คำอธิบาย

(๑) ฉันท์บทที่ ๑ ใช้คณะฉันท์สัททุลวิกกีฬิตเพื่อให้ตรงกับของเดิม, แต่ผู้ที่เคยได้แต่งฉันท์คณะนี้แล้วคงได้เคยรู้สึกมาแล้วเหมือนกันกับข้าพเจ้า ว่าแต่งเปนภาษาไทยให้เพราะและให้กินความมาก ๆ ด้วยนั้น เปนการยากอย่างยิ่ง, เพราะในภาษาไทยเราหาคำที่เปนลหุเข้าบรรจุยากจริง ๆ. ในที่นี้ ข้าพเจ้าได้บังคับตนให้แต่งบรรจุความลงภายในสี่บาทเท่าของเดิมของเขา, ซึ่งทำให้ยากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง, และทำให้ข้อความเคลือบคลุมไปบ้าง, ฉะนั้น จึ่งขออธิบายข้อความเพิ่มเติมไว้ในที่นี้. ในฉันท์บทนี้ แสดงถึงความรู้สึกของพระเคารี (อุมา), ขณะเมื่อกระทำพิธีอภิเษกสมรสกับพระอิศวร, ต่อหน้าพระพรหมาผู้กระทำหน้าที่พราหมณ์บูชาเพลิง. ที่ว่าควันเข้าพระเนตรพระอุมานั้น คือควันไฟที่กูณฑ์; แสงจันทร์ที่ส่องจับพระเนตรพระอุมาคือแสงพระจันทร์กึ่งซีก (อินทุ) ที่ติดอยู่เหนือพระนลาฏของพระอิศวร. พระเคารีมีความอายพระพรหมา, จึ่งก้มพระพักตร์; ดั่งนั้น จึ่งได้แลเห็นเงาที่เล็บพระบาทประดุจกระจกเงา เห็นพระหร (อิศวร) ทูนพระคงคาเทวีไว้บนพระเศียร, ทำให้รู้สึกหึงอยู่บ้าง; แต่พอพระอิศวรจับพระกร, เพื่อจูงเดินประทักษิณรอบพระอัคนี, พระอุมาก็หายแค้นเพราะความปลื้มพระหฤทัย.

เรื่องพระอิศวรทูนพระคงคาเทวีบนพระเศียร ข้าพเจ้าได้แสดงไว้แล้วในอภิธานท้ายหนังสือเรื่อง “ศกุนตลา” ของข้าพเจ้า.

(๒) ฉันท์บทที่ ๒ ใช้คณะฉันท์สัทธราเพื่อให้ตรงกับของเดิม, ซึ่งทำให้ต้องแต่งด้วยความลำบากเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในส่วนบทที่ ๑. ข้อความในฉันท์บทนี้กล่าวถึงกิจการอันตอนมาจากหนังสือ “รามายณ.” เรื่องมีว่า ราพณาสูร, เมื่อถูกนนทีห้ามไว้มิให้เข้าไปยังเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งเปนที่พระอิศวรกับพระอุมาเสด็จไปประพาสสำราญอยู่, มีความโกรธมากจนภูเขากระเทือน. พระอิศวรเอานิ้วหัวพระบาทกดภูเขาทับแขนราพณาสูรไว้, จนทศกัณฐ์ร้องเสียงดังด้วยความเจ็บ, และต้องบำเพ็ญตบะบูชาอยู่นานจึ่งได้พ้นโทษ.

พวกเทวบุตรที่เรียกว่า “คณเทว” เปนผู้รับใช้พระอิศวรอย่างมหาดเล็ก. “กุมาร” ที่กล่าวถึงในฉันทนี้คือพระสกันทะ, หรือขันทกุมาร, ผู้เปนเจ้าแห่งการสงคราม. “วิษมุจ” คืองูที่พระอิศวรเอาเกี่ยวข้างไว้เปนพระสังวาล.

(๓) สูตรธาร ถ้าจะแปลสั้น ๆ ควรเรียกว่า “นายโรง.” ผู้นี้มีหน้าที่ดูแลจัดการละคอนทั่วไป, และมักเปนตัวสำคัญในเรื่องละคอนที่เล่นด้วย.

