ตอนที่สี่

ว่าด้วยท้าวอุทัยนวัตสราช.

ท้าวอุทัยน์ (อุเทน) วัตสราชเปนพระเอกในเรื่องละคอนปรียทรรศิกา, ฉะนั้น ควรจะกล่าวถึงประวัติและกิจการของท้าวนั้นโดยสังเขป พอให้ผู้อ่านรู้ว่าพระเอกในเรื่องละคอนที่จะอ่านรู้ว่าพระเอกในเรื่องละคอนที่จะอ่านต่อไปนี้คือใคร.

ในพงศาวดารแห่งภารตวรรษ ท้าวอุทัยนี้มีนามปรากฏในคัมภีร์พวกปุราณะว่าเปนกษัตร์องค์หนึ่งในราชวงศ์โปรพ (สํ. “เปารว”), ซึ่งสืบสันตติวงศ์เนื่องลงมาจากพระอรชุน, ปาณฑพกษัตร์องค์ที่สาม และเปนมหาวีรบุรุษแห่งเรื่อง “มหาภารต.” โปรพกษัตร์นั้น ๆ เดิมก็ทรงราชย์อยู่ณกรุงหัสตินาปุระ, ต่อเมื่อกรุงนั้นถูกน้ำท่วมแล้ว จึ่งได้ย้ายไปอยู่ณกรุงเกาศามพี (โกสัมพี), ในคัมภีร์วิษณุปุราณปรากฏลำดับกษัตร์โปรพจันทรวงศ์ จำเดิมแต่ท้าวปุรุผู้เปนโอรสองค์เล็กของท้าวยยาตี. กษัตร์จันทรวงศ์ที่สืบสกุลจากท้าวยยาตีนี้แบ่งเปนสองสาขา, คือ ยาทพ (สํ. “ยาทว”) ผู้เปนเชื้อสายของท้าวยทุโอรสองค์ใหญ่ของท้าวยยาตีหนึ่ง, โปรพ ผู้เปนเชื้อสายของท้าวปุรุหนึ่ง. โปรพกษัตร์เดิมทีได้ทรงราชย์ณกรุงประดิษฐาน, แล้วจึงย้ายไปอยู่กรุงหัสตินาปุระ, แล้วย้ายไปอยู่กรุงเกาศามพี. โปรพกษัตร์ได้มี นามในตำนานและเรื่องละคอนหลายองค์, เช่นทุษยันต์เปนพระเอกในเรื่องนาฏกะของกาลิทาสเรียกว่า “อภิชฺานศากุนฺตล” (คือเรื่องศกุนตลา ที่ข้าพเจ้าได้เคยแปลงเปนบทละคอนไทยแล้วนั้น) เปนต้น. ในคัมภีร์มหาภารตก็ออกนามวีรกษัตร์ปาณฑพทั้งห้า, คือยุธิษเฐียร, ภีมะ, อรชุน, สหเทพ, และนกูล. เมื่อยุธิษเฐียรมหาราชมีชัยในมหาภารตยุทธ์และได้ครอบครองหัสตินาปุระนานแล้ว, และเบื่อหน่ายโลกออกสู่ป่า, ได้มอบราชสมบัติให้แด่ท้าวปรีกษิต, ผู้เปนโอรสของพระอรชุนกับพระนางกฤษณา, ต่อจากท้าวปรีกษิตนี้ มีลำดับกษัตร์ตามที่ปรากฏในวิษณปุราณดั่งต่อไปนี้ :-

๑. ปรีกฺษิต

๒. ชนเมชัย

๓. ศตานีกะ (ที่หนึ่ง)

๔. อัศวเมธทัตต์

๕. อธิสีมะกฤษฺณะ

๖. นิจักรุ

๗. อุษฺณะ

๘. จิตระรถ

๙. วฤษฺณิมัต

๑๐. สุเษณ

๑๑. สุนีถะ

๑๒. ฤจะ

๑๓. นฤจักษุษ

๑๔. สุขาพล

๑๕. ปริปฺลวะ

๑๖. สุนัย

๑๗. เมธาวิน

๑๘. นฤปัญชัย

๑๙. มฤทุ

๒๐. ติคฺมะ

๒๑. พฤหัทรถ

๒๒. วสุทาน

๒๓. ศตานีกะ (ที่สอง)

