- คำนำ
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งแรก รัชกาลที่ ๕
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
- จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
- หนังสือกำหนดการรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เมืองเบตาเวีย
- จดหมายเหตุของพระวรภัณฑ์พลากร
- ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕
- ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
- ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
- ภาคผนวก ๑. (ค) เรื่อง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
- ภาคผนวก ๑. (ฆ) เรื่อง พวกจีนตั้วเฮีย
- ภาคผนวก ๒. (ก) เรื่อง สร้างวัดราชบพิธ
- ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล
- ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕
- ภาคผนวก ๔. เรื่อง นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
- ภาคผนวก ๕. คำกราบบังคมทูลของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
- ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
- ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
(ต่อจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก)
(คัดจากสมุดไทยดำเส้นดินสอขาว เลขที่ ร. ๕. ๓๙๖/๒ ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้นฉบับเขียนอ่านยากที่สุด เพราะผู้เขียนไม่สันทัดในวิชาหนังสือ ซ้ำยังมีชำรุดเพราะตัวสัตว์กัด อ่านไม่ออกก็หลายแห่ง ที่อ่านได้แต่สงสัยว่าจะไม่ถูกก็มี)
ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑
ณ วัน ๕ ๑๓ฯ ๑๒ ค่ำ เพลาพลบ พระบาทสมเด็จพระจุฬา (ลงกรณ) เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงสดับพระธรรมเทศนา สมเด็จพระพุฒาจารย์
ณ วัน ๖ ๑๔ฯ ๑๒ ค่ำ
ณ วัน๗ ๑๕ฯ ๑๒ ค่ำ เพลาพลบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาว่าด้วยมงคลสูตรกัณฑ์หนึ่ง เพลา ๒ ทุ่มเสด็จขึ้นฯ
ณ วัน ๑ ๑ฯ ๑ ค่ำ เพลาทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร ฯ ทรงสดับพระธรรมเทศนารัตนสูตรกัณฑ์หนึ่ง เพลา ๒ ทุ่ม เสด็จขึ้นฯ
ณ วัน ๑ ๓ฯ ๑ ค่ำ เพลาบ่าย ๓ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับบนแท่นถม ข้าราชการฝ่ายพลเรือน สวมเสื้อเข้มขาบเฝ้ารับแขกเมือง ยิงสลุด ๑๒ นัด รับแขกเมือง อัดมิรัล เกปเปล พระยาทะเล
ณ วัน ๔ ๔ฯ ๑ ค่ำ เพลา ๕ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาส้าระบับ ฉลองพระองค์ตาดอย่างน้อย ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรง (พระสังวาล) พระนพรัดพระองค์ประดับเพ็ชร ทรงพระ (มหาชฏา) กลีบ เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งพุดตาล มีปืนใหญ่นำริ้วสิบบอก กระบวนแห่อย่างพิชัยสงคราม มีมโหรทึกกลองชนะทองเงินหน้าพระที่นั่งพุดตาล ธงชัยกระบี่ (ธุช ธงพระ) ครุฑ (พ่าห์) พระเสมาธิปัตย์ พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์ อยู่กลาง ทรงโปรยเงิน เมื่อจะยาตรายิงปืน ๓ นัด กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ กรมหนื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระบวรวงศ์เธอสี่คู่แปดพระองค์ พระเจ้าน้องยาเธอสิบพระองค์ ทรงฉลองพระองค์จีบเอวเข้มขาบ ทรงพระมาลาเส้าสะเทิน คาดเจียรบาด ทรงม้าทั้งสิบคู่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงพระวอตามเสด็จอยู่ในกระบวนทั้งสองพระองค์ พระยาเดโชนำริ้ว
ณ วัน ๖ ๖ฯ ๑ ค่ำ เพลาบ่าย ๒ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาปูมเขมร ทรงฉลองพระองค์อย่างน้อยส้าระบับพื้นเขียว ทรงฉลองพระองค์ครุย เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับบนพระแท่นถม เจ้าต่างกรม พระองค์เจ้า ทรงผ้าทรงม่วง ทรงฉลองพระองค์ส้าระบับเข้มขาบ นั่งบนเบาะพับ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ใส่เสื้อเข้มขาบ ท่านเสนาบดีจตุสตมภ์ นั่งบนเบาะพับ ยิงสลุดรับแขกเมือง ที่ศาลต่างประเทศ แขกเมืองขี่แคร่กั้นสัปทนเข้ามาทางประตูวิเศษไชยศรี ขึ้นมาประทับอยู่กลางศาลากลาโหม พระยาพิพัฒน์โกษา พระยาราชานุประพันธ์นำแขกเมืองเข้าเฝ้า พระยาพิพัฒโกษากราบทูลว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตให้ซินยอ วิยันนา เข้ามาเป็นกงซุลเยเนราลโปรตุเกตแทนมิสเตอร์ โป อยู่ที่กรุงเทพ ฯ กงซุลเยเนราลจะได้ขอเปลี่ยนหนังสือสัญญา มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท (ว่า) สุดแต่ท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมกัน เพลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จขึ้นฯ
ณ วัน ๑ ๙ฯ ๑ ค่ำ เพลา ๓ โมงเช้า แห่พระสุพรรณบัฏไปในพระบวรราชวัง สถิตบนแท่นมณฑล เชิญพระพุทธ (บุษย) รัตนจักรพรรดิพิมลมณี (มัย) ไปประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล ตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรีจนพระบวรราชวังข้างหน้า ปักราชวัตรสองข้างทาง พลับพลายกปลูกหน้าโรงปืน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เสด็จประทับแรมอยู่ที่นั่น เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ ทรงพระภูษาเขียนทอง ทรงฉลองพระองค์จีบ ทรงพระมาลาเส้าสะเทิน ทรงพระที่นั่งพุดตาลแห่หยุหยาตราอย่างน้อย เสด็จขึ้นไปในพระบวรราชวัง แล้วทรงถอดพระมาลา เปลื้องฉลองพระองค์จีบ ทรงคาดฉลองพระองค์ครุย เสด็จเข้าไปประทับบนพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ทรงถวายไตรพระราชาคณะคามวาสี อรัญวาสี ๕๕ ไตร กรมหมื่นบวรรังษี ฯ ทรงจุดเทียนไชย พระราชาคณะ ๕ รูป ขึ้นไปสวดในที่พระบรรทม พระราชาคณะ ๕๐ รูปสวดที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย สวดท้องภาณ ๓ คืน ๓ เวลา สวดมนต์เสร็จแล้ว เสด็จมาประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เสด็จไปทรงฟังสวดมนต์ ๓ วัน เพลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทางสถลมารคทั้งสามเวลา พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เพลาเช้าเสด็จตามธรรมเนียม ขึ้นไปปรนนิบัติพระในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยทั้งสามเวลา ฯ
