ตอนที่หนึ่ง

ว่าด้วยประวัติและรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ

หลายร้อยปีก่อนรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ได้มีประวัติการสำคัญทางรัฐประศาสน์และบ้านเมืองในภารตวรรษ (อินเดีย), ซึ่งเปนการเปลี่ยนแปลง, ก่อใหม่, รุ่งเรือง, และเสื่อม, ตามลำดับแห่งการผลัดราชวงศ์และผู้ทรงอำนาจ ความมุ่งหมายของผู้ที่ก่อใหม่ย่อมมีอยู่เหมือนกัน, กล่าวคือการรวบรวมราชอาณาจักรให้เปนปึกแผ่น โดยประดิษฐานอำนาจปกครองใหญ่ขึ้นในอุดรเทศแห่งภารตวรรษ, และถ้าสามารถจะทำได้, ก็แผ่เผยความปกครองลงไปถึงทักษิณเทศด้วย. ความรุ่งเรืองขึ้นในทางอำนาจแห่งพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะในศตวรรษที่สิบสองแห่งพุทธศกนั้น ก็เปนตัวอย่างอันหนึ่งแห่งความมุ่งหมายก่อราชอาณาจักรอย่างที่ว่ามาแล้ว, และรัชชสมัยของขุนหลวงองค์นั้นนับว่าเปนยุคสำคัญยุคหนึ่งในตำนานแห่งภารตวรรษ.

ตำนานแห่งภารตวรรษก่อนรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้น จะกล่าวแต่โดยย่อพอเปนสังเขป, จำเดิมแต่เมื่อเริ่มราชอาณาจักรที่หนึ่ง คืออาณาจักรของกษัตร์วงศ์เมารยะ (โมระ), พ.ศ. ๒๒๑, ซึ่งมีพระเจ้าจันทรคุปต์ (จันทคุตต์) กับพระเจ้าอโศกเปนพระเจ้าจักรพรรดิราชาธิราชผู้ทรงเกียรติศักดิ์ยิ่งในราชวงศ์นั้น. ในยุคต่อนั้นลงมา ได้เกิดมีราชอาณาเขตต์ขึ้นเปนหลายราย, มีกษัตร์หลายวงก็ได้แก่งแย่งผลัดกันขึ้นเปนใหญ่, กษัตร์วงศ์โยนกและปาร์ถิยาผู้ทรงราชย์ทางชายแดนภาคพายัพเปนต้น, จนได้มีพวกกุษาณ, หรือส๎คิถิยา - Scythian ยกเข้าไปช่วงชิงอำนาจและได้ถืออำนาจไว้ได้จนถึงยุคแห่งพระเจ้ากนิษกะ(กนิกฺกะ) จักรพรรดิราชในศตวรรษที่หกแห่งพุทธศก. ต่อนั้นมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปอีกจนถึงประมาณ พ.ศ. ๘๖๓, เมื่อความเปนใหญ่ในอุดรเทศแห่งภารตวรรษได้ตกไปอยู่ในมือแห่งกษัตร์ราชวงศ์คุปตะ ซึ่งรักษาไว้ได้กว่าร้อยปี. ยุคแห่งคุปตะกษัตร์นั้นแลเปนยุครุ่งเรืองแท้จริงแห่งภารตวรรษ, เปนยุคสำคัญแห่งวรรณคดีสันสกฤต, มีกาลิทาสเปนรัตนกวีผู้มีเกียรติคุณยวดยิ่ง. ความเสื่อมแห่งอำนาจของราชวงศ์คุปตะได้เริ่มมีเมื่อราวพ.ศ. ๙๙๘, เพราะความรุกราญแห่งชนชาติหูนะ, หรือฮั่น, ซึ่งทำให้บังเกิดมีความจลาจลยิ่งขึ้น และคงยุ่งเหยิงอยู่อีกราวร้อยปี, พวกคนป่าเหล่านั้นจึ่งได้ถูกขับออกไปพ้นภารตวรรษ. กิจการขั้นท้ายที่ทำให้ชนชาติหูนะต้องล่าถอยไปนั้น เพราะได้ปราชัยพ่ายแพ้แก่พระราชบิดาและพระเชษฐาของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ส่วนพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะได้เปนผู้ก่อมหาราชอาณาจักรขึ้นใหม่ในอุดรเทศแห่งภารตวรรษ.

