คำนำ

เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุล กำหนดงานในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ณ เมรุวัดทองนพคุณ นางจิ้มลิ้ม วีระไวทยะ ผู้เป็นธิดาได้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ขออนุญาตพิมพ์หนังสือเรื่องพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชทานไปยังพระเจ้ากรุงจีน เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้พิมพ์ได้ดังประสงค์

การสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนนั้น ถือกันเป็นธรรมเนียมว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินของประเทศใดเสด็จขึ้นครองราชสมบัติมักจะแจ้งให้อีกประเทศหนึ่งทราบ โดยส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการไปถวาย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าประเทศทั้งสองยังผูกพันไมตรีกันอยู่สืบต่อไป ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ได้ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยแล้ว แต่เนื่องจากประเทศจีนถือว่าตนเป็นประเทศใหญ่ ประเทศไทยหรือประเทศอื่นที่ส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี เพื่อจะได้ติดต่อค้าขายได้สะดวก ประเทศจีนก็มักจะถือว่าประเทศนั้น ๆ มาอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองออก ส่วนเครื่องราชบรรณาการที่ประเทศต่าง ๆ ส่งไปถวายนั้น พระเจ้ากรุงจีนมักจะถือว่านำไป “จิ้มก้อง” ประเพณีการไป “จิ้มก้อง” นี้จึงถือปฏิบัติกันเรื่อยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งทางฝ่ายไทยถือว่าการไปจิ้มก้องนั้น ไม่มีความเสียหายอย่างใด วัตถุประสงค์อันแท้จริงของไทยก้เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนหรือสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นมาขายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ประเทศจีนก็ไม่ให้ความสะดวกในการไปมาค้าขาย พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้นคงจะมิได้คิดว่าจะไปยอมอ่อนน้อมเป็นเมืองออกอย่างที่จีนเข้าใจเป็นแน่

โดยเฉพาะพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ส่งไปถวายพระเจ้ากรุงจีนนั้น ไม่สามารถจะหาสำเนาได้ แต่ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีสำเนาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ต่อมารัฐบาลได้ตั้งกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขึ้น เอกสารเหล่านี้จึงตกอยู่ในความครอบครองของกรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี และใน พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีได้ส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นสมุดไทยไปให้กรมศิลปากรหลายร้อยเล่ม ซึ่งกรมศิลปากรได้ตรวจดูเอกสารเหล่านั้นแล้ว เห็นว่ามีสำเนาพระราชสาส์นที่พระราชทานไปยังพระเจ้ากรุงจีนตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเรื่อยมา จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากรจึงได้ให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนาด้วยพิมพ์ดีดเก็บรักษาไว้อีกชั้นหนึ่ง

ในการพิมพ์ครั้งนี้ เจ้าภาพมีความประสงค์จะพิมพ์เฉพาะพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่พระราชทานไปยังพระเจ้ากรุงจีนเท่านั้น ยังคงมีสำเนาพระราชสาส์นเหลืออยู่อีกมากที่ยังไม่เคยตีพิมพ์เลย ผู้ใดสนใจใคร่จะพิมพ์ จะขออนุญาตพิมพ์ได้จากหัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

เรื่องพระประวัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์นั้น เจ้าภาพได้ขอให้นายตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เรียบเรียงขึ้นเท่าที่จะสามารถค้นหาหลักฐานได้ในเวลาอันจำกัด และได้นำมาตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือนี้ด้วย

ส่วนเรื่องประวัติวัดเศวตรฉัตรนั้น พ.อ. ดำเนิร เลขะกุล ได้เขียนลงพิมพ์ในหนังสือสตรีสาร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๙๑ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๔๙๙ เจ้าภาพพอใจ เพราะวัดนี้เป็นวัดที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ต้นตระกูลฉัตรกุล ทรงซ่อมแซมและทรงอุปการะตลอดมา จึงได้ขออนุญาตจากผู้เขียนมาพิมพ์รวมไว้ด้วย

กรมศิลปากร ขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทานที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญเป็นมาตุปัฏฐานกรรม อุทิศแด่หม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุล มารดาผู้ล่วงลับ และตีพิมพ์หนังสือแจกเป็นวิทยาทาน ขอกุศลผลบุญทั้งปวงนี้จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยอิฐคุณมนุญผลให้หม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุล ตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพทุกประการ เทอญ.

กรมศิลปากร

๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