- คำนำ
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งแรก รัชกาลที่ ๕
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
- จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
- หนังสือกำหนดการรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เมืองเบตาเวีย
- จดหมายเหตุของพระวรภัณฑ์พลากร
- ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕
- ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
- ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
- ภาคผนวก ๑. (ค) เรื่อง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
- ภาคผนวก ๑. (ฆ) เรื่อง พวกจีนตั้วเฮีย
- ภาคผนวก ๒. (ก) เรื่อง สร้างวัดราชบพิธ
- ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล
- ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕
- ภาคผนวก ๔. เรื่อง นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
- ภาคผนวก ๕. คำกราบบังคมทูลของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
- ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
- ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า
ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
๑วัน ๗ ๕ฯ ๒ ค่ำ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ พ.ศ. ๒๔๑๔ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้า พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงเครื่องเต็มยศอย่างทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินลงประทับในเรือพระที่นั่งกลไฟบางกอก พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ แลข้าราชการตามเสด็จ มีรายพระนามแลชื่อ ดังนี้:-
*สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัสมี๒ ๑
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเขอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ๑
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร (กรมพระนเรค์วรฤทธิ์) ๑
* พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี (กรมหลวงอดิศรอุดมเดช) ๑
* พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ๑
* พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ๑
* เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ๑
* เจ้าพระยาภานุวงศ์ ๑
* พระยาสุรศักดิมนตรี (แสง) ๑
หม่อมเจ้าสาย (พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ๑
หม่อมเจ้าจำเริญ (ในกรมขุนราชสีห์) ๑
หม่อมเจ้าประวิช (ในกรมขุนราชสีห์) ๑
* เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (โต) ๑
* เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น) ๑
* เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย) ๑
* หลวงวิจารณ์จักรกิจ (เจิม) ๑
* หลวงสาตราธิกรณ์ฤทธิ์ (ทุ้ย)๓ ๑
* หลวงวิทยาธิกรณศักดิ์ (บุศย์)๔ ๑
* หลวงสรจักรานุกิจ (เจ๊ก)๕ ๑
* หลวงสรสิทธยานุการ (ดั่น)๖ ๑
* หลวงศัลยุทธวิธีกรรม์ (เจิม) ๑
หลวงดำรงแพทยาคุณ (แหยม)๗ ๑
* หลวงราโชวาต (แก้ว) ๑
* นายวรกิจบรรหาร (เที่ยง) ๑
* นายราชาณัตยานุหาร (พร) ๑
พระสุนทรานุกิจปรีชา (หนู)๘ ๑
พระปรีชากลการ (สำอาง)๙ ๑
* พระพิบูลย์พัฒนากร (เถียร) ๑
พระวรภัณฑ์พลากร (ทิม)๑๐ ๑
* พระชลธานพินิจจัย (ฉุน) ๑
* หลวงนายสิทธิ์ (สมบุญ) ๑
* นายพิจารณ์สรรพกิจ (สุ่น) ๑
ขุนสมุทโคจร (จู) ๑
นายแฉ่๑๑ ๑
นายเหมา๑๒ ๑
นายอั้น๑๓ ๑
พระวิสูตรสาครดิฐ (บุช) ๑
หม่อมเจ้าส่งไปสิงคโปร์๑๔ ๖
เรือพิทยัมรณยุทธ
* พระยาสมุทบุรานุรักษ์ (เนตร) ๑
* หลวงพิเศษพจนการ (สวาดิ) ๑
เรือสยามูปสดัมภ์
พระพิเรนทรเทพ (เวก)๑๕ ๑
หลวงสวัสดิโกษา (ปาน)๑๖ ๑
หลวงเสนางควิจารณ์ (โค)๑๗ ๑
ขุนศิลปานุจิตรการ (ศรีเมือง บิดาเป็นพม่า มารดาเป็นไทย เข้ามารับราชการเป็นช่างเขียน) ๑
หลวงอำนาจสุรเสนี (พลอย)๑๘ ๑
หลวงสัจจาภิรมย์ (เปาะ)๑๙ ๑
ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ (จิตร)๒๐ ๑
เวลาเที่ยงแล้ว เรือพระที่นั่งกลไฟบางกอกใช้จักรออกจากท่าราชวรดิฐ ขึ้นไปกลับที่หน้าวัดราชาธิวาส ล่องตามน้ำออกไป เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่ง ทอดสมอที่พระเจดีย์กลางน้ำ เสด็จขึ้นนมัสการพระสมุทเจดีย์แล้ว เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ออกจากปากน้ำเจ้าพระยา เรือพระที่นั่งเดินอยู่ในทะเล ๕ วัน
ณ วัน ๕ ๑๐ฯ ๒ ค่ำ เวลาเช้าถึงเมืองสิงคโปร์ ทอดตรงท่ายอนสตันเปียหน้าเมือง ประทับอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ๒ วัน
