พระประวัติกรมหมื่นสุรินทรรักษ์

กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับเจ้าจอมมารดาตานี พระนามเดิม พระองค์เจ้าฉัตร ประสูติเมื่อวันอังคารเดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จ.ศ. ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๓๓ เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์เจ้าฉัตรทรงมีพระชันษาเพียง ๑๙ ปี ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ ปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ว่า ได้จารึกพระนามพระองค์เจ้าฉัตรลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เมื่อวันที่ ๑ ๑๐ จ.ศ. ๑๑๗๘ (พ.ศ. ๒๓๕๙)

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ทรงกำกับกรมพระนครบาล ทรงรับราชการในกรมนี้เรื่อยมาจนตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทรงกำกับกรมท่าอยู่พักหนึ่ง แล้วโปรดให้ทรงกำกับกรมมหาดไทย แต่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ได้ทรงทำราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพียง ๖ ปีก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล จ.ศ. ๑๑๙๓ (พ.ศ. ๒๓๗๓) พระชันษาเพียง ๔๐ ปี สกุลฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้สืบมาแต่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์.

พระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๓ ที่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงร่วมกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และขุนนางผู้ใหญ่อีก ๒ ท่านรับรองทูตอังกฤษกัปตันหันตรี บารนี (CAPTAIN HENRY BURNEY) ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในอินเดียให้เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีในการที่ไทยให้กองทัพไปช่วยอังกฤษทำสงครามกับพม่า อังกฤษคิดขอบพระเดชพระคุณจะขอให้ไทยเข้าเป็นสัมพันธมิตร กับขอทำสัญญาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในมลายู ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดจะให้ทำหนังสือสัญญา โปรดแต่เพียงเป็นทางไมตรี คณะผู้รับรองทูตทั้ง ๔ มี กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาพระคลัง และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีความเห็นว่าควรจะได้กราบทูลวิงวอนแนะนำว่าอังกฤษมาขอทำสัญญา ๒ ครั้งแล้ว ถ้าไม่รับทำหนังสือสัญญาด้วยแล้วก็เห็นจะไม่ได้เป็นไมตรีกัน ทูตกลับไปแล้วก็คงจะหาเหตุพาลพาโลต่าง ๆ ด้วยเขตแดนอังกฤษติดต่อใกล้เคียงกับเขตแดนไทยทั้งทางทะเลและทางบกแล้วจะระวังยาก พระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นได้ว่า แม้ไม่มีพระราชประสงค์จะเจรจากับอังกฤษอย่างเปิดเผย แต่การเจรจากับเบอร์เนย์ในขณะนั้น ไทยเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเสียได้ จึงทรงเห็นด้วยกับคำแนะนำของพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ และดำรัสสั่งให้เจรจาจนบรรลุผลสำเร็จ สนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างพระเจ้าแผ่นดินไทยแห่งพระราชวงศ์จักรีกับอังกฤษจึงได้การลงนามกันเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๙.

สัญญาฉบับแรกนี้ตามบันทึกของท่านที่ได้อ่านและวิจารณ์แล้ว เห็นว่าเป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นสัญญาที่มีความเสมอภาคอย่างเต็มที่ของทั้งสองฝ่าย เช่น แต่ละฝ่ายจะไม่รบกวนเขตแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ไทยจะไม่รบกวนการค้าของอังกฤษภายในรัฐมลายู ซึ่งอังกฤษรับรองว่าเป็นเมืองขึ้นของไทย ไทยรับรองเกาะปีนังและขอบเขตเวลล์ระลีย์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อังกฤษรับว่าเมืองไทร เมืองกลันต้นและเมืองตรังกานู เป็นเมืองขึ้นของไทย ประการสำคัญทางอังกฤษยืนยันว่ามิได้หวังจะมีสิทธิพิเศษในทางกฎหมายอย่างใดในประเทศไทยเลย

นอกจากจะได้ทรงร่วมรับรองทูตอังกฤษแล้ว ใน พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นจอมทัพขึ้นไปตี และโปรดให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์เป็นแม่ทัพในการปราบขบถครั้งนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