ตอนที่สอง

ว่าด้วยการที่พระเจ้าศรีหรรษเทพทรงเปนกวีและบำรุงกวี.

(ก) กล่าวถึงกวิราชในภารตวรรษ.

พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอุปถัมภ์บารุงกวีและนักประพันธ์นั้นหาไม่ยาก, แต่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเปนกวีและนักประพันธ์เองด้วยนั้นหายากอยู่ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่กษัตร์ในภารตวรรษโดยจำเพาะ.

นับจไเดิมแต่พระเจ้าวิศวามิตรมหาราชฤษั, ผู้ทรงนิพนธ์บทสวดเปนอันมากในพระฤคเวท, ลงมาจนถึงพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะนี้ เปนเวลาหลายพันปี. การที่จะพรรณนาออกพระนามกวิราชหลายพระองค์ระหว่างเวลานั้นเปนอันพ้นวิสัยแน่แท้. แต่พอจะกล่าวได้แน่อย่างหนึ่งว่าในภารตวรรษมิได้สิ้นกวีเลย, และบรรดากุลบุตรผู้ได้รับความศึกษาอบรมดี ย่อมจะแต่งกาพย์เปนทั้งนั้น. ในข้อนี้มีพะยานปรากฏอยู่ในหนังสือโบราณต่าง ๆ ซึ่งชาวภารตวรรษได้แต่งขึ้น, คือไม่ว่าจะแต่งเรื่องอะไร เขามักแต่งเปนกาพย์ทั้งหมดหรือมีกาพย์เรืออยู่ในคำร้อยแก้วเสมอ.

บัดนี้จะยกอุทาหรณ์แสดงถึงกวิราชแห่งภารตวรรษบางองค์, ตามที่มีนามปรากฏในตำนาน.

พระเจ้าสมุทรคุปต์, ราชวงศ์คุปตะ, ซึ่งเสวยราชย์เปนมหาราชาธิราชราว พ.ศ. ๘๗๓ ถึง ๙๑๘, เปนผู้ทรงเชี่ยวชาญในทางดนตรีและขับร้อง กับเปนกวีมีเกียรติคุณไม่น้อยด้วย. แม้หนังสือที่เปนพระนิพนธ์ของพระราชาพระองค์นี้มิได้มีเหลืออยู่เลยก็จริง, แต่มีอักษรจารึกไว้ว่า พระองค์ทรงมีพระนามอย่างหนึ่งว่า “กวิราช,” และแสดงเหตุผลไว้ว่า:

“วิทฺวชฺชโนปชีวฺยาเนกกาวฺยกฺริยาภิะ ปฺรติษฺิตกวิราชศพฺทสฺย,” แปลว่า : “โดยเหตุที่พระองค์ได้ทรงก่อกาพยการขึ้นหลายอย่างอันอาจเปนทางบำรุงชีพแห่งชนผู้กอบด้วยวิทยานั้นเอง อันคำเรียกพระองค์ท่านว่ากวิราชจึงได้มีเปนของเที่ยงแท้ขึ้น.”

พระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์จันทรคุปต์ที่สอง, ผู้เปนพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ต่อพระเจ้าสมุทรคุปต์ (ทรงราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๑๘๙ ถึง ๙๕๖), และพระเจ้ากุมารคุปต์ที่หนึ่ง ผู้เปนพระราชนัดดา (ทรงราชย์ประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ ถึง ๙๙๘) ก็ปรากฎว่าเปนผู้โปรดอุปถัมภ์บารุงกวี, และกาลิทาสรัตนกวีได้เฟื่องฟูขึ้นในยุคนี้.

ส่วนพระราชาผู้ปรากฎพระนามว่าได้ทรงเปนกวีเองก็มีหลายองค์; เช่นเรื่องนาฏกะชื่อ “มฤจฺฉกฏิกา” (“เกวียนดิน”) ก็มีข้อความกล่าวไว้ในบทเบิกโรงว่าเปนพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าศูทรกะ, ซึ่งเปนพระราชาที่ยังทราบไม่ได้แน่นอนว่าเปนใคร, แต่คงต้องเปนคนสำคัญอยู่, เพราะมีนามปรากฏว่าเปนสภาบดีในสภากวี, มีนามกล่าวควบอยู่กับพระราชาอื่น ๆ โดยลำดับคือ วาสุเทพ, ศาตวาหน, ศูทรกะ และสาหสางกะ. ทั้งสี่นี้กวีชื่อราชเศขร (ราว พ.ศ. ๑๔๔๓) ได้สรรเสริญไว้ในหนังสือชื่อ “กาวฺยมีมำสา” ว่าเปนกวิราชซึ่งควรถือเปนตัวอย่างอันดี.

