- คำนำ
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งแรก รัชกาลที่ ๕
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ ๕ ตอนแรกเสวยราชย์
- จดหมายเหตุเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์แลเมืองเบตาเวีย ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
- หนังสือกำหนดการรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามที่เมืองเบตาเวีย
- จดหมายเหตุของพระวรภัณฑ์พลากร
- ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย
- จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกครั้งหลัง รัชกาลที่ ๕
- ภาคผนวก ๑. (ก) เรื่อง กงสุลอังกฤษลดธง
- ภาคผนวก ๑. (ข) เรื่องอัฐปลอม
- ภาคผนวก ๑. (ค) เรื่อง เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม
- ภาคผนวก ๑. (ฆ) เรื่อง พวกจีนตั้วเฮีย
- ภาคผนวก ๒. (ก) เรื่อง สร้างวัดราชบพิธ
- ภาคผนวก ๒. (ข) เรื่อง สร้างพระรูป ๔ รัชกาล
- ภาคผนวก ๓. เรื่อง เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๑๕
- ภาคผนวก ๔. เรื่อง นักเรียนไทยไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
- ภาคผนวก ๕. คำกราบบังคมทูลของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
- ภาคผนวก ๗. เรื่องเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
- ภาคผนวก ๘. เรื่องการแต่งกายเข้าเฝ้า
ภาคผนวก ๖. (พระบรมราชโองการ)
เราพระเจ้ากรุงสยาม ขอประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดีแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทราบทั่วกันว่า ซึ่งท่านทั้งหลายได้มอบสิริราชสมบัติให้เรา ยกขึ้นเปนพระเจ้ากรุงสยามมิได้มีความรังเกียจนั้น เราคำนึงคิดเห็นการดีของท่านเปนอันมาก ด้วยแต่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเก่ายังดำรงอยู่นั้น พระเจ้าแผ่นดินได้ดำรงราชสมบัติมาถึง ๓๔ พระองค์ เวลาเมื่อเปลี่ยนผลัดแผ่นดินใหม่ บางครั้งก็เกิดยุทธนาการแย่งชิงด้วยอำนาจซึ่งกันแลกันจนถึงเกิดศึกในกลางพระนครเปนพิบัติต่างๆ ด้วยถือเปนพวกเปนเหล่าแตกร้าวปราศจากสามัคคีมีมานะทฤฐิ ไม่คิดตามการที่สมควร แทบจะทุกครั้งทุกคราวมา จนถึงตั้งกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ พระบรมราชวงศ์ซึ่งได้ดำรงสิริราชสมบัติ เปนประถมกระษัตริย์มาถึง ๔ พระองค์ นับได้ ๙๐ ปีเศษ จนถึงแผ่นดินปัตยุบันนี้ ก็มิได้เกิดยุทธนาการแย่งชิงกันให้ได้ความเดือดร้อนแก่ประชาราษฎรแต่สักครั้งหนึ่งเลย ควรจะเห็นความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งในพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการทั้งปวง ด้วยเรานี้มีอายุน้อยกว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่กาลก่อนๆ มา ท่านทั้งปวงก็มิได้มีความรังเกียจ เพราะท่านมีใจระฦกถึงพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนต้นบรมวงศ์มาทุกๆ พระองค์โดยลำดับ รับฉลองพระเดชพระคุณมิให้เสื่อมสูญเสียพระเกียรติยศ มีความสวามิภักดิสมัคสโมสรพร้อมเพรียงกัน การจึงเรียบร้อยตลอดมาได้ ก็เห็นความดีความชอบในพระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดีแต่ก่อนซึ่งล่วงไปแล้วก็ดี แลที่ยังดำรงอยู่ในปัตยุบันนี้ก็ดี มีฉันทัธยาศรัยพร้อมใจกันภักดีสัตย์ซื่อต่อพระบรมราชวงศ์นี้ จึงได้สืบอิศริยยศต่อ ๆ มา ตามตระกูลเนื่องกันโดยกาลปรกติ มิได้คิดอริร้าวราน ก็เปนความดีอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเรามีจิตรคิดจะทำนุบำรุงวงศ์ตระกูลของท่านทั้งหลาย ให้เจริญยืนยาวปรากฏไปสิ้นกาลนาน จึงให้สร้างตราเครื่องราชอิศริยยศ สำหรับสำแดงอิศริยยศแลความชอบแห่งท่านผู้มียศบรรดาศักดิ์สืบวงศ์ตระกูลมา เพื่อให้ระฦกถึงท่านผู้ใหญ่ที่ได้รักษาแผ่นดินบังคับการมาแต่ก่อน ตลอดจนถึงท่านผู้ที่ได้ทำนุบำรุงแผ่นดิน แลรักษาการปัตยุบันนี้ จะได้เห็นว่าสืบเนื่องตระกูลวงศ์ท่านไปสิ้นกาลนาน เปนเกียรติยศแต่ท่านผู้มีความชอบทุกๆ ตระกูลไปมิให้เสื่อมทราม แล้วจงตั้งจิตรพร้อมใจกันช่วยทำนุบำรุงแผ่นดิน แลช่วยรักษาวงศ์ตระกูลซึ่งกันแลกันสืบต่อไป ให้ปราศจากอคติสี่ประการ ประกอบสามัคคีสโมสรเปนนิรันดรกาลฉลองพระเดชพระคุณแต่พระประถมบรมกษัตริย์มา ให้มีความสุขสิริสวัสดิ์ อายุวัฒนยืนนานจงทุกท่านทุกนาย เทอญ ฯ๑
(คัดจากหนังสือตำนานเครื่องราชอิสริยากรณ์จุลจอมเกล้า ฯ ภาค ๑ ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาอ่อน ป.จ. ในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๔)
-
๑. ความเป็นกระแสพระราชดำรัสเพียงนี้ ↩