(๔) วสันโตตสวะ เปนพิธีสำหรับทำในต้นฤดูวสันต์ (คือฤดูใบไม้ผลิ, หนาวต่อร้อน). ในโบราณสมัย มักทำพิธีนี้ณวันเพ็ญจิตรมาส (เดือนห้า), แต่ในชั้นหลัง ๆ นี้มักทำณวันเพ็ญผัคคุณมาส (เดือนสาม), และพวกชาวอินเดียสมัยนี้ที่ถือศาสนาพราหมณ์เรียกนามพิธีว่า “โทลยาตรา” หรือ “โหลี”

(๕) ที่ข้าพเจ้าแปลไว้ว่า “ท้าวพญา” ณที่นี้, ศัพทเดิมเปน “ราชสมุห,” จึงได้ความว่าเปนเจ้าผู้ครองนครอันเปนประเทศราชสิบแปดคน, กับมีสัมพันธมิตรของท้าวหรรษเทพอีกสององค์, คือราชาครองนครวลภี และภาสกรวรมัน ราชาแห่งกามรูป.

(๖) นาฏิกา คือละคอนเรื่องขึน ๆ ผิดจาก นาฏกะ ซึ่งเปนละคอนเรื่องใหญ่และมักมีบทที่เพราะๆ และน่าสงสาร มากกว่าขบขัน. นาฏิกามักมีเพียงสี่องก์, แต่นาฏกะมีตั้งแต่ห้าองก์ขึ้นไป. นาฏิกาตรงกับ “คอเมดี” ของชาวยุโรป; นาฏกะตรงกับ “ดรามะ.

(๗) เนปัถย์ คือห้องแต่งตัวหลักฉาก, หรือในโรงนั้นเอง.

(๘) ทฤฒวรมัน ไม่ปรากฏนามในประวัติไรๆ, แต่ในมหาภารตกล่าวถึงทฤฒวรมันผู้หนึ่ง ซึ่งเปนโอรสท้าวธฤตราษฎร์แห่งหัสตินาปุระ.

องคราษฏร์ เปนราชอาณาเขตต์โบราณ, อยู่ในภาคเหนือแห่งแคว้นเบ็งคอลสมัยนี้.

(๙) วิษกัมภก คือตอนแทรก, ใช้ในบทละคอนสันสกฤตสำหรับแถลงเรื่องหรือเชื่อมหัวต่อระหว่างองก์. ตามแบบละคอนสันสกฤตมีกำหนดว่าในองก์หนึ่ง ๆ ต้องกล่าวถึงแต่จำเพาะข้อความหรือเหตุการณ์ที่เปนไปในสถานที่เดียวนั้นและในเวลาเดียวนั้น, และเมื่อใดแปรสถานหรือเปลี่ยนเวลาข้ามวันต้องขึ้นองก์ใหม่; ฉะนั้นเมื่อมีเรื่องราวที่จะต้องแถลงให้เรื่องดำเนินติดต่อ, แต่ไม่มีเรื่องมากพอที่จะจัดเปนองก์หนึ่งต่างหาก จึ่งแต่งเปนวิษกัมภก, ซึ่งให้ตัวละคอนไม่สู้สำคัญนักออกมาพูดคนเดียวเท่านั้น.

(๑๐) อุปชาติฉันท์ ตามที่เราแต่งกันในภาษาสันสกฤตมีลักษณะที่ผิดจากอินทรวิเชียรอยู่นิดเดียวแต่เพียงว่า จะขึ้นต้นบาทด้วยครุหรือลหุก็ได้. ส่วนตามระเบียบของกวีไทยเราบังคับไว้ว่า บาทที่หนึ่งกับที่สี่ต้องขึ้นต้นด้วยลหุ, บาทที่สองกับที่สามต้องขึ้นต้นด้วยครุ, ซึ่งดูเปนการบังคับตายตัวเปนครูไป. ในบทที่ ๔ นี้ ข้าพเจ้าได้แต่งไว้ให้ถูกต้องตามระเบียบของครูไทย, แต่ในแห่งอื่นจะดำเนินตามแบบครูเดิมบ้าง, จึงขอบอกกล่าวไว้ให้ท่านผู้อ่านทราบ.

(๑๑) ศักดิ์ทั้งสามประการ : อำนาจสามประการของพระราชา, คือ

(๑) “ประภุ,” แปลว่าความสง่าแห่งองค์พระราชานั้นเอง;

(๒) “มนตระ,” คือคำตักเตือนอันดีที่ได้ทรงรับจากมนตรี;

(๓) “อุตสาหะ,” ความบากบั่น.