๒๔. อุทัยนะ

ในพระวินัยปิฎกจุลลวัคค์ ปัญจสติกักขันธก, หน้า ๓๕๗, มีข้อความกล่าวถึงท้าวอุเทน, ว่าเมื่อเสร็จสังคายนาที่กรุงราชคหะแล้ว พระอานนทเถระเจ้าได้ไปยังกรุงโกสัมพี เพื่อลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะภิกขุ, และได้แสดงพระธรรมเทศนาให้อันเตปุริกราชนารีฟัง, และได้ทูลอธิบายเรื่องจีวรให้ท้าวอุเทนเข้าพระหฤทัยด้วย. ดั่งนี้เปนอันปรากฏว่าท้าวอุเทนได้มีพระชนม์อยู่เมื่อครั้งพุทธกาล, ฉะนั้นเปนกษัตร์ยุคเดียวกันกับพระเจ้าอชาตศัตรุแห่งมคธราษฏร์, และพระเจ้าประโท๎ยตแห่งอวันตีราษฏร์. ในโคปกโมคคัลลานสูตร, มัชฌิมนิกาย, อุปริปัณณาสก์ หน้า ๘๕, มีข้อความว่า: “ณสมัยนั้นพระเจ้ามคธราษฏร์, อชาตศัตรุผู้เปนโอรสแห่งเจ้าหญิงแคว้นวิเทห, (กำลังตกแต่งกรุงราชคหะใหม่, เพราะมีความระแวงพระเจ้าปัชโชต.” พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จไปยังกรุงโกสัมพีหลายครั้ง, และพระบาลีกล่าวถึงตำบลต่างๆที่กรุงนี้หลายตำบล, มีโฆสิตารามเปนอาทิ. ในอังคุตตรนิกาย กล่าวถึงแว่นแคว้นของท้าวอุเทน ออกนามว่า “วํสชนปท” (สํ.วตฺส), และนับว่าเปน “ มหาชนบท” หนึ่งในจำพวกมหาชนบทสิบหก. ในจุลลวัคค์ ปัญจสติกักขันธก แห่งวินัยปิฎก หน้า ๓๕๘, มีกล่าวถึงท้าวอุเทนสนทนากับท้าวอันเตปุริกราชนารี, ในภารทวาชสูตร, สํยุตตนิกาย, สฬายตนวัคค์ หน้า ๑๓๗, มีกล่าวถึงท้าวอุเทนมีปุจฉาถามพระปิณโฑลภารัทวาชเรื่องการปฏิบัติพรหมจรรย์. ในอุทานะขุททกนิกาย หน้า ๑๖๖, มีกล่าวถึงไฟไหม้วังในของท้าวอุเทนและนางในตายในไฟห้าร้อยคน. ประวัติการของท้าวอุเทนมีแถลงได้โดยพิศดารในพระอรรถกถาแห่งพระธรรมบท, กับมีบางตอนกล่าวไว้โดยย่อในอรรถกถาแห่งมัชฌิมนิกาย เรียกว่า “ปปฺจะสูทนี,” ตติยภาคหน้า ๓๐๐ - ๓๐๒. ในชาดกก็มีกล่าวถึงท้าวอุเทนกับท้าวจัณฑปัชโชต.

แต่พระเจ้าศรีหรรษเทพ, ถึงแม้เปนผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็จริง, ในเมื่อแต่งเรื่องละคอนก็หาได้ดำเนินความตามเค้าเรื่องในพระบาลีไม่. ประวัติการของท้าวอุทัยน์ได้เคยมีอยู่ในหนังสือสันสกฤตก่อนยุคของพระเจ้าศรีหรรษเทพแล้ว, ดั่งปรากฏอยู่ในข้อความในเรื่องละคอนของพระราชาองค์นั้นเอง, กับในเรื่องละคอนชื่อ “ สฺวปฺนวาสวทตฺต กับ “ปฺรติชฺาเยาคนฺธรายณ” ของภาสะรัตนกวี, กับในตำรับชื่อ “เกาฏิลียอรฺถศาสฺตฺร” กับ “มหาภาษฺย” ของปตัญชลี, อีกทั้งมีข้อความกล่าวถึงในเรื่องละคอนชื่อ “มฤจฺฉกฏิกา” ของพระเจ้าศูทรกะ และ “เมฆทูต” ของกาลิทาส

