ตอนที่ห้า

ว่าด้วยภาษาที่ใช้ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา.”

เหมือนในเรื่องละคอนสันสกฤตทั้งปวง, ตัวละคอนในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” พูดสองภาษา, แต่ก็เปนภาษาที่ฟังเข้าใจกันและกันได้. ตัวละคอนที่เปนผู้ชายพูดภาษาสันสกฤต, เว้นแต่ตัววิทูษก (ตลก) พูดภาษาปรากฤต. ตัวละคอนที่เปนผู้หญิงพูดภาษาปรากฤตทั้งนั้น, เว้นแต่นางกฤตยายนีพูดภาษาสันสกฤต.

ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะใช้ถ้อยคำง่าย ๆ โดยมาก, และคำพูดโดยมากเปนร้อยแก้วเรื่อย ๆ แต่มีบางตอนใช้คำที่สนธิกันเปนพวงยาว ๆ. ส่วนฉันท์ที่มีอยู่บางตอน ใช้เปนเครื่องประดับให้ไพเราะมากกว่าสำหรับดำเนินเรื่อง, และถึงจะตัดฉันท์ออกเสียเรื่องก็ไม่เสีย.

ส่วนภาษาปรากฤตที่ใช้ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” นั้น นักปราชญ์ผู้ชำนาญในทางวรรณคดีว่า ที่ถูกคำพูดที่เปนร้อยแก้วควรจะเปนภาษา “เศารเสนี” (คือภาษาของชนชาวศูรเสน), และฉันท์สองบทในองค์ที่สามควรจะเปน “มหาราษฏรี” (คือภาษาของชนชาวมหาราษฏร์) แต่ในเรื่องละคอนนั้นมีภาษามหาราษฏรีปนอยู่ในตอนคำพูดร้อยแก้วบ้าง. เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ, ศาสตราจารย์อเมริกาทั้งสองผู้ช่วยแปลเรื่อง จึ่งได้แก้ไขเสียใหม่เปนที่เรียบร้อยตลอด.

ผู้อ่านที่ภาษามคธอยู่แล้วยังจะได้สังเกตเห็นเมื่ออ่านเรื่องละคอนนั้น ว่าภาษาปรากฤตนั้นเมื่ออ่าน ๆ คลำ ๆ ไปก็พอเข้าใจได้โดยไม่ยากนัก, และถ้ายิ่งลองอ่านออกสำเนียงเข้าด้วยแล้วยิ่งทำให้เดาง่ายขึ้น, เช่นคำว่า “ราออุล,” อาจเดาได้ว่า “ราชกุล” เช่นเดียวกับในภาษาไทยเราเมื่อได้ยินใครพูดว่า “ร่าอะการ เราก็เดาได้ว่า “ราชการ” ดังนี้เปนต้น

ส่วนฉันท์ใช้ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” มีอยู่ ๘ อย่าง คือ:-

๑. ศารฺทูลวิกฺรีฑิต (สทฺทุลวิกฺกีฬิต, ๑๙)

๒. อารฺยา (ไม่มีในตำราฉันท์ของเรา)

๓. สฺรคฺธรา (สทฺธรา, ๒๑).

๔. วสนฺตติลกา (๑๔).

๕. อุปชาติ (๑๑).

๖. ศิขริณี (สิขิริณี, ๑๗)

๗. มาลินี (๑๕)

๘. คีติ (ไม่มีในตำราฉันท์ของเรา).

ฉันท์ที่ใช้ในเรื่องละคอนนี้ แบ่งดั่งต่อไปนี้:-

องก์ที่หนึ่ง.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๕, สฺรคฺธรา ๓, อุปชาติ ๑, อารยา ๒, วสนฺตติลกา ๑, รวม ๑๒ บท.

องก์ที่สอง.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๕, สฺรคฺธรา ๒, อารฺยา ๒. มาลินี ๑, รวม ๑๐ บท.

องก์ที่สาม.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๗, สฺรคฺธรา ๑, อุปชาติ ๑, อารฺยา ๔, วสนฺตติลกา ๑, คีติ ๑, รวม ๑๕ บท.

องก์ที่สี่.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๔, สฺรคฺธรา ๒, อารฺยา ๒, วสนฺตติลกา ๓, ศิขริณี ๑, รวม ๑๒ บท.

ดั่งนี้จะเห็นได้ผู้นิพนธ์เรื่อง “ปรียทรรศิกา” ชอบศารฺทูลวิกรีฑิตมาก, เพราะได้ใช้ฉันท์คณะนี้ถึง ๒๑ แห่ง; รองลงมาก็ถึงอารฺยา ซึ่งมีใช้ ๑๐ แห่ง; สฺรคฺธราเปนที่สามมีใช้ ๘ แห่ง, วสนฺตติลกาเปนที่สี่ มีใช้ ๕ แห่ง; อุปชาติเปนที่ห้ามีใช้ ๒ แห่ง; นอกจากนี้ใช้อย่างละ ๑ แห่งเท่านั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