ณ วัน ๗ ๑๒ฯ ๒ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง เวลาบ่าย ๕ โมงเศษใช้จักรออกจากที่ทอดหน้าเมืองสิงคโปร์
ณ วัน ๑ ๑๓ฯ ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงที่ทอดหน้าเมืองมละกา แล้วเสด็จขึ้นทอดพระเนตรในเมืองมละกา เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง เวลาย่ำค่ำใช้จักรออกจากเมืองมละกา
ณ วัน ๒ ๑๔ฯ ๒ ค่ำ เวลา ๑๐ ทุ่มถึงที่ทอดหน้าเมืองปินัง (เกาะหมาก)
ณ วัน ๓ ๑๕ฯ ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษเสด็จขึ้นเมืองปินัง ประทับอยู่ที่เมืองปินัง ๔ วัน (เมื่อเสด็จขึ้นเมืองปินังมีการรับเสด็จ แลมีคำถวายพระพร ๆ พระวรภัณฑ์พลากรได้คัดคำแปลไว้ ได้พิมพ์ไว้ข้างท้ายจดหมายเหตุนี้)
ณ วัน ๗ ๓ฯ ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง เวลาบ่ายโมงเศษใช้จักรออกจากเมืองปินัง
ณ วัน ๒ ๖ฯ ๒ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่มถึงที่ทอดปากอ่าวเมืองมรแมน (เมาะลำเลิง)
ณ วัน ๓ ๗ฯ ๒ ค่ำ เวลาเช้าใช้จักรออกจากที่ทอดเข้าปากอ่าวเมืองมรแมน เวลาเที่ยงถึงที่ทอดหน้าโรงจักรเลื่อยไม้เมืองมรแมน เวลาบ่าย ๓ โมง ๔๓ นาที ใช้จักรออกจากที่ทอดหน้าโรงจักรเลื่อยไม้เข้าไปตามลำน้ำ (สลวิน) เมืองมรแมน เวลาบ่าย ๔ โมงเศษถึงที่ทอดหน้าเมืองมรแมน เสด็จขึ้นประทับอยู่ที่เมืองมรแมน ๒ วัน
ณ วัน ๕ ๙ฯ ๒ ค่ำ เวลาเช้าโมงครึ่งเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง แล้วใช้จักรออกจากที่ทอดหน้าเมืองมรแมน เวลา ๒ ทุ่มถึงที่ทอดปากอ่าวเมืองร่างกุ้ง ประทับอยู่ ๒ วัน
ณ วัน ๑ ๑๒ฯ ๒ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงใช้จักรออกจากที่ทอดหน้าเมืองร่างกุ้ง
ณ วัน ๕ ๑ฯ ๓ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ ถึงแซนดิเฮดหน้าปากอ่าวเมืองกลักตา เวลาเช้า ๔ โมง ๔๕ นาที ถึงแหลมเกาะซอออกกาปากอ่าวเมืองกลักตา เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๐ นาทีถึงที่โรงภาษีชั้นนอก เรียกว่าไดมันดฮาเบอ (อ่าวเพ็ชร) แล้วทอดสมออยู่ที่นั้น
ณ วัน ๗ ๓ฯ ๓ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้วใช้จักรออกจากท่าโรงภาษี แล่นเข้าไปตามลำน้ำเมืองกลักตา เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่งถึงท่าที่เสด็จ ขึ้นเมืองกลักตา ชื่อท่าเยมปรินเซป แล้วเสด็จทรงรถขึ้นไปประทับอยู่ที่โฮเต็ลหลังหนึ่งของไวสรอย (อุปราชผู้สำเร็จราชการอินเดีย) จัดไว้รับเสด็จ ประทับที่โฮเต็ลเมืองกลักตา ๙ วัน
ณ วัน ๒ ๑๒ฯ ๓ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษเสด็จจากที่ประทับโฮเต็ลไปเรือกลไฟข้ามฟาก (แม่น้ำฮุกลี) ไปฝั่งตะวันตก เวลาบ่าย ๕ โมง ๑๒ นาทีถึงฝั่งตะวันตก แล้วเสด็จขึ้นทางรถไฟไปวัน ๑ คืน ๑
ณ วัน ๔ ๑๔ฯ ๓ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงเศษถึงสเตชั่นที่หยุดรถไฟเมืองเดลีแล้ว เสด็จลงจากรถไฟขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ไปตามทางสถลมารค เวลาเช้า ๓ โมงเศษถึงที่ประทับเต๊นต์ใหญ่เหมือนค่ายหลวงรูปเป็นกระโจม ประทับแรมอยู่ที่เต๊นต์เมืองเดลี ๗ วัน
ณ วัน ๓ ๕ฯ ๓ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมงครึ่ง เสด็จจากที่ประทับเมืองเดลี ขึ้นทรงรถม้ามาตามทางสถลมารค เวลาเช้า ๕ โมงถึงที่รถไฟ เสด็จขึ้นรถไฟ ๆ ใช้จักรออกจากที่ไปตามระยะทาง ๖ ชั่วโมง ถึงที่หยุดรถไฟเมืองอาคราเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จลงจากรถไฟขึ้นรถเทียมม้า ๔ ไปประทับที่ตึกในสวน เป็นบ้านเดิมของเจ้าแขกเมืองอาครา ประทับที่เมืองอาครา ๓ วัน
ณ วัน ๖ ๘ฯ ๓ ค่ำ เวลาบ่ายโบง ๑ เสด็จจากที่ประทับเมืองอาคราขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ไปถึงสเตชั่นเวลาบ่าย ๒ โมง เสด็จขึ้นทรงรถไฟไปตามทางรถไฟ เวลา ๒ ทุ่มถึงที่พักรถไฟ ขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ข้ามไปตามสะพานลำน้ำใหญ่ เวลาเที่ยงถึงฝั่ง เสด็จขึ้นทางรถไฟ เวลาบ่ายโมง ๑ รถไฟใช้จักรออกจากที่ไปตามระยะทาง เวลาบ่ายโมงครึ่งถึงที่พักรถไฟเมืองลักเนา แล้วเสด็จลงทรงรถเทียมม้า ๔ ไป เวลาบ่าย ๒ โมงถึงที่พักบ้านคอมมิชเนอ (ข้าหลวงประจำ) เมืองลักเนา ประทับที่ตึกบ้านคอมมิชเนอ ๔ วัน