(๑๒) รฆุ และ ทิลีป เปนกษัตร์สุริยวงศ์แห่งโกศลรัฎฐ์, เปนกุลชนกของพระรามจันทร์. นล, ราชาแห่งนิษัทราษฏร์, เปนสวามีแห่งนางทมยันตี, และเปนตัวพระเอกใน “นโลปาขยาน” (เรื่องพระนล), ที่ข้าพเจ้าได้แปลและรจนาไว้เปนภาษาไทยเรียกว่า “พระนลคำหลวง”

ส่วนรฆุและทิลีป ถ้าท่านปรารถนาทราบเรื่องต่อไปก็เชิญค้นดูในคำอธิบายประกอบหนังสือ “ลิลิตนารายน์สิบปาง” ของข้าพเจ้าเถิด. ณที่นั้นท่านจะได้พบกับนามกษัตริยสุริยวงศ์. (คำอธิบายหมายเลข ๔๑, หน้า ๔๐ แห่งสมุด “คำอธิบายและอภิธาน, สำหรับประกอบเรื่องนารายน์สิบปาง.”)

(๑๓) แคว้นกลิงค์ หรือ กลิงคราษฏร์ อยู่ชายทะเลอ่าวเบ็งคอล, ระหว่างลำน้ำมหานทีรับโคทาวรี.

(๑๔) “พระเจ้าวัตสราชยังคงตกอยู่ในความเปนชะเลย,” คือเมื่อท้าวมหาเสนแต่งกลอุบายผูกช้างหุ่นไปล่อท้าวอุเทน, และจับท้าวอุเทนได้แล้ว เอาไปขังไว้ในนคร.

(๑๕) อคัสตยเดียรถ์ (อคสฺตฺยตีรฺถ) แปลตามพยัญชนะว่า “ท่าอคัสตยะ,” เรียกตามนามพระอคัสตยมุนี (ซึ่งออกนามในพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” รัชชกาลที่หนึ่งว่า “พระอังคต”). ผู้ที่เปนผู้นำศาสนาพราหมณ์ไปประกาศในทักษิณเทศแห่งภารตวรรษ (อินเดีย), ตำบลอคัสตอเดียรถ์นี้อยู่ในแคว้น ตินนะเวลลิที่ปลายที่สุดแห่งคาบสมุทรอินเดีย. ในอินเดียมี “ตีรฺถ” อย่างที่หลายแห่ง, เรียกตามนามเทวดาบ้างฤษีบ้าง, เปนที่ผู้มีศรัทธาไปอาบน้ำล้างบาป.

(๑๖) บทนี้ของเดิมเปนฉันท์ “อารยา,” ซึ่งในตำราฉันท์ของไทยเราไม่มี, ข้าพเจ้าใช้ฉะบงงแทน; และในที่อื่น ๆ ก็จะใช้เช่นเดียวกันด้วย.

(๑๗) ฉันท์บทที่ ๙ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การที่ต้องใช้ฉันท์สัทธราตามของเดิมยากที่จะแต่งให้ความแจ่มแจ้งพอที่ผู้อ่านสามัญจะเข้าใจได้ถนัด, เพราะครุลหุบังคับมากเหลือเกิน, จำเปนต้องอาศัยใช้ภาษามคธหรือสันสกฤตมากเกินไป. ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอแปลฉันท์บทนั้นเปนร้อยแก้วไว้ณที่นี้ เพื่อความเข้าใจสะดวกแห่งผู้อ่านสามัญ, ดั่งต่อไปนี้ :-

บาทที่หนึ่ง : ตัวเขาเองยืนอยู่กับดิน, หนึ่งเขากดทหารเดินเท้าลงด้วยอก

บาทที่สอง : ด้วยศรยิงกราดไป เขาขับไล่พลม้ากระจายไปราวกะฝูงกระจง;

บาทที่สาม : เมื่อเขาได้ใช้เครื่องประหารไกลหมดแล้ว, เขาก็ชักดาพออกโดยพลัน,

บาทที่สี่ : แล้วและฟันงวงช้างราวกะต้นกล้วยเปนกิฬาอย่างสนุก.