ณ วัน ๔ ๑๑ฯ ๑ ค่ำ
แต่ ณ ๑ฯ ๑ ท่านเสนาบดี เจ้าต่างกรม ปรึกษาพร้อมกัน อัฐฬสมีผู้ทำปลอมระคนปนกับอัฐหลวงเป็นอันมาก ป่าวร้องประดาลูกค้าพานิช ราษฎรในกรุงนอกกรุง ทั่วพระราชอาณาจักร ให้เอาอัฐฬสมาขึ้นกับเจ้าพนักงานคลังมหาสมบัติ เจ้าพนักงานรับแต่อัฐหลวงไว้ อัฐปลอมนั้นทุบเสียหมด แล้วจึงจำหน่ายเงินบาทฬสตีตราพระพานเกล้าข้างหนึ่ง รูปจักรกับช้างข้างหนึ่ง ฬสหนึ่งหนัก ๒ สลึง ๑๖ ฬสเป็นเงินเฟืองหนึ่ง ให้รีบมาขึ้นแต่ใน ๑๕ วัน ซีกเสี้ยวให้ราษฎรทั่วพระราชอาณาจักรให้เอาแต่ซีกเสี้ยวของหลวงมากขึ้น ถ้าไม่ใช่ของหลวงเจ้าพนักงานไม่รับ ขึ้นได้แล้วให้ใช้อัฐเก่า ๔๐ ตัวเป็นเงินเฟืองหนึ่งฬส ๘๐ ตัวเป็นเงินเฟืองหนึ่ง ให้รีบเอามาขึ้นแต่ในแรมสิบสี่ค่ำ เดือนอ้ายฯ
ณ วัน ๒ ๑ฯ ๑ ค่ำ
ณ วัน ๔ ๓ฯ ๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โปรดให้พระพิเรนทรเทพ
ณ วัน ๕ ๔ฯ ๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยานประทับท่าราชวรดิตถ์ ทรงเรือพระที่นั่งกราบเสด็จทางชลมารค ประทับวัดอรุณราชวราราม ทรงปรนนิบัติพระ (สงฆ์) ในพระอุโบสถ ๒๐ รูป สดับปกรณ์พระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ มีพระราชโองการแก่พระอินทรเทพให้เอาตัวพระยาวิชิตณรงค์
ณ วัน ๖ ๕ฯ ๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เสด็จทรงพระราชยานประทับท่าราชวรดิตถ์ ทรงเรือพระที่นั่งกราบเสด็จทางชลมารค ประทับวัดราชโอรส เสด็จขึ้นทรงปรนนิบัติพระ (สงฆ์) ๒๐ รูปในพระอุโบสถ สดับปกรณ์พระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลาบ่ายโมงหนึ่งเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ฯ
ณ วัน ๔ ๑๐ฯ ๑ ค่ำ เพลา ๓ โมง เชิญพระบุพโพขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ มีเศวตฉัตร แห่เข้าพระเมรุยอดวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับพลับพลายก ทรงสดับปกรณ์ พระประยุรวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายในถวายสดับปกรณ์ทุกๆ วัน แล้วถวายพระเพลิง เชิญพระอังคารไปสถิตบนเรือพระที่นั่งไกรสรมุข แห่เปนกระบวนพยุหยาตราไปประดิษฐาน......หน้าวัดยานนาวา เพลาบ่ายโมงหนึ่งเสด็จขึ้น ฯ ครั้นถึงเพลาบ่าย ๔ โมงเศษ เพลิงไหม้กลางตลาดบ้านหม้อ เรือนโรงตึกไหม้ ๑๐๔ หลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชยานเสด็จทางสถลมารค ประทับเชิงตะพานช้าง ริมวัง (กรม) พระพิทักษ์เทเวศร กรมพระราชวัง (บวร) เสด็จมาประทับ ณ ที่นั้นด้วย เพลา ๕ โมงเย็นเพลิงจึงดับ ฯ
ณ วัน ๖ ๕ฯ ๒ ค่ำ
อ้ายโทนทาษเมาสุรา เสมียนพุกเสมียนน้อยทั้งสองคนพากันลงไปกลุ้มรุมอ้ายโทน ทาษ ว่าอ้ายโทนขว้างบ้านขว้างเรือนเสมียนน้อยเอาหอกซัดแทงถูกท้องข้างขวา ไส้แตกทะลักออกมา...กอง แทงแต่เวลาพลบ ฯ ณ วัน ๕ฯ ๒ ค่ำ ยกเอาอ้ายโทนมาอยู่ศาลาริมบ้านพระยาราชรองเมือง
ณ วัน ๓ ๙ฯ ๒ ค่ำ เพลาบ่าย ๓ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยาน เสด็จประทับพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ทรงทอดพระเนตรกระบวนแห่พระยาสีหราชเดโช พระราชทานเงิน ๓๐๐ เฟื้อง พระยาสีหราชเดโชไปหยุดที่โรงพัก ดูพวกนาลิวันขึ้นโล้ชิงช้า พวกนาลิวันลากสายเชือกที่ผูกกระดานโล้ชิงช้าลากไม่ไหว คนเข้าช่วยอีกคนหนึ่ง จึงโล้ไปได้ กระดานสองกระดานสามสี่ เสด็จประทับอยู่ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เพลา ๔ โมงเสด็จขึ้นฯ
ณ วัน ๔ ๑๐ฯ ๒ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (ทรงพระราชยาน) ประทับท่าราชวรดิตถ์ ทรงเรือพระที่นั่งกราบ เสด็จทางชลมารคประทับบ้านท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระราชทานทองเหรียญ ๖๑ เหรียญเป็นปี เงินเหรียญเป็นเดือน ซีกเป็นวัน ประทับอยู่เวลาบ่าย ๑ โมงเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ฯ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทำซายิด ถวายของไทยธรรม คิดเป็นราคาถึงองค์ละ ๑๐ ชั่ง เจ้าต่างกรมหากรมมิได้ ข้าราชการทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรพร้อมกันไม่ได้ขาดเลยในปาตี้พี่น้องของท่านที่บ้านผูกซุ้มไม่ให้เหมือนกันทั้งหกเวลาทุกๆ บ้าน ฯ
ณ วัน ๖ ๑๒ฯ ๒ ค่ำ
ณ วัน ๔ ๒ฯ ๒ ค่ำ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ ๒๐ รูป จารึกพระสุพรรณบัฏตั้งบนพระแท่นหิน เลื่อนพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐
ณ วัน ๑ ๖ฯ ๒ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จขึ้นบนเก๋งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ ประทับเกยทรงพระมหาชฎารับพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณ พระองค์เจ้าจรูญโรจน์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงพระเกี้ยวยอด พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณทรงพระเกี้ยวยอด พระองค์เจ้าในพระบวรราชวัง ทรงพระเกี้ยวทิศ เครื่องสูงหักทองขวางสำรับ ๑ ทองแผ่ลวด ๒ สำรับ มยุรฉัตรพุ่ม ดอกไม้เงินทอง มีเหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ มีสะสาว
ณ วัน ๒ ๑๔ฯ ๒ ค่ำ เพลาบ่าย ๓ โมง แห่พระราชสาส์น มีทหารนำหน้า พระราชสาส์นตั้งบนพระยานุมาศ แห่ไปถนนเจริญกรุง ไปส่งให้กงซุลฝรั่งเศสฉะบับ ๑ อังกฤษฉะบับ ๑ ใจความในพระราชสาส์นนั้นว่าด้วยในพระบรมโกศสวรรคต อัญเชิญสมเด็จพระจุฬาลงกรณเกล้าขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ความเหมือนกันทั้ง ๒ ฉะบับ ฝากเรือรบเขาออกไป ฯ
ณ วัน ๕ฯ๘ ๓ ค่ำ พระประสิทธิ์ ฯ (เสือ) ป่วยไข้ จับได้ ๓ เวลา ถึงมรณภาพ อายุได้ ๖๓ ปี อยู่วัดหงส์ ฯ
ณ วัน ๖ ๙ฯ ๓ ค่ำ พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงปุก
ณ วัน ๖ ๙ฯ ๔ ค่ำ เชิญพระศพพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนราชสีห์ฯ ไปเข้าเมรุวัดอรุณ โปรดให้มีโขนโรง ๑ หุ่นโรง ๑ งิ้วโรง ๑ หนัง ๒ โรง ไม้ต่ำไม้สูง ต้นกัลปพฤกษ์ ๒ ต้น ๆ ละ ๕ ตำลึง เสด็จทั้ง ๓ วัน ทรงพระภูษาพื้นขาว ฯ ณ วัน ๑๐ฯ ๔ ค่ำ พระราชทานเพลิง ฯ
ณ วัน ๘ฯ ๔ ค่ำ ตั้งพระมหาโล้ บาเรียน ๔ ประโยคขึ้นเป็นพระวิสุทธิโสภณ อยู่วัดหนัง
ณ วัน ๙ฯ ๔ ค่ำ โปรดให้หม่อมเจ้าสิงหนาท เป็นพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ จารึกลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ ทรงศักดินา ๘๐๐๐
ณ วัน ๑๐ฯ ๔ ค่ำ พระธรรมเจดีย์ (อุ่น) วัดพระเชตุพน อายุ ๘๓ ปี มีอ้ายผู้ร้ายแหกหลังคา ตีซี่โครงหัก ๓ ซี่ ถึงมรณภาพ เอาผ้าเหลืองผูกตง (ขื่อ?) แขวนไว้
๏ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ว่าที่กรมท่าอย่างเดิม คืนตราจากกรมขุนวรจักรธรานุภาพ เชิญใส่เรือเอกชัย ภูษามาลาขึ้นไปมอบให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฯ
ณ วัน ๑๑ฯ ๔ ค่ำ ตั้งพระราชพิธีตรุษ (ณ พระที่นั่ง) สุทไธศวรรย์ ครั้นถึง ณ วันแรมสิบสี่ค่ำ ได้พระฤกษ์ ๒ โมงกับห้าบาท เกษากันต์หม่อมเจ้าเจ็ดองค์แปดองค์ พระอโนมมุนี
ปีมะเสง จ.ศ. ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒
ณ วัน ๕ ๖ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก เพลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาพิพัฒโกษา นำแขกเมือง.........กัปตันเดนดม
ณ วัน ๖ ๗ฯ ๕ ค่ำ เพลาพลบ ดาวโรหิณีใกล้เดือน ห่างประมาณคืบหนึ่งทางทิศใต้ ฯ
ณ วัน ๖ ๑๔ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก เพลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาพิพัฒโกษา นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูล ว่าแขวงเมืองนครไชยศรี จีนหลายตำบลคบคิดกันเป็นหมู่เหล่าเข้าปล้นสดม ให้อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน จับตัวจีนกันหน้าไว้กับสมัครพรรคพวก ชำระจีนกันหน้าเป็นสัตย์ มีพระราชโองการปรึกษาท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เจ้าพระยายมราช พระยาราชสุภาวดี พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ พระยาเทพประชุน พระยาราชรองเมือง พระยาเพ็ชรดา
ณ วัน ๒ ๔ฯ ๔ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก พระบวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าดวงจันทร์ ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลรัชกาลที่ ๑ ประชวรพระโรคชราอยู่เดือนหนึ่ง ครั้นถึงเพลา ๔ ทุ่ม สิ้นพระชนม์ในพระบวรราชวัง โปรดให้ใส่พระโกศกุดั่นใหญ่ เชิญพระศพมาไว้ที่วังกรมขุนดารา (กรมขุนนรานุชิต?) พระชันษา ๘๘ ปี ข้าพเจ้าพึ่งทราบข่าวจึงได้เขียนในที่นี้
ณ วัน ๑ ๑ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการ ปรึกษาเสนาบดีเจ้าภาษีนายอากรพระหลวงขุนนางจีน แต่บรรดาเมืองปากใต้ ฝ่ายเหนือ ในกรุง นอกกรุง บรรดาจีนคบคิดกันส้องสุมผู้คนเป็นหมวดเป็นเหล่า คิดตั้งตัวเป็นตั้วเหี่ยเที่ยวตีเรือขึ้นปล้นตามบ้านราษฎร ตื่นแตกกันทั่วนิคมเขตต์บัดนี้ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เห็นว่าจีนที่ดีบ้างชั่วบ้าง ถ้าจะออกไปจับหรือจะรบกัน บรรดาจีนก็จะพลอยตายเสียเป็นอันมาก มีพระประสาทสั่งให้พระยาเทพประชุน
ณ วัน ๕ ๕ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก เพลาตี ๒ ยาบเศษ ดาวพระเสาร์เคียงพระจันทร์แง่ข้างใต้ ห่างประมาณศอกคืบ ฯ
ณ วัน ๖ ๖ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสง ยังเป็นสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๔ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกบนพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ลงพระราชอาญาอ้ายเปรมข้าหลวงเดิม เฆี่ยน ๖๐ ที ลักนาฬิกาพกในห้องเฟี้ยม
ณ วัน ๑ ๑๓ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก เพลาสามยามเศษ เพลิงไหม้ติดตึกใหญ่ประมาณ ๑๓ - ๑๔ ห้อง พวกแขกสุหรัตสร้างเรียกว่าตึกขาวฝั่งฟากโน้น
ณ วัน ๖ ๑๓ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก เพลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ขึ้นประทับบนพระแท่นถม กงซุลเยอรมัน อเมริกัน กับนายห้าง ๑๒ คนเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ข้าราชการสวมเสื้อสี พวกฝรั่งแขกเมืองกลับไปเฝ้าพระบรมโกศบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพลา ๕ โมงเช้าเสด็จขึ้น ฯ
ณ วัน ๑ ๑ฯ ๖ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก เวลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับบนพระที่นั่งท่าราชวรดิตถ์ ทรงเรือพระที่นั่งกราบเสด็จทางชลมารคประทับวัดนามบัญญัติ
ณ วัน ๓ ๓ฯ ๖ ค่ำ ปีมะเสงเอกศก ขึ้นจุลศักราชใหม่เป็น ๑๒๓๑ เวลาบ่ายโมงเศษ เพลิงไหม้เชิงตะพานช้างฝั่งตะวันออกข้างวัดเทพธิดา กินข้ามคลองไปข้างฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ไปหยุดอยู่เพียงวัดมหรรณพาราม (ไหม้) โรงเรือนรวม ๑๕๒ หลัง กรมพระราชวัง (บวร) เสด็จมาดับเพลิง ฯ
ณ วัน ๔ ๔ฯ ๖ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษ เพลิงไหม้แพหน้าโรงวิเสสแพ ๑ ฯ เวลาบ่าย ๕ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทางพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยานเสด็จทางถนนบำรุงเมือง เฟื่องนคร ประทับวัดบวรนิเวศ ฯ ทรงสรงน้ำพระชินศรี
ณ วัน ๓ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเสงยังเป็นสัมฤทธิศก พระเทพธรรมาจารย์ (คง) อยู่วัตภคินีนาถ ป่วยไข้พิษ ๓ วันถึงมรณภาพ อายุได้ ๘๐ ปี พึ่งทราบ จึ่งได้จดไว้ในที่นี้
ณ วัน ๔ ๔ฯ ๖ ค่ำ ปีมะเสงเอกศก พระบวรวงศ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้าสำอาง ประชวรจุกแดก ครั้นถึงเวลา ๔ ทุ่มเศษ สิ้นพระชนม์ พระชันษาได้ ๖๒ ปี โปรดให้ใส่โกศรุ้ง เชิญพระศพไปไว้ที่วังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พึ่งทราบจึงได้จดไว้ในที่นี้
ณ วัน ๔ ๑๑ฯ ๖ ค่ำ ดาวฤกษ์มาฆะเข้าพระจันทร์ข้างทิศใต้ เวลาประมาณ ๕ ทุ่มเศษ ฯ