ณ วัน ๔ ๑๓ฯ ๓ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เสด็จจากที่ประทับเมืองลักเนาขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ไปตามทางสถลมารค เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงที่พักรถไฟ เสด็จขึ้นทรงรถไฟแล้วใช้จักรออกจากที่พักรถไฟเมืองลักเนามาตามทางสถลมารค เวลาบ่ายโมง ๑ ถึงที่หยุดรถไฟ เสด็จลงทรงรถเทียมม้าข้ามฟากลำน้ำใหญ่กลับมาทางเก่า ประทับที่บ้านเจ้าเมืองกอนโปร์ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษเสด็จถึงที่พักรถไฟหน้าเมืองกอนโปร์ ประทับที่โต๊ะเสวยเวลากลางวัน เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่งเสด็จขึ้นทรงรถไฟเดิมแล้วก็ใช้จักรออกจากที่พักไป เวลาเที่ยงแล้ว ๘ นาที รถไฟเดินไปในใต้เขาที่มืดเหมือนเวลากลางคืนชั่วครึ่งนาทีจึงพ้นเขาที่มืด คิดระยะทางรถไฟเดินในใต้เขานั้นประมาณ ๑๖ เส้นจึงพ้นจากใต้เขาที่มืดออกสว่าง ถึงสะพานเหล็กข้ามลำธารไปยาวประมาณ ๒ เส้นเศษ กว้าง ๗ วา
ณ วัน ๖ ๑ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๑๕ นาทีรถไฟเดินไปในหว่างเขาแล้วเข้าใต้เขาที่มืดบ้างที่สว่างบ้าง คิดรวมรถไฟเดินใต้เขา ๑๔ แห่ง
ที่ ๑ ระยะทางใต้เขาประมาณ ๑ เส้น
ที่ ๒ ระยะทางใต้เขา ๓ เส้นเศษ
ที่ ๓ ระยะทางใต้เขา ๑๒ เส้นเศษ
ที่ ๔ ระยะทางใต้เขา ๓ เส้นเศษ
ที่ ๕ ระยะทางใต้เขา ๔ เส้นเศษ
ที่ ๖ ระยะทางใต้เขา ๒๐ เต้นแศษ
ที่ ๗ ระยะทางใต้เขา ๒๓ เส้นเศษ
ที่ ๘ ระยะทางใต้เขา ๑๑ เส้นเศษ
ที่ ๙ ระยะทางใต้เขา ๗ เส้นเศษ
ที่ ๑๐ ระยะทางใต้เขา ๑๙ เส้นเศษ
ที่ ๑๑ ระยะทางใต้เขา ๗ เส้นเศษ
ที่ ๑๒ ระยะทางใต้เขา ๑๙ เส้นเศษ
ที่ ๑๓ ระยะทางใต้เขา ๕ เส้นเศษ
ที่ ๑๔ ระยะทางใต้เขา ๖ เส้นเศษ
เวลาเช้า ๕ โมงถึงที่สเตชั่น เกาวเนอ เจ้าเมืองบอมเบกับคอเวอนเมนต์ (รัฐบาล) ในเมืองบอมเบจัดการรับ ผูกกิ่งไม้ใบไม้สดแลพันผ้าแดง มีธงต่างสีห้อยเป็นคูหา เมื่อเวลาเสด็จลงจากรถไฟพวกขุนนางอังกฤษกับพวกแขกลูกค้าที่เมืองบอมเบประมาณ ๒๐๐ เศษ มายืนรับเสด็จอยู่ที่หน้ารถ แล้วเสด็จขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ มีทหารแขกขี่ม้าถือกระบี่ไปหน้ารถที่นั่ง ๔ คู่ ตามหลังรถที่นั่ง ๖ คู่ ไปตามทางสถลมารคเมืองบอมเบ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษถึงที่ตึกใหญ่ ชื่อตึกมาลบาฮิล (คือจวนผู้ว่าราชการเมืองที่แหลมมลบา) ที่ประทับริมภูเขาชายทะเลทิศใต้ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ไปเที่ยวประพาสตามสถลมารคริมฝั่งทะเลเมืองบอมเบ เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังที่ประทับมาลบาฮิล
ณ วัน ๗ ๒ฯ ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ เกาวเนอกับขุนนางนายทหารประมาณ ๓๐ คน มาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประทับมาลบาฮิลแล้ว เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จไปเสวยโต๊ะที่พักเกาวเนอ เวลา ๕ ทุ่มเสด็จกลับยังที่ประทับเดิม ประทับอยู่ที่ตึกมาลบาฮิลเมืองบอมเบ ๘ วัน
ณ วัน ๗ ๙ฯ ๔ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษเสด็จกลับจากที่ประทับมาลบาฮิลขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ กลับมาตามทางสถลมารค เวลาบ่าย ๒ โมงถึงสเตชั่นแล้ว เสด็จขึ้นทรงรถไฟ ๆ ใช้จักรออกจากที่สเตชั่นเมืองบอมเบไปตามทางรถไฟ
ณ วัน ๒ ๑๑ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษถึงสเตชั่นเมืองเป็นนาเรส (เมืองพาราณสี) แล้วเสด็จลงจากรถไฟ เสด็จขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ไปตามทางสถลมารค แล้วข้ามสะพานลำน้ำใหญ่ไป เวลา ๔ โมงเศษถึงที่ประทับตึกใหญ่ เป็นบ้านของมหารายาคนเก่าที่เมืองเบ็นนาเรส เวลาบ่าย ๔ โมงเศษเสด็จรถเทียมม้า ๔ ไปถึงฝั่งลำแม่น้ำมหาคงคา แล้วเสด็จลงเรือ(ขนาน) ดาดผ้าเหมือนอย่างปะรำโรงละคร ถึงฝั่งฟากหนึ่งแล้วเสด็จขึ้นทรงช้างเข้าไปใน (รามนคร) บ้านรายาพาราณสีๆ เชิญให้ประทับบนโธรน แล้วถวายมีดชายธงเหล็กไหล ๓ เล่ม ด้ามงาครั่งทองสำรับหนึ่ง ๓ เล่ม หอกปลอกคร่ำเงิน ๑ เล่ม ผ้าห่มริมทองรอบสีม่วงสีน้ำเงิน ๒ ผืน กับสายมาลัยตาด ๑ แล้วแจกมาลัยเจ้าขุนนางที่ตามเสด็จไปหมดทุกคน เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จกลับยังที่ประทับตามเดิม
ณ วัน ๓ ๑๒ฯ ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษเสด็จขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ ไปที่รายาวิเชียรนครัม เจ้าแขก (อยู่ที่) เมืองเบ็นนาเรส ๆ เชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นประทับบนโธรน แล้วถวายกริชด้ามงาประดับมรกต ๘ ยอดคร่ำทอง ๑ เล่ม หอกคร่ำเงิน ๑ เล่ม สายมาลัยสาย ๑ แล้วแจกมาลัยเจ้าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ตามเสด็จไปด้วยทุกคน รายาวิเชียรนครัมขึ้นขี่ม้าถวายให้ทอดพระเนตร เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเสด็จกลับยังที่ประทับเดิม ประทับอยู่ที่เมืองเบ็นนาเรส ขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ มาตามทางสถลมารค เวลาบ่ายโมงเศษถึงที่สเตชั่น แล้วเสด็จลงทรงเรือกลไฟ ๆ ใช้จักรมาเมืองกลักตา แล้วเสด็จลงทรงเรือกลไฟ ข้ามลำน้ำใหญ่มาถึงฝั่งเมืองกลักตา เสด็จขึ้นจากเรือกลไฟ ทรงรถเทียมม้า ๔ ไปประทับอยู่ที่ตึกดัยอมันฮาบา
