อารัมภกถา

นานมาแล้วข้าพเจ้าได้มีความปรารถนาที่จะถอดเรื่องละคอนสันสกฤตเปนภาษาไทย; คือไม่ใช่เพียงแต่อ่านเรื่องของเขาแล้วเอามาแต่งใหม่เปนบทละคอนไทย, อย่างเช่นที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วแก่เรื่อง “ศกุนตลา”; และไม่ใช่แปลเอาแต่ใจความแล้วและแต่งเปนรูปใหม่, อย่างเช่นที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วแก่ “นโลปาขยาน,” ซึ่งแปลงรูปเปน “พระนลคำหลวง.” ที่ข้าพเจ้าจงใจจะใคร่ทำคือเอาเรื่องละคอนสันสกฤตสุดเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแปลงเปนภาษาไทย, แต่ให้คงรูปอยู่อย่างเดิมของเขาทุกประการ, ที่ตรงไหนคำพูดเปนร้อยแก้วก็แต่งเปนร้อยแก้ว, ที่ตรงไหนเปนฉันท์ก็แต่งเปนฉันท์บ้าง; ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้นักเลงอ่านหนังสือได้รู้ชัดว่า ละคอนสันสกฤตโบราณเขาแต่งกันอย่างไร, แสดงกันอย่างไร.

เผอิญประสพเหมาะ เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๖๗ มีปริญญาชาวอินเดีย ชื่อ คุษฎัสป๎ษาห์ ไกขุโษ๎ร นริมัน, ชาติปาร์สี, ได้ส่งหนังสือมาให้ข้าพเจ้าเล่มหนึ่งซึ่งเขาเปนผู้แปลจากภาษาสันสกฤตเปนอังกฤษ, ข้าพเจ้าจับขึ้นพิจารณาดู ได้ความว่าหนังสือนั้นมีจ่าหน้าว่า:

“ปริยทรรศิกา : ละคอนสันสกฤต, โดยหรรษะ, ราชาแห่งอุดรภาคแห่งอินเดียในศตวรรษที่เจ็ดแห่งคริสตศก; แปลเปนภาษาอังกฤษ โดย ค.ก. นริมัน, เลขาธิการกิติมศักดิ์แห่ง ก.ร. จมะ บูรพเทศสถานณบอมเบ; อ.ว. วิลเลียมส์ แจ็คก์สัน, ฟ.ด. ล.ห.ด, ลล.ต., ศาสตราจารย์ในคอลัมเบียมหาวิทยาลัย และ ชาร์ลส๎ จ. อ็อคเด็น, ฟ.ด., เลขานุการติดต่อแห่งสมาคมบูรพเทศอเมริกา.”

ปรากฏอีกด้วยว่าหนังสือนั้นเปนเล่มที่ ๑๐ ในจำพวกหนังสือเรื่องต่าง ๆ เนื่องด้วยยอินเดียและอิหร่าน, ซึ่งคอลัมเบียมหาวิทยาลัย, สหปาลีรัฐอเมริกา จัดการรวบรวมพิมพ์ขึ้น. - เมื่อพิจารณาโดยละเอียดต่อไป ก็ได้ความว่าหนังสือที่กล่าวนี้ เหมาะสำหรับที่ข้าพเจ้าจะใช้ได้สมปรารถนาทีเดียว, กล่าวคือ :-

๑. มีภาคนำแถลงประวัติของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะผู้นิพนธ์เรื่อง, ทั้งแถลงข้อความน่ารู้ต่าง ๆ อันเนื่องด้วยเรื่องนั้นด้วยอีกเปนอันมาก.

๒. มีบทเดิมเปนภาษาสันสกฤตและปรากฤต, ซึ่งได้แปลงแล้วจากอักษรเทวนาครีเปนอักษรโรมัน.

๓. มีคำแปลเปนภาษาอังกฤษกกำกับกันไป, ประโยคต่อประโยค.

คุณสองอย่างข้างท้ายนี้ ข้าพเจ้าสารภาพว่าเปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้ามาก, เพราะข้าพเจ้าอ่านอักษรเทวนาครีไม่ได้คล่อง, หรือจะว่าไม่ได้เสียเลยทีเดียวก็ไม่ผิด; ประการที่สอง ข้าพเจ้าไม่รู้ภาษาสันสกฤตและปรากฤตพอที่จะแปลข้อความตรงออกมาเปนภาษาไทยได้, ต้องอาศัยคำแปลภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง.