ณ วัน ๕ ๑๒ฯ ๖ ค่ำ เวลา ๓ โมงเช้า เจ้าพระยาภูธราภัยออกไปแรกนา นุ่งผ้า ๕ คืบ โคกินถั่ว ข้าวโพด ฯ
ณ วัน ๔ ๓ฯ ๖ ค่ำ เพลา ๔ โมงเศษ กงซุลอังกฤษ
ณ วัน ๓ ๙ฯ ๖ ค่ำ เพลา ๓ โมงเช้า ออสเตรียมาเรือกำปั่นรบ ๒ ลำ มีพระราชสาส์นแห่มาประทับท่าศาลต่างประเทศ ยิงสลุต ๒๑ นัด อัดมิรัล
ณ วัน ๕ ฯ๑๑๖ ค่ำ
ณ วัน ๕ ๓ฯ ๗ ค่ำ ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาพระคลัง
ณ วัน ๑ ๖ฯ ๗ ค่ำ เวลาเช้า อัดมิรัล (ราชทูตออสเตรีย) คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ ๑๐ อย่าง เข้าถวายบนพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วกราบถวายบังคมลากลับออกไปเมืองออสเตรีย หนังสือสัญญาประทับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ พระราชลัญจกรพระเกี้ยวยอด พระราชลัญจกรกรมพระราชวังบวร ประทับพระตรากรมหลวงวงศาธิราชสนิท แทนพระราชวงศานุวงศ์ ประทับดวงตราท่านเจ้าพระยาผู้สำเร็จราชการในพระราชอาณาจักร ประทับตราท่านผู้สำเร็จราชการในพระนคร ประทับตราท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ประทับตราท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ สมุหพระกลาโหม ยิงสลุต ๒๑ นัด ฯ
ณ วัน ๕ ๑๐ฯ ๗ ค่ำ เพลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยานประทับท่าราชวรดิตถ์ ทรงเรือพระที่นั่งกราบ เสด็จทางชลมารคประทับวัดเครือวัลย์
ณ วัน ๗ ๑๒ฯ ๗ ค่ำ เพลา ๗ ทุ่มเศษ ฝนตกใหญ่ อสนีบาตลงถูกพระประธานในโบสถ์วัดมพรรณพ ฯ
ณ วัน ๔ ๑ฯ ๗ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงปรนนิบัติพระบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เลื่อนพระปลัดคำ วัดมหาธาตุ เป็นพระคุณาจริยวัตร (ที่พระราชาคณะ) มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ฯ
ณ วัน ๔ ๘ฯ ๗ ค่ำ ชักพระศพพระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสำอาง ไปตั้งบนเมรุผ้าขาว วัดสระเกศ มีโขนโรง ๑ หุ่นโรง ๑ เพลาบ่ายทิ้งทาน ๔ ต้นๆ ละ ๕ ตำลึง เพลาค่ำมีหนัง ๒ โรง ดอกไม้เพลิง ฯ
ณ วัน ๕ ๙ฯ ๗ ค่ำ พระบวรวงศ์เรอ กรมหมื่นอมรมนตรี เป็นพระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ ประชวรพระโรคอัมพาต ประมาณได้สิบเบ็ด......เพลา ๒ โมงเช้า สิ้นพระชนม์ พระชันษาได้ ๗๖ ปี โปรดให้ใส่โกศกุดั่นน้อย ฯ
ณ วัน ๖ ๑๐ฯ ๗ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาพื้นขาว เสด็จพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระราชยานเสด็จทางสถลมารค เสด็จทางถนนบำรุงเมือง ประทับพลับพลา เสด็จถวายพระเพลิง ขึ้นทรงโปรยทานบนพลับพลา กรมพระราชวัง(บวร) เสด็จด้วย เพลาพลบเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ฯ การพระศพ ๓ วัน ๓ คืน ฯ
ณ วัน ๑ ๑๒ฯ ๗ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้สำเร็จราชการในพระราชอาณาจักร ท่านเจ้าพระยาภูธราภัย ผู้สำเร็จราชการในกรมมหาดไทย ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ ผู้สำเร็จราชการในกรมพระกลาโหม เจ้าพระยายมราช พระยาเพ็ชรปราณี พระยาเพ็ชรดา พระยาราชรองเมือง ลูกขุน ณ ศาลา พระครูปโรหิตาจารย์ พระครูมเหทร พระยามนูสารสาตร์ ขุนหลวงพระไกรศรี ลูกขุน (ณ ศาลหลวง) พร้อมกันทำข้อความอ้ายด้วงฉุดลูกสาวฆ่าอ้ายเย็น เพื่อนตายที่แขวงเมืองนนท์ ฯ อ้ายจีนเห่า (?) อ้ายจีนเงาฮี อ้ายจีนฮุย คุมสมัครพรรคพวกสี่สิบห้าสิบเข้าปล้นฆ่าเจ้าเรือน เก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงิน ชำระเป็นสัตย์ คือ อ้ายจีนเห่า อ้ายจีนเงาฮี อ้ายจีนฮุย คุมคนเป็นนาย...ท่านเสนาบดีข้าราชการปรึกษาพร้อมกัน ให้เอาอ้ายด้วงกับอ้ายจีน ๓ คน ลงพระราชอาญาเฆี่ยนสามยก ๙๐ ที โปรดให้ไปประหารชีวิตที่วัดพลับพลาไชย แต่อ้ายจีนที่ปล้นแขวงราชบุรี ให้กรมการรับเอาศีรษะไปเสียบประจารไว้ที่บาง...... สองศีรษะ ให้ไปเสียบประจารไว้แขวงเมืองนครไชยศรี ศีรษะหนึ่ง ฯ
ณ วัน ๖ ๖ฯ ๙ ค่ำ ปีมะเสง เอกศก มีพระประสาทสั่งให้ลงอาญาเฆี่ยนนายตรวจโพ ๖๐ ที แล้วให้จำไว้ ณ คุกปีหนึ่งกับ ๖ เดือน โทษลงเอาแก่เงิน...... เมืองราชบุรี ด้วยเรื่องจับน้ำตาลส้ม ฯ
ณ วัน ๔ ๕ ๖ ๔ฯ ๕ฯ ๖ฯ ๙ ค่ำ ปีมะเสง เอกศก ศักราช ๑๒๓๑ ตั้งโรงพระราชพิธีหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ๒๕ รูป เวลาเช้ารับบิณฑบาต ตั้งเตียงมณฑล พระสงฆ์สวดท้องภาณทั้ง ๓ วัน ครั้น ณ วัน ๗ ๗ฯ ๙ ค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วกับ ๒๘ นาที เป็นสุกวารมหามงคล ทรงเททองหล่อพระพุทธปฏิมาไชย โปรดให้ยิงพระแสงปืน ๑๖ นัด พร้อมเวลาพระฤกษ์ ฯ ครั้น (ณ) วัน ๑ ๘ฯ ๙ ค่ำ เวลาเช้า เสด็จทรงปฏิบัติพระสงฆ์ ๒๕ รูป ฉันเช้าเสร็จแล้ว ให้เวียนพระเทียนสมโภช ๕ รอบ
<img>
ดวงเมื่อเวลาพระฤกษ์
ณ วัน ๒ ๙ฯ ๙ ค่ำ เวลาเช้า พระญาณสมโพธิ (รอด) วัดมหาธาตุ ดับสูญ อายุได้......โรคชรา ฯ
ณ วัน ๗ ๖ฯ ๙ ค่ำ เวลายามเศษ เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ถึงแก่อนิจกรรม ฯ
ณ วัน ๔ ๑๐ฯ ๙ ค่ำ มิศเตอร์เลสเลอ กงศลเยอรมัน กับมิศเตอร์อื่น ๕ รวม ๖ นาย เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นปรุสเซีย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ข้าราชการนุ่งสมปักตามธรรมเนียม สวมเสื้อเข้มขาบอัตลัดไม่ได้ตั้งเครื่องยศ ฯ
ณ วัน ๗ ๑๓ฯ ๙ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่มเศษ เสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระพิเรนทรเทพนำเสด็จมาถึงพระทวารเทเวศรรักษา แล้วเสด็จขึ้นข้างใน พอลับพระองค์ พระพิเรนทรเทพขัดกระบี่ที่สำหรับแห่เสด็จนั้น เข้าไปในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารข้างตะวันตกไปออกทางพระทวารข้างหน้า นายรอดทหารซึ่งเป็นผู้รักษาพระทวารเห็นเข้า นำความไปแจ้งแก่พระอินทรเทพๆ ไปกราบเรียน ฯ พณ ฯ สมุหพระกลาโหม ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชโองการให้ถอดเสียจากที่พระพิเรนทรเทพ ฯ