ณ วัน ๑ ๒ฯ ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่บ้านไวสรอย กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอน้อยใหญ่ แลเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีตามเสด็จไปด้วย แต่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยนอกนั้นกลับลงมาอยู่ไนเรือพระที่นั่งหมดทุกคน กลับมาประทับอยู่ที่เมืองกลักตา ๔ วัน๒๑
ณ วัน ๒ ๓ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ เสด็จกลับจากที่ประทับบ้านไวสรอย ขึ้นทรงรถเทียมม้า ๔ เสด็จลงเรือกลไฟเล็กของเกาวแมนต์เมืองกลักตาจัดไว้รับ เวลาเช้า ๒ โมงเรือกลไฟลำทรงใช้จักรออกจากท่าเมืองกลักตา แล้วเรือพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธกับเรือพระที่นั่งสยามปสดัมภ์ก็ใช้จักรตามออกมาตามลำแม่น้ำใหญ่ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษถึงที่ทอดสมอตรงดัยอมันฮาบาริมเรือที่ทรงออกมา แล้วพระสุนทรานุกิจปรีชาจัดเรือโบตกรรเชียงไปรับเสด็จที่เรือกลไฟฝรั่ง แล้วเสด็จลงเรือกรรเชียงมาถึงเรือพระที่นั่งบางกอก เวลาบ่าย ๓ โมงเศษใช้จักรออกจากที่ทอดดัยอมันฮาบา เวลาย่ำค่ำแล้วออกจากปากน้ำเมืองกลักตา
ณ วัน ๑ ๙ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จจากเรือพระที่นั่งทรงเรือกรรเชียงขึ้นไปถึงฉนวนน้ำหน้าเมืองภูเก็จ แล้วเสด็จขึ้นจากเรือกรรเชียง ทรงพระราชดำเนินขึ้นไปถึงรถแล้ว เสด็จขึ้นทรงรถเทียมม้าไป เวลาบ่าย ๓ โมงถึงที่ประทับพลับพลาค่ายหลวงพระยาภูเก็จ๒๒ทำใหม่ไว้สำหรับรับเสด็จ เสด็จลงจากรถประทับอยู่ที่พลับพลาค่ายหลวงครึ่งชั่วโมง แล้วเสด็จขึ้นทรงรถไปประพาสตามเขา แลเสด็จทอดพระเนตรที่เมืองภูเก็จ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จกลับยังที่ประทับเดิม ประทับอยู่ที่วังใหม่คืนหนึ่ง
รุ่งขึ้น ณ วัน ๒ ๑๐ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้าครึ่งชั่วโมง เสด็จกลับจากที่ประทับพลับพลาค่ายหลวงเมืองภูเก็จ ขึ้นทรงรถลงมาถึงท่าฉนวนน้ำแล้ว เสด็จทรงเรือกรรเชียงออกมา เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เรือพระที่นั่งรอพวกข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยลงเรือพระที่นั่งเสร็จแล้ว เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เรือพระที่นั่งใช้จักรออกจากที่ทอดอ่าวหน้าเมืองภูเก็จ เรือสยามูปสดัมภ์ตามเรือพระที่นั่งออกมา เวลาบ่าย ๓ โมงเศษถึงที่ทอดปากอ่าวเมืองพังงา เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จขึ้นไปประพาสตามหาดทราย แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนภูเขาเกาะหน้าเมืองพังงา เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง
ณ วัน ๓ ๑๑ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงครึ่ง เสด็จออกจากเรือพระที่นั่ง ทรงเรือกรรเชียงเข้าไปในลำน้ำเมืองพังงา เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ถึงที่ประทับพลับพลาค่ายหลวงริมเขาช้าง เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จไปทอดพระเนตรในเมืองพังงา แลที่อารามเมืองพังงา ครั้นนมัสการพระแล้วก็เสด็จกลับ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ถึงค่ายหลวงแล้วเสด็จขึ้นประทับเกย ทอดพระเนตรโคกระบือชนกัน แล้วเสด็จขึ้นประทับแรมอยู่ที่พลับพลาค่ายหลวงราตรี ๑
ณ วัน ๔ ๑๒ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เรือพระที่นั่งใช้จักรออกจากที่ทอดหน้าอ่าวเมืองพังงา
ณ วัน ๕ ๑๓ฯ ๔ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้าถึงที่ทอดหน้าปากอ่าวเมืองไทรบุรี เวลาเช้า ๕ โมง เสด็จจากเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทรงเรือโบตกรรเชียงขึ้นไปตามลำน้ำเมืองไทร เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงท่าที่ขึ้น เสด็จทรงรถขึ้นไปตามทางสถลมารค เวลาย่ำค่ำแล้วรถพระที่นั่งถึงที่ประทับตึกใหญ่บนยอดเขา (อะนะบุเก็จ) เมืองไทรบุรี
ณ วัน ๖ ๑๔ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จจากที่ประทับเมืองไทร ขึ้นทรงรถมาตามทางสถลมารค เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ถึงพลับพลาที่ประทับแรม
