ตอนที่สาม

ว่าด้วยเรื่องกาละเวลาในเรื่อง “ปรียทรรศิกา.”

ในสมุดนี้เรากล่าวถึงจำเพาะเรื่อง “ปรียทรรศิกา,” ฉะนั้นควรพิจารณาในส่วนกาละเวลาที่สมมตว่ากิจการในเรื่องนี้ได้ดำเนินไปแต่ต้นจนจบ. ก่อนอื่นขอชี้แจงว่า ตามตำรับละคอนสันสกฤตมีข้อบังคับอยู่ข้อหนึ่งว่า เหตุการณ์ที่จะแถลงในเรื่องละคอนต้องให้เปนไปภายในหนึ่งปี. ถ้าสามารถจะแต่งให้เปนเช่นนั้นได้. ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” นี้ ผู้แต่งจัดการให้เปนไปตามข้อบังคับนั้นได้อย่างไร ควรพิจารณาดู.

เนื้อเรื่อง “ปรียทรรศิกา” สรุปโดยย่อมีดั่งต่อไปนี้:-

ปรียทรรศกา, ซึ่งในนาฏิกานั้นออกนามว่าอารัณยกา, เมื่อรุ่นสาวได้ถูกพามายังราชสำนักแห่งพระเจ้าอุทัยน์ (หรืออุเทน) ณ กรุงเกาศามพี (โกสัมพี), และพระเจ้าอุทัยน์ทรงฝากไว้ให้พระนางวาสวทัตตาทรงเลี้ยงจนกว่าจะมีอายุควรออกเรือน. ต่อมาพระเจ้าอุทัยน์รักกับนางนั้น, ซึ่งทำให้พระนางวาสวทัตตาหึงและเอาตัวนางนั้นขังไว้, จนปรากฏขึ้นว่าอารัณยกาคือปรียทรรศิกา, บุตรีของท้าวทฤฒวรมัน, จึ่งได้พ้นจากลูกคุมขัง. ท้าวทฤฒวรมันนั้น, เมื่อปีหนึ่งก่อนนั้นได้ถูกท้าวกลิงค์จับเปนชะเลยไป, บุตรีซึ่งหนีจากเมืองของบิดาจึ่งได้ถูกจับเอามาที่กรุงเกาศามพี: พระเจ้าอุทัยน์ได้ส่งกองทัพไปรบท้าวกลิงค์และช่วยท้าวทฤฒวรมันให้ได้กลับสู่บ้านเมือง. เมื่อข้อความปรากฏขึ้นเช่นนี้, ปรียทรรศิกาก็ได้เปนมเหสีของพระเจ้าอุทัยน์, ตามที่ท้าวทฤฒวรมันได้ยกให้ไว้แล้วแต่เมื่อก่อนถูกจับ.

ต่อนี้จะได้พิจารณาดูกาละที่ล่วงไปเปนลำดับในเรื่อง “ ปรียทรรศิกา.”

วิษกัมภก. (ตอนนำ) - ท้าวทฤฒวรมันได้ตกลงแล้วว่าจะยกปรียทรรศิกาให้แก่พระเจ้าอุทัยน์, ในตอนนำนี้ วินัยวสุ, ผู้เปนกัญจุกิน (กรมวัง) ของท้าวทฤฒวรมันออกคนเดียวและแถลงเรื่องว่า ท้าวกลิงค์ได้จับท้าวทฤฒวรมันไปเปนชะเลย เพราะท้าวทฤฒวรมันได้ยกพระบุตรีให้แก่ท้าวอุทัยน์, ในขณะเมื่อท้าวกลิงค์ยกทัพไปตีแว่นแคว้นของท้าวทฤฒวรมันนั้น ท้าวอุทัยน์กำลังตกอยู่เปนชะเลยของท้าวมหาเสนประโท๎ยต, แต่ท้าวอุทัยน์ได้หนีรอดมาได้แล้ว และได้พานางวาสวทัตตา, ราชบุตรีของท้าวประโท๎ยต, หนีมาเสียได้ด้วย. ตามคำพูดของวินัยวสุปรากฏต่อไปว่า ตนได้พานางปรียทรรศิกาไปฝากไว้แก่ท้าววินอยเกตุในกลางดง, แต่เผอิญได้มีข้าศึกไปโจมตีท้าววินธยเกตุ และนางปรียทรรศิกาหายไป, วินัยวสุมิรู้ที่จะไปตามหาแห่งไร, จึ่งตกลงใจว่าจะตามไปอยู่กับเจ้านายของตนที่ถูกท้าวกลิงค์จับไป.