ณ วัน ๒ ๘ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๗ ทุ่ม ๘ บาท พระพิมล (ธรรม) ยิ้ม วัดพระเชตุพน ดับสูญ อายุได้....โรค.....ฯ
ณ วัน ๖ ๑๒ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๔ ทุ่ม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น
ณ วัน ๖ ๑๒ฯ ๑๐ ค่ำ ตั้งพระราชพิธีพระสงฆ์ ๖๐ รูปสวดมนต์ฉันเช้าในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มาจนวัน ๕ ๓ฯ ๑๐ ค่ำ เป็นการสมโภชพระพุทธปฏิมาพระชนม์พรรษา มีเทศนา ๕ กัณฑ์ มีเงิน ๑๐ ตำลึง มีเครื่องกัณฑ์ข้างในด้วย เสด็จสรงที่พระแท่นตั้งเศวตฉัตรวัน ๒ ๑๕ฯ ๑๐ ค่ำฯ
ณ วัน ๓ ๑ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๕ โมงเศษ กงซุลเยเนราล
ณ วัน ๔ ๑๐ฯ ๑๐ ค่ำ ตั้งสวดมนต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรม ๖๕ รูป ฯ วัน ๕ ๑๑ฯ ๑๐ ค่ำ ฉันเช้า สมโภชสมะกาลบรรจบรอบวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ณ วัน ๕ ๑ฯ ๑๑ ค่ำ ขุนนางผู้ใหญ่เป็นเยเนราลกับกงสุลเมืองอเมริกาเปลี่ยนมาใหม่ ถวายอักษรสาส์น ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาบ่ายโมงเข้าเฝ้า ข้าราชการนุ่งสมปักตามธรรมเนียม สวมเสื้อเข้มขาบอัตลัด ฯ
ณ วัน ๓ ๑๒ฯ ๑๒ มองซิเออ ดิลลอง กงซุลฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จออกรับแขกเมืองอย่างใหญ่ เวลาเที่ยง ข้าราชการนุ่งสมปักตามธรรมเนียม สวมเสื้อเข้มขาบ อัตลัด ฯ
ณ วัน ๔ ๕ฯ ๑ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมง พวกทหารกับจีนกงษีหน้าวังกับข้าในกรมสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุน (บำราบปรปักษ์) ตีกันขว้างกันอย่างใหญ่จนเวลาพลบ โปรดให้พระยามหาเทพชำระ ฯ
ณ วัน ๕ ๖ฯ ๑ ค่ำ ช้างสำคัญมาถึงท่าพระเวลาวันนั้นไม่ขึ้น ครั้นถึง ณ วัน ๑ ๙ฯ ๑ ค่ำ ถึงถอยแพล่องลงไปถึงท่าศาลต่างประเทศ
ณ วัน ๓ ๑๑ฯ ๑ ค่ำ มองซิเออ ดิลลอง กงสุลฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้าไปรเวต ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ฯ
ณ วัน ๓ ๑๑ฯ ๑ ค่ำ ชักศพเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) เข้าเมรุวัดอรุณราชวราราม พระราชทานเพลิงวัน ๕ ๑๓ฯ ๑ ค่ำ ฯ
ณ วัน ๒ ๒ฯ ๑ ค่ำ พระสงฆ์ราชาคณะ วันละ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน ได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวร พัด ย่าม เวลาเช้าฉันทั้ง ๓ วัน ได้รับบริขารหลายสิ่ง เวลาเย็นมีเทพทอง เสภา......นอนหอกดาบ ทั้ง ๓ วัน เป็นการสมโภช ฯ
ณ วัน ๕ ๕ฯ ๑ ค่ำ ได้เริ่มการสมโภช พระราชทานนามว่า พระเศวตวรวรรณ
ณ วัน ๓ ๒ฯ ๒ ค่ำ แขกเมืองเข้าเฝ้า ฯ
ณ วัน ๗ ๖ฯ ๒ ค่ำ แขกเมืองเข้าเฝ้าใหญ่ ฯ
ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒ พ.ศ. ๒๔๑๓
ณ วัน ๗ ๑๔ฯ ๕ ค่ำ ปีมะเมีย โท๒ศก เวลากลางคืนฝนตกมาก ครั้นรุ่งขึ้น (ณ) วัน ๑ ๑ฯ ๖ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ พระเมรุรื้อแล้ว เหลือเครื่องชั้นบนอีก ๔ ชั้น ก็ล้มลงเอง ฯ
ณ วัน ๕ ๕ฯ ๖ ค่ำ
ณ วัน ๖ ๖ฯ ๖ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ พระอาทิตย์ทรงกรตขอบนอกสีเหลือง พื้นในเป็นสีกุหร่า จนเวลา ๕ โมงเศษจึงค่อยจางไป
ณ วัน ๔ ๑๑ฯ ๖ ค่ำ เวลากลางคืน ฝนตกมาก ฟ้าผ่าที่วัดบรมนิเวศ (บวรนิเวศ ?) ถูกพระเจดีย์แห่งหนึ่ง ถูกต้นสนแห่งหนึ่ง ฯ
ณ วัน ๖ ๑๓ฯ ๖ ค่ำ เวลา ๔ โมงเศษ เชิญพระโกศพระบรมอัฏฐิ ออกไปประดิษฐานบนพระเบ็ญจาทอง ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงฟังพระ(สงฆ์) สวดพระพุทธมนต์ เวลาพลบมีการเล่น โขน จับระบำ มีต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น มีดอกไม้เพลิง ๕๐ ต้น มีหนัง ๔ โรง หุ่น ๑ โรง งิ้วโรง ๑ ทรงฉลองสมโภชพระบรมอัฏฐิเป็นการใหญ่ ฯ
ณ วัน ๗ ๑๔ฯ ๖ ค่ำ เวลาเช้าเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประเคนแล้วทรงสดับปกรณ์ แล้วถวายอัฐบริกขารต่างๆ เป็นอันมาก เวลาเที่ยง เสด็จออกพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ข้าราชการเฝ้าตามตำแหน่ง ทรงทอดพระเนตรโขนชักรอก เวลา ๕ โมงเศษ เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงฟังพระ (สงฆ์) สวดพระพุทธมนต์ แล้วเสด็จพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ทรงโปรยทานต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น เวลาพลบทรงจุดดอกไม้เพลิงหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพุ่มดอกไม้เพลิง แล้วทอดพระเนตรการเล่นต่างๆ หนัง ๔ โรง มีโขนชักรอก ทรงสดับปกรณ์วันละ ๖๐ รูป ทรงถวายไตรจีวรอยู่ ๖ วัน ๖๕ รูปวัน ๑ ทรงโปรยทานทิ้งทาน มีต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น มีดอกไม้เพลิง มีหนัง ๔ โรง ฯ
ณ วัน ๓ ๓ฯ ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ พระอาทิตย์ทรงกรต มีสัณฐานเหมือนครั้งก่อน ไปจน ๕ โมงเศษจึงเปลื้อง ฯ
ณ วัน ๕ ๑๑ฯ ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จทางสถลมารค พระราชทานเพลิงคุณบัวที่วัดจักรวรรดิราชาวาส เวลา ๕ โมงเศษ เสด็จกลับทางสถลมารคเข้าประตูวิเศษไชยศรี ขึ้นข้างในฯ
ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ ป่วยเป็นโรคนิ่วมูตรพิการมาได้ ๑๑ วัน ครั้นถึง ณ วัน ๑ ๑๔ฯ ๗ ค่ำ ปีมะเมีย
เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์ เสด็จประทับอยู่ ๒ ราตรี ทรงยกยอดพระปฐมเจดีย์แล้ว เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ฯ
ณ วัน ๖ ๕ฯ ๗ ค่ำ อ้ายแก้ว อ้ายเนตร นักโทษ บีบคอภรรยาหลวงวิชิตชลไชย ไปประหารชีวิตที่ทุ่งนาวัดโคกทั้ง ๒ คน ฯ
ณ วัน ๔ ๓ฯ ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จพระที่นั่งราชฤดี จีนก๊กถวายลับแลลายคราม กว้างชั่วห้องหนึ่งราคา ๒๐๐ เศษ แล้วเสด็จเข้าประทับในพระฉาก ฯ
โปรดเกล้าให้พระยาราชวรานุกูล พระราชเสนา เป็นผู้ถือรับสั่งไปปฤกษาเพิ่มเติมข้อสัญญาว่าด้วยทะเลสาบ
ณ วัน ๕ ๑๑ฯ ๗ ค่ำ พระยาราชวรานุกูล
ณ วัน ๖ ๑๒ฯ ๗ ค่ำ ตั้งแต่วัน ๑๐ ค่ำ ทรงชักพระรูป