เรื่องท้าวอุทัยน์ที่มีโดยพิศดารที่สุด, และที่คนรู้จักกันมากที่สุด, ปรากฏอยู่ในหนังสือ “กถาสริตฺสาคร” ของโสมเทพ, ซึ่งแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๖ ถึง ๑๖๒๔. นัยว่าหนังสือนี้ได้แต่งย่อความมาจากหนังสือโบราณชื่อ “พฤหัตกถา,” ซึ่งกวีผู้มีนามว่าคุณาฒฺยะได้แต่งไว้เปนภาษาไปศาจีปรากฤต, แต่นักปราชญ์ฝรั่งเศสชื่อลาโคตแสดงวิจารณ์ไว้ว่า แท้จริงหนังสือ “กถาสริตฺสาคร” เปนหนังสือที่แปลงรากฉะบับเดิมอันเปนภาษากาษมีร์.

เรื่องท้าวอุทัยน์ใน “กถาสริตสฺาคร”

ตามข้อความใน “กถาสริตฺสาคร” มีอยู่ว่าพระเจ้าอุทัยน์เปนพระนัดดาของพระเจ้าศตานึกะและเปนโอรสของพระเจ้าสหัสรานีกะ ผู้ทรงราชย์ณกรุงเกาศามพีในวัตสราษฏร์. เมื่อพระนางมฤคาวดี มเหสีของพระเจ้าสหัสรานีกะ. ทรงพระครรภ์อยู่นั้น, พระนางได้ถูกนกอินทรีใหญ่ตัวหนึ่งคาบเอาไปทิ้งไว้บนยอดเขาอุทัยบรรพต, และณที่นี้พระฤษีชมทัคนีไปพบจึ่งพาไปเลี้ยงไว้, และพระนางประสูติพระกุมารผู้มีนามว่าอุทัยน์. อยู่มาวันหนึ่ง พระอุทัยน์กุมารออกไปเที่ยวป่า, ได้เห็นนาดตัวงามตัวหนึ่งอยู่ในมือหมองู, จึงขอถ่ายชีวิตนาคนั้นโดยให้กำไลอันหนึ่ง, ซึ่งมีพระนามพระเจ้าสหัสรานีกะจารึกอยู่, แก่หมองู. นาคตัวนั้นซึ่งมีนามว่า วสุเนมิ, เปนพี่ชายของท้าววาสุกินาคราช, จึ่งสมณาคุณพระอุทัยน์กุมารโดยให้พิณหนึ่งอันกับให้พรให้มีวิทยาอาคมพิเศษต่าง ๆ. ส่วนกำไลที่พระอุทัยน์กุมารให้แก่หมองูนั้น ได้ไปถึงพระหัตถพระเจ้าสหัสรานีกะ, พระราชาองค์นั้นจึ่งออกไปรับพระมเหสีกับพระราชโอรสกลับคืนไปยังกรุงเกาศามพี. เมื่อถึงกรุงแล้ว พระเจ้าสหัสรานีกะได้ทรงพระอภิเษกพระอุทัยน์กุมารให้เปนพระยุพราช, และจัดหาพี่เลี้ยงประทานสามคน, คือ วสันตกะ บุตรพระสหายสนิท, รุมัณวันต์ บุตรเสนาบดี (แม่ทัพ) และเยาคันธรายณ บุตรมหาอมาตย์มนตรี; ครั้นเมื่อพระชนมายุย่างเข้าปัจฉิมวัย พระเจ้าสหัสรานีกะก็เวนราชสมบัติให้แด่พระอุทัยน์กุมาร.