(๑๘) สหธรรมจาริณี - แปลตามพยัญชนะว่า “ ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน,” หมายความว่าภริยา, เพราะตามศาสนาพราหมณ์สามีและภริยาต้องกระทำพิธีต่าง ๆ ร่วมกันหลายอย่าง. ประเพณีนี้เลยติดต่อมาถึงผู้เปนพุทธศาสนิกด้วย, จึงถือกันว่าสามีภริยาทาบุญร่วมกันเปนสวัสดิมงคลยิ่งนัก.

(๑๙) ไวตาลิก - เปนเจ้าหน้าที่รับบทสรรเสริญและเชิญพระราชากระทำราชกิจต่าง ๆ ตามเวลากำหนด, เริ่มแต่ปลุกบรรทมเวลาเช้า. บทที่ไวตาลิกกล่าวในเรื่องนี้เปนคำเชิญเสด็จเข้าที่สรง.

(๒๐) ศผร [หรือ “ศผริ,” มคธ “สผรี”] - เปนปลาชะนิดหนึ่งขนาดย่อมๆ, มีเกล็ดพราวและว่ายว่องไว. “นาคะประทีป” (“ปาลี-สยามอภิธาน”) แปลเปนไทยว่า “ปลาตาตุ่ม” ในเรื่องนารายณ์สิบปางฉะบับเก่า ๆ เรียกว่า “ปลากราย.”

(๒๑) สมมติว่านกยูงชอบเดินกรีดกรายเหมือนฟ้อนรำอยู่เสมอ, น่ากลัวเหนื่อย, แต่ยังอวดดีรำแพนผึ่งอยู่ได้.

(๒๒) คือผึ้งไปตอมกินน้ำมันที่เยิ้มที่ขมับช้าง.

(๒๓) “โสตถิวาอณะ”- เปนภาษาปรากฤต. ภาษาสันสกฤตเปน “สฺวสฺติวาจน,” แปลตามพยัญชนะว่า “กล่าวคำอำนวยพร,” คือเปนคำอนุโมทนาของพราหมณ์ผู้ที่ได้รับทักษิณาในงานบำเพ็ญกุศลของหญิงมีสามี. ของที่ให้พราหมณ์ในงานเช่นนี้มักมีกะทง (สูรฺป) บรรจุกะดูกสันหลังสัตว์ (ขณ) หนึ่งชิ้น, ผงหญ้าฝรั่น (กุงกู), ขมิ้น, กำไล, หวี, สมุคร์ และเงิน. นี้เปนของให้ในงานต่างๆ, และถือกันว่าหญิงที่มีสามีแล้วให้ของอย่างนี้แก่พราหมณ์จะได้รับผลอันพึงปรารถนายิ่ง, เรียกว่า “เสาภาคยะ,” คือความไม่ต้องเปนม่าย. การเปนม่ายเปนของร้ายนักสำหรับหญิงที่ถือศาสนาพราหมณ์, เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เข้ากองไฟตายตามตัวไปในวันที่เผาศพ ก็ไม่มีใครนับถือเลย.

(๒๔) ในฉันท์บทนี้ท้าวอุทัยกล่าวถึงพระนางวาสวทัตตา, ซึ่งกำลังเข้าพิธีและอดภัตตาหารตามแบบนางกษัตร์ ซึ่งต้องบำเพ็ญตบะเช่นนั้นเปนครั้งคราวเพื่อประสงค์ผล “เสาภาคยะ” ดั่งได้กล่าวมาแล้วในคำอธิบาย (๒๓). ในระหว่างเวลาเข้าพิธีเช่นนี้ นางกษัตริยงดการแต่งอาภรณ์ต่าง ๆ นอกจากของที่เรียกว่า “มงฺคลมาตฺรมณุฑนภฤตมฺ” หรือ “มงฺคลมาตฺรภูษณา,” ซึ่งได้ความว่า มีเจิมสีแดงที่หน้าผาก ๑, ทาหญ้าฝรั่นที่แขน ๑, ประคำแก้วคล้องคอสาย ๑, นี้เปนเครื่องประดับปกติสำหรับหญิงชาติพราหมณ์, กษัตริย์ และแพศย์.

(๒๕) สมมตว่าพากันเดินไปถึงสวนโรงน้ำบัวแล้ว, วิทูษกจึ่งกล่าวชมความงามแห่งสวนนั้น. ดอกไม้และต้นไม้ที่วิทูษกกล่าวถึงณที่นี้ ออกชื่อเปนภาษาปรากฤต, ข้าพเจ้าขอจดเทียบกันไว้ทั้งภาษาปรากฤต, สันสกฤต และไทย, ดั่งต่อไปนี้ :-

ปรากฤต. สันสกฤต ไทย.
พอุล พกุล พิกุล
มาลที มาลตี มะลิซ้อน
กมล กมล บัวหลวง
พนฺธูอ พนฺธูก ชบา
ตมาล ตมาล พะยอม (?)

