- คำนำ
- คำปรารภ
- ประวัติ หม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุล
- พระประวัติกรมหมื่นสุรินทรรักษ์
- วัดเศวตฉัตร
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีมะเมีย อัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีจอ โทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔
- พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๑๕๙
- พระราชสาส์นเมืองจีน ปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑
- พระราชสาส์นพระเจ้าเกียเค่งบอกงานพระบรมศพพระปิตุราช
- พระราชสาส์นพระเจ้าเกียเค่ง ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๖๐
- พระราชสาส์น พระเจ้าเกียเค่งบอกงานฝังพระบรมศพพระปิตุราช
- พระราชสาส์นเมืองจีน เมื่อปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๑๖๗
พระราชสาส์นไปเมืองจีน ปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖
พระราชสาส์นไปเมืองจีน๑
ครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ พ.ศ. ๒๓๒๗
----------------------------
ขนาดแผ่นสุพรรณบัฏจารึกพระราชสาส์น
แผ่นทอง ยาว ๑ คืบ ๒ นิ้ว กว้าง ๑๑ นิ้ว น้ำหนัก ๑ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๒ อัฐ กล่องหนัก ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึง ๔ อัฐ หูถุงหนัก ๒ บาท ๒ อัฐ.
รวมทั้งสิ้นหนัก ๔ ตำลึง.
----------------------------
สุวรรณพระราชสาส์น
วันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง ฉศก
พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ปราบดาภิเษก ตามบุราณราชประเพณีสืบมาแต่ก่อน มีพระราชรำพึงคิดถึงทางพระราชไมตรี สมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ซึ่งมีมาแต่กาลก่อน แต่งให้พระสวัสดิสุนทร ราชทูต หลวงบวรเสน่หา อุปทูต หลวงพัฒนาพิมล ตรีทูต ขุนพัฒนาพิจิตร ทองสื่อใหญ่ หมื่นพิพิธวาจา ปั้นสื่อ จำทูลพระสุพรรณบัฏสุวรรณพระราชสาส์น เชิญเครื่องพระราชบรรณาการและพระราชสาส์นคำหับอักษรจีน ออกมาจิ้มก้องสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ตามขนบบุรพราชประเพณีสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าสืบมา ฯ
----------------------------
พระราชสาส์นคำหับ๒
พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ปราบดาภิเษก ตามบุรพราชประเพณีมาแต่ก่อน คิดถึงทำนองคลองพระราชไมตรีสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ซึ่งมีมาแต่ก่อน จึงแต่งให้
พระสวัสดิสุนทร ราชทูต หลวงบวรเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ หมื่นพิพิธวาจา ปั้นสื่อ จำทูลพระสุพรรณบัฏสุวรรณพระราชสาส์น เชิญเครื่องราชบรรณาการ คือ
ช้างพลายสูง ๓ ศอก ๑ คืบ ช้างหนึ่ง ช้างพังสูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้ว ช้างหนึ่ง รวม ๒ ช้าง
กฤษณาทอดน้ำจม ข้างหน้าหนัก ๒ ชั่ง ข้างในหนัก ๑ ชั่ง รวมหนัก ๓ ชั่ง
กลักขีข้างหน้าหนัก ๓ หาบ ข้างในหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๔ หาบ ๕๐ ชั่ง
การบูน ข้างหน้าหนัก ๑ หาบ ข้างในหนัก ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง
ชันปึก ข้างหน้าหนัก ๑ หาบ ข้างในหนัก ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง
ผลกะเบา ข้างหน้าหนัก ๓ หาบ ข้างในหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๔ หาบ ๕๐ ชั่ง
แกนไม้มะเกลือ ข้างหน้าหนัก ๓ หาบ ข้างในหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๔ หาบ ๕๐ ชั่ง
นอระมาด ข้างหน้า ๖ ข้างใน ๓ รวม ๙ ยอด
ผลกะวาน ข้างหน้าหนัก ๓ หาบ ข้างในหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๔ หาบ ๕๐ ชั่ง