พระเจ้าศรีหรรษเทพ, หรือเรียกโดยเต็มว่าศรีหรรษวรรธนเทพ, เปนเชื้อกษัตร์สืบสันตติวงค์ต่อเนื่องกันลงมาหลายชั้นแล้ว, พระอัยยิกาทางฝ่ายพระบิดาเปนเจ้าหญิงราชตระกูลคุปตะ กษัตร์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้นใช้นาม “วรรธนะ” เปนนามสำหรับตระกูล.

พระบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าประภากรวรรธนะ, ทรงราชย์ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๒๗ ถึง ๑๑๔๘, เปนราชาผู้ใฝ่สูงในทางอำนาจ, เสวยราชย์ณกรุงสถาเนศวร (ฮินดูสตานิเรียก ฐาเนศร), ได้กระทำศึกมีชัยชำนะกษัตร์ผู้ครองแคว้นใกล้เคียงในดินแดนภาคปรัศจิมและพายัพหลายคราว, ซึ่งเปนเหมือนก่อรากสำหรับสถาปนาราชอาณาจักรขึ้นใหม่แทนที่ราชอาณาจักรของคุปตะกษัตร์. ราชกิจอันท้ายของพระเจ้าประภากรวรรธนะในทางสงครามคือได้ส่งพระโอรสองค์ใหญ่, ทรงนามว่าราชยวรรธนะ (ผู้มีชนมายุแก่กว่าหรรษวรรธนะสี่ปี), ไปรบพวกหูนะที่ยังคงเหลืออยู่บ้างทางชายแดนภาคพายัพ. ใน พ.ศ. ๑๑๔๘ นั้นเอง พระเจ้าประภากรวรรธนะได้เสด็จทิวงคต.

พระเจ้าราชยวรรธนะ, ผู้มีพระชนมายุราว ๑๙ พรรษา, ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สนองพระองค์พระราชบิดา. กิจการบั้นต้นแห่งพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้คือกระทำงานสงครามต่อพระเจ้านคร าลวา, ผู้ที่ได้ปลงพระชนมชีพพระสวามีแห่งพระภคินีของพระเจ้าราชยวรรธนะ และจับพระองค์พระภคินี, ผู้มีพระนามว่าราชยศรี, ไปกักไว้ณกรุงกันยากุพชะ, ซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่า “กะเนาช.” ในงานสงครามครั้งนี้พระเจ้านครมาลวาปราชัย; แต่เมื่อเสร็จการยุทธ์ครั้งสุดท้ายแล้ว, และกำลังเจรจาปรึกษาการหย่าศึกอยู่นั้น, ท้าวศศางกะ, ผู้ครองแคว้นพังคะ, ผู้เปนสัมพันธมิตรของพระเจ้ามาลวา, ได้ปลงพระชนมชีพพระเจ้าราชยวรรธนะเสียโดยอาการทุจริต. ฝ่ายพระนางราชยศรีหนีรอดได้จากกันยากุพชะ และไปซ่อนเร้นอยู่ในดงวินธยะ.

อมาตย์ทั้งปวงในกรุงสถาเนศวรจึ่งพร้อมกันอัญเชิญพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, ซึ่งในเวลานั้นมีพระชนมายุได้ราว ๑๖ หรือ ๑๗ พรรษา, ขึ้นทรงราชย์ณเดือนอัศวยุชมาส (อัสสยุชมาส), คือตุลาคม, พ.ศ. ๑๑๔๙; และในภารตวรรษนับวันนี้เปนวันเริ่มแห่งศักราชที่เรียกว่า “ หรรษสํวัตสร.” ในต้นรัชชสมัยนี้, จะเปนด้วยเหตุไรไม่ปรากฏชัด (จะเปนด้วยถือว่าเปนผู้สำเร็จราชการแทนพระโอรสของพระเชษฐา, หรือเพราะถือว่าทรงราชย์ร่วมกันกับพระภคินีก็ไม่แน่), พระเจ้าศรีหรรษเทพหาได้ใช้พระนามว่าราชาไม่, แต่คงใช้พระนามของพระองค์ว่า “ พระศีลาทิตยกุมาร.”