ณ วัน ๕ ๓ฯ ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศษ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงถวายไตรจีวรเครื่องอัฐบริกขาร เครื่องขึ้นกุฏิวัดส้มเกลี้ยง (แก่) พระสงฆ์ ๑๐ รูป ฯ
ณ วัน ๑ ๖ฯ ๘ ค่ำ เวลา ๕ โมง เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคไปวัดราชบพิธ ฯ ทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ๑๐ รูป ฯ (ครั้น) รุ่งขึ้น ณ วัน ๒ ๗ฯ ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายไทยธรรม พระสงฆ์ขึ้นกุฏิใหม่วัดราชบพิธ แล้วทรงตั้งเจ้ากรมปลัดกรม
ณ วัน ๔ ๙ฯ ๘ ค่ำ เวลาเย็น ๕ โมงเศษ เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงเวียนเทียนพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโชค พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย พระองค์เจ้าทองแถม (ถวัลยวงศ์) พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช พระองค์เจ้าสนั่น (ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) หม่อมเจ้าบรรเทิง หม่อมเจ้า ......... หม่อมเจ้า......... หม่อมเจ้า ......... หม่อมเจ้า ......... พวกข้าราชการ เจ้าพนักงาน ขาดหาพร้อมไม่ มีพระบรมราชโองการรับสั่งให้เกาะให้มีกระทู้ถามทุก ๆ คน ฯ
ณ วัน ๕ ๑๐ฯ ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วเสด็จไปประทับพลับพลาหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทอดพระเนตรพระองค์เจ้าโปรยทาน แล้วเสด็จเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ฉัน แล้วทรงถวายไตรจีวรเครื่องอัฐบริขารพร้อมทุก ๆ พระองค์เจ้าที่ทรงผนวชเณร หม่อมเจ้า ๕ พระองค์ แล้วเสด็จกลับมาประทับเก๋งพระที่นั่งราชฤดี ทรงประทับพระเก้าอี้ พระอินทรเดช (อินทรเทพ?)
ณ วัน ๖ ๑๑ฯ ๘ ค่ำ เวลาเย็น ๕ โมงเศษ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงเวียนพระเทียนหม่อมเจ้าราชวงศ์บวชเป็นภิกษุ ๙ องค์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพลับพลาหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงทอดพระเนตรหม่อมเจ้าราชวงศ์โปรยทาน แล้วเสด็จเข้าในพระอุโบสถทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ฉัน แล้วหม่อมเจ้าราชวงศ์บวช แล้วทรงถวายไตรจีวรเครื่องอัฐบริกขาร เวลาบ่าย ๔ โมงเศษเสด็จกลับ แล้วเสด็จขึ้นข้างใน ฯ
ณ วัน ๑ ๑๓ฯ ๘ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปเยือนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
ณ วัน ๒ ๑๔ฯ ๘ ค่ำ เวลาเย็น ๔ โมงเศษ เสด็จออกประตูเทวาพิทักษ์ไปวัดราชประดิษฐ์ แล้วเสด็จกลับเข้าทางประตูเทวาพิทักษ์ ขึ้นทางพระที่นั่งอนันตสมาคม ขึ้นข้างใน ฯ
ณ วัน ๓ ๑๕ฯ ๘ ค่ำ เวลาเช้าโมงเศษ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เสด็จจากเกยเทเวศรรักษาไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ฉัน แล้วทรงถวายพุ่มเทียน ๑๐๐ ตามธรรมเนียมทุกๆ ปี เวลาบ่ายเสด็จกลับขึ้นข้างใน ฯ เวลากลางคืน ๙ ทุ่ม ๒๖ นาทีมีจันทรุปราคาจับข้างทิศตะวันออกหมดดวง โมกขบริสุทธิ์ โมงเช้า ๑๔ นาที ฯ
ณ วัน ๔ ๑ฯ ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงปรนนิบัติพระสงฆ์ฉัน แล้วทรงสดับปกรณ์ ถวายพุ่ม แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงเปลื้องเครื่องทรงพระแก้วมรกต แล้วเสด็จกลับขึ้นข้างใน ฯ เวลาบ่าย ๔ โมง เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคไปถวายพุ่มวัดพระเชตุพน เวลา ๕ โมงเศษ เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง ฯ
ณ วัน ๕ ๒ฯ ๘ ค่ำ เวลาบ่ายโมงเศษ เสด็จออก ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พวกต้องสู้เข้าเฝ้าถวายหมี ๑ ม้าขาว ๑ แล้วพระราชทานเสื้ออัตลัดคนละเสื้อ แล้วเสด็จขึ้นข้างใน ฯ เวลาเย็น ๔ โมง เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคไปวัดราชบพิธถวายพุ่มแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้น ฯ
ณ วัน ๖ ๓ฯ ๘ ค่ำ เวลาเย็น ๔ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคทรงม้า ข้าราชการนำเสด็จตาม (เสด็จ) ขี่ม้าทั้งนั้น เป็นกระบวน ไปวัดบวรนิเวศ ฯ ถวายพุ่มแล้ว (เสด็จกลับ) ถึงพระบรมมหาราชวังเวลาย่ำค่ำ เสด็จขึ้น ฯ
ณ วัน ๑ ๕ฯ ๘ ค่ำ เวลาเที่ยง เสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พวกข้าราชการนุ่งสมปักตามธรรมเนียม สวมเสื้อแพรที่พระราชทาน เข้าเฝ้าตามตำแหน่ง เจ้าต่างกรมหากรมมิได้ พร้อมทุก ๆ พนักงาน แขกเมืองกะลันตัน ตะรังกานู เข้าเฝ้าถวายต้นไม้ทองเงินทั้งสองเมือง ๆ ๒ ต้น เป็นเครื่องราชบรรณาการ กะลันตันสูงหกศอกห้านิ้ว ตะรังกานูสูงห้าศอกคืบหกนิ้ว ฯ
ณ วัน ๔ ๗ฯ ๙ ค่ำ เวลาบ่าย พระราชาคณะ ๒๑ รูปสวดพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แล้วตั้งกระบวนแห่ที่ฉนวนในพระที่นั่งนงคราญสโมสร ออกประตูราชสำราญไปเข้าประตูพิมานไชยศรี ประทับเกยหน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกขปราสาท เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงฟังพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วแห่กลับ ฯ ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน ๕ ๘ฯ ๙ ค่ำ
๏ ณ วัน ๑ ๑๑ฯ ๙ ค่ำ ตั้งสวดมนต์ ที่วังสราญรมย์ ๓ วัน เสด็จพระราชดำเนินเป็นไปรเวต เวลาเย็นวัน ๑๔ ค่ำ เวลาเช้าพระสงฆ์ฉัน ฯ
๏ ณ วัน ๔ ๑๔ฯ ๙ ค่ำ เวลาเที่ยงเสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แขกเมืองกะลันตัน ตะรังกานู เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยนุ่งผ้าสมปักสวมเสื้อยศตามธรรมเนียม เข้าเฝ้าตามตำแหน่งทุกพนักงาน แขกเมืองทูลลาจะกลับไปเมือง ฯ
๏ ณ วัน ๕ ๑๕ฯ ๙ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ฝนตกมาก ฯ
๏ ณ วัน ๔ ๖ฯ ๙ ค่ำ เวลาบ่าย พระสงฆ์ ๑๐ รูปจะได้สวดพระพุทธมนต์ที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ในพระบรมมหาราชวังข้างใน รุ่งขึ้น ณ วัน ๕ ๗ฯ ๙ ค่ำ
(ยังมีต่อ)
(คัดจากวารสารศิลปากรปีที่ ๒ เล่ม ๓-๕)
-
1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พรหมรังษี-โต) ↩
-
2. ๖ ๑๔ฯ ๑๒ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐ – วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นวันตั้งคณะและขุนนาง ↩
-
3. พระราชมุนี (ปัญญาทีโป แสง) - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ↩
-
4. พระยามหาอำมาตย์ (มั่ง สนธิรัตน) ↩
-
5. พระยาสุเรนทรราชเสนา (ชื่น กัลยาณมิตร) ↩
-
6. พระยาบุรษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) ↩
-
7. พระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อมาตยกุล) ↩
-
8. พระณรงค์วิชิต (ตาด อมาตยกุล) ↩
-
9. พระมหาเทพ (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) ↩
-
10. พระราชรองเมือง (เนียม รุ่งไพโรจน์) ↩
-
11. พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (สิงห์โต) ↩
-
12. พระยาอัพภัน [ตริกามาตย์] (เผือก เศวตนันทน์) ↩
-
13. นายสุด สนธิรัตน ↩
-
14. พระราชวรินทร์ (สิงห์ บุณยรัตพันธุ์) ↩
-
15. พระยาเทพประชุน (ท้วม บุนนาค) - เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ↩
-
16. SEA LORD ↩
-
17. พระยาราชานุประพันธ์ (วรรณ บุนนาค) - พระยาศรีสรราชภักดี ↩
-
18. เรื่อง อัดมิราล เกปเปล เข้าเฝ้านี้ พึงดูเรื่องราวที่ภาคผนวก เอกสารหมายเลข ๑ ข้อ ก. หน้า ๑๔๖ ↩
-
19. พระยาสีหราชเดโช (พิณ) ↩
-
20. พระยาสีหราชฤทธิไกร (บัว รัตโนบล) ↩
-
21. พระนรินทรราชเสนี (จัน ชูโต)-พระยาสุนทรบุรี ↩
-
22. หลวงราชเสนา (เดช คฤหเดช)-พระยาจ่าแสนยบดี ↩
-
23. ๔ ๑๑ฯ ๑ (ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐)-วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นวันทำพระราชพิธีอุปราชาภิเษก พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กระหมื่นบวรวิไชยชาญ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
อนึ่ง พระราชพิธีอุปราชาภิเษกนี้ พึงดูเรื่องราวละเอียดในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๕ ↩ -
24. เรื่องนี้ดูเรื่องราวที่ภาคผนวก เอกสารหมายเลข ๑ ข้อ ข. หน้า ๑๔๗ ↩
-
25. ๒ ๑ฯ ๑ (ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐) – วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ ↩
-
26. ขุนประสิทธิ์อักษรสาตร (น้อย อาจารยางกูร) ↩
-
27. นายทิม ชาตะปัทมะ ↩
-
28. พระพิเรนทรเทพ (ขลิบ อมาตยกุล) เป็นพระยาประจิม (พระยาอุไทยมนตรี ผวก. จ. ปราจินบุรี) ↩
-
29. พระอินทรเทพ (เปี่ยม บุณยรัตพันธุ์) ↩
-
30. หมื่นวรราช บุตรารักษ์ (อ่ำ อัมรานนท์) ↩
-
31. พระยาวิชิตณรงค์ (แก้ว) ↩
-
32. ๖ ๕ฯ ๒ ค่ำ (ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐) วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นวันทรงตั้งพระองค์เจ้าหญิงละม่อม เป็นกรมพระสุดารัตนราชประยูร. สำเนาประกาศดูหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ↩
-
33. พระยาราชรองเมือง [พระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง] (เนียม รุ่งไพโรจน์) ↩
-
34. ณ วัน ๖ ๑๒ฯ ๒ ค่ำ (ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐) - วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นวันทรงสถาปนาพระนามพระอัฐิเป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์. สำเนาคำประกาศดูหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ↩
-
35. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ว่า “ทรงศักดินา ๒๐๐๐๐” และวันประกาศทรงเฉลิมพระบามเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีนั้น เป็นวัน ๑ ๖ฯ ๒ ค่ำ (ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐) -วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๑. สำเนาประกาศดูหนังสืองจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ↩
-
36. สะสาว คือ เด็กหญิงแต่งตัวใส่เกี้ยว นุ่งผ้าลายพื้นเขียว ห่มแพรสีแสด เดินพนมมือตามกระบวนแห่ ↩
-
37. พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ↩
-
38. อีกฉบับหนึ่งว่า วัดนางนอง ↩
-
39. อีกฉบับหนึ่งว่า ทรงตั้งพระครูกุศลธรรมธาดา วัดไชยพฤกษ์มาลา เป็นพระกุศลธรรมธาดา ที่พระราชาคณะ มีนิตยภัตเดือนละ ๓ ตำลึง ↩
-
40. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ว่า “ทรงศักดินา ๑๕๐๐” และวันทรงสถาปนาเป็นวัน ๖ ๘ฯ ๔ (ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐) - วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ↩
-
41. เรื่องผู้ร้ายนี้ดูเรื่องราวที่ภาคผนวก เอกสารหมายเลข ๑ ข้อ ค. หน้า ๑๔๙ ↩
-
42. พระอโนมมนี (อโนมศิริ ศรี) - สมเด็จพระพุฒาจารย์ ↩
-
43. นายทหารเรืออเมริกัน ↩
-
44. พระยาเพ็ชรดา (นก สินสุข) - พระยาพิไชยสงคราม ↩
-
45. วัดโคก – วัดพลับพลาไชย และเรื่องจีนกำเริบนี้ ดูเรื่องราวที่ภาคผนวกก เอกสารหมายเลข ๑ ข้อ ฆ. หน้า ๑๕๑ ↩
-
46. พระยาเทพประชุน (ท้วม บุนนาค) - เจ้าพระยาภาณุวงศ์ ฯ ↩
-
47. พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง อิงคานนท์) - พระยาราชานุชิต ↩
-
48. อีกฉบับหนึ่งว่า ในห้องพระฉาก ↩
-
49. มูลเหตุของเรื่องเสด็จทอดพระเนตรทหารหัดยิงปืนนี้ ดูที่เรื่องจีนกำเริบ เอกสารหมายเลข ๑ ข้อ ฆ. หน้า ๑๕๑ ↩
-
50. อยู่ตรงข้ามวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส ข้างถนนท่าดินแดง คู่กับตึกแดงซึ่งอยู่เหนือขึ้นมา ↩
-
51. พระเทพผลู (บัว) - พระยาพิษณุโลกาธิบดี ↩
-
52. วัดมกุฎกษัตริยาราม ↩
-
53. อีกฉบับหนึ่งว่า ทรงสรงน้ำกรมหมื่นบวรรังษีฯ ↩
-
54. มิสเตอร์ ทอมัส ยอช น๊อคส์ ↩
-
55. บารอนอันโธนี เปตส์ ↩
-