เนื่องด้วยราชาสี่องค์นี้, ศาสตราจารย์ แจ็คก์สันและดอกเตอร์ อ็อคเด็นแสดงเปนวิจารณ์ไว้ว่า, พระเจ้าวาสุเทพ จะมุ่งถึงพระราชาองค์ที่หนึ่งในพระราชวงศ์กาณฺวะ, ราวศตวรรษที่สี่แห่งพุทธศก, หรือจะมุ่งถึงพระเจ้าวาสุเทพที่หนึ่ง (ทรงราชย์ราว พ.ศ. ๖๘๓ ถึง ๗๒๑) หรือราชาองค์ใดองค์หนึ่งในพระราชวงศ์กุษาณ. พระเจ้าศาตวาหน น่าจะมุ่งถึงพระราชาองค์ที่มีนามปรากฏอยู่ในหนังสือ “กถาสรตฺสาคร;” หรือบางทีจะองค์เดียวกับพระเจ้าศรีหาลเทพแห่งอันธรราษฏร์, ซึ่งนิยมกันว่าเปนผู้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “หาลสปฺตศตี,” ราวศตวรรษที่หกแห่งพุทธศก. ส่วนพระเจ้าศรีสาหสางกะเทพนั้น มีผู้สันนิษฐานว่าคือพระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์เอง; แต่มีข้อความแห่งหนึ่งในหนังสือ “กาวฺยมีมำสา” แสดงว่า พระเจ้าศาตวาหนทรงครองนครกุนตละในทักษิณเทศ, และพระเจ้าสาหสางกะทรงครองนครอุชชยินี.

ส่วนพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะเปนอัจฉริยบุคคลอันควรสังเกต, โดยเหตุที่เปนทั้งพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง, ทั้งเปนผู้อุปถัมภ์กวี, และเปนกวีเองด้วย, ดั่งจะได้แสดงต่อไปข้างหน้า. ยังมีพระราชาอีกองค์หนึ่งในยุคเดียวกัน, คือพระเจ้ามเหทรวิกรมวรมัน, ผู้ครองปัลลวราษฏร์, ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องละคอนขัน เรียกว่า “มัตตวิลาส.” พระเจ้ายโศวรมัน, ผู้ทรงราชย์ณกรุงกันยากุพชะ (ราว พ.ศ. ๑๒๗๘) และซึ่งเปนผู้อุปถัมภ์ภวภูติรัตนกวี, ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องละคอนชื่อ “รามาภยุทัย,” กับมีฉันท์อีกหลายบทที่ยังมีอยู่. ในหลักศิลาจารึกของพระเจ้าชัยเทพแห่งเนปาลราษฏร์ (ในศตวรรษที่สิบสามแห่งพุทธศก), มีฉันท์อยู่แปดบท ซึ่งเปนของพระราชาองค์นั้นทรงพระนิพนธ์เอง. มีข้อความกล่าวไว้ว่ากษัตร์องค์หนึ่งแห่งวงศ์กลจุรี, มีพระนามว่ามายุราช (ใน ศตวรรษที่สิบสามหรือสิบสี่แห่งพุทธศก), ได้ทรงแต่งละคอนเรื่องหนึ่ง ชื่อ “อุทาตฺตราฆว,” แต่หามีใครพบหนังสือไม่. พระเจ้าอโมฆวรรษที่หนึ่ง ผู้ทรงราชย์ในทักษิณเทศเมื่อ พ.ศ. ๑๓๕๘ ถึง ๑๔๑๐, บางทีจะได้ทรงเปนกวีเองด้วย, และได้เปนผู้อุปถัมภ์กวีนั้นแน่นอน. พระราชาผู้เปนกวีและเปนผู้อุปถัมภกวีด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่อยู่ที่พระเจ้ามุญชะ (พ.ศ. ๑๕๑๗ ถึง ๑๕๓๘), กับพระเจ้าโภชะ (ต้นแห่งศตวรรษที่สิบหกแห่งพุทธศก), พระนามแห่งพระราชาทั้งสององค์นี้มีปรากฏควบอยู่กับพระนามแห่งพระเจ้ ศรีหรรษวรรธนะ และพระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์, ในหนังสือชื่อ “อุทยสุนฺทรีกถา” ของกวีชื่อโสฑฺฒล (ในศตวรรษที่สิบหกแห่งพุทธศก), ว่าเปนตัวอย่างแห่งพระเจ้าแผ่นดินและกวินทร์ด้วย. ต่อลงมาอีก, ในศตวรรษที่สิบเจ็ดแห่งพุทธศก, มีหลักฐานแน่นอนว่ามีพระราชาอีกองค์หนึ่ง ซึ่งได้ทรงแต่งเรื่องละคอน, คือพระเจ้าวิครหะราชเทพ, แห่งนครศากัมภรีในแคว้นราชปุตานะ. ในอักษรจารึกภาษาสันสกฤต, ซึ่งได้มีผู้ค้นพบที่อาชมีร์, ประกอบด้วยพระราชานุมัติ และปรากฏว่าจารึกใน พ.ศ. ๑๖๙๖ มีบางท่อนแห่งบทละคอนเรื่องชื่อ “หรเกลินาฏก” เปนคำร้อยแก้วกับฉันท์, ซึ่งทรงพระนิพนธ์เอง. พระเจ้าอรชุนวรมัน, ปรมารราช, ซึ่งทรงราชย์ในศตวรรษที่สิบแปดแห่งพุทธศก, ได้ทรงพระนิพนธ์คัมภีร์ชื่อ “รสิกสัญชีวนี” เปนอรรถกถาแห่งคัมภีร์อมรุศตก; และในหนังสือนี้ได้กล่าวถึง “พระชนกมุญชราช.”

