ตอนที่เจ็ด

ว่าด้วยละคอนภายในเรื่องละคอน.

ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” มีเรื่องละคอนภายในเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งช่วยการดำเนินเรื่องอย่างดีมาก. การมีเรื่องละคอนภายในละคอนเช่นนี้ นักประพันธ์ที่ยุโรปก็ใช้อยู่หลายราย, และถือกันว่าเปนวิธีช่วยดำเนินเรื่องหรือสำแดงลักษณะของตัวละคอนให้แจ่มแจ้งขึ้น. เช่นในเรื่องละคอน “แฮมเล็ต” ของเชกสเปียร์มีเรื่องละคอนในเรื่อง, เรียกว่าเรื่อง “ กับดักหนู” (“The Mousetrap”), ซึ่งช่วยการดำเนินเรื่องดีมาก. เรื่อง “กับดักหนู” นั้น แฮมเล็ต, พระเอกแห่งเรื่อง, จัดให้เล่นเพื่อว่ากระทบท้าวคลอเดียสผู้เปนอา กับพระนางเกอร์ตรูดผู้เปนมารดา, ซึ่งได้ลอบรักเปนชู้กันและคบคิดกันฆ่าพ่อของแฮมเล็ต. พอสองคนนั้นได้ดูละคอนเรื่อง “กับดักหนู” แล้ว, ก็เข้าใจว่าแฮมเล็ตรู้ความลับของตนเสียแล้ว, จึงต้องคิดกำจัดแฮมเล็ต. นอกจากนี้เชกสเปียร์ยังได้ใช้ละคอนภายในเรื่องอีกสองเรื่อง, คือเรื่อง “ผู้วิเศษทั้งเก้า” (“The Nine Worthies”) ในเรื่อง “เสียแรงรัก” (“Love’s Labour’s Lost”) เรื่องหนึ่ง, เรื่อง “ปิระมัสและทิสบี” (“Pyramus and Thisby”) ในเรื่อง “ฝันณคืนกลางฤดูร้อน” (“A Midsummer Night’s Dream”) อีกเรื่องหนึ่ง. นอกจากเชกสเปียร์ ยังมีนักประพันธ์อีกหลายคนที่ได้ใช้ละคอนภายในเรื่องละคอนเช่นว่านี้ เช่นในเรื่อง “สแปนิช แตรจิดี” ของคิด, และเรื่อง “เจมสที่สี่” ของกรีน เปนต้น แต่วิธีแต่งเรื่องละคอนภายในเรื่องก็พึ่งจะได้มีปรากฏขึ้นภายในยุโรปภายในสี่ร้อยปีเศษเท่านั้น.

ในภารตวรรษ การใช้เรื่องละคอนภายในเรื่องไม่ปรากฏในยุคของกาลิทาสรัตนกวี, แต่ต่อมาในชั้นหลังมีใช้กันชุกชุม. ละคอนภายในเรื่องละคอนอย่างนี้ เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “ครฺภางฺก” หรือ “ครฺภนาฏก,” แปลตรงๆว่า “ละคอนอันเปนลูก.” ในนาฏยศาสตร์ (ตำราละคอน) ชื่อ “สาหิตฺยทรฺปณ” มีข้อความประพันธ์เปนโศลกไว้ว่า:

“องฺโกทรปฺรวิษโฏ โย รงฺคทฺวารามุขาทิมานฺ I

“องฺโกประ ส ครฺภางฺกะ สพีชะ ผลวานปิ II”

แปลว่า : “องก์น้อยซึ่งแทรกเข้าไปในท่ามกลางองก์ใดองก์หนึ่ง และซึ่งมีพร้อมทั้งตอนเบิกโรง, ตอนนำ, ฯลฯ กับมีพืช (คือเนื้อเรื่อง) และผล (คือตอนจบ), เรียกว่าครรภางกะ.”

ในอรรถาธิบายประกอบโศลกนี้ ยกอุทาหรณ์คือเรื่อง “สีตาสฺวยํวร” ในเรื่อง “พาลรามายณ” ของราชเศขร.

ในเรื่อง “มฤจฺฉกฏิกา” ของพระเจ้าศูทรกะก็ดี, ในนาฏกะทั้งสามเรื่องของกาลิทาสก็ดี หาได้มีครรภางกะไม่. ตัวอย่างที่หนึ่ง (ตามลำดับกาลสมัย) ที่ได้พบก็คือครรภนาฏกะในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” ของพระเจ้าศรีหรรษเทพนี้เอง. เนื้อเรื่องแห่งครรภนาฏกะนี้เปนอย่างไร ท่านจะได้อ่านเองในเรื่องละคอน “ปรียทรรศิกา,” ฉะนั้นไม่จำเปนต้องเล่าไว้ณที่นี้.