56. ๕ ๑๑ฯ ๖ ค่ำ (ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๒๓๑) - วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นวันสถาปนาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการ. สำเนาประกาศดูหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ และควรดูหนังสือสมเด็จพระเจ้าบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ของธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ↩
-
57. ขุนปฏิกาณ [พิจิตร] (ทับ) - ขุนมหาสิทธิโวหาร ↩
-
58. เจ้าพระยาพระคลัง - เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) ↩
-
59. พระยาเพ็ชรปาณี (ยัง สถานุวัตร) – พระยาวิชิตชลธี ↩
-
60. พระครูปโรหิต (น่วม) ↩
-
61. พระครูมเหทร (มหิธร) (กลิ่น) - พระครูปุโรหิตาจารย์ ↩
-
62. พระยามนูเนติบรรหาร (นิ่ม) - พระครูมหิธร ↩
-
63. พระยามนูสารสาตร (ยัง) - พระครูปุโรหิตาจารย์ ↩
-
64. พระศรีสังกร (เผือก) – พระเกษมราชสุภาวดี ↩
-
65. ขุนหลวงพระไกรศรี (จัน) - ขุนหลวงพระยาไกรศรี ↩
-
66. พระธรรมเจดีย์ (อุ่น) วัดพระเชตุพน ↩
-
67. วัดเครือวัลย์ เป็นวัดที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) สร้างในรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ↩
-
68. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ↩
-
69. พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๒ เมื่อสิ้นพระชนม์นั้น พระชนมายุ ๘๑ ปี ↩
-
70. ซินยอวิยันนา กงสุลเยเนอราลโปรตุเกส ↩
-
71. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต ณ วัน ๕ ๑๕ฯ ๑๑ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๒๓๐ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ↩
-
72. พระพิบูลย์พัฒนากร (?) ↩
-
73. เรื่องพระญวนทำกงเต๊กนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสว่าไว้ในตำราพิธีพระญวนว่า “ในรัชกาลที่ ๕ ทำพิธีกงเต๊ก ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรก แต่นั้นก็มาทำในงานพระศพสมงด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ และงานพระศพอื่น ซึ่งเป็นงานใหญ่เป็นประเพณีสืบมา ↩
-
74. พระยามหาเทพ (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) - พระยาสีหราชฤทธิไกร ↩
-
75. ที่เหนือท่าเตียน โปรดให้สร้างตึก ๔ หลัง หลังได้เป็นที่กรมท่ารับกงสุลต่างประเทศ และต่อมาใช้เป็นศาลต่างประเทศ (จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๕) ↩
-
76. สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๓ นิ้ว ↩
-
77. ช้างพลายด่างดำพงค์ถนิม ลูบ้านตกที่เมืองพร้าว ขึ้นเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่นำถวาย สมโภชขึ้นระวาง ๔ ๕ฯ ๑๐ ค่ำ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒ พระราชทานนามว่า พระเศวตวรวรรณ ฯ” (คัดจากทำเนียบนาม ภาค ๑) ↩
-
78. พระเมรุในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันถวายพระเพลิง เป็นวัน ๖ ๒ฯ ๔ ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๒๓๑ – วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ ↩
-
79. ๕ ๕ฯ ๖ ค่ำ (ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒) – วันที่ ๔ พฤศภาคม พ.ศ. ๒๔๑๓ เรื่องวัดทรงสร้างราชบพิธนี้ ดูเรื่องราวที่ภาคผนวก เอกสารหมายเลข ๒ ข้อ ก. หน้า ๑๕๓ ↩
-
80. ๑ ๑๔ฯ ๗ ค่ำปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒ – วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๓ ↩
-
81. เรื่องนี้จดหมายเหตุโหรฉบับจมื่นกงศิลป บันทึกไว้ว่า “ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒ ณ วัน ๑ ๘ฯ ๖ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จเรือพระที่นั่งศรีทางคลองขุดพระภาษี ไปลงเรือกลไฟสองปล่องปากคลองกระทุ่มล้ม ใช้จักรไปถึงปากคลองเจดีย์บูชา เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ ในวัน ๘ ค่ำ แรมปากคลองคืน ๑.
ณ วัน ๒ ๙ฯ ๖ ค่ำ รุ่ง เสด็จถึงพระปฐมเจดีย์ เพลาเช้า ๔ โมงเศษ
ณ วัน ๔ ๑๑ฯ ๖ ค่ำ รุ่งแล้ว ๖ บาท ทรงยกยอดพระปฐม ฟ้าร้องทิศทักษิณบ่ายโมง กลับทางปากคลอง
ณ วัน ๕ ๑๒ฯ ๖ ค่ำ รุ่ง ถึงวัง เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ” ↩ -
82. เรื่องเพิ่มเติมข้อสัญญาว่าด้วยทะเลสาบนี้ ปรากฏตามสำเนาประกาศเมื่อทรงตั้งพระยาราชวรานุกูล (รอด กัลยาณมิตร) เป็นเจ้าพระยาพลเทพ ฉะเพาะเรื่องนี้มีความว่า “ได้รับราชการเป็นข้าหลวงใหญ่ไปทำหนังสือสัญญาเพิ่มเติมว่าด้วยทะเลสาปในพระราชอาณาจักรฝ่ายเขมรที่เมืองไซ่ง่อนได้ราชการสำเร็จมา”
ส่วนสัญญานั้น คาดว่าคงเป็นสัญญาเขตแดนเมืองพระตะบอง ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๑๐) ↩ -
83. พระยาราชวรานุกูล (รอด กัลยาณมิตร) - เจ้าพระยารัตนบดินทร์ ↩
-
84. พระราชเสนา (เดช คฤหเดช) - พระยาจ่าแสนยบดี ↩
-
85. นายราชาณัตยานุหาร (พร บุนนาค) - เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ↩
-
86. ทรงตั้งนายสวัสดิ์ เป็นหลวงพินิจราชาวาส เจ้ากรมถือศักดินา ๔๐๐ ทรงตั้งนายพุ่มเป็นขุนบำรุงราชวิหาร ปลัดกรม ถือศักดินา ๓๐๐ ↩
-
87. พระอินทรเทพ (อ่ำ อัมรานนท์) - พระยาพิไชยสงคราม ↩
-
88. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) - สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ↩
-
89. ๕ ๘ฯ ๙ ค่ำ (ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒) - วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นวันเฉลิมพระนามพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์. สำเนาประกาศดูหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ↩
-
90. ๕ ๗ฯ ๙ ค่ำ (ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๒๓๒) – วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๓
พระองค์เจ้า ศรีวิไลยลักษณ์ ประสูติในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นยังทรงพระอิศริยศักดิ์ชั้นหม่อมเจ้า การที่ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏนี้ เข้าใจว่า เนื่องในโอกาสที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๓ สำเนาประกาศหายังไม่พบ. ↩