ถ้าแม้ท่านต้องการทราบข้อความพิสดารต่อไป โปรดพลิกไปดูที่ภาคนำ ตอนที่หกหน้า 34-37.

(๒๖) ดอกไม้ที่ออกนามในฉันท์บทนี้ ราชาเรียกเปนภาษาสันสกฤตอยู่แล้ว, ฉะนั้นโปรดพลิกไปดูที่ภาคนำ ตอนที่หกหน้า 34-37

(๒๗) “สัตตวัณณ์” (สันสกฤต “สปฺตปรฺณ”) - อย่างเดียวกับ “ สปฺตจฺฉท.” โปรดพลิกไปดูที่ภาคนำ ตอนที่หกหน้า 37.

(๒๘) ศิรีษ - “นาคะประทีป” (ปาลี-สยาม อภิธาน) แปลไว้ว่า “ไม้ซีก, โปรดพลิกไปดูภาคนำ ตอนที่หกหน้า 37.

อินทรโคปก์ (สันสกฤต “อินฺทฺรโคปก”)- แปลตาม พยัญชนะว่า “มีพระอินทร์เปนผู้คุ้ม.” อังกฤษเรียกว่า “Coachineal.” เปนตัวแมลงชะนิดหนึ่งซึ่งลงกินต้นสลัดได. วิธีเอามาใช้ คือ ค่อย ๆ กวาดจากต้นสลัดไดลงในย่ามแล้วเอามาฆ่าโดยแช่น้ำร้อนหรือผึ่งแดด, แล้วบดเปนสีแดงใช้ย้อมผ้า. ไทยเราแปลว่า “แมลงเม่า” หรือ “แมลงค่อมทอง.”

(๒๙) ฉันท์บทนี้ของเดิมเปน “มาลินี,” แต่สำหรับภาษาไทยฉันท์มาลินีแต่งให้เพราะและจุความด้วยยาก, เพราะเริ่มด้วยลหุถึงหกพยางค์ติด ๆ กัน. แม้ฉันท์ตัวอย่างในตำราฉันท์วรรณพฤติก็อ่านเสียงไม่ค่อยสละสลวย, เช่นบาทที่หนึ่งกับที่สองว่า :-

“จะพจนวินิฉัยใน มงคลาไพ รุไพบูลย์

“จตุวิธคุณเพ่อมภูน ผลบ่เสื่อมสูญ พิเศษครัน”

ข้าพเจ้าดูตัวอย่างนี้แล้วและได้พยายามจะแต่งฉันท์บทที่ ๒๐ ในเรื่องละคอนนี้เปนมาลินีตามของเดิมบ้าง, แต่ลองร่างขึ้นคราวใดก็ต้องฉีกทิ้งคราวนั้น, เปนอันยอมแพ้, จึ่งแต่งเปนอินทวงส์แทน.

(๓๐) งานโกมุที (สันสกฤต “เกามทีมโหตฺสว”) - เปนงานพิธีที่เขาทำณวันเพ็ญ เดือนอาศฺวินการฺตฺติก (เดือนสิบ-สิบเอ็ด-สิบสอง), มักกระทำเปนนักษัตรฤกษ์ใหญ่, พร้อมด้วยการบูชา, ให้ทาน และเลี้ยงและมีระบำเต้นครึกครื้น.

(๓๑) “พระกุสุมศร” - “พระผู้มีศรคือดอกไม้,” เปนฉายาของพระกามเทพผู้เปนเจ้ารัก. เปนธรรมเนียมของจินตกวีทุกชาติทุกภาษา มักนิยมเปรียบดอกไม้ด้วยลูกศรของกามเทพ (อังกฤษ “Cupid”) เพราะใครๆก็ย่อมจะได้สังเกตเห็นอยู่แล้วว่าดอกไม้เปนเครื่องช่วยบำรุงรสรักได้อย่างหนึ่งเปนแน่นอน; ฉะนั้น เมื่อสมมตตัวเจ้ารักขึ้นแล้ว กวีจึ่งเลยคิดต่อให้ว่าอาวุธของเจ้ารักนั้นคงต้องเปนศร ซึ่งยิงไปต้องผู้ใดเข้าแล้วทำให้เปนที่ชื่นใจ.