ราชกิจอันเร่งร้อนที่สุดของพระศีลาทิตยกุมารนั้น คือการติดตามหาพระภคินีกลับคืน พระนางนั้นได้มีผู้ตามพบที่ในดงวินธยะในขณะเมื่อตกระกำลำบากมากจนแทบจะไม่คงครองพระชนมชีพเสียแล้ว. ครั้นเมื่อได้กลับคืนสู่พระนครสถาเนศวรโดยสวัสดิภาพแล้ว, พระนางราชยศรีก็ได้ปฏิบัติพระอนุชาด้วยความภักดียิ่ง, และได้โน้มน้าวพระหฤทัยของพระอนุชาให้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา, ซึ่งพระนางเองทรงถือมั่นอยู่แล้ว. ยังมีกรณียะอีกอย่างหนึ่งซึ่งพระศีลาทิตยกุมารได้ทรงกระทำ, คือลงโทษท้าวศศางกะผู้ได้ปลงพระชนมชีพพระเชษฐา. ตามตำนานไม่ปรากฏข้อความพิสดารเรื่องสงครามที่พระเจ้าศรีหรรษเทพได้กระทำต่อท้าวศศางกะ, คงปรากฏแต่ว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๒ ท้าวศศางกะยังคงครองแว่นแคว้นอยู่, แต่ต่อนั้นมา แว่นแคว้นนั้นได้มารวมอยู่ในราชอาณาจักรของพระเจ้าศรีหรรษเทพ. บางทีจะเปนด้วยท้าวศศางกะได้ยอมอ่อนน้อมเปนข้า จึ่งรอดชีวิตและไม่ถูกถอดก็เปนได้, แต่ก็หาหลักฐานประกอบมิได้. ข้อความที่รู้แน่มีอยู่คือ พระเจ้าศรีหรรษเทพนั้น, พอได้ทรงราชย์แล้วก็ได้เริ่มดำเนินพระราโชบายในทางที่จะแผ่อำนาจในอุดรเทศแห่งภารตวรรษโดยกระทำศึกหลายคราว. นักประพันธ์จีนผู้หนึ่งชื่อฮ่วนจวง, ซึ่งได้ไปสู่การตวรรษเพื่อบูชาพระบรมธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ณ ที่ต่าง ๆ, ได้กล่าวไว้ว่า “พระองค์ได้เสด็จผ่านจากตะวันออกไปตะวันตก ทรงบำราบบรรดาผู้ไม่อ่อนน้อม; บรรดาช้างมิได้แก้เครื่อง, และบรรดาทหารก็มิได้เปลื้องเกราะเลย.” ความชำนะแห่งพยุหแสนยากรอันใหญ่หลวงและเก่งกาจยิ่งของพระองค์นั้นให้ผลภายในหกปีนับแต่เมื่อได้ขึ้นทรงราชย์. คือพระเจ้าศรีหรรษเทพได้สามารถประกาศพระองค์เปนสมเด็จพระมหาราชาธิราชทรงอำนาจบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๕๕.

