ตอนที่หก
ว่าด้วยบุษปชาติและพฤกษชาติที่ออกนามในเรื่อง “ปรียทรรศิกา”
ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” มีกล่าวถึงดอกไม้และต้นไม้หลายชะนิด, ซึ่งบางอย่างข้าพเจ้าก็ได้แปลนามเปนภาษาไทย, แต่บางอย่างนามภาษาไทยไม่เพราะหรือไม่เหมาะแก่ที่จะใช้ในกวีนิพนธ์ก็ต้องใช้ออกนามภาษาสันสกฤต. เพื่อช่วยความเข้าใจของผู้อ่าน ข้าพเจ้านำบัญชีนามแห่งบุษปชาติและพฤกษชาติมาลงไว้ณที่นี้, ลำดับตามอักษรานุกรม. ในการเรียบเรียงตอนนี้ ข้าพเจ้าได้อาศัยบัญชีที่มีอยู่ในฉะบับภาษาอังกฤษเปนหลัก, และใช้คำแปลนามพฤกษชาติเปนภาษาไทยตามที่มีอยู่ในหนังสือ “ปาลีสยามอภิธาน,” ของ “นาคะประทีป.” (ม. = มคธ ล. = ละติน.)
บัญชีบุษปชาติและพฤกษชาติ.
อมฺโภรุห : ดู “กมล.”
อุตฺปล : (ม. อุปฺปล; ล. Nymphaea) ดอกบัวสามัญ; อุบล.
กทลี : (ล. Musa sapientum) กล้วย.
กมล : (ล. Nelumbium speciosum) ดอกบัวหลวง.
กมลินี : กอบัวหลวง.
กุวลย : ดอกบัวสาย. ดู “อุตฺปลฺ”
กุสุม : ดอกไม้
คุลฺม : (ม. คุมฺพ) กอไม้.
ตมาล : (ล. Xanthochymus pictorius) “นาคะประทีป” แปลไว้ว่า “เต่าร้าง, หมาก คูน.” ในคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส, อาจารย์ภาษาละตินที่วิทยาลัยแห่งนครนิวยอรก, ซึ่งมีอยู่ในภาคนำแห่ง “ปรียทรรศิกา” (ฉะบับภาษาอังกฤษนั้น, มีข้อความดั่งต่อไปนี้ :-
“เปนต้นไม้ขนาดกลาง. ปทานุกรมเสนต์ปีเตอร์สเบอร์คกล่าวว่า : ‘Xanthochysmus pictorius Roxburghi; ดอกเปนสีขาว.’ อัปเตว่า ‘นามแห่งต้นไม้เปลือกสีคล้ามมาก.’ มอเนียร์วิลเลียมส์ ว่า: ‘เปลือกสีคล้าม, ดอกขาว, Xanthochysmus pictorius; อีกนัยหนึ่ง เปนต้นขทิรดำชะนิดหนึ่ง’ ฮุเกอร์เรียกว่า ‘Garcinia Xanthochysmus’ และว่าดอกสีขาว.”
ตามข้อความใน “ปรียทรรศิกา” องก์ที่สองหน้า ๒๗ วิทูษกพูดถึงต้นตมาล ว่าปลูกไว้ในส่วนสำหรับบังแดด. ถ้าหากว่าจะตกลงแปล ตมาล ว่าเต่าร้างตาม “นาคะประทีป” ข้าพเจ้ายังรู้สึกไม่สู้แน่ใจ, เพราะไม่เคยเห็นเขาปลูกเต่าร้างขึ้นโดยจงใจณแห่งไรเลย, และข้าพเจ้ารับสารภาพด้วยว่าใจไม่สมัครให้เปนเต่าร้าง. ถ้าเปนตามคำอธิบายของมอเนียร์วิลเลียมส์, คือเปน “ต้นขทิร” ชะนิดหนึ่ง, ก็จะค่อยยังชั่ว, เพราะ “ขทิร” อาจจะแปลได้ว่าต้นพะยอม, และพะยอมเปนต้นไม้ที่น่าปลูกไว้ในสวนหลวง.
นลินี : ดอกบัวหลวง; กอบัวหลวง; ที่มีบัวหลวงชุม.
นีโลตฺปล : (Nymphaea Cyanea) ดอกบัวสีน้ำเงิน; นิโลบล.
ปงฺกช : ดอกบัวหลวง; บงกช.
ปทฺม : (ม. ปทุม), ดอกบัวหลวง.
ปลฺลว : ข้อแห่งต้นไม้, กิ่งเล็ก, ดอกตูม.
พกุล : (ล. Mimusops Elengi), ตามคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส ว่า: “ต้นนี้มีใบสีคล้าม, สดเสมอ, รูปยาว, และมีดอกสีน้ำตาลอ่อน กลิ่นหอมหวาน, ขนาดย่อมๆ “นาคะประทีป” ไม่ได้แปลได้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าจะแปลว่า “พิกุล” คงไม่ผิด
พนฺธุชีว : ดู “พนฺธูก.”
พนฺธูก : (ล. Pentapetes phoenicea) “นาคะประทีป” แปลว่าชบา.
มาลตี : (ล. Jasminum grandiflorum), ดอกมะลิซ้อน.
ศิรีษ : (ม. สิรีส; ล. Mimosa Sirissa, หรือ Acacia Speciosa), “นาคะประทีป” แปลว่า “ไม้ซึก.” ได้ความตามคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส ว่า : “สูงที่สุด ๓๐ ฟิต, โตโดยรอบ ๔ ฟิตกึ่ง, สูงแต่พื้นถึงค่าคบที่หนึ่งประมาณ ๒๒ ฟิต.”
เศผาลิกา : (ม. เสผาลิกา; ล. Nyctanthes Arbor-tristis) “นาคะประทีป” แปลว่า “สุพันนิกา.” ข้าพเจ้าเองสารภาพว่าไม่รู้จัก. ได้ความตามคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส ว่า: “ เปนต้นไม้ย่อม ๆ น่าเอ็นดู, ใบเปนสะเก็ดคาย ๆ มีดอกหอมแต่กลิ่นหายเร็ว…….….ดอกของมันซึ่งเปนสีแสดกับขาว ส่งกลิ่นหอมหวานมาก ในเวลาพลบค่ำแล้วร่วงพรู ๆ” (น่าจะเปนกัณณิกากระมัง?)
สปฺตจฺฉท : (ล. Echites Scholaris, หรือ Alstonia Seholaris) ต้นตีนเป็ด.
สปฺตปรฺณ : (ม. ฉตฺตปณฺณ), อย่างเดียวกับ “สปฺตจฺฉท,” ต้นตีนเป็ด