ตามถ้อยคำบั้นท้ายของกัญจุกินนั้นปรากฏว่า เวลานั้นเปนฤดูสารท, และพระอาทิตย์กำลังจะยกจากราศีกันย์ขึ้นสู่ราศีดุล.

เวลาล่วงไปหลายวันระหว่างวิษกัมภกกับองค์ที่หนึ่ง. ข้อนี้สังเกตได้ในคำพูดหลายแห่ง. แห่งหนึ่งในคำพูดของวิทูษกมีกล่าวถึงการที่ท้าวทฤฒวรมันถูกจับไปเปนชะเลย. ต่อนั้น พระเจ้าอุทัยน์กล่าวว่า “หลายวันมาแล้ว” ได้ส่งวิชัยเสนไปรบท้าววินธยเกตุ. วิชัยเสนกลับมาในต้นองก์ที่หนึ่ง, และปรากฏในคำพูดว่าได้รีบเดินทัพไป “สามวัน” จึ่งถึงที่วินธยเกตุอยู่. วันกระทำยุทธ์คือวันที่ปรากฏในวิษกัมภกนั้นเอง. ในการยกทัพกลับคงจะต้องกินเวลาอีกเท่า ๆ กับที่ยกไป, ฉะนั้น คงต้องเปนเวลาราว สามวันเปนอย่างน้อยระหว่างวิษกัมภกกับองก์ที่หนึ่ง.

องก์ที่หนึ่ง. - พอเริ่มพระเจ้าอุทัยน์ก็ออก, และวิชัยเสนกลับมาถึงและเข้าเฝ้า, วิชัยเสนนำหญิงสาวมาด้วยคนหนึ่ง ซึ่งสำคัญว่าเปนลูกสาวของท้าววินธยเกตุ พระเจ้าอุทัยน์มอบตัวนางสาวนั้นให้ไปอยู่กับพระนางวาสวทัตตา, และสั่งไว้ว่าเมื่อใดอารัณยกามีอายุสมควรจะออกเรือนได้ก็ให้พระนางทูลเตือน. เมื่อท้ายองก์นี้, เมื่อตัวละคอนกำลังเตรียมจะเข้าโรง, ปรากฏว่าเปนเวลาเที่ยง. ท้าวอุทัยน์จะให้มีงานทำขวัญวิชัยเสน, ซึ่งจะส่งไปรบกับท้าวกลิงค์อีก.

เวลาแห่งองก์ที่หนึ่ง: ก่อนเที่ยงวันหนึ่ง ในฤดูสารท.