ต่อแต่นี้ไป กิจการสำคัญในรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, ซึ่งเปนเวลายืนนานถึงสามสิบปีเศษ, ก็มีการรบ, การจัดบ้านเมือง, และการรักษาความสงบ พระองค์ได้ทรงมุ่งหมายจะ แผ่ราชอาณาจักรลงไปถึงทักษิณเทศด้วย, ตามแบบแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ก่อน ๆ แต่ในความพยายามอันนี้, เมื่อราว พ.ศ. ๑๑๖๓ พระองค์ได้แพ้พระเจ้าปุลเกศินที่สอง, กษัตร์จา,ุกยะผู้ครองแคว้นมหาราษฏร์ณภาคตะวันตกแห่งทักษิณเทศ. เท่าที่มีมาในตำนาน การพยายามของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะที่จะแผ่อาณาออกไปนอกเส้นเขาวินธยะและแม่น้ำนรรมทาครั้งนั้น เปนครั้งเดียวที่พระองค์ต้องปราชัย. ในอุดรเทศ, เว้นแต่แคว้นปัญจาป, พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะคงเปนพระมหาราชาธิราชโดยเต็มที่, มีท้าวพระยาถึงสิบแปดนครเปนเมืองออก, กับมีท้าวภาสกรวรมันแห่งแคว้นกามรูป (ซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่า “อัสสัม”) ทางปลายแดนภาคตะวันออกแห่งภารตวรรษ, และท้าวธรุวภัฏ หรือธรุวเสน, แห่งแคว้นวลภี (อีกนัยหนึ่งเรียกว่าคูชระราษฏร์) ทางปลายแดนภาคตะวันตก, เปนเจ้าประเทศราชส่งบรรณาการอีกด้วย. งานราชสงครามสุดท้ายของพระเจ้าศรหรรษวรรธนะ คือการยกไปที่แคว้นคัญชาม (หรือโกงโคทะ) ชายทะเลอ่าวเบ็งคอล ทิศใต้แม่น้ำมหานทีลงไป เมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๕-๑๑๘๖ ก่อนทิวงคตสี่ปี. แต่จะได้มีงานศึกย่อย ๆ ภายหลังนั้นอีกหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ.

ในรัชชสมัยอันยืนยาวของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะนั้น ใช่จะได้มีแต่การทำศึกและชิงเมืองเท่านั้นก็หามิได้ แต่ได้มีการวางระเบียบปกครองในราชอาณาจักรที่เผยแผ่ออกไปเปนลำดับนั้น ด้วยได้ย้ายพระนครหลวงจากสถาเนศวรไปตั้งที่กรุงกันยากุพชะริมฝั่งแม่น้ำคงคา, ซึ่งได้เปนเมืองอันรุ่งเรืองขึ้นเปนอย่างยิ่งในสมัยโน้น (แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้รกร้างเสียจนแทบบอกไม่ได้ว่าตั้งอยู่ณแห่งไรแน่ เพราะได้ถูกข้าศึกทำลายเสียในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดแห่งพุทธศก). ในรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้น ได้บำรุงการศึกษาขึ้นโดยทั่วราชอาณาจักร, เพราะพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้นทรงรู้สึกอยู่ดีว่า พระเกียรติยศจะปรากฎอยู่ทั่วกาลนานได้โดยมีกวีประดิษฐานกวีนิพนธ์ขึ้นแทนอนุสสาวรีย์, ดีกว่าคำจารึกยอพระเกียรติในแผ่นโลหะหรือศิลา. การศึกษาของพระองค์เองเปนอย่างดี, และมิใช่แต่เพียงเปนผู้อุปถัมภ์กวี, ทั้งได้ทรงนิพนธ์เองด้วย.

ในทางศาสนา พระเจ้าศรีหรรษเทพก็ได้ทรงประสาทเสรีภาพโดยทั่วไป, มิได้เลือกสนับสนุนศาสนาหนึ่งและรังแกอีกศาสนาหนึ่ง. ทั้งนี้น่าจะเปนประเพณีในพระราชวงศ์นั้น, เพราะปรากฏว่าพระราชบิดาทรงบูชาทั้งพระอิศวรและพระสวิตฤ (คือพระอาทิตย์), พระเชษฐาและพระภคินีทรงถือพระพุทธศาสนา. ส่วนพระองค์เองทรงไหว้พระอิศวร พระสวิตฤ. และพระรัตนตรัยด้วย. แต่ในตอนปลาย ๆ พระชนมายุออกจะทรงฝักใฝ่ในทางพระพุทธศาสนามากกว่าลัทธิไสยศาสตร์. ข้อนี้มีปรากฏชัดอยู่ในจดหมายเหตุของฮ่วนจวง, ผู้ได้ไปอยู่ในภารตวรรษถึงแปดปีตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๗๘ ถึง ๑๑๘๖, โดยมากอยู่ภายในราชอาณาจักรของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, และในเมื่อจวน ๆ จะกลับไปเมืองจีน ได้รับประจุคมอย่างดีที่ราชสำนักของพระมหาราชาธิราชองค์นั้น.