นอกจากหนังสือภาษาสันสกฤต ยังมีหนังสือภาษาอื่นซึ่งพระราชาในภารตวรรษได้ทรงพระนิพนธ์. “ท้าวตีมูรลัง, ซึ่งได้ตีกรุงเฑลหิเมอ พ.ศ. ๑๙๔๑, และเปิดทางให้กษัตร์วงศ์มุฆัล (ชาติตุรกีจากประเทศตุรกิสตาน) ได้เปนราชาธิราชในภารตวรรษ, ได้นิพนธ์ประวัติของพระองค์เองเปนภาษาตุรกีและอิหร่าน. พระเจ้าบาบรมมหาราช, ประถมกษัตริยราชวงศ์มุฆัลซึ่งเปนราชาธิราชในภารตวรรษ, ได้ทรงพระนิพนธ์ประวัติของพระองค์เอง, และทรงพระนิพนธ์ดีทั้งร้อยแก้วและกาพย์, ทั้งภาษาตุรกีและภาษาอิหร่าน. พระปนัดดา, ผู้ทรงพระนามว่าพระเจ้าชหางคีร์ และซึ่งชนมักเรียกกันว่า “มหามุฆัล” ก็ได้ทรงแต่งประวัติของพระองค์เหมือนกัน.

ตั้งแต่โบราณสมัยมาจนทุกวันนี้ ชาวภารตวรรษย่อมนิยมกันว่า พระราชาธิบดีต้องทรงมีอภินิหารในกิจการทุกอย่าง, และการประพันธ์เปนอภินิหารอย่างหนึ่ง อันพึงปรารถนา, จึงมักมี ข้อความเช่นนั้นอยู่ในคำยอพระเกียรติพระราชาธิบดี ความนิยมในข้อนี้ก็ได้เผยแผ่มาถึงเมืองไทยเราบ้างเหมือนกัน, จึ่งมีผู้นิยมยกยอพระเกียรติแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเปนกวีเองหรือทรงอุปถัมภ์กวีและนักปราชญ์เสมอมา.

(ข) กล่าวถึงพระเจ้าศรีหรรษเทพในหน้าที่กวี.

ต่อนี้จะแสดงหลักฐานว่า พระเจ้าศรีหรรษเทพเปนกวี. ตามที่ได้แสดงมาแล้ว, พระราชาธิบดีที่เปนกวีก็ได้เคยมีมาหลายองค์, ทั้งก่อนและภายหลังยุคของพระเจ้าศรีหรรษเทพ, ฉะนั้น ดูก็ไม่น่าจะสงสัยว่าพระเจ้าศรีหรรษเทพก็อาจเปนกวีได้เท่ากัน. พยานคนแรกที่เราจะอ้างณที่นี้ คือ กวีผู้มีนามว่าพาณะ.