ครั้นเมื่อได้ขึ้นทรงราชย์แล้ว, พระเจ้าอุทัยน์พอพระหฤทัยในความเพลิดเพลินต่างๆ, มีอาทิคือการไล่สัตว์ในป่า, และโปรดล่อช้างโดยดีดพิณที่มีนามว่าโฆษวดี. เธอมีพระหฤทัยจะใคร่ได้เจ้าหญิงวาสวทัตตา, ราชบุตรของท้าวจัณฑมหาเสนประโท๎ยต, ผู้ครองกรุงอุชชยินี (อุชฺเชนี), กับพระนางอังคารวดี. แต่โดยเหตุที่มีข้อบาดหมางกันอยู่ในทางการเมือง, การส่งทูตไปขอเจ้าหญิงนั้นจึ่งไม่เปนผลสำเร็จ. ฝ่ายท้าวจัณฑมหาเสนคิดกลอุบายที่จะจับท้าวอุทัยน์ไปเปนชะเลย. เธอทราบอยู่ว่าท้าวอุทัยน์ชอบการไล่สัตว์, เธอจึงให้สร้างรูปช้างยนตร์ขึ้นตัวหนึ่ง เอาพลรบซ่อนได้เต็มในพุงช้างนั้น, แล้วให้เอาเข้าไปไว้ในดงวินธยะ. ท้าวอุทัยน์ออกไปดีดพิณล่อช้างนั้นก็ถูกจับเอาไปยังกรุงอุชชยินี, แต่ท้าวจัณฑมหาเสนต้อนรับโดยดี และขอให้ท้าวอุทัยน์สอนวิชชาพิณแก่เจ้าหญิงวาสวทัตตา. การสอนนั้นกระทำที่คนธรรพศาลาในวัง, และหนุ่มสาวได้มีโอกาสรักใคร่กัน.

ระหว่างนี้ เยาคนธรายณ, มหาอมาตย์, พอได้ทราบข่าวว่าเจ้านายของตนถูกจับไปแล้ว, ก็มอบพระนครไว้ให้รุมัณวันต์อยู่รักษา, แล้วตัวเยาคันธรายณกับวสันตกะจึ่งพากันไปเพื่อช่วยเจ้านาย. ครั้นถึงกรุงอุชชยินี, เยาคันธรายณจึ่งใช้โยควิธีจำแลงตนเองเปนคนวิกลจริต, และจำแลงวสันตกะเปนคนค่อม, แล้วจึ่งพากันเข้าไปในวังจนถึงพระองค์ท้าวอุทัยน์และแสดงตนให้เธอทราบ, แล้วเยาคันธรายณก็ช่วยคิดหาอุบายที่จะให้เจ้านายหนีรอด, และวสันตกะช่วยเล่านิทานต่าง ๆ พอให้เจ้านายทรงเพลิดเพลินในระหว่างเวลาที่ต้องถูกขังอยู่.

เมื่อเจ้าหญิงวาสวทัตตายินยอมพร้อมใจด้วยแล้ว, ท้าวอุทัยน์จึ่งพาเจ้าหญิงนั้นขึ้นทรงช้างพังภัทรวดีหนีจากกรุงอุชชยินีในเวลากลางคืน, เยาคันธรายณ, วสันตกะ และนางกาญจนมาลาข้าหลวงของเจ้าหญิงหนีตามไปด้วย. พอได้รู้เหตุกันขึ้น, พระปาลกกุมาร, โอรสของท้าวจัณฑมหาเสน, ก็ขึ้นขี่ช้างพลายนฑาคิริ (นาฬาคิริ) ออกไล่ติดตาม. แต่ครั้นเมื่อไปทันเข้าแล้ว, พลายนฑาคิริไม่ยอมเข้าชนกับพังภัทรวดีซึ่งเปนเมียของตน, พระโคปาลกกุมารจึ่งวิงวอนพระปาลกกุมารผู้เปนพระเชษฐาให้กลับคืนนคร. ฝ่ายท้าวอุทัยน์กับเจ้าหญิง, เมื่อได้เดินทางไปโดยลำบากมากในดงวินธยะนั้นแล้ว, จึ่งได้พบกับรุมัณวันต์ผู้ที่ได้นำกองทัพออกไปรับ, และเมื่อกลับถึงกรุงเกาศามพีแล้ว, จึ่งกระทำพิธีราชาภิเษกสมรสโดยความยินยอมพร้อมพระหฤทัยแห่งท้าวจัณฑมหาเสน.

ประวัติการของท้าวอุทัยนต่อแต่นี้ไป ตามที่ปรากฏอยู่ใน “กถาสริตฺสาคร” นั้น ไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ปรียทรรศิกา.” มีข้อความกล่าวโดยย่อ ๆ ถึงความรักระหว่างท้าวอุทัยน์กับนักสนมชื่อวิรจิตากับเจ้าหญิงพันธุมดี, และในคดีหลังนี้มีกล่าวถึงนางปริพพาชิกาสางกฤตยายนี ผู้เปนมิตรของพระนางวาสวทัตตา, และซึ่งเปนผู้ไกล่เกลี่ยให้ปรองดองกัน. ตรังค์ที่สิบห้าและที่สิบหก แถลงถึงเรื่องท้าวอุทัยน์กระทำพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงปัทมาวดี ต่อจากการที่พระนางวาสวทัตตาแสร้งทำตาย, ซึ่งภาสะได้ผูกขึ้นเปนเรื่องละคอนชื่อ “ สฺวปฺนวาสวทตฺต,” และกวีอีกคนหนึ่ง ชื่ออนังคหรรษมาตรราชได้ผูกขึ้นเปนเรื่องชื่อ “ตาปสวตฺสราชจริต.”