ฮ่วนจวงผู้นี้ได้กล่าวถึงงานมหาสันนิบาตซึ่งพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะได้กระทำเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๖. ในงานนี้มีท้าวพระยาเมืองขึ้นทั้งสิบแปดเมือง อีกทั้งพระเจ้านครกามรูปและพระเจ้านครวลภีผู้เปนเจ้าประเทศราช, ไปช่วยด้วย. งานนั้นเริ่มที่กรุงกันยากุพชะก่อน, แล้วย้ายไปมีที่เมืองประยาค, ซึ่งตั้งอยู่ตรงที่แม่น้ำยมุนาไหลลงบรรจบแม่น้ำคงคา, และซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่าเมืองอัลลาหบัด. งานได้มีอยู่ถึงสองเดือนกึ่ง. ในวันที่หนึ่งแห่งงานที่ประยาคนั้น ได้มีงานฉลองพระพุทธรูป, วันที่สองฉลองเทวรูปพระอาทิตย์, และวันที่สามฉลองเทวรูปพระอิศวร. ต่อนั้นมีทรงบริจจาคทานแก่ผู้ถือศีลและไร้ทรัพย์, ทั้งพุทธศาสนิก, ทั้งพวกถือไสยศาสตร์, ทั้งพวกนิร์ครนถ์, ซึ่งได้พากันไปเปนหลายพัน, จนพระราชทรัพย์ได้จับจ่ายไปหมดสิ้น, คงเหลือไว้แต่พอสำหรับจับจ่ายในการปกครองราชอาณาจักรเท่านั้น. เมื่อถึงที่สุดแห่งงาน พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะทรงรับผ้าห่มเก่าผืนหนึ่งจากพระหัตถ์แห่งพระภคินี แล้ว และเอาไปทรงเพื่อแสดงว่าพระองค์เปนผู้ไร้ทรัพย์ส่วนพระองค์สิ้นแล้ว. งานที่ฮ่วนจวงกล่าวถึงนี้เปนงานที่กระทำเปนครั้งที่หก, เปนงานอันมีกำหนดทำห้าปีต่อครั้ง.

ในปลายรัชชสมัย พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะเปนอันได้มีเวลาสงบบ้าง ตลอดรัชชกาล พระองค์ได้แสดงพระอภินิหารทั้งในทางการศึก, ทั้งในทางรัฏฐประศาสน์, ปรากฏว่าเปนบรมราชาธิราชผู้ทรงพระเดชานุภาพประกอบกับพระเมตตาการุณยภาพอย่างเลิด. ในที่สุดได้ทรงรับความสำราญสงบพระหฤทัยเช่นเดียวกันกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกมหาราช, คือทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทรงยินดีในการบำเพ็ญพระราชกุศลเนืองนิตย์. จนสาธุชนออกพระนามว่าพระเจ้าธรรมิกราช. ครั้นถึงพ.ศ. ๑๑๙๐ พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะมหาธรรมิกราชาธิราชเสด็จทิวงคต. พอสิ้นพระองค์ไปแล้ว ก็บังเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจกันภายในราชอาณาจักร ซึ่งนับว่าได้สิ้นลงพร้อมกับพระชนมชีพของพระองค์ผู้ทรงก่อขึ้น.

  1. ๑. เมื่อใดท่านอ่านพบนามที่เขียนเปนสองอย่างเช่นนี้, ขอจงเข้าใจนามนอกวงเล็บเขียนอย่างสันสกฤต, ในวงเล็บเขียนอย่างมคธ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