(๓๒) ชาวภารตวรรษถือกันว่าใบบัวเปนเครื่องดับพิษร้อนได้; แต่ก็ดูเหมือนจะเปนเครื่องประกอบกวีโวหารมากกว่าเชื่อจริงจัง.

(๓๓) สางกฤตยายนี - นางผู้นี้เปนปริพพาชิกา (แม่ชี), เปนหญิงผู้ดีมีอายุและมีความรู้, เพราะพูดภาษาสันสกฤตเหมือนผู้ชาย, แต่งเรื่องละคอน, และพระนางวาสทัตตาพูดด้วยอย่างเคารพ.

(๓๔) ภควดี - ศัพท์นี้ไทยเราใช้แต่จำเพาะสำหรับพูดถึงมเหสีพระเปนเจ้า, เช่น “พระอุมาภควดี,” “พระลักษมีภควดี,” หรือ “พระภควดี” เฉยๆหมายความว่าพระลักษมี. ในภาษาสันสกฤตเขาใช้เปนคำเรียกบุคคลผู้เปนที่เคารพ, เช่นสางกฤตยายนีเปนต้น, คู่กับคำ “ภควัต ที่ใช้เรียกชายผู้มีความรู้หรือเปนนักบวช. คำว่า “ภควัต” นี้ ในพระบาลีใช้แต่สำหรับเรียกพระพุทธเจ้าเปนพื้น.

(๓๕) อายุษมดี - แปลตามพยัญชนะว่า “ผู้มีอายุ” เปนคำเรียกหญิงผู้มีบรรดาศักดิ์สูง, คู่กับคาว่า “อายุษมัต,” ซึ่งใช้เรียกชายผู้มีบรรดาศักดิ์สูง. ตรงกับศัพท์บาลีว่า “อายสฺมตี (หญิง),” “และ “อายสฺมา (ชาย).”

(๓๖) คำพูดโต้ตอบกันตรงนี้ออกจะเคลือบคลุมอยู่หน่อย, แต่ตามความเข้าใจของผู้แปล เดาว่า พระนางวาสวทัตตา, เมื่อได้ฟังสางกฤตยายนีพูดยอว่าบทละคอนดีก็เพราะเนื้อเรื่องดีดั่งนั้นแล้ว, จึ่งได้ตอบไปด้วยภาษิตปากตลาดว่า: “สวฺวสฺส วลฺลโห ชามาทา โภทิ,” แปลว่า “ใคร ๆ ก็ย่อมรักลูกเขย,” หมายความว่าลำเอียงอยู่ด้วยความรัก, คือสางกฤตยายนีรักวัตสราชอย่างรักลูกเขย.

(๓๗) ภัฏฏินี – เปนศัพท์ที่หญิงชั้นต่ำใช้เรียกหญิงผู้เปนเจ้านายของตน, หรือใช้พูดกับหญิงผู้มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าตน, ข้าพเจ้าเองสารภาพว่าพึ่งเคยพบศัพท์นี้. ถ้าจะเทียบกับศัพท์ไทยเห็นจะเปนอย่าง “หม่อมแม่” ที่มักใช้ในบทละคอนไทยเรา.

(๓๘) ตรงนี้ของเดิมเขามีเล่นคำว่า “อโห เปฺรกฺษณียตา เปฺรกฺษาคฤหสฺย” ดั่งนี้, ข้าพเจ้าจึ่งแปลเล่นคำบ้างว่า “เออ โรงที่ดูนี้น่าดูนักหนา.” โรงละคอนเขาเรียกเปนภาษาสันสกฤตว่า “เปฺรกฺษาคฤหํ,” หรือภาษาปรากฤตว่า “เปกฺขาฆรํ,” ซึ่งแปลว่าโรงที่ดูตรงๆ, แต่, นอกจากที่ต้องการเล่นคำในที่นี้, ข้าพเจ้าได้แปลได้ว่า โรงละคอน สำหรับให้เข้าใจกันซึมทราบไม่ฉงน.