พาณะผู้นี้เปนกวีซึ่งอยู่ในพระราชูปถัมภ์และประจำอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ. ในหนังสือชื่อ “หรรษจริต” แสดงประวัติของพระราชาธิบดีองค์นั้น, พาณะได้กล่าวไว้สองแห่งถึงความทรงชำนาญในกาพย์ประพันธ์. ในคำนำซึ่งแต่งเปนโศลกยี่สิบเอ็ดบท, พาณะกล่าวถึงกวีต่าง ๆ จนถึงที่สุด (ในโศลกที่สิบแปด) จึ่งกล่าวถึง “อาฒยราช” (“ราชาผู้มั่งมี”) พระองค์ผู้ทรงอุปถัมภ์ตนเองนั้น, ว่าเปนกวีเลิดผู้หนึ่ง ดังมีข้อความตามภาษาสันสกฤตว่า :

“อาฒยราชกฤโตตฺสาไหรฺ หฤทยสฺไถะ สฺมฤไตรปฺ I

“ชิหฺวานฺตะ กฤษฺยมาเณว ณ กวิตฺเว ปฺรวรฺตเต II”

แปลว่า : “ลิ้นของข้าพเจ้านี้ดูชะงักไปไม่อาจพูดเพราะพระอุตสาหะนั้น ๆ ซึ่งพระเจ้าอาฒยราชได้ทรงกระทำมาแล้ว แม้เมื่อเปนแต่เพียงที่จำได้ว่าฝังอยู่ในใจของข้าพเจ้า, และ (ลิ้น) ไม่สามารถจะกล่าวกาพย์ต่อไป (ให้เพียงพอ).”

ในโศลกที่ยี่สิบเอ็ด พาณะออกพระนามพระเจ้าศรีหรรษเทพโดยตรง, แล้วจึ่งแต่งเปนร้อยแก้วแถลงประวัติบนต้นของพระราชาธิบดีองค์นั้น. ในตอนที่เปนร้อยแก้วนั้นมีข้อความแสดงไว้โดยแจ่มแจ้งถึงสองแห่ง, ว่าพระเจ้าศรีหรรษเทพเปนกวีผู้ปรีชายิ่ง. แห่งหนึ่ง, เมื่อแสดงถึงพระคุณสมบัติของพระเจ้าศรีหรรษเทพ, พาณะกล่าวว่า: “อปิ จาสฺย….กวิตฺวสฺย วาจะ….น ปริยาปฺโต วิษยะ,” มีความว่า: “ความทรงชำนาญในเชิงกาพย์แทบจะไม่มีถ้อยคำพอที่จะแสดงได้;” อีกแห่งหนึ่ง พาณะกล่าวถึงการที่พระราชาธิบดีองค์นั้นทรงแต่งข้อความอันแปลก, ว่าดั่งนี้: “กาวฺยกถาสฺวปีตมมฤตมุทฺวมนฺตมฺ,” มีความว่า: “พระองค์ทรงรินอมฤตอันมิได้ดื่ม (มาจากแห่งอื่น) ลงในทั้งกาพย์และร้อยแก้ว.”

ยังมีพะยานอื่น ๆ ที่อาจอ้างได้อีก. รายหนึ่ง คือนักประพันธ์จีนผู้ถือพระพุทธศาสนาอีกคนหนึ่งชื่ออิเช็ง, ผู้ที่ได้ไปอยู่ในภารตวรรษหลายปี, เขียนข้อความปรากฏว่า ได้จากประเทศจีนไปตั้งแต่ พ.ศ. ๑๒๑๔ ถึง ๑๒๓๘. ในจดหมายเหตุของอิเช็งนี้มีข้อความกล่าวไว้ว่า: “พระเจ้าศีลาทิตย์โปรดหนังสือยิ่งนัก;” และกล่าวด้วยว่า, นอกจากได้มีพระดำรัสสั่งให้รวบรวมกาพย์เปนอันมาก “พระเจ้าศีลาทิตย์ได้ทรงนิพนธ์กาพย์เรื่องพระชีมูตวาหนโพธิสัตว์, ซึ่งได้ยอมสละพระองค์แทนนาคตนหนึ่ง; กาพย์นี้ได้จัดเข้าเครื่องดนตรีและเครื่องเป่า, พระองค์ได้โปรดให้ชนพวกหนึ่งเล่นเรื่องนี้ ประกอบด้วยการฟ้อนรำทำท่า ซึ่งทำให้มีผู้รู้จักเรื่องนั้นมากในยุคของพระองค์.” ข้อความนี้คือกล่าวถึงนาฏกะภาษาสันสกฤตชื่อ “นาคานนท์,” ซึ่งปรากฏอยู่ว่าเปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ,