งาช้าง ข้างหน้า ๔ ลำหาบ ๑๒ กิ่งหนัก ๓ หาบ ข้างใน ๔ ลำหาบ ๖ กิ่ง หนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง รวมงาช้าง ๑๘ กิ่ง หนัก ๔ หาบ ๕๐ ชั่ง
ดีปลี ข้างหน้าหนัก ๑ หาบ ข้างในหนัก ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง
อำพัน ข้างหน้าหนัก ๑ ชั่ง ข้างในหนัก ๘ ตำลึง รวมหนัก ๑ ชั่ง ๘ ตำลึง
จันทน์ชมด ข้างหน้าหนัก ๑ หาบ ข้างในหนัก ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง
หางนกยูง ข้างหน้า ๑๐ หาง ข้างใน ๕ หาง รวม ๑๕ หาง
ปีกนกกะเตน ข้างหน้า ๖๐๐ ข้างใน ๓๐๐ รวม ๙๐๐ ปีก
กากเพชรจันทบูรณ์ ข้างหน้าหนัก ๗ ตำลึง ข้างในหนัก ๓ ตำลึง รวมหนัก ๑๐ ตำลึง
เปลือกสีเสียด ข้างหน้าหนัก ๑ หาบ ข้างในหนัก ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง
เปลือกกานพลู เอาเปลือกสมุนแวงแทน ข้างหน้าหนัก ๑ หาบ ข้างในหนัก ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง
รง ข้างหน้าหนัก ๓ หาบ ข้างในหนัก ๑ หาบ ๕๐ ชั่ง รวมหนัก ๔ หาบ ๕๐ ชั่ง
พรม ข้างหน้า ๒ ผืน ข้างใน ๑ ผืน รวม ๓ ผืน
ฝาง ข้างหน้าหนัก ๓๐ หาบ ข้างในหนัก ๑๕ หาบ รวมหนัก ๔๕ หาบ
พิมเสนเอก ข้างหน้าหนัก ๑ ชั่ง ข้างในหนัก ๘ ตำลึง รวมหนัก ๑ ชั่ง ๘ ตำลึง พิมเสนโท ข้างหน้าหนัก ๒ ชั่ง ข้างในหนัก ๑ ชั่ง รวมหนัก ๓ ชั่ง รวมทั้งสิ้นหนัก ๔ ชั่ง ๘ ตำลึง
ผ้าโมรี๓แดงปักกว้าง ข้างหน้า ๑๐ ตรา ข้างใน ๕ ตรา รวม ๑๕ ตรา ขอข้างใน
น้ำดอกไม้เทศ ข้างหน้า ๖๐ เต้า ข้างใน ๓๐ เต้า รวม ๙๐ เต้า
ออกมาจิ้มก้องสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ตามบุราณราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าสืบมาแต่ก่อน ถ้าและราชทูต อุปทูต ตรีทูต ท่องสื่อ ปั้นสื่อ ถึงแล้ว ขอสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ได้เห็นแก่ทางพระราชไมตรีสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาผู้ใหญ่ จงได้ให้นำราชทูต อุปทูต ตรีทูต ข้าหลวงทั้งปวง เข้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ สำเร็จแล้วขออย่าให้ขาดทางพระราชไมตรี ให้ได้กลับมาจงสะดวก
พระราชสาส์นคำหับปิดตราโลโต๔ ครั้งนี้หาตราโลโตมิได้ปิดตราพระไอยราพต๕มาเป็นสำคัญ
พระราชสาส์นมา ณ วันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรง ฉศก ฯ
----------------------------
วันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรง ฉศก เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยาพระคลัง พระยาอินทรวิชัย พระยาชัยทันท์ พระทิพโกษา พระพิพัฒโกษา พระอาลักษณ์ ขุนสารประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ ราชทูต ตรีทูต อุปทูต ท่องสื่อ ปั้นสื่อ พระสุนทร นั่งพร้อมกัน ณ หอพระมณเฑียรธรรม เชิญพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ พระราชสาส์นคำหับ เข้าลุ้งยกตราประจำส่งให้พระยานนทเสน กรมวังนอกรักษาไว้ ฯ.
-
๑. คัดจากสมุดไทยดำเขียนเส้นดินสอขาว (ไม่มีหมายเลข) กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งมาให้กรมศิลปากร เมื่อ ๓ ม.ค. ๗๙ ↩
-
๒. คำหับ หมายถึง ปิดงำ พระราชสาส์นนี้น่าจะบรรจุหีบเล็ก ๆ หรือภาชนะที่มีฝาปิด ↩
-
๓. ต้นฉบับเขียนโมริย ↩
-
๔. ตราโลโต เป็นตราที่พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานพระเจ้ากรุงสยาม ทำด้วยหยกสีตองอ่อน มีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม บนนั้นแกะเป็นรูปอูฐหมอบ ใต้นั้นแกะเป็นรูปหนังสือจีน อย่างตัวสี่เหลี่ยมอ่านว่า เสี้ยม โหล ก๊ก อ๋อง ↩
-
๕. ตราพระไอยราพต เป็นตราเก่า ในรัชกาลที่ ๔ ก็มีใช้อยู่ เป็นตราที่ทำด้วยโมรา มีรูปตราเท่าที่เห็นได้ในสัญญาบัตร เป็นรูปช้างสามเศียร ↩