เวลาล่วงไปหนึ่งปีเต็ม ๆ ระหว่างองก์ที่หนึ่งกับที่สอง ข้อนี้สังเกตได้หลายประการ, ข้อสำคัญคือในองก์ที่สี่มีคำพูดปรากฏว่าท้าวทฤฒวรมันได้ถูกจับไปเปนชะเลยอยู่ได้ปีกว่าแล้ว. เวลาปีกว่าที่ล่วงไปนี้จะเอาแทรกเข้าแห่งไหนไม่ได้นอกจากในระหว่างองก์ที่หนึ่งกับที่สอง, เพราะในระหว่างองก์ที่สองกับที่สาม หรือระหว่างองก์ที่สามกับที่สี่ไม่มีเวลาเยิ่นเลย, เรื่องเดินติดต่อกันเรื่อยทีเดียว. ในองก์ที่สองปรากฏว่า พระนางวาสวทัตตาตรัสแก่ข้าหลวงว่าจะต้องทูลเตือนพระเจ้าอุทัยน์เรื่องนางปรียทรรศิกาออกเรือนตามที่ทรงสั่งไว้. อนึ่งในองก์นี้ ตัวละคอนพูดกันก็สังเกตได้ว่า ในเวลานั้นกำลังเปนหน้าฝนแห่งฤดูสารท. นอกจากนี้ในองก์ที่สามซึ่งเรื่องเดินติดต่อกับองก์ที่สองไปทีเดียว มีกล่าวถึงนักษัตรฤกษ์เกามุที. ซึ่งมีณวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด. ฉะนั้น จึ่งสันนิษฐานว่า ระหว่างองก์ที่หนึ่งกับที่สอง เวลาล่วงไปหนึ่งปีเต็มๆ.

องก์ที่สอง. - ต้นองก์ที่สอง พระนางวาสวทัตตายังอยู่ในระหว่างการถือบวชตามแบบกุลสตรี, พระเจ้าวัตสราชกำลังว้าเหว่. เวลาบ่ายจวนพลบ เผอิญพระเจ้าวัตสราชได้ไปพบกับนางอารัณยกาและเกิดรักกัน เมื่อพูดกันแล้วและจากกันไป ตะวันกำลังจะตก.

เวลาแห่งองก์ที่สอง: บ่ายจวนพลบวันหนึ่ง.

เวลาล่วงไปไม่นานนักระหว่างองค์ที่สองกับที่สาม. ข้อนี้สังเกตได้โดยคำพูดหลายแห่ง, ดังผู้อ่านจะสังเกตได้เอง.

องก์ที่สาม. - เริ่มเวลาเย็นวันมีงานนักษัตรฤกษ์เกามุที, เมื่อมีละคอนในละคอน “ครรภนาฏกะ”), วันนั้นปรากฏว่าร้อนจัด และพลบแล้วจึงได้ลงมือเล่นละคอน, กว่าจะจบองค์ที่สามก็ถึงเวลานอนแล้ว เพราะปรากฏตามคำพูดของพระเจ้าวัตสราชว่าจะไปนอน.

เวลาแห่งองค์ที่สาม : เวลาหัวค่ำวันหนึ่ง

เวลาล่วงไปไม่นานนักระหว่างองค์ที่สามกับที่สี่ ข้อนี้สังเกตได้โดยคำพูดหลายแห่ง เช่นเดียวกับในองค์ที่สี่

องก์ที่สี่. - ในประเวศกะแห่งองค์นี้ได้ความตามคำพูดว่าเวลาได้ล่วงมาแล้วปีกว่า ตั้งแต่ท้าวทฤฒวรมันได้ถูกท้าวกลิงค์จับไป. ในกลาง ๆ องก์ที่สี่ พระเจ้าวัตสราชพูดว่าได้รับข่าวจากวิชัยเสน “หลายวันมาแล้ว” ว่าท้าวกลิงค์อาจจะแพ้ “ในวันนี้หรือพรุ่งนี้” ปรากฎว่าการสงครามนั้นกินเวลานาน. แล้ววิชัยเสนก็กลับมาถึงในองค์ที่สี่นั้นเอง, พร้อมด้วยวินัยวสุ, ซึ่งจำนางอารัณยกาได้ว่าเปนนางปรียทรรศิการาชบุตรีแห่งเจ้านายของตน, และทูลให้พระนางวาสวทัตตาทราบ, ปรียทรรศิกาก็เปนอันได้เปนมเหสีของพระเจ้าวัตสราช. เหตุการณ์ทั้งปวงได้เปนไปภายในหนึ่งปี ตามกำหนดในตำรับละคอนสันสกฤต, ส่วนเหตุการณ์ในองก์หนึ่ง ก็ดำเนินไปแล้วเสร็จภายในวันเดียว, ถูกต้องตามตำรับเหมือนกัน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