(๓๙) “ช้างนลคิรี” (สันสกฤต “นฑาคิริ,” มคธ “นาฬาคิริ”) คือช้างสำคัญที่ราชบุตรของท้าวมหาเสนขี่ไล่ตามท้าวอุเทนกับนางวาสวทัตตาเมื่อพากันหนี, ดั่งได้มีเล่าไว้ในภาคนำแห่งสมุดเล่มนี้. (ดูภาคนำตอนที่สี่ หน้า 28 - 30)

(๔๐) ครรภนาฏกะ - แปลตามพยัญชนะว่า “เรื่องละคอนอันเปนลูก,” คือละคอนที่เล่นภายในเรื่องละคอนอีกเรื่องหนึ่ง. (ดูภาคนำตอนที่เจ็ดหน้า 38)

(๔๑) ฉันท์บทที่ ๒๕ แปลเปนร้อยแก้ว, คงได้ความดั่งต่อไปนี้:-

รักษาระเบียบภายในวังใน,

ระวังมิให้สะดุดทุก ๆ ก้าวโดยใช้ไม้เท้าเปนเครื่องนำ,

ข้าพเจ้า, ผู้ที่บัดนี้อ่อนแอแล้วด้วยความชรา,

เอาอย่างความประพฤติทั้งสิ้นของพระเจ้าแผ่นดิน,

ผู้ที่ทรงรักษาระเบียบแห่งเมืองของท่านภายใน

และป้องกันมิให้พลั้งพลาดเนืองนิตย์โดยทรงประสาทธรรม.

(๔๒) คำพูดตรงนี้ตามภาษาสันสกฤตมีว่า “ปฺรวฤตฺตา เปฺรกฺษา,” ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “ของสำหรับดูเริ่มแล้ว,” ดั่งนี้. “เปฺรกฺษา” เปนศัพท์ที่ใช้เรียกของที่สำหรับตูให้เพลิดเพลินหรือเปนของงามโดยทั่วๆไป, หาใช่เรียกแต่ละคอนโดยฉะเพาะไม่.“นาฏก” หรือ “นาฏิกา” จึ่งจะเปนละคอนโดยตรง. แต่ข้าพเจ้าแปลไว้ว่า “ละคอน” เพื่อความเข้าใจง่าย.

(๔๓) คนธรรมศาลา คือโรงเล่นดนตรี. “คนธรรพศาสตร์” = วิชชาดนตรี, เพราะตามไสยศาสตร์ว่าพวกคนธรรพมีหน้าที่เปนผู้ขับลำและเล่นดนตรีบำเรอเทพเจ้าบนสวรรค์, พระนารทพรหมฤษีเปนครูเดิมแห่งวิชชาดนตรี, จึ่งออกนามว่า “ปรคนธรรพ.” นักดนตรีไทยเราเมื่อไหว้ครูก็ไหว้ “พระประโคนธัพ,” ซึ่งเลือนมาจากศัพท “ปรคนธรรพ” นี้เอง.

(๔๔) “อุทัยนจริต” แปลว่า “ความเปนไปแห่งอุทัยนะ.”

(๔๕) “ปัดม่านเร็วๆ” เปนท่าแสดงในละคอนสันสกฤตว่าตัวนั้นยินดีเปนต้น.

(๔๖) “ขอดชายผ้าข้างหนึ่ง” - การขอดชายผ้าถือกันว่าเปนเครื่องเตือนใจมิให้ลืมทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจำจะต้องทำ.

(๔๗) เยาคันธรายณ เปนอมาตย์ผู้มีปัญญาของท้าวอุทัยน์. เรื่องที่อมาตย์ผู้นี้ใช้อุบายต่างๆช่วยท้าวอุทัยน์ให้รอดจากพันธนาได้นั้น มีอยู่โดยพิศดารในหนังสือ “กถาสริตฺสาคร,” ตรังค์ที่สิบสองและสิบสาม. คนบ้าที่กล่าวถึงในครรภนาฏกะแห่งนี้ก็คือเยาคันธรายณนั่นเอง, ซึ่งได้ปลอมตัวเปนเช่นนั้นเพื่อพูดจากับท้าวอุทัยน์ได้โดยไม่มีใครระแวง.

(๔๘) บทนี้ของเดิมเปนฉันท์คีติ, ซึ่งในตำราไทยเราไม่มี. ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนบทขับร้อง จึ่งแต่งเปนกลอนแปด, เพื่อสะดวกแก่การขับร้อง.

(๔๙) บทนี้ของเดิมเปนฉันท์อารยา, แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนบทขับร้อง จึ่งแต่งเปนบทดอกสร้อย.