อีกรายหนึ่งคือกวีชื่อทาโมทรคุปต์, ผู้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าชยาปีฑะ, ผู้ทรงราชย์ในแควนกาษมีร์ (พ.ศ. ๑๓๔๓), ได้กล่าวอ้างถึงข้อความบางตอนจากเรื่อง “รัตนาวลี,” ซึ่งกล่าวว่าเปนพระนิพนธ์ของพระราชาธิบดีพระองค์หนึ่ง. (“รัตนาวลี” เปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษเทพ)

ยังมีพยานอีกรายหนึ่ง คือกวีผู้ชื่อโสฑฺฒล, ซึ่งได้ออกนามมาแล้วข้างบนนี้ ในหนังสือของโสฑฺฒล มีข้อความกล่าวไว้เปนคำฉันท์วสันตดิลกดั่งนี้ว่า :

“ศฺรีหรฺษ อิตฺยวนิวรฺติษุ ปารฺถิเวษุ

“นามฺไนว เกวลมชายต วสฺตุตสฺ ตุ I

“คีรฺหรฺษ เอษ นิชสํสทิ เยน ราชฺา

“สมฺปูชิตะ กนกโกฏิศเตน พาณะ II”

“แปลว่า : “ในหมู่เจ้านายซึ่งมีอยู่ในแผ่นดินนั้น ได้เกิดมีขึ้นองค์หนึ่งซึ่งเรียกกันโดยพระนามว่าศรีหรรษะ; แต่แท้จริงพระองค์นั้นเปนคีรหรรษะ (คือ “มีถ้อยคำอันทำให้เกิดความหรรษา”) ในที่ชุมนุมของพระองค์_เปนพระราชาผู้บูชาพาณะด้วยทองร้อยโกฏิ์.”

นอกจากนี้ยังหาหลักฐานได้อีกคล้ายกัน, เช่นพระเจ้าชัยเทพแห่งเนปาลราษฏร์, ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างบนนี้, ได้ควบพระนามของพระเจ้าศรีหรรษเทพกับภาสะและกาลิทาสรัตนกวีด้วย, กับพาณะและมยูรด้วย กับกวีชื่อโจระด้วย. กวีอีกคนหนึ่งชื่อ มธุสูทนะ (พ.ศ. ๒๓๙๗) ออกพระนามพระราชาธิบดีองค์นั้นว่า :

“มาลวราชสฺโยชฺชยินีราชธานีกสฺย กวิชนมูรฺธนฺยสฺย รตฺนาวลฺยาขฺยนาฏิกากรฺตุรฺ มหาราชศฺรีหรฺษสฺย.”

แปลว่า : “พระมหาราชศรีหรรษะ, ผู้เปนใหญ่ในกวีทั้งหลาย, ผู้ทรงแต่งนาฏิกาเรื่องรัตนาวลี, ผู้เปนมาลวราช, มีกรุงอุชชยินีเปนราชธานี.”

ในหนังสือรวบรวมกาพย์ต่าง ๆ, ชื่อ “สุภาษิตรตฺนภาณฺฑาคาร” มีฉันท์อยู่บทหนึ่ง ซึ่งออกพระนามพระเจ้าศรีหรรษเทพอยู่ในจำพวกกวีหลายคน, “ผู้ที่ได้กระทำให้โลกนี้บันเทิงด้วยกาพย์ของเขาทั้งหลาย.”

