่านสมภารมูลได้สอนให้คนปากอยู่ไม่สุขชอบยุแหย่ให้คนแตกกัน เห็นว่าคนตะกละมักกิน คนขี้ขะโมย และคนเจ้าชู้ ที่ไม่มีใครชอบนั้น ยังพอจะเลี้ยงได้แก้ได้ แต่คนปากบอนแล้วเลี้ยงไม่ได้เลย มีแต่จะเกิดโทษ ดังจะเห็นได้จากนิทานเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง.
หลักฐาน
๑) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ – ๓ – ๔
๒) ตำนานพระอารามหลวง
๓) ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา
๔) ประวัติวัดเศวตฉัตร (พ.ท. เพิ่ม เกตจรูญ)
๕) การสอบถาม.
-
๑. กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าฉัตร” เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ และเจ้าจอมมารดาตานี ธิดาเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เป็นเจ้าจอมมารดา กรมหมื่นพระองค์นี้ได้ทรงปฏิบัติราชการเหนื่อยยากร่วมมากับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา จึงทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก สกุล “ฉัตรกุล ณ อยุธยา” ได้จากพระนามของกรมหมื่นพระองค์นี้. ↩