(๕๐) ฉันท์บทนี้กล่าวถึงวิธีต่าง ๆ แห่งคนธรรพศาสตร์, กล่าวถึงวิธีใช้พยัญชนะ ๑๐ อย่าง, จังหวะ ๓ อย่าง, การหยุด ๓ อย่าง มีวิธี “โคปุจฉะ” เปนอาทิ, และวิธีเล่นดนตรี ๓ อย่าง. วิธีเหล่านี้จะอธิบายให้ยืดยาวก็ยังไม่ได้ค้น, และดูไม่สู้จำเปนนักด้วย.

(๕๑) ในบทเดิมเขาให้นางเรียกวัตสราชว่า “อุวชฺฌาอ,” ซึ่งถ้าเขียนเปนมคธก็เปน “อุปชฺฌาย” แต่ครั้นข้าพเจ้าจะแปลทับศัพท์ลงไว้ว่า “อุปัชฌาย์” ก็รู้สึกว่าไม่เหมาะ, เพราะตามความเข้าใจของไทยเราใช้เรียกแต่พระเถระผู้ให้อุปสมบทเท่านั้นว่า “อุปัชฌาย์,” จะเรียกผู้สอนดีดพิณว่า “อุปัชฌาย์” ดูจะหนักมือไปหน่อย, ข้าพเจ้าจึ่งได้แปลได้ว่า “ครู.”

(๕๒) ฉันท์บทนี้กล่าวเปนคำอุปมา, ซึ่งบางทีจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย, ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอถอดเปนคำตรงๆ ไว้ดั่งต่อไปนี้ :-

บาทที่หนึ่ง: ฤๅนี่ [มือของอารัณยกา] คือดอกบัวตูมซึ่งต้องความเย็นโดยพลันเพราะถูกหยาดน้ำค้าง (ศิศิร)?

บาทที่สอง : แม้ความเบิกบาน [แห่งดอกบัว] ในเวลารุ่งเช้าเมื่อยังไม่มีความร้อนแห่งแดดก็ไม่เสมอเหมือน [มือของนาง]

บาทที่สาม : นิ้วทั้งห้านี้ที่เปรียบเหมือนดวงเดือน (นขรชนิกรา) โปรยหิมะ [เหงื่อ] พรู ๆ อยู่, นี่จะทำให้ร้อนได้ด้วยหรือ?

บาทที่สี่ : อมฤต, ซึ่งแลเห็นอยู่เปนเหงื่อ, แน่แล้ว, ไหลอยู่ไม่หยุด.

(๕๓) พระนางอังคารวดี เปนพระมารดาของพระนางวาสวทัตตา, มเหสีของพระเจ้ามหาเสนประโท๎ยต.

(๕๔) “วิหัสน์,” จากคำสันสกฤต “วิหสน,” แปลว่า หัวเราะน้อยๆ.

(๕๕) “สุจาฏุวจนา” แปลว่าคำพูดยั่วยวนหรือเล้าโลม, จากธาตุ “จฏุ” ซึ่งแปลว่ายั่วยวนหรือประจบโดยพูดให้ถูกใจ.

(๕๖) คำพูดของกัญจุกินตอนนี้ ทราบได้โดยพลความว่ายังพูดตามพระวาจาที่ท้าวทฤฒวรมันสั่งมา.

(๕๗) “ปรียทรรศนา” และ “ปรียทรรศิกา” เปนชื่อนางคนเดียวกัน, และแปลได้เหมือนกันว่า “เพลินตา” หรือ “แลเพลิน.”

(๕๘) ภรตวากย์ - แปลตามพยัญชนะว่า “คำพูดของภรต,” คือคำพูดของตัวละคอน. ผู้เปนละคอนได้นามว่า “ภรต” ตามนามของพระภรตมุนีผู้เปนประถมครูแห่งวิชชารำ. “ภรตวากย์” นี้ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ประสัสติ,” คือคำอานวยพร, ซึ่งมักมีอยู่ท้ายเรื่องละคอนสันสกฤตโดยมาก.

(๕๙) “ปิศุนวจนอัน เปรียบกะปูน ฯลฯ” - คือคำส่อเสียดใส่ความกันนั้น เปรียบเหมือนปูนหิน (สันสกฤต “วชฺรเลป”), ซึ่งเอาทาเข้าแห่งใดแล้วก็ติดแน่น ยากที่จะกะเทาะให้หลุดได้.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