นอกจากหลักฐานที่ได้แสดงมาแล้วข้างบนนี้ ยังมีข้อความปรากฏอยู่ในแผ่นทองแดงจารึกอีกสองแผ่น, แผ่นหนึ่งเรียกว่า “พันสเขระบัฏ” (พ.ศ. ๑๑๗๑) ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าศรีหรรษเทพเอง; กับอีกแผ่นหนึ่งเรียกว่า “มธุพันบัฏ” (พ.ศ. ๑๑๗๓), ซึ่งไม่มีพระราชหัตถเลขากำกับ. พระอภิไธยที่มีกำกับอยู่ในพันสเขระบัฏนั้น มีข้อความแสดงไว้แจ่มแจ้งว่า “สฺวหสฺโต มม มหาราชาธิราชศฺรีหรฺษสฺย,” แปลว่า: “ลายมือของเราเอง มหาราชาธิราชศรีหรรษะ,” และลายพระหัตถ์นั้นงามและแสดงว่าได้ทรงศึกษาอย่างดีจริง. อักษรจารึกในแผ่นทองแดงทั้งสองนี้ว่าด้วยการยกที่ดินประทาน, เห็นได้ว่าพระราชาองค์นั้นได้ทรงพระนิพนธ์เอง, มีข้อความแสดงเปนร้อยแก้วประกอบกับฉันท์, เปนของที่ควรสังเกตอยู่ทั้งสองแผ่น.

ฉันท์บทหนึ่ง, คณะศารฺทูลวิกฺรีฑิต (สทฺทุลวิกฺกีฬิต), กล่าวถึงการที่พระเจ้าราชยวรรธนะผู้เปนพระเชษฐา ได้เสียพระชนมชีพเพราะความทุจริตแห่งศัตรู, และน่าเชื่อว่าเปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษเทพเอง. ฉันท์อีกบทหนึ่ง, คณะวสนฺตติลกา (วสันตดิลก), กล่าวถึงความโชคดีว่าไม่เที่ยงเปรียบเหมือนฟ้าแลบหรือฟองน้ำ, สอนเชื้อพระวงศ์และคนอื่น ๆ ให้ช่วยประพฤติให้การบำเพ็ญทานของพระองค์เปนไปสมพระราชประสงค์, ต่อฉันท์บทนี้มีข้อความเปนโศลกว่า:

“กรฺมณา มนสา วาจา กรฺตวฺยมฺ ปฺราณิเน หิตมฺ) I

“หรฺเษไณตตฺ สมาขฺยาตํ ธรฺมารฺชนมนุตฺตมมฺ II

แปลว่า: “ด้วยความประพฤติ, ใจ, และวาจา, เราควรจะทำประโยชน์แก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่; ข้อนี้แล พระเจ้าหรรษะได้ตรัสว่าเปนหนทางอันประเสริฐสุดที่จะได้รับผลดียิ่งในทางธรรม.”

คำจารึกในแผ่นทองแดงทั้งสองนี้เปนพะยานหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่าพระเจ้าศรีหรรษเทพทรงเปนกวีผู้เชี่ยวชาญ.

แต่หลักฐานที่เปนพยานสำคัญที่สุด เพื่อแสดงความสามารถของพระเจ้าศรีหรรษเทพในเชิงประพันธ์ คือเรื่องละคอนสามเรื่อง, คือ “ปรียทรรศิกา,” “รัตนาวลี” และ “นาคานนท์.” ในตอนเบิกโรงทั้งสามเรื่อง มีข้อความแสดงไว้ชัดเจน ว่าเปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำคล้ายคลึงหรือเหมือนกันในเรื่องละคอนทั้งสามเรื่องนั้น, ซึ่งแสดงว่าคนเดียวกันแต่ง, จริงอยู่ ได้มีผู้กล่าวอยู่บ้างว่าเรื่องละคอนทั้งสามนั้น, หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยจำเพาะ, เปนฝีปากของกวีอื่นซึ่งอาศัยพระนามพระเจ้าศรีหรรษเทพ, และได้รับบำเหน็จรางวัลมาก ๆ ด้วย. แต่คำพูดเช่นนี้ย่อมมีผู้กล่าวไม่จำเพาะแต่ในภารตวรรษ, เพราะมีบุคคลบางคนไม่ใคร่เต็มใจจะเชื่อเลยว่า พระราชาธิบดีอาจมีความสามารถในทางแต่งหนังสือ. แต่ว่านักปราชญ์ทั้งชาวภารตวรรษเองและชาวยุโรป, ได้พิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วและลงเนื้อเห็นว่าควรเชื่อได้ว่า พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะเปนนักประพันธ์และกวีจริง, และได้ทรงแต่งละคอนสามเรื่องนั้นจริง.

  1. ๑. ที่กล่าวว่าอุชชยินีเปนราชธานีของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้นผิด, เพราะที่แท้ราชธานีคือสถาเนศวรก่อน, แล้วย้ายไปอยู่ที่กันยากุพชะ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