ตัวอย่างที่สองแห่งครรภางกะปรากฎอยู่ในเรื่องละคอนชื่อ “อุตฺตรรามจริต” (“กิจการบั้นปลายของพระราม”), เปนนาฏกะเจ็ดองก์, ผู้แต่งชื่อภวภูติ, ในยุคศตวรรษที่สิบสามแห่งพุทธศก. เนื้อเรื่องแห่ง “อุตฺตรรามจริต” นั้น, สรูปโดยย่อมีความว่า พระรามบังเกิดความระแวงสงสัยในความบริสุทธิ์ของนางสีดา, จึ่งขับออกไปจากพระนคร และเลยไม่ได้พบพระกุศและพระลพ, ซึ่งไปประสูติ์ในป่า. ต่อเมื่อพระกุมารทั้งสองนี้เติบโตแล้วจึ่งได้พบกับพระบิดา ในองก์ที่หกแห่งนาฏกะนั้น ในองค์ที่เจ็ดจึงกล่าวถึงพระรามเสด็จไปยังฝั่งน้ำพระคงคา, เพื่อไปนมัสการและทอดพระเนตรละคอนของพระวาลมีกิมุนี. เรื่องละคอนนี้คือครรภางกะ มีเนื้อเรื่องแถลงประสูติการแห่งพระกุศและพระลพ เริ่มต้นมีสูตรธาร (นายโรง) ออกมาพูดเบิกโรงเหมือนอย่างเรื่องนาฏกะใหญ่. ต่อนั้นจึ่งแสดงประสูติการแห่งพระกุมารทั้งสองที่กลางป่า, ถึงแก่มีเด็กออกมาในเวทีด้วย. เทวดาและฤษีให้พรและทำนายว่าสองกุมารจะได้เปนใหญ่ต่อไปในอนาคต, และประกาศความบริสุทธิ์ของนางสีดา. ละคอนนั้นเล่นเห็นจริงมาก ทำให้พระรามทรงกรรแสงและโศกนัก; แต่ความทุกข์โศกกลายเปนความสุขและปลื้มที่สุดเมื่อปรากฏขึ้นว่า ตัวนางสีดาในเรื่องละคอนนั้นเปนนางสีดาจริง ๆ, จึ่งเปนอันได้นั่งคู่เคียงองค์พระรามแทนรูปทองที่พระรามได้ให้หล่อขึ้นแทนองค์นางสีดาเมื่อพรากกันไป.

ตัวอย่างที่สามแห่งครรภางกะมีอยู่ในองก์ที่สามแห่งละคอนชื่อ “พาลรามายณ,” เปนนาฏกะสิบองค์, ผู้แต่งชื่อราชเศขร ในยุคศตวรรษที่สิบห้าแห่งพุทธศก นาฏกะนี้เแสดงถึงเรื่องท้าวราพณาสูรรักนางสีดา, เมื่อไม่ได้สมปรารถนาแล้ว, จึ่งปฏิญญาตนเปนศัตรูต่อพระราม. ในเรื่องแสดงว่าท้าวราพณ์รักนางสีดาจนคลั่งไคล้ไม่เปนอันกินอันนอน วันหนึ่งมีพวกละคอน, นายโรงชื่อโกหล, ไปที่กรุงลงกา, จึ่งเล่นละคอนถวายท้าวราพณ์. เผอิญเรื่องที่เลือกเล่นนั้นคือเรื่อง “สีตาสฺวยํวร” (“สีดาเลือกคู่”). ในครรภางกะนั้นแสดงถึงการที่พระรามชำนะคู่แข่งทั้งหมด; ท้าวราพณ์, ทั้งๆที่มีผู้เตือนแล้วว่าเปนแต่เพียงเรื่อง “แสดงดูกันเล่น” (“เปฺรกฺษณ”) ก็ไม่สามารถกลั้นโทโษไว้ได้, จึ่งตกลงต้องเลิกครรภางกะนั้น. ผู้อ่านได้อ่านครรภนาฏกะในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” แล้ว ก็คงจะสังเกตว่า เรื่องละคอนภายในละคอนณที่นั้นก็ต้องเลิกโดยห้วน ๆ เพราะพระนางวาสวทัตตาโกรธ เช่นเดียวกัน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