รุ่งขึ้น ณ วัน๗ ๑๕ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมง เสด็จจากที่ประทับแรมมาตามทางสถลมารค เวลาเช้า ๕ โมงเศษ ถึงพลับพลาที่ประทับร้อน เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จจากที่ประทับร้อน เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงพลับพลาที่ประทับแรม
ปีวอก จ.ศ. ๑๒๓๔ พ.ศ. ๒๔๑๕
รุ่งขึ้น ณ วัน ๑ ๑ฯ ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๑ โมงเศษ เสด็จจากที่ประทับแรม เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ถึงพลับพลาที่ประทับร้อน เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จขึ้นทรงม้า ออกจากที่ประทับร้อนมาตามระยะทาง เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงที่ประทับแรม
ณ วัน ๒ ๒ฯ ๕ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว เสด็จขึ้นทรงม้าพระที่นั่งมาตามระยะทางสถลมารค เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงพลับพลาที่ประทับร้อน เข้าในเมืองสงขลา เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จขึ้นทรงม้ามาตามระยะทาง เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ถึงพลับพลาที่ประทับแรมหาดใหญ่
รุ่งขึ้น ณ วัน ๓ ๓ฯ ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับแรมหาดทรายใหญ่ ทรงเรือพระที่นั่งเก๋งมาตามทางชลมารค เวลาเที่ยงถึงพลับพลาที่ประทับร้อนเกาะยอ เสวยเวลากลางวันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางสถลมารค ทอดพระเนตรพวกจีนปั้นหม้อแล้ว เวลาบ่ายโมงเศษเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งเก๋งมาตามทางชลมารค เวลาบ่าย ๕ โมงเศษถึงพลับพลาที่ประทับแรมแหลมทราย
รุ่งขึ้นณวัน ๔ ๔ฯ ๕ ค่ำ เวลาเช้าโมง ๑ เสด็จจากพลับพลาที่ประทับแรมแหลมทรายเมืองสงขลา ทรงเรือพระที่นั่งกรรเชียงออกมาตามทางชลมารค เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ถึงเรือพระที่นั่งบางกอก เรือราญรุกไพรียิงสลุต ๒+ นัด ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทหารพลเรือนซึ่งตามเสด็จลงเรือพระที่นั่งพร้อมแล้ว เวลาเที่ยงเรือพระที่นั่งใช้จักรออกจากที่ทอดปากอ่าวเมืองสงขลา เรือราญรุกไพรียิงสลุตอีก ๒๑ นัด เวลา ๒ ยามเศษถึงปากอ่าวเมืองนครศรีธรรมราช เอดเช็นตริกเครื่องจักรชำรุด ใช้จักรมาไม่ได้ เรือพระที่นั่งหยุดอยู่จนรุ่งสว่าง คิดแต่ที่เรือหยุดนั้น ๘ ชั่วโมง อินยิเนียแก้ไขทำเครื่องจักรเอดเช็นตริกดีแล้ว
ณ วัน ๕ ๕ฯ ๕ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงใช้จักรต่อมา
ณ วัน ๖ ๖ฯ ๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงครึ่งถึงสันดอน เรือพระที่นั่งเดินจักรเข้ามาใกล้เรือรบฝรั่งเศสทอดอยู่ที่สันดอน พอเรือพระที่นั่งตรงกับเรือฝรั่งเศส ๆ ยิงสลุต ๒๑ นัด แล้วเรือพระที่นั่งใช้จักรเข้ามาหน่อยหนึ่ง ถึงที่ทอดสมอรอน้ำอยู่สันดอน เวลาย่ำค่ำใช้จักรออกจากสันดอนเข้าปากน้ำเจ้าพระยา เวลา ๒ ทุ่มถึงที่ทอดหน้าพระสมุทเจดีย์ ฯ พณฯ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง จนเวลา ๔ ทุ่มเศษ แล้วถวายบังคมลากลับไปเรือ
ณ วัน ๗ ๗ฯ ๕ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จมาเฝ้าในเรือพระที่นั่งแล้วเสวยโต๊ะในเรือพระที่นั่ง เวลา ๒ โมงเช้าใช้จักรออกจากที่ทอดพระสมุทเจดีย์ เวลาเช้า ๕ โมงเศษถึงที่ทอดประทับท่าราชวรดิฐ แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสรงมุรธาภิเษกหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย มีพระสงฆ์ราชาคณะเจริญพระพุทธมนต์อยู่บนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ที่ท่าราชวรดิฐ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อเสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ มีพิธีอย่างไรบ้างไม่พบจดหมายเหตุ ทราบว่าเมื่อเสด็จขึ้นท่าราชวรดิฐ มีพระสงฆ์สวดชัยปริตรแลสรงมุรธาภิเษก ต่อนั้นมีเนื้อความปรากฏในหนังสือพิมพ์ข่าว ที่หมอสมิธลงพิมพ์ในเวลานั้นว่า มีการแต่งประทีปทั้งในพระบรมมหาราชวังแลที่อื่น ๕ วัน เป็นการรื่นเริงทั่วทั้งพระนคร ณวันที่ ๑๙ มีนาคม คริสต์ศก ๑๘๗๒ ตรงกับ ณ วัน ๓ ๑๐ฯ ๕ ค่ำ ปีวอกยังเป็นตรีศก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน มีการเลี้ยงใหญ่ที่บ้าน เชิญเสนาบดีแลข้าราชการผู้ใหญ่กับทั้งกงสุลอังกฤษ แลพวกฝรั่งที่รับราชการไปประชุม ในวันนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาด้วย แต่พิเคราะห์ตามความที่กล่าวในหนังสือพิมพ์ เข้าใจว่าจัดที่ประทับเสวยกับพระบรมวงศานุวงศ์แห่งหนึ่งต่างหาก สมเด็จเจ้าพระยานั่งโต๊ะกับเสนาบดีแลกงสุลอังกฤษ เมื่อเลี้ยงแล้วสมเด็จเจ้าพระยาลุกขึ้นกล่าวแสดงความขอบใจรัฐบาลอังกฤษที่รับเสด็จ แล้วชวนดื่มถวายพระพรสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แลสมเด็จพระยุวราชกับทั้งพระชายา แลให้พรชาติอังกฤษ กงสุลเยเนราล น๊อกส์ ลุกขึ้นกล่าวตอบ แลถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม ต่อนั้นสมเด็จเจ้าพระยาขอบใจให้พรแก่เสนาบดีที่ไปตามเสด็จ กงสุลเยเนราล น็อกส์ ให้พรสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเจ้าพระยาภาณุวงศ์ลุกขึ้นตอบ แลให้พรสมเด็จเจ้าพระยา ในที่สุดสมเด็จเจ้าพระยาลุกขึ้นชวนดื่มถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง ๑ เมื่อเสร็จอำนวยพรตอนนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จออก มีพระราชดำรัสขอบใจสมเด็จเจ้าพระยาที่จัดการให้เสด็จประพาส แลรักษาการพระนครเวลาเสด็จไม่อยู่ ได้ความตามหนังสือพิมพ์ดังนี้
คำถวายพระพร
ของพวกพ่อค้านายห้างทูลเกล้า ฯ ถวายในที่ประชุมโกดเฮาส์เมืองปินัง
ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้า พระเจ้าแผ่นดินสยาม ด้วยข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพวกพ่อค้าอยู่ในเมืองปินัง เรียกว่าปินังชามเบอร์ ออฟ คอมเมอศ แอนด์ อาคริกกัลเตอร์ มีความยินดีที่จะได้รับเสด็จในเมืองนี้ เมืองปินังนี้อยู่ใกล้ชิดกับพระราชอาณาเขตของพระองค์ การค้าขายในเมืองนี้กับหัวเมืองซึ่งขึ้นกับกรุงสยามที่อยู่ในมลายูเป็นนินสุลา แลเมืองภูเก็จนี้เป็นอันมาก แลซึ่งได้เสด็จมาในเกาะนี้ การค้าขายที่เปนธรรมดาอยู่นั้น ก็คงจะมีความเจริญมากขึ้นอีก ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีความยินดี ที่ได้เห็นพระองค์เดินตามแบบอย่างพระชนกของพระองค์ในการทำนุบำรุงการค้าขาย แลช่วยให้การค้าขายเจริญทวีขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ไม่มีความสงสัยเลย ที่พระองค์เสด็จมาประพาสเมืองต่างประเทศ พระองค์คงจะเข้าพระทัยมากในการที่พระองค์หวังพระทัยที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินสยาม ให้มีความสุขเจริญขึ้น เพราะการค้าขายกับเมืองต่างประเทศกับพระราชอาณาเขตอันใหญ่ ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าเชิญพระองค์มาครอบครองแผ่นดิน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีความปรารถนาให้พระองค์อยู่ในสิริราชสมบัติเจริญยืนยาวสิ้นกาลนาน แลให้เป็นที่เห็นว่าได้ให้ความสุขแก่ราษฎรเป็นอันมาก ซึ่งอยู่ในบังคับของพระองค์
มิสเตอร์โอลแฮม หัวหน้าพวกพ่อค้าทั้งปวงเปนผู้เซ็นชื่อแทนพวกพ่อค้าทั้งหลาย
----------------------------
พระราชดำรัสตอบพวกพ่อค้าที่เมืองปินัง
มิสเตอร์โอลแฮม แล เยนเตลิแมนทั้งหลาย ซึ่งเป็นพวกพ่อค้าอยู่ในเมืองนี้ เราได้มีความขอบใจท่านทั้งหลาย ที่ได้มีคำแอดเดรสต่อเราโดยความไมตรีนั้น เรามีความขอบใจเป็นอันมาก แลการค้าขายทั้งปวง ในกอลอนีของเรา กับกอลอนีอังกฤษ ที่ลูกค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายถึงกันนั้น เราจะช่วยทำนุบำรุงรักษาในการค้าขายนั้นมิให้เสียผลประโยชน์ ให้มีความเจริญด้วยกันทั้งสองฝ่าย แลเราได้มาถึงเมืองปินังเป็นครั้งแรก ท่านเยนเตลิแมนแลพ่อค้าทั้งปวง พร้อมใจกันมีคำแอดเดรสรับเราในที่ประชุมโกลเฮาส์นี้ เรามีความขอบใจท่านทั้งปวงเป็นอันมาก เรามิได้ลืมความไมตรีของท่านทั้งปวงเลย
----------------------------
คำถวายพระพร
ของพวกลูกค้ามหมัดแขกทั้งปวงทูลเกล้า ฯ ถวายในที่ประชุมโกลเฮาส์เมืองปินัง
ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้า พระเจ้ากรุงสยาม ว่าพระมหากษัตริย์เจ้าซึ่งประทับอยู่บนโธรนแวดล้อมบริบูรณ์ไปด้วยความสุข พระสุรเสียงนั้นก็ไพเราะอ่อนหวาน พระองค์ดำรงพระราชอาณาจักรของพระองค์โดยยุติธรรม พระองค์ตั้งพระทัยที่จะปกครองหมู่ประชาชนโดยเที่ยงธรรม ด้ายเส้นหนึ่งยังรู้ขดงอได้ ก็ความยุติธรรมของพระองค์มิได้เป็นเช่นนั้นเลย พระองค์มีพระทัยประกอบไปด้วยเมตตากรุณาอยู่เสมอ ไม่ยอมให้ความโทสะเกิดขึ้นได้ ความเมตตากรุณาของพระองค์นั้นหาที่สุดมิได้ สมควรที่พระองค์เป็นผู้ปกครองพระราชอาณาเขต บารมีของพระองค์ไม่รู้สิ้นสุด พระบาทของพระองค์นั้นเหมือนดังดอกปทุมชาติที่อยู่ในสระ พระราศีของพระองค์นั้นเหมือนดอกไม้สีแดงเมื่อฤดูคิมหันต์ พระมังสาของพระองค์นั้นก็หอมแบบริสุทธิ์ ความบาปของพระองค์นั้นก็ได้ล้างอยู่เสมอไปเองทุกวัน สัปเยกต์ของพระองค์ก็ได้สรรเสริญพระบารมีของพระองค์อยู่เสมอ พระองค์นั้นก็สว่างรุ่งเรือง พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้พระองค์มีพระทัยที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป แลมิให้พระราชอาณาเขตของพระองค์น้อยไปได้ พระองค์เป็นที่รักใคร่แห่งกษัตริย์เมืองอื่น พระองค์ก็รักใคร่กษัตริย์เมืองอื่นๆ เหมือนกัน พระองค์ก็เป็นที่ทำนุบำรุงเจ้าประเทศราชที่อยู่ในบังคับของพระองค์ พระองค์ปราศจากไปด้วยความเจ็บไข้ต่าง ๆ เป็นกษัตริย์อันเลิศยิ่ง พระองค์เป็นกษัตริย์อันงดงาม พระองค์เป็นกษัตริย์ซึ่งมีความเมตตากรุณาต่างๆ พระองค์เป็นกษัตริย์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าให้พรอยู่เสมอ แลมีพระทัยกว้างขวางที่จะทำทาน พระองค์เป็นกษัตริย์อันใหญ่ยิ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตแผ่นดินสยาม ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าพวกมหมัดทั้งหลายซึ่งอยู่ที่เมืองปินัง ขอพระราชทานถวายคำแอดเดรสนี้ เพราะปู่ย่าตายายของข้าพระพุทธเจ้าแต่ก่อนๆ ท่านได้ทำความดีไว้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้มีความยินดี เห็นพระองค์เสด็จมาเมืองปินังครั้งนี้ ความกราบไหว้อ้อนวอนของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น คือขอให้พระองค์ถือพระแสงอาญาสิทธิ์ คือความชอบธรรมอยู่ในพระหัตถ์เสมอ แลขอให้แผ่นดินของพระองค์ปราศจากภัยอันตรายต่างๆ แลให้มีความเจริญ และขอให้พระองค์มีความสุขสำราญ เหมือนดังความประสงค์ของข้าพระพุทธเจ้าซึ่งได้กราบไหว้ขอต่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ยืนยาวไปชั่วพระอาทิตย์พระจันทร์
----------------------------
คำถวายพระพร
ของพวกพ่อค้าจีนฮกเกี้ยนทูลเกล้า ฯ ถวายในที่ประชุมโกดเฮาส์เมืองปีนัง
ข้าพระพุทธเจ้า พวกพ่อค้าจีนนายห้างฮกเกี้ยนทั้งหลายซึ่งอยู่ในเมืองปินัง ขอถวายพรแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้า พระเจ้าแผ่นดินสยาม พระองค์สร้างพระบารมีมาแต่ปางก่อน บริบูรณ์ไปด้วยความสุขสำราญในพระราชหฤทัยของพระองค์ จะทรงคิดการสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตั้งอยู่ในยุติธรรม แลทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ซึ่งอยู่ไนพระราชอาณาเขตของพระองค์ให้มีความสุขเจริญทั่วกัน ซึ่งพระองค์มีพระราชหฤทัยเสด็จออกมาเที่ยวทอดพระเนตรการต่าง ๆ ตามหัวเมืองต่างประเทศครั้งนี้ เรือพระที่นั่งซึ่งทรงออกมานั้น เปรียบเหมือนมังกรมาในท้องพระมหาสมุทรอันใหญ่ แลมีอำนาจอาจป้องกันภัยต่างๆ ได้ พระองค์ของท่านมีความสุขสบายหาที่สุดมิได้ พระองค์ของท่านจะเสด็จไปในสารทิศใด ๆ เหมือนเสด็จไปบนอากาศ จะเสด็จไปประทับ ณ ที่ใดๆ ก็มีผู้รับรองแข็งแรงทุกบ้านทุกเมือง พระเกียรติยศปรากฏทุกประเทศ การซึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองปินังครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีความยินดี เพราะได้เห็นพระองค์ของท่านทรงเครื่องราชอิสริยยศงามยิ่งนัก จะดำรัสออกจากพระโอษฐ์องค์ใด พระสุรเสียงก็ไพเราะอ่อนหวาน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เห็นพระองค์ของท่านมีพระรัศมีงามเปล่งปลั่งดังพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ ขอให้เทพยดาบนอากาศจงออภิบาลรักษาพระองค์อยู่เสมอ ทั้งกลางวันกลางคืน แลขอให้พระชนม์ของพระองค์ทรงพระเจริญยืนยาวอยู่ในราชสมบัติให้ถึงหมื่นปี ขอให้อำนาจพระบารมีของพระองค์จงแผ่ไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ แลหมู่ปัจจามิตรทั้งหลายก็พ่ายแพ้ไปโดยอำนาจของพระองค์
(พระราชดำรัสตอบพวกลูกค้าแขกลูกค้าจีนที่เมืองปินังนั้น ความต้องกันกับฉบับที่ทรงตอบพวกลูกค้าอังกฤษซึ่งอยู่ที่เมืองปินัง)
----------------------------
พระราชดำรัสตอบอังกฤษที่เมืองมรแมน
พวกกอมมิตตีในการค้าขายแลราษฎรเมืองมรแมน
เรามีความขอบใจท่านทั้งหลาย ที่ได้จัดการกับเรา การค้าขายในเมืองนี้นั้น สินค้าที่ขายก็มาแต่อาณาเขตของเรามาก เราคงจะมีใจยินดีช่วยทำนุบำรุงการค้าขายซึ่งมีอยู่แล้ว แลสัปเยกต์ของเรากับสัปเยกต์ของอังกฤษ ขอให้มีความเจริญต่อไป
----------------------------
คำถวายพระพร
ของพวกพม่าทูลเกล้า ฯ ถวายที่เมืองมรแมน
ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งมีอำนาจอันเต็มทุกประการ แลความยุติธรรมของพระองค์นั้น เหมือนอย่างน้ำซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์ พระองค์เป็นเจ้าสว่างดุจแสงอาทิตย์ สืบพระราชวงศ์มาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพระเดชานุภาพ ได้ปกครองกรุงอยุธยาเทวาวดี เหมือนอย่างพระเจ้าในมิมิน แลพระเจ้าไวทะติยะมินแต่ก่อนมา ซึ่งได้รักษาทศพิธราชธรรมอยู่เสมอ ได้มีทางพระราชไมตรีอันสนิทกับคอเวอนเมนต์อังกฤษ ซึ่งมีอำนาจกว่าเมืองทั้งปวง พระองค์มีพระทัยยินดีเสด็จมาทอดพระเนตรอาณาเขตของอังกฤษในอินเดียแลเมืองพม่า เป็นเหตุใหญ่เกิดขึ้น ข้าพระพุทธเจ้า ชาวพม่าซึ่งเป็นราษฎรอยู่ที่เมืองมรแมนพร้อมกัน ขอมาเฝ้าถวายบังคม แล้วมีความยินดีซึ่งได้เห็นพระองค์ แลได้จัดการรับรองพระองค์ในครั้งนี้ ขอให้พระองค์ทรงเจริญชนมายุ ให้มีความสุขยืนยาวสิ้นกาลนาน