เมื่อข้าพเจ้าได้สารภาพแล้วว่าข้าพเจ้าไม่รู้ภาษาสันสกฤตและปรากฤตเท่าไรนักดั่งนี้ บางทีท่านจะนึกในใจบ้างละกระมังว่า ถ้าเช่นนั้นจะต้องการให้มีภาษาสันสกฤตอยู่ในหนังสือที่จะแปลนั้นด้วยทำไม? จะแปลจากภาษาอังกฤษเท่านั้นมิง่ายกว่าหรือ? จริง, คงง่ายกว่า, แต่คงไม่สามารถแปลให้ใกล้ของเดิมได้เท่าที่มีภาษาสันสกฤตและปรากฤตกำกับอยู่ด้วย ข้าพเจ้าขอแสดงอุทาหรณ์พอให้ท่านแลเห็น.

เช่นเมื่อพบภาษาอังกฤษว่า: “Hail to Your Majesty !” ดั่งนี้ ถ้าข้าพเจ้ามิได้เห็นภาษาสันสกฤตตรงนี้ ก็คงแปลว่า : “ขอถวายบังคมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท!” แต่เมื่อได้เห็นภาษาสันสกฤตว่า : “ชยตุ เทวะ” ดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ทันทีว่าควรเขียนทับศัพท์ลงไปเท่านั้นพอแล้ว, ไม่ต้องแปลให้เยิ่นเย้อไปเปล่า ๆ อีกแห่งหนึ่งภาษาอังกฤษมีไว้ว่า : “Hail to Your Honor! May you prosper!” ดั่งนี้, ข้าพเจ้ายังชั่งใจไม่ถูกจนได้เห็นภาษาปรากฤตว่า: “โสตฺถิ ภวโท! วฑฺฒทุ ภวํ!” จึ่งได้ทราบว่าควรแปลว่า : “สวัสดีเถิดเจ้าประคุณ! เจริญเถิดเจ้าข้า!” เมื่อท่านอ่านบทละคอนต่อไป ท่านคงจะสังเกตเห็นได้เอง ว่าการภาษาสันสกฤตและปรากฤตกำกับอยู่นั้น ช่วยให้ข้าพเจ้าถอดเปนภาษาไทยได้สะดวกขึ้นปานไร.

ส่วนภาคนำที่มีอยู่ในสมุมฉะบับภาษาอังกฤษนั้น ข้าพเจ้าได้ใช้เปนประโยชน์ในการเรียบเรียงภาคนำสำหรับหนังสือเล่มนี้. ข้อความที่มีในภาคนำแห่งหนังสือเล่มนี้ โดยมากข้าพเจ้าเก็บเอามาตรงจากหนังสือทุกล่าวแล้วนั้น, เปนแต่ตัดทอนหรือขยายความบ้างบางแห่งเท่านั้น.

ในการถอดบทละคอนเรื่อง “ปริยทรรศิกา” เปนภาษาไทย คำพูดที่เปนร้อยแก้วก็ไม่สู้ยากปานไรนัก, แต่ตอนที่เปนฉันท์ออกจะลำบากอยู่ เพราะในภาษาสันสกฤต เขาบรรจุคำลงให้ถูกคณะฉันท์ได้ง่ายกว่าภาษาไทยเรามาก. ข้อลำบากที่สุดมีอยู่ในเรื่องจะหาลหุให้พอสำหรับแต่งฉันท์เปนภาษาไทย, ฉะนั้น ท่านอ่านเรื่องละคอนนั้นคงจะได้พบฉันท์หลายบทที่อ่านตะกุกตะกักหรือได้ความไม่ค่อยแจ่มแจ้ง, ข้าพเจ้าจึงต้องขออภัยล่วงหน้าไว้.

ในการตรวจใบลองพิมพ์แห่งหนังสือนี้ ต้องการผู้มีความรู้พอทำได้ทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาไทย, ข้าพเจ้าจึ่งได้มอบให้เปนธุระของรองอามาตย์โท หลวงธุรกิจภิธาน (ตรี นาคะประทีป, ปเรียญ), และข้าพเจ้าขอขอบใจหลวงธุรกิจภิธานในที่นี้ด้วย.

<รามวชิราวุธ ปร>

พระที่นั่งบรมพิมาน, ในพระบรมมหาราชวัง.

วันที่ ๒๙ มกราคม, พ.ศ. ๒๔๖๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