- คำนำ
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งแรก รัชกาลที่ ๕
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
- จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
- หนังสือกำหนดการรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เมืองเบตาเวีย
- จดหมายเหตุของพระวรภัณฑ์พลากร
- ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕
- ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
- ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
- ภาคผนวก ๑. (ค) เรื่อง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
- ภาคผนวก ๑. (ฆ) เรื่อง พวกจีนตั้วเฮีย
- ภาคผนวก ๒. (ก) เรื่อง สร้างวัดราชบพิธ
- ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล
- ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕
- ภาคผนวก ๔. เรื่อง นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
- ภาคผนวก ๕. คำกราบบังคมทูลของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
- ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
- ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า
คำนำ
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ที่พิมพ์ในเล่มนี้ เริ่มแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ จนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ รวมเป็นเหตุการณ์ในระยะเวลา ๖ ปี ก็เหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้ ๖ ปีนี้ นับได้ว่าเป็นหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดี เพราะรายการมีมากมายพร้อมด้วยวันเดือนปี และยังไม่เคยพบเห็นในที่อื่น แต่เป็นเหตุการณ์ที่มีข้อความย่อๆ อ่านแล้วบางเรื่องไม่รู้เหตุผลต้นปลายว่ามีอย่างไร ฉะนั้นเรื่องบางเรื่องและก็โดยมากต้องอาศัยพระนิพนธ์สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมาช่วยขยายเรื่องราวให้ทราบละเอียดละออขึ้น.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสเล่าไว้ในหนังสือความทรงจำ ตอน ๑ ว่า “เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ ธรรมดาเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักเกิดความหวาดหวั่นในเหล่าประชาชน ด้วยเกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติหรือเกิดโจรผู้ร้ายกำเริบเป็นนิสัยติดมาแต่โบราณ แม้คราวนี้ก็มีความหวาดหวั่นกันแพร่หลาย และมีเหตุชวนให้หวาดหวั่นด้วย เบื้องต้นแต่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ต้องมีผู้อื่นว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์ คนทั้งหลายเกรงว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะชิงราชสมบัติ เหมือนเช่นพระเจ้าปราสาททองในเรื่องพงศาวดารดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีเหตุร้ายเกิดเกี่ยวเนื่องกันมา แต่เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังประชวรถึง ๔ เรื่อง คือเรื่องกงสุลอังกฤษตั้งวิวาทหาว่า รัฐบาลไทยไม่ประพฤติตามหนังสือสัญญา ถึงลดธง (ตัดทางพระราชไมตรี) และเรียกเรือรบ ๑ (ดูหน้า ๑๖,๑๔๖) ชาวตลาดตื่นด้วยเรื่องเกิด “อัฐ” (สำหรับซื้อของ) ปลอมแพร่หลาย ถึงกับจะปิดตลาดไม่ขายของเรื่อง ๑ (ดูหน้า ๒๐,๑๔๗) เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมเรื่อง ๑ (ดูหน้า ๒๖,๑๔๙) และจีนตั้วเฮีย (อั้งยี่) จะกำเริบเรื่อง ๑ (ดูหน้า ๒๘,๑๕๑)”
เมื่อทราบวิกฤติการณ์ที่ปรากฏตามหลักฐานเหล่านี้ จะมองเห็นเหตุการณ์ในขณะนั้น อย่างระทึกใจทีเดียว โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จะทรงพระราชวิตกเพียงไร ข้อนี้จะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งมีข้อความตอน ๑ ว่า “เมื่อพ่อได้ราชสมบัติในเวลาอายุเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ แต่อาศัยด้วยปฏิบัติอธิษฐานน้ำใจในความสัตย์ธรรมมิได้วู่วาม และมิได้อาฆาตปองร้ายต่อผู้ใด ตั้งใจประพฤติตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในต้นพระบรมราชวงศ์ ซึ่งได้ทรงประพฤติมา และอาศัยความอุตสาหะความพิจารณาเนืองนิจ จึงได้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงเพียงนี้”
ด้วยเหตุผลดังได้ยกมากล่าวนี้ จึงเห็นว่าจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ นี้เป็นเอกสารให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดี มีสารัตถะที่ควรพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเป็นบทเรียนต่อไป ก็และเรื่องนี้นายยิ้ม ปัณฑยางกูร เป็นผู้เสนอคณะกรรมการให้จัดพิมพ์ขึ้น เมื่อที่ประชุมอนุมัติ จึงได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นดำเนินงาน ๕ ท่าน คือ นายรอง ศยามานนท์ นายตรี อมาตยกุล พลตรี ดำเนิร เลขะกุล นายเฉลียว จันทรทรัพย์ และนายยิ้ม ปัณฑยางกูร อนุกรรมการคณะนี้ ได้มอบให้นายยิ้ม ปัณฑยางกูร เป็นผู้ตรวจทานต้นฉบับ ทำเชิงอรรถและสารบาญค้นเรื่อง ตลอดจนหารูปมาพิมพ์ไว้ด้วย เมื่อเสร็จแล้วได้นำมาเสนอคณะอนุกรรมการตรวจสอบแก้ไข เมื่อเห็นเรียบร้อยแล้ว จึงขออนุมัติให้ข้าพเจ้าสั่งพิมพ์ และก็ได้พิมพ์ตามที่เห็นอยู่นี้
(นายสุกิจ นิมมานเหมินท์)
ประธานคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์
สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