----------------------------
พระราชดำรัสตอบพวกพม่าเมืองมรแมน
เรามีความขอบใจพวกชาวพม่า ที่ได้พร้อมใจเข้าชื่อกันมารับเราในเมืองมรแมนนี้เป็นอันมาก แต่การค้าขายของพวกชาวพม่าที่ได้ไปมาค้าขายในเขตแดนของเรา เราคงจะช่วยทำนุบำรุงในการค้าขายของชาวพม่าที่เป็นสัปเยกต์ของอังกฤษ ที่ได้ค้าขายติดต่อกับคนสยามซึ่งอยู่ในเขตแดนของเรา ให้มีความเจริญยิ่งขึ้นไปกว่าแต่ก่อนสิ้นกาลนาน
-
1. เรื่องเสด็จประพาสอินเดียนี้ ดูเรื่องราวที่ภาคผนวก เอกสารหมายเลข ๓ ตอนเสด็จประพาสอินเดีย ↩
-
2. หลวงสาตราธิกรณ์ฤทธิ์ (ทุ้ย บุนนาค) – พระยาราชานุประพันธ์ ↩
-
3. หลวงวิทยาธิกรณศักดิ์ (บุศย์ บุณยรัตพันธุ์) - พระยาอภัยรณฤทธิ์ ↩
-
4. หลวงสรจักรานุกิจ (เจ็ก จารุจินดา) – พระยาเทพอรชุน ↩
-
5. หลวงสรสิทธยานุการ (ดั่น อัมรานนท์) - พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ ↩
-
6. หลวงศัลยุทธวิธีกรรม์ (เจิม แสง-ชู-โต) – เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ↩
-
7. หลวงดำรงแพทยคุณ (แหยม) - พระทิพจักษุสาตร ↩
-
8. พระสุนทรานุกิจปรีชา (หนู โกมารกุล ณนคร) – พระยาศรีสรราชภักดี ↩
-
9. พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ↩
-
10. พระวรภัณฑ์พลากร (ทิม ชาตะปัทมะ) ↩
-
11. นายแฉ่ บุนนาค – พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม ↩
-
12. นายเหมา บุนนาค – หลวงจักรานุพิจารณ์ ↩
-
13. นายอั้น บุนนาค - พระยาทรงสุรเดช ↩
-
14. หม่อมเจ้าที่เลือกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองสิงคโปร์ครั้งนี้ สืบได้ความว่า ๑๔ องค์คือ
๑. หม่อมเจ้าเปล่ง ในกรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา
๒. หม่อมเจ้ารัศมี ในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท
๓. หม่อมเจ้าอเนก ในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ
๕. หม่อมเจ้าโอภาส ในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ
๖. หม่อมเจ้าทิชากร ในกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์
๗. หม่อมเจ้าเชื้อชิด ในกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์
๘. หม่อมเจ้าปาน ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี
๙. หม่อมเจ้าเพิ่ม ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี
๑๐. หม่อมเจ้าพิศวง ในกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ
๑๑. หม่อมเจ้าภุชงค์ คือ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ในกรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์
๑๒. หม่อมเจ้ากรรเจียก ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
๑๓. หม่อมเจ้าสง่างาม ในกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
๑๔. หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ ในกรมหมื่นวิศณุนาถนิภาธร
หม่อมเจ้าที่ออกไปคราวนี้ เรียนอยู่ไม่ช้า เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ โปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่โรงมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง สำหรับพระเจ้าน้องยาเธอขึ้นแล้ว เรียกหม่อมเจ้าชุดนี้กลับเข้ามาเรียนในโรงเรียนกรุงเทพฯ
เรื่องนักเรียนไทยไปเรียนที่ทวีปยุโรป ดูที่ภาคผนวก เอกสารหมายเลข ๔ หน้า ๑๗๐ ↩
-
15. พระพิเรนทรเทพ (เวก ยมาภัย) - พระยาอภัยรณฤทธิ์ ↩
-
16. หลวงสวัสดิ์โกษา (ปาน) - พระยาสมบัตยาธิบาล ↩
-
17. หลวงเสนาควิจารณ์ (โค สุจริตกุล) – พระยาราชภักดี ↩
-
18. หลวงอำนาจสูรเสนี (พลอย พลอยแก้ว) – พระสุรินทรามาตย์ ↩
-
19. หลวงสัจจาภิรมส์ (เปาะ บุนนาค) - พระสัจจาภิรมย์ ↩
-
20. ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ (จิตร จิตราคนี) - หลวงอัคนีนฤมิตร ↩
-
21. เวลานั้นเลอรดเมโยเป็นอุปราช เมื่อเวลากำลังเสด็จประพาสอยู่ในอินเดีย เลอรดเมโยไปตรวจราชการที่เกาะอันเดอมัน อันเป็นที่ขังนักโทษ ถูกนักโทษแทงตาย เมื่อเวลาเสด็จกลับมาถึงเมืองกลักตา เลอรดเนเปียเป็นผู้งรั้งตำแหน่งอุปราช ↩
-
22. พระยาภูเก็จ ชื่อทัต รัตนดิลก ภายหลังได้เป็นพระยาวิชิตสงคราม ↩