เรื่องท้าวอุทัยน์ในบทละคอนของภาสะ.

ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างบนนี้, ภาสะรัตนกวีได้แต่งเรื่องละคอนแถลงประวัติของท้าวอุทัยน์ไว้สองเรื่อง. เรื่อง “สฺวปฺนวาสวทตฺต” กล่าวถึงท้าวอุทัยน์ในยุคภายหลังเรื่อง “ปรียทรรศิกา,” ฉะนั้น ไม่จำเปนต้องพิจารณาในที่นี้. ส่วนเรื่องที่เรียกว่า “ปฺรติชฺาเยาคนฺธรายณ” แถลงประวัติการของท้าวอุทัยน์คล้ายๆ ที่ปรากฏในหนังสือของฝ่ายพุทธศาสนา, คือกล่าวว่าท้าวประโท๎ยต (ปัชโชต) ได้กระทำกลอุบายจับท้าวอุทัยน์ เพราะปรารถนาจะเอาชัยแก่ศัตรูผู้เย่อหยิ่งและแขงแรง. ครั้นเมื่อเขาจับท้าวอุทัยน์ไปถึงกรุงอุชชยินีแล้ว, ท้าวประโท๎ยตเห็นท้าวอุทัยน์ต้องบาดเจ็บมากก็ออกสงสาร, จึงสั่งให้เอาตัวจำจองขังไว้, ไม่กระทำาประจารต่างๆ อย่างที่ได้คิดไว้เดิม, ในระหว่างเวลาที่ต้องจองจำอยู่นั้น ท้าวอุทัยน์ได้เห็นและนึกรักเจ้าหญิงวาสวทัตตา, จึ่งคิดอุบายกับเยาคันธรายณ ทำให้ช้างนฑาคิริอาละวาด, ท้าวอุทัยน์รับอาสาจับและกำราบช้างนั้นได้โดยดีดพิณโฆษวดี, ได้บำเหน็จรางวัลเปนอันมาก (ข้อนี้มีกล่าวถึงในบทพูดของพระนางวาสวทัตตาในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” องก์ที่สามหน้า ๖๑). ท้าวประโท๎ยตปรารถนาจะได้วิชชาดีดพิณอย่างวิเศษนั้นจึ่งได้ให้ท้าวอุทัยน์เปนครูสอนเจ้าหญิงวาสวทัตตาดีดพิณ.

เรื่องท้าวอุทัยน์ใน “ปรียทรรศิกา.”

ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” ท้าวอุทัยน์เปนพระเอก, และออกนามว่า “วัตสราช” ตลอดไป. วสันตกะ, วิทูษกในเรื่องละคอนนี้, คงตกอยู่ในหน้าที่เปนพระสหายของวัตสราชเช่นใน “กถาสริตฺสาคร” และพระนางวาสวทัตตาเปนพระมเหสีเอก, มีนางกาญจนมาลาเปนข้าหลวง, ตรงตามตำนานเดิม. รุมัณวันต์, ซึ่งตามตำนานเปนเสนาบดี (แม่ทัพ), ใน “ปรียทรรศิกา” กลายเปนอมาตย์, มีวิชัยเสนเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งในหน้าที่เสนาบดี, เยาคันธรายณไม่มีบทเลย, เปนแต่มีออกชื่อครั้งเดียวในคำพูด ของราชาในครรภนาฏกะ “ปรียทรรศิกา” (องก์ที่สามหน้า ๗๑). การที่เยาคันธรายณไม่ได้มีบทใน “ปรียทรรศิกา” เลยเช่นนี้, อาจจะเปนเพราะเหตุการณ์ในเรื่องละคอนนี้ไม่เปิดโอกาสให้เยาคันธรายณแสดงอภินิหารได้เต็มที่ ผู้แต่งเรื่องจึ่งตัดเอาออกเสีย